ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ
วัดจูมมณี (บ้านขามเปี้ยใหญ่)
อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ นามเดิมชื่อ สาย คำเกษ เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๔๑๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ปีมะโรง ณ บ้านขามเปี้ยใหญ่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บิดาชื่อ นายเสือ และมารดาชื่อ นางบาง คำเกษ เป็นบุตรคนที่ ๒ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๒ คน ตามลำดับดังนี้
๑.นายคำ คำเกษ
๒.หลวงปู่สาย ทิตฺตปญฺโญ (สาย คำเกษ)
๓.ดา คำเกษ
๔.นายลิ คำเกษ
๕.นายเลื่อน คำเกษ
๖.นางสิมมา คำเกษ
๗.นางสีทา คำเกษ
◎ ปฐมวัย
อายุ ๑๒-๑๖ ปี การศึกษาก็ยังไม่มีเพราะสมัยนั้นโรงเรียนสอนหนังสือยังไม่มี ก็ได้รับการศึกษาตามผู้ที่เป็นพ่อ-แม่ อาชีพของพ่อแม่ก็ประกอบการกสิกรรม ทําไร่ ทํานาและเลี้ยงสัตว์ ตามประสาเด็กในสมัยก่อนโน้น ความเจริญของวัยก็ย่างเข้าสู่วัยรุ่นทุกขณะ จึงมีความประสงค์จะบวช (บรรพชา) เป็นสามเณรเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน และสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงตัดสินใจออกบวช
◎ การบรรพชา
อายุ ๑๖ ปี ได้มีใจแก่กล้าในพระพุทธศาสนาจึงได้ขออนุญาตจากนายเสือ-นางบางผู้เป็นบิดา มารดาเดินทางไปบรรพชาเป็นสามเณรกับท่านอายาท่านคํา ที่วัดบ้านหนองดุดเมื่อบวชแล้วก็กลับมาอยู่ที่บ้านเดิม สามเณรสาย คําเกษ ก็ได้ตั้งใจเล่าเรียนอักษรสมัย มีอักษรขอม อักษรธรรม และอักษรลาวตามความนิยมในสมัยนั้น จนชํานาญและสามารถที่จะสอนผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ก็ตั้งใจบําเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ จนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ รวมเวลาเป็นสามเณรอยู่ ๕ ปีพอดี
◎ การอุปสมบท
อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ท่านก็มีศรัทธาอยากจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนาคณะญาติในบ้านก็พลอยยินดีด้วย จึงได้จัดหาเครื่องอัฐบริขารถวายจนครบถ้วนแล้วจึงได้นําสามเณรสาย อุปสมบทที่วัดบ้านหนองดุด กับท่านอายาท่านคํา ผู้เป็นอุปัชฌาย์เดิม เมื่อวันที่ ๒ พุทธศักราช ๒๔๓๑ เมื่ออุปสมบทแล้วพระภิกษุสาย ทิตตปัญโญ นามฉายาที่อุปัชฌาตั้งให้ และใช้ตลอดมา ต่อจากนั้นพระภิกษุสาย ทิตตปัญโญ ก็ได้บําเพ็ญสมณธรรมตามที่ควร จนมีอินทรีย์แก่กล้า
ในสมัยที่ท่านยังเป็นภิกษุหนุ่ม เป็นสมัยที่นิยมการอยู่กรรมหรือเข้ากรรม รวมท่านได้ศึกษาเวทมนตร์คาถาต่างๆ กับคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ว่ากันว่าท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่สมเด็จลุน และในระหว่างนั้นท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเรื่อยมา ท่านเป็นที่เคารพรักและศรัทธาของประชนทุกๆ คน วัยและอายุของท่านก็เปลี่ยนแปลงไปตามความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลายแต่หลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว คุณงามความดีของท่าน ก็ยังไม่เสื่อมคลายไปจากใจ ของท่านสาธุชนทั้งหลาย นับว่าท่านเป็นพระที่มีจริยวัตรอันงาม ชื่อเสียงของท่านก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั้งหลายจากตําบลใกล้เคียง ไปสู่อำเภอและต่างอําเภอเรื่อยไป แม้แต่มีการมีงานเล็กน้อย จะเป็นงานบุญอุทิศหรือบุญมหาชาติตามบ้านต่างๆ แถวอําเภอใกล้เคียง ชาวบ้านเขาต้องนิมนต์ท่านไปเป็นประธาน ถ้างานใดที่ท่านไม่รับนิมนต์แล้วงานนั้นเรียกว่า ไม่สมบูรณ์นัก ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ท่านได้ชักชวนญาติโยมเป็นจํานวนมาก ไปบําเพ็ญกุศลและนมัสการรอยพระบาทโพนสัน ที่ประเทศลาวและกลับมาด้วยความปลอดภัย
◎ ด้านการปกครอง
ท่านหลวงปู่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดจุมมณี บ้านขามเบี้ยใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๘ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๙๓ จึงได้รับตราตั้งเจ้าอาวาส จากเจ้าคณะจังหวัดนครพนมโดยสมบูรณ์ ม จนถึงวันที่ท่านถึงแก่มรณภาพ นับว่าเป็นเวลาอันยาวนานถึง ๘๔ ปี ที่ท่านเป็นภิกษุอยู่ในพระพุทธศาสนา เมื่อทั้งบวชเป็นสามเณรอีก ๕ ปี เป็น ๘๔ พรรษา นับว่าท่านเป็นผู้ที่มีความอดทนและมีความเพียรเป็นเยี่ยมท่านหนึ่ง จะว่าเป็นเพราะบุญบารมีที่ได้สะสมมาแต่ชาติปางก่อน นับว่าท่านได้เป็นกําลังอันสําคัญยิ่ง ในอันที่จะให้ประชาชนได้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาประชาชนทั้งเหนือและใต้ ออก ตก รวมทั้งข้าราชการในจังหวัดใกลัเคียงได้มีความเคารพในตัวท่านเป็นอย่างมาก โดยที่ท่านเหล่านั้นได้มาบูชาเครื่องราง ของขลังและน้ำพุทธมนต์จากท่านเป็นประจํา จนถึงวันที่ท่านถึงแก่มรณภาพ
◎ งานด้านสาธารณูปการ
เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ ท่านได้ทําการก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ๑ หลังที่วัดจูมมณี บ้านขามเบี้ยใหญ่ เสร็จเรียบร้อยภายในปีนั้น ในปีต่อมาก็ได้ทําการสร้างกุฎีขึ้นอีก ๑ หลังเสร็จภายในปี นั้นอีกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ตรงกับปีเกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง สถานการณ์คับขันมากๆ แต่ท่านไม่ลดละในอันที่สร้างสรรค์ถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา ท่านได้ทําการก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ความกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ด้วยไม้ เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๖ และได้สร้างรั้วด้วยไม้เนื้อแข็งด้วย จึงนับว่าท่านเป็นผู้ที่มีความปรีชาสามารถในการสร้างวัดวาศาสนาและปฏิสังขรณ์คนหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มในการจะไปสร้างวัดใหม่ เพราะวัดเดิมนั้นอยู่ในย่านชุมนุมชน ขาดความสบ ท่านไม่อยากเห็นความแปรปรวนของโลกมากนัก หมายความว่าท่านอยากหาความสงบในทางจิตใจ) ผู้รวบรวมประวัติ (เณรล้อม) เคยเห็นท่านไปถากถางที่จะสร้างวัดใหม่และได้เคยช่วยเหลือท่าน ท่านที่น่าอยู่วัดหนึ่งในเขตนี้ ท่านได้นําชาวบ้านสร้างวัดจนสําเร็จดังที่ท่านเห็นอยู่นี้ จนกระทั่งในวัยชรา
◎ มรณกาล
ในเบื้องปลายแห่งชีวิต หลวงปู่สายก็ได้บําเพ็ญเพียรอย่างไม่ลดละ หลวงปู่สาย ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคชรา และถึงแก่มรณภาพในวันศุกร์ที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๔
สิริรวมอายุได้ ๑๐๙ ปี โดยอยู่ในเพศฆราวาส ๑๕ ปี เป็นสามเณร ๕ ปี เป็นพระภิกษุ ๘๔ ปี
(คัดจากประวัติหลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ อนุสรณ์ในงานประกอบพิธีวางเพลิงศพ ๓-๕ มีนาคม ๒๕๑๕)
◎ คาถาเจริญเมตตา ของหลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ วัดจูมมณี
๏ อายันตุโกนโต อิธะทานะ
สิลาเนกขัมมะ ปัญญา สหะวิริยะ
ขันติ สัจจา อิทถานะ
เมตตุ อุปเปกขา ยุทธา ยะโว
คัน หะระ อาวุธานิติ
ให้บริกรรมคาถานี้ เมื่อต่อสู้ข้าศึกปัจจามิตร จะชนะแล
๏ นโม พุทธายะ ตะโจ กันหะ
เนหะ วิภาวิต
นโม พุทธายะ มังสัง กันทะ
เนหะ วิภาวิติ
นโม พุทธายะ อัฏฐิ กันหะ
เนหะ วิภาวิติ
อวิสุนุติ ทุเร ทุเร
เมื่อจะไปแห่งหนใด ให้ตั้งใจว่าคาถานี้ ๓ จบ จะป้องกันอันตรายทั้งปวง
๏ อิฏโฐ สัพพันยุตญานัง
อิฏคัจฉันโต อะสะวะขะยัง
อิฏฐัง ธัมมัง อนุปัตโต
อิฏฐิ มันยัง นะมา มิหัง
คาถายอดมหามงกุฏ ให้เสกน้ำมัน เสกขมิ้นขึ้น กินดีนักแล
๏ พระวิสุธ เทวะตินา
เอหิสะมาเน มัยหัง กัตวา
อิทะติ ทุติ
พระคาถาพระธรณี ถ้าผจญด้วยศัตรู ให้กลั้นใจหยิบเอาดินเสกคาถานี้ ๓ จบ ลงกระหม่อม ศัตรูจะไม่ทําอันตราย
๏ อินะ สันโท กะคะนะ
สะตะนะ กันหะ
ให้เอาด้ายสายสิญจน์ ๗ เส้น สวดคาถาบทนี้ ๗ จบ แล้วคาดศีรษะ ใช้ชกมวยก็ได้แล
๏ อัคโคหะ มัสมิง โลกัสสะ เสฐโฐ
มัสมิง อะยันติมา เนชาติ
นัตธิ ทานิ ปุกับพะโว
ท่องคาถานี้แล้ว อย่าเกียจคร้าน ตั้งใจเรียน จะได้ดี
๏ ปัญจะ มาเล สิโน นาโถ
ปัตโต สัมโพ ทิมุตตะตั้ง
จัตตุ สัจจัง ปากาเสติ
ธัมมะจักกัง ปวัดตาย
เอเต นะ สัจจะ วัชเชนะ
โหตุเม ชัยยะ มัง คะลัง
เมื่อจะทําสิ่งใด ให้เจริญคาถาบทนี้ก่อน ๓ จบ จะประสบชัยชนะปลอดภัย
◎ ประวัติวัดจูมมณี
วัดจูมมณี สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๐๗ โดยมีหลวงพ่อโป้ ฐาวโร สกุลคุณาคม เป็นประธาน ให้นามวัดนี้ว่า วัดจูมมณี
พ.ศ.๒๔๑๗ หลวงพ่อโป้ ฐาวโร ถึงแก่มรณภาพ หลวงพ่ออี อุตฺตโม ได้เป็นเจ้าอาวาสแทน เจ้าอาวาสทั้งสองท่านนี้ ได้ทําการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญเรื่อยมา เช่น สร้างกุฏิ และศาลาการเปรียญ เป็นตน
พ.ศ. ๒๔๑๙ หลวงปู่สาย ทิตฺตปญฺโญ ได้เป็นเจ้าอาวาสแทนและได้ทําการพัฒนาวัดสืบต่อมา
พ.ศ.๒๔๕๔ ได้ทําการก่อสร้างโบสถ์
พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อสาย ทิตฺตปญฺโญ ถึงแก่มรณภาพ
พ.ศ. ๒๕๑๖ พระครูศรีมณีรักษ์ ยสินฺธโร ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบมาจนปัจจุบันนี้
พระครูศรีมณีรักษ์ได้ทําการก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม ได้ทําการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถ หลังเก่าซึ่งชํารุดทรุดโทรม เนื่องจากก่อสร้างมาเป็นเวลาหลายสิบปี และต่อมาได้ดําเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๔ เมตร ซึ่งแล้วเสร็จและจัดให้มีการเฉลิมฉลองในวันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๘
◎ วัตถุมงคล
หลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ ถือได้ว่าเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่าอีกรูปหนึ่ง บางท่านกล่าวถึงขนาดว่า ในช่วงที่อยู่ปู่สายท่านยัง ดำรงขันธ์อยู่นั้น ในถิ่นแถบนครพนมนี้ ยกให้หลวงปู่สาย เป็นที่หนึ่งแม้แต่ พระครูสันธานพนมเขต (หลวงปู่สนธิ์) วัดท่าดอกแก้ว ท่านยังให้เคารพในตัวหลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ ประวัติของท่านยังไม่เป็นรู้จักกันแพร่หลาย อีกทั้งวัตถุมงคลของท่านเท่าที่พบเห็นมีจำนวนน้อย และรู้จักกันเฉพาะในหมู่ลูกศิษย์และคนในพื้นที่เท่านั้น
วัตถุมงคลของหลวงปู่สายเท่าที่ปรากฎนั้น พบว่าท่านได้สร้างไว้ให้ลูกศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุด และ เหรียญรุ่นแรก ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ นั่งสมาธิ ด้านหลัง ผู้รู้ให้ข้อมูลว่า เป็นยันต์ หัวใจขมวดโจร
ยันต์หัวใจขมวดโจรนี้ มีผู้ให้ความรู้ ว่า “ถ้าทำดี ก็ดีเหลือหลาย ถ้าทำชั่ว ชีวิตก็ย่อยยับจนคาดไม่ถึง” กล่าวกันว่า ถ้าใครพกพาวัตถุมงคลของหลวงปู่สาย ถ้าหากตั้งตนเป็นคนดี ทำแต่ความดี ก็จะช่วยเกื้อหนุนให้เจริญรุ่งเรือง แต่หากว่าใครทำความชั่ว เสียสัจจะ ชีวิตก็จะแต่ความฉิบหาย
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่ม กลุ่มหลวงปู่สาย ทิตตปัญโญ วัดจูมมณี บ้านขามเปี้ยใหญ่