วันอาทิตย์, 15 กันยายน 2567

หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย พระผู้ไม่มีอาลัย วัดพุทธบูชา

ประวัติและปฏิปทา
พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย)

วัดพุทธบูชา
แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร

พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา

ในวัยเยาว์ (ปฐมวัย)
หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย นามเดิมชื่อ สุเต นามสกุล คำมั่น เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ตรงกับวันอาทิตย์ ณ บ้านโนนชาติ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันจังหวัดยโสธร)

บิดาชื่อ นายเป คำมั่น มารดาชื่อ นางกัน คำมั่น อาชีพที่บ้านท่านแต่เดิมก็มีอาชีพทำนาเป็นหลักในภาคอีสาน ในสมัยนั้นก็มีอาชีพเดียวเป็นหลัก ท่านมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันทั้งหมด ๖ คน หลวงปู่สนธิ์ เป็นบุตรคนที่สอง ชื่อเดิมว่า สุเต เพราะท่านเป็นคนที่ชอบสังเกตุ ผู้ใหญ่จึงเรียกว่า สนธิ์ คือมีสิ่งใหม่ให้สังเกตุพิจารณา ผู้ให้ทำอะไรท่านก็มีความสนใจจึงถูกเรียกว่าสน

เด็กชายสนธิ์ คำมั่น เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบ้านสร้างมิ่ง ด้วยคุณธรรมที่มีมาแต่เดิมจึงทำให้ท่านเป็นคนชอบสงบ มีนิสัยรักสงบ เชื่อฟังผู้ใหญ่ กลัวต่อความผิด ซึ่งทำให้ท่านมีอุปนิสัยแตกต่างจาก เด็กในวัยเดียวกัน ชอบในการเป็นผู้ให้ เช่นให้อาหารบิณฑบาตกับคุณแม่ในวัยเด็ก เมื่อคุณแม่ใส่บาตร แก่พระที่มาบิณฑบาต ท่านจะมีความอิ่มใจ สุขใจ และด้วยบุญบารมีที่ได้สะสมในกาลก่อน เมื่อท่านได้พบกับภิกษุผู้ภิกขาจาร ก็ทำให้ท่านมีความเลื่อมใส่ รู้สึกว่าจิตใจสบายเป็นปิติ ด้วยกำลังแห่งบารมีธรรมที่เต็มบริบูรณ์ จึงทำให้ท่านมีจิตใจที่โน้มเอียงไปในทางออกบวช

ด้วยนิสัยของชาวอีสานในสมัยนั้นมีความเคารพต่อพระพุทธศาสนามาก เมื่อมีลูกชายก็อยากจะให้บวชเีรียนเขียนอ่าน เป็นเพราะการศึกษาในสมัยนั้นยังไม่เจริญ คนที่มีความรู้ความสามารถ ก็จะเกิดจากนักบวช ทิด จารย์ครู คือผู้บวชแล้วสึกไป มีครอบครัว คนอีสานก็มีอัตตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีเฉพาะตน คือเป็นคนรักสงบ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น รักสนุก รักเพื่อนมิตร ดังนั้นบิดามารดาของท่านจึงมีความรักในลูกอยากจะให้ลูกได้มีความรู้ความสามารถ จึงนิยมนำลูกชายของตนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เด็กชายสนธิ์ก็เช่นเดียวกัน มีอัธยาศัยไปในการออกบวช จึงชอบไปอยู่วัด เพื่อรับใช้พระ (สังกะรีวัด) คือเป็นผู้คอยรับใช้พระผู้มีอาวุโส เช่น ตมน้ำร้อน น้ำเย็นถวายพระ

ในวัยเด็กของหลวงปู่สนธิ์ ท่านก็เหมือนเด็กอีสานในสมัยนั้นคือช่วยเหลือพ่อแม่ทำมาหากิน เพราะระดับการศึกษาในยุกนั้นมีน้อย จบแค่ประถมสี่ ก็สามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว ถ้าจะให้มีความรู้มากกว่านั้นก็ต้องมาเรียนในตัวเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนความรู้ที่มีมากอีกสาขาหนึ่งคือ วัด ซึ่งเป็นสถานอบรมนิสัยให้แก่ลูกหลาน พระท่านก็ให้เรียนหนังสือผูก เช่น เรียนสนธิ์ เรียนมูล เรียนตัวธรรม เรียนตัวขอม เป็นต้น ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้จารึก (จาร)ไว้ในใบลาน พระจึงต้องเรียนตัวธรรม (ไทยน้อย) ซึงส่วนมากจารึกเป็นนิทานธรรมบท หรือนิทานพื้นบ้านในอีสาน คือ นางผมหอม ผาแดงนางไอ่ ขู่หลู่ นางอั๋ว เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้นักปราชญ์อีสานนำมาเขียนเป็นกลอนลำ คำผญา สุภาษิตสอนหลาน เป็นต้นล้วนออกมาจากภาษาไทยน้อย หรือตัวธรรมในสมัยนั้น คนอีสานจึงนิยมฟังกันมาก เพราะมีความเคารพในพระพุทธศาสนา พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉนั้นคนอีสานทั้งชายหญิงก็อยู่ในจารีต ๑๒ ครอง ๑๔ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวภาคอีสาน เช่น ฮีตปู่ ครองย่า ฮีตป้า ครองลุง ฮีตพ่อ ครองแม่ ฮีตผัว ครองเมีย เป็นต้น ดังนั้นนิสัยของท่านจึงน้อมไปในทางออกบวชตั้งแต่นั้นเป็นมา

การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ด้วยความกตัญญูต่อแม่ของท่าน โดยคุณแม่ทุกคนหวังจะได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูก หรือเป็นธรรมยาทในทางพระศาสนา แม่หวังให้ลูกได้บวชเรียนเขียนอ่านก่อน คือพ่อแม่หวังให้ลูกชายทุกคนได้มาฝึกความเพียร ความอดทน ความลำบากต่างๆ ในทางพระศาสนา คือการบวชในอดีต เป็นความลำบากมากคือไฟฟ้าก็ไม่มี มีแต่ตระเกียง จุดใต้ หรือนำเอายางไม้มาผสมกับไม้ที่ผุแล้วนำมาทำใต่จุดส่องสว่างกันเท่านั้น การท่องบ่นสาธยายต่างๆก็มีตำราน้อย บางวัดต้องมาเรียกปากต่อปาก เป็นแบบมุขปาถะ ดังนั้นท่านจึงมาลำรึกถึงคำแม่สั่งไว้ว่าจะทำอะไรต่อไปให้บวชให้แม่ก่อน ท่านจึงเดินทางกลับไปที่จังหวัดสกลนคร และขอบวชที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตฺโต เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์กว่า สุมโน เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระมหาสนธิ์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านบวชเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ และได้อยู่อุปัฏฐากอุปัชฌาย์และอาจารย์ ฝึกกัมมัฏฐานกับท่าน

ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะพระอาจารย์กว่า ไม่มีใครอยู่อุปัฏฐาก จึงต้องกลับไปอยู่กับท่านและเรียนหนังที่วัดป่าสุทธาวาส การทำกัมมัฏฐานในยุกสมัยก่อน ทำอย่างเรียบง่ายแต่ก็เข้มข้น เนื่องจากธรรมมารมณ์ที่จะมากระทบจิตมีน้อยกว่าสมัยนี้มาก การพิจาณาในสรีระร่างกายก็จะทำให้จิตสลดสังเวชลงได้ง่าย เพราะคนในสมัยก่อนไม่มีการแต่งตัวมากเหมือนสมัยนี้ ความลำบากปรากฏแก่จิตได้ง่าย ด้านอาหารก็ฉันตามชาวบ้าน โดยเฉพาะภาคอีสานจะเป็นอาหารที่เหมาะแก่การภาวนามากคือ ฉันอาหารป่าเช่นแกงหน่อไม้ แกงเห็ด หลวกผักตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ภาวนาธรรมมีอาหารที่เหมาะแก่สัพปายะ เรียกว่าอาหารสัพปายะ ทำให้จิตลงง่าย จึงทำให้หลวงปู่สนธิ์ มีความสุข เย็นสบายจิตจะมีเมตตาธรรมจิตจะปรารภความเพียรอย่างเข้มแข็งมาก ธรรมปรากฏแก่จิต จิตถึงธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมจึงเป็นจิตที่สลัดทิ้งจากราคะ โทสะ โมหะได้

การอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่านาภู จังหวัดสกลนคร บังเอิญหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เดินทางมาที่จังหวัดสกลนคร และหลวงปู่สนธิ์ ก็เดินทางร่วมไปกับหลวงปู่เทสก์ เพื่อไปจำพรรษากับหลวงปู่ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ และได้รับรู้ถึงปฏิปทาของหลวงปู่มั่นได้เป็นอย่างดี เพราะหลวงปู่เทสก์เล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต การได้อยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ ทำให้หลวงปู่สนธิ์ ได้เห็นตัวอย่างการปฏิบัติตนของท่าน การภาวนาจะเริ่มได้ดีก็ต่อเมื่อเรามีกัลยาณีที่ดี ติดขัดในข้อปฏิบัติใดๆ ก็สามารถสอบถามได้ หลวงเทสก์ก็ได้เล่าถึงวัตรปฏิบัติ ให้ฟังจึงทำให้จิตใจได้กำลัง มีความเพียรในการปฏิบัต เมื่อเข้าอยู่จำพรรษาโดยธรรมเนียมสายปฏิบัติก็จะพากันเร่งความเพียร อย่างอุกกฤต บางรูปก็ปรารภในการอดอาหาร ในการไม่น้อย ปรารภในการเดินจงกรม ทุกรูปก็ปรารภเช่น ทำให้วงพระกัมมัฏฐานได้รับความเคารพจากชาวพุทธ เมื่อเป็นอย่างหลวงปู่เทสก์ได้ปรารภกับหลวงปู่สนธิ์ ว่าในพรรษานี้เราถือธุดงค์กันในข้อเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

จำพรรษาที่วัดพุทธบูชา
ด้วยว่าท่านอายุยังน้อยอยู่จึงอยากจะเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ท่านจึงกราบเรียนให้หลวงปู่เทสก์ทราบ แต่หลวงปู่เทสก์ก็ได้ปรารภว่า ส่งพระเณรมากรุงเทพก็จะสึกกันหมด ท่านห่วงว่าหลวงปู่สนธิ์ จะเป็นเหมือนพระเณรรูปอื่นจึงได้ปรารภเช่นนั้น แต่ก็อนุญาติให้มาเรียนบาลีที่กรุงเทพได้ ในปีพ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมีพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ได้ฝากให้มาจำพรรษาที่วัดพุทธบูชา ซึ่งเป็นสาขาของวัดบวรนิเวศน์วิหาร และได้อยู่จำพรรษาที่วัดพุทธบูชา เป็นเวลาถึง ๘ ปี และในปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยพระอาจารย์สุวัจน์ ก็พามาฝากที่วัดบรมนิวาส และกาลต่อมาหลวงปู่สนธิ์ ก็ได้ริเริ่มในการจะอบรมพระกัมมัฏฐานที่วัดบรมนิวาส เมื่อท่านกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ท่านก็ได้เปิดการอบรมกัมมัฏฐาน ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ โดยได้นิมนต์หลวงพ่อพุธ ฐานิโย มาเป็นองค์แสดงธรรมได้รับความนิยมจากญาติโยมเป็นอย่างดี ต่อมาท่านก็ได้ปรารภกับ พระมหาประกอบ วัดป่ามหาชัย ว่าเราเป็นการฝึกอบกัมมัฏฐานที่วัดเลย โดยใช้ที่กุฏิหลวงปู่สนธิ์ (กุฏิผ่องดำรงค์) เมื่อพ.ศ.๒๕๒๗ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เริ่มเวลา ๑๘.๐๐ น.ถึง ๑๙.๐๐น.โดยมีอุบาสก อุบาสิกา พระ เณรมาปฏิบัติกันเป็นประจำ เหมื่อนกันเมื่อหลวงปู่สนธิ์ มาอยู่ที่วัดพุทธบูชา ในปีพ.ศ.๒๕๔๒ ท่านก็ได้เปิดการอบรมปฏิบัติที่ วัดพุทธบูชาเป็นประ โดยเอาพระอุโบสถ์เป็นสถานที่ในการปฏิบัติ ในเวลา ๑๘.๐๐น. ถึง เวลา ๑๙.๐๐ น. ทุกวัน จนถึงปัจจุบันนี้

หลวงปู่กับการปฏิสังขรณ์เสนาสนะ
เมื่อหลวงปู่สนธิ์ ได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดพุทธบูชาอีก ในปีพ.ศ.๒๕๔๒ ท่านได้ริเริ่มในการบูรณะเสนาสนะภายในวัด ซึ่งแต่เดิมหลวงพ่อเพิ่ม ท่านได้ก่อสร้างไว้นาน สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายก็ดูทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อหลวงปู่สนธิ์ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดพุทธบูชาอีก ท่านได้เริ่มก่อสร้างกำแพงวัดให้เป็นสัดส่วน แบ่งเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และได้ก่อสร้างซุ้มประตูโขงหน้าวัดอีกสองที่ และได้บูรณะปิดทองพระพุทธชินราชใหม่ก่อนที่จะทำการผูกพัทสีมาใหม่ และได้ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีพุทธบูชา ขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม ได้ก่อสร้างกุฏิเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ๓ หลัง อาทิเช่น กุฏิอนาลโย กุฏิ ๗๒ ปี เป็นต้น กระนั้นท่านยังมีเมตตาธรรมรับเป็นภาระธุระให้การสนับสนุนในการก่อสร้างวัดอีกมาก เช่น วัดป่าภูปัง จังหวัดอุบลราชธานี วัดป่าอนาลโย จังหวัดนครปฐม และอีกที่จังหวัดราชบุรี ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใส่ในวัตรปฏิบัติของ หลวงปู่สนธิ์ ต่างก็ได้ถวายที่ดินเป็นพุทธบูชาอีกหลายแห่ง นี้คือคุณธรรมของท่านในด้านการส่งเสริมบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะในทางพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าและเป็นที่สัพปายะแก่ทุกท่านที่มาปฏิบัติธรรม นี้คือความเมตตาของหลวงปู่สนธิ์ ที่มีแก่สาธุชนทั้งหลาย จะพบท่านก็ง่าย สบายๆ แบบเป็นกันเองกับทุกคน

(จากซ้าย) หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ หลวงปู่ประสาร สุมโน หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย
เมตตาบันทึกภาพร่วมกัน ที่วัดท่าไทร จ.พังงา

หลวงปู่กับการอบรมสั่งสอนธรรม
พระกรรมฐาน ๕ คือ เกศา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย นะขาคือเล็บทั้งหลาย ทันตาคือฟังทั้งหลาย ตะโจคือผิวหนังทั้งหลาย ให้พิจารณาไปตามลำดับ โดยย้อนกลับไปกลับมา ในสี่อริยาบท หรือใช้ท่องบริกรรมภาวนา เป็นสมถะภาวนาย่อมทำให้ท่านผู้บริกรรมอย่างนี้ทำใจของตนเองเข้าถึงฌาน ทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตารมณ์ได้ง่าย อุบาสกอุบาสิกาบางคนบางท่านที่เขาทำฌาน กันเป็นแล้ว เมื่อภาวนา กรรมฐาน ๕ ได้ไม่กี่นาที ฌาน ๒ อุพเพงคาปีติ ก็ขึ้นทันทีสั่นไปทั้งตัว เสียงดังโครมครามไปหมดได้แค่ฌาน ๒ เท่านั้นก็เห็นนิมิตตัวเองนั่งอยู่ข้างหน้าแต่เป็น คฤหัสถ์อยู่ เห็นครึ่งตัวสวมเสื้อยืด คอแบะสีน้ำตาล ไว้ผมยาวหวีแสกข้าง สักประเดี๋ยวก็เห็นขันน้ำมาวางอยู่ข้างหน้า มีน้ำใสอยู่เต็มขันก็รู้ขึ้นมาทันทีว่า อ๋อ น้ำใส เต็มขันนั้นเป็นปริศนา เปรียบเทียบ เหมือนจิตเรานั่นเอง เพราะจิตไม่มีตัวตน

“ผู้ที่เห็นนิมิตอย่างนี้มีน้อย (คือผู้ที่เห็นตัวเองออกมานั่งอยู่ข้าง หน้าอย่างนี้)เป็นผู้มีวาสนาสามารถปฏิบัติให้บรรลุถึง นิพพานในชาตินี้ได้”

ในขณะที่ทำฌาน ๒ ได้แล้วนั้นรู้สึกเกิดความอิ่มเอิบใจเป็นที่สุดมีความมั่นใจและเชื่อมั่นถึงคำสั่ง สอน ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นของแท้แน่นอน เมื่อบวชแล้วท่านอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานโดยได้หลวงปู่เทสก์ เป็นผู้แนะนำในการภาวนาดั้งนั้นการภาวนาจึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร คือครูบาอาจารย์เป็นมิตรในอาวาสของเรา ประดุจดังพ่อแม่เราเป็นมิตรในเรือนนั้นเอง

ปล่อยให้จิตรู้แต่ระวังอย่าให้จิตหลง
ตามความเป็นจริงแล้ว จิตของเราเป็นธาตุรู้ เป็นอมตธาตุ เราให้เขารับรู้ แต่ไม่ให้เขาเกิด ถ้าเขาจะเกิดก็เอาสติคือความระลึกรู้ตัว เข้าไประลึกรู้แล้วจิตกับอารมณ์ก็จะดับ การระลึกรู้ใช้วิธีไหนก็ได้ ที่จะให้อารมณ์นั้นเขาดับไป เช่นเรากำหนดรู้ที่ลมหายใจเข้า ออก จิตเราจะพรากออกจากธรรมารมณ์ของเขาเอง เรียกว่า เห็นเขาเกิดขึ้นมาแล้วเขาก็ดับหายไปเอง ขอเพียงว่าให้จิต สติ และสัมปชัญญะเขาตามระลึกรู้ ธรรมารมณ์ต่างๆได้แต่ไม่ให้เขาเกิดเป็นตัวเราคิดไปตาม ถ้าเราอยากจะรู้อะไร เหตุอะไรที่มันเกิดภายนอก เราก็เอาสติปัญญา เราก็น้อมจิตเข้าไปดู ใหม่ ๆ จะเป็นกันหมดทุกคนเราต้องพยายามศึกษาให้ละเอียด ให้เข้าใจ ให้ถ่องแท้ การควบคุมจิตเป็นยังไง การบริหารจิตเป็นอย่างไร จิตของเราก็เหมือนกับเด็กน้อยนั่นแหละ ปล่อยให้เขาเล่น พอเกิดอุปสรรค เราก็ค่อยไปช่วยเหลือเขา ถ้าเขาจะส่งไปข้างนอก เราก็ต้องรู้จักดับเขา รู้จักแก้ไขเขาจิตที่ไม่ได้ฝึกนี่มัน ก็จะไปตามเองตามราวของเขา หลงไป ขนาดหลง ๆ อยู่ ยังว่ามันไม่หลงนะ เขาว่า เฮ้ย……คำหยาบนี่ไม่มีสติเลย ก็ไปโกรธให้เขา มันก็ไม่มีสติจริง ๆ ดังเขาว่านั่นแหละ

พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา

คาถาไล่ผีจนหนีป่าราบ
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย เดินทางไปปฏิบัติสมาธิภาวนากับหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก ที่วัดถ้ำเอราวัณ จังหวัดหนองบัวลําภู ทราบข่าวว่าท่านกำลังสร้างวัดใหม่ๆ วันที่เดินทางไปถึงนั้นหลวงปู่ผั่น ท่านก็ไม่อยู่ เนื่องจากท่านเดินทางไปที่อื่น หลวงปู่สนธิ์จึงพักภาวนาที่ถ้ำเอราวัณนั้น

ถ้ำเอราวัณแห่งนี้มีวิญญาณผีที่มีดวงจิตอาฆาตรุนแรงสิงสถิตอยู่หลายตัว ขนาดที่ว่าหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่คำพอง ติสฺโส ยังออกปากพูดว่า วัดนี้ผีเต็มวัด ครูบาอาจารย์หลายองค์แม้แต่หลวงปู่ผั่นเองก็ปราบผีเหล่านี้ไม่ได้ ทุกวันและทุกคืนของผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงอยู่กันแบบขวัญผวาหวาดระแวงตื่นกลัวโดยอยู่ไม่เป็นสุข

ครูบาอาจารย์ที่อยู่ก่อนแล้วบอกว่า “มหาสนธิ์ ลองปราบดูซิ”

ในคืนนั้นหลวงปู่สนธิ์จึงเข้าที่ภาวนากำหนดจิตให้เข้าสู่ความสงบแล้วถอยจิตออกมา ให้อยู่ในท่ามกลางคือมัชฌิมา ปรากฏบทบาลีเป็นธรรมะขึ้นมาว่า..
“จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อะโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”

เป็นบทมงคลสูตรที่เคยสวดเป็นประจำ พอธรรมบทนี้ปรากฏขึ้นมาก็กำหนดจิตเพ่งในธรรมบทนี้อีก ปรากฏเกิดเหตุอัศจรรย์คือ เริ่มมีลมพัดค่อยๆ แล้วก็แรงขึ้นๆ ใบไม้ที่อยู่บริเวณนั้นปลิวว่อนไปโดยรอบทั่วทั้งบริเวณ ผู้ที่มีตาในสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ว่าเราวิญญาณผีร้ายได้พากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงจนป่าราบไปหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำเอาผู้คนพระเณรต่างก็แตกตื่น สักพักลมหยุดสงบลงนิ่งไม่ไหวติง หลวงปู่สนธิ์ถอดจิตออกจากสมาธิภาวนาก็ได้เวลาสว่างพอดี ตั้งแต่นั้นมาวิญญาณร้ายทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่มารบกวนพระเณรและชาวบ้านอีกเลย

“อันนี้แปลกอยู่นะ แต่การปฏิบัติต้องตั้งจิตถูกต้องจึงจะไม่เป็นอันตราย” องค์ท่านกล่าวย้ำในเรื่องนี้

พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา

ปัจจุบัน พระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธิ์ อนาลโย) สิริอายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๖ (พ.ศ.๒๕๖๓)

จากหนังสือ “กตัญญุตา บูชาคุณ ๘๔ ปี พระเทพมงคลญาณ (สนธิ์ อนาลโย) พระผู้ไม่มีอาลัย วัดพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ; หน้า ๑๙๖ – ๑๙๗ ; เรียบเรียงโดย พระมหาธีนาถ อัคคธีโร วัดป่าภูผาสูง ; พิมพ์เมื่อ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน