ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต
วัดป่าสุจิตตะสังขวนาราม บ้านสังข์
ต.กุดน้ำใส อ.ค้อวัง จ.ยโสธร
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต พระอริยเจ้าผู้ให้โอวาทแก่ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ จนออกบวชตลอดชีวิต
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต เกิดเมื่อวันศุกร์ พุทธศักราช ๒๔๒๔ ที่บ้านสังข์ อ.มหาชนะชัย จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบัน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร) ช่วงวัยเด็กได้อาศัยเรียนกับพระภิกษุ ที่วัดบ้านสังข์
◎ ชิวิตวัยหนุ่ม
ก่อนที่จะสู่เพศบรรพชิต หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ขณะอายุได้ประมาณ ๒๕ ปี ท่านได้แต่งงานมาแล้วกับนางออน คนบ้านติ้ว (ต.กุดน้ำใส อ.ค้อวัง จ.ยโสธร)
มีบุตรธิดาด้วยกัน ๒ คน เป็นหญิง ๑ ชาย ๑ ท่านได้เลี้ยงดูครอบครัวท่านเป็นอย่างดี หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ท่านเป็นนายฮ้อย พ่อค้าวัวควาย มีฐานะพออยู่พอกินในหมู่บ้านติ้ว เวลาที่ท่านไปหาปลากับพ่อตา โดยท่านหลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต เป็นผู้พายเรือและพ่อตาเป็นผู้ทอดแห แล้วปลาที่หามาได้ท่านหลวงปู่ก็มักจะปล่อยลงน้ำไป เอาแต่ตัวที่มันตายกับมาบ้าน ท่านทำบ่อยครั้งจึงทำให้พ่อตาไม่พอใจ โดยท่านให้เหตุผลว่าสงสารปลาตัวที่มันดิ้นหรือกระโดดแรงๆ ด้วยที่ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตาต่อสัตว์โลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ในตอนนั้นท่านคิดจะออกบวช หนีโลกสงสาร เพราะรู้สึกสลดใจ ที่ชีวิตมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังยั่งยืน ผันแปรไปทุกอย่าง สังขารขันธ์ ๕ ที่อยู่ ก็มีแต่ทุกข์ ท่านมีความสนใจและติดใจในธรรมปฏิบัติ ท่านได้ยินผู้คนเล่าลือว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระปฏิบัติที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเก่งทางด้านเจริญกรรมฐาน จึงเริ่มเสาะแสวงหาหลวงปู่มั่น
เมื่อท่านทราบว่ามีพระธุดงค์มาปักกลดที่ดอนยางชุม บ้านสังข์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ท่านได้มาทำบุญตักบาตรจำศีลภาวนา ที่สำนักสงฆ์ดอนยางชุมน้อยทุกวันพระมิได้ขาด ซึ่งบางครั้งก็สร้างความไม่พอใจให้กับคนครอบครัวของท่านเป็นอย่างมาก เมื่อคณะพระธุดงค์เดินทางไปที่วัดป่าท่าวารี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ท่านหลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ได้ขอลาครอบครัวว่าไปปฏิบัติธรรมชั่วระยะพอให้สบายใจ แล้วจึงจะกลับมา ต่อมาภายหลังเลยขอลาพ่อตากับภรรยาและตัดสินใจออกบวช ขณะที่เดินทางไปกับคณะพระธุดงค์ ถึงวัดป่าท่าวารีนั้นก็ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ได้ตั้งใจจะไปบวชแต่ก็บวชไม่ทันเพราะเข้าพรรษาแล้ว ท่านจึงตัดสินใจจำศีลเป็นผ้าขาว ที่วัดป่าท่าวารี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว จึงได้ไปขอบวชกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นแม่ทัพธรรมพระกรรมฐานภาคอีสานในสมัยนั้น
◎ สู่เพศบรรพชิต
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ได้อุปสมบทก่อนเข้าพรรษา ขณะมีอายุ ๓๖ ปี ในปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ ปีมะเส็ง อายุ ๓๖ ปี ที่วัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมี พระครูสีทา ชยเสโน วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ฉายาที่อุปัชฌาย์ตั้งให้คือ “สุจิตฺโต” แปลว่า “ผู้มีความคิดดี”
หลังจากนั้น พระสารณ์ สุจิตฺโต ได้ตั้งใจบำเพ็ญภาวนา และศึกษาพระธรรมวินัยตามแนวปฏิบัติของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อย่างเคร่งครัด
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ท่านได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น เป็นเวลาพอสมควร และยังได้ธุดงค์กับท่านพระอาจารย์ทั้งสองไปปฏิบัติธรรมยังสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย พร้อมทั้งยังเผยแพร่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าสู่ประเทศลาวอีกด้วย
หลังจากนั้นก็ได้ออกธุดงค์จาริกบำเพ็ญภาวนา ได้เดินธุดงค์ไปถึงบ้านดงเย็น จ.อุดรธานี ได้แสดงธรรมโปรดชาวบ้าน และนายพรหม ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้น จนนายพรหมมีความทราบซึ้งปิติธรรมบังเกิด สละทรัพย์สินออกบวชตามหลวงปู่สารณ์และได้นำพระพรหม จิรปุญฺโญ ไปฝากอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ออกธุดงค์ไปยังสถานที่วิเวกต่างๆ จนถึงภาคเหนือ ปฏิบัติธรรมที่นั้นเป็นเวลา ๑๓ ปี
◎ บำเพ็ญภาวนาภาคเหนือ
ในปี พุทธศักราช ๒๔๗๗ หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ได้ธุดงค์วิเวกบำเพ็ญเพียรภาวนาที่ปากทางเข้าถ้ำดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ แล้วช่วงค่ำท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี และ ท่านพระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ ก็ได้เข้ามากราบนมัสการท่านหลวงปู่สารณ์ เพื่อไต่ถามถึงที่อยู่ของท่านพระอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น) แล้วพักอยู่กับท่านหลวงปู่สารณ์คืนหนึ่ง สนทนาธรรมสากัจฉาและเรื่องต่างๆพอสมควรแล้ว ฉันเช้าแล้วท่านหลวงปู่สารณ์ก็ได้แนะทางให้ จากนั้นท่านพระอาจารย์เทสก์ และ พระอาจารย์อ่อนสี จึงได้กราบลาท่านหลวงปู่สารณ์เพื่อไปท่านพระอาจารย์มั่น ต่อมาอีกไม่นานท่านหลวงปู่สารณ์ได้ธุดงค์ต่อไปอีก แล้วก็ได้พบกับท่านพระอาจารย์เทสก์อีกครั้ง แต่ท่านพระอาจารย์เทสก์อยู่กับท่านหลวงปู่สารณ์ได้ไม่นานเพราะท่านคิดถึงวิเวก จึงได้ขอลาท่านหลวงปู่สารณ์ไปบนภูเขามูเซอ แล้วต่อมาท่านหลวงปู่สารณ์ได้ให้คนไปนิมนต์พระอาจารย์เทสก์ให้ลงมารับไทยทาน ท่านจึงรับนิมนต์องค์ท่านหลวงปู่สารณ์ เมื่อลงมาก็ได้รับไทยทานทุกอย่าง แล้วท่านจึงได้กราบลาท่านหลวงปู่สารณ์เพื่อขึ้นไปปรารภความเพียรอีกหลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต ได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่บ้านกกกอด และในขณะนั้นท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (พระมหาทองสุก สุจิตฺโต) ได้ทราบข่าวว่าท่านหลวงปู่สารณ์ ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง มาปักกลดที่บ้านกกกอด แล้วท่านพระมหาทองสุกได้เข้าไปถ่ามไถ่ถึงที่อยู่ของพระอาจารย์มั่น ท่านหลวงปู่สารณ์ จึงได้บอกว่า “ขณะนี้พระอาจารย์มั่น ผู้เป็นอาจารย์ บำเพ็ญเพียรอยู่บนดอยของพวก “ปะหล่อง” อันเป็นชาวเขา” จากนั้นท่านพระอาจารย์มหาทองสุก จึงได้ลาท่านหลวงปู่สารณ์ แล้วออกเดินทางทันที
ในปี พ.ศ ๒๔๗๘ ช่วงเข้าพรรษาในปีนั้น ท่านหลวงปู่สารณ์ได้จำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มหาทองสุก ที่เสนาสนะป่าตามที่ท่านพระอาจารย์มหาทองสุกจัดทำถวายเป็นเพิงเล็กๆ ต่อองค์หลวงปู่ และในช่วงค่ำของทุกวันท่านหลวงปู่สารณ์ก็จะกล่าวธรรมให้พระอาจารย์มหาทองสุก ฟัง ท่านพระอาจารย์มหาทองสุกนับว่าได้ผลในการปฏิบัติและการฟังธรรมพอสมควร ครั้นออกพรรษาท่านหลวงปู่สารณ์ก็ได้ออกธุดงค์ไปที่ต่างๆ
ครั้นถึงวันลงอุโบสถสังฆกรรมแล้ว ท่านหลวงปู่สารณ์ ก็ได้เดินท่างไปลงสังฆกรรมสังฆกรรมและฟังโอวาทธรรมต่างๆ จากองค์หลวงปู่มั่น ที่บ้านแม่กน การลงสังฆกรรมอุโบสถนี้ได้มีพระทั้งหมด ๕ องค์ คือ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์สารณ์ สุจิตฺโต ท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต และท่านพระอาจารย์มนู
หลังจากลงอุโบสถสังฆกรรมแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ก็ได้ให้โอวาทธรรมต่างๆ เท่าที่จะแนะนำอุบายสอน และได้ถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่า องค์ไหนเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร และจะต้องแก้ไขอย่างไร เป็นการทดสอบการปฏิบัติไปในตัว
สหธรรมิกของท่านได้แก่ หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลวงปู่สารณ์ เคยสร้างวัดบนเขาพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี ๑ แห่ง สร้างวัดภูเก้าตาดโตน ที่อําเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี ๑ แห่ง นอกจากนี้ยังเคยจำพรรษาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋งองค์ที่ ๓ ของ วัด (วัดดอยแม่ปั๋งเป็นวัดที่หลวงปู่แหวนข้าพรรษาอยู่ในเวลาต่อมา) ได้ไปจังหวัดอื่นๆ รวมแล้วอีก ๘ ปี
ในปี พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้เดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเดิม บ้านสังข์อ.มหาชนะชัย จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบัน คือ บ้านสังข์ อ.ค้อวัง จ.ยโสธร) ได้พาพุทธศาสนิกชนชาวบ้านสังข์ สร้างวัดป่าขึ้นหนึ่งเป็นสถานที่ทำบุญประกอบศาสนกิจพระสงฆ์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และมาพักอยู่บริเวณดอนปู่ตา ของบ้านสังข์ คือ ที่ตั้งวัดป่าสุจิตตะสังขวนารามปัจจุบัน ที่ตรงนี้มีสิ่งเร้นลับที่มองไม่เห็นตัวในเวลากลางวัน บางคนเห็นในเวลากลางคืน เห็นเป็นสัตว์ที่ดุร้าย เช่น ลิง และจระเข้ ในกุดไข่นุ่นเหนือวัดนั่นเอง มากมาย ด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่สารณ์ สุจิตโต ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้าน ให้สามารถเข้าทำสวนในกุดไข่นุ่น จระเข้ที่ดุร้าย สิ่งเร้นลับทั้งหลายก็หายไป มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านจึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของบุคคลทั่วไป
ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๓ได้พาชาวบ้านสร้างพระเจดีย์บรรจุพระนาคปรกอายุพันปี ที่นำมาจาก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้ ๙ พรรษา ก็ป่วยด้วยโรคไต โรคไข้ป่า และแมงคาเข้าหู ท่านพระครูญาณวิจิตร เจ้าอาวาสวัดประชาอุทิศ อำเภอคําเขื่อนแก้ว จึง นําท่านไปรักษาเมื่อหายดีแล้วจึงให้กลับมา แต่อยู่ไม่ได้นานท่านก็มรณะภาพในเวลาต่อมา คือ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ รวม อายุได้ ๗๕ ปี พรรษา ๓๙ คณะศิษย์และอุบาสกอุบาสิกาทั้ง หลาย ก็ได้สร้างเจดีย์เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้เพื่อสักการะ ของพุทธศาสนิกชน และอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังดังที่ปรากฏ
◎ ลำดับเจ้าอาวาสวัดป่าสุจิตตะสังขวนาราม อ.ค้อวัง จ.ยโสธร
๑. หลวงปู่สารณ์ สุจิตฺโต (ท่านเป็นศิษย์ยุคแรกหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ผู้เริ่มก่อตั้งวัดครั้งแรก พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๙๙ มรณภาพ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ สิริอายุ ๗๕ ปี พรรษา ๓๙
๒. พระอาจารย์คำมี (ศิษย์หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต) บุกเบิกดูแลวัดต่อจากหลวงปู่สารณ์ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๑๘ กลับไปมรณภาพที่บ้านเกิด ที่วัดภูเก้าตาดโตน จ.หนองบัวลำภู มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ สิริอายุ ๘๐ ปี
๓. พระครูจันทรังษีวรคุณ หรือ หลวงพ่อสมุห์ทองคำ จนฺทปชฺโชโต (ศิษย์อุปฐากหลวงปู่สารณ์ สุจิตโต) บุกเบิกพัฒนาวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๔๖ มรณภาพที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๓.๓๙ น. สิริอายุ ๗๑ ปี พรรษา ๔๗
◎ ปาฏิหาริย์และความอัศจรรย์บางอย่าง ของ หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต
หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต ท่านเป็นศานุศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีความเล่าขานต่อกันมาในอดีตท่านได้แสดงปาฏิหาริย์ และสร้างความอัศจรรย์ให้ปรากฎหลายอย่าง เช่น หากมีบุคคลจะไปวัดเพื่อพบท่านหลวงปู่สารณ์ ด้วยเรื่องอะไรท่านมักจะรู้ล่วงหน้า แม้เราคุยกันเรื่องอะไรท่านจะทราบ และ ถามกลับไป ทําให้ผู้พบเห็นงงในความสามารถ และสร้างความศรัทธามากขึ้น
มีครั้งหนึ่งขณะที่หลวงปู่สารณ์ สุจิตโต นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานอยู่ในช่วงดึกสงัดในป่าทึบ พระรูปอื่น ที่นั่งอยู่ใกล้ได้เห็นงูเหลือมใหญ่ เลื้อยมาพันรอบตัวท่านหลวงปู่ จนมองเกือบจะไม่เห็นองค์ท่านนานพอควร ท่านหลวงปู่สารณ์ ก็มิได้ตื่นตกใจกลัวแต่อย่างไร มีแต่แผ่เมตตาแก่สัตว์เหล่านั้น ในที่สุดงูร้าย ก็มิได้ทำอันตรายแก่หลวงปู่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง
บ่อยครั้งที่ชาวบ้านนิมนต์ท่านไปนั่งตรงที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งเร้นลับหรือภูติผีต่างๆ เพื่อที่จะได้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้สะดวก บางครั้งท่านก็ให้โชคลาภ สําหรับผู้มีบุญ เช่น บางคนฟังเทศนาท่าน แล้วนําไปแปลเป็นเลข แล้วแทงหวยถูก ข้างล่างข้างบนหลายราย
ความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านมีต่อท่านหลวงปู่สารณ์มากมาย เช่น โยมพรหมและโยมแพง (โยมพรหมซึ่งต่อมาก็คือ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ) สามีภรรยาคู่หนึ่งที่บ้านดงเย็นจังหวัดอุดรธานี ไม่มีบุตรด้วยกันเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า และ ด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่สารณ์ บุคคลทั้ง ๒ ออกบวชติดตาม โดยบริจาคทาน โค ๑๐๐ ตัว กระบือ ๑๐๐ ตัว ข้าวพร้อมยุ้งฉาง ๔ ฉาง ติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่สาร์ โดยมิได้ติดยึดอยู่กับความมั่งมีแต่ประการใด เป็นที่สรรเสริญอย่างยิ่ง
◎ หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล ได้กล่าวถึงหลวงปู่สารณ์ สุจิตโต ไว้ว่า..
นอกจากนั้นหลวงปู่สารณ์ หลวงปู่สารณ์นี้แก่มากเลย พอเข้ามาวัดป่าบ้านหนองผือ นึกว่าหลวงตามาจากไหน สักไม้เท้าเข้ามาเลย มีแต่หลวงปู่มั่นองค์เดียวรู้จัก โอ ท่านสารณ์มาแล้ว ว่าอย่างนั้น แน่ะ พวกเรานึกว่าหลวงตา มาจากที่ไหน หลวงปู่สารณ์นี่คุ้นเคยกันกับหลวงปู่มั่น เวลาไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านด่าท่านตีท่านทุบท่านต่อยสารพัดทุกสิ่งทุกอย่างได้ จิตของท่านถึงธรรมแล้ว ระลึกถึงครูบา ท่านไม่เรียกว่าอาจารย์มั่นหรอก ครูบาว่าอย่างนั้น
คนแก่ๆ สมัยก่อนนะ ถ้าเคารพนับถือกันนะ ครูบา อย่างหลวงปู่มั่นท่านเรียก หลวงปู่เสาร์ว่าครูบาอาจารย์เสาร์ ครูบาอาจารย์มั่น เรียกครูบา นับถือมากทีเดียวถ้าเรียก ว่าครูบา แต่ทุกวันนี้ครูบาหายไปหมด มีแต่หลวงปู่นั่นหลวงปู่นี่ เจ้าคุณนั่นเจ้าคุณนี่ ครูบานี้ เป็นชื่อแรกที่สุด นี่หลวงปู่สารณ์ หลวงปู่สารณ์มาอยู่แล้ว ท่านก็กลับไปจําพรรษาที่จังหวัดอุบลฯ หลวงปู่สารณ์นี้เมื่อมาปฏิบัติหลวงปู่มั่น โอ๊ย ทําสนิทสนมกลมกลืนเหลือเกิน ท่านถูหลังถูอะไร ทําข้อวัตรปฏิบัตินี้เก่งกว่าเราอีก เพราะใจของท่านถึงกัน นี่เป็นอย่างนี้ หลวงปู่สารณ์