วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ประสาร สุมโน วัดป่าหนองไคร้ อ.เมือง จ.ยโสธร

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ประสาร สุมโน วัดป่าหนองไคร้ อ.เมือง จ.ยโสธร

หลวงปู่ประสาร สุมโน วัดป่าหนองไคร้ อ.เมือง จ.ยโสธร

หลวงปู่ประสาร สุมโน (พระครูสุมนสารคุณ) มีนามเดิมว่า ประสาร นามสกุล “เผ่าเพ็ง” ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น “เผ่าพุทธ” และในปัจจุบันคือนามสกุล เผ่าพุทธ (พุทธะ) นั่นเอง

เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ที่บ้านหนองเป็ด ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น ต่อมายกระดับขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยแยกการปกครองมาจากจังหวัดอุบลราชธานี) จึงถือตามเอกสารทางราชการในปัจจุบันว่า หลวงปู่ประสารเป็นคนบ้านหนองเป็ด ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

โยมบิดามีนามว่า นายกลม โยมมารดามีนามว่า นางขาว นามสกุล เผ่าพุทธ (นามสกุลเดิมฝ่ายโยมมารดา “หงส์คำ) มีพี่น้องชายหญิง ๒ คน คือ

๑. พระครูสุมนสารคุณ (หลวงพ่อประสาร เผ่าพุทธ)
๒. นางเตย น้องสาว ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ (พ.ศ.๒๕๕๒ ต้นปี)


ปฐมวัย
ในวัยเด็กหลวงปู่ประสารนั้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบ้านหนองเป็ดจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ชีวิตของท่านก็เหมือนเด็กในชนบททั่ว ๆ ไป ต้องช่วยพ่อ-แม่ทำงานในบ้านตามแต่กำลังของเด็กจะช่วยได้ แม้ว่าร่างกายของท่านในยามนั้นจะเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เพราะเป็นคนที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากน้ำนมของโยมมารดาของท่านไม่มีพอให้ท่านดื่ม แต่การประกอบสัมมาอาชีพท่านเล่าว่าท่านไม่เคยท้อ จนถึงปัจจุบันร่างกายของท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง กระทั่งปี ๒๔๙๒ พระอาจารย์ศรีอารย์ เป็นคนบ้านหนองเป็ดได้ไปจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์ผั่น วัดนาหัวช้าง หรือ วัดป่าอุดมสมพร ในปัจุบัน ได้มารักษาตัวโรคนิ่วที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วมาเยี่ยมโยมทั้งสองที่บ้านหนองเป็ด โดยพักที่ วัดบ้านหนองค้อ ซึ่งบ้านหนองค้อกับบ้านหนองเป็ดนั้นอยู่ห่างกันคนละฝั่งคลอง
ในยุคนั้นหลวงปู่ประสาร ท่านออกจากโรงเรียนแล้วช่วยพ่อ-แม่ทำไร่ทำนา เมื่อเสร็จงานไร่งานนาแล้วว่างงานก็วิ่งเล่นตามประสาเด็กชนบทที่ว่างงาน พระอาจารย์ศรีอารย์เมื่อเห็นหลวงปู่ประสารย่างเล่นตามประสาคนชนบท จึงถามท่านด้วยความเมตตาว่า “มึงอยากบวชบ่

ท่านจึงตอบว่า “ก็อยากบวชอยู่แล้วล่ะขอรับพระอาจารย์”

ท่านจึงพูดว่า “ให้บอกพ่อ-แม่เสียก่อน ท่านจะบวชให้”

เมื่อนำเรื่องไปปรึกษาครอบครัว พ่อ-แม่บอกว่า “มึงจะบวชได้บ่ พระกรรมฐานฉันข้าวมื้อเดียว”

หลวงปู่ประสารในขณะนั้นจึงตอบพ่อ-แม่กลับไปว่า “ฉันก็เป็นคนเหมือนพระท่านนั่นแหละ เมื่อท่านอดได้ฉันก็ต้องทำได้”

เมื่อไปบอกขออนุญาตจากทางบ้านแล้วก็ไปพบพระอาจารย์ศรีอารย์ ท่านจึงให้โกนหัวบวชขาว (ประมาณว่าให้ถือศีล ๘ นั่นแหละ ผู้เขียน) ในต้นปี ๒๔๙๒ ที่วัดโนนค้อ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดที่พักของพระสายกรรมฐาน ไม่มีพระอยู่ประจำ พระกรรมฐานผ่านมาพักแล้วก็จากไปเป็นอยู่เช่นนั้น พอบวชได้ไม่กี่วันกลาง ๆ เดือนมกราคมของปีนั้นเดินทางจากจังหวัดยโสธรไปวัดป่าอุดมสมพรของพระอาจารย์ผั่นที่จังหวัดสกลนคร

บรรพชาอุปสมบท
จนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๒ ได้บวชเป็นสามเณรที่ วัดสว่าง โดยมี เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชา เมื่อบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งในขณะนั้น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านเป็นพระหนุ่มยังจาริกธุดงค์อยู่ที่ภาคเหนือแถวจังหวัดลำปาง และจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระสบาย และในพรรษานั้นข่าวว่าพระอาจารย์มั่นท่านอาพาธ สามเณรประสารในสมัยนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์ศรีอารย์ได้นำพระ-เณรไปเยี่ยมพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ โดยไปพักที่ศาลา แม้ว่าจะมีพระ-เณรไปไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ รูป แต่ไม่มีเสียงดังหรือเสียงกระแอมไอให้ยินเลย การเดินของพระครูบาอาจารย์ต่าง ๆ นั้นหรือก็อยู่ในอาการสำรวมระวัง แม้จะออกเดินไปที่ใดก็สำรวมระวังอินทรีย์ บริเวณวัดนั้นก็ปัดกวาดสะอาดสะอ้าน จนค่ำพระอาจารย์มั่นก็ออกมาพบศิษย์และเทศนาอบรมพระ-เณรเสร็จ สามเณรประสารในขณะนั้นก็มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาจากพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก

เมื่อจบการเทศน์ฯ ท่านกลับไปพักที่ศาลา ท่านเล่าว่า พยายามไม่ให้เกิดเสียงดัง แม้แต่การวางกระโถนท่านก็กลัวจะเกิดเสียงดัง ต้องเอามือรองก้นกระโถนแล้วค่อย ๆ วางลง แต่พอตกกลางคืนจิตใจเป็นลิงเป็นค่าง ยังมีความคิดวอกแวก จึงพยายามรักษาใจไว้ให้มั่นคง เพราะกลัวว่าจิตนั้นจะฟุ้งซ่านคิดออกนอกลู่นอกทาง จึงนั่งภาวนาจนจิตแตกเหงื่อไหลโทรมกายท่าน ด้วยอานุภาพหรือบารมีความกลัวในพระอาจารย์มั่นเพราะเชื่อกันว่าจิตของพระอาจารย์มั่นนั้นท่านสามารถรู้วาระจิตผู้อื่น และอีกอย่างเพราะอยู่ในรัศมีของท่าน กลัวว่าท่านพระอาจารย์มั่นจะรู้ความคิดที่จิตเกิดวอกแวกเนื่องจากอยู่ในบริเวณของท่าน เพราะบุญบารมีของท่านแก่กล้า จึงไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะจิตใจไม่ยอมหลับยอมนอน คุมจิตรักษาใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่ได้บวชมาได้ฟังเทศน์ฟังธรรมขณะนั้น แม้หลวงปู่มั่นจะอาพาธแต่ยังพอเดินได้ออกมารับบิณฑบาตภายในวัด ในขณะนั้นพระอาจารย์มั่นท่านบวชได้ ๖๐ พรรษาพอดี


จนถึงเดือนพฤศจิกายน ท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธหนัก บรรดาลูกศิษย์จึงนำท่านลงมาอยู่ที่วัดโนนโค่ ในขณะนั้น พระอาจารย์กู่ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อชาวบ้านได้ข่าวว่าพระอาจารย์มั่นลงมาพักที่วัดโนนโค่ ผู้คนหลั่งไหลมากราบท่านจำนวนมาก แต่ว่าไม่มีเสียงอึกทึก แม้เสียงไอเสียงจาม ในเดือนพฤศจิกายนนั้นเห็นว่าอาการอาพาธของท่านพระอาจารย์มั่นไม่ดีขึ้น จึงเอารถมารับไปที่วัดป่าสุทธาวาสซึ่งยังไม่เจริญ ด้านใต้ของวัดยังเป็นป่ารกทึบอยู่ และได้มรณภาพลงในเดือนพฤศจิกายนนั่นเอง


หลวงปู่ประสาร สุมโน ผู้มากด้วยเมตตา เย็นกายเย็นใจเป็นปกติ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๒ ที่วัดป่าสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร และปีพ.ศ.๒๔๙๔ เข้ารับการอุปสมบทที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าพระคุณธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “สุมโน” โดยหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมตตาเป็นเจ้าภาพอุปสมบทให้ ในปีพ.ศ.๒๔๙๖ และได้ออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก ไปทางภาคใต้ร่วมกับกองทัพธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


เจดีย์พุทธเมตตามหามงคล
พระครูสุมนสารคุณ (หลวงปู่ประสาร สุมโน) พร้อมศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก และกัลยาณมิตรทั้งหลาย ต่างมีจิตหวนรำลึกถึงปฏิปทาจริยาสัมมาปฏิบัติของหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก ซึ่งเป็นศิษย์สายพระกรรมฐานที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่งของหลวงปู่มั่น ภูริทฺตโต จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกันหาทุนจัดสร้าง “เจดีย์พุทธเมตตามหามงคล (ผั่น ปาเรสโก) ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านผู้เป็นพุทธสาวกที่สำคัญ ด้วยงบประมาณ ๒๐ ล้านบาทในเบื้องต้น

จดีย์พุทธเมตตามหามงคล (ผั่น ปาเรสโก)
หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ และอัฐิธาตุตลอดจนอัฎฐบริขารของหลวงปู่ผั่น ปาเรสโก


เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระสังฆราช ประเทศศรีลังกา ที่จะได้รับในอนาคต
เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวโรกาสที่พระองค์ทรงฉลองศิริราชสมบัติครบ ๖ รอบ และทรงเจริญพรรษาครบ ๘๐ พรรษา


เพื่อเป็นอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา และเป็นอนุสรณ์สถาน แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านซึ่งเป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย และมั่นคงในหลักพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอมาจนตลอดชีวิต เพื่อเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมะภาวนา ตามแนวทางหลักพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปัจจุบัน หลวงปู่ประสาร สุมโน (พระครูสุมนสารคุณ) อายุครบ ๙๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๓)