วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

หลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน พระอภิญญาแห่งลุ่มน้ำโขง

ประวัติ ปฏิปทาและปาฏิหาริย์
หลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน

วัดพระธาตุท่าอุเทน
อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

หลวงปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ วัดพระธาตุท่าอุเทน
หลวงปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ วัดพระธาตุท่าอุเทน

พระธาตุท่าอุเทน” เป็นพระเจดีย์ที่อยู่ภายในวัดท่าอุเทน (วัดพระธาตุท่าอุเทน) อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยพระธาตุแห่งนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นพระธาตุประจําวันของผู้ที่เกิดวันศุกร์ โดยเชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันศุกร์ถ้าหากได้มากราบนมัสการ พระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือน พระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณอันไร้การอัสดง ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา ประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ทว่าได้รับความเคารพนับถือ จากประชาชนในดินแดนลุ่มน้ำโขง อีสาน ตลอดจนทั้ง ๒ ฝั่งโขงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ที่สร้างพระธาตุแห่งนี้ เป็นผู้นํา ทางด้านจิตวิญญาณของประชาชน ในดินแดนแห่งนี้นั่นเอง ซึ่งท่านก็คือ “ญาครูสีทัตถ์ ญาณสัมปันโน (สุวรรณมาโจ)” ซึ่งประวัติของท่าน มีดังนี้

◎ ภูมิหลังชีวิตและการอุปสมบท
ญาครูสีทัตถ์ หรือ พระอาจารย์สีทัตต์ (บ้างก็เรียกว่า “หลวงปู่ศรีทัตถ์”) เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ณ บ้านหมู่ ๔ ตําบลท่าอุเทน อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บิดาชื่อ “นายมาก” มารดาชื่อ “นางดา” เกิดในสกุล “สุวรรณมาโจ

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโพนแก้ว อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (สันนิษฐานว่าพระอุปัชฌาย์ของท่านคือ “พระอาจารย์ขันธ์” ผู้วิเศษแห่งวัดโพนแก้วนั่นเอง)

ภายหลังอุปสมบทพระอาจารย์ขันธ์ได้ถ่ายทอดพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีให้แก่พระภิกษุสีทัตถ์ เมื่อพระอาจารย์ขันธ์เห็นว่า พระภิกษุสีทัตถ์มีความรู้พื้นฐานดีแล้ว จึงนําไปฝากเรียนที่สํานัก “พระอาจารย์ตาคํา แห่งวัดศรีสะเกษ” ตําบลท่าอุเทน โดยการเรียนในสํานักของพระอาจารย์ตาคํา จะเน้นการสอนคัมภีร์มูลกัจจายน์ทั้ง ๕ ตลอดจนคัมภีร์ต่าง ๆ ได้แก่ พระอภิธรรม พระวินัย สิบสองตํานาน เป็นต้น จนทําให้พระภิกษุ สีทัตถ์มีความรู้ในทางธรรมที่แตกฉาน ก่อนที่จะออกรุกขมูลไปในสถานที่ต่างๆ อันวิเวก เพื่อปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของพระป่าอรัญวาสี จนผู้คนต่างเรียก ขานท่านว่า “พระอาจารย์สีทัตถ์”

◎ ลาสิกขาบท ๒ ครั้ง
กล่าวกันว่าพระอาจารย์สีทัตถ์ได้ลาสิกขาบทถึง ๒ ครั้ง โดยครั้งแรก ท่านได้ลาสิกขาบทเพื่อออกไปสร้างครอบครัวกับหญิงสาวชาวบ้าน แต่ภายหลังท่านเกิดเบื่อหน่ายกับทางโลก จึงกลับมาอุปสมบทใหม่อีกครั้ง ซึ่งไม่ทราบ แน่ชัดว่าท่านอุปสมบทที่ใด และใครเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน (แต่ผู้เขียน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “วัดโพนแก้ว” บ้านท่าอุเทน เพราะตามประวัติของหลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพฯ ท่านได้ศึกษากับพระอาจารย์สีทัตถ์ ที่วัดโพนแก้ว ราวปี พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๔๐) แล้วจึงย้ายไปจําพรรษาที่วัดพระธาตุท่าอุเทน (ตอนนั้น “พระธาตุท่าอุเทน” ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้น) เพื่อไปศึกษาพระกรรมฐานกับ “พระอาจารย์ตา หงษี” (กล่าวกันว่า “พระอาจารย์ตา หงษี” ท่านเป็นผู้วิเศษแห่ง ๒ ฝั่งโขง ท่านเป็นพระอภิญญาที่ชาวท่าอุเทน ตลอดจนชาวเมืองและเจ้าเมืองหินปูน แขวงคําเกิด ต่างก็ให้ความเคารพนับถือเป็นอันมาก เพราะท่านสามารถกําราบภูติผีปีศาจได้ทุกประเภท และได้รับเชิญให้ไปปราบภูติผีปีศาจที่เมืองหินปูนอยู่เป็นประจํา หากพระอาจารย์ตา หงษี เรียกร้องหรือต้องการอะไรในแขวงคําเกิด ท่านเจ้าเมืองหินปูนจะต้องหามาให้ทุกอย่าง ยกเว้นดาวและเดือนเท่านั้นที่ไม่สามารถหามาให้ได้)

หลวงปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ วัดพระธาตุท่าอุเทน
หลวงปู่สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ วัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

ซึ่งท่านพระอาจารย์สีทัตถ์ ได้สร้างคุณงามความดีจนเป็นที่รักของชาวท่าอุเทนและสองฝั่งโขงเฉกเช่น อาจารย์ของท่าน ส่วนการลาสิกขาบท ครั้งที่ ๒ ของท่านนั้น ชาวบ้านต่างเชื่อ กันว่ามาจากอาถรรพ์ของ “พระบาง” ที่พระอาจารย์ตา หงษีได้ขอต่อขอเจ้าเมืองหินปูนเพื่อนํามาประดิษฐานไว้ ภายในพระอุโบสถของวัดพระธาตุท่าอุเทน ซึ่งหลังจากนําพระบาง มาภาพถ่ายเก่าที่สันนิษฐานว่าคือ ญาครูสีทัตถ์ ประดิษฐานไว้ไม่นาน “พระอาจารย์สีทัตถ์” ก็ต้องลาสิกขาบทออกไป โดยมี เรื่องเล่าว่า “ท่านได้ส่งออกธุดงค์ไปฝึกกรรมฐานที่ฝั่งลาว วันหนึ่งท่านได้ยิน หญิงสาวชาวบ้านกําลังส่งเสียงร้องรําทําเพลง ซึ่งมีความไพเราะจับใจมาก จนทําให้ท่านต้องตัดสินใจลาสิกขาบทในคืนวันนั้นโดยทันที เพื่อไปสู่ขอหญิงสาว ชาวบ้านผู้นั้น การลาสิกขาบทของท่านพระอาจารย์สีทัตถ์ ได้สร้างความประหลาดแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง จึงลงความเห็นว่า “อาจเป็นเพราะท่านต้องอาถรรพ์ ของพระบางที่อยู่ภายในวัดพระธาตุท่าอุเทน” ชาวบ้านก็เลยพากันขนย้ายพระบางออกไปประดิษฐาน อยู่ที่วัดไตรภูมิตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สําหรับ “พระบาง” นี้ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใน สปป.ลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๘ โดยมีสมเด็จเหมมะวันนา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (ดังปรากฏ รอยจารึกที่รอบฐานขององค์พระบางด้วยอักษรไทยน้อย ใจความว่า “สมเด็จพระเหมะ วันทา กับทั้ง อัน เต วา สิ อุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระนี้ขึ้นมา มีขนาดเท่าตัวคน เพื่อให้ไว้เป็นที่สักการะบูชา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๐๘ ตรงกับปีวอก เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ วันศุกร์…”) และมีพญาแมงวัน (มีรูปแมลงวันอยู่ที่หน้าผาก) เจ้าเมืองเหิบ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในครั้งนั้นได้หล่อพระพุทธรูปที่มีขนาดเท่ากันขึ้น ๒ องค์ คือ พระพุทธรูปปางขัดสมาธิ (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนติ้ว เมืองหินปูน สปป.ลาว) และ พระบาง (พระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร) ภายหลังพระบางได้ถูกอัญเชิญมาจาก สปป.ลาว มาประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทน เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ แต่ก็ประดิษฐานที่วัดพระธาตุท่าอุเทนได้ไม่นาน ก็ต้องถูกย้าย ไปประดิษฐานยังวัดไตรภูมิดังเรื่องราวที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ภายหลังท่านได้กลับมาอุปสมบทใหม่เป็นครั้งที่ ๓ (สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่วัดพระธาตุท่าอุเทน) โดยได้รับฉายาว่า “ญาณสัมปันโน” ท่าน ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จึงทําให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสท่าน มาก และอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ชุมชนสองฝั่งโขง จนได้รับการเรียกขานว่า “ญาครูสีทัตถ์” จวบถึงวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน

◎ สร้างองค์พระธาตุท่าอุเทน
แต่เดิมวัดพระธาตุท่าอุเทน ยังไม่มีองค์พระธาตุเช่นปัจจุบัน กระทั่งวัน อังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีกุน (ตรงกับวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓) ญาครูสีทัตถ์ได้ชักชวนพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาให้มาร่วมกัน ก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนขึ้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ญาครูสีทัตถ์ ก็ได้อัญเชิญมาจากเมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยจําลองแบบมาจากพระธาตุพนม (แต่มีขนาดขององค์พระธาตุที่เล็กกว่า และมีความสูงมากกว่าองค์ พระธาตุพนม) ญาครูสีทัตถ์ได้ใช้วิธีการขุดหลุมแล้วใส่ “หินนางเรียง” หรือ “หินแก้วนางฝาน” เพื่อเป็นฐานรองรับองค์พระธาตุแทนการตอกเสาเข็ม ถึงตอนนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า “แก้วนางฝานคืออะไร?”

“แก้วนางฝาน” เป็นวัตถุอาถรรพ์ศักดิ์สิทธิ์ในตํานานท้าวศรีโคตรบูรณ์ คนโบราณเชื่อว่าแก้วนางฝานมีอานุภาพค้ำคูณ ทําให้เจริญ ล้างอาถรรพ์ทั้งมวล ตลอดจนใช้ทําน้ำมนต์กันคุณไสย กันไฟกันฟ้า และภูติผีปิศาจได้ ถ้าบูชาดี ๆ แก้วนี้สามารถเรืองแสงออกมาให้ผู้เป็นเจ้าของเห็นได้ กล่าวกันว่า แก้ว ชนิดนี้ตอนขุดได้ใหม่ ๆ จะอ่อนนิ่มจนเอามีดมาฝานได้ แต่พอทิ้งไว้ให้โดนอากาศสักพักก็จะเริ่มแข็งตัวขึ้นเรื่อย ๆ เหตุที่เรียกว่า “แก้วนางฝาน” สืบเนื่องจากตํานานของท้าวศรีโคตรบูรณ์ที่กล่าวว่า ท้าวศรีโคตรบูรณ์ได้นําไม้พญางิ้วดํามากวนข้าวจนกลายเป็นข้าวดํา และกินเข้าไปทําให้มีอิทธิฤทธิจน สามารถปราบช้างกํ่าเมืองลาวได้ ทําให้พระราชาต้องยกนางเขียวค้อมลูกสาว ให้เป็นภรรยา และยกเมืองให้ปกครองกึ่งหนึ่ง ต่อมาพ่อตาเกิดความอิจฉาเลยวางแผนฆ่าลูกเขย ซึ่งพยายามทํามากมายหลายวิธีก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะท้าวศรีโคตรบูรณ์มีความอยู่ยงคงกระพัน พ่อตาจึงออกอุบายใหม่โดย ขอดูอุจจาระของคนหนังเหนียว ทําให้ท้าวศรีโคตรบรณ์ต้องมาถ่ายหนักที่ถาน (ส้วม) ภายในวังของพ่อตา โดยในถานนี้ต่อพยนต์ลูกดอกที่ทําจากแก้วชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าล้างอาถรรพ์ใด ๆ ก็ได้ โดยนางเขียวค้อมเป็นผู้เอามีดมาแกะหิน เป็นหัวลูกดอก จึงเรียกแก้วชนิดนี้ว่า “แก้วนางฝาน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยในเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันเสาร์ ปีกุน (ตรงกับวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓) ได้ทําพิธีบรรจุและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ (ตรงกับวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๘) ได้ยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุ ต่อจากนั้นก็ปูอิฐและก่อกําแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ ๓ ชั้น เป็นเวลา ๑ ปี (ตรงกับปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙) จึงสําเร็จลุล่วง ซึ่งรวมระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ ๖ ปี

ภายในองค์พระธาตุก่อเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกอยู่ด้านในสุดเป็นอุโมงค์เพื่อบรรจุวัตถุอันมีค่าต่าง ๆ เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง นอ งา และพระพุทธรูป ซึ่งผู้มีจิตศรัทธานํามาถวายเพื่อสืบทอดพระศาสนาคิดเป็นยอดรวมกว่า ๓๕,๐๐๐ บาท (ในสมัยนั้น) โดยเฉพาะนายเช่า แซ่คู พ่อค้าใหญ่แห่งจังหวัดหนองคาย ผู้เดียวก็ถวายวัตถุอันมีค่ารวมกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท (ในสมัยนั้น) ชั้นที่ ๒ เป็นครอบอุโมงค์สูงประมาณ ๕ วา และชั้นที่ ๓ ชั้นนอกสุด เป็นพระ เจดีย์องค์ใหญ่สูง ๓๓ วา โดยบริเวณฐานและเรือนขององค์พระธาตุมีลายปูน ปั้นที่งดงามมาก ซึ่งช่างปั้นฝีมือดีที่ช่วยสร้างองค์พระธาตุมีด้วยกัน ๕ ท่าน ได้แก่
๑. พระอาจารย์มหาสนา ชาวท่าอุเทน
๒. พระอาจารย์ผง ชาวท่าอุเทน
๓. พระอาจารย์จันทร์ ชาวท่าอุเทน
๔. พระอาจารย์คําพัน ชาวจังหวัดหนองคาย
๕. พระอาจารย์ยอดแก้ว ชาวอําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ส่วนของซุ้มประตูชั้นล่างขององค์พระธาตุ ด้านทิศใต้ได้พังทลายลงมา ทางกรมศิลปากรจึงได้ทําการบูรณะจนแล้วเสร็จ ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ พร้อมทั้งได้ทําการเสริมคานคอนกรีตภายใน เพื่อป้องกันองค์พระธาตุพังทลายลงมาอีก

◎ พ้นข้อครหาเพราะทําดี
ในราว พ.ศ. ๒๔๕๖ ระหว่างที่ญาครูสีทัตถ์ ทําการก่อสร้างองค์พระธาตท่าอุเทน ได้มีพระครูสมุห์วรคณิสรสิทธิ (ผู้แทนคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ) มาตรวจการในแถบภาคอีสาน ครั้นมาถึงจังหวัดหนองคาย พระครูสมุห์วรฯ ได้ทราบข่าวว่าญาครูสีทัตถ์เป็นผู้มีอิทธิพลและสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น ย่อแผ่นดินให้แคบ ล่องหนหายตัว และเดินข้ามแม่น้ำโขงได้ด้วยเท้าเปล่า จนมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธามาก และอาจเป็นผีบุญปลอมตัว มาเพื่อซ่องสุมกําลังพลและคิดก่อการกบฏต่อราชการ พระครูสมุห์ฯ จึงจะมานําตัวท่านกลับไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ

เมื่อพระครูสมุห์ฯ ล่องเรือจากจังหวัดหนองคายมาถึงท่าอุเทนแล้ว ท่านไม่ยอมไปที่วัด แต่กลับไปที่ว่าการอําเภอแทน พร้อมทั้งโทรเลขให้พระยา พนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในสมัยนั้น ให้ขึ้นมาจับเอาตัวหลวงปู่สีทัตถ์ไปไต่สวนที่กรุงเทพฯ จึงได้มีผู้สงสัยเข้าไปถามท่านว่า “ทําไมท่านพระครูฯ ไม่ไปให้ถึงวัดเองล่ะขอรับ” ท่านก็ตอบว่า “กลัวพระสีทัตถ์จะสั่งให้ลูกน้องทําอันตรายเอา”

ภายหลังพระยาพนมนครานุรักษ์ได้ส่งโทรเลขกลับมาความว่า “พระอาจารย์สีทัตถ์มิได้คิดกบฏซ่องสุมผู้คน หากแต่ท่านสร้างพระธาตุเจดีย์และ มีผู้คนมาจากอําเภอและจังหวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่างก็เดินทางมาช่วยท่าน โดยหวังผลในกุศลเท่านั้น มิได้คิดเป็นอื่นดังที่พระคุณเจ้าเข้าใจ และ ตัวท่านพระอาจารย์สีทัตถ์เองก็อยู่ในศีลธรรมอันดีรักความสงบไม่มีจิตคิดอิจฉาและแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นผู้อื่น ”เมื่อพระครูสมุห์วรฯ ทราบความจริง จึง เดินทางต่อไปยังเมืองนครพนม เหตุการณ์จึงสงบไป ส่วนทางวัดพระธาตท่าอุเทน เมื่อทราบข่าวว่าจะมีพระภิกษุจากกรุงเทพฯ จะมาจับตัวญาครูสีทัตถ์ไปไต่สวน ท่านก็ยังคงทํางานก่อสร้างพระธาตุของท่านไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เกิดความตื่นตระหนกแต่อย่างใด ทั้งยังสั่งให้เตรียมอาสนะไว้รับรองด้วย ต่อมาพระอาจารย์ปาน พระอาจารย์ยอดแก้ว และพระอาจารย์ปิ่นได้มาขอสู้แทน ญาครูสรทัตถ์ ซึ่งท่านก็กล่าวตอบไปว่า “พระคูรสมุห์ฯ ไม่มาดอก อย่าวุ่นวายไปเลย” และพระคูรสมุห์ฯ ก็ไม่มาจริง ๆ ดังคําที่ท่านกล่าวไว้

◎ ปลาร้ามาได้อย่างไร?
อาหารหลักที่จะนํามาเลี้ยงคนงานในการสร้างพระธาตุท่าอุเทนก็คือ ปลาร้า (ปลาแดก) ปลาแห้ง และผักสด ญาครูสีทัตถ์ ได้สร้างโรงครัวเพื่อให้คนงาน (รวมทั้งพระภิกษุสามเณร) ได้รับประทาน เย็นวันหนึ่งขณะที่ญาครูสีทัตถ์ ออกเดินตรวจความเรียบร้อยของงาน ท่านได้มาคุยกับแม่ครัว พวกแม่ครัวจึงพา กันกราบเรียนท่านว่า “ปลาร้ากําลังจะหมดแล้ว พรุ่งนี้อาจจะไม่มีปลาร้า มาประกอบอาหาร” พอท่านได้ยิน ท่านกลับไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้ม ๆ ไม่พูดอะไร พร้อมทั้งปลายสายตามามองที่ไหปลาร้าอันว่างเปล่ากว่า ๑๐ ไห ทําให้พวกแม่ครัวต่างพากันเป็นห่วงยิ่งขึ้น แต่ก่อนที่ญาครูฯ จะเดินจากไป ท่านก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “ประเดี๋ยวจะมีคนเอามาให้เอง ”คําพูดของท่านทําให้ พวกแม่ครัวพากันฉงน จากนั้นต่างก็ช่วยกันทําความสะอาดถ้วยชาม และโรงครัว

พอรุ่งสางบรรดาแม่ครัวต่างก็พากันมาทําอาหารเพื่อเตรียมให้พวกที่ สร้างพระธาตุได้ทานกัน ปรากฏว่าไหปลาร้าที่ว่างเปล่ากว่า ๑๐ ไหเมื่อเย็นวานนี้ กลับมีปลาร้าเต็มไปหมด จึงได้บอกต่อ ๆ กันไปเพื่อให้มาดูความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งต่างก็พากันไปกราบนมัสการญาครูสีทัตถ์ให้ทราบว่า ในวันนี้มีปลาร้าอยู่เต็มทุกไหแล้ว และต่างก็สอบถามญาครูสีทัตถ์ ว่าปลาร้ามีมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ให้มา ซึ่งญาครูสีทัตถ์ ท่านก็ไม่ยอมตอบ แต่ก็พูดเปรย ๆ ขึ้นว่า “เอ้อ! มีให้กินก็ดีแล้วหนอ ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทําต่อเถอะ”

◎ เร้นกาย-ย่นระยะทาง
มีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อนญาครูสีทัตถ์ ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วดินแดนสองฝั่งโขง โดยเฉพาะฝั่งชาวเมืองหินปูน สปป.ลาว มักจะนิมนต์ท่านให้ ไปประกอบศาสนกิจอยู่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งชาวเมืองหินปูนได้มานิมนต์ท่านที่ วัดพระธาตุท่าอุเทน เพื่อให้ไปเจริญพุทธมนต์ที่วัดปากหินปูน สปป.ลาว พร้อม ทั้งจะร่วมกันถวายภัตตาหารเพลแก่ท่าน ซึ่งตอนนั้นท่านกําลังสั่งและควบคุมงานก่อสร้างพระธาตุท่าอุเทนอยู่ ท่านได้กล่าวว่า “พวกเจ้าจงพาพระและเณรไปกันก่อนเถอะ เราจะมอบหมายการงานให้ช่างสร้างพระธาตุท่าอุเทนให้เรียบร้อยก่อน แล้วจะรีบตามไปทีหลัง”

พวกญาติโยมชาวเมืองหินปูนต่างก็พากันคะยั้นคะยออยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะญาครูสีทัตถ์ ท่านก็บอกว่า “ไปกันก่อนเถอะ ๆ จะตามไปทีหลัง ไม่ต้องห่วง” จากนั้นญาติโยมจึงพากันลงเรือข้ามฟาก เพื่อไปที่วัดปากหินปูน พอไปถึงภายในโบสถ์ที่ประกอบพิธีกรรมนั้น ก็เกิดความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระและเณรของเมืองปากหินปูน ต่างกําลังนั่งห้อมล้อมญาครูสีทัตถ์อยู่ เป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะมาถึงก่อน เมื่อพิธีเสร็จสิ้นญาติโยมต่างก็พากันเดินทางกลับมายังท่าอุเทน ซึ่งญาครูสรทัตถ์ ก็กลับมาด้วย พอมาถึงวัดญาติโยมจึงไปกราบนมัสการถามญาครูสีทัตถ์ว่า “ญาครูฯ ไปถึงวัดปากหินปูนก่อนได้อย่างไร” ซึ่งท่านก็ตอบแบบเลี่ยง ๆไปว่า “ก็ตามกันไปนั่นแหละ ไม่เห็นหรือ?” จากนั้นญาครูสีทัตถ์ จึงรีบเปลี่ยนเรื่อง คุยไป

◎ ย่นระยะทางข้ามน้ำโขง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่อําเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม โดยญาครูสีทัตถ์ได้ออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาลําเนาไพร เพื่อแสวงหาสัจธรรมร่วมกับสามเณรรูปหนึ่ง “ในวันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว ญาครูสีทัตถ์ได้นําสามเณรข้ามไปฝั่งลาว ท่านได้พาเดินเลาะท่าเรือที่จะข้ามไป แต่กลับไม่มีเรือสักลําผ่านมา ท่านและสามเณรได้รอเรืออยู่นาน ท่านจึงพาสามเณรเดินต่อไปเรื่อย ๆ จึงได้พบเรือแต่กลับไม่มีคนพายข้ามไป สามเณรจึงบอกกับญาครูสีทัตถ์ว่า “ผมเดินมาทั้งวัน เหนื่อยแล้ว ขอพักก่อนนะครับ” ญาครูสีทัตถ์ ท่านกล่าวตอบเณรไปว่า “เฉย ๆ ไว้ ต้องไปให้ได้เดี๋ยวเราจะพาข้ามไปเอง” จากนั้นท่านก็ สั่งให้สามเณรกลับหลังหัน หลับตาแล้วยืนนิ่ง ๆ สามเณรก็คิดในใจว่าหลวงปู่สีทัตถ์ ท่านจะพาเราไปได้อย่างไรกัน แล้วเมื่อไรหลวงปู่สีทัตถ์ ท่านจะให้เราลืมตาเสียที ทันใดนั้นเองญาครูสีทัตถ์ ก็กล่าวว่า “เอ้า! ถึงแล้ว ให้ลืมตาได้” สามเณรจึงลืมตาขึ้น และได้เห็นตัวเองกับหลวงปู่สีทัตถ์ กําลังยืนอยู่ที่ฝั่งประเทศลาว สามเณรเกิดความประหลาดใจ ใคร่อยากจะรู้ว่าหลวงปู่สีทัตถ์ ท่านทําอย่างไรถึงข้ามแม่น้ำโขงมาได้ จึงเอ่ยถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า “หลวงปู่ครับ เราข้ามโขงมาได้อย่างไรครับ” แทนที่ท่านจะตอบถึงสาเหตุในการข้ามแม่น้ำโขงมาได้ ท่านกลับตอบเชิงดุว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องอยากรู้ ไปกันได้แล้ว” ทําให้สามเณรเกิดความฉงนยิ่งขึ้น พลางก็เดินตามหลังท่านไป

◎ สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบพระพุทธบาทบัวบก
ตํานานอีสานบางแห่งเขียนเล่าเรื่องราวของพระพุทธบาทบัวบกไว้ว่า “ในอดีตกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในสถานที่ต่าง ๆ เป็นจํานวนมาก ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ที่ ดอยนันทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง ทรงทราบว่านาคแถบฝั่งโขงมีความดุร้าย มักรบกวนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจํา เพื่อที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระองค์จึง ได้เสด็จไปยัง ถ้ำหนองบัวบาน และถ้ำบัวบก อันเป็นที่อาศัยของนาค ๒ ตัว คือ กุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่กุทโธปาปนาค เมื่อกุทโธปาปนาคได้สดับพระธรรมเทศนาก็บังเกิดความเลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสก และถือพระไตรสรณาคมน์เป็นสรณะตลอดชีวิต หลังจากนั้นกุทโธปาปนาคก็นึกถึงน้องชายคือมิลินทนาคว่า ควรจะได้สดับ พระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์เช่นตน เพื่อจะได้ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร จึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด เมื่อพระพุทธองค์ เสด็จมาถึงถ้ำบัวบกอันเป็นที่อยู่ของมิลินทนาค มิลินทนาคก็แสดงฤทธิ์ อํานาจเพื่อขัดขวางและทําร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล ใน ที่สุดจึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปนมัสการพระพุทธองค์เพื่อขอขมา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดมิลินทนาค เมื่อมิลินทนาคได้สดับ พระธรรมเทศนาแล้ว จึงสํานึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทําไปแล้ว และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากมิลินทนาคมิใช่มนุษย พระพุทธองค์จึงอุปสมบทให้ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ดังนั้นพระพุทธองค์ จึงทรงประทานไตรสรณาคมน์ ให้มิลินทนาคไว้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกและ ถือปฏิบัติต่อไปเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยเบียดเบียนทําร้ายสัตว์โลก มาเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลกตามแนวทางของพระพุทธศาสนา เมื่อมิลินทนาครับไตรสรณาคมน์แล้ว จึงกราบทูลขอรอยพระบาทพระพุทธ องค์ไว้เป็นที่สักการบูชา พระพุทธองค์ทรงพิจารณาสถานที่แล้ว จึงได้ ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ สถานที่นี้ แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธบาทแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าพระพุทธบาทบัวบก ตามชื่อถ้ำบัวบก ที่มิลินทนาคอาศัยอยู่”

เดิมที่รอยพระพุทธบาทมีเพียงมณฑปเล็ก ๆ สร้างครอบไว้ กระทั่งใน ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ญาครูสีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้เดินธุดงค์จากวัดพระธาตุท่าอุเทน พร้อมด้วยสามเณรอีกสองรูป โดยได้มาพํานักอยู่ที่ถ้ำนกเขายูงทอง เมื่อชาวบ้านทราบข่าวว่าญาครูสีทัตถ์เดินธุดงค์มาพร้อมกับสามเณรอีก ๒ รูป จึงได้ นิมนต์ให้มาจําพรรษาที่พระพุทธบาทบัวบก เพื่อให้ท่านเป็นประธานนําชาวบ้านทําการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทบัวบก ท่านก็รับดําเนินการโดยได้เริ่มงาน รื้อมณฑปเก่าออก เพื่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ เมื่อรื้อมณฑปเก่าออก ท่านได้พบโบราณวัตถุที่มีค่าหลายชิ้น พร้อมทั้งศิลากลมก้อนหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เท่าลูกนิมิตร เมื่อผ่าออกก็พบตลับเงินอันหนึ่งเป็นรูปเจดีย์ เมื่อเปิดตลับเงินออก ก็พบตลับทองคําที่บรรจุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน

รูปแบบของพระธาตุเจดีย์ ที่ครอบรอยพระพุทธบาทบัวบกนั้น เลียนแบบมาจากองค์พระธาตุพนม แต่ได้ดัดแปลงภายในทําเป็นห้องครอบ รอยพระพุทธบาทเอาไว้ (สามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ ประดิษฐานอยู่ภายในได้) ซึ่งองค์พระธาตุมีความสูงประมาณ ๔๕ เมตร ยอด พระธาตุเจดีย์ทําด้วยฉัตรเงิน โคนทําด้วยทองคําบริสุทธิ์หนัก ๕๕๕ บาท บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบคราวซื้อมณฑปเก่าออก ส่วนรอยพระพุทธบาท บัวบกซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในห้องด้านล่างขององค์พระธาตุมีความยาว ๑.๙๓ เมตร กว้าง ๙๐ เซนติเมตร ปัจจุบันได้มีการก่อปูนเสริมให้เป็นรูปลักษณ์ของรอยพระบาทที่ชัดเจนขึ้น โดยตรงกลางทําเป็นลายบัวบานและมีนิ้วพระบาทยาวเสมอกัน พระพุทธบาทบัวบกเป็นที่เคารพสักการะของชาวอําเภอบ้านผือ และประชาชนในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนจากประเทศลาว ซึ่งจะมีงานสมโภชพระธาตุในช่วงเดือน ๓ ขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ ของทุกปี

◎ ถาวรวัตถุครั้งสุดท้ายและการมรณภาพ
เมื่อเสร็จสิ้นการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ภายในวัดพระพุทธบาทบัวบกแล้ว ญาครูสีทัตถ์ก็ข้ามฝั่งโขงไปปฏิบัติกรรมฐานอยู่ในป่าแถบ สปป.ลาว จาก นั้นจึงมาสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท (จําลอง) ที่วัดพระบาทโพนสัน จนสําเร็จลุล่วง และอยู่จําพรรษาที่วัดพระบาทโพนสันเป็นเวลา ๖ ปี กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๓ ญาครูสีทัตถ์จึงถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดพระบาทโพนสัน สถานที่สุดท้ายที่ท่านได้สร้างถาวรวัตถุนั่นเอง สิริอายุได้ ๗๕ ปี ซึ่งก่อนมรณภาพ ท่านได้สั่งสานุศิษย์เอาไว้ว่า “เมื่อฌาปนกิจสังขารเสร็จแล้วให้เอาอัฐิธาตุของท่านไปโยนทิ้งลงแม่น้ำโขงให้หมด” ดังนั้นภายหลังเสร็จสิ้นการ ฌาปนกิจสังขารของท่านแล้ว บรรดาสานุศิษย์ของท่านจึงนําอัฐิธาตุของท่าน ทิ้งลงในแม่น้ำโขงจนหมดสิ้นตามคําสั่งเสียของท่าน

◎ วัตถุมงคลของญาครูสีทัตถ์
วัตถุมงคลของญาครูสีทัตถ์ที่พบในปัจจุบันนั้น ล้วนแต่เป็น “เหรียญตาย” กล่าวคือ “ไม่ทันท่านอธิษฐานจิต” ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะมีวัตถุมงคลที่ท่าน สร้าง (แต่ก็ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยพบเห็น) นั่นคือ “พระบรรจุกรุ” ภายในองค์ พระธาตุเจดีย์ทั้ง ๓ แห่ง ที่ท่านได้สร้างและบูรณะขึ้น ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มี ก็เป็นเรื่องอจิณไตยนะครับ แต่สําหรับเหรียญตายของท่านนั้น ปัจจุบันก็เป็น

ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเนื่องจาก “ลูกศิษย์และศิษย์ในสายของท่านเป็น ผู้ที่อธิษฐานจิตปลุกเสกให้” และแน่นอนว่า “ต้องดีไม่แพ้ผู้ที่เป็นอาจารย์ ของท่านเลย” ซึ่งมีดังนี้
๑) เหรียญญาครูสีทัตถ์ วัดพระธาตุท่าอุเทน รุ่นแรก (รุ่น ๑) พ.ศ. ๒๕๑๔ เหรียญรุ่นนี้ทางวัดสร้าง เพื่อไว้แจกญาติโยมที่มากราบนมัสการ พระธาตุท่าอุเทน เหรียญรุ่นนี้อธิษฐานจิตโดยหลวงปู่สนธิ์ เขมิโย วัดอรัญญานาโพธิ์ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ลูกศิษย์ของญาครูสีทัตถ์
๒) เหรียญญาครูสีทัตถ์ หลังพระอาจารย์สนธิ์ วัดอรัญญานาโพธิ์ จ.นครพนม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๘
๓) เหรียญญาครูสีทัตถ์ หลังพระอาจารย์สนธิ์ วัดอรัญญานาโพธิ์ จ.นครพนม ปี รุ่น ๔ พ.ศ. ๒๕๑๘
๔) เหรียญญาครูสีทัตถ์ หลังพระอาจารย์สนธิ์ วัดอรัญญานาโพธิ์ จ.นครพนม ปี รุ่น ๕ พ.ศ. ๒๕๑๙
๕) เหรียญญาครูสีทัตถ์ วัดสะพานดํา พ.ศ. ๒๕๑๘
๖) เหรียญญาครูสีทัตถ์ หลังหลวงพ่อสี วัดสว่างคงคาราม พ.ศ. ๒๕๑๘
๗) เหรียญญาครูสีทัตถ์ วัดพระพุทธบาทบัวบก รุ่น ๒
๘) เหรียญญาครูสีทัตถ์วัดพระพุทธบาทบัวบก รุ่น ๑๐๙ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้น