ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สา สาสนปวโร
วัดสมศรีสะอาด
อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี

พระครูพิทักษ์วิหารกิจ (หลวงปู่สา สาสนปวโร) วัดราชนัดดา กรุงเทพมหานคร พระเกจิอาจารย์ระดับประเทศอีกรูปหนึ่งที่มีคนเคารพนับถืออย่างมากมาย ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่จันทา วัดปะโค หลวงปู่อ่อนสี วัดกงพาน หลวงปู่บุญตา วัดศรีนคราราม และหลวงปู่ดีเนาะ วัดมัชฌิมาวาส หลวงปู่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเชียงแหว กุมภวาปี เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดสมศรีสะอาด บ้านเชียงแหวอยู่หลายปี ก่อนท่านจะลาออกและย้ายไปอยู่วัดมัชฌิมาวาส และลงไปอยู่กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างเหรียญดังหลายๆเหรียญเช่นเหรียญพระครูอ่อนสี เหรียญหลวงปู่บุญตา เป็นต้น นอกจากนั้นหลวงปู่ยังเก่งโหราศาสตร์การคำนวนเลข๗ตัวมาก โดยท่านเรียนมาจากหลวงปู่ดีเนาะท่านสามารถคำนวนได้อย่างแม่นยำ จนศิษย์ท่านหลายๆคนเรียกท่านว่าหลวงปู่สา ตาทิพย์เลยทีเดียว
หลวงปู่สา สาสนปวโร นามเดิมชื่อ สา นามสกุล วงษ์ศรีรักษา เป็นบุตรของ นายลา และ นางอ่อน วงษ์ศรีรักษา เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๕ ณ บ้านเชียงแหว ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๒ คน โดยท่านเป็นบุตรคนโต เมื่ออายุได้ ๘ ปีบิดามารดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือกับ พระอาจารย์ซาเคน ที่วัดสมศรีสะอาด เล่าเรียนหนังสือ เรียนอยู่ ๓ ปี สามารถอ่านออกเขียนได้จึงได้ลาพระอาจารย์กลับมาอยู่บ้านเพื่อช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ได้ติดตามพระอาจารย์วัน และพระอาจารย์ภูคำตา วัดทุ่งสว่าง บ้านเชียงแหว
◎ ออกเดินธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่ประเทศลาว
บรรพชาเป็นสามเณรท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่งสว่าง มีพระอาจารย์วัน เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้เรียนลูกคิดและเรียนหนังสือตัวธรรม โดยมีพระอาจารย์วันเป็นผู้สอน ได้เดินทางไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดบ้านจีต อำเภอหนองหาน มีพระอาจารย์อ่อนสี วัดบ้านดอนเงิน ตำบลแชแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้สอน ในขณะที่ปฏิบัติธรรมอยู่นั้นพระอาจารย์อ่อนศรี ได้สอนธรรมรักษาคมป่วยให้ด้วย เมื่อกลับมาอยู่วัดสมศรีสะอาด แล้วได้พยายามปฏิบัตะรรมและเจริญวิปัสนากรรมฐานตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่เป็นเวลา ๒ ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยบิดามารดาทำนา เพราะทางบ้านไม่มีคนช่วยทำนา ประกอบกับท่านเป็นบุตรคนโต
◎ อุปสมบท
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๕ อายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีมงคล บ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี มีพระครูพิทักษ์คณานุการ (หลวงปู่จันทา สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอ่อนสี สีลธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวิชัยธรรมาจารย์ (บุญตา กุสโล) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาที่วัดบ้านหมากบ้า ตำบลเชียงแหว ๑ พรรษา และกลับมายังวัดสมสะอาด ต่อมาพระอธิการเคน เจ้าอาวาสได้ลาสิกขา ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา จากนั้นทราบว่าพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ได้เดินทางมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในเขตจังหวัดหนองคาย ได้ติดตามพระอาจารย์เที่ยง เป็นผู้นำได้รับฟังธรรมจากพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล จากนั้นพระอาจารย์เที่ยงได้พาเข้าไปกราบพระอาจารย์เสาร์ๆได้สั่งให้พระอาจารย์เที่ยงเป็นผู้แนะนำหลักการปฏิบัติแทน โดยได้ปฏิบัติอยู่ที่วัดบ้านดอนก่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นเวลา ๖ เดือนได้ลากลับมายังวัดสมศรีสะอาด ต่อมาท่านได้ย้ายเข้าไปเรียนหนังสือที่วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี อยู่วัดมัชฌิมาวาส ๑ พรรษา จากนั้นได้เดินทางมาศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยการชักนำของพระมหาบุญมา เศษสิลา และมาอยู่วัดราชนัดดารามวรวิหาร
◎ วิทยฐานะ
พ.ศ.๒๔๖๘ สอบได้นักธรรมัช้นตรี
พ.ศ.๒๔๗๙ สอบได้นักธรรมชั้นโท สำนักวัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งการปกครอง
พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดสมศรีสะอาด บ้านเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี
พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชนัดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
◎ สมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของพระธรรมวินยานุยุตต์ (บุญ ปุญฺญสิริ) วัดมัชฌิมาวาส อุดรธานี
พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูพิทักษ์วิหารกิจ
◎ ความชำนาญพิเศษ
ท่านพระครูพิทักษ์วิหารกิจ (สา สาสนปวโร) มีความชำนาญทางโหราศาสตร์มาก ผูกดวง คำนวณดวง ได้แม่นยำ จนมีลูกศิษย์มากมาย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดและท่านมีความชำนาญในทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษก ตรวจชะตาราศีต่างๆ จนเป็นที่เชื่อถือและศรัทธาจากสาธุชนทั้งหลายท่านให้ความเป็นกันเองแก่ผู้มีเรื่องเดือนร้อน ให้ความช่วยเหลือ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ จนเป็นที่ซาบซึ้งแก่ศิษยานุศิษย์ ในความเมตตาจิตงของท่านเป็นอย่างดี นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในทางคาถาอาคมพอสมควร ได้เข้าร่วมพิธีพุทธาพิเษกตามงามสำคัญต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

พระครูพิทักษ์วิหารกิจ (หลวงปู่สา สาสนปวโร) ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๐.๐๕ น.เข้าสู่วันที่ ๕ ได้เพียง ๕ นาทีเท่านั้น สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี ๖๐ พรรษา
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่ม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และพระเถระ จังหวัดอุดรธานี