วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญฺโญ วัดถ้ำไทรทอง จ.กาฬสินธ์

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่บุญรอด อธิปุญฺโญ วัดถ้ำไทรทอง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธ์

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

หลวงปู่บุญรอด นั้น เรียกได้ว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิรูปหนึ่งของ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เนื่องจากหลวงปู่บุญรอด ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เข้ารับการฝึกอบรมภาวนาจากหลวงปู่อ่อน นับตั้งแต่พรรษาแรกที่อุปสมบท

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญฺโญ มีนามเดิมว่า บุญรอด ยอดคีรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ณ บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอเมือง จ.อุดรธานี เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คนของนายดี และนางดี ยอดคีรี ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีอาชีพทำนา

ครั้นเมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหารอายุย่าง ๒๑ ปี ปรากฏว่าจับฉลากไม่ติดไปเป็นทหาร โยมมารดาได้อ้อนวอนขอให้บวชให้แม่สักหนึ่งพรรษา สึกออกมาแล้วก็จะหาครอบครัวให้ หลวงปู่จึงได้เตรียมตัวบวชโดยเข้าไปหัดขานนาคกับหลวงปู่อ่อน ญาณศิริ ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี และได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมีพระราชเมธาจารย์(จันทร์ศรี จนฺททีโป) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอุดมญาณโมลี (จันโท กตปุญฺโญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

หลังจากบวชหลวงปู่บุญรอด ได้จำพรรษาและศึกษาข้อวัตร และปฏิปทากับหลวงปู่อ่อน ญาณศิริ อยู่ ๓ พรรษาซึ่งในระหว่างช่วงออกพรรษาหลวงปู่มักจะติดตามพระเถระองค์อื่นออกวิเวกธุดงค์ตามที่ต่างๆเช่น หลวงปูชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำผอง กุสลธโร หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร พระอาจารย์ผจญ อสโม เป็นต้น โดยออกธุดงค์แถบ บ้านห้วยน้ำริน บ้านช่อแล บ้านผาแด่น จังหวัดเชียงใหม่ แถบอำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

พรรษาที่ ๔ หลวงปู่บุญรอดได้ออกธุดงค์ไปกับพระอาจารย์ศรีนวล ขนฺติธโร ไปแถบจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม และเข้าจำพรรษาที่วัดป่ามัชฌันติการาม อำเภอหนองสูง จ.มุกดาหาร และ ช่วงนี้ได้มีโอกาสไปกราบฟังธรรมกับหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ที่วัดภูจ้อก้อซึ่งอยู่ไม่ไกลกันอยู่เนืองๆ

“หลวงปู่หล้าท่านสอนแบบกันเอง แบบพ่อกับลูก เวลาท่านสอนนะ เวลาท่านนั่งเทศน์ บางครั้งท่านก็นอนลงเลย ท่านก็บอกวิธีภาวนา ทำอย่างนี้ๆ เอามือใส่อย่างนี้ ทำอย่างนี้นะลูก ท่านแสดงท่าทางกิริยาท่านทำให้ดูเลย แล้วเวลาจะไปจากท่าน ท่านให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทุกลมหายใจเข้าออก”

เข้าพรรษาที่ ๘ จึงได้กราบลาพระอาจารย์ศรีนวล ออกวิเวกธุดงค์ไปยังอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และเข้าสู่อำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู จากนั้น

พรรษาที่ ๙-๑๐ ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่ามัชฌันติการาม อำเภอหนองสูง จ.มุกดาหาร จากนั้นได้จาริกไปทางภูผากูด ภูผาขาม เข้าจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญวาสี อำเภอหนองสูง จ.มุกดาหารจวบ จนย่างเข้าสู่พรรษาที่ ๑๓ จึงได้ธุดงค์กลับมาอยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่อ่อน ญาณศิริ ที่วัดป่านิโคธาราม อำเภอหนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยระหว่างพรรษาหลวงปู่อ่อนได้มอบหมายให้หลวงปู่บุญรอด อ่านหนังสือสอนธรรมวินัยแก่หมู่คณะช่วยพระอาจารย์ศรีนวล ซึ่งท่านก็ทำได้อย่างไม่บกพร่อง

หลวงปู่บุญรอด ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่อ่อนตลอด ๔ พรรษาจวบจนวินาทีสุดท้ายที่หลวงปู่อ่อนได้อาพาธและละสังขารไป จากนั้นหลวงปู่ได้อยู่จำพรรษากับพระอาจารย์ศรีนวลอีก ๕ พรรษา และจากนั้นได้ออกจาริกธุดงค์ไปกราบหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ และหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ที่จังหวัดมุกดาหาร

จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้จาริกมาที่ถ้ำไทรทอง ซึ่งเป็นถ้ำร้างบนภูเขา ในเขตป่าดิบดงมูล อยู่ที่ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ พิจารณาเห็นว่าเป็นที่สับปายะเหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่ถ้ำร้างแห่งนี้ ท่านได้อาศัยจำวัดอยู่ในเงื้อมผา และซอกหินพอได้พักภาวนา หมู่บ้านและถนนก็ยังไม่มี หลวงปู่ออกบิณฑบาตตามกระต๊อบเถียงนาของชาวบ้านที่ออกมาทำไร่ทำนา โดยชาวบ้านได้ช่วยกันขุดขยายถ้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และเรียกถ้ำแห่งนี้ว่าถ้ำไทรทอง เนื่องจากบริเวณเหนือถ้ำมีต้นไทรมีต้นไทรขนาดใหญ่อยู่ หลังจากนั้นเริ่มมีพระเณรเดินทางมาจำพรรษาด้วย หลวงปู่ได้อบรมพระเณรอย่างเคร่งครัด ตามแบบปฏิปทาอันงดงามของพระธุดงคกรรมฐาน ต่อมาชาวบ้านเริ่มทราบข่าว จึงเกิดศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่และพระเณร จึงได้เริ่มอพยพเข้ามาสร้างบ้านใกล้บริเวณวัดถ้ำไทรทอง ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มีทั้งหมด ๖ หลังคาเรือน ในพรรษามีพระเณรจำพรรษาร่วมกันถึง ๒๑ รูปบางวันมีปลากระป่องเพียงกระป๋องเดียว แกงใส่ยอดบวบ แบ่งกันฉัน แม้ค่อนข้างจะแร้นแค้น แต่พระเณรก็อดทนไม่ท้อถอย ด้วยมีใจศรัทธาหนักแน่นในองค์หลวงปู่ และด้วยบุญบารมีและปฏิปทาของหลวงปู่ จึงทำให้มีแรงศรัทธาจากชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน ได้ค่อยๆร่วมมือกันจนสามารถสร้างวัดถ้ำไทรทองขึ้นมาได้สำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคปัญหาอยู่บ้างในระยะแรก แต่ทุกอย่างก็ลุล่วงในที่สุด

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

จวบจนย่างเข้าพรรษาที่ ๒๕ ได้มีศรัทธาญาติโยม ได้ถวายที่ดินที่บริเวณบ้านทรัพย์ให้หลวงปู่ เพื่อสร้างเป็นวัด ซึ่งปัจจุบัน คือ วัดป่าอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นวัดสาขาแรกของหลวงปู่ และหลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้อยู่บ่อยครั้ง และปัจจุบันมีพระครูอริยานุรักษ์ (พระอาจารย์สมัย ปภากโร) ศิษย์เอกองค์สำคัญของหลวงปู่บุญรอด ผู้ยึดถือข้อวัตรปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวัดป่าอย่างเคร่งครัดและงดงาม เป็นผู้ดูแลและพัฒนาวัดป่าอริยทรัพย์แห่งนี้ตามคำบัญชาของหลวงปู่บุญรอดสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน และหลังจากนั้นได้มีศรัทธาญาติโยมถวายที่ดินให้หลวงปู่เพื่อสร้างวัด จนมีวัดสาขาเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด ๑๖ วัด

ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๓๗ หลวงปู่บุญรอดได้มาจำพรรษาที่วัดป่าอริยทรัพย์อีกวาระหนึ่ง และพรรษาที่ ๓๘ หลวงปู่จึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดถ้ำไทรทอง และได้เมตตาตั้งมูลนิธิ อธิปุญโญ เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนในด้านต่างๆ หลวงปู่ได้พำนักอยู่ที่วัดถ้ำไทรทอง จนกระทั่งได้ละสังขาร

ในด้านการปฏิบัติภาวนาของหลวงปู่นั้น ท่านเป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่งนัก หลังการถวายเพลิงสรีระสังขารของหลวงปู่ อัฐิและอังคารก็ได้แปรสภาพเป็นพระธาตุเป็นที่ประจักในคุณธรรมของท่านเป็นอย่างดี

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

เดือน พ.ค. พ.ศ.๒๕๔๙ หลวงปู่บุญรอด ได้อาพาธด้วยอาการหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ อาการเส้นโลหิตในสมองอุดตันรวมถึงอาการเส้นเลือดหัวใจขาดเลือกอย่างเฉียบพลัน และได้ดับขันธ์ไปเมื่อวันอังคารที่ ๙ พ.ศ.๒๕๔๙ สิริรวมอายุได้ ๖๑ ปี ๔๐ พรรษา

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

หลังการถวายเพลิงศพอัฐิธาตุและอังคารของหลวงปู่บุญรอดก็ได้แปรสภาพเป็นพระธาตุจำนวนมาก ดั่งคำตรัสสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสว่า

“ตราบใดยังมีผู้ปฏิบัติตามมรรค ๘ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์”

อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ
เจดีย์ หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ วัดถ้ำไทรทอง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์
รูปเหมือน หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ วัดถ้ำไทรทอง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์
วัดถ้ำไทรทอง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์