วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ พระอริยเจ้าแห่งภูเขาร้อยลูกผู้สันโดษ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ

วัดภูมะโรง
แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ วัดอินแปงจอมดอย (ภูมะโรง)

พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ นามเดิมชื่อ บุญ เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๙ พ.ศ.๒๔๕๒ ปีระกา ที่แขวงจําปาสัก สปป.ลาว (สมัยนั้นนครจําปาศักดิ์เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย)

บิดาชื่อ นายพันธ์ มารดาชื่อ นางอ่อน มีพี่น้องรวมทั้งหมด ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ ได้เข้าอุปสมบท ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ (อายุ ๒๐ ปี) ที่วัดเมืองกาง เมืองหนองเวียง แขวงจําปาสัก โดยมีพระอาจารย์ท่านมหาพา เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่บุญมาก ฐิตปญฺโญ วัดภูมะโรง
หลวงปู่บุญมาก ฐิตปญฺโญ วัดอินแปงจอมดอย (ภูมะโรง) แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

หลวงปู่บุญมาก ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ในองค์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และเป็นศิษย์ผู้สําคัญของพระอาจารย์ทองรัตน์ กันตสีโล ซึ่งพระอาจารย์ของท่านทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูง เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย ธรรมอันปราณีต เมื่อครั้งที่หลวงปู่บุญมาก และ หลวงปู่ทองรัตน์ พาหลวงปูกิเข้าฝากตัวกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ได้กล่าวชม หลวงปู่บุญมากและหลวงปู่ทองรัตน์ว่า “ท่านสององค์นี้มีวาสนาเอาตัวรอดได้ แปลว่าบรรลุภูมิจิต ภูมิธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว”

หลวงปู่บุญมาก เป็นผู้มีบุญสมชื่อ ท่านมีอาจารย์อบรมบ่มนิสัยถึงสององค์ในคราวเดียวกัน ท่านถือธุดงค์วัตร มักน้อย สันโดษ ธุดงค์ไปตามป่าเขาอันแสนทุรกันดาร จนคนเขาเรียกขานท่านว่าเทพเจ้าแห่งขุนเขาร้อยลูก ไม่มีใครไม่รู้จักท่าน แม้แต่ฝั่งไทยท่านยังได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนทุกชั้นวรรณะ เรียกท่านว่า เทพเจ้าสองแผ่นดิน หลวงปู่บุญมากท่านมีลูกศิษย์ฝั่งไทยหลายรูป อาทิเช่น หลวงปู่สาย จารุวัณโณ วัดป่าหนองยาว, หลวงปู่กิ ธัมมุตตโม วัดป่าสนามชัย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ฯลฯ

พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ ครั้งสมัยฉลองสิม วัดภูมะโรง

มีเรื่องเล่าว่าครั้งที่หลวงปูกิ ได้พาหลวงปู่ชาไปกราบหลวงปูบุญมาก ที่ประเทศลาว ท่านออกอุบายเพื่อทดลอง ทดสอบความรอบคอบในพระธรรมวินัย โดยจัดกุฏิให้รกรุงรัง เก็บผ้าที่ท่านเคยนั่งแล้วนําผ้าที่ไม่ได้ย้อมมานุ่ง นําสบงมาห่มแทนจีวร นั่งสูบบุหรี่มวนโต เคี้ยวหมากหกเรี่ยราด เมื่อหลวงปูชาทักขึ้นมา ท่านจึงพูดขึ้นมาว่า

“โอยจักสิเฮ็ดจังได๋แล้ว แนวพระบ้านนอกคอกนาสิเลือกใช่เลือกสอยคืออยู่ในเมืองมันบ่ได้แหล๋ว” (โอ้ยไม่รู้จะทําอย่างไรอยู่ตามชนบทจะเลือกใช้สอย เหมือนอยู่ในเมืองมันไม่ได้)

จากนั้นจึงได้สั่งสอนและสนทนาธรรมกันต่อไป

หลวงปู่บุญมาก ท่านได้ธุดงค์ไปตามภูเขาลูกต่างๆ เพื่อไปโปรดชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆในถิ่นทุรกันดารซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่มาก กล่าวคือนับถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา ผีสางเทวดาอารักษ์ เป็นต้น ให้หันเข้ามาถือไตรสรณคมณ์อันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ดำรงตนด้วยสัมมาทิฏฐิ ถือศีล ๕ ประการ ที่ทําให้เป็นมนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่พลาดพลั้งจากมนุษย์กลายเป็นเดรัจฉาน ตลอดทุกภพทุกชาติ ที่เรียกว่า ขาดทุน ความเป็นมนุษย์

ท่านเคยเล่าว่า ได้ไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขนาดหลายร้อยหลังคาเรือน ที่นั่นยังนับถือผีสางเทวดา มีการฆ่าสัตว์ ประพฤติผิดในกาม เป็นนักเลงสุราทั้งหมู่บ้าน ท่านอยู่ ๕ ปี โปรดญาติโยม คือช่วยเหลือได้เพียงไม่กี่หลังคาเรือน มีลูกศิษย์ถามว่า เมื่อเขาไม่เลื่อมใสศรัทธา ท่านอาจารย์จะทนช่วยเหลือเขาทําไม ยังมีถิ่นอื่น ที่อื่น ที่เขาเลื่อมใส อาราธนานิมนต์ให้ท่านอาจารย์ไปโปรด ไปอยู่กับเขาก็มากมาย

ท่านจึงบอกกลับมาว่า “ข้าวไม่นึ่ง น้ําในบ่อลึก กินดื่มไม่ได้ การทําบุญกุศลอะไรจะประเสริฐยิ่งไปกว่าเพียรให้มนุษย์ที่หลงทาง รู้ทางที่เขาจะ ไปได้ถูกต้อง หรือเขากําลังจะถูกประหาร เราเพียรพยายามช่วยเหลือไถ่ถอนเขาให้พ้นจากการประหารทั้งครอบครัว ให้รอดตายจากเพชฌฆาต คือ โมหะมาร ให้พ้นจากความเห็นผิด กลับเป็นความเห็นชอบ มนุษย์เราตายได้หลายวิธี แต่ตายจากความดี บุญกุศล เป็นการตายที่สูญเปล่า เมื่อมีศีล มีคุณความดีที่กระทําไว้ให้ตน ให้โลก จะเป็นผู้ไม่ตาย ที่เราอดทนทั้งที่ลําบาก ก็เพราะเราเมตตาสงสารคนที่หลงทําบาป สร้างกรรมที่ไม่ดี แม้จะมั่งมี กินได้ เดินได้ ที่จริงนั้น เขาตายแล้ว และกําลังจะตาย คือ ตายจากความดีที่เป็นกุศล และกําลังคิดจะทําแต่สิ่งเป็นอกุศล นั่นคือคนกําลังจะตาย คือ กําลังจะตายจากความเป็นมนุษย์”

เป็นคําเทศนาบางตอน ที่ท่านได้ให้ข้อคิดแก่ศิษย์เอาไว้

มรณภาพ หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ ท่านมรณภาพที่วัดภูมะโรง แขวงจําปาสัก ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ สิริอายุได้ ๗๒ ปี อายุพรรษา ๕๒ งานศพของท่านได้จัดขึ้นเป็นเวลา ๓ วัน โดยมีพระลูกศิษย์และผู้ที่ศรัทธาในตัวท่านมาร่วมงานเป็น จํานวนมาก

เจดีย์พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ
ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อําเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
สถานที่บรรจุอัฐิและรูปเหมือน
หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ
วัดจอมดอยมะโรงยาราม (ภูมะโรง)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
รูปเหมือน หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ
วัดจอมดอยมะโรงยาราม (ภูมะโรง)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
วัดจอมดอยมะโรงยาราม (ภูมะโรง) หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ
แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
รูปเหมือน หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ วัดอินแปงจอมดอย (ภูมะโรง) แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

ตำนานภูงอย ภูมะโรง

ภูมะโรง หรือที่แปลว่า ภูงูใหญ่ หรือ ภูนาค เป็นภูเขาสูงใหญ่  ถ้ามองจากอำเภอพิบูลมังสาหารจังหวัดอุบลราชธานีฝั่งไทยไปทางตะวันออกจะเห็นยอดเขาแหลมเหมือนเจดีย์สูงเสียดฟ้าอยู่ลิบๆ  ภูเขานี้เชื่อมโยงกับ ภูจำปาศักดิ์ และเทือกทิวเขาอื่นๆที่ทอดยาวลงไปทางเขมรต่ำ  มีถ้ำใหญ่น้อยลึกลับซับซ้อนอยู่มากมายอันเป็นที่หลบเร้นพำเพ็ญพรตของเหล่าฤาษีดาบสหรือ “ตาปโส” มาแต่โบราณ ตลอดจนเป็นที่ปลีกวิเวกหลีกเร้นภาวนาของพระธุดงค์กรรมฐานที่จัดได้ว่า “ยอดเยี่ยม” แห่งหนึ่งซึ่ง หากจะเรียกว่าหนึ่งเดียวถิ่นนี้…ที่ไม่มีที่ใดเหมือน..หรือถิ่นวิเวกในฝัน…สำหรับผู้มีอุปนิสัยทรงฌานหรืออภิญญาก็เห็นจะไม่ผิด  เพราะนอกจากจะมี ยอดภูสูง เหวลึก ป่ารกชัฏ ไข้ป่าชุกชุม และภูมิประเทศสลับซับซ้อนอันตรายรอบด้านแล้วยังเป็นแดนอาถรรพ์ของเหล่าภูตผีปีศาจร้าย  เป็นถิ่นที่อยู่ของฝูงเสือ ช้าง หมี กระทิง ควายป่า ข่ากินคน และผีกองกอยสะมอยดง

วัดป่าอินแปงภูงอย (ภูมะโรง) หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว

บ่อน้ำเที่ยง

        เป็นบ่อน้ำธรรมชาติที่เกิดอยู่บนภูมะโรงมีขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร  ในอดีตมาน้ำจะไหลลงบ่อตลอดวันตลอดคืนแต่จะไม่ล้น  แม้จะมีคนตักไปจำนวนกี่โอ่งกี่ไหก็ไม่มีวันหมดหรือลดลงไป  น้ำจะเสมอกับขอบบ่ออยู่อย่างนั้นจึงเรียกว่า “บ่อน้ำเที่ยง”

พระอาจารย์ไตผู้อยู่พ้นมิติเหนือวิสัย

        ณ ถิ่นนี้คนแต่โบราณรู้กันว่าเป็นที่อยู่ของ “อาจารย์ไต” พระอาจารย์ใหญ่ผู้สำเร็จในอิทธิบาทภาวนาจนอยู่พ้นมิติเหนือโลกเหนือวิสัยแห่งปุถุชนสามัญ  สามารถอธิษฐานธรรมจิตให้อายุขัยยืนยาวอยู่ได้เป็นกัปกัลป์ 

        พระอาจารย์ไตท่านนี้ไม่มีผู้ใดทราบอายุขัยของท่านเลย..  และยังเชื่อกันว่าแม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ในภูมะโรงนี้  ตามปฏิปทาการประพฤติปฏิบัติที่เล่าขานมานั้นคล้ายกับพระปัจเจกพุทธเจ้า  คือมุ่งรู้แต่ลำพังสังขารธรรมแห่งตนเองเท่านั้นโดยไม่สนใจที่จะสอนผู้อื่น  วันหนึ่งๆบิณฑบาตได้พอฉันก็กลับไปยังที่อยู่  บางครั้ง ๗ วัน ๑๕ วัน ค่อยฉันอาหารครั้งหนึ่ง  บางพรรษาไม่ฉันเลยตลอด ๓ เดือน

        ถ้ำที่ท่านอยู่นั้น เป็นที่ๆอยู่ห่างพ้นโลกีย์เหนือวิสัยซึ่งบุคคลธรรมดาหรือพระภิกษุที่ยังด้อยคุณธรรมไม่มีทางจะเข้าไปถึงได้เลย  เพราะมีเหวลึกสุดหยั่งขวางกั้นเอาไว้  เหวนี้หากมองลึกลงไปจะไม่เห็นพื้นดินหรือยอดไม้  เห็นแต่ม่านหมอกมัวขาวคลุ้งอยู่อย่างนั้นชั่วนาตาปี  ..เมื่อโยนก้อนหินลงไปจะไม่ได้ยินเสียงหล่นกระทบกับอะไรเลย..  ทางข้ามเหวไปยังถ้ำพาดเอาไว้ด้วยไม้ไผ่ลื่นๆเพียงลำเดียว  หากเดินข้ามต้องแช่มช้าระมัดระวังอย่างยิ่งยวดถ้าเลี้ยงตัวไม่ดีก็มีอันหลุดร่วงตกลงไปสังเวยก้นเหวลึกที่ไม่เห็นหน

        พระอาจารย์ไตท่านสอนธรรมะสั้นๆว่า

        “ถ้าใครเข้าถึงพระไตรสรณคมน์ได้ด้วยศรัทธาความจริงใจเลื่อมใสสูงสุดแล้วไม่ต้องกลัวอะไร  แม้แต่คำว่าตายก็ไม่กลัว  คนเราไม่ต้องไปยึดถืออะไรมาก  ยึดถือหลักไตรสรณคมน์ให้จริงใจก็เข้าถึง มรรค ผล นิพพาน ได้ไม่ยาก”

        ที่ภูควายนี้  นอกจาก “พระอาจารย์ไต” แล้ว  ผู้คนฝั่งลาวยังได้เล่าลือเกี่ยวกับ “หลวงปู่พูสี” พระบังบดอายุ ๔๐๐ กว่าปี และพระปฏิบัติดีอีกมากที่อยู่ที่นี่

พระอาจารย์บุญมาก พระวิปัสสนาจารย์ผู้เรืองฤทธิ์

พระอาจารย์บุญมาก เป็นศิษย์ หลวงปู่เสาร์  กันตสีโล อยู่วัดภูมะโรง  ท่านเป็นพระภิกษุที่มีอำนาจจิตแก่กล้าสูงส่งมาก  สามารถส่งอำนาจจิตเรียกให้เสือโคร่งดุร้ายกินคนมาสยบอยู่ในวัดภูมะโรงเหมือนสัตว์เลี้ยงเชื่องๆตัวหนึ่ง  เสือโคร่งใหญ่ตัวนี้มีลำตัวยาว ๘ ศอกกินคนมาแล้ว ๙ ศพจนคนลือว่าผีตายโหงสิงเพิ่มอาถรรพ์ชั่วร้ายกลายเป็นเสือสมิงไปแล้ว  พระอาจารย์บุญมากได้ล่วงรู้เห็นในญาณทัศนะว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้มันก็จะกินคนอีกมากรังแต่จะเพิ่มบาปกรรม  จนกระทั่งในคืนหนึ่งตรงกับวันเพ็ญ  ท่านได้ทำจิตรวบรวมสมาธิจนบังเกิดฌานแก่กล้าแล้วใช้พลังอำนาจเรียกมันให้มาหาแล้วบอกกับมันทางจิตว่า

        “..ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้เจ้าอยู่แต่ในวัดนี้  อย่าได้หนีไปเที่ยวหากินที่อื่นอีก  อย่าได้ทำบาปกรรมอีก  อย่าเอาสัตว์มีชีวิตมากินเป็นอาหาร  ให้กินแต่สัตว์ที่ตายแล้ว”

        มันฟังเข้าใจและเชื่อฟังท่านเป็นอย่างดี  ตั้งแต่คืนนั้นมันก็อยู่แต่ที่วัดภูมะโรงไม่ไปไหน ท่านบอกให้มันนอนตรงไหนมันก็นอนที่นั่น  ท่านแค่เสกข้าวก้นบาตรให้มันกินไม่ต้องผูกเชือกหรือล่ามโซ่ใดๆ  ในยามที่ชาวบ้านญาติโยมเขามาทำบุญหรือปฏิบัติธรรมท่านก็จะไล่ให้ไปหลบในที่ลับตาเสียคนเขาจะได้ไม่พากันแตกตื่นโกลาหล