วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ปัญญาโณ ตำนานพระอริยสงฆ์ผู้ย่อแผ่นดิน

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ปัญญาโณ

วัดป่าบ้านอินทร์แปลง
อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) วัดป่าบ้านอินทร์แปลง จ.สกลนคร

หลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ปัญญาโณ นามเดิมท่านชื่อ ยอด นามสกุล แก้วอัคฮาด เกิดเมื่อวัน อังคาร เดือนไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าท่านเกิดในปี พ.ศ.๒๔๑๕ ณ บ้านสิมบ้านสา ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์)

โยมบิดาชื่อ นายมืด และโยมมารดาชื่อ นางมี
มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันทั้งหมด ๓ คนคือ
๑ .นางนิน
๒. นางก่ำ
๓. นายยอด (หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ) (หลวงปู่ตา)

พอหลวงปู่เกิดมาได้อายุ ประมาณ ๓ เดือน ครอบครัวของท่านก็อพยพมาจากบ้านสิมบ้านสามาอยู่ที่บ้านดอกนอ ตำบลคูสะคาม (ปัจจุบันตำบลอินทร์แปลงอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร)

ชีวิตในปฐมวัย
ชีวิตของหลวงปู่ในปฐมวัยนั้น สืบไม่ได้ว่า ท่านศึกษาความรู้เบื้องต้นอย่างไรบ้าง เข้าใจเอาว่า ท่านคงดำเนินชีวิต เหมือนกับเด็กชนบททั่วไปในหมู่บ้านเดียวกัน จวบจนอายุ ๑๕ ปีท่านก็ได้ขอ อนุญาตมารดาบิดา บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดศรีบุญเรือง ณ หมู่บ้านดอกนอ ตำบลคูสะคาม (ปัจจุบันตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร)

อุปสมบทครั้งที่ ๑
หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) เมื่อมีอายุ ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา และจำพรรษาที่วัดศรีบุญเรือง ณ หมู่บ้านดอกนอ ตำบลคูสะคาม (ปัจจุบันขึ้นตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) การบรรพชาและอุปสมบทของหลวงปู่ตา ในครั้งแรกนี้ ไม่ทราบนามพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ รวมทั้งวัน เดือน และปีในการอุปสมบท รวมทั้งฉายา แต่ถ้านับจาก พ.ศ.๒๔๑๕ ที่หลวงปู่เกิด นั้น เมื่ออายุ ๑๕ ปีที่บรรพชาเป็นสามเณร จะอยู่ในช่วงพ.ศ.๒๔๓๐ และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็จะอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๓๕ พอหลวงปู่บวชได้ ๓ พรรษา โยมมารดาได้ขอร้องให้สึกออกมาช่วยทำนา เพราะโยมบิดาถึงแก่กรรม คิดสงสารโยมมารดาและเห็นเป็นโอกาส ที่จะตอบแทนคุณบุพการี

หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) วัดป่าบ้านอินทร์แปลง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

อุปสมบทครั้งที่ ๒
หลังจากหลวงปู่จึงลาสิกขาบท ออกมาช่วยโยมมารดา ในช่วงนี้หลวงปู่อยู่ในวัยหนุ่ม อายุได้ ๒๓ ปี หลังจากที่ลาสิกขา และช่วยมารดาทำงานเพียงปีเดียว หลวงปู่ก็ขออนุญาตมารดาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง มารดาคงเห็นว่า หลวงปู่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแน่วแน่ จึงไม่อาจขัดศรัทธาและความตั้งใจของท่าน จึงอนุญาตให้ได้บวชตามความประสงค์ ในระยะนี้ อยู่ในช่วง พ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่ง อายุของท่านได้ย่างเข้าสู่วัยเบญจเพศ คือ ๒๕ ปีบริบูรณ์ได้อุปสมบท กับพระอุปัชฌาย์ นามว่า โพธิ์ ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านหัน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ได้รับฉายา ว่า “ปญฺญาโณ” แปลว่า ผู้มีปัญญา (การอุปสมบทในคราวนี้ วันเดือนปี ไม่ปรากฏ)

เมื่อหลวงปู่ได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้กลับมาจำพรรษา ที่วัดศรีบุญเรือง บ้านดอกนอ ตามเดิม จนผ่านมาระยะหนึ่งหลวงปู่ได้ตัดสินใจลงไปศึกษา พระปริยัติธรรม ที่กรุงเทพฯ โดยมี พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร เปรียญธรรม ๕ ประโยค) วัดกุดเรือคำ อดีตเจ้าคณะธรรมยุตอำเภอวานรนิวาส-อากาศอำนวย เป็นสหธรรมิกสหจร (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร มรณะภาพ ๒๗ มิ.ย.๒๕๑๔) เมื่อลงไปถึงแล้ว ได้แยกกันไปศึกษาคนละสำนัก โดยพระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) นั้นได้เข้าไปศึกษาที่วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรีเป็นแห่งแรก

พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) น.ธ.เอก ป.ธ.๕

ออกธุดงค์
ส่วนหลวงปู่นั้น ไม่ทราบว่าเข้าศึกษาที่สำนักใด แต่เป็นที่เข้าใจว่า ท่านเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นพื้นฐานแห่งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ แล้ว ก็คงเห็นว่าการศึกษาเล่าเรียนไม่เหมาะกับนิสัยปฎิปทาของท่าน จึงหันน้อมไปด้านวิปัสสนาธุระ ออกธุดงค์รุกขมูลไปยังสถานที่ต่างๆ แต่โดยลำพังรูปเดียว ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ฟังตอนหลังว่า ท่านออกธุดงค์ไปถึงภาคเหนือ ตั้งใจจะไปนมัสการเจดีย์ในประเทศพม่า แต่เมื่อถึงชายแดน เจ้าหน้าที่ไทย ไม่อนุญาตให้หลวงปู่ผ่านไป เพราะเห็นว่าจะเกิดอันตรายกับท่าน เพราะเดินเพียงลำพังรูปเดียว เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อนุญาตให้ท่านผ่าน หลวงปู่ก็เดินทางกลับ และออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ ไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่า หลวงปู่ธุดงค์ไปยังสถานที่แห่งใดบ้างเพราะท่านไม่เล่าให้ใครฟังเลย

หวนธุดงค์กลับมาตุภูมิ
จวบจนเห็นว่าเป็นเวลาอันสมควร หลวงปู่จึงเดินทางกลับมา ยังบ้านดอกนอ ตำบลคูสะคาม (ปัจจุบันขึ้นตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) และจำพรรษาที่วัดธาตุเก่า ซึ่งไม่ห่างจากบ้านดอกนอเท่าใดนัก แต่เป็นวัดป่าที่สงบ ล้อมรอบด้วยสิงสาราสัตว์ ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน จึงเป็นโอกาสให้หลวงปู่ จะได้บำเพ็ญเพียรภาวนาทางจิตได้ตามอัธยาศัยของท่าน ต่อมาญาติโยมชาวบ้านดอกนอ ได้กราบอารธนานิมนต์หลวงปู่เข้ามาจำพรรษา ที่วัดศรีบุญเรือง บ้านดอกนอ อันเป็นสถานที่ ที่หลวงปู่เคยพำนักจำพรรษาเมื่อครั้งก่อน เหตุผลเพราะว่า อยากให้หลวงปู่อยู่ใกล้ ญาติโยมจะได้ไปมาได้สะดวกในการทำบุญทำทาน หลวงปู่ก็ไม่ขัดศรัธาญาติโยม โดยรับอาราธนาของชาวบ้าน และได้ออกบิณฑบาต โปรดญาติโยมทุกวัน รวมทั้ง มีการทำวัตรสวดมนต์ ครั้งพอถึงวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ก็มีการแสดงธรรมสั่งสอนญาติโยม แต่พระธรรมเทศนาของหลวงปู่นั้น มักจะเป็นหัวข้อธรรมล้วนๆ สั้นๆ มิได้อธิบายเนื้อความให้พิศดารอะไร ส่วนมากท่านจะเน้น เรื่องกุศลมูล และอกุศลมูล คือเรื่องรากเหง้าของของบุญกับบาป ความดีกับความชั่ว โดยเฉพาะหัวใจของพระปาฏิโมกข์ ๓ ข้อ คือ การละชั่ว ทำดี และทำใจให้หมดจดสะอาด รวมถึงการรักษาความดีที่ทำไว้อย่าให้เสื่อมสูญ เป็นที่น่าสังเกตุว่า ช่วงระยะเวลานี้เท่านั้นที่หลวงปู่คลุกคลีร่วมกับหมู่คณะสงฆ์ พอพ้นจากระยะนี้ไปแล้วหลวงปู่คงเห็นว่าฉลองศรัทธาญาติโยมพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ปลีกตัวออกจากหมู่คณะ อยู่แต่ผู้เดียวเพียงลำพัง ฉันหนเดียว ชอบความสงัดวิเวก ปรารภความเพียรเป็นที่ตั้ง โดยย้ายจากวัดศรีบุญเรืองไปอยู่ป่าโนนตูม ทางทิศเหนือ ของบ้านดอกนอ

ปลีกวิเวกตามลำพัง
ณ ป่าโนนตูมนี้เอง ทางทิศเหนือ ของบ้านดอกนอ หลวงปู่เริ่มตั้งความเพียรเคร่งครัดกว่าเดิม เป็นต้นว่า ฉันอาหารมังสะวิรัติ ไม่ให้มีเนื้อและปลาเจือปนเลย ออกบิณบาต แล้วก็งดไปอีกหลายวัน โดยมากท่านฉันผักกับผลไม้เป็นพื้น หรือไม่ก็ฉันพริกกับเกลือข้าวเหนียว ไม่ยุ่งยากวุ่นวายให้แก่ญาติโยม หลวงปู่อยู่จำพรรษาท่านได้ ปรารภความเพียรอยู่ป่าโนนตูมนี้เป็นระยะเวลาประมาณ ๔-๕ พรรษา หลวงปู่คงพิจารณาว่า ยังอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน พลุกพล่านด้วยผู้คนอยู่ ไม่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา เท่าใด จึงย้ายเข้าไปอยู่ ในป่าหนองเชือก ซึ่งอยู่ลึกเข้าอีก การปฏิบัติของหลวงปู่ก็ยังคงแบบเดิม คือฉันหนเดียว แบบมังสวิรัติ

จำพรรษาป่าลึกหนองเชือก
ท่านจำพรรษา ณ ป่าหนองเชือกนี้ ประมาณ ๖ พรรษา ก็ได้ย้ายเข้าไปในดงลึกเข้าไปอีก มีสิงสาราสัตว์เป็นเพื่อน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ป่าวังดง (ปัจจุบันอยู่ในเขต บ้านวังโพน ตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) ซึ่งสถานที่แห่งนี้ ในสมัยนั้น เป็นป่าดงพงไพรจริงๆ รกครึ้มไปด้วยต้นไม่ใหญ่และสิงสาราสัตวื เสือโคร่ง หมี หมาใน ลิง เก้ง กวาง อสรพิษต่างๆ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ นานาชนิด นับตั้งแต่ฝูงลิง รวมถึงช้าง ทั้งโขลง แต่หลวงปู่ก็อยู่กับสัตว์ป่าเหล่านั้น โดยปราศจากอันตราย ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมของท่าน และอาจถือเป็นกฏธรรมชาติ ได้อย่างหนึ่งว่า สัตว์ป่าจะทำอัตรายมนุษย์นั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ มันจะทำร้ายต่อเมื่อมันคิดว่า คนผู้นี้จะทำร้ายมันโดยหลีกเลี่ยงไม่พ้น ๑ เคยเป็นคู่เวรคู่กรรมกันมาแต่ปางก่อน ๑

หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) วัดป่าบ้านอินทร์แปลง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

ท่านที่เคยอ่านประวัติของครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานหลายรูปคงเห็นว่า การเดินธุดงค์ของแต่ละท่านต่างผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิดแตกต่างกันไป แต่ความกลัวนี่เอง ทำให้ครูบาอาจารย์ประสบพบเห็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่มีโอกาศสัมผัส จึงไม่แปลกใจอันใดเลยเมื่อหลวงปู่ก็เป็นพระปฏิบัติธรรมตามพระยุคลบาท ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เสือมานอนหมอบดู
ที่จะเดินจงกรม ท่ามกลางสายตาของสัตว์ป่า หลายสิบคู่ หรือจะนั่งสมาธิโดยมีเสือโคร่งสักตัวหนึ่งมาหมอบดูหลวงปู่จนสว่าง ซึ่งจะเป็นเทพนิมิตร หรือเป็นสัตว์ป่าจริงๆ ก็ไม่อาจทราบได้ ฝ่ายญาติโยมชาวบ้านอินทร์แปลง ซึ่งเป็นบ้านที่ขยายออกจากบ้านดอกนอ ได้ทราบว่าหลวงปู่พักอาศัยอยู่ท่ามกลางสัตว์ร้าย เกรงจะเกิดอันตรายกับท่านเพราะอยู่ลำพังรูปเดียว และเห็นว่าในช่วงนั้นหลวงปู่ย่างเข้าสู่วัยชรา จึงได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ย้ายออกจากป่าวังดง กลับมาอยู่ใกล้บ้านบ้าง เพื่อจะได้มีโอกาศอุปัฏฐากหลวงปู่ในยามจำเป็น โดยได้นิมนต์หลวงปู่มาอยู่ที่ป่าห้วยเหี้ย อันเป็นสถานที่ตั้งวัดป่าเยรมณี บ้านอินทร์แปลงปัจจุบันนี้เอง

วัดเยรมณี
อันชื่อวัด เยรมณี นี้ หลวงปู่เป็นผู้ให้นามเอง ชาวบ้านช่วยกันปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ เพียงเพื่อหลบแดดฝนเท่านั้น และหลวงปู่ก็อยู่ที่นี้เรื่อยมาจนสิ้นอายุขัยของท่าน แม้ในช่วงที่หลวงปู่ย้ายมาอยู่ที่ป่าห้วยเหี้ย การปฏิบัติธรรม ก็ยังคงเป็นแบบเดิม คือ ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ สันโดษ วางอุเบกขา ไม่ยินดียินร้ายด้วยโลกธรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งท่านไม่ชอบเก็บสะสมสิ่งใดเลย ไม่ชอบให้ใครเป็นภาระ ส่วนมากเมื่อมี ผู้ถวายจตุปัจจัยไทยทาน ท่านมักสละคืนแก่เจ้าของ หรือแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ ในระยะหลังๆ ญาติโยมต่างถิ่นที่เข้ามานมัสการหลวงปู่ จะรู้สึกแปลกใจในปฏิปทาของท่านที่แปลกไปจากพระ รูปอื่นๆ จนบางคนกล่าวว่า หลวงปู่บำเพ็ญธรรมแบบพระฤาษี หรือพระโพธิสัตว์ เพราะบางครั้ง หลวงปู่จะนั่งนิ่งฟัง มากกว่าเป็นฝ่ายพูด แต่ถ้าพิจารณาลึกลงไปในอริยาบท ปฏิปทาของหลวงปู่แล้ว จะเห็นว่า มักมีอะไรพิเศษอยู่เสมอ ซึ่งเป็นผู้รู้ซึ้งแก่ใจในระหว่างศิษยานุศิษย์ รวมถึงญาติโยมที่สัมผัสกับเหตุการณ์ ที่อยู่เหนือเหตุผล ซึ่งไม่สามารถจะมาอธิบายให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ด้วยปฏิปทาการปฏิบัติของหลวงปู่ดังกล่าว ทำให้ญาติโยมต่างถิ่น หาโอกาสมานมัสการหลวงปู่วันละหลายคณะ เมตตาธรรมของท่านก็ขยายไปต่างอำเภอ ต่างจังหวัด จึงมีญาติโยมเกิดจิตศรัทธาสร้างถาวรวัตถุไว้ในวัดเยรมณี ขึ้นมาเรื่อยๆ จากกระท่อมหลังเล็กๆ กลายเป็นกุฏิถาวรหลายหลัง ศาลาการเปรียญ ระเบียง วิหาร รวมถึงพระประธาน แต่ถึงกระนั้น หลวงปู่ ก็ยังสันโดษยินดี พำนักจำอยู่ที่กุฏิหลังน้อย เช่นเดิม จวบจนวาระสุดท้ายแห่งสังขาร

ในหลวง ร.๙ เสด็จ
ลุถึง วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร จึงพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมประชาชนบ้านดอกนอ ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เสด็จไปนมัสการหลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ที่วัดเยรมณีด้วย

พร้อมทั้งมีพระราชศรัทธาถวายปัจจัยและยารักษาโรคแด่หลวงปู่ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ เกี่ยวกับประวัติของหลวงปู่เหตุการณ์หนึ่ง นับเป็นเกียรติประวัติของหลวงปู่อย่างยิ่ง และในวันรุ่งขึ้นหลวงปู่ได้เรียกกรรมการชาวบ้านอินทร์แปลงมาประชุม และแจ้งให้ญาติโยมทราบว่า ในหลวงทรงบริจาค ปัจจัยจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ไว้บำรุงพระพุทธศาสนา และควรจะสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อฉลองพระราชศรัทธานี้ และได้เสนอจัดสร้างศาลาการเปรียญ ว่าจะสมควรหรือไม่ ที่ประชุมได้เห็นพ้องตามคำกล่าวของหลวงปู่ กรรมการจึงเรียกประชุมชาวบ้านไกล้เคียงบอกความประสงค์ของท่าน พอประชาชนทราบข่าว ต่างช่วยกันร่วมบริจาคทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังศรัทธาอย่างพร้อมเพรียง

หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) วัดป่าบ้านอินทร์แปลง จ.สกลนคร

มรณภาพ
หลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ละสังขาร ในปีพ.ศ.๒๕๒๔ แต่ก่อนหน้าที่หลวงปู่จะมรณภาพนั้น หลวงปู่อาพาธ ด้วยโรคชรา เมื่อปวารณาออกพรรษาแล้ว อาการของโรคยิ่งกำเริบมากขึ้น ถึงกับเดินไปมาไม่สะดวก ญาติโยมชาวบ้านอินทร์แปลงจึงประชุมกันทำบุญต่ออายุถวายหลวงปู่ เมื่อศรัทธาญาติโยมทั้งใกล้ไกลรู้ข่าว ต่างพร้อมใจร่วมมาทำบุญต่ออายุถวายท่านมากมายหลายคณะ เมื่อศาลายกตั้งเสาคอนกรีต เริ่มจะเทคานบน อาการอาพาธของหลวงปู่ ก็หนักขึ้นตามลำดับ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้นำแพทย์มารักษา และท่านก็ปล่อยให้แพทย์รักษาไปตามหน้าที่ แต่หลวงปู่ได้กล่าวกับศิษย์ว่า การให้ยารักษาคราวนี้ คงไม่หายจากโรค

ล่วงมาจนวันที่ ๒๖-๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านได้พูดกับลูกศิษย์ที่อยู่ต่อหน้าท่านว่า ให้ญาติโยมพากันสร้างศาลาการเปรียญหลังนี้ให้เสร็จ เพราะท่านจะไม่ได้อยู่ร่วมกันลูกศิษย์แล้ว นับเป็นประโยคที่บ่งถึงอนาคตังสญาณของหลวงปู่โดยแท้

เพราะล่วงเข้าวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๔ เวลาประมาณ ๘.๐๐น. หลวงปู่ก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ โดยไม่ได้พูดจาสั่งอะไรอีกเลย ประมาณการณ์อายุพรรษาของหลวงปู่ ๑๐๘ ปี พรรษา ๘๓ นับเป็นเถราจารย์ที่มีอายุพรรษามากที่สุดองค์หนึ่ง สมดังประโยค ที่ว่า เถราจาย์ ๕ แผ่นดิน โดยแท้

เมื่อข่าวการมรณภาพของหลวงปู่ได้แพร่กระจายออกไป ได้มีศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลมาคารวะศพของท่านอย่างเนืองแน่ ทางวัดของท่านได้รอให้ศิษย์ทางไกลได้มีโอกาสสรงน้ำศพของท่าน ถึงสองวัน จึงนำศพของท่านบรรจุในหีบทอง ตั้งบำเพ็ญกุศลบนศาลาการเปรียญหลังเดิม และได้บำเพ็ญถวายกุศลทุกๆ ๗ วัน ตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพ และพร้อมกันนั้นศาลาการเปรียญหลังใหม่ก็ดำเนินการสร้างไปอย่างรีบเร่ง เมื่อศาลาการเปรียญหลังใหม่ใกล้เสร็จตามเจตนารมณ์ของหลวงปู่

ทางคณะกรรมการและศิษยานุศิษย์จึงกำหนดงานประชุมเพลิงศพของท่าน วันที่ ๑๓-๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๕ ตรงกับแรม ๕- ๖ ค่ำเดือน ๓ จากวันนั้น ถึงวันนี้ ลุล่วงเวลาผ่านมาร่วม ๔๐ ปี คงเหลือไว้แต่เรื่องราวเล่าขาน ตราบนานเท่านาน

คัดลอกจากหนังสือ อนุสรณ์ในงานถวายเพลิงศพ หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ ๑๓-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ กร ศิษย์ปู่ (พิมพ์เป็นธรรมทาน)

วัด หลวงปู่บุญมา (ปู่ตา) วัดป่าเยรมณี
เจดีย์ หลวงปู่บุญมา (ปู่ตา) ณ วัดป่าเยรมณี
เจดีย์ หลวงปู่บุญมา (ปู่ตา) ณ วัดป่าเยรมณี
รอยเท้า หลวงปู่บุญมา (ปู่ตา) ณ วัดป่าเยรมณี

วัตถุมงคล ที่ออกในงานประชุมเพลิง
หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ตามที่ผมสอบถามและหาข้อมูลมาได้ มีดังนี้
๑. เหรียญหน้าไฟ จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ นิยมเรียกว่า บล็อคหน้าไฟ มี ๒ เนื้อด้วยกันคือ
๑.๑ เนื้อทองแดงผิวใฟ
๑.๒ เนื้อฝาบาตรกะไหล่ทอง และ ทองแดงกะไหล่ทอง (ทองแดงกะไหล่ทองพบเห็นน้อย)

ทั้งสองเนื้อนี้ กะไหล่ทองจะนิยมกว่า เพราะหายาก คาดว่า คงจะสร้างน้อย
น่าจะไม่เกิน ๑,๐๐๐ เหรียญ
บางข้อมูลว่า มีกะไหล่เงินด้วยประมาณ ๓๐๐ เหรียญ แต่ยังหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้
๒.ล็อคเก็ต สร้างประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ
๓.รูปเหมือนหลวงปู่ จำนวน ๙๙ องค์ เป็นเนื้อโลหะทั้งหมด ส่วนเนื้อเรซิ่น สร้างทีหลัง

วัตถุมงคลชุดหน้าไฟนี้ เหรียญหน้าไฟ ปี พ.ศ.๒๕๒๔ นั้น หลังจากปั้มเสร็จ
ข้อมูลว่า ได้ทำลายบล็อคทิ้งทันที

ทางคณะกรรมการ ได้จัดพิธีพุทธาพิเษก ที่วัดป่าบ้านอินทร์แปลง ๒ วันสองคืน
รายนามพระเถรานุเถระ ครูบาอาจารย์ที่นิมนต์มาในพิธีในครั้งนั้นกี่รูป ไม่ปรากฏ แต่ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ พอจำได้ ก็มี
๑. หลวงปู่คำฟอง ตอนนี้อัฐิกลายเป็นพระธาตุแล้ว
๒. หลวงปู่ลี วัดเหวลึก
๓. หลวงปู่แตงอ่อน (ข้อมูลว่า เหรียญหน้าไฟ หลวงปู่เป็นผู้ดำเนินการสร้าง บางข้อมูลว่า มีหลวงปู่บุญ ชินวังโส ร่วมอยู่อีกองค์)
ส่วนองค์ไหนจุดเทียนชัย และดับเทียนชัย ยังหาข้อมูลไม่ได้ครับผม
และ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๘ คุณสมชาย(คนในหมู่บ้านตอนนี้ทำงานที่ อบต.อินทร์แปลง) ทำผ้าป่ามาเลยนำเหรียญที่ห้อยคอไปให้ช่างแถวทองหล่อที่แกทำงานแกะบล็อกขึ้นมาใหม่ ในสมัยนั้น ๘,๐๐๐ บาท ปั้มเหรียญขึ้นมาใหม่อีก ประมาณ ๑,๕๐๐ เหรียญ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่มีทำบุญแกบอกว่าไม่กล้าทำลายบล็อกเพราะราคาแพงมากสมัยนั้น เหรียญเลยถูกปั้มมาเรื่อยๆ กลายเป็นบล็อกแตก ตอนนี้บล็อกอยู่กับกำนันตำบลอินทร์แปลง (พี่ชายพี่สมชาย) สภาพชำรุดมากแล้ว มีข้อมูลเพิ่มเติม คือว่ามีพระผงออก ปี พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นพระผงแต่สภาพเหลือน้อยเต็มทีเพราะไม่มีการเก็บรักษาอย่างดีถูกแมลงกัดกิน ท่านกำนันบอกว่าออกมาพร้อมกับเหรียญหน้าไฟ และท่านบอกว่าเหรียญสมเด็จที่ผมเคยนำลงแกบอกว่ามีส่วนผสมของอัฐิของปู่ตามาก เพราะเจ้าอาวาสคนนั้นได้ขโมยอัฐิผสมมาทำเหรียญสมเด็จจน คนในพื้นที่บอกว่าอัฐิท่านไม่เหลือแล้ว”

หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก
หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก
หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม
หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม
หลวงปู่บุญ ชินวังโส
หลวงปู่บุญ ชินวังโส

ข้อมูลพี่ mannano
ดังนั้นเหรียญหน้าไฟ ปี ๒๔ จึงมีหลายบล็อคด้วยกัน คร่าวๆ
๑. บล็อคหน้าไฟ (ไหล่จุด) จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ มีสองเนื้อ
คือ ฝาบาตรและทองแดงกะไหล่ทอง กับ ทองแดงผิวไฟ
๒. บล็อคผ้าป่า จำนวน ๑,๕๐๐ เหรียญ บล็อคนี้ น่าจะเป็นบล็อคคอติ่ง
เพราะใช้เหรียญหน้าไฟเป็นแบบ ลักษณะเหรียญจึงคล้ายเหรียญบล็อคหน้าไฟ มากที่สุด
๓. บล็อคแตก ไม่ทราบจำวน บล็อคนี้น่าจะปั้มออกมาประมาณ ๒ -๓ ครั้ง
๔. บล็อคกฐิน พึ่งสร้างขึ้นในช่วงกฐินที่ผ่านมา เพื่อออกให้ประชาชนเช่าบูชา แล้วนำปัจจัยไปสร้างประตูโขง
สรุปคร่าวๆ เหรียญหน้าไฟ ของหลวงปู่ ตา จึงมีทั้งหมด ประมาณ ๔ บล็อคด้วยกัน

ส่วนวัตถุมงคลอื่นๆ ที่หลวงปู่ให้ตอนที่ท่านยังอยู่ ก็จะเป็น จำพวกเศษผ้าสบง อังสะ หรือจีวร ถ้าดีหน่อย หลวงปู่ก็จะลงอักขระให้ รวมถึง รอยมือ รอยเท้า ครับ

อภินิหารเหรียญหลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา)
การแสดงฤทธิ์ ของหลวงปู่ตา ที่เล่าขานกันในบรรดาหมู่ศิษยานุศิษย์ ได้แก่

  • หลวงปู่บุญมา (หลวงปู่ตา) ย่นระยะทางไปไหว้องค์พระธาตุพนม (ย่อแผ่นดิน)
  • เดินผ่าห่าฝนไม่เปียก
  • พูดดักใจคน
  • มีอนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า
  • สามเสือมาเป็นเพื่อน
  • บอกหวยรางวัลที่หนึ่ง
  • กำหนดวันมณระภาพ (ปลงอายุสังขาร)
  • ในหลวงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ กราบนมัสการ

ประสบการณ์เหรียญหน้าไฟ ปี ๒๔
เรื่องราวที่เล่าขานกันมาได้แก่

  • แขวนเหรียญหลวงปู่ซ้อนท้ายมอร์ไซ ประสบอุบัติเหตุ คนขับตายคาที คนซ้อนแขวนเหรียญหลวงปู่รอดตายปาฏิหารย์
  • ขี้เมาแขวนล็อคเก็ตหลวงปู่ อยู่ในดงตีน กลับรอดปาฏิหารย์
  • วัยรุ่น บ้านนาดอกไม้(รุ่นน้องผมเอง) โดนฟัน ไม่เข้าเพียงแต่มีรอยขูด (ยางบอน)
  • ลองยิงเหรียญหลวงปู่ ยิงไม่ออก คนยิง ชักเหมือนเป็นลมบ้าหมู ต้องส่งโรงพยาบาล
  • มีคนเอาเหรียญหลวงปู่ไปปล่อย เพื่อนำเงินไปกินเหล้า ตอนกลับประสบอุบัติเหตุ (ชับมอร์ไซด์)
  • ประสานงากับรถยนต์ ตายคาที ร่างขาดสองท่อน
  • เคยได้ยินเรื่องราวปาฎิหาริย์ของท่านว่า มีนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง นำเศษผ้าเช็ดเท้าของหลวงปู่
  • กลัดติดเสื้อเมื่อครั้งการประท้วงใหญ่ ที่สนามหลวงแล้วมี ฮ.ขึ้นกราดยิง เด็กคนนี้โดนเต็มๆนับสิบนัด
  • เสื้อพรุนเป็นรู แต่เขาบอกว่าเหมือนโดนฝนเม็ดใหญ่ๆปะทะ (ข้อมูลพี่Panupong)

เดินตากฝนไม่เปียก
มีบ่อยครั้งที่หลวงปู่เดินบิณฑบาตตากฝนเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็กางร่มลงมาใส่บาตร ต่างแปลกใจที่เห็นหลวงปู่ไม่เปียก ทั้งๆที่ไม่ได้มีร่มเหมือนพวกเขา และพอกลับถึงวัด จีวรสบงของท่านก็ยังแห้งเป็นปกติ เรื่องนี้ แม้พระเณรลูกวัดก็ยืนยันว่า เคยเห็นกับตามาหลายครั้ง เกี่ยวกับเรื่องบิณฑบาตนี้ยังมีปาฏิหาริย์เล่าต่อไปอีกว่า หลวงปู่เคยย่นระยะทางไปบิณฑบาตที่อุดรฯ ตามธรรมดาบ้านอินแปงนั้นเป็นบ้านนอก อาหารการกินของชาวบ้านก็เป็นพวกอาหารป่าเป็นหลัก จะหาพวกอาหารผัด ทอด แกงเผ็ด หรือพวกของหวานแบบขนมนมเนยอย่างคนในเมือง เขาชอบทำกินกันนั้น เป็นไม่มี แต่มีบางวันที่หลวงปู่ไม่เข้าไป บิณฑบาตที่หมู่บ้านแต่หายออกจากวัดไปทางไหนไม่ทราบ ยังไม่ถึงชั่วโมงก็กลับเข้าวัดพร้อม ข้าวเจ้า รวมทั้งอาหารคาวหวาน แกงเผ็ด ผัด ทอดและขนมต่างๆ มาเต็มบาตร เมื่อพระลูกวัดถามดู ท่านก็บอกว่าไปบิณฑบาตที่ตลาดในเมืองอุดรฯมา เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่มีเพียงครั้งเดียว แต่มันเกิดขึ้นนับสิบครั้ง และทุกครั้งหากมีใครถาม ท่านก็จะบอกว่าไปบิณฑบาตที่อุดรฯมา ระยะทางจากวัดหลวงปู่ไปอุดรฯนั้น ประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร อย่าว่าแต่คนเดินเท้าเปล่าเลย ต่อให้รถยนต์ไปกลับ ๓ ชั่วโมงก็ยังมาไม่ถึง

ย่นระยะทางไปไหว้พระธาตุพนม
มีอยู่ปีหนึ่งในงานเทศกาลไหว้พระธาตุพนม ซึ่งผู้คนทั่วสารทิศมักไปกัน ในปีนั้นชาวบ้านอินแปงจำนวนหนึ่ง ได้เหมารถไปไหว้พระธาตุพนม ซึ่งระยะทางจากบ้านอินแปงถึงพระธาตุพนมนั้นห่างกันไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร ขณะที่รถออกจากหมู่บ้านมาได้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ช่วงนั้นเป็นกลางป่า นักแสวงบุญกลุ่มนั้นก็ได้มองเห็นหลวงปู่เดินอยู่ข้างทาง จึงให้รถจอดแวะถามดู หลวงปู่ก็บอกว่าจะไปไหว้พระธาตุพนม ชาวบ้านบนรถทราบดังนั้นก็เลยบอกว่า ดีแล้วหลวงปู่ ถ้างั้นนิมนต์ขึ้นรถไปพร้อมกันเลย แต่หลวงปู่ปฏิเสธไม่ยอมขึ้นรถ บอกว่าไปกันก่อนเถอะ เดี๋ยวจะตามไปทีหลัง ชาวคณะบ้านอินแปงไปถึงบริเวณพระธาตุพนม ก็ต้องพากันแปลกใจ เมื่อเห็นหลวงปู่นั่งอยู่ที่ลานพระธาตุอยู่ก่อนแล้ว ครั้นสอบถามดูว่าหลวงปู่มารถใคร ท่านกลับตอบว่า เดินมา ทำเอาชาวบ้านงุนงงไปตามๆกัน หลวงปู่บุญมา แต่ชาวบ้านมักเรียกท่านติดปากว่า หลวงปู่ตา แห่งวัดป่าบ้านอินแปง ตำบลคูสะคาม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ตา เป็นคนบ้านอินแปงถือกำเนิดเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ออกบวชตั้งแต่เป็นสามเณร พออายุครบก็บวชพระต่อ และอยู่ในเพศสมณะเรื่อยมาหลวงปู่ฝักใฝ่ในด้านกรรมฐาน จึงชอบอยู่ป่าเป็นวัตร และเดินธุดงค์ไปเกือบทั่วประเทศ แม้กระทั่ง พม่า ลาว ก็ไปมาหลายแห่ง

(อ้างอิงจากเว็บ ubonpra.com เขียนโดย คุณ vs12 เมื่อ ๒๑ เมษา พ.ศ.๒๕๕๕ )