วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล พระอริยสงฆ์ผู้ใช้ปัญญาเป็นพลังทำลายกิเลส

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พระมหาเจิม ปญฺญาพโล

วัดสระมงคล
อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล

หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล พระอริยสงฆ์ผู้ใช้ปัญญาเป็นพลังทำลายกิเลส

หลวงปู่มหาเจิม นามเดิม เจิม วรรณโมฬี เกิดที่บ้านหนองแหน ต.เมืองใหม่ อ.พนมสารคาม (ปัจจุบันเป็น อ.ราชสาสน์) จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง

บิดาชื่อ นายหรุ่น วรรณโมฬี มารดาชื่อ นางม้วน วรรณโมฬี มีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน เป็นผู้ชาย ๔ คน ผู้หญิง ๒ คน ได้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด ๕ คน ที่มีชีวิตอยู่ปัจจุบันเหลือหลวงปู่เพียงองค์เดียว

การศึกษาของหลวงปู่ในวัยเด็กต้องศึกษากับวัดที่อยู่ใกล้บ้าน โดยเรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น เพราะยังไม่มีโรงเรียนประชาบาลตั้งอยู่ในวัดสมัยนั้น และยังต้องย้ายออกจากบ้าน ห่างจากบิดามารดาและญาติพี่น้องมาอยู่ที่วัดตั้งแต่อายุประมาณ ๘ ขวบ

หลวงปู่ได้บรรพชาเป็นสามเฌร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ อายุได้ ๑๒ ขวบ กับหลวงพ่อทอง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแสนภุมมาวาส และได้อยู่กับท่าน ๑ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ และมาอยู่ที่วัดบรมนิวาส ถนนรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยคุณย่าอิ่ม รัดสกุล เป็นผู้นำมาฝากฝังกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) และได้ญัตติเป็นธรรมยุต กับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ อีกด้วย

การศึกษาบาลีและนักธรรม

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงปู่สอบบาลีไวยากรณ์ได้ที่ ๔

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมเอก และหลวงปู่ยังสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ได้ในปีเดียวกัน

พระครูภาวนาปัญญาดิลก (หลวงปู่พระมหาเจิม ปญฺญาพโล) วัดสระมงคล

เมื่อหลวงปู่อายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ พระอุโบสถวัดบรมนิวาส โดยมี พระพรหมมุนี (ติสฺโส อ้วน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพินิจ วิหารการ (ขำ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรดำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงปู่ได้ออกปฏิบัติ โดยเดินทางขึ้นสู่ภาคเหนือ ได้จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๑ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๔๘๒-พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่วัดทิพย์วนาราม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้กลับมาจำพรรษาที่ วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อีกครั้ง

ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลงมาอยู่ภาคกลาง ได้ลงไปจำพรรษาที่อ่าวยาง จ.จันทบุรี เพียงรูปเดียว

ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ไปจำพรรษาที่อ่าวหมู กับ พระอาจารย์น้อย เกตุโร อยู่ ๑ พรรษา และได้เดินทางลงไปจำพรรษาที่ปักษ์ใต้ โดยได้ไปอยู่กับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมคีร์ปัญญาวิศิษฏ์) ที่จังหวัดภูเก็ต

ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่อ่าวลึก จ.กระบี่ กับอาจารย์พรหมมา

ปี พ.ศ. ๒๔๙๖-พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้อยูจำพรรษาที่คลองช่องลม อ.อ่าวลึก จ.กระบี่

ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ กลับมาจำพรรษาที่วัดแสนภุมมาวาส อันเป็นบ้านเกิด เพื่อเยี่ยมโปรดโยมบิดา โยมมารดา

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กลับลงไปภาวนาที่ภาคใต้อีกครั้ง โดยจำพรราที่อ่าวลึก จ.กระบี่ ได้ ๑ พรรษา

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จำพรรษาที่วัดอรัญญบรรพต จ.หนองคาย กับ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์)

ปี พ.ศ. ๒๕๐๔-พ.ศ. ๒๕๐๗ จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว จ.จันทบุรี

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘-พ.ศ. ๒๕๑๗ จำพรรษาที่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ กลับไปวัดเขาช่องลม อ.อ่าวลึก จ.กระบี่อีกครั้ง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙-พ.ศ. ๒๕๓๑ และในระหว่างนั้นหลวงปู่ได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกระบี่ และ พังงา

ต่อมาท่านได้มาอยู่ที่มูลนิธิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซอยจรัลสนิทวงค์ ๓๗ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เพื่อรักษาอาการอาพาธ และมาพักอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท (พระครูสุทธิธรรมรังษี) ที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงปู่ได้รับอารธนานิมนต์มาเป็นประธานสงฆ์ในการก่อสร้างเสนาสนะวัดสระมงคล อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งเดิมมีพื้นที่เป็นป่าช้าเก่าก่อนที่จะมีการสร้างเป็นสำนักสงฆ์ และได้อยู่ที่วัดป่าสระมงคลแห่งนี้ จนถึงกาลมรณภาพ

หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล มรณภาพลงด้วยอาการสงบด้วยโรควัยชรา ณ โรงพยาบาลนครปฐม เมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๔๕ น. ของวันเสาร์ที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ สิริอายุรวม ๙๕ ปี ๘ เดือน ๑๑ วัน พรรษา ๗๕

ศาลากลางน้ำที่ประดิษฐานอัฐิธาตุหลวงปู่มหาเจิม
รูปหล่อบูชา หลวงปู่มหาเจิม
อัฐิธาตุของท่าน หลวงปู่มหาเจิม

สหธรรมิกของท่านที่เคยอยู่ร่วมกันมามีมากมายหลายท่าน เช่น หลวงปู่เทศก์ เทสรังษี วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย หลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หลวงปู่มหาเนียม สุวโจ วัดเจริญสมณกิจ หรือวัดหลังศาล อ.เมือง จ.ภูเก็ต รวมทั้ง หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ วัดระหาร หรือ วัดเกาะแก้ว ธุดงคสถาน บ้านระหาร อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น


หลวงปู่มหาเจิม เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่เจิมท่านเคร่งครัด ในธรรมวินัย เป็นที่สุด พูดน้อย พูดแต่ความจริง ไม่พูดเล่น เป็นผู้รักสันโดษ ไม่ยินดีในลาภยศ สรรเสริญ ท่านสละไม่ยอมรับแม้ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ลูกศิษย์ถามว่า

“ทำไมหลวงปู่ไม่ไปอยู่ภาคอีสาน จะได้โด่งดัง เหมือนกับพระคณาจารย์อื่นๆ”

ท่านตอบว่า

“เราไม่อยากดัง มาอยู่ตรงนี้ก็ดีแล้ว จะได้ใช้กรรมให้หมดไป”

หลวงปู่ท่านเป็นพระที่ชอบสันโดษไม่หวังลาภยศใดๆ มีลูกศิษย์มาถามท่านว่าทำไมท่านไม่เทศน์บ้าง ท่านตอบว่า

“ธรรมมีมากมาย พระเทศน์เก่งๆ ก็มีเยอะ แต่คนเอาธรรมไปใช้มีน้อย มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งขอธรรมะจากท่าน ท่านได้ให้ธรรมะสั้นๆ แต่ออกจากใจท่านแท้ๆ ท่านเขียนไว้ว่า ปล่อยว่าง วางเบา เอาหนัก ท่านบอกว่าใครทำได้ถึงตรงนี้พ้นทุกข์ได้แน่นอน”


นอกจากนี้แล้วยังมีหัวข้อธรรมที่ท่านมักบอกกับลูกศิษย์เสมอๆ ว่า

“ท่านไม่เคยมีความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ในมรรคผลนิพพาน ความสงสัยเหล่านั้นได้หมดไปจากใจของหลวงปู่อย่างสิ้นเชิง เพราะได้รู้ได้เห็นด้วยปัญญา ในการปฏิบัติภาวนาอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่จริง พระธรรมเมื่อนำมาปฏิบัติแล้วได้รับผลจริง พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเมื่อปฏิบัติตามพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จริง”


หลวงปู่จะยึดคติในการครองตนว่า

“เป็นพระอย่างสะสม ทำให้จนๆ ไว้อยู่สบาย เมื่อสมัยที่ออกปลีกวิเวกนั้นมีแต่อัฐบริขารเท่านั้น เงินทองไม่เคยมี เพราะผู้คนก็ยากจน ไปไหนก็เดินไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน เดินไปก็ภาวนาไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง และด้วยเหตุที่หลวงปู่เป็นพระที่พูดน้อยมาก วาจาท่านศักดิ์สิทธิ์ เพราะท่านพูดแต่ความจริง ไม่พูดเล่น ไม่พูดเพ้อเจ้อ เวลาที่ท่านพูดท่านจะมีสติบริบูรณ์ มีสัจจะ มีธรรมะ เมื่อท่านพูดถึงเรื่องอะไรมักจะเป็นอย่างนั้นเสมอ ลูกศิษย์หลายรายที่ท่านให้พรจะมีโชคมีลาภ บางคนมีทุกข์มีหนี้สินมากราบขอพรจากท่านก็พากันพ้นทุกข์ไปหลายคน ในจำนวนผู้ที่มากราบไหว้ขอพรหลวงปู่มหาเจิมนั้นมีทุกระดับ ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วๆ ไป จนไปถึงเศรษฐีระดับประเทศ และหนึ่งในจำนวนนี้มีคนหนึ่งที่มากราบขอพรเป็นประจำคือ “นายเฉลียว อยู่วิทยา” เจ้าพ่อกระทิงแดง อดีตมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของไทย ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น นายเฉลียวได้แวะเวียนไปกราบไหว้ สนทนาธรรม รวมทั้งฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่พระมหาเจิมเป็นประจำ ซึ่งครั้งหนึ่งหลวงปู่มหาเจิมท่านเคยเทศน์สอนว่า

“การขายเหล้าเป็นกรรมสะสม”

ส่งผลให้นายเฉลียวตัดสินใจขายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำเมาทั้งหมด เหลือเพียงเครื่องดื่มชูกำลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมร่วมเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการสร้างพระมหาเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของวัดสระมงคล

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล

“..สัตว์ทั้งหลายติดในความสุข หนอนในส้วมก็ติดสุขของหนอน ไม่ต้องการออกจากส้วมไป ผู้มีปัญญแก่กล้าไม่ติดในสุข เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ทั้งนั้น จึงเพียรพยายามละกิเลสของตน..”

มีลูกศิษย์เคยถามหลวงปู่ว่าทำไม่ท่านไม่เทศน์บ้าง ท่านตอบว่า

“..ธรรมมีมากมาย พระเทศน์เก่งๆ ก็มีเยอะ แต่คนเอาธรรมไปใช้มีน้อย..”

มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งขอธรรมมะจากท่าน ท่านได้ให้ธรรมมะสั้นๆแต่ออกจากใจท่านแท้ๆ ท่านเขียนไว้ว่า

“ปล่อยว่าง วางเบา เอาหนัก”

ท่านบอกว่าใครทำได้ถึงตรงนี้พ้นทุกข์แน่นอน

ด้านวัตถุมงคล

เหรียญหลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล วัดสระมงคล รุ่นปัญญาบารมี เป็นเหรียญที่ออกในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เนื่องในงานวันเกิดครบ ๙๐ ปี ประกอบด้วย รูปเหมือนลอยองค์ เหรียญรูปไข่ เหรียญเสมา ล็อกเกต รูปเหมือนหลวงปู่ยืนถือไม้เท้า และพระปิดตาเนื้อผง ทั้งนี้ท่านได้เมตตาต่อลูกศิษย์เป็นกรณีพิเศษ โดยมีข้อแม้ว่า “อนุญาตให้จัดสร้างเพียงครั้งเดียว และครั้งสุดท้าย จากนั้นให้เลิกโดยเด็ดขาด” ทั้งนี้เพื่อหาปัจจัยสร้างพิพิธภัณฑ์บริขารของท่าน

สำหรับยันต์ที่ปรากฏบนหลังเหรียญรุ่นนี้ ประกอบด้วย

แถวที่ ๑. คาถาหัวใจอริยสัจ ๔ ที่ว่า (แถวบน) อ่านว่า “ทุ สะ นิ มะ

แถวที่ ๒. (แถวกลาง) “นะโมวิมมุตตานัง

แถวที่ ๓. (แถวล่าง) “นะโมวิมุตติยา” ซึ่งต้องอ่านต่อเนื่องกัน “นะโมวิมมุตตานัง นะโมวิมุตติยา” เป็น “พระคาถาโมรปริตร” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระคาถาพญายูงทอง” มีความหมายว่า “ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแต่ผู้วิมุตแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าฯ จงมีแต่วิมุตตฺธรรม

พระคาถาโมรปริตรนี้เป็นคาถาที่บรรดาพระป่าสาย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ส่วนมากให้ความสำคัญในการบริกรรมพระคาถาบทหนึ่ง และเป็นคาถาที่ปรากฏในตำนานโมรปริตร (อุเทตะยัญจักขุมา) ซึ่งเป็นนิทานชาดก โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น “พญานกยูงทอง

เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล วัดสระมงคล