วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย

วัดเขาสุกิม
อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

พระวิสุทธิญาณเถร หลวงปู่สมชาย วัดเขาสุกิม

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แต่เดิมท่านเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๕ ปีฉลู เวลาเที่ยง ณ หมู่บ้านเหล่างั้ว ตําบลจังหาร อําเภอเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด

โยมบิดาชื่อ นายสอน นามสกุล มติยาภักดิ์ โยมมารดาชื่อ นางบุญ ซึ่งเป็นบุตรีคนเล็กของหลวงเสนา

ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียง ๒ คนเท่านั้น คือ

๑. นายหนู มติยาภักดิ์

๒. ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

เมื่ออายุของท่านพระอาจารย์สมชาย ได้ ๒ ขวบ ท่านก็ต้องกําพร้ามารดา เพราะท่านโยมมารดาเสียชีวิต

ดังนั้นท่านจึงต้องมาอยู่ในความปกครองเลี้ยงดูของหลวงเสนาผู้เป็นคุณตาของท่าน

ชีวิตในทางธรรมของท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย นั้นสุดแสนลําเค็ญยิ่ง กล่าวคือ หลวงเสนาคุณตาของท่าน มีความเคร่งครัดในศาสนาฮินดู ด้วยท่านเป็นครูผู้นําประกอบพิธีการในลัทธิศาสนาฮินดู

ก่อนเข้ามาทางธรรม ท่านพระอาจารย์สมชาย ได้หลบคุณตาของท่านไปฟังธรรมเทศนาจากพระอาจารย์บุนนาค โฆโส ซึ่งท่านเป็นพระกรรมฐานโด่งดังมากใน สมัยนั้น เกิดติดอกติดใจอย่างหาที่เปรียบได้

ต่อมาหลวงเสนา สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็เป็นโอกาสอันดีของท่านจึงเข้าขออนุญาตจากพี่ชาย เพื่อขอบรรพชาเป็นสามเณร จนเป็นที่ตกลงกันแล้ว

ท่านได้เดินทางมาที่วัดป่าศรี ไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด แล้วได้เข้าถวายตัวกับท่านเจ้าอาวาส คือ ท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัด เทิง(เสาหิน) จ.เชียงราย)

ท่านพระอาจารย์เพ็ง ได้นํานาคสมชายเดินทางมาที่วัดเหนือขอบรรพชากับ ท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ (ฝ่ายธรรมยุต)

เมื่อบวชเป็นสามเณรสมชายแล้ว ก็ได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระผู้ชํานาญยิ่งในสายกรรมฐานปฏิปทางดงามยิ่ง มีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่มาปฏิบัติ ธรรมกับท่าน

ท่านจึงพาหมู่คณะได้ ๕ องค์ กราบลาท่านพระอาจารย์เพ็ง เดินทางไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่มั่น

แต่การที่จะเข้าพบนั้นมิใช่ของง่ายอย่างที่คิดไว้ ท่านต้องผ่านด่านต่าง ๆ ถึง ๓ ด่าน เพื่ออยู่ฝึกอบรมปฏิปทามารยาทของตนเอง พร้อมกับการบําเพ็ญภาวนาไปด้วย

แรก ๆ เกือบท้อถอยเหมือนกัน แต่ด้วยความอยากพบหลวงปู่มั่น จําเป็นต้องอดทนผ่านด่านไปอย่างชนิด “จิตไม่เที่ยงจริง ๆ แล้ว ไปไม่ถึง” เช่น

๑. ท่านพระอาจารย์แดง วัดป่าสักกวัน “ด่านที่ ๑”

๒. ท่านพระอาจารย์สอน สํานักภูค้อ “ด่านที่ ๒”

๓. ท่านพระอาจารย์กู่ วัดป่าโคกมะนาว “ด่านที่ ๓

สามเณรสมชาย ภายหลังจากมาอยู่ฝึกจิตใจกับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน จ.สกลนคร แล้ว ท่านก็ได้เร่งทําความเพียรอย่างใหญ่หลวง พร้อมกับได้รับใช้ครูบาอาจารย์อย่างดียิ่ง

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม

ต่อมาอายุครบบวช คือท่าน มีอายุได้ ๒๐ ปีเต็ม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้สั่งให้พระเถระผู้ใหญ่ พาท่านดําเนินการอุปสมบท โดยมี

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์

หลังจากบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เจริญธรรมวินัยตามเยี่ยงครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมมาแล้วพอสมควร ท่านพระอาจารย์สมชาย จึงได้กราบลาพาคณะออกเดินธุดงคกรรมฐานไปในแห่งต่าง ๆ

การเดินธุดงคกรรมฐานของท่านพระอาจารย์สมชายนั้น เป็นการดําเนินจิตด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า มีความเชื่อมั่นในทางธรรมะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพราะการดําเนินชีวิตเข้ามาในทางพระพุทธศาสนา เป็นไปด้วยอํานาจบุญบารมีที่ท่านเคยสร้างมาก่อน

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า

ครั้งหนึ่งอาตมาเป็นสามเณรโค่ง ต้มยาอยู่ใต้ถุนกุฏิ ความจริงก็น้ำร้อนที่เอาสมุนไพรใส่ลงไปนั้นแหละ ทีนี้เราหมดสิทธิ์ที่จะได้ฟังธรรม ทั้งๆ ที่ใจรุ่มร้อน กระหายที่จะฟังธรรม

พอได้เวลาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็แสดงธรรมะ พวกเณรด้วยกันก็ตั้งใจฟัง เอาหูนี่แนบกับร่องกระดานบ้าง ตั้งอกตั้งใจฟังบ้าง เออ เงี่ยหูฟัง เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ให้ไปดูหม้อยาที่ต้มอยู่บนเตาไฟ

จนที่สุดเทศนาธรรมของพระอาจารย์มั่นจบลง ไปดูหม้อยาก็จบเหมือนกัน ไฟแรงน้ําแห้ง ก้นหม้อทะลุหมด เสียหายหมดเลย

เอ จะทําอย่างไงดีละ ถูกทําโทษแน่ ๆ แล้วใจคิดอย่างนี้

พระอาจารย์มั่น มาพบหม้อก้นทะลุก็หัวเราะ แล้วท่านก็ว่า

“ธรรมะดีกว่าวัตถุ และหายากกว่าวัตถุภายนอก”

ได้เท่านั้นเอง บรรยากาศที่เคร่งเครียดอยู่เปลี่ยนเป็นแจ่มใส พระภิกษุสามเณรทุกรูปต่างถอนหายใจโล่งอก มีสีหน้าเบิกบานดีใจที่ หลวงปู่มั่น ไม่เอาโทษ

เพราะหลวงปู่มั่นเข้าใจเหตุการณ์ได้ดีว่า หม้อยาก้นทะลุไป ย่อมจะหาหม้อยาใบใหม่ได้

แต่ธรรมะนั้น มีคุณค่าดีกว่าหม้อยาเป็นไหน ๆ ธรรมะย่อมหายากกว่าหม้อยา

อาตมามีความเชื่อมั่นในองค์ท่านมาก เรื่องรู้เรื่องเห็นอะไร ๆ นี้แจ่มจริง ๆ อาตมาเคยเห็นมาแล้ว เป็นพระโกหกกันไม่ได้ นี่พระอาจารย์มันมีคุณวิเศษจริงๆ”

ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่น่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ความเมตตาปรานของท่านนั้นมากมาย เหลือคณานับ

และในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านพระอาจารย์สมชายและคณะได้ เดินธุดงค์มาทางจังหวัดจันทบุรี ได้อยู่จําพรรษาที่สํานักสงฆ์เนินดินแดง ๓ พรรษา ท่านได้สร้างกุฏิศาลาต่าง ๆ ได้หลายสิบหลัง

ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ได้ขึ้นไปบําเพ็ญสมณธรรมที่เขาสุกิมจนได้พบกับความวิเวก และได้ก่อสร้างวัดขึ้นเหมาะแก่การบําเพ็ญภาวนาชื่อว่า วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

การเดินทางไปพักปฏิบัติธรรมที่วัดเขาสุกิมนั้นแสนสะดวกสบาย ไม่เคยหิวโหย การอยู่กินนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าที่บ้านช่องของตนเองเสียอีก น้ําเย็น น้ําร้อน กาแฟ ชาร้อน ข้าวต้ม ข้าวสวย ขนมหวาน ผลไม้ ดูเหมือนจะครบทุกอย่าง

พระวิสุทธิญาณเถร วิ. (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) เข้ารับการรักษาด้วยอาการอาพาธจากโรคไตวายเรื้อรัง ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มรณภาพ สิริอายุ ๘๐ ปี ๗๓ วัน พรรษา ๖๐