ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร
สำนักสงฆ์หนองแดง อ.ปลาปาก จ.นครพนม
หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร ศิษย์สืบสายธรรมพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แม่ธรรมภาคอีสาน, สหธรรมิก หลวงปู่อวน ปคุโณ แห่งวัดป่าจันทิยาวาส ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถืออย่างสูง
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร นามเดิมชื่อ “รัศมี มังสี” เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ตรงกับวัน ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีเถาะ ในตระกูลชาวนา ที่บ้านหนองบัวคำ ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม บิดาชื่อ “นายกอง มังสี” และมารดาชื่อ “นางอบ มังสี” มีพี่น้องร่วมกัน ๗ คน คือ
๑. นางทองสี มังสี
๒. นางแจ้ง มังสี
๓. นายคำพี มังสี
๔. นางสีพัน มังสี
๕. นายสี มังสี
๖. นายรัศมี มังสี (หลวงปู่รัศมี ธมฺมจาโร)
๗. นายเหมือย มังสี
◎ ปฐมวัย
ในช่วงวัยเยาว์มีจิตใจฝักใฝ่ในบวรพระพุทธศาสนา ชอบเข้าวัดไปฟังธรรมเทศนาบ่อยครั้ง อีกทั้งยังชอบทำบุญทำทานและละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต กระทั่งเข้าเรียนในโรงเรียนหมู่บ้านจนจบชั้น ป.๔ พออายุ ๑๓ ปี จึงเข้าบวชเณรที่วัดบ้านดงขวาง ต.ดงขวาง อ.เมือง จ.นครพนม
◎ อุปสมบทครั้งแรก
กระทั่งอายุ ๒๐ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดป่าโมทย์ ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม โดยมี พระจวง เป็นพระอุปัชฌาชย์, พระครูคำไหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูติ้น เป็นพระอนุสาวนาจาจารย์
หลังอุปสมบท ได้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์ระยะหนึ่ง จึงออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ จนมาถึง จ.สกลนคร ได้เข้าไปกราบ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์พระป่า ที่กุฏิวัดป่าสุทธาวาส ท่านได้แนะคำสอนในการปฏิบัติธรรมภาวนาอย่างเคร่งครัด ก่อนที่หลวงปู่มั่น จะแนะนำให้ไปฝึกกัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ฝั้น ที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ระหว่างศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานนานถึง ๓ ปี ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านนาอ้อย ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ช่วยพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จ จึงได้กราบลาไปธุดงค์และปลีกวิเวกที่ฝั่งลาว กระทั่งได้มีโอกาสพบกับเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์ของลาวในสมัยนั้น ขณะที่หลวงปู่ยังเป็นหนุ่ม จึงเกิดความศรัทธาและนิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งเมืองหลวงพระบางในฝั่งลาว เพื่อสอนธรรมะอบรมจิตใจให้ชาวบ้านเป็นเวลานาน ๔ เดือน
ต่อมา ออกท่องธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ก่อนจะข้ามมาฝั่งไทยเพื่อกลับมาตุภูมิ ทางครอบครัวบอกให้ช่วยงานตัดเลื่อยไม้สร้างบ้าน ท่านจึงลาสิกขาใช้ชีวิตฆราวาสระยะหนึ่ง ไม่นานนักก็เริ่มเบื่อหน่ายทางโลก
◎ อุปสมบทครั้งที่สอง
ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ จึงเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ที่วัดบ้านนาโสก ต.นาโสก อ.เมือง จ.มุกดาหาร (ขณะนั้นเป็น จ.นครพนม) โดยมี พระครูสิริรัตนโพธิคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอโศกสันติคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอินทร์ อินทรปัญโญ เป็นพระอนุสาวนาจาจารย์
มุ่งมั่นร่ำเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ก่อนออกเดินธุดงค์ไปจนถึงวัดนาโด่ ต.นาโสก อ.เมือง จ.มุกดาหาร จำพรรษาและพัฒนาวัด ๕ ปี กระทั่งเป็นเจ้าอาวาส เป็นเวลานาน ๑๓ ปี ระหว่างนี้ไปมาหาสู่ หลวงปู่แพงตา เขมิโย วัดประดู่วีระธรรม ต.กุดตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ได้ไปศึกษาธรรมและฝึกมนต์พิธี
ก่อนจะออกเดินธุดงค์อีกครั้งไปยัง จ.เพชรบูรณ์ นาน ๓ หลังมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ถวายที่ดิน ๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นป่าหวายรกทึบให้สร้างวัด และจำพรรษาพัฒนาวัดด้านถาวรวัตถุนานกว่า ๒๐ ปี หลวงปู่รัศมี จึงบอกกับชาวบ้านที่นั้น จะขอกลับมาสร้างวัดต่อที่บ้านเกิด ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จนแล้วเสร็จเป็นวัดบ้านคำพอก เป็นศาสนสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธศาสนิกชนทั่วไป
กระทั่งสังขารล่วงเข้าสู่วัยชรา จึงนำพาลูกศิษย์บุกเบิกป่าช้ารกทึบเนื้อที่ ๒๘ ไร่ บริเวณป่าหนองแดง บ้านหนองบัวคำ หมู่ ๘ เพื่อจำพรรษาและสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรมป่าช้าบ้านหนองแดง ไว้ให้ชาวบ้านในชุมชนและละแวกใกล้เคียง ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน มีแค่เพียงศาลาโรงฉันกับกุฏิแค่ ๗-๘ หลัง และอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ๒-๓ กิโลเมตร สภาพถนนหนทางยังทุรกันดารยิ่งนัก
หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร ท่านมีอุปนิสัยส่วนตัวสมถะเรียบง่าย รักสันโดษ ชอบอยู่ตามป่าเขา ประกอบกับมีปฏิปทาอันแน่วแน่ที่จะดำรงบวรพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในภาคอีสาน
ด้วยมีจิตใจตั้งมั่น ปฏิบัติธรรมตามแนวทางแห่งองค์พระศาสดา ดำเนินชีวิตไปสู่ความถูกต้องดีงาม
◎ มรณภาพ
หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๓ สิริอายุรวมได้ ๙๕ ปี พรรษา ๕๙
วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ มีงานประชุมเพลิง หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร ณ สำนักปฏิบัติธรรมป่าช้า บ้านหนองแดง หมู่ ๘ ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม
◎ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่รัศมี ธัมมจาโร สำนักสงฆ์หนองแดง มีที่มีการออกแบบเหรียญได้สวยงามและมีพิธีปลุกเสกอย่างเข้มขลัง และดีไปกว่านั้นทางผู้สร้างได้นำเหรียญทั้งหมดไปให้ หลวงปู่สอ ขันติโก ได้ปลุกเสกให้อีกวาระ ซึ้งได้รับความเมตตาจากหลวงปู่สออย่างมากมาย ประสบการณ์ก็มีให้เห็นเรื่องเคลวคลาด โชคลาภเมตตาค้าขาย แม้แต่เรื่องคุณไสย หรือสิ่งที่ไม่ดี หลวงปู่ได้เสกลงเหรียญจนครบทั้งหมดแล้วครับ เป็นความโชคดีของลูกศิษย์ที่ได้มีไว้กราบไหว้บูชา