วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน

วัดสมศรี (บ้านพระคือ)
ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน ท่านเกิดวันจันทร์ เดือน พ.ย. พ.ศ.๒๔๔๙ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดามารดา ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านก่อ ต.หนองไข่นก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

โยมบิดาของท่านชื่อ นายจันทร์ศรี อวยพร มารดาชื่อ นางบุญจันทร์ อวยพร

ตอนปฐมวัยท่านได้จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๓ ที่โรงเรียนบ้านก่อ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่บ้านนั้นเอง ช่วงวัยหนุ่มของหลวงปู่นั้น ท่านได้เข้าอบรมเป็นครูช่วยสอนนักเรียนที่ อ.พิบูลมังสาหาร ต่อจากนั้นท่านได้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายทางโลกและเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากครูช่วยสอนเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านขี้เหล็ก ต.หัวเรือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมี พระครูซาว เป็นพระอุปัชฌาย์ จนอายุล่วงเข้า ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ (มหานิกาย) ที่วัดบ้านขี้เหล็กแห่งเดิมนี้ โดยมีพระครูซาว เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเดิม

หลังจากหลวงปู่พระมหาสีทน บวชเป็นพระภิกษุได้ ๑ พรรษา เพื่อนของท่านก็ชวนลาสิกขา ท่านก็เล็งเห็นว่าถ้าท่านยังคงบวชอยู่อย่างนี้ต่อไป ใครจะดูแลบิดามารดา ซึ่งท่านทั้งสองก็แก่เฒ่าชราภาพลงทุกวัน เมื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างนี้แล้ว ท่านจึงลาสิกขา

หลังจากท่านลาสิกขาแล้ว ท่านก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการทำงาน เพื่อทดแทนคุณบิดามารดาได้ประมาณ ๑ ปี บิดามารดาของท่านก็ปรารภกับท่านถึงการมีครอบครัว ทั้งบิดามารดาของท่านก็ได้ติดต่อทาบทามฝ่ายหญิงไว้แล้ว แม้ตัวท่านเองและฝ่ายหญิงก็มีความสนิทสนมคุ้นเคย ต้องตาต้องใจกันอยู่ แต่ท่านเองก็ยังไม่ได้ตอบตกลงเสียทีเดียว แต่ขอเวลาคิดดูก่อน ท่านได้ไปนอนคิดพิจารณาที่ศาลาโรงธรรมวัดบ้านขี้เหล็ก อันเป็นวัดที่ท่านเองบรรพชาและอุปสมบทก่อนนี้ ท่านใช้เวลาใคร่ครวญอยู่ถึง ๓ วัน จึงสามารถตัดสินใจได้ว่าการใช้ชีวิตในการครองตนเป็นฆราวาส มีแต่ความวุ่นวาย หาความสบายใจไม่ได้ ยิ่งต้องมีครอบครัวแล้ว เป็นการสร้างภาระนานัปการ

หลังจากที่ท่านได้ปรารภกับตนเองแล้ว ท่านก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะอุปสมบทอีกครั้ง แต่ท่านยังคงตัดสินใจไม่ได้ว่าจะบวชที่ใดดี หลวงปู่พระมหาสีทน ท่านได้พิจารณาว่า ที่วัดป่าบุญญานุสรณ์ บ้านหนองวัวซอ ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี มี พระอาจารย์เพชร ซึ่งเป็นเครือญาติของท่านได้ไปบำเพ็ญสมณกิจอยู่ ซึ่งตัวท่านเองก็มีความเลื่อมใสในพระอาจารย์เพชรอยู่มาก นอกจากพระอาจารย์เพชรแล้ว ก็ยังมี พระอาจารย์ขัน และ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ซึ่งเป็นคนพื้นเพเดียวกันด้วย ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจที่จะอุปสมบทเป็นพระธรรมยุต และเดินทางไปอุปสมบท ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชเวที เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “กาญจโน” เมื่อวันที่ ๑๘ เม.ย. พ.ศ.๒๔๗๒

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน

หลังจากอุปสมบท ท่านได้กราบลาท่านเจ้าคุณพระราชเวที มาพักบำเพ็ญสมณกิจที่วัดป่าบุญญานุสรณ์ โดยมีพระอาจารย์เพชรและพระอาจารย์ขันให้การอบรมด้านกรรมฐานอยู่เสมอ และท่านก็ได้พบสหธรรมิกคู่ใจ คือ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม หลังจากที่ท่านได้ช่วยดูแลรักษาความเรียบร้อยและช่วยภารกิจต่างๆ ของวัดพอสมควร หลวงปู่พระมหาสีทน ท่านก็กราบลาท่านพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์ขัน เดินทางไปเรียนบาลีไวยากรณ์ที่ วัดโพธิสมภรณ์ ท่านใช้เวลาเรียนอยู่ถึง ๔ ปี สอบได้นักธรรมตรี หลวงปู่ท่านมีความตั้งใจที่จะศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ดังนั้น หลังจากได้ศึกษาเล่าเรียนพอเป็นแนวทางแล้ว ท่านก็ออกแสวงหาโมกขธรรม มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้ชวนพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ไปกราบคารวะ หลวงปู่สุวรรณ ซึ่งมาพักปักกลดอยู่ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อฟังธรรมปฏิบัติ

หลวงปู่พระมหาสีทน มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี ขณะอายุ ๗๑ ปี

หลวงปู่พระมหาสีทน ท่านศึกษาโมกขธรรมอยู่เป็นเวลานาน จนอายุพรรษาได้ ๙ พรรษา ท่านจึงอยากกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่บ้านก่อ หลังจากออกพรรษาท่านก็เดินทางไปยังบ้านก่อ และได้แวะไปกราบนมัสการและบำเพ็ญสมณธรรมกับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พรรษาที่ ๑๐ ท่านได้จำพรรษาที่บ้านก่อ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน และอาศัยชาวบ้านที่คุ้นเคยและศรัทธาปลูกกุฏิให้พออาศัยบังแดดบังฝน มีพระเณรมาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ด้วยราว ๒๐ รูป ท่านจึงได้เริ่มสอนบาลีที่บ้านก่อเป็นแห่งแรก พอออกพรรษาแล้ว ราวๆ พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านได้กลับไปที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ก็มีพระเณรติดตามไปด้วย ท่านจึงได้เปิดสอนบาลีอีก พอออกพรรษา พ.ศ.๒๔๘๓ พระเทพบัณฑิต (อินทร์ ถิรเสวี) ได้นิมนต์หลวงปู่ไปที่บ้านพระคือ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นบ้านใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีพระอยู่

เมื่อหลวงปู่พระมหาสีทน มาดูก็ชอบใจ จึงได้อยู่จำพรรษาที่ วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื่องจากหลวงปู่มีความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ จึงมีพระเณรร่วมจำพรรษาในแต่ละปีอย่างต่ำราวๆ ๓๐ รูป ซึ่งหลวงปู่ได้แนะนำพร่ำสอนอย่างเอาจริงเอาจังตามนิสัยของท่าน โดยนอกจากหลวงปู่จะสอนทางปริยัติ คือ บาลีไวยากรณ์ แล้ว ท่านยังเน้นหนักอย่างในการปฏิบัติกรรมฐานด้วย จนเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในวงปฏิบัติขณะนั้น

พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (จูม พันธุโล) สั่งให้หลวงปู่ไปสอบเปรียญธรรม หลวงปู่จึงไปสอบ และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

หลวงปู่พระมหาสีทน มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี

หลวงปู่พระมหาสีทน อยู่ที่วัดสมศรี เรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านจึงออกไปวิเวกที่ภูเก้า อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู และจำพรรษาที่ถ้ำหามต่าง ๑ พรรษา โดยอาศัยชาวบ้านวังมน ต.โคกม่วง อ.โนนสัง บิณฑบาตเลี้ยงชีพ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้มาจำพรรษาที่บ้านกุดหินอีก ๒ พรรษา ในขณะที่ท่านออกวิเวกนี้ มีลูกศิษย์ติดตามอยู่บ้างเล็กน้อย เพื่อเหมาะแก่การบิณฑบาต เพราะสมัยนั้นบ้านเรือนมีไม่กี่หลังคาเรือน

ขณะที่ท่านพักอยู่ที่บ้านกุดหินนี้ พระอาจารย์คำผุนได้ทราบว่าหลวงปู่เป็นพระกรรมฐานองค์สำคัญ จึงอาราธนานิมนต์ให้มาที่บ้านโคกกลาง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ดังนั้น หลวงปู่พระมหาสีทน พร้อมด้วยพระอาจารย์คำผุน และลูกศิษย์จำนวนหนึ่งจึงเดินธุดงค์รอนแรมตามป่าเขามาทางภูโค้ง อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ และจำพรรษาที่วัดป่าบ้านขามป้อมน้อย ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเดินผ่านบ้านหนองดินดำ เข้าเขต อ.มัญจาคีรี มาพักที่บ้านโคกกลาง และสร้างวัดป่าบ้านโคกกลาง ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น แล้วจำพรรษาที่นั่น ๑ พรรษา นอกจากนี้ ท่านยังช่วยบูรณะวัดบ้านสวนหม่อนที่กำลังทรุดโทรม

หลังจากเสร็จการบูรณะวัดบ้านสวนหม่อนแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ไปเยี่ยมเยียน พระอาจารย์มหามณี ที่วัดกุดโง้ง และท่านได้ตั้ง วัดป่าบ้านชีวังแคน ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดกุดโง้ง โดยมีแม่น้ำชีคั่นกลาง พระอาจารย์มหามณีได้ปรารภกับหลวงปู่ว่าท่านอยากให้หลวงปู่ช่วยอบรมพระเณรและดูแลความเรียบร้อยในวัดกุดโง้งให้ด้วย เพราะตัวท่านเองก็ชราภาพมากแล้ว โดยจะพักอยู่ที่วัดป่าบ้านวังแคนหรือวัดกุดโง้งก็ได้

นอกจากนี้ พระอาจารย์มหามณี ยังได้ปรารภเรื่องการญัตติพระเณรในวัดจากมหานิกายเป็นธรรมยุต เมื่อไม่มีอะไรติดขัด จึงได้ทำการญัตติพระเณรในวัดทั้งหมดทุกรูป ดังนั้นหลวงปู่ จึงเริ่มทำการบูรณะวัดกุดโง้ง โดยอาศัยพระเณรและศรัทธาญาติโยม ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุ อาทิ กุฏิ ศาลาโรงธรรม เป็นต้น โดยท่านข้ามฟากแม่น้ำชีมาควบคุมการก่อสร้างและดูแลความเรียบร้อยที่วัดกุดโง้ง และยังต้องดูแลถาวรวัตถุ ตลอดทั้งพระเณรและญาติโยมที่วัดป่าบ้านชีวังแคนด้วย ถือเป็นภาระอันยากยิ่ง แต่ท่านก็ทำจนสำเร็จ

ขณะเดียวกันญาติโยมทางบ้านพระคือก็เดินทางมากราบเยี่ยมและนิมนต์หลวงปู่กลับไปโปรดชาวบ้านพระคืออีก เนื่องจากเห็นวัตรปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิปทาของหลวงปู่ อันเปี่ยมไปด้วยวิชชาและจรณะ เป็นที่พึ่งของฆราวาสญาติโยมได้

พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงปู่พระมหาสีทน เดินทางไป อ.เซกา จ.หนองคาย ในหน้าที่พระธรรมทูต แม้อายุของท่านจะมากขึ้น แต่ท่านยังคำทำหน้าที่เพื่อพระพุทธศาสนาอย่างไม่บกพร่อง และได้จำพรรษาที่วัดสันติกาวาส ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.หนองคาย ถึง ๓ พรรษา

วัดสมศรี บ้านพระคือ ตำบลพระลับ

ในบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่พระมหาสีทน ราวๆ พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่เดินทางกลับมาที่วัดสมศรี บ้านพระคือ โดยคณะศรัทธาญาติโยมเดินทางไปนิมนต์ ท่านเองก็ยินดีที่จะกลับมา แต่มาในฐานะพระอาคันตุกะ และได้สร้างศาลาขึ้นที่บ้านพระคือด้วย

หลวงปู่พระมหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี

หลวงปู่พระมหาสีทน อยู่ที่วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ณ โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น

อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี

การสร้างวัตถุมงคล ของหลวงปู่มหาสีทน กาญจโน วัดสมศรี มีการสร้างเหรียญไว้ทั้งหมด ๙ รุ่น เหรียญรุ่นแรกขึ้นปี พ.ศ.๒๕๐๙ แต่นำมาแจกจริงในปี พ.ศ.๒๕๑๐ เนื่องจากว่าท่านอธิษฐาน ๑ ไตรมาส ที่นิยมเรียกกันว่าเหรียญ “หางเต่า” ฉลองอายุ ๖๕ ปี ส่วนรูปหล่อมี ๓ รุ่น
๑. พระหล่อโบราณรุ่นแรก
๒. ปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก
๓. พระหล่อรุ่นสอง

วัตถุมงคลของหลวงปู่มหาสีทน กาญจโน ที่นิยมมากของชาวบ้านในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่คือ “ตะกรุดลูกปืน” ชื่อที่ท่านเรียก “จตุรภัณฑ์ยันต์อักขระ” จะมีเกศา-คำหมาก-เงินเซียนตาล-ลูกปืน ในยุคนั้น จ.ขอนแก่น มีพวกเสือนักเลงเยอะมากส่วนใหญ่จะคาดตะกรุด-แขวนลูกปืนของท่าน ขนาดนายอำเภอต้องเข้าพบเพื่อหาทางแก้ปัญหาเพราะตามจับพวกเสือนักเลงไม่ได้สักที ท่านก็ช่วยแก้ปัญหาให้ภายหลังพวกเสือเหล่านั้นก็เข้ามอบตัวกันหมด

สำหรับพระองค์ฉบับนี้เป็นรูปหล่อโบราณหลวงปู่มหาสีทน กาญจโน รุ่นแรก วัดสมศรี โดยพิธีพุทธาภิเษกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นรูปหล่อโบราณรุ่นแรก จำนวนสร้างเพียง ๒,๐๐๐ องค์ ในครั้งนั้นมีพระเกจิคณาจารย์ร่วมพุทธาภิเษกมากมาย เช่น หลวงปู่ชอบ ฐานสโม , หลวงปู่คำดี ปภาโส , หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต หลวงปู่อินทร์ ถิรเสวี หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่พระมหาโส กสฺสโป หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่สีทน

รูปหล่อโบราณ หลวงปู่มหาสีทน กาญจโน รุ่นแรก วัดสมศรี เป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์มากที่สุด และขึ้นชื่อว่า “พุทธเหนียวสุดแห่งภาคอีสาน” เช่นเดียวกับเหรียญ (หางเต่า) เหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่พระมหาสีทน