ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต
วัดป่าถ้ำหีบ
ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต “พระอริยสงฆ์ผู้มีปฏิปทาเรียบง่าย” แห่งวัดป่าถ้ำหีบ บ้านนาอ่าง ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
○ ชาติกำเนิด
หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต ท่านเกิดในสกุลกองมณี ที่บ้านเหล่าคาม ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี วันเสาร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ยี่ ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๖๔ บิดาชื่อ นายทา กองมณี มารดาชื่อ นางพา กองมณี มีบุตรทั้งหมด ๗ คน หลวงปู่เป็นบุตรคนแรก การศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒
หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต ท่านได้ออกบวชเมื่ออายุ ๔๗ ปี ณ วัดศรีชมภู ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการลี ฐิตธัมโม พระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการสุภาพ พระอนุสาวนาจารย์
หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต อุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ เวลา ๑๓.๓๕ น.
มรณภาพ เมื่อ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เมื่อเวลา ๒๒.๐๕ น. ที่วัดป่าถ้ำหีบ จ.อุดรธานี สิริอายุรวม ๘๖ ปี ๖ เดือน พรรษาที่ ๔๑
○ โอวามธรรมหลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต
“..อย่าสิไปขัดดีหลายเถอะ ขัดเนื้อหนังหั่นน่ะ ขัดส่ำได๋มันกะสกปรกคือเก่ามันหั่นล่ะ ขัดจิตขัดใจหั่นน่ะ ขัดอยู่บ่เซามันกะสะอาดท่อนั่นล่ะ..”
“..คนเฮานิมันย่านแต่ตาย ผัดเกิดมันคือบ่ย่าน..”
“..อย่าไปเชื่อมันหลาย หูกับตา ถึงใครจะว่าเราไม่ดี ถ้าเรายังดีอยู่ เราก็ยังดีอยู่ ถ้าเขาว่าเราดี แต่เราไม่ดี เราก็เป็นคนไม่ดีอยู่นั่นแหละ..”
วัดถ้ำหีบ ตั้งอยู่ บ้านนาอ่าง หมู่ที่ ๒ ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ตามแนวเทือกเขาป่าเขือน้ำ เป็นป่าโขดหินมีความสวยงามตามธรรมชาติ
วัดถ้ำหีบ เป็นวัดป่าสายกรรมฐาน มีความสงบร่มรื่น เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีพระเกจิที่มีชื่อเสียงคือ หลวงปู่พงษ์ ธมฺมาภิรโต (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมะไว้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติธรรม ได้แก่ ถ้ำหีบ ภายในถ้ำมีวัตถุโบราณ จำพวกหีบสมบัติต่างๆ
พระเจดีย์อนุสรณ์สถาน ธัมมาภิรตเจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, พระธาตุหลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง และอัฐิธาตุ-อัฐบริขารของ หลวงปู่พงษ์ ธัมมาภิรโต ณ วัดป่าถ้ำหีบ บ้านนาอ่าง ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
ขอบขอบคุณข้อมูลจากเพจ : ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน