วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตฺโต วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มี (หลวงปู่เกล้า) ปมุตฺโต

วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย)
บ้านหนองแซง ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

หลวงปู่มี (หลวงปู่เกล้า) ปมุตฺโต
วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย)
บ้านหนองแซง ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตฺโต พระอริยสงฆ์แห่งถ้ำเกีย องค์ท่านเป็นพระพี่ชายแท้ๆ ของหลวงปู่ลี กุสลธโร องค์หลวงปู่มี ปมุตฺโต หรือที่รู้จัก หลวงปู่เกล้า อดีตเจ้าอาวาสวัดดอยเทพนิมิตร (ถ้ำเกีย) บ้านหนองแซง ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

หลวงปู่มี ปมุตฺโต นามเดิม นายมี ชาลีเชียงพิณ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๒ ณ บ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.ด้านซ้าย จ.เลย

โยมบิดาชื่อ นายอู๊ด ทองคำ อาชีพเป็นช่างตีทอง และโยมมารดาชื่อ นางโพธิ์ ชาลีเชียงพิณ มีพี่น้องรวมกัน ๔ คน คือ

๑. นางวันดี เพ็งลี (ชาลีเชียงพิณ) ถึงแก่กรรมแล้ว
๒. หลวงปู่มี ปมุตโต
๓. หลวงปู่ลี กุสลธโร
๔. นางบุญก่อง ศรีบุญเรือง (ชาลีเชียงพิณ) น้องสาวต่างบิดา

ต่อมามารดาได้พาพี่น้องทั้ง ๔ คน เดินทางอพยพมาตั้งรกรากที่ บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า (ในขณะนั้น) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี หลวงปู่เกล้า ได้รับการศึกษาถึงระดับ ประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองบัวบาน ในช่วงวัยเยาว์ท่านได้เคยบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้ลาสิกขาออกมาทำงานช่วยมารดา และครอบครัว จากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม ในครั้งที่ยั้งเป็นฆราวาสนั้น ท่านได้สมรสกับ นางใคร่ มีบุตรธิดารวม ๔ คน คือ

๑. นางเกล้า ชาลีเชียงพิณ
๒. นายแดง ชาลีเชียงพิณ
๓. นายวีระชัย ชาลีเชียงพิณ
๔. นางวิไล ชาลีเชียงพิณ

ชื่อหลวงปู่ท่านมีสองชื่อคือ “หลวงปู่มี” ซึ่งเป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ และอีกชื่อที่บุคคลทั่วไปทั้งฆราวาส พระเณร เอ่ยเรียกท่านด้วยความเคารพว่า “หลวงปู่เกล้า” ชื่อหลวงปู่เกล้านั้นมาจากธรรมเนียมชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติคล้ายๆ กันในการเรียกแทนชื่อของผู้เป็นพ่อหรือแทนชื่อของคนผู้เป็นแม่ ด้วยชื่อของลูกคนโต ด้วยท่านมีลูกคนโตชื่อ เกล้า ดังนั้นเพื่อนบ้านคนรู้จักมักคุ้นจึงเรียกชื่อท่านว่า พ่อเกล้า และเรียกกันจนติดปากเรื่อยมาเป็น หลวงปู่เกล้า เช่นทุกวันสมัยเป็นฆราวาส

สมัยเป็นฆราวาสหลวงปู่ท่านเป็นนายพรานล่าเนื้อจนเป็นที่รู้จักคนทั้งหมู่บ้านและยังเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาคนป่วยวิธีการรักษาของหลวงปู่ก็คือเอาเหล็กที่แดงๆ จากการเผาด้วยไฟมาว่างไว้แล้วเท้าหลวงปู่เหยียบลงที่เหล็กแล้วยกขาขึ้นไปเหยียบกับคนไข้ที่ปวดที่ต่างๆ ของร่างกายพอไปเหยียบคนไข้คนไข้ก็ร้องว่าร้อนแต่หลวงปู่ไม่ได้แสดงอาการว่าร้อนแต่อย่างไรเลย

อุปนิสัยของท่านเมื่อยังเป็นฆราวาสนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ก็ไม่เป็นการกล่าวผิดไปจากความเป็นจริงที่ท่านเป็นเลย จะลองให้ลูกศิษย์พระเณรฟังในขณะจับเส้นถวายท่านว่า เมื่ออดีตสมัยเป็นฆราวาส ท่านเคยเป็นผ้าขาวติดตามหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ในช่วงที่หลวงปู่ขาวออกวิเวกหลีกเร้นแสวงหาสถานที่ภาวนาไปตามป่าเขา เพื่อหลีกเร้นจากผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โอกาสเช่นนี้ ทำให้ท่านได้ติดตามหลวงปู่ขาวเข้าไปสู่บริเวณป่าลึกที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายอันตราย

นอกจากต้องมีความสันโดษมักน้อยในเรื่องการกินอยู่แล้ว จิตใจต้องก็ยิ่งหนักแน่นมั่นคงกล้าหาญอย่างยิ่งด้วย การที่ได้อุปัฎฐากหลวงปู่ขาวทำให้ท่านได้มีโอกาสพบเจอครูบาอาจารย์อีกหลายท่าน และรู้จักคุ้นเคยกับปฏิปทาพระกรรมฐานจนเป็นแรงศรัทธาประทับไว้ในใจ ในสมัยเป็นฆราวาส หลวงปู่ท่านพูดให้ฟังว่า เฮาอยู่กับหลวงปู่ขาว เมื่อหนึงไปล่างกระโถน หลวงปู่ขาว เฮาลืมเซ็ดให้แห่ง หลวงปู่ขาวไปเจอท่านเลยโยนกระโถนใส่หน้าเฮา ท่านกะว่าอยู่กับหลวงปู่มั่นบ่ได๋เด้อแบบนี้นะ เฮานะต้อนอยู่กับหลวงปู่ขาว อยู่ในป่าบางมื้อ หลวงปู่ขาวไปบิณฑบาตได๋แต่หมากพริกแห้งกับเกลือ เฮากะเอาหมากพริกแห้งกับเกลือมาตำแล้วเอาน้ำใส่ แล้วกะไปถวาย หลวงปู่ขาว ฉันเข่ากับน้ำพริก มันทุกบ่หมู่โต้คิดดู๊

หนังสือสุทธิของ หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตฺโต
หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตฺโต วัดถ้ำเกีย ในวัยพรรษายังไม่มากนัก

◎ ชีวิตพรหมจรรย์เริ่มต้นกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
ชีวิตครองเรือนของท่าน ขณะที่ลูกสาวคนสุดท้องยังเป็นเด็ก ภรรยาของท่านก็ได้เสียชีวิต ท่านก็ผละจากการเป็นผู้ครองเรือนเข้าบวชกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม หลวงปู่อ่อน ท่านได้วางระเบียบสำหรับฝึกฝนผู้ที่จะเป็นพระไว้อย่างเคร่งครัดทั้งนี้เพื่อสือทอดรักษาประเพณีข้อวัตรปติบัติตามแบบฉบับที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านดำเนินไว้เป็นแบบอย่าง หลวงปู่พูดอีกว่า ท่านเป็นผ้าขาวอยู่หนึ่งปีกับหลวงปู่อ่อน มีหลวงปู่อว้าน เขมโก เป็นพระสอนนาค จากบันทึกหลวงปู่อว้าน ท่านว่าหลวงตาเกล้าตอนเป็นนาค หลวงปู่อว้านได้ใช้หลวงปู่เกล้า ไปตัดไม้ไผ่มาทำไม้กวาด แต่ไปพลาดท่าไหนมีดเลยไปบาดมือหลวงปู่เกล้าเลือดไหลออกมามาก หลวงปู่พูดต่อว่า พอเลือดไหลออกมาแล้วหลวงปู่เกล้าจ่มคาถาไรไม่รู้แล้วเป่าเลือดก็หยุดไหล แล้วก็ไม่มีบาดแผลเลย

มีอีกเหตุการณ์หนึ่งสมัยเป็นผ้าขาว วันหนึ่งหลวงปู่นั้นภาวนาอยู่ใต้ต้นยาง วันนั้นมีลมพัดเอากิ่งไม้ยางตกลง แต่ก็ไม่ถูกองค์หลวงปู่ เฉียดออกไม่ถึงสอกแต่หลวงปู่ยังนั่งทำสมาธิต่อโดยไม่มีอาการลุกหนีจนครบเจ็ดวันหลวงปู่จึงออกจากสมาธิแล้วมีคนไปถามหลวงปู่นั่งสมาธิอยู่นั้นไม่ได้ยินเสียกิ่งไม้ตกลงมาหรอหลวงปู่ก็ตอบว่าไม่ได้ยิน

หลวงปู่มี (หลวงปู่เกล้า) ปมุตฺโต
วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตฺโต วัดถ้ำเกีย

◎ การตั้งวัดดอยเทพนิมิตร (ถ้ำเกีย)
ขณะที่หลวงปู่เป็นพระนวกะ (บวชใหม่) ที่หนองบัวบานมีโครงการทำเขื่อนกักเก็บน้ำ (เขื่อนห้วยหลวง) หากสร้างเสร็จแล้วพื้นที่ที่กักเก็บน้ำอาจกินเนื้อที่บริเวณวัดหนองบัวบาน อาจถูกน้ำท่วมจนจมหายไปหมด จึงได้ขอพระราชทานวิสุงคาสีมา และได้ออกปากกับบรรดาลูกศิษย์ในวัดว่า ใครจะไปอยู่ไหนก็รีบไป ให้รีบหาวัดอยู่เพราะไม่แน่ว่าน้ำจะท่วมวัดจนจมอยู่ในเขื่อนหรือไม่ ด้วยเหตุหนี้พระลูกศิษย์ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลายรูป ได้กราบลาท่านออกจากวัดหนองบัวบานรวมถึงหลวงปู่ด้วยที่จำพรรษาอยู่กับท่านผ่านมา ๓ พรรษาแล้วด้วย เมื่อหลวงปู่เกล้าออกวัดหนองบัวบานแล้ว ได้วิเวกมาจนถึงภูกำพร้าแต่ก่อนบริเวณภูนี้ท่านเคยเที่ยวลัดเลาะผ่านมาเมื่อครั้งเป็นนายพราน ด้วยกุศลจิต ความศรัทธา เสียสละจากชาวบ้าน ทั้งขวนขาวยอนุเคราะห์ในการอุปัฎฐาก สถานที่ที่ท่านอาศัยวิเวกตรงนี้ จึงได้เป็นวัดดอยเทพนิมิตร หรือวัดถ้ำเกีย ในปัจจุบันนี้ (จากศาลาวัดห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร มีถ้ำที่มีค้างคาวอยูอาสัยจำนวนมาก จนเป็นชื่อว่า “ถ้ำเกีย” เกียเป็นภาษาอิสาน หมายถึง “ค้างคาว

หลวงปู่มี (หลวงปู่เกล้า) ปมุตฺโต
วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

◎ ความเพียร
ข้อวัตรปฏิปทาของหลวงปู่มี ทุกวันฉันเสร็จแล้วจะเข้าทางจงกรม จากนั้นจึงขึ้นกุฎินั่งสมาธิภาวนา ท่านเล่าว่า สมัยท่านเป็นพระบวชใหม่ได้หักหาญทำความเพียรอย่างหนักในการแก้นิวรณ์ อดหลับ อดนอน ๔ วัน ๔ คืนจนเป็นลมสลบไปในคืนที่ ๔ หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการโงกง่วงสัปหงกในการภาวนาอีกเลย กับครูบาอาจารย์ผู้เป็นมงคล สมันเป็นฆราวาสหลวงปู่มีโอกาสได้ติดตามหลวงปู่ขาว อนาลโย นับเป็นสิริมงคลอย่างสูง เมื่อบวชเป็นพระหลวงปู่ก็ได้อยู่กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นอาจารย์ผู้ให้นิสัย นับเป็นมงคลอย่างสูง เมื่อพระมหาเถระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด ได้เมตตาเดินทางมาเยี่ยมที่วัดถ้ำเกียหลายครั้งหลายคราว ดังนั้นการปกครองพระเณรของหลวงปู่เกล้า ท่านจึงระวังไม่ให้เสียปกิปทาที่รักษามาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ทั้ง ๓ องค์

หลวงปู่มี (หลวงปู่เกล้า) ปมุตฺโต
วัดดอยเทพนิมิตร (วัดถ้ำเกีย) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

◎ ละสังขาร
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ หลวงปู่เกล้าเริ่มอาพาธมีอาการอาพาธทางด้านสมอง แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าสมององค์ท่านเป็นโรคสมองฝ่อ อาการของโรคชนิดนี้มักจะเป็นมากในผู้สูงอายุ ถ้าหากใครได้เป็นแล้วโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นยาก มีแต่ทรงไว้เท่านั้น แต่ร่างกายของท่านก็ยังดูแข็งแรงดีสมกับกาลพรรษา ยังเดินได้สะดวกและแววตาของท่านก็ยังสดใส หากโรคนี้ไม่มาเบียดเบียนท่าน ปฏิปทาข้อวัตรขององค์ท่านนั้นจะยังเหมือนเดิมทุกประการ

ปี พ.ศ.๒๕๕๑ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ อาการป่วยขององค์ท่านก็เริ่มแสดงอาการอย่างเห็นได้ชัดว่าสังขารนี้เป็นของไม่เที่ยง องค์ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่านและมาสิ้นสุดลงแค่นี้ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๑ เวลา ๐๘.๐๐น. ท่านก็ได้ละธาตุขันธ์ ในระหว่างพรรษาที่ ๔๒ สิริอายุได้ ๘๙ ปี ๔ เดือน ๑๑ วัน ณ ศาลาวัดดอยเทพนิมิตร (ถ้ำเกีย) คงทิ้งไว้แต่บทเรียนปฏิปทาของท่านให้ลูกศิษย์ได้เห็นสัจธรรมและการปฏิบัติของท่านเพื่อให้เป็นข้อวัตรทางดำเนินเดินตาม “รอยเท้าพ่อ”

◎ บรรณานุกรมอ้างอิง
จากหนังสือ “รอยเท้าพ่อ พระมี ปมุตฺโต” หนังสือที่ระลึกงานประชุมเพลิงศพ หลวงปู่มี ปมุตฺโต(หลวงปู่เกล้า) ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ ; พิมพ์เมื่อ สิงหาคม ๒๕๕๑

ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน

เจดีย์พิพิธภัณฑ์องค์หลวงปู่มี(เกล้า)ปมุตโต
วัดดอยเทพนิมิต (ถ้ำเกีย) ต.หนองบัวบาน
อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
รูปเหมือน หลวงปู่เกล้า ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์องค์หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตโต
เครื่องอัฐบริขาร ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์องค์หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตโต
รูปเหมือน ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์องค์หลวงปู่มี (เกล้า) ปมุตโต
เรื่องที่เกี่ยวข้อง