วันจันทร์, 9 กันยายน 2567

หลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม อ.เมือง จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม บ้านหลุบหวาย ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

หลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม


หลวงปู่ประไพร สุภโร ท่านกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ในครอบครัวชาวนา ณ บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.อุดรธานี

บิดาชื่อ นายโถ่ย และนางนอ ศรีสว่าง มีพี่น้องร่วมกัน ๙ คน หลวงปู่ประไพ เป็นบุตร คนที่ ๓

ต่อมาได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ โยมบิดา มารดา จึงอพยพครอบครัว หาสถานที่ปลอดภัย ครั้งแรกย้ายไปที่ บ้านเก่าน้อย อ.เมือง จ.อุดรธานี และสุดท้ายย้ายไปที่บ้านไก่เถื่อน ต.หนองสำโรง อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งหลวงปู่ประไพร ใช้ชีวิตในวัยเด็ก ณ ที่นั่น

เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ปี พ.ศ.๒๔๙๐ อายุ ๙ ปี เรียนชั้น ป.๒ ได้บวชหน้าไฟให้โยมย่า ครั้นเสร็จงานโยมบิดามารดามารับกลับบ้าน แต่ไม่ยอมกลับ ได้บอกโยมบิดามารดาไปว่า

“เดินแค่นี้ไม่กี่ก้าวโยมย่าจะถึงสวรรค์ได้อย่างไร ให้โยมย่าถึงสวรรค์ก่อนจึงจะกลับ”

จึงได้เป็นสามเณรอยู่กับพระอาจารย์หอม วัดบ้านบง แต่ต่อมา ๑ ปี พระอาจารย์หอม ท่านได้มรณภาพ หลวงพ่อภุมมี ฐิตธัมโม วัดโนนนิเวศ อ.เมือง จ.อุดรธานี ทราบ จึงได้มารับให้ไปอยู่กับท่านในช่วงนั้นเป็นสามเณรแต่ยังไม่มีใบสุทธิเพราะบวชหน้าไฟ

ครั้นต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๕ อายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชญาย์ เป็นศิษย์รุ่นสุดท้าย ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นใฝ่ในด้านกรรมฐาน จึงไปอยู่ที่วัดโนนนิเวศ อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่เป็นวัดศูนย์กลางทางด้านกรรมฐานในเวลานั้น ได้เริ่มออกธุดงค์ครั้งแรกตอนเป็นสามเณร โดยได้เดินธุดงค์รูปเดียวจากอำเภอเมืองอุดรธานี ผ่านดงเสอเพลอกุมภวาปี ไปยังอำเภอน้ำพอง แล้วเดินต่อไปยังอำเภอโนนสัง
ในสมัยนั้นระหว่างทางพบสัตว์ป่าเยอะมาก

จากนั้นจึงได้ขึ้นไปอยู่ที่วัด บนภูเก้า ครั้นปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้อุปสมบทที่วัด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในระหว่างเดินธุดงค์แต่ความคิดขณะนั้น ยังไม่อยากอุปสมบท เพราะคิดว่าเวลาเดินธุดงค์ เป็นสามเณรจะดีกว่า อยากเก็บเห็ด หน่อไม้ หน่อหวายมาแกงทำได้ง่ายกว่า แต่พ่อแม่ครูอาจารย์บอกไม่ได้หรอกต้องอุปสมบทเพราะตัวโต เดี๋ยวพระจะเข้าใจผิดนึกว่าเป็นพระเผลอมากราบ จึงได้อุปสมบทในระหว่างเดินธุดงค์ภูเก้า

หลังจากท่านพ่อลี วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ได้กลับจากอินเดีย ท่านได้เริ่มสร้างวัดอโศการามขึ้น หลวงปู่ประไพร ท่านได้ไปปฏิบัติธรรมและช่วยงานพ่อแม่ครูอาจารย์ ในการสร้างวัดอโศการามในครั้งนั้น เมื่อครั้งเริ่มต้นสร้างวัดมีพระลูกศิษย์อยู่ด้วยกันจำนวน ๕ รูป หลังเสร็จงานก็กลับมาที่วัดโนนนิเวศน์ ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย

ท่านได้เรียนตัวธรรมและตัวขอม จาก หลวงปู่ด่อน อินทสาโร วัดถ้ำเกีย จ.หนองคาย เรียนอยู่หลายปี จนแตกฉาน เดินทางไป-มาประจำ ได้รับเมตตาจากท่านหลวงปู่ด่อน เป็นอย่างมาก เรียนกรรมฐาน และเรียนสำเร็จธาตุ หลวงปู่ด่อนจึงได้มอบใบลาน ให้เก็บรักษาและสืบทอดต่อไป

หลวงปู่ด่อน วัดถ้ำเกีย อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงปู่ประไพร ได้จำพรรษากับท่านหลวงปู่ผาง จิตตคุตโต อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และในครั้งนั้นหลวงปู่ประไพร ได้โมโหให้ตนเอง ว่าทำอะไรก็ไม่สำเร็จ นั่งสมาธิจิตก็ไม่รวม ท่านได้ขอเข้าไปอยู่ในถ้ำและขอให้พระเณรปิดประตูใส่กุญแจและขอปฏิบัติธรรมในนั้นเป็นเวลา ๗ วัน หากไม่สำเร็จก็ให้ตายในนั้นไปเลย มีเพียงตะเกียงและกาน้ำที่นำเข้าไป อยู่ในถ้ำมีแต่เดิน เดินเสร็จก็มานั่ง ขณะที่อยู่ในนั้น มีเหตุและสิ่งขัดขวางอย่างหนักเกือบหลงทาง ต้องอดทนและพยายามอย่างมาก จึงผ่านเหตุในครั้งนั้นได้ เมื่อครบ ๗ วัน ก็ออกมาได้เพราะมีสิงศักดิ์สิทธิ์เปิดประตูถ้ำให้ และในปีนั้นเอง หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต ท่านได้สร้างเหรียญรุ่นแรก ซึ่งหลวงปู่ประไพร ได้มีโอกาสช่วยเหลืองานของพ่อแม่ครูอาจารย์ในครั้งนั้น

หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต

หลวงปู่ประไพร ท่านได้ปฏิบัติธรรมร่วมกับพ่อแม่ครูอาจารย์หลาย ๆ ท่านในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คือ หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต วัดจันทราราม จ.หนองคาย ท่านพ่อลี วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ หลวงปู่เทศก์ เทสรังสี หลวงปู่ฝั้น อาจารโร จ.สกลนคร, หลวงปู่ขาว อนาลโย จ.หนองบัวลำภู พระอาจารย์วัน อุตตฺโม จ.สกลนคร, หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต จ.ขอนแก่น, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร จ.อุดรธานี, หลวงปู่ชม จ.อุดรธานี เป็นต้น (เท่าที่หลวงปู่จำได้) และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง

หลวงปู่ประไพร บอกว่าท่านเป็นศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์ทุกรูป เพราะท่านไปกราบขอขมา ฟังเทศน์ ฟังธรรม ไปขอคำเทศน์ คำสอน แล้วนำออกไปปฏิบัติเข้าสนามรบ คือรบกับกิเลส ท่านชอบการปฏิบัติ ชีวิตกรรมฐาน ตายคืนนับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็ชนะทุกครั้ง เพราะช้างเสือไม่กินสักที

หลวงปู่ได้เดินธุดงคกรรมฐานรูปเดียว จากผานกเค้าผ่านป่าดงลาน เพื่อจะไปกราบหลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต บนภูเวียง จ.ขอนแก่น ในสมัยนั้นบ้านเรือนผู้คนไม่มี สัตว์ป่าเยอะมาก เป็นเวลา ๑๕ วันที่ไม่ได้ฉันข้าว ต้องฉันยอดไม้ หน่อหวาย พอประทังชีวิต จนเมื่อพ้นป่าดงลาน จึงค่อยได้ฉันข้าว แล้วหยุดพักเหนื่อย ๑-๒ วัน จึงขึ้นภูเวียง เพื่อไปกราบหลวงปู่จันทร์

หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต วัดจันทราราม
หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต วัดจันทราราม

หลวงปู่ได้เมตตาเล่าถึง พ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญอีกหนึ่งท่าน คือ หลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต ศิษย์อาวุโสของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครั้งหนึ่งหลวงปู่ประไพร สุภโร ได้เดินธุดงคกรรมฐานรูปเดียวจากผานกเค้า ตัดผ่านป่าดงลานในสมัยนั้นเลย เพื่อจะไปกราบหลวงปู่จันทร์ เขมปัตโต บนภูเวียง ตอนอยู่ผานกเค้า ไม่มีบ้านคน ได้ฉันข้าวจากพวกบังบด ข้าวบังบดมีสามสี สีขาว สีนวล (คล้ายข้าวกล้องปัจจุบัน) และสีดำ สีขาว สีนวล เขาให้ฉัน แต่สีดำเขาไม่ยอมให้เพราะเชื่อว่ากินแล้วอายุยืน จากนั้นพอเข้าป่าดงลานเป็นเวลา ๑๕ วันที่ไม่ได้ฉันข้าว ต้องฉันยอดไม้ หน่อหวาย เอามาเผาไฟกินพอประทังชีวิต กว่าจะพ้นป่าดงลาน ค่อยได้ขึ้นไปบนภูเวียง พอไปถึง หลวงปู่จันทร์ ท่านเห็นแล้วท่านก็ตะโกนว่า พระเณรไปไสหมด มาเบิ่งนี่ผีบ้า สะพายบาตรแบกกลดผ่านป่าดงลาน บ่หย้านหมีเสือกินหัว พอหลวงปู่ประไพรได้กราบท่านเสร็จ ก็เรียกให้เข้าไปใกล้ ๆ แล้วเอ่ยว่า เสือซางบ่กินหัวเนาะ แล้วท่านก็หัวเราะเอริ๊ก ๆ พอใจ หลวงปู่ประไพรได้เล่าว่า หลวงปู่จันทร์ท่านดีนะ ครั้งหนึ่งจับแขนเฮาไปจุ่มลงในปี๊บน้ำมันมะพร้าว ที่ต้มบนเตาไฟเดือด ๆ ท่านจับมือไปจุ่มลงจนถึงก้นปี๊บ น้ำมันร้อน ๆ แต่มือไม่เป็นอะไรเลย แล้วมีลูกศิษย์กราบถามหลวงปู่ว่า แล้วหลวงปู่ประไพร เผิ่นเก่งบ่ครับหลวงปู่ หลวงปู่เมตตาตอบว่า บ่ องค์นั้นบ่รู้จักหยังดอกมีแต่ดื้อ แล้วท่านก็หัวเราะ พร้อมเอ่ยทิ้งท้ายว่า

“ศิษย์ตามพ่อ ก่อตามครู”

หลวงปู่ประไพร เล่าสมัยไปวิเวกที่ประเทศลาว

“..เที่ยวภูเขาควายในลาว ชาวบ้านพวกแม้วนับถือผี ไม่กราบพระกัน ถามเราว่ามาอะไร บอกไปว่าเราเป็นพระ มาตามหาพุทโธ มันบอกไม่ใช่อย่ามาโกหก พระเห็นแต่อยู่ในถ้ำ ต้องมีหัวแหลม ๆ ก็เลยบอกว่าพาไปเบิ่งแหน่ มันก็ถามว่าไปจริงเหรอ ใครไปพักที่นั่นไม่ได้กลับออกมานะ เออพาไปโลด มันก็ดีพาไปส่ง ส่งเสร็จมันรีบวิ่งกลับออกมา พอ ๑๕ วันกลับออกมา มันเห็นมันถามว่ายังไม่ตายเหรอ ทำไมไม่ตาย ผีทำไมไม่หักคอ ก็เลยบอกมันว่า ไม่รู้เหรอนี่หละหัวหน้าผี ช่วยตามหาพุทโธหน่อย หาไม่เห็น ถ้าไม่ช่วยจะบอกผีมาหักคอ มันก็กลัวทำตาม ก็พามันสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เดินอยู่อย่างนั้น จนเสร็จ แล้วค่อยไปที่อื่นต่อ..”

จากนั้นก็ไปภูฟ้า ภูหลวง และอีกหลายแห่ง อีกทั้งได้ไปจำพรรษา ที่นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว

หลวงปู่ประไพร ท่านมีเมตตาเปี่ยมล้นกับศิษย์ เด็ดเดี่ยว ชอบสงบ เปิดเผยตัวน้อย สันโดษ สมถะ ไม่ยึดติดกับสิ่งใด เคยได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ในอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น แล้วท่านก็ได้กลับมาอยู่วัดป่าไพรรัตนวณาราม เหตุเพราะอยากกลับมาอยู่ในที่ที่สงบ ภายหลังกลับมาได้ ๑๕ วัน พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่กรุงเทพ ได้ให้คนมาตาม เพื่อจะให้กลับไปที่เดิม ท่านจึงขอว่าหากจะให้กลับ เอาท่านไปฆ่าให้ตายเลยดีกว่า ท่านกล่าวว่าอยู่ในเมืองเหมือนติดคุกกรรมฐาน ทำอะไรไม่ได้ วุ่นวาย โลกไม่ให้ทำ หลวงปู่ประไพร พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าไพรรัตนวณาราม เรื่อยมาจนถึงกาลมรณภาพ

องค์หลวงปู่ประไพร มีอาการอาพาธเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร จ.อุดรธานี ตั้งแต่คืนวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๐๔.๓๐ น. ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด คณะแพทย์ได้ขอโอกาสทำการฟอกไต เนื่องจากองค์หลวงปู่อยู่ในภาวะไตวาย ต่อมาในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ได้ขอโอกาสทำการฟอกตับ

หลวงปู่ประไพร สุภโร ละสังขารอย่างสงบแล้วเมื่อเวลา ๒๐.๑๗ น. ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ สิริอายุ ๗๘ ปี ๗ เดือน ๒๙ วัน พรรษา ๕๙ และจะมีพิธีสรงน้ำในวันจันทร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ วัดป่าไพรรัตนวณาราม บ้านหลุบหวาย ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

วิหารสุภโร หลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม

โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่ประไพร สุภโร

“…ดีที่สุด คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ กินไม่หมด ‘กินไม่บก จกไม่ลง’ อะไรที่ออกจากพุทโธ ไม่ได้ออกจากไหน ออกจากที่เดียว ถ้าแปลตามหนังสือ ‘พุทโธ’ แปลว่าพระพุทธเจ้า ‘พุทโธ’ แปลว่าผู้ตื่น ‘พุทโธ’ แปลว่าผู้รู้แจ้งโลก ‘พุทโธ’ แปลว่าแสงสว่าง ก็แปลได้ใกล้ ๆ กันกับของจริง ของจริงเป็นอย่างหนึ่ง อันหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ฉะนั้นท่านจึงให้ภาวนา ดูพุทโธก็ไม่ให้ดูพุทโธเฉย ๆ ดูความตายไปด้วย ดูความเกิดไปด้วย เกิดอย่างไร ตายอย่างไร ต้องรู้จักจิต รู้จักชีวิต รู้จักวิญญาณ รู้จักตนจักโต รู้จักพ่อจักแม่ รู้จักพระนิพพาน ถึงจะได้ ภาวนาว่าพุทโธก็พุทโธเฉย ๆ ไม่ไปหาก็ไม่เห็น ก็ไปหาตั๊ว…”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง