วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต วัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต

วัดบึงทองหลาง
บางกะปิ กรุงเทพฯ

หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต วัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพฯ
หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต วัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพฯ

พระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต) วัดบึงทองหลาง พระเกจิเรืองอาคมและพระนักพัฒนาแห่งทุ่งบางกะปิ กรุงเทพฯ

◉ ชาติภูมิ
พระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต) นามเดิมชื่อ “พัก แย้มพิทักษ์” เกิดเมื่อเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ.๒๔๑๙ พื้นเพเดิมครอบครัวท่านเป็นชาวอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เหตุที่ท่านมีชื่อ “พัก” นั้น เล่ากันว่า โยมมารดาได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมเพื่อที่จะฝากครรภ์ ไว้ที่บ้านตา ขณะที่หยุดพักใต้ร่มไม้ใหญ่ชายป่า เกิดเจ็บท้องกะทันหัน และได้คลอดบุตรชายออกมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “เด็กชายพัก

◉ ปฐมวัย
เมื่อท่านอายุได้ ๘ ขวบ โยมบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ มาฝากให้เป็นศิษย์ วัดสุทัศนเทพวราราม คอยปรนนิบัติรับใช้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อมีความคุ้นเคยกับวัดดีแล้ว สมเด็จพระวันรัตได้เมตตา บรรพชาให้เป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรม รวมทั้งเรียนพุทธเทวมหามนต์ วิชาความรู้ทางช่าง บูรณะวัดและวิชาความรู้ต่างๆ ที่มีครูผู้สอน มีตำรับตำราตกทอดกันมา ศึกษาตำราการสร้างพระที่มีตกทอดสืบกันมา รวมถึงได้มีโอกาสได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากสำนักของ สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐาราม ด้วย

◉ อุปสมบท
กระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ท่านมีอายุครบบวชได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีสมโพธิ (แพ ติสสเทวมหาเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทตฺโต

หลวงปู่พัก เป็นพระภิกษุที่ขยันหมั่นเพียร หมั่นฝึกฝนตนเอง ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่องบทพุทธเวทมหามนต์ชั้นสูงของสำนัก (วัดสุทัศน์) ตลอดจนมีความสามารถในการเจริญจิตภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน มีความสามารถเชี่ยวชาญจนกระทั่งนำไปถ่ายทอดสอนให้แก่ผู้อื่น

เมื่อท่านบวชได้ ๕ ปีผ่านไป ทางวัดบึงทองหลาง ซึ่งมี พระอธิการสิน เป็นเจ้าอาวาส ได้มีหนังสือมายัง สมเด็จพระวันรัต (แดง) ขอให้ส่งพระที่มีความรู้ มาช่วยดูแลวัดด้วยเพราะตัวท่านชราภาพมากแล้ว

หลวงปู่พัก ท่านได้รับคัดเลือกให้มาทำความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดบึงทองหลางตั้งแต่บัดนั้น ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๕ ปีต่อมาพระอธิการสิน ท่านได้มรณภาพลง หลวงปู่พัก ได้จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ หลังจากนั้นจึงได้รับตราตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และอีก ๒ ปีต่อมา ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

ในช่วงเวลานั้น หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต ท่านได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา พระโขนง ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันว่าท่านเป็นพระแท้มีอาคมขลังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปในย่านนั้น ท่านจึงพายเรือไปกราบนมัสการในฐานะพระผู้น้อยเคารพพระผู้ใหญ่ ต่อไปได้เห็นวัตรปฏิปทาของ หลวงปู่ทอง เพียบพร้อมน่าศรัทธา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ วิชาการสร้างวัตถุมงคลให้ขลัง เรียนวิชาทำผงพุทธคุณ เรียนทำผงตรีนิสิงเห เรียนสูตรเขียนยันต์จนชำนาญ สำเร็จยันต์ถึงขั้นเคาะผงทะลุกระดานได้ หลวงปู่พัก ชอบยันต์นี้มาก และใช้ยันต์เป็นประจำต่อมา

เมื่อท่านเขียนยันต์ตรีนิสิงเห ลงในตระกรุดผ้าประเจียด ผ้ายันต์ แจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม ปรากฏว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านคงกระพันชาตรี ป้องกันเขี้ยวงา จนเป็นที่เลื่องลือ

ลูกศิษย์ฝ่ายสงฆ์ที่ไปขอเรียนวิชากับ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ได้พบกันในกุฏิยุคนั้นมี หลวงพ่อปั้น วัดสะพานสูง บางซื่อ, หลวงพ่อเผือก วัดลาดพร้าว บางกะปิ, หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว บางพลี ซึ่งคณาจารย์ที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยคณาจารย์ล้วนแต่พายเรือลัดเลาะมาตามคลองเพื่อหาความรู้และหาครูบาอาจารย์ โดยมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือ วัดราชโยธา เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาทางด้าน “เวทย์วิทยาคม” จากหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ทั้งสิ้น

หลวงปู่พัก ท่านเป็นพระที่สมถะ ไม่จับปัจจัย แต่ญาติโยมจะนำเงินมาวางอยู่ใครอยากได้เท่าไหร่ก็หยิบไป ทำนองว่าศิษย์หลวงปู่ไม่มีโกง เพราะเป็นผู้มีความเคารพซื่อตรงต่อหลวงปู่ หลวงปู่ยังนุ่งเจียม ห่มเจียม ประหยัด เคร่งในพระธรรมวินัย พระลูกวัดทุกรูปต้องอยู่ในวินัยสงฆ์เช่นกัน ท่านไม่เคยขาดลงโบสถ์ ทำวัตรเช้าเย็น นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า บางครั้งในยามดึกท่านจะตื่นขึ้นมาตรวจกุฏิสงฆ์ ท่านจะห้อยพวงกุญแจไว้ที่รัดประคต จะได้ยินเสียงลูกกุญแจกระทบกันดังมาก่อนตัว เมื่อท่านพบพระภิกษุรูปใดทำผิด ๓ ครั้ง หลังจากตักเตือนแล้ว ท่านจะแนะนำให้สึกหาลาเพศ จนเป็นที่ยำเกรงของหมู่สงฆ์ หรือในอีกภาพลักษณ์หลวงปู่จะเป็นพระที่ดุ หมายถึงให้ศิษย์หรือพระที่บวชเข้ามาเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์

หลวงปู่พัก เมื่อได้มาครองวัดบึงทองหลางในตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕ ก็ได้พัฒนาวัดบึงทองหลางให้เจริญก้าวหน้า อย่างที่ปรากฏเป็นที่ทราบของชาววัดบึงทองหลาง จนได้รับการยกย่องจากคณะสงฆ์ชั้นปกครองให้ และแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมือ พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะที่อายุ ๕๖ ปี ที่ “พระครูธรรมทัตฺโต” และได้รับตำแหน่งเป็น พระครูสัญญาบัตร เมื่ออายุ ๗๖ ปี ที่ “พระครูธรรมสมาจารย์” พ.ศ.๒๔๙๕

นอกจากนี้ หลวงปู่พัก ยังได้ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ที่จะให้การบวชแก่กุลบุตรที่ประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนาที่มีท่านเพียงรูปเดียวในเขตบางกะปิ (ที่ครอบคลุมพื้นที่เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตวังทองหลาง เขตวัดลาดพร้าว เป็นต้น) จึงทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่บวชกับท่านเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวัดบางชัน วัดบางกะปิ วัดสามง่าม บางเขน วัดลาดพร้าว วัดศรีบุญเรือง วัดพิชัย วัดกลาง และวัดบางเตย วัดเทพลีลา วัดพระไกรศรี(น้อย) เป็นต้น นอกเหนือจากเป็นพระเกจิคณาจารย์และอุปัชฌาย์แล้วหลวงปู่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงบางกะปิอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต วัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพฯ
หลวงปู่พัก ธัมมทัตโต วัดบึงทองหลาง บางกะปิ กรุงเทพฯ

◉ มรณภาพ
หลวงปู่พัก วัดบึงทองหลาง ท่านถึงแก่มรณะภาพลงเมื่อ เดือน สิงหาคม ปี พ.ศ.๒๕๐๑ สิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒

◉ วัตถุมงคล
วัตถุมงคลในยุคแรกของท่าน ท่านจะสร้างเป็น ตะกรุด และผ้ายันต์ สำหรับพระเครื่องยุคแรกเป็นพระชินราชเนื้อผง พระปิดตาเนื้อผง แต่มีจำนวนน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบเห็นเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก วัตถุมงคลประเภทพระหล่อโบราณ ประกอบไปด้วย พระปิดตา พระนางพญา พระนาคปรก

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง ปี พ.ศ.๒๔๙๑
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง ปี พ.ศ.๒๔๙๑
เหรียญรุ่นสอง หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง ปี พ.ศ.๒๔๙๗
เหรียญรุ่นสอง หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง ปี พ.ศ.๒๔๙๗

สำหรับเหรียญรุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ใต้ฐานเขียนว่า “พระครูธรรมทัตโต” จัดสร้าง มีเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า เหรียญรุ่นสอง จัดสร้างปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีเนื้อเงิน เนื้อเงินลงยา เนื้อทองฝาบาตร เหรียญทองแดง มีทั้งหน้าหนุ่มและหน้าแก่ ใต้ฐานเขียนว่า “พระครูภักตร์” ปัจจุบันเหรียญทั้งสองรุ่นหาชมได้ยากมากแล้ว พุทธคุณและประสบการณ์ เด่นด้านเมตตา และ แคร้วคลาด คงกระพัน

ปิดตาหมวกเจ็ก หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง กรุงเทพฯ
ปิดตาหมวกเจ็ก หลวงพ่อพัก วัดบึงทองหลาง กรุงเทพฯ