ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร
วัดโชติรสธรรมากร (วัดป่าบึงกาฬ)
อ.เมือง จ.บึงกาฬ
พระครูภาวนาภิสณฑ์ (หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร) อดีตรองเจ้าคณะอําเภอ บึงกาฬ รูปที่ ๑ และเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร (วัดป่าบึงกาฬ)
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร นามเดิมชื่อ สุด สวัสดิ์นที เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ บ้านโนนยาง หมู่ที่ ๒ ตําบลนาเมือง อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายชู และมารดาชื่อ นางพร สวัสดิ์นที มีพี่น้องร่วมท้องทั้งหมด ๗ คน คือ
๑. นางบุ (ไม่ทราบนามสกุล)
๒. นางพุทธ (ไม่ทราบนามสกุล)
๓. พระครูภาวนาภิสณฑ์ (หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร)
๔. นายบุญเลี้ยง สวัสดิ์นที
๕. นายลุบ สวัสดิ์นที
๖. นายไพร สวัสดิ์นที
๗. นายอุดม สวัสดิ์นที
◎ บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ พัทธสีมา วัดจริยาสมโพธิ์ ตําบลนาเมือง อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระครูวิเศษเสลคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระแผง วราโภ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอ่อนจันทร์ เขมโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ไปจําพรรษาที่วัดบ้านยาง ตําบลนาเมือง อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ๒ พรรษา แล้วได้ย้ายไปจําพรรษาอยู่ที่วัดบ้านมะค่า อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ได้ ๕ พรรษา
ต่อจากนั้น ได้เดินธุดงค์ไปยังเวียงจันทน์ ประเทศลาวและได้จําพรรษาอยู่ที่เวียงจันทน์ ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ําโขงไปถึงพระบาทโพนสัน และได้พักปฏิบัติ ธรรมที่พระบาทโพนสันระยะหนึ่ง แล้วจึงได้เดินทางข้ามไปยังฝั่งประเทศไทยที่ตําบลโพนแพง อําเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และได้ทราบข่าวว่ามีพระอาจารย์ชื่อดังฝ่ายวิปัสสนาธุระ อยู่วัดโพธิ์ศรีสร้อย (วัดถ้ำเจีย) (หลวงปู่ด่อน อินทสาโร ศิษย์หลวงปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ)
หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร ท่านจึงได้เดินทางไปกราบนมัสการ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงปู่ด่อน อินทสาโร (พ่อแม่ด่อน) วัดถ้ำเกีย ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ด่อน อินทสโร ๑ พรรษา
หลังจากนั้นแล้วท่านได้นั่งเรือล่องไปทางใต้ไปขึ้นฝั่งที่ อําเภอบึงกาฬ (ปัจจุบันคือ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ) และท่านได้ทราบข่าวว่ามีนักปฏิบัติธรรม อยู่ที่วัดโชติรสธรรมากร (วัดป่าบึงกาฬ) ซึ่งมีพระครูภาวนานุศิษย์ (ญาท่านสิงห์) หลวงปู่คำสิงห์ สุภัทโท เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์และอยู่จําพรรษา ที่วัดโชติรสธรรมากร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ – พ.ศ. ๒๕๐๘ รวม เวลา ๖ พรรษา
เมื่อถึงเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ จึงได้กราบลาพระอาจารย์ ออกเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงตาเลิศ ชินฺวํโส (พระครูบวรธรรมรักขิต เจ้าคณะอําเภอพรเจริญปัจจุบัน) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะไปกราบนมัสการ ท่านหลวงพ่อพุทธทาส ที่สวนโมกขพลาราม อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างการธุดงค์นั้น ช่วงหนึ่งได้แวะปฏิบัติศาสนกิจ ที่เขาสันติ ตําบลสะแก อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้ร่วมกับพระอาจารย์บุญเอก จับจองที่ดินเพื่อทํา การสร้างวัดประมาณ ๕๐ ไร่ จากนั้นได้เดินธุดงค์ไปถึงอําเภอบางสะพานน้อย และได้รับนิมนต์จากโยมให้ปักกลดอยู่ในไร่ ซึ่งไร่นั้นมีการฆ่ากันตายระหว่างพี่น้องเพราะสาเหตุแย่งที่ดินกัน และ ศพทั้งสองนั้นได้ถูกฝังไว้คนละฝั่งเขตแดน ชั่วระยะห่างกันประมาณ ๒ ศอก
หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร ได้ปักกลดอยู่ระหว่างกลางหลุมศพพี่น้องทั้งสองนั้น ส่วนหลวงตาเลิศ ชินฺวํโส ปักกลดอยู่ห่างหลวงปู่สุด ประมาณ ๔๐ เมตร คืนนั้นท่านทั้งสองได้ปฏิบัติธรรมโดยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตามที่เคยปฏิบัติมา ในช่วงดึกของคืนนั้น ขณะที่หลวงตาเลิศ นั่งสมาธิอยู่ในกลดของท่าน ก็ได้ยินเสียงของ หลวงปู่สุดเทศน์อย่างชัดเจน ในช่วงหนึ่งของการเทศน์นั้น จับใจความได้อย่างชัดเจนว่า.. “กรรมของมนุษย์นั้น มีมากล้นฟ้า ล้นแผ่นดิน ล้นมหาสมุทร”
พอรุ่งเช้าหลวงพ่อเลิศ จึงได้ถามหลวงปู่สุดว่า “เมื่อคืนนี้ อ้ายเทศน์ให้ไผฟัง คือเสียงดังแท้อ้าย..” หลวงปู่สุดได้เล่าให้หลวงพ่อเลิศฟังว่า.. เมื่อคืนนี้ ผีสองพี่น้องนั้นได้มาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และเรียนถามถึงเรื่องกรรม เพราะทั้งสองมีความทุกข์ยากลําบากมาก ทําอย่างไรจึงจะพ้นจากกรรมเหล่านั้นได้ ผมจึงได้เทศน์โปรดให้วิญญาณของผีสองพี่น้องให้ได้รับทราบ ตามที่ท่านได้ยินนั่นแหละ
ต่อจากนั้นได้ออกเดินธุดงค์จากไร่ของสองพี่น้องไปยังสวนโมกขพลาราม ใช้เวลาธุดงค์ไป ๑๕ วัน ได้ศึกษาและปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เจ้าสํานักสวนโมกขพลาราม อยู่นาน ๒ พรรษา
พ.ศ.๒๕๑๑ หลวงพ่อทั้งสองจึงได้กราบลาหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ธุดงค์ขึ้นไปยังจังหวัดเชียงราย ไปพักอยู่ที่วัดเจ้าคณะอําเภอเชียงแสน โดยมีท่านพระครูอริยะคุณาธาร เป็นเจ้าคณะอําเภอ ต่อมาหลวงพ่อทั้งสอง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูต ประจําอําเภอ และ ได้ออกเผยแพร่ธรรมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยดีเสมอมา
ช่วงหนึ่งท่านทั้งสองได้ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนดอยแม่คําน้ำลัด ซึ่งเป็นภูเขาที่มีความสูงรองจากดอยตุง สถานที่ท่านทั้งสองได้พักปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเส้นทางผ่านกองคาราวานฝิ่นของขุนส่า ไม่มีหมู่บ้านผู้คนอาศัยอยู่เลยในช่วงที่ปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขานั้นจึงไม่ได้ฉันภัตตาหารถึง ๓ วันเต็ม ๆ ฉันแต่น้ำ พอประทั่งความหิว ในวันที่ ๒ นั้นได้มีกองคาราวานของขุนส่า ผ่านไปพบเข้าจึงได้เข้าไปหา บริวารของขุนส่านั้นมีคนหลายเผ่า มีทั้งคนพื้นเมือง, แม้ว, พม่า, กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ หลวงพ่อเลิศจึงได้นิมนต์หลวงปู่สุดเป็นองค์เทศน์ให้เขาเหล่านั้นฟัง ในช่วงของการเทศน์นั้น หลวงปู่สุดได้ยกเอาพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขึ้นมาว่า “พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรโดยทั่วหน้า ทุกหมู่เหล่า พระองค์ได้ทรงห่วงใยความสุขทุกข์ และให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง การกระทําเช่นนี้ ไม่มีพระมหากษัตริย์ของประเทศไหนในโลกกระทํากันนอกจากพระมหากษัตริย์ ของประเทศไทยเท่านั้น” คณะบริวารของขุนส่านั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง หลังจากการเทศน์จบบริวารของขุนส่าได้ถวายกัณฑ์เทศน์เป็นเงินสกุลต่าง ๆ ได้ประมาณ ครึ่งบาตรพระ เพื่อให้นําไปซื้อภัตตาหารฉัน จากนั้นบริวารขุนส่าได้กราบลาจากไป หลวงพ่อเลิศและหลวงปู่สุด อยู่ปฏิบัติธรรมบนดอยอีกคืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงได้ลงดอยมาถึงบ้านแม่คําน้ำลัด และได้มอบเงินทั้งหมดให้แก่โรงเรียนบ้านแม่คําน้ำลัด จากนั้นได้ไปพักอยู่วัดพระธาตุจอมกิตติ อําเภอเชียง แสนประมาณครึ่งเดือน
วันหนึ่งกองคาราวานฝิ่นของขุนส่า ประมาณม้าร้อยตัว เดินทางผ่านมาเชิงเขาวัดพระธาตุจอมกิตติ บังเอิญมองเห็นหลวงปู่สุดนั่งสมาธิอยู่ในถ้ำเชิงดอย จึงลงจากม้าเข้าไปเพ่งดูหลวงปู่สุดและถามว่า “องค์นี้ใช่ไหมที่อยู่บนดอยแม่คําน้ำลัดที่เทศน์ให้ฟัง” หลวงปู่สุดตอบว่า “ใช่แล้วโยม” เขาจึงบอกหลวงปู่สุดว่า “อีกสักระยะหนึ่ง เมื่อพวกผมเสร็จภารกิจจากสามเหลี่ยมทองค่าแล้วจะกลับมาบวชด้วย”
ต่อมาอีกไม่นานก็กลับมาบวชกับหลวงปู่สุดจริงๆ ๓ คน คือ นายพรมเมือง นายฮะเจืองเจ่อ นายเหล่าซิว ซึ่งหลวงปู่สุดได้เมตตาให้เขาทั้งสามได้บวชใน พระพุทธศาสนาและได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อทั้งสอง
จากนั้นถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อเลิศได้ลาหลวงปู่สุด กลับไปที่บ้านดอนหญ้านาง อําเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันคือ จังหวัดบึงกาฬ) ส่วนหลวงปู่สุด ยังอยู่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ หลวงปู่สุดจึงได้เดินทางกลับมาที่วัดโชติรสธรรมากร ตามเดิม
ในปีพ.ศ.๒๕๓๔ หลวงปู่สุดได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาพระปริยัติธรรม จึงได้ศึกษาดูงานพระพุทธศาสนาจากจังหวัดต่างๆ และได้มีความคิดริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นโดยมีอาจารย์อุดม นิลไสล เป็นผู้ประสานงานต่างๆ โดยเริ่มแรกทางวัดโชติรสธรรมากรนั้นยังไม่มีอาคารเรียน จึงได้ขอใช้อาคารเรียนที่วัดศรีโสภณธรรมทาน และใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนวัดศรีโสภณธรรมทาน ต่อมาอาคารเรียนที่วัดโชติรสธรรมากรได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นจึงได้ย้ายกลับมาสอนที่วัดป่าตามเดิม และได้ชื่อโรงเรียนวัดศรีโสภณธรรมทาน มาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
◎ งานด้านการปกครอง
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโชติรสธรรมากร
ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตําบลบึงกาฬ เขต ๒
ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะอําเภอบึงกาฬ รูปที่ ๑
◎ สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูภาวนาภิสณฑ์ เจ้าคณะตำบลชั้นโท ฝ่ายวิปัสนาธุระ
พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระครูสัญญาบัตร ที่พระราชทินนามเดิมที่ พระครูภาวนาภิสณฑ์ เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็น รองเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
“เกิดเป็นคนในชาตินี้มีบุญหยังแน่ ศีลสมาธิปัญญามีมากล้น ทําได้แน่บ่หือ
ทานเฮ็ดอยู่แล้ว ทุกวันมื้อบ่ขาดสาย ท่านเอ๋ย ศีลกะมีนำพร้อมบริสุทธิ์บ่ได้ขาดแท้แหล่ว ภาวนา พ่ำพร้อม จําเริญเรื่อยคู่สยาม ท่านเอ๋ย…”
ณ วันนั้น ประมาณปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๐ เราสองพี่น้อง เดินอยู่บนดอยสูง ระหว่างอำเภอแม่จันกับอําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ ๆ ตรงนั้นมีกอไผ่ตาหลุนเกิดขึ้นมากมาย แต่ละกอขนานกันเกิดขึ้นงอกงามเหลือเกิน พี่สุดเขาเป็นคนช่างสังเกต เห็นว่าเดินมาไกลพอสมควรแล้ว จึงหยุดพักเอาแรง ณ ที่ตรงนั้น “เราพักกันตรงนี้ก่อนนะ” ว่าแล้วพี่สุดก็หยุดกึกทันที ทําเอา อาตมาที่เดินดุ่มตามติดกระชั้นชิดข้างหลังไม่ระวังตัว ถึงกับหัวทิ่มไปข้างหน้า ดีซิที่บ่าไม่ได้แบกอะไร หากแบกจอบแบกเสียมหรือไม้แหลม ๆ อะไรละก็พ่อเอ๋ย พี่สุดนะแหละจะเป็นเป้าให้เสียบเอา กระนั้น อาตมา ก็เกือบเสียหลักล้มลง บาตรและกลดที่สะพายอยู่บนบ่าหล่นตุบลงจนได้ ไปตกอยู่ข้าง ๆ พี่สุด อันคนเช่นพี่สุดนะหรือ ท่านมีสติไวมาก ๆ อยู่แล้ว มือคว้าบาตรไว้ได้ทันที ไม่งั้น เชิงบาตรอาตมา แหลกป่นปี้หมด โถเนี๊ย หลายวันมาแล้วฉันอาหารไม่เต็มคาบ จะหน้ามืดเอาให้ได้ แต่อาตมา หรือจะแพ้ธรรมชาติ เรื่องอด ๆ อยาก ๆ เป็นสมบัติอาตมา มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
“ท่านเลิศ” พี่สุดอุทาน พลันนั้นอาตมาเพ่งมองไปเบื้องหน้า “อ๊ะ หยา อะไรน่ะ” งู พี่ พี่สุดขึ้นเสียง อาตมาแทนที่จะสะดุ้ง กลับคิดว่า กระนี้ นี่เองแม้เราชนอย่างแรงพี่สุดก็ไม่มีอันกระเทือน หาได้ตื่นไปกับงูที่พี่สุดเผชิญอยู่ไม่ แล้วอาตมาก็นั่งลงตรงนั้น ความจริงงูคู่นั้นมันเลื้อย มาจากไหน แล้วมาโผล่จ๊ะเอ๋กันตรงหน้าทั้งพระทั้งงู พระสองงูสองเออแน่ะจ๊ะเอ๋กันบนกลางดอยสูง “ความจริงหน้านี้มิใช่หน้างูติดสัตว์” พี่สุดว่า ระยะรน ๆ เหนื่อย ๆ อาตมา แต่พอนานสักพัก ชักเริ่มสนใจแล้ว เพราะตรงเบื้องหน้าใกล้ ๆ นั้น งูสองตัว ฉกกันไปฉิ่วกันมา “ที่แท้นึกว่าติดสัตว์ ที่ ไหนได้ทะเลาะกัน กัดกันตะหาก” เสียงพี่สุดว่า อาตมาหรือ เหนื่อยก็เหนื่อย เพลียก็เพลียละเหี่ย เหลือใจ แม้งูเห่างูจงอางจะกัดกันอยู่ตรงหน้าก็ไม่ค่อยจะสนใจ พี่สุดพูดว่า “ไม่มีสัตว์ใด ๆ ในโลกนี้ จะเสพสุขลําบากเท่า พญางู พญานาค หรอก” อาตมานั้นก็เลยดูอย่างไม่พริบตาเนื่องมาจาก “คติ ภพ” ของใครหนา เออ…ของสมเด็จเพ็ชราช คิดออกแล้ว เมื่อเด็กสมเด็จเพ็ชราช รัตนวงศา ราชอาณาจักรลาว ท่านเคยเล่าไว้ สมัยท่านลี้ภัยอยู่กรุงเทพฯ อยู่แถวบางกะปิ สมัยนั้นอาตมาอายุได้ ๑๕-๑๖ ปี ท่านพระอาจารย์มหาบุญกอง วัดชนะสงคราม เคยไปเยี่ยมท่านเจ้าเพชราช รัตนวงศา แล้วท่านได้พูดเรื่องมีสาระ ตามแต่จะคุยได้นึกได้เล่าสู่พระสู่เณรฟัง บทหนึ่งที่เจ้าเพชราชได้พูดไว้ อาตมายังจำบทนั้นได้ดีจนถึงบัดนี้ความว่า “เทพชั้นใด ๆ ก็สู้เทพชั้นจาตูมไม่ได้ กินทั้งเนื้อและเลือด เสพสุจด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ อันสัตว์เลื้อยคลานแลหนา ก็มีงูและนาคเสพสุขลำบากกว่าสัตว์ใด ๆ ในโลกนี้” พี่สุดออกความเห็นว่า “ว่าไงน่ะหนา” แล้วเปรยตา มายังอาตมาผู้มีอาการเพลีย ตลอดเวลา
โถพระคุณท่านเอ๋ย การเดินการเห็นแต่ไหนแต่ไรมา อาตมาหรือจะสู้พี่สุดได้ ยิ่งถือของหนัก ๆ ด้วยแล้ว เดินเหินบนภูเขาสูง ๆ สบาย ๆ อาตมาผู้บุญน้อยวาสนาน้อยนี้สู้ท่านไม่ได้หรอก มีความบทหนึ่งพระเจ้าพระสงฆ์องค์สามเณรหรือผู้รู้ทั้งมวลสวดบ่อย ๆ “สัพพะเวระมะติกกันโต” เป็นคนไม่มีเวร เมื่อไม่มีพี่สุดซะแล้ว อาตมาคงจะแย่มาก ๆ
ตะวันบ่ายคล้อยไปมาก ลับป่าไม้ไผ่ตาหลุนลงเรื่อย ๆ เราสองคนพี่น้อง เดินไปเบื้องหน้าเรื่อย ๆ คิดว่ายังไง ๆ ก็คงเจอหมู่บ้านแน่ ๆ วันนี้จะต้องได้พักค้างคืนใกล้หมู่บ้าน ตีนดอยนี้ แน่นอน จริงดังคาด อาตมากับพี่สุดเดินลงจากดอยสูงนั้น พอพลบค่ำก็เจอหมู่บ้านจริง ๆ เป็นหมู่เบ้านของชาวอีสาน มีบ้านอยู่ไม่กี่หลังคา ค่ำมืดมากเห็นจะไม่ไหว จึงแวะขอน้ำขอท่าฉันจากบ้านที่ผ่านหลังแรก ทราบจากเจ้าบ้านว่าอพยพมาจากชัยภูมิและมาจากที่อื่นด้วย พี่สุดคุยธรรมะกับโยมที่ถวายน้ำว่า “ขยันขันแข็งกัดฟันสู้อดสู้ทนไปเรื่อย ๆ อย่าเหยาะแหยะตามวิสัยของคนขี้เกียจมักได้ อวดดี” ว่าแล้วก็ลาจากโยมเดินต่อไป
อาตมากับพี่สุดเดินไปเรื่อย เป็นเวลาประมาณ ๒-๓ ทุ่ม แต่โชคดีวันนี้เป็นคืนเดือนหงาย ดึกมากแล้ว อาตมาได้ที่พักห่างจากพี่สุดพอสมควร จากนั้นไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิพัก หลับนอน รุ่งเช้าได้ยินเสียงไก่ป่าไก่บ้านส่งเสียงร้องอย่างเซงแซ่ ระงมไปหมด ณ บริเวณเชิงดอย แห่งนี้ มีแต่หมู่บ้านคนถิ่น หมู่บ้านคนอพยพมากมายและทันทีนั้น อาตมา มาคิดถึงสวรรค์ ๖ ชั้น กับหม้อนรก ๘ ขุม ที่พี่สุดได้อุปมาให้ญาติโยมฟังอยู่บ่อย ๆ ชั้นที่ ๑ จาตูม อุปมาเช่น คน ป.๔, ป.๖ ชั้นที่ ๒ คนจบ ม.๖ ชั้นนี้เหมือนชั้นดาวดึงส์ ชั้น ๓ ดุสิต อนุปริญญา ชั้นนี้ดี ชั้น ๔ ชั้นยามา เปรียบเหมือนคนได้ปริญญาตรี ชั้นที่ ๕ ชั้นนิมมาฯ ปริญญาเอก หรือไม่ก็คนแก่เรียนทั้งหลาย อันนี้พูดด้านความรู้ ส่วนคุณศีลคุณธรรมนั้น ผู้ได้แค่ ป.๔, ป.๖ มีศีลมีธรรมก็ยิ่งไปใหญ่
พี่สุดท่านเกิดมาแล้ว บวชเรียนด้วย เสร็จจากเรียนแล้วท่านก็ปฏิบัติ แล้วปฏิบัติดี พอสมควรด้วยในสายตาเราชาวอําเภอบึงกาฬ ได้ช่วยญาติโยมสร้างวัดวาอารามนั้นก็ดี ท่านสั่งสอนพระภิกษุสามเณรญาติโยม ท่านถือเป็นกันเองทุกถ้วนหน้า ไม่เว้นว่าเป็นใคร ถือว่าให้เกียรติ ให้คุณแก่กันตลอดเวลา ยิ่งเยี่ยมเยียนสาระทุกข์สุกดิบคนไข้ คนป่วยผู้เฒ่าผู้แก่เกื้อกูลใหญ่เลย นับว่าท่านเป็นพระนักเสียสละตลอดเวลาในการเป็นพระภิกษุสงฆ์ของท่าน
“อ้ายเอ้ยอ้าย เจ้าเฮียนจบแต่ประถมสี่ มีดีทุกถ้วน ชาวบ้านคิดเถิง ตลอดเวลาอ้ายมาอยู่นี้ใจประเสริฐคนน้อ คันสิเว้าสิจามีแต่หัวยิ้มแย้มแถมให้เมตตาอ้ายเอ๋ย คนเขาลือ ว่าอ้ายใจประเสริฐพระ มีพระคุณยอยกใส่ใจเสมอหน้า แมนบ้อ ขอให้วิญญาณอ้ายไป สวรรค์ทองหย่องหยีหย่อง เด้ออ้าย ขึ้นอยู่เทิงชั้นฟ้าสวรรค์พุ้นตลอดไป เด้ออ้าย…”
◎ อาการอาพาธและวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๘ อาการอาพาธของหลวงปู่เกี่ยวกับโรคนิ่วในไต ซึ่งเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังมานานหลายปี ได้มีอาการรุนแรงขึ้น ทางคณะศิษย์ทั้งหลายทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ได้นำท่านเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลบึงกาฬ โรงพยาบาลหนองคาย หลายครั้ง แต่อาการอาพาธของท่านก็ไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด ทางคณะศิษย์จึงได้นำตัวท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพมหานคร อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น จึงได้นำท่านกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลบึงกาฬตามเดิม อาการอาพาธของท่านก็ทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ หลวงปู่ใคร่จะกลับมายังวัดเพื่อดูศาลาโชติรโสนุสรณ์(ศาลาหลวงปู่เมฆ) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่แต่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทางศิษย์จึงได้นำท่านกลับมาที่วัดตามความประสงค์ โดยมิได้มีผู้ใดคาดคิดว่า การกลับมาวัดครั้งนี้จะเป็นการกลับมาดูศาลาครั้งสุดท้ายของท่าน หลังจากดูศาลาเสร็จแล้ว คณะศิษย์จึงนำตัวท่านกลับมายังโรงพยาบาลบึงกาฬ พอมาถึงโรงพยาบาลได้ประมาณ ๑๐ นาที อาการอาพาธของหลวงปู่ก็ทรุดหนักสุดที่ทางคณะแพทย์จะทำการเยียวยารักษาได้ และหลวงปู่สุดก็ได้จากพวกเราไปท่ามกลางคณะสงฆ์และญาติโยม ด้วยอาการสงบ
พระครูภาวนาภิสณฑ์ (หลวงปู่สุด ชุตินฺธโร) วัดป่าบึงกาฬ ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
สิริรวมอายุ ๖๕ ปี พรรษา ๔๕
ผู้เรียบเรียง พระครูบวรธรรมรักขิต (หลวงตาเลิศ ชินฺวํโส) เจ้าคณะอําเภอพรเจริญ วัดอรัญญานี อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ
◎ เรื่องเล่าจากผู้ใหญ่มนูญ
หลวงปู่ท่านเป็นคนที่รักธรรมชาติมาก ต้นไม้ภายในวัดไม่ว่าใครก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัด แต่มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ติดกับศาลาการเปรีญ เวลาญาติโยมมาทำบุญทอดผ้าป่า หรือทอดกฐิน เวลาเเห่รอบศาลามักจะติดต้นไม้ต้นนี้เสมอ ผู้ใหญ่มนูญ ศรีหาภูมิ ซึ่งเป็นโยมที่สนิดกับหลวงปู่ จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหลวงปู่ เพื่อต้องการจะตัดต้นไม้ทิ้ง แต่หลวงปู่ท่านไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่า ต้นไม้มันก็อยู่ของมันปกติ เวลาเดินก็หลีกหน่อยจะเป็นไร ผ่านมาหลายปีต้นไม้ต้นนี้ก็ยังอยู่ที่เดิม จวบจนหลวงปู่ละสังขาร ผู้ใหญ่มนูญ เห็นว่าหลวงพ่อไม่อยู่แล้ว เลยถือวิสาสะตัดต้นไม้ต้นนี้ทิ้งโดยไม่ได้ขออนุญาต เพื่อให้สดวกต่อการจัดงานต่าง ๆ ผ่านไปจนถึงพิธีสวดอภิธรรมในคืนหนึ่ง ผู้ใหญ่มนูญกำลังจุดธูปเทียนเพื่อกราบสรีระสังขารของหลวงปู่ แต่เจ้ากรรมอยู่ดี ๆ เทียนขนาดใหญ่ที่ใช้จุดหน้าสรีระสังขารหลวงปู่ล้มลงมาทำให้น้ำตาเทียน และเปลวไฟไปโดนมือของผู้ใหญ่มูญ ทำให้เกิดทุกขเวทนาปวดเเสบปวดร้อนจนมือพองโต ทำให้ผู้ใหญ่มนูญระลึกถึงเรื่องที่ตนแอบตัดต้นไม้โดยไม่ได้ขอหลวงปู่ขึ้นมาในบัดดล ขณะนั้นท่านเจ้าคณะจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นประธานในพิธี และเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่จึงเดินเข้าไปหาและพูดว่า ไปแอบตัดต้นไม้ของท่านสุดใช่ไหม ขอขมาท่านซะนะ เอ้ายื่นมือมา หลวงพ่อท่านเมตตาเป่ามือให้ ซึ่งน่าอัศจรรย์เพราะหลังจากขอขมาเสร็จแล้ว ความทุกขเวทนาปวดเเสบปวดร้อนต่าง ๆ พลันหายไปเป็นปลิดทิ้ง