วันจันทร์, 9 กันยายน 2567

หลวงปู่หนู กันตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หนู กนฺตสีโล

วัดป่าศิริวัฒนา
ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

พระครูสันติธรรมญาณ (หลวงปู่หนู กนฺตสีโล) วัดป่าศิริวัฒนา ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

พระครูสันติธรรมญาณ (หลวงปู่หนูจันทร์ กนฺตสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าศิริวัฒนา อดีตเจ้าคณะอำเภอหนองหาน-กู่แก้ว ตำบลคอนสาย อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี หรือในนามที่ชาวบ้านโนนถั่วดินเรียกท่านว่า “หลวงปู่หนู

หลวงปู่หนู กนฺตสีโล นามเดิมชื่อ หนูจันทร์ รัตนขันแสง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๙ ปีวอก ที่บ้านดอนกอก ตำบลบ้านจีต อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี โยมบิดามารดาชื่อ นายสิงห์นางสิม รัตนขันแสง เรียนหนังสือจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านโนนถั่วดิน ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

ชีวิตสมณะของท่าน เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ อายุได้ ๑๓ ปี บรรพชาเป็นสามเณรหนูจันทร์ ที่วัดโพธิ์ศรีบ้านจีต ต.บ้านจีต อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีหลวงปู่บุญมี เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน หลวงปู่บุญมี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ในท้องถิ่น ที่มีญาติโยมรู้จักกันดีในบุญบารมีของท่าน เวลาที่ชาวบ้านจะเดินไปไหน ไปทำธุระหรือติดต่อค้าขายก็จะไปให้หลวงปู่บุญมี ท่านรดน้ำมนต์ให้ พร้อมทั้งขอพรจากท่าน ตลอดจนขอวัตถุมงคลของท่านมาบูชาติดตัวเสมอ สามเณรหนูจันทร์ ได้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมจนจบ น.ธ.ตรี-โท-เอก ที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีบ้านจีต โดยมี พระอาจารย์มหาวันดี และพระอาจารย์สม เป็นครูสอน ตลอดจนได้ร่ำเรียนศึกษาวิชาจากพระอาจารย์หลวงปู่บุญมี เป็นเวลาอยู่ ๗ ปี โยมบิดามารดาให้ลาสิกขามาช่วยทำมาหากิน สามเณรหนูจันทร์จึงขอลาสิกขาออกมาทำงานช่วยพ่อและแม่ตามประเพณี

จนกระทั่งในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ได้โกนหัวเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่พัทธสีมาวัดอัมพวัน บ้านม่วง ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี โดยมี พระครูประภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ปภัสสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสมุห์บุณนาค อุตฺตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูอธิการบุญฤทธิ์ สุเมโธ เป็นพระอนุศาวนาจารย์

พระครูปภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ภสฺสโร) วัดอัมพวัน

หลังครองผ้ากาสาวพัสตร์ หลวงปู่หนู ท่านได้มุ่งมั่น ค้นคว้า ศึกษา ในเรื่องปฏิบัติธรรมและได้บังเกิดศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงได้มุ่งมั่นศึกษาหาวิชาความรู้ในด้านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจากครูบาอาจารย์หลายท่านเช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ากลองเพล จ.อุดรธานี, หลวงปู่ศรี อุจฺจโย ผู้สร้างวัดป่าศิริวัฒนา, และหลวงปู่อ่อน ญาณศิริ วัดนิโคธาราม บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี

หลวงปู่หนู ท่านเป็นพระผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และการศึกษาพระปริยัติธรรม นักธรรมชั้นเอก ญาติโยมที่ไปพบ ไปขอให้ท่านช่วยแผ่เมตตาให้เมื่อยามมีปัญหา หลวงปู่หนู ท่านก็ไม่เคยขัดข้อง ทำให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำให้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาในหมู่ลูกศิษย์ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชาวบ้าน ไปจนถึงข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักการเมืองท้องถิ่น

หลวงปู่หนู ท่านเป็นพระที่เรียบง่าย สมถะ ถือสันโดษ ไม่ชอบวุ่นวาย ชอบที่จะถ่อมตนอยู่เสมอ ใครที่ได้ไปกราบท่านจะรู้สึกถึงความเป็นเนื้อนาบุญแท้และบริสุทธิ์ของท่านได้ทันที ท่านมักจะกล่าวและเปรียบตัวท่านเองเสมอเหมือนตอใต้น้ำ มาระยะหลัง ชื่อเสียง เกียรติคุณและบารมีของท่านเริ่มโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

หลวงปู่หนู กนฺตสีโล
วัดป่าศิริวัฒนา ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี

หลวงปู่หนู ท่านมุ่งมั่น ศึกษาวิทยาคม ด้านการปฏิบัติด้วยการออกเดินธุดงค์ไปตามพื้นที่ป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนวิชาวิทยาคมจากพระอาจารย์ชาวเขมร เอาไว้ป้องกันภยันตรายนานัปการ หลวงปู่หนู ท่านเป็นพระผู้คงแก่เรียนศึกษาปฏิบัติและรอบรู้ในสรรพวิชามากมายหลายแขนงรูปหนึ่งของภาคอีสาน

หลวงปู่หนู ท่านเป็นพระผู้คงแก่การเรียนรู้ชอบศึกษาปฏิบัติ รอบรู้ในสรรพวิชาต่าง ๆ มากมายหลายแขนงรูปหนึ่งของภาคอีสานไม่ว่าจะเป็น วิชาทางด้านคาถา อาคม ไสยศาสตร์ พุทธาคม คงกระพันมหาอำนาจ มหาเมตตา มหาบารมีรวมทั้งอักขระขอมและเลขยันต์โบราณต่าง ๆ ซึ่งกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน “ท่านเป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองอุดรธานี” ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาปรารถนาไปกราบนมัสการเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อในพลังบารมีที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติดีของท่าน ตามปกติวิสัยของพระคณาจารย์สายพระป่านักปฏิบัติกรรมฐานนั้นมักจะไม่นิยมสร้างพระเครื่องหรือวัตถุมงคล จะมุ่งเน้นในเรื่องของการให้คำสั่งสอนตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ แปลงแต่จริงที่หลวงปู่หนู ท่านไม่เคยสร้างพระเครื่องหรือวัตถุมงคลใด ๆ ในนามท่านมาก่อน ส่วนใหญ่เครื่องรางของขลังที่ท่านสร้าง และ ปลุกเสกจะเป็นของที่ท่านทำให้กับลูกศิษย์เองเพื่อนำไปพกพาบูชาติดตัว จึงทำให้มีพุทธคุณที่โดดเด่นด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ในหลายด้านโดยเฉพาะของขลัง “รกแมว มหาลาภ“ พุทธคุณโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรีค้าขายได้ผลกำไรดี ติดต่อเจรจาสัมฤทธิ์ผล “ถั่วลิสงทองเหลือง“ พกพาติดตัวเดินทาง แคล้วคลาดปลอดภัย และ “น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์“ เจ็บไข้ได้ป่วย รดน้ำมนต์ท่าน เป็นกำลังใจหายได้ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีอานุภาพพร้อมประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้ที่มีไว้ครอบครองมาแล้วอย่างโชกโชนหลายเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศจึงเป็นที่นิยมเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์และประชาชนชาวอุดรธานีเป็นอย่างมาก

หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี
หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี

หลวงปู่หนู ท่านเป็นคนมักน้อย สันโดษ ไม่ชอบโอ้อวด ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง น้อยมากที่ท่านจะจัดทำวัตถุมงคลออกมาและไม่ให้ใครจัดทำได้ง่ายๆ ไม่เคยจัดสร้างวัตถุมงคลในรูปท่านเลยแม้ชิ้นเดียว แต่ในเรื่องงานพิธีพุทธาภิเษก หลวงปู่หนู ท่านไม่เคยปฎิเสธ ท่านจะรับนิมนต์นั่งปรกอธิษฐานจิตในทุกงาน ประสบการณ์ในการร่วมปลุกเสกพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลที่สำคัญๆต่างๆ อาทิเช่น พิธีพุทธาภิเษก พระกริ่งจักรพรรธิ์ วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ, พิธีพุทธาภิเษก พระพุทธชินราช หมื่นยันต์ วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ, พิธีพุทธาภิเษกเหรียญ อันเชิญพระพุทธโสธร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และหลายพิธีพุทธาภิเษกสำคัญๆต่างๆอีกมากมาย ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้วัดป่าศิริวัฒนา ตำบลคอนสาย อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามเขตที่กำหนดไว้ สร้างความปลื้มปิติยินดีกับชาวบ้านโนนถั่วดินเป็นอย่างมาก และในเวลานี้ ทางวัดป่าศิริวัฒนา ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถดังกล่าวเสร็จไปด้วยดี แต่ยังขาดจตุปัจจัยในการดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก

(ซ้าย) หลวงปู่บุญจันทร์ (ดำ) สีลคุโณ (ขวา) หลวงปู่หนูจันทร์ กันตสีโล

ปัจจุบัน พระครูสันติธรรมญาณ (หลวงปู่หนูจันทร์ กันตสีโล) วัดป่าศิริวัฒนา บ้านโนนถั่วดิน อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๐๔.๐๐ น. สิริรวมอายุได้ ๘๓ ปี พรรษา ๔๗

หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา มรณภาพ

◎ ด้านวัตถุมงคล
พระครูสันติธรรมญาณ หรือ หลวงปู่หนูจันทร์ กนฺตสีโล อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าศิริวัฒนา เจ้าคณะอำเภอหนองหาน-กู่แก้ว ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี หรือในนามที่ชาวบ้านโนนถั่วดินเรียกท่านว่า “หลวงปู่หนู” แม้ว่าท่านจะรับนิมนต์นั่งปรกอธิษฐานจิตวัตถุมงคลในทุกงาน แต่ในการจัดทำท่านจะจัดทำวัตถุมงคลออกมาและไม่ให้ใครจัดทำได้ง่ายๆ ไม่เคยจัดสร้างวัตถุมงคลในรูปท่านเลยแม้ชิ้นเดียว

ทั้งนี้เมื่อ หลวงปู่หนู ท่านอนุญาตให้จัดสร้างวัคตถุมงคลรุ่นแรก ซึ่งประกอบไปด้วย เหรียญปั๊มรูปเหมือน เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ เนื้อทองขาว เนื้อทองแดง รวมทั้ง รูปหล่อโบราณ ลอยองค์ รุ่นแรก พระพุทธรูปศิลปะคันธราช รุ่นแรก จึงได้รับความนิยมจากลูกศิษย์อย่างล้นหลาม ด้วยเหตุแห่งความนิยมของลูกศิษย์ จึงอยากนำยันต์บนเหรียญมาอธิบาย เพื่อให้การสะสมมีคุณค่ามายิ่งขึ้น แม้ว่าอักขระเลขยันที่ปรากฎบนหลังเหรียญรุ่นแรกมียันต์ไม่กี่ตัวแต่ก็มีพุทธที่เรียกว่า “ครอบจักรวาล หรือ ดีทุกด้าน” ซึ่งมียันต์ที่น่าสนใจดังนี้

แบบ เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี

ยันต์ในองค์พระ คือ “นะ อะ สะ อุ มะ” มาจาก แก้ว ๔ ดวง ที่ใช้หนุนธาตุให้คาถาตัวอื่นขลัง ส่วนใหญ่จะเพียง ๔ คือ “นะ มะ อะ อุ” การเติม “สะ” เข้าไปนั้นเข้าใจว่าเป็นคาถามหาอำนาจที่ว่า “สัต ถา เท วะ มะนุส สา นัง” แปลว่า “พระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

“นะ บริเวณเศียร อะ บริเวณ อก ส่วน มะ สะ อุ เขียนไว้ที่ บริเวณพระบาท (ขา)”

คาถาบทนี้หลวงปู่ศุข แห่งวัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ท่านใช้ว่า “สัต ถา เท วะ มะนุส สา นัง มะ อะ อุ อิ ติ” มีพุทธคุณด้านป้องกันภัยแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง “อิ ติ” ย่อมาจากคาอิติปิโสรัตนมาลา ซึ่งเป็นพุทธคาถารวม ๕๖ พระคาถา ที่ ว่า “ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ”

คำว่า “อิ” ย่อมาจาก “อิฏโฐสัพพัญญุตะญานัง อิฏฐังธัมมังอะนุปปัตโต อิจฉันโตอาสะวักขะยังอิทธิมันตังนะมามิหัง” โดยมีอุปเท่ห์การใช้ที่ว่า “จงหมั่นภาวนา ป้องกันศาสตรา ห่อนต้องอินทรีย์ทั้งให้แคล้วคลาด นิราศไพรี ศิริย่อมมี แก่ผู้ภาวนา”

ส่วน “ติ” ย่อมาจาก “ติณโณโยวัฏฏะทุกขัมมา ติสโสภูมีอะติกกันโต ติณณังโลกานะมุตตะโมติณณังโอฆังนะมามิหัง” โดยมีอุปเท่ห์การใช้ที่ว่า “บทนี้ไซร้ หมั่นภาวนาไว้ กันภัยนานา ภูตผีปีศาจ มิอาจเข้ามา ทั้งปอบทั้งห่า ไม่มาหลอกหลอน”

“นะ มะ อะ อุ” เป็นดวงแก้ว ๔ ดวง ที่หนุนให้คาถาตัวอื่นๆ มีความเข้มขลัง โดยแต่ละตัวมีความหมายดังนี้ “นะ” แทนแก้วใสสวยมณีโชติ สารพัดนึกกายสิทธิ์ฤทธิรวย “มะ” แทนแก้ว แก้วไพฑูรย์-หนุนความคิด ของขลังฤทธิ์ดีเด็ดคนเข็ดขาม “อะ” แทนแก้ว แก้ววิเชียร แก้วปัพชรน้ำเม็ดงาม หนักแน่นความจิตมั่นป้องกันภัย

“อุ” แทนแก้ว แก้วปัทมราชเสริมวาสนา การขายค้าหน้าที่ชมสมสมัย คาถานี้จะพบในเหรียญยันต์น้ำเต้าของ “พระครูรัตนรังษี” หรือ “หลวงพ่อพุ่ม จันทโชโต” วัดบางโคล่นอก เขตยานนาวา กทม.

ส่วนตัวเฑาะว์ (มีตัว ว. การันต์) ที่ใช้ประกอบวางอย่างระหว่างอุณาโลม บนเศียรพระ คือ “เฑาะว์ฬ่อ”โดยมีอุปเท่ห์การใช้ที่ว่า “มีพุทธคุณด้านเมตตา มหานิยม” โดยการเขียนตัว “เฑาะว์ฬ่อ” ในเหรียญหลวงปู่หนู เขียนเพียงครึ่งตัวเท่านั้น ทั้งนี้หากเป็น “ยันต์เฑาะว์” ของ หลวงพ่อคง วัดบางกะพร้อม จ.สมุทรสงคราม หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ จ.อยุธยา จะเรียกว่า “ยันต์เฑาะว์รันโต” โดยระหว่างลงยันต์บนกระหม่อม หลวงพ่อจะภาวนา โดยเริ่มจากการตั้งนะโม ๓ จบก่อน จากนั้นก็จะบริกรรม “ท้อรันโต ศีละสมาธิ ท้อรันโตตันติ นะมัตถุโน ท้อรันโต นะกัมมัถฐานัง ท้อพุทธา นะมามิหังฯ”

ในขณะที่การเรียกสูตรเฑาะว์ตำราของ อ.เทพ สาริกบุตร ผู้รวมพระคัมภีร์รวมนะอักขระวิเศษต่างๆ และผู้ชำระตำราไสยศาสตร์ไทย จะใช้ว่า “ท้อรันโต สิละสมาธิ ท้อรันติ มะละมัตตะโน ท้อรันโต กัมมะถานัง ท้อรันตันตัง นะมามิหัง” นอกจากนี้แล้วก่อนที่จะเขียนอุณาโลมให้บริกรรมว่า “ท้ออุณาโลมาเนาวะนาถัง ท้อทุเสสังสัมภะโว พุทธังสรณังคัจฉามิ ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ” โดยมีอุปเท่ห์คือ “ให้ลงใส่กระดานชนวนทำผงทาตัว เป็นมหาทรหดคงทน ให้ลงใส่ในใบพลูแล้วม้วนกิน เวลาจะกินให้เสกด้วยคาถานี้ “ท้อฬ่อ” กินเข้าไปเถิดอยู่คงดี

นอกจากนี้แล้วเมื่อมีการเขียนเส้น ล้อมรอบ หลายๆ ชั้น และ มีการใช้ยันต์ ตัวอื่นๆ มาเขียน ประกอบด้วย เช่น ของหลวงปู่ศุข แห่งวัดมะขามเฒ่า ทำให้มีการ เรียกชื่อตามตัวยันต์อื่นๆ ที่เป็นยันต์ประกอบ เช่น เฑาะว์หะวัง เฑาะว์พุทธคุณ เฑาะว์พระนิพพาน เฑาะว์พระรัตนไตร เฑาะว์อะระหัง ในขณะที่สำนักวัดกลางบางแก้ว นครปฐมมีเฑาะว์ ๒ ตัว ที่ปรากฏในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง คือ “เฑาะว์มหาอุด” และ “เฑาะว์มหาพรหม”

รายการวัตถุมงคล เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี ปี พ.ศ.๒๕๕๓

เหรียญเนื้อนาก หลวงปู่หนู กนฺตสีโล รุ่นแรก
วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี
เหรียญเนื้อนาก หลวงปู่หนู กนฺตสีโล รุ่นแรก
วัดป่าศิริวัฒนา จ.อุดรธานี

๑. เหรียญเนื้อทองคำ (สร้างตามจำนวนสั่งจอง) สร้างจำนวน ๙ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๓๐,๐๐๐ บาท

๒. เหรียญเนื้อนาก (สร้างตามจำนวนสั่งจอง) สร้างจำนวน ๑๙ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท

๓. เหรียญเนื้อเงิน ลงยา สร้างจำนวน ๑๐๐ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๑,๕๐๐ บาท

๔. เหรียญเนื้อเงิน สร้างจำนวน ๓๐๐ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท

๕. เหรียญเนื้อนวะโลหะ สร้างจำนวน ๕๐๐ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๕๐๐ บาท

๖. เหรียญเนื้อทองขาว (อัลปาก้า) สร้างจำนวน ๑,๐๐๐ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๒๕๐ บาท

๗. เหรียญเนื้อทองแดง สร้างจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เชิญร่วมทำบุญ ๑๐๐ บาท

◎ รูปหล่อโบราณ ลอยองค์ รุ่นแรก
เนื้อเงิน สร้าง ๑๐๐ องค์ เนื้อนวะโลหะ สร้าง ๕๐๐ องค์ เนื้อทองระฆังเก่า สร้าง ๑,๙๙๙ องค์

รูปหล่อโบราณ ลอยองค์ รุ่นแรก
หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา

◎ รูปหล่อพระพุทธ พระคันธราช รุ่นแรก
เนื้อเงิน สร้าง ๕๐ องค์ เนื้อนวะโลหะ สร้าง ๕๐๐ องค์ เนื้อทองระฆังเก่า ๙๙๙ องค์ ตอกโค๊ต พร้อมตอกหมายเลขกำกับทุกองค์

รูปหล่อพระพุทธ พระคันธราช รุ่นแรก
หลวงปู่หนู กนฺตสีโล วัดป่าศิริวัฒนา

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.web-pra.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง