วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ศุข เกสโร

วัดปากคลองมะขามเฒ่า
อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า พระอาจารย์รูปแรกของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

◉ ชาติภูมิ
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า นามเดิมชื่อ “ศุข เกษเวช” เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ.๒๓๙๐ ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านมะขามเฒ่า (ปัจจุบันเรียก บ้านปากคลอง) ต.มะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท บิดาชื่อ “น่วม” และมารดาชื่อ “ทองดี” ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลนี้ มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน คือ
๑ .หลวงปู่ศุข เกสโร
๒.นางอ่ำ
๓.นายรุ่ง
๔ .นางไข่
๕.นายสิน
๖ .นายมี
๗.นางขำ
๘.นายพลอย
๙.หลวงพ่อปลื้ม

เมื่อ หลวงปู่ศุข อยู่ในวัยฉกรรจ์ ท่านได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยยึดลำคลองบางเขน ซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ จ.นนทบุรี ลงมา

ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวง เป็นที่ทำมาหากิน หลวงปู่ศุขท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งได้ภรรยาชื่อนางสมบูรณ์ และกำเนิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา

◉ อุปสมบท
พออายุครบ ๒๒ ปี ท่านตัดสินใจอุปสมบทเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา ณ วัดโพธิ์บางเขน หรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณ จ.ปทุมธานี

พระอุปัฌาย์ท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคม ก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก

หลวงปู่ศุข ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากพระอุปัฌาย์ของท่านมาพร้อมกับพระอาจารย์เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสาย หลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

หลวงปู่ศุข ได้อยู่ปรนนิบัติอาจารย์ ซึ่งเป็นพระที่เคร่งครัดในด้านวิปัสสนา จึงได้ศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนเวทมนตร์คาถา ต่อมาท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามง่าม ปทุมวัน เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม และย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามบางลำพู

ณ ที่นี้ท่านได้พบกับ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ได้ศึกษาวิชาต่างๆ ร่วมกัน ทำให้ท่านทั้งสองมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๕ ท่านได้ธุดงค์เข้าเขตชัยนาทมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านต่างพากันเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติและพระเวทวิทยาคมของท่าน หลวงปู่ศุขมีศิษย์เอกเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ คือ “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์จนหมด

ก่อนที่กรมหลวงชุมพรฯ จะฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ศุขนั้น ความเก่งกล้าสามารถในด้านวิชาไสยศาสตร์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีผู้บอกเล่าต่อๆ กันไปในที่ต่างๆ โด่งดังไปถึงในรั้วในวัง และทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทราบเรื่องที่ว่านี้มาตลอด แต่ก็ทรงเฉยๆ ไม่ว่ากระไร

มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์เจ้าวิบูลย์พรรณฯ ได้นำพระเครื่องเก่าองค์หนึ่งมาถวายแก่กรมหลวงชุมพรฯ แล้วทูลว่า พระเครื่ององค์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นยอด ตกทอดมาตั้งแต่วังหน้า เนื่องจากพระองค์ชอบพิสูจน์หรือทดลองให้เห็นจริง จึงให้มหาดเล็กนำพระเครื่ององค์นั้นไปแขวนที่ปลายไม้ จากนั้นพระองค์จึงมีพระบัญชาให้นาวาเอกพระยาพลพยุหรักษ์ เป็นผู้ทดลองยิงพระเครื่ององค์นั้น โดยใช้ปืน ร.ศ. บรรจุกระสุนที่เลือกแล้วเป็นอย่างดี ท่ามกลางผู้ที่ยืนดูการทดลองจำนวนมาก จากการยิง ๓ นัด ผลปรากฏว่าปืนกระบอกนั้นไม่มีเสียงระเบิดทั้ง ๓ นัด คงมีแต่เสียงสับนกกระทบตูดชนวนลูกปืนดัง แชะ แชะ แชะ อันหมายความว่า กระสุนด้านและไม่ทำงาน กรมหลวงชุมพรฯ จึงทรงมีบัญชาให้หันลำกล้องปืนไปทางอื่นและยิงใหม่ ปรากฏว่ากระสุนเดิมทั้ง ๓ นัด ส่งเสียงสนั่น อันหมายถึงกระสุนมิได้ด้านแต่อย่างใด

นับตั้งแต่ครั้งนั้น กรมหลวงชุมพรฯ จึงมีความเชื่อถือในพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของไสยศาสตร์และ พุทธานุภาพ พร้อมกันนั้นได้เริ่มเสาะแสวงหาอาจารย์ดี เพื่อศึกษาวิชาไสยศาสตร์จากผู้ทรงคุณต่างๆ

ครั้นชื่อเสียงกิตติคุณของหลวงปู่ศุขมีมากขึ้น ก็มีความสนพระทัย มีความคิดใคร่จะไปทดลองดูให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตา หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะไปพบหลวงปู่ศุขให้จงได้ ในครั้งนั้น กรมหลวงชุมพรฯ เสด็จไปตากอากาศภาคเหนือและเสด็จกลับด้วยเรือทหารล่องลงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่แทนที่จะล่องกลับถึงกรุงเทพฯ พระองค์ทรงรับสั่งให้เรือกลไฟที่จูงเรือประเทียบล่องลงมาตามลำน้ำท่าจีน โดยแม่น้ำท่าจีนนั้นแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท ไหลลงสู่อ่าวไทยที่เมืองสมุทรสาคร มีความยาวถึง ๒๐๐ กม. และเส้นทางสายแม่น้ำท่าจีนนี้ได้ไหลผ่านวัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งล่องมาถึงวัด ก็บังเอิญให้เรือมีอันขัดข้องโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะพยายามแก้ไขเครื่องยนต์อย่างไรก็ไม่สำเร็จ (ภายหลังหลายคนเชื่อว่าคงเป็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของหลวงปู่ศุข) ในที่สุดก็เลยต้องชะลอเรือทั้งหมดเข้าไปจอดที่ศาลาวัดปากคลองมะขามเฒ่า ขณะที่เรือประเทียบและเรือกลไฟเข้ามาเทียบอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ พระองค์ทรงแลเห็นเด็กลูกศิษย์วัดกำลังชุลมุนอยู่กับการตัดหัวปลีเอามากองที่ข้างศาลาทีละหัวสองหัว จนเรือเข้าเทียบศาลาท่าน้ำนั่นแหละจึงเห็นหัวปลีกองโตขึ้น ขณะที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงยืนบนเรือมองดูการกระทำของเด็กวัดเหล่านั้นด้วยความฉงนพระทัย ได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งเดินตรงเข้ามาที่กองหัวปลี ท่าทางเคร่งขรึม ท่านมองรอบ ๆ กองหัวปลีอยู่ ๒-๓ อึดใจ แล้วจึงหย่อนร่างนั่งบนกองหัวปลีนั้น พระภิกษุรูปนั้นนั่งหลับตาภาวนาอยู่ครู่หนึ่ง หยิบหัวปลีขึ้นมาเป่าลูบไล้ไปมา จากนั้นท่านก็เหวี่ยงหัวปลีลงพื้น แล้วกรมหลวงชุมพรฯ ตลอดจนทหารข้าราชบริพารต้องตกตะลึง เพราะหัวปลีนั้นเมื่อตกถึงพื้นก็กลายเป็นกระต่ายสีขาวนวล กระโดดโลดเต้นอยู่ไปมา ภิกษุรูปเดิมหาได้หยุดเสกเป่าหัวหลี ท่านทำอย่างต่อเนื่อง หัวปลีกลายเป็นกระต่ายขาวหลายตัววิ่งอยู่บนศาลาและพื้นดินเต็มไปหมด

เมื่อเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนี้ กรมหลวงชุมพรฯ พร้อมด้วยนายทหารและข้าราชบริพารทั้งปวงในที่นั้นก็เข้าไปแสดงการคารวะต่อพระภิกษุรูปนั้นโดยทั่วหน้ากัน ครั้นกระต่ายวิ่งมาหาท่านทีละตัว ท่านก็เอามือลูบคลำไปมาสักครู่ แล้วปล่อยวางลงกับพื้น กระต่ายก็กลับเป็นหัวปลีอย่างเดิม และทำอยู่อย่างนั้นทุกตัว จนกลายเป็นหัวปลีกองโตเหมือนเดิม

กรมหลวงชุมพรฯ ได้สอบถามพูดคุยกับหลวงพ่อองค์นั้น (ขณะนั้นเสด็จในกรมเรียกหลวงพ่อ) จึงทราบว่าพระภิกษุที่อยู่เบื้องหน้าท่านก็คือ “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ที่พระองค์ได้ยินชื่อเสียงมาช้านาน และหลวงปู่ศุขเองก็ได้รู้เช่นกันว่าผู้ที่อยู่เบื้องหน้าของท่านคือพระราชโอรสแห่งพระพุทธเจ้าหลวง “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” นั่นเอง

การพูดคุยกันวันนั้นเป็นที่ถูกอัธยาศัยกันทั้ง ๒ ฝ่าย กรมหลวงชุมพรฯ จึงอยากพักอาศัยอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าสักหลายวัน หลวงปู่ศุข ก็มิได้ว่ากระไร ยกศาลาท่าน้ำให้เป็นที่จอดเรือ ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุชราและโอรสของเจ้าเหนือหัวได้เริ่มขึ้นและพระองค์ก็ฝากตัวเป็นศิษย์นับแต่นั้นมา

ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อกล่าวถึงพุทธาคมของหลวงปู่ศุข ก็จะต้องเขียนเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ และถ้าหากเขียนเรื่องเสด็จในกรมในเรื่องความขมังเวท ก็จะต้องมีเรื่องของหลวงปู่ศุข เข้ามาเกี่ยวข้องกันจนแยกไม่ออก เช่นเรื่อง

◉ เสกพลทหารเป็นจระเข้
กรมหลวงชุมพรฯ ได้ขึ้นไปสนทนากับ หลวงปู่ศุข บนกุฏิ การสนทนาในวันนั้นส่วนมากก็วนเวียนอยู่กับฤทธิ์อาคมเสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย หลวงปู่ศุขก็เล่าบอกตามความเป็นจริงในทางที่ตนเองยึดถือปฏิบัติ ยิ่งพูดคุยกันมากกรมหลวงชุมพรฯ ก็ยิ่งรู้ว่าหลวงปู่ศุขมีอาคมมากมาย ทั้งยังสามารถเสกคนให้เป็นจระเข้ได้อีกด้วย ในตอนหนึ่งของการสนทนา หลวงปู่ศุขได้สอบถามกรมหลวงชุมพรฯ ว่า “ปรารถนาจะใคร่ชมคนกลายเป็นจระเข้หรือไม่” กรมหลวงชุมพรฯ และข้าราชบริพารที่นั่งอยู่ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากเห็นคนกลายเป็นจระเข้” เมื่อทุกคนอยากดูการเสกคนเป็นจระเข้ หลวงปู่ศุขจึงบอกให้กรมหลวงชุมพรฯ คัดเลือกคนรูปร่างล่ำสันแข็งแรง พระองค์จังคัดเลือกพลทหารมาได้คนหนึ่งชื่อ “จ๊อก”

จากนั้นหลวงปู่สั่งให้เอาเชือกเส้นใหญ่มัดที่เอวของพลทหารจ๊อกอย่างแน่นหนา แล้วพาไปที่สระน้ำแห่งหนึ่งในวัด ให้พลทหารผู้นั้นนั่งคุกเข่าลงข้างสระ แล้วสั่งให้หลับตาพนมมืออยู่นิ่ง ๆ ส่วนตัวหลวงปู่จับปลายเชือกไว้แน่น พลางบริกรรมคาถาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็เป่าพรวดลงไปที่ศีรษะพร้อมกับใช้ฝ่ามือที่ไม่ได้จับปลายเชือกตบลงที่กลางหลัง พร้อมกับผลักพลทหารจ๊อกตกลงไปในสระน้ำเสียงตูมใหญ่ สายตาทุกคู่จ้องเป็นจุดเดียว กรมหลวงชุมพรฯ ยืนมองร่างพลทหาร ท้องน้ำแตกกระจายเป็นวงกว้าง ครั้นน้ำสงบลงจึงแลเห็นร่างของจระเข้ตัวโตอยู่ในน้ำ ส่วนหัวมีเชือกผูกติดตัวแหวกว่ายวนเวียนสะบัดหากฟาดน้ำอยู่ไปมา

ทุกคนในที่นั้นต่างอัศจรรย์ในความขมังเวทย์ของหลวงปู่ศุข ส่วนกรมหลวงชุมพรฯ ทรงทอดพระเนตรดูลูกน้องกลายเป็นจระเข้แหวกว่ายอยู่ในสระน้ำด้วยใจระทึก ร่างของจระเข้พยายามตะเกียกตะกายเพื่อจะดำดิ่งลงก้นสระ ติดแต่ว่าถูกล่ามเชือกอยู่ โดยเหล่าทหารเข้าช่วยหลวงปู่ดึงเอาไว้

หลวงปู่ศุข ได้กล่าวกับกรมหลวงชุมพรฯ ว่า “ท่านจะให้ลูกน้องกลับเป็นคนหรือจะให้เขาเป็นจระเข้อยู่อย่างนั้นกรมหลวงชุมพรฯ ได้ตรัสตอบว่า “ต้องการให้เขากลับเป็นมนุษย์อย่างเดิม” หลวงปู่ศุขจึงให้พวกทหารช่วยกันดึงเชือกให้หัวจระเข้โผล่ขึ้นมาพร้อมกับสั่งกำชับว่า “อย่าปล่อยให้เชือกหลุดมือหรือขาด หากจระเข้หลุดไปแล้วมันจะดำลึกลงกบดานที่ก้นสระ โอกาสที่จะทำให้คืนร่างเป็นมนุษย์คงยาก

พวกทหารจึงช่วยกันดึงรั้งเชือกกันสุดแรง กลายเป็นการชักเย่อระหว่างคนกับจระเข้ หลวงปู่ศุขท่านเดินกลับกุฏิ ครู่ใหญ่ถือบาตรน้ำมนต์ตรงมายังขอบสระที่จระเข้กำลังตะเกียกตะกายหนี จากนั้นท่านได้บริกรรมคาถากำกับน้ำมนต์อยู่อึดใจแล้สั่งด้วยเสียงอันดังว่า “เอาออกแรงดึงขึ้นมาหน่อย” ทหารทุกคนทำตาม ออกแรงดึงให้ร่างจระเข้ลอยบนผิวน้ำ หลวงปู่ศุขจึงเอาน้ำมนต์ที่เสกแล้วเทราดบนหัวจระเข้ ความอัศจรรย์เกิดขึ้นเป็นคำรบสอง ร่างจระเข้ที่ดิ้นรนและฟาดหางไปมานั้นค่อย ๆ มีอาการสงบลง แล้วร่างที่ขรุขระของจระเข้ก็กลายเป็นผิวเนื้อของมนุษย์ทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นทหารคนเดิมในเวลาต่อมา กรมหลวงชุมพรฯ มองดูทหารผู้นั้นด้วยความอัศจรรย์ในเป็นที่สุด เรื่องที่พระองค์ไม่เคยพบเห็นในชีวิตก็ได้มาเห็นที่วัดของหลวงปู่ศุข (เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน สระประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้ถูกถมเป็นพื้นดินราบและส่วนหนึ่งของสระได้ปลูกสร้างตึกเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่าไปเสียแล้ว)

อนึ่ง จากหนังสือพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โดยชัยมงคล อุดมทรัพย์ ได้บันทึกไว้เป็นความตอนหนึ่ง ถึงคำบอกเล่าของพลทหารจ๊อกภายหลังร่างกลับกลายเป็นคนว่า ขณะที่ตนลงไปในสระก็มิได้รู้สึกตัวว่าตัวเองเป็นจระเข้แต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกว่าตัวเองมีพละกำลังมหาศาลผิดปกติเท่านั้น และแหวกว่ายน้ำด้วยจิตใจคึกคะนองฮึกเหิม อยากดำผุดดำว่ายทั้งที่มองตัวเองแล้วก็มีร่ายกายเหมือนคนทุกอย่าง

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวิชาเสกคนให้เป็นจระเข้ของคุณทวี เย็นฉ่ำ ผู้ศึกษาวิชาไสยศาสตร์คนหนึ่งของเมืองไทยกล่าวถึงเรื่อง “จระเข้วิชา” เอาไว้ ซึ่งหมายถึง “คน” ซึ่งแก่กล้าวิชาอาคม และมีเหตุให้กลายร่างเป็นจระเข้ เพราะความเรืองวิชาอาคมของตนเอง จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็ตามที ทำให้ไม่สามารถรดน้ำมนต์ลงไปที่ตัวจระเข้ได้ บุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็นจระเข้ต่อไปจนกว่าจะแก้มนต์กำกับหรือมนต์อาถรรพณ์ได้

ดังเช่นตำนาน “จระเข้คน” จากจังหวัดพิจิตรอันเป็นแดนอาถรรพณ์ต้นกำเนิดนิทานพื้นบ้านอันลือลั่น เรื่องไกรทองและชาละวันนั่นเอง มีเรื่องเล่าจากนายเนตร แพงกลิ่น ที่เคยบวชเรียนอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้เล่าถึงคนกลายเป็นจระเข้ แล้วมาให้หลวงปู่ศุขช่วยแก้อาถรรพณ์ให้ว่า ณ ท่าเรือทอง ซึ่งอยู่วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีการลงอาถรรพณ์ไว้ หากจระเข้วิชามาถึงท่าเรือทองนี้ จะต้องลอยหัวโผล่ขึ้นมา ไม่สามารถดำน้ำได้อีกต่อไป คราวนี้พวกญาติจะนำน้ำมนต์หลวงปู่ศุขไปราดที่หัว จระเข้วิชาก็จะกลายเป็นคนตามเดิม โดยจะนอนแน่นิ่งเกยตื้นริมตลิ่งอยู่บางทีมีเรื่องทุลักทุเลไม่อาจราดน้ำมนต์ที่หัวจระเข้ได้ เพราะความกลัวของบรรดาญาติ หรืออะไรก็ตามแต่ บางทีเป็นเดือน ๆ เป็นปี ๆ ก็มี จระเข้วิชาเมื่อถูกราดด้วยน้ำมนต์แก้อาถรรพณ์แล้วจะกลายเป็นคนนิ่งเงียบ ไม่ยอมพูดจา ญาติจะช่วยกันประคองไปหาหลวงปู่ศุขที่กุฏิ ท่านก็จะทำพิธีแก้อาถรรพณ์รักษาให้ นานอยู่ประมาณ ๗-๘ วัน คนผู้นั้นจึงจะพูดได้

ในบันทึกของนายเนตร แพงกลิ่น ยังกล่าวอีกว่า เคยเห็นมีการรักษาจระเข้วิชานี้ประมาณ ๓-๔ ครั้งเท่านั้น และทั้งหมดเป็นจระเข้จากจังหวัดพิจิตร จุดสังเกตจระเข้วิชาปากจะสั้น มีรูปร่างเหมือนหัวปลี

นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าเจียดจากหลวงปู่ศุขที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงแจกให้แก่ทหารเรือ เพื่อทำการทดลองอาคม

◉ ผ้าเจียดจากหลวงปู่ศุข
สำหรับการเรียนพุทธาคมของ กรมหลวงชุมพรฯ เป็นไปด้วยดีจนคนทั่วไปยอมรับว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงมีกฤติยาคมสูงส่งหาใครเทียบเสมอได้ในยุคนั้น ในกองทัพเรือยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ข้าราชบริพาร จนถึงลูกศิษย์ที่เป็นนักเรียนนายเรือ รู้กันว่าพระองค์ทรงโปรดการลองวิชา และชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยความผาดโผนมหัศจรรย์ยิ่งนัก ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ครองราชย์อยู่นั้น เป็นยุคที่กีฬามวยไทยเฟื่องฟู ค่ายมวยต่างๆ ผุดขึ้นมากมาย ทางราชสำนักจึงจัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยไทยขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อหาเงินบำรุงสมทบทุนซื้อปืนให้กองเสือป่าทั่วประเทศ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้นายแม็ค เศียรเสวี (พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี) นายเสือป่าใหญ่ เป็นผู้จัดการหาเงินสมทบ มีประกาศเรียกนักมวยฝีมือดีจากทุกภาค ทุกหัวเมืองให้เข้ามาอยู่รวมกันโดยพักอยู่ที่สโมสรเสือป่า ใกล้เขาดินวนา และในสมัยนั้นเองได้มีนักมวยจากโคราช ฝีมือยอดเยี่ยมมีชื่อเสียงเข้ามาร่วมอยู่ด้วย คือ นายทับ จำเกาะ และนายยัง หาญทะเล โดยเฉพาะนายยัง หาญทะเล มีชื่อเสียงดีเป็นพิเศษ นักมวยคนนี้เป็นชาวนครราชสีมา บ้านอยู่ตำบลหัวทะเล ฝีมือในการชกมวยจัดว่าสูงมาก เพราะเคยชกนักมวยจีนชั้นครูถึงแก่ความตายไปถึง ๒ คน แต่ข่าวบางกระแสกล่าวว่า นายยัง หาญทะเล เป็นศิษย์เอกของกรมหลวงชุมพรฯ เนื่องจากนายยังเคยรับราชการทหารเรือ เพราะความมีชั้นเชิงในเรื่องหมัดมวยติดตัวมาด้วย กรมหลวงชุมพรฯ จึงทรงโปรดปรานนายยังเหนือกว่าใคร ๆ

ในคราวเสด็จประพาสเรือรบหลวงเกี่ยวกับการฝึกภาคทะเล นายยังคนนี้ก็ติดตามไปด้วย วันหนึ่งขณะเรือรบหลวงกำลังแล่นฝ่าคลื่นกลางทะเลลึกในอ่าวไทยใน ก็มีเสียงเป่าแตรเรียกทหารประจำการเข้าแถว แล้วกรมหลวงชุมพรฯ ก็ทรงดำเนินตรวจพลบนดาดฟ้าเรือ จากนั้นทรงมีรับสั่งให้เรือรบหลวงทอดสมอลอยลำกลางทะเล ในโอกาสนี้ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงแจกผ้าเจียดลงเลขยันต์ศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ทหารทุกคน พระองค์มีรับสั่งว่า

ผ้าเจียดที่ข้านำมาแจกแก่พวกเจ้านี้ เป็นของท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่า มีอานุภาพและอภินิหารยิ่ง ถ้าใครมีความเคารพนับถือ สามารถเดินบนผิวน้ำไม่จมน้ำตาย และป้องกันสัตว์ร้ายนานาชนิด การที่นำมาแจกในวันนี้ใครจะทดลองโดดลงในทะเลให้ข้าดูบ้างหรือไม่

ทหารทุกคนฟังแล้วเงียบกริบ ไม่มีใครกล้าตอบและคงไม่มีใครคิดเสี่ยง เพราะขณะนั้นเรือลอยลำอยู่ท่ามกลางดงฉลาม กรมหลวงชุมพรฯ รู้สึกไม่พอพระทัยในความไม่พูด ไม่กล้าของเหล่าทหารทั้งหลาย พระองค์จึงตรงมาที่นายยัง หาญทะเล ทรงรับสั่งถามว่า “อ้ายยัง เอ็งพอจะกล้าลงไปว่ายเล่นในทะเลให้สนุกสักครั้งหรือไม่ ให้ข้าเห็นความศักดิ์สิทธิ์ในผ้าเจียดของท่านอาจารย์สักหน่อยไม่ได้รึ

นายยังทูลตอบ “เมื่อเป็นพระประสงค์ กระหม่อมจะขออาสาพระเจ้าข้า

เสด็จในกรมดีพระทัย พร้อมกับทรงพระสรวลอย่างชอบใจในความไม่ประหวั่นพรั่นพรึงของนายยัง จึงรับสั่งอีกว่า “อ้ายยัง มึงนี่สมชายชาติทหาร จะรอช้าอยู่ทำไม อาราธนาแล้วระลึกถึงท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่าเสียก่อน แล้วกระโดดลงไปเลย

นายยังยอดนักมวยเมืองโคราชจึงออกเดินไปยังกาบเรือ แล้วก็พุ่งตัวลงในทะเลลึกอย่างไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น เหมือนปาฏิหาริย์ เหล่าทหารเรือทุกคนได้เห็นนายยังลงไปยืนเด่นบนผิวน้ำอย่างอัศจรรย์ และรอบข้างนายยัง มีปลาฉลามหลายตัวเวียนว่ายอยู่รอบ ๆ แต่ไม่ได้ทำอันตรายนายยังแม้แต่น้อย ทหารเรือต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเพราะบุญบารมีกฤติยาคมของเสด็จในกรม และความขลังศักดิ์สิทธิ์ของผ้าเจียดหลวงปู่ศุข ลูกประดู่ทุกคนรีบยกผ้าเจียดขึ้นไว้ทันที

ครั้นนายยังไต่บันไดเรือขึ้นมา ก็คุกเข่าเข้ากราบถวายบังคมกรมหลวงชุมพรฯ พระองค์ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัย ก้มพระวรกายลงเอาพระหัตถ์ลูบศีรษะนายยังด้วยความเอ็นดูพลางตรัสว่า “อ้ายยัง เอ็งนี่หาญทะเล สมสกุลที่ข้าตั้งไว้ให้ดีแท้

นอกจากจะมีกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นศิษย์เอกแล้ว ยังมีศิษย์ที่เก่ง เข้มขลัง ที่หลายท่าน ทั้งคณาจารย์ ภิกษุสงฆ์ และฆราวาส แต่กว่าจะได้เป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุขไม่ใช่เรื่องง่าย มีตำนานเรื่องเล่าจา หลวงปู่หน่าย อินทสีโล วัดบ้านแจ้ง ต.หันสังข์ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ต้นตำหรับวิชาพญาจิ้งจก เป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นสุดท้าย ที่ทันได้เล่าเรียนและปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ศุข

หลวงปู่หน่าย ได้เคยเล่าให้ศิษย์ของท่านฟัง ถึงเรื่องราวการสอนวิชาอาคมของหลวงปู่ศุข โดยท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อครั้งเป็นพระหนุ่มใหม่ ได้ไปขอศึกษาวิชาพระเวทย์ เลขยันต์โบราณจากหลวงปู่ศุข ได้พบเห็นคนมากมายมาขอเรียนวิชาจากท่าน ซึ่งมีทั้งพระ โยม ในจำนวนคนที่มานั้น ๑๐ คน จะเรียนได้สัก ๑ หรือ ๒ คนก็นับว่ามากแล้ว เพราะหลวงปู่ศุข ท่านมีวิธีทดสอบจิตผู้มาเรียนที่น่าเกรงกลัวมาก กล่าวคือ จะให้ศิษย์นำไม้ไผ่ลำต้นใหญ่ พอที่คนจะปีนได้มาปักลง กับลานดิน ทำหลักให้แน่นหนามั่นคง ไผ่ลำนี้จะสูงมากและตอนบนสุดจะตัดเป็นปล้องไว้คล้ายกระบอกข้าวหลาม ศิษย์คนหนึ่งจะปีนขึ้นไปบรรจุน้ำมันในกระบอกด้านบนจนเต็มแล้วค่อยลงมา ตอนนี้แหละ ที่หลวงปู่ศุขจะให้คนที่มาขอเรียนท่องคาถาสี่ตัว คือ นะ มะ พะ ทะ ซึ่งก็คือหัวใจของธาตุทั้ง ๔จากนั้นก็จะให้ปีนขึ้นไปให้ถึงยอดเสา เมื่อกลับลงมาได้แล้วจึงจะถ่ายทอดวิชาชั้นสูงต่อไปให้

เรื่องแค่นี้ฟังแล้วไม่เห็นจะยาก เมื่อผู้มาเรียนตั้งหน้าปีนขึ้นไป แรก ๆ ก็ไม่มีอะไร ต่อเมื่อขึ้นถึงกลางลำแล้วความมั่นคงของต้นไผ่ก็น้อยลง ไผ่ทั้งต้นก็เริ่มโอนเอน และสะเทือน แล้วน้ำมันที่บรรจุไว้ก็จะกระฉอกออกมา พอคนปีนขึ้นไปสัมผัสกับน้ำมันก็จะลื่นลงข้างล่าง ถึงตรงนี้แหละที่น่ากลัว เพราะหลวงปู่ศุข ท่านจะยืนถือหอกใบพายอยู่ด้านล่าง พอคนปีนไหลลงมาถึงท่านก็จะเอาหอกแทงก้นให้กลับขึ้นไป หล่นก็จะหล่น เจ็บก้นกลัว จะทะลุก็กลัว ทำให้คนที่กำลังปีนอยู่เกิดความวุ่นวายใจทันที พยายามปีนขึ้นไปก็ร่วงลงมา ลงมาแล้วก็ถูกแทงอีก อาการที่เรียกว่า กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ผู้มาเรียนนั่นแหละต้อง เอาตัวเองเป็นที่พึ่ง ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องว่า คาถาสี่คำคือ นะ มะ พะ ทะ รัวๆ เป็นไฟ กำหนดจิตให้แนบแน่น อยู่กับคำบริกรรม กดจิตนิ่งอยู่อย่างนั้นเพราะทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เรื่องข้างนอกต้องปล่อยทิ้งทีเดียว แล้วคว้าจิตไว้เป็นเอก ทำจิตให้เป็นหนึ่งเดียว ตอนนี้เองที่เมื่อจิตเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับคำบริกรรมแล้ว พระคาถาทั้งสี่ที่ถือได้ว่าเป็นแม่ธาตุใหญ่ก็สำแดงปาฏิหาริย์ เพราะเป็นต้นธาตุอยู่แล้ว ก็บันดาลให้ธาตุดิน คือเนื้อหนังมังสาที่บอบบางฉีกขาดง่าย เกิดเหนียวราวกับยางรถสิบล้อ คมหอกที่หลวงปู่ศุขทิ่มแทงก็ไม่ทำให้ได้รับความเจ็บปวดสาหัส และคมหอกนั้นก็ไม่สามารถทะลุหนังบาง ๆ ที่ถูกคุ้มด้วยพระเวทย์ศักดิ์สิทธิ์ผนวกกับจิตที่มั่นคงได้

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

และอีกหนึ่งตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ที่พิสูจน์ถึงความแก่กล้าของวิทยาคมและพลังจิตของหลวงปู่ศุข และพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป นั่นคือ

◉ ตำนานกบไสไม้
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.๒๔๕๒ สมเด็จพระสังฆราช (เข) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงมีพระดำริในการทดสอบพลังจิตและความเข้มขลังของพระเกจิทั่วสยามประเทศขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม นัยว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ “พระดี-เกจิดัง” ในสายวิปัสสนากัมมัฏฐานและเฟ้นหา “สุดยอดพระเกจิ” (ตามประวัติน่าจะมีเพียงครั้งเดียว) โดยนิมนต์พระเถรจารย์และเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศมาชุมนุมมากกว่า ๑๐๐ รูป งานนี้เรียกได้ว่าเป็นพิธีชุมนุมพระเกจิชื่อดังทั่วแดนสยาม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก

ในพิธีมีการทดสอบวิทยาคมและพลังจิตอย่างเข้มขลัง โดยคัดเลือกเกจิอาจารย์ครั้งละ ๑๐ รูป ด้วยวิธีจับสลาก จากนั้นนำท่อนไม้ ๑ ท่อน มาวางบนม้า ๒ ตัว จากนั้นนำกบไสไม้วางบนท่อนไม้ โดย สมเด็จพระสังฆราช (เข) ทรงบอกกติกาว่า เกจิทุกรูปจะต้องใช้พลังจิตบังคับให้กบไสไม้วิ่งไสไม้ไป-กลับโดยกบห้ามหล่นลงมาเด็ดขาด หากใครพลังจิตแก่กล้าจริงก็จะสามารถทำได้ หากใครพลังจิตยังไม่สุดยอดก็ต้องยอมล่าถอยไป ปรากฎว่าหลังการทดสอบผ่านไป ๓ วัน ๓ คืน เกจิส่วนใหญ่ใช้พลังจิตบังคับกบวิ่งไสไม้ได้ทั้งนั้น แต่บังคับวิ่งไปข้างหน้าได้ทางเดียว บังคับกลับไม่สำเร็จ มีเพียงเกจิ ๑๐ รูปเท่านั้นที่สามารถบังคับกบไสไม้ได้ทั้งไป-กลับ ถือว่าเป็น ๑๐ พระเกจิสุดยอดแห่งสยามประเทศอย่างแท้จริงและปัจจุบันคงหาเกจิรุ่นใหม่เทียบได้ยากยิ่ง โดยเกจิทั้ง ๑๐ รูป ได้แก่

๑.หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร
๒.หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ
๓.หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง กรุงเทพฯ
๔.หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี
๕.หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา
๖.หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
๗.หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม
๘.หลวงพ่อจอน วัดดอนรวบ จ.ชุมพร
๙.หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม
๑๐.หลวงพ่อทอง วัดเขากบ จ.นครสวรรค์

เรื่องเล่าขานนี้เป็นความจริงหรือไม่นั้น ไม่สามารถหาบันทึกลายลักษณ์อักษรได้ แต่ก็ถือว่ามีความน่าสนใจเพราะได้ระบุรายชื่อของพระเกจิอาจารย์ และสถานที่ไว้อย่างชัดเจน และเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

◉ มรณภาพ
เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “หลวงปู่ศุข” มรณภาพ สิริรวมอายุ ๗๖ ปี นับพรรษาได้ ๕๔ พรรษา

แม้ “หลวงปู่ศุข” จะละสังขารมาล่วงกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แต่ท่านยังเป็นที่เคารพศรัทธาจากชาวชัยนาทและลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ ด้วยท่านเป็นพระเกจิผู้เปี่ยมด้วยพุทธาคมแก่กล้า จนได้รับสมญาว่า “เจ้าสำนักทางพุทธาคมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นพระอาจารย์ทางพุทธาคมรูปแรกของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงให้ความเคารพนับถือและมีความใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูง ด้วยพุทธคุณเป็นเลิศ โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยังคงเป็นที่กล่าวขานและแสวงหามาจวบจนปัจจุบัน

◉ คาถาหลวงปู่ศุข
ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่าดังนี้ “สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ มะอะอุ

ก่อนเดินทางออกจากบ้าน สวดบทนี้ครบ ๙ จบ แล้วอาราธนาระลึกถึงหลวงปู่สุข จะช่วยให้ท่านแคล้วคลาดปลอดภัยไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใด

◉ ด้านวัตถุมงคล
สร้างวัตถุมงคลเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของมารดา เป็น “พระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมี” ผู้ที่ได้รับเหรียญไปบูชา เกิดปาฏิหาริย์ปรากฏด้านอยู่ยงคงกระพันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเขี้ยวงา อีกทั้งภยันตรายต่างๆ ทำให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณโด่งดังขจรไกล หลวงปู่ศุข เนื้อหามวลสาร หลวงปู่ศุข มักจะใช้เนื้อตะกั่วเป็นพื้น เพราะการสร้างและหล่อหลอมตลอดจนวัสดุที่นำมาสร้าง หาได้ง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น

เหรียญหล่อ ประภามณฑล หลวงปู่ศุข ข้างเรียบ เนื้อทองแดง
เหรียญหล่อ ประภามณฑล หลวงปู่ศุข ข้างเรียบ เนื้อทองแดง
ประคำนิ้ว พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
ประคำนิ้ว พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท

วัตถุมงคลของท่านล้วนแต่เป็นที่เคารพศรัทธาและเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น สำหรับ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี ๒๔๖๖ นับเป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูง ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม พุทธคุณเป็นที่ปรากฏ และยังเป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่มีรูปเหมือนของหลวงปู่ศุข เป็นหนึ่งในห้าเหรียญยอดนิยมที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า รุ่นแรก ปี ๒๔๖๖
เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า รุ่นแรก ปี ๒๔๖๖

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปไข่กลม ห่วงเชื่อม พิมพ์ด้านหน้า มีเพียงหนึ่งพิมพ์ ขอบเหรียญโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน ๒ ชั้น ชั้นนอกหนา ชั้นในเรียวเล็ก ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่ศุข นั่งเต็มองค์แบบสะดุ้งกลับ ครองผ้ารัดประคด อยู่เหนืออาสนะลายผ้า รองรับด้วยรูปโบหางแซงแซว ระบุ พ.ศ.ที่สร้างไว้อย่างชัดเจนคือ “๒๔๖๖” ด้านบนโดยรอบมีอักษรภาษาไทยจารึกสมณศักดิ์และชื่อวัดอย่างชัดเจนว่า “พระครูวิมลคุณากร วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ด้านข้างของรูปเหมือนทั้งสองข้างมีอักขระขอมตัว “อุขึ้น อุลง” พิมพ์ด้านหลัง โดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูน ๓ เส้น ระหว่างช่องว่างประดับด้วยเม็ดไข่ปลาลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางทำเป็น “ยันต์ ๓” หมายถึง พระไตรสรณคมน์ ล้อมยันต์ด้วยหัวใจธาตุ คือ “นะ มะ อะ อุ” ด้านบนเป็นคาถาพระเจ้า ๕ พระองค์คือ “นะ โม พุท ธา ยะ” ส่วนอักขระด้านล่างยันต์ คือ “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” โดยแบ่งแยกออกเป็น ๔ พิมพ์ ได้แก่

๑) พิมพ์หลังไม่มี “อุ” เป็นพิมพ์นิยม หนึ่งในเบญจภาคีเหรียญพระสงฆ์

๒) พิมพ์หลังมี “อุ (เล็ก)” คือ จะมีอักขระขอมตัว “อุ (เล็ก)” แทรกอยู่หน้าตัว “นะ” และหลังตัว “ยะ

๓) พิมพ์หลังมี “อุ (ใหญ่)” เช่นเดียวกับพิมพ์ที่ ๒ แต่ตัว “อุ” จะใหญ่กว่า

๔) พิมพ์หลัง “อุ และมีดาว” พุทธคุณ ครอบจักรวาล โดยเฉพาะแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี

และปี พ.ศ.๒๕๒๑ จังหวัดชัยนาท จัดสร้างศาลหลักเมือง และมีความประสงค์จะมอบวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ในการสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดชัยนาท คณะกรรมการดำเนินงาน มีมติให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกของหลวงปู่ศุข (พระครูวิมลคุณากร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ

เหรียญหลวงปู่ศุขสร้างหลักเมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ปี ๒๕๒๑ บล็อคหูขีด ๒ โค๊ต
เหรียญหลวงปู่ศุขสร้างหลักเมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ปี ๒๕๒๑ บล็อคหูขีด ๒ โค๊ต

ลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมาคว่ำ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเหรียญเนื้อทองคำ (หนัก ๑ บาท) ๔๐๐ เหรียญ, เหรียญเนื้อเงิน ๑,๐๐๐ เหรียญ และเหรียญเนื้อทองแดง ๕๐,๐๐๐ เหรียญ

ด้านหน้าเหรียญ มีขอบรอบเป็นลายกนก ใต้หูห่วงมีอักขระขอม นะ โม พุท ธา ยะ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปนูน หลวงปู่ศุข ยืนถือไม้เท้า ข้างศีรษะเหนือไหล่มีอักขระขอม มะ อะ อุ ตอกโค้ด “ภะ” เป็นอักขระขอม ด้านซ้ายและขวาของหลวงปู่ศุข มียันต์ “นะเศรษฐี” กำกับทั้งสองข้าง เหนือขอบล่างมีอักษรไทย “พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า”

ส่วนด้านหลังเหรียญ มีขอบรอบเป็นลายกนกเช่นกัน ใต้ขอบด้านบน เป็นยันต์องค์พระ ตรงกลางเหรียญจารึกเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึกในงานสร้างศาลหลักเมืองชัยนาท”

วันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๑ เวลา ๐๗.๓๐ น. ประกอบพิธีบวงสรวง เวลา ๑๕.๐๐ น. ประกอบพิธีพุทธาภิเษก “เหรียญเสมาหลวงปู่ศุข รุ่นสร้างศาลหลักเมือง” ณ วัดบรมธาตุวรวิหาร เวลา ๒๐.๐๐ น. ดับเทียนชัย

มีพระเกจิอาจารย์ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต ประกอบด้วย หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม, หลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู, หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อฉาบ วัดคลองจันทร์, หลวงพ่อเชื้อ วัดใหม่บำเพ็ญบุญ, หลวงพ่อชม วัดตลุก, หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน, หลวงพ่อสนิท วัดศีลขันธาราม, หลวงพ่อเปลื้อง วัดสุวรรณภูมิ, หลวงพ่อวิชา วัดศรีมณีวรรณ, หลวงพ่อเจ้ย วัดท้ายเจริญสุข, หลวงพ่อสด วัดหางน้ำสาคร, หลวงพ่อพุฒ วัดบ้านกล้วย,พระครูวุฒิชัยโสภณ วัดบรมธาตุวรวิหาร

แม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังจากหลวงปู่ศุขมรณภาพแล้ว แต่ด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ ทำให้เหรียญมีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านหลากหลาย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก blueskychannel.tv