วันพุธ, 13 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ วัดมหาวีระสามัคคยาราม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ
วัดมหาวีระสามัคคยาราม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

พระครูสิริญาณรังษี (หลวงปู่สิงห์ สิริปุณฺโณ) วัดมหาวีระสามัคคยาราม บ.หัวงัว ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

◎ ชาติภูมิ
พระครูสิริญาณรังษี (หลวงปู่สิงห์ สิริปุณฺโณ) นามเดิมชื่อ “คำสิงห์ สืบชาติ” เกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู ในสมัยนั้น (ตามบัตรประจำตัวประชาชนระบุวันเกิดว่า ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๐ เนื่องจากเอกสารเดิมถูกไฟไหม้ ทางอำเภอจึงได้ระบุวันที่คลาดเคลื่อน) ณ บ้านก่อ ต.โพธิ์ทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด (ปัจจุบัน เป็นบ้านป่ากุง ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด) บิดาชื่อ “นายสุข สืบชาติ” และมารดาชื่อ “นางปา สืบชาติ

◎ ชีวิตฆราวาส
เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม บิดามารดาเห็นว่าควรจะมีครอบครัวได้แล้ว จึงได้จัดการผูกข้อมือแต่งงาน กับ นางสาวบุญยัง แสวงผล ชาวบ้านบากหนองแดง (ภายหลังได้ออกบวชเป็นแม่ชี ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดถ้ำมโหฬาร อ.หนองหิน จ.เลย และเป็นน้องสาวของหลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ)

เมื่อท่านดำรงชีวิตในเพศฆราวาส ท่านมีความขยันขันแข็ง ในการประกอบสัมมาอาชีพต่างๆ ท่านมีความชำนาญทางด้านงานก่อสร้างและงานช่างไม้

◎ สัมผัสรสแห่งธรรม
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระเดชพระคุณ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ธุดงค์แรมรอนกลับมาพักที่ป่ากุงเก่า และได้เริ่มสร้างวัดป่ากุงขึ้น นายสิงห์ ในขณะนั้นก็เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ได้ร่วมแรงในการสร้างวัดป่ากุง ในยุคเริ่มต้น ซึ่งหลังจากเสร็จงานก่อสร้างแล้วหลวงปู่ศรี มหาวีโร ก็จะอบรมพระเณร ฆราวาส หลวงปู่สิงห์ก็ได้รับฟังพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่ศรี มหาวีโร จนซึ้งในรสพระธรรมและเข้าวัดฟังเทศน์ถือศีลปฏิบัติธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งวัดป่ากุงมีการทำวัตรสวดมนต์และหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้เมตตาอบรมธรรมะทุกวัน ชาวบ้านใกล้เคียงก็มาร่วมทำวัตรและฟังเทศน์เป็นประจำ นอกจากการทำวัตรสวดมนต์แล้ว หลวงปู่ศรี มหาวีโร ยังได้สั่งสอนแนวทางในการปฏิบัติภาวนา ให้แก่ชาวบ้านผู้เลื่อมใส ในข้อวัตรปฏิปทา ของพระธุดงค์กรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

◎ พบกัลยาณมิตรปราถนาออกบวช
ในสมัยก่อนที่องค์หลวงปู่สิงห์จะอุปสมบทเป็นพระฝ่ายปฏิบัตินั้น องค์ท่านเองได้เคยบวชทดแทนบุญคุณบิดามารดา มาก่อนแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ขณะมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ที่วัดป่ากุง แต่ก็ต้องลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัว ทำมาหากินตามธรรมดาของโลก แต่การบวชในครั้งแรกนั้นยังเป็นความทรงจำที่ฝังใจท่านอยู่ตลอด ทำให้หวนระลึกว่าเราต้องบวชอีกครั้งเป็นแน่ และในเวลาที่ท่านว่างจากการทำงานท่านจะไปฟังเทศน์ที่วัดป่ากุง ทำให้ได้พบกับกัลยาณมิตร สองท่านคือนายสุข (พระครูสุธรรมมงคล หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดพุทธมงคลวนาราม (วัดป่าเหล่าหลวง) อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด และนายโฮม (พระครูปัญญาพลพิพัฒน์ หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล) วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทั้งสามท่าน ต่างก็มีครอบครัวกันทั้งสิ้น และได้จับมือสัญญาต่อกันว่าจะบวชพร้อมกัน ซึ่งเป็นสัญญาใจของลูกผู้ชาย เป็นสัญญาธรรมที่เกิดจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะต่อองค์หลวงปู่ใหญ่หลวงปู่ศรี มหาวีโร

◎ การอุปสมบท
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ วันหนึ่ง หลังจากกลับจากทำงานก่อสร้างกลับบ้านด้วยความเหนื่อยล้า ขณะที่กำลังเดินทางกลับได้ระลึกเห็นความลำบากแห่งชีวิตฆราวาส ในการทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำ มีชีวิตอยู่ไปกินไปวันหนึ่งๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใด เมื่อคิดได้ดังนั้น พอถึงบ้านก็ได้ปรารภกับนางบุญยัง ผู้เป็นภรรยา เพื่อที่จะออกบวชตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ปรึกษาหารือกับ บิดามารดาและญาติพี่น้องทุกคนอีกครั้ง จนทุกคนยอมฟังเหตุผลของท่านและพร้อมใจกันจัดงานอุปสมบทขึ้น ณ พัทธสีมา วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๓๕ น.โดยมี พระครูวิจิตรคุณาธาร (หลวงปู่ผาด อุตฺตโม) วัดบึงพระลานชัย เป็น พระอุปัชฌาย์ พระครูสิริธรรมโสภิต (หลวงปู่ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) เป็น พระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเลื่อน สุกวโร เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า “สิริปุณฺโณ” หมายถึง “ผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ” ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๕ ปี

◎ ออกธุดงค์กับหลวงปู่โฮม ปัญญาพโล
นอกจากการจำพรรษาที่วัดป่ากุงแล้ว ในช่วงนอกพรรษาหลังกฐินกาล ท่านได้กราบลาองค์หลวงปู่ใหญ่ ออกวิเวกธุดงค์ ร่วมกับ หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล จากวัดป่ากุง มุงหน้าสู่ภาคเหนือ ถึงเขตอำเภอเวียงชัย เวียงเชียงรุ้ง แม่จัน ถึงสามเหลี่ยมทองคำ จังหวัดเชียงราย และได้เข้ากราบสนทนาธรรม กับ หลวงปู่ขาน ฐานวโร แห่งวัดป่าบ้านเหล่า อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย อีกด้วย บางปีก็ออกวิเวกไปทางคำชะอี หนองสูง โคกกลาง ภูเขาเขียว ผาพะยอม คำน้ำจ้าก คำผักกูด และผาน้ำย้อย และที่วัดผาน้ำย้อยพระสิงห์ได้ร่วมสร้างศาลา ตามบัญชาขององค์หลวงปู่ศรีด้วย หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล ได้เมตตาเล่าถึงครั้งที่ออกวิเวกกับหลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ แถบจังหวัดมุกดาหารว่า ตั้งใจภาวนากันโดยการนั่งตลอดคืน คุณสิงห์เดินจงกรมตลอดคืน ฝนตกผ้าสบงจีวรเปียกหมด เปียกยังไงก็ไม่หยุดเดิน เดินจงกรมดังซวบๆ ไม่รู้ว่าหยุดเดินตอนไหน พอใกล้เข้าพรรษา ก็เดินทางสู่ร่มเงาแห่งธรรม ขอนิสัยและอยู่จำพรรษากับองค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร ตามเดิม

◎ ภูมิเจ้าที่วัดป่าวาปี
ด้วยวัดมหาวีระสามัคคยาราม เป็นพื้นที่ป่ารกทึบ มีต้นไม้น้อยใหญ่จำนวนมาก ในพื้นที่ป่าเกือบสองร้อยไร่ เป็นที่สัปปายะเหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม และเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงมีอุบาสกอุบาสิกามาปฏิบัติธรรมในวัดเป็นประจำและด้วยเมตตาขององค์หลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ จึงมีคณะศรัทธาทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น มาปฏิบัติธรรมเสมอมิได้ขาด และสิ่งที่นักปฏิบัติหน้าใหม่จะได้พบเจอในวัดป่าวาปียุคแรกๆคือ งูสิงห์หางด้วนตัวใหญ่ จะออกมาเพ่นพ่านให้ได้เห็นเป็นประจำ แต่เขาก็ไม่เคยทำร้ายใคร

พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

◎ สมชื่อหลวงตาสิงห์
หลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ ท่านมีปฏิปทาที่เอาจริงทุกอย่าง ทั้งด้านพระธรรมวินัย การปฏิบัติของทุกคนในวัด รวมถึงการก่อสร้างเสนาสนะด้วย ดังนั้นกิริยาที่ท่านแสดงออกเพื่อสอนและเตือนบรรดาลูกศิษย์ ทั้งพระเณร แม่ชี อุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ในปกครอง จึงเสมือนหนึ่งว่าท่านดุมาก ทั้งสายตาของท่านก็คมกริบ พระที่เคยอยู่ที่วัดป่าวาปี จะเกรงกลัวท่านมาก จนเป็นที่เลื่องลือในพระสายวัดป่ากุงว่า หากพระรูปใดประพฤติตนผิดจากพระธรรมวินัย ผิดต่อข้อวัตรและปฏิปทาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ จะโดนท่านดุและเหลือบมองด้วยสายตาลอดแว่น ทำให้พระที่โดนดุต้องสยบด้วยสายตาพิฆาตและน้ำเสียงที่ดุดันของท่านเลยทีเดียว บางทีองค์ท่านก็ตีวัวกระทบคราดผ่านลูกศิษย์ใกล้ชิดด้วยการดุแรงๆ ก่อนที่จะลงมือฉันภัตตาหาร ทำให้วันนั้นพระทุกรูปต้องนั่งนิ่งตัวแข็ง คอยฟังคำเทศน์และไม่กล้าสบสายตาของท่านเลย พอเวลาผ่านไปท่านเหล่านั้นก็เล่าถึงวันที่โดนท่านดุว่า “โอ้ย ขี้สิแตก เยี่ยวสิเฮี่ย ฉันข้าวกะกลืนบ่ลง จั่งแมนเพิ่นฮ้ายคัก” ทั้งนี้ในภายหลังองค์ท่านเคยปรารภว่า “สมัยเป็นหนุ่ม โต (หลวงพ่อใช้คำแทนองค์ท่านเองกับลูกศิษย์ใกล้ชิดว่าโต) ฮ้ายคักเด้ หัวแต่เซาฮ้ายแหน่บาดเฒ่ามานี่ล่ะ (สมัยเป็นพระหนุ่มเราดุมาก เพิ่งจะลดลงเมื่อตอนแก่นี่เอง)

ในสมัยปัจจุบันที่องค์ท่านเริ่มชราภาพลง พระสงฆ์ แม่ชี อุบาสกอุบาสิกา อาจจะเห็นท่านยิ้มและเมตตาเสมอๆ แต่ถึงจะยิ้มอย่างไรท่านก็ไม่ให้ใครคุ้นเชื่องง่ายๆ อาจจะโดนท่านดุได้ทุกเวลา แม้ท่านจะชราเพียงใดก็ตาม

สำหรับธุดงควัตรของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ปฏิบัติสม่ำเสมอเกือบทุกสำนักคือ บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ส่วนข้ออื่นๆก็สมาทานตามกาลสมัย อาทิในพรรษาไม่รับภัตตาหารที่ตามส่งที่หลัง คือเข้าถึงเขตวัดแล้ว ไม่รับอาหารทุกชนิดนอกเหนือจากที่ได้จากการบิณฑบาต วัดป่าวาปีโดยหลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ ก็นำพาพระในสำนักปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมา ถึงแม้ว่าบางครั้งมีกิจนิมนต์ ที่ต้องไปฉันภัตตาหารที่อื่น องค์ท่านเองก็จะออกบิณฑบาตก่อน และให้ผู้ที่นิมนต์ไปฉันที่บ้านเอารถมารับที่จุดสิ้นสุดการบิณฑบาต มีลูกศิษย์เคยถามท่านว่า หลวงพ่อครับเขามานิมนต์ไปฉันที่บ้านแล้วทำไมหลวงพ่อยังต้องบิณฑบาตอีก องค์ท่านก็ยิ้มแล้วพูดว่า บิณฑบาตไปเลี้ยงลูก หมายความว่าในวัดมีทั้งลูกพระลูกชี ที่ท่านปกครองดูแลอยู่ และญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมและมาช่วยทำงานที่วัด หากท่านรับนิมนต์ไปฉัน ที่อื่นเลยโดยที่ไม่ออกบิณฑบาต อาหารภายในวัดก็จะไม่เพียงพอในการขบฉัน แสดงให้เห็นถึงความเมตตาอันไม่มีประมาณ ของหลวงปู่สิงห์

การบิณฑบาตของพระสงฆ์วัดป่าวาปีในสมัยแรกๆ ต้องเดินจากวัด เข้าไปในตัวอำเภอวาปีปทุม ระยะทาง ไป – กลับประมาณ ๕ กิโลเมตร ในภายหลังมีญาติโยมถวายรถยนต์ให้วัดเพราะเห็นว่าหลวงพ่อก็แก่ลงทุกวัน การเดินทางไปมาก็ลำบาก จึงได้มีโยม มาขับรถพาพระไปบิณฑบาต ซึ่งการเดินบิณฑบาตจะมีระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยจะลงรถก่อนถึงห้าแยกวัดกลาง เดินไปจนถึงสามแยกเข้าตลาดสด และวนกลับมาที่ห้าแยก ทั้งนี้ปีใดที่มีพระจำพรรษาหลายรูป ก็จะมีการบิณฑบาตสองสายตามคำนิมนต์ของคณะศรัทธาญาติโยม สายแรกเป็นสายตลาดวาปี (สายที่บิณฑบาตทุกวัน) สายที่สอง คณะศรัทธาชาวบ้านดอนบม ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม มานิมนต์ให้ไปรับบิณฑบาตในบางปี ขากลับก็จะลงรับบิณฑบาตที่บ้านหัวงัวด้วย การใส่บาตรที่เป็นประเพณีของชาวอำเภอวาปีปทุมคือในช่วงพรรษา จะมี ๑ วัน ที่นิมนต์พระวัดป่ากุงและวัดสาขา มาบิณฑบาตในอำเภอโดยจะไปกราบนิมนต์หลวงปู่ศรี มหาวีโรมา เป็นประธานพร้อมพระสงฆ์ร้อยกว่ารูป หลังจากบิณฑบาตเสร็จ หลวงปู่ศรี ก็จะนำพระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ที่วัดป่าวาปี จนกระทั่งหลวงปู่ศรี มหาวีโร ชราภาพมาก จึงได้มอบหมายให้พระอาจารย์ทองอินทร์ กตปุญฺโญ มารับบิณฑบาตแทน จนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับหลวงพ่อสิงห์ สิริปุณโณ ได้งดออกรับบิณฑบาตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖ เนื่องจากองค์ท่านมีสุขภาพไม่ดี มีอาการเวียนศีรษะ และเดินเซบ่อยครั้ง จึงฉันภัตตาหารอยู่ที่กุฏิซึ่งบางวันท่านก็เมตตาลงมาฉันร่วมกับพระในวัด

พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด
พระครูสุธรรมงคล (หลวงปู่สุข สุจิตฺโต) วัดป่าเหล่าหลวง อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

◎ มรณภาพ
หลวงปู่สิงห์ สิริปุณโณ ท่านได้มรณภาพลงเมื่อ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ด้วยอาการสงบเมื่อเวลา ๑๕.๑๗ น. ณ กุฏิกลางน้ำวัดมหาวีระสามัคคยาราม จ.มหาสารคาม สิริอายุ ๗๗ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน พรรษา ๔๓