วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเขื่อน) อ.สิริธร อ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ

วัดป่าโพธิญาณ (วัดเขื่อน)
อ.สิริธร อ.อุบลราชธานี

หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเขื่อน) อ.สิริธร อ.อุบลราชธานี

หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ พระมหาเถระสายทางธรรมศิษย์ในองค์พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดป่าโพธิญาณ

หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ เจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณ (วัดเขื่อน สาขาที่ ๘ ของวัดหนองป่าพง) หมู่ ๖ บ้านอ่างประดู่ ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี นามเดิมท่านชื่อ “บุญชู” นามสกุล “โคตรดก” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนสี่ ปีมะเส็ง ท่านเป็นคนบ้านดอนหวาย ต.นาคาย อ.ตาลาม จ.อุบลราชธานี เมื่อเด็กๆ มารดาชอบพาท่านไปทำบุญที่วัดบ่อยๆ ทำให้เกิดมีความรัก ความผูกพัน ศรัทธา อยากออกบวช หลังจากออกบวช ได้ศึกษาธรรมวินัยและอ่านประวัติพระสาวกว่า ท่านฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในป่าปฏิบัติอยู่ในป่า แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาปฏิบัติกันอย่างไร จนเจอชีปะขาวที่เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าหนองพงมาเล่าให้ฟัง ถึงประวัติ และข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา สุภัทโท จึงเกิดศรัทธาคิดอยากไปปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย

ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านเองได้อุปสมบท ณ วัดใต้นาส่วง ต.นาส่วง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้เดินทางไปวัดหนองป่าพง วัดหนองพงเป็นวัดป่าที่มีความเงียบสงัด เดินเข้าไปวัดยังไม่มีรั้ว ไม่มีกำแพง ประทับใจที่ได้เห็นไก่ป่า กระรอก กระแต เงียบ สะอาด โล่งโปร่ง ได้พบหลวงพ่อชา ได้ฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ปฏิบัติกับท่านได้ ๑๕ วันจึงได้เปลี่ยนผ้า และบริขาร พร้อมกันกับท่านเจ้าคุณมงคลกิติธาดา(หลวงปู่อมร) และพระมหาโสม หลวงพ่อชาพาปฏิบัติ คือตื่นนอนตอนตี ๓ รวมกันนั่งสมาธิ ทำวัตรเช้า ออกบิณฑบาต ฉันเช้า เดินจงกลมตอนเที่ยงวัน บ่ายทำกิจวัตร ปัดกวาด ทำความสะอาด ตอนเย็นสวดมนต์ ทำวัตร วันพระถือเนสัชชิก ให้พยายามปลีกตัวอยู่คนเดียว อยู่มากก็เหมือนอยู่น้อยไม่คลุกคลีกัน

ท่านเล่าว่า ท่านมีความประทับใจ และศรัทธาหลวงพ่อชา คือ ท่านเป็นผู้วางรากฐาน และกิจวัตรปฏิบัติให้ดูด้วย เราจะสังเกตดูท่าน เราจะรู้เองเห็นเอง เกิดศรัทธาขึ้นมาเอง หลวงพ่อชาท่านจะสอน และปฏิบัติให้ดูด้วย เราจะสังเกตดูท่าน ท่านกราบอย่างไร เดินจงกรมอย่างไร นั่งสมาธิอย่างไร ฉันอย่างไร วางตัวอย่างไร ยุคสมัยนั้นอาหารน้อย มีพระเณรประมาณ ๑๒ รูป แม่ชีประมาณ ๑๐ รูป บิณฑบาตบางครั้งได้แต่ข้าวเปล่าบ้าง แม่ชีต้องได้ทำอาหารถวายเพิ่ม ก็มีแกงขนุน แกงหน่อไม้ จึงได้ฉันอาหาร

หลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟัง แต่ก่อนมีลูกศิษย์ก็ไม่มาก ต่อมาจะขยายมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ ช่วงที่อาตมามาอยู่ก็มีไม่มาก ประมาณ ๗-๘ รูปในพรรษาต่อมาก็มาบวชกันมากขึ้นมากขึ้นอาจจะมามาอยู่ปี ๒๕๑๑ ยังเป็นพระหนุ่มอยู่ เพิ่งได้ ๖ พรรษาช่วงนั้น หลวงพ่อชาท่านสอนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อบวชมาเพื่อเสียสละทุกอย่าง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านพูดกับลูกศิษย์ลูกหาว่า “ทำให้มันดี ถ้าไม่ดีก็ให้มันตาย ถ้าไม่ตายก็ให้มันดี” เรียกว่าสละชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่าง ใช้ความอด ความทน อดกลั้น ประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่ในศีล ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อยู่กับท่าน ท่านกำชับ ต้องดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง

ศิษยานุศิษย์ถ้าปิดหู ปิดตา นอกรีต นอกรอย ท่านอบรมสั่งสอนเข้าวัตร แต่ก่อนมานั่งในศาลาทำเสียงดัง เสียงอะไรก็ไม่ได้ ใส่รองเท้าเข้ามาพวกหนึ่งนั่งอยู่ในศาลา ถ้าได้ยินเสียงรองเท้า ตั๊บๆ ตั๊บๆ ล่ะ หลังจากสวดมนต์ทำวัตร นั่งสมาธิเสร็จ ใครเดินเข้ามาท่านเตือนบอกให้มีสติ ถ้าท่านไม่เตือนไม่บอก เราก็ไม่รู้สึก การนั่งขบนั่งฉันเหมือนกัน บางทีเผลอไป แล้วไปกระทบกระโถน เป๊ง อย่างนี้ท่านตะโกนใส่ก่อน “ไม่มีสติสตังหรือ” ท่านว่าอย่างนี้ ถ้าเข้ามานี่ต้องเตรียม เตรียมมีสตินี่แหละ กลัวถึงขนาดนั้นนะ อยู่กับท่าน

ท่านก็มีความหวังดี ว่ากล่าวตักเตือนลูกศิษย์ลูกหาให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม คุณงามความดี ให้ขยันหมั่นเพียรต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้เดินจงกรม ให้นั่งสมาธิ นอกจากกิจส่วนรวมแล้ว ทำกิจส่วนตัว กลับกุฏิที่พักให้ตื่นทุกเช้า นี่คือข้อวัตร

ช่วงบ่ายแต่ก่อนก็หาบน้ำกัน ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอย่างทุกวันนี้หรอก ทำบ่อน้ำไว้รอบๆ ตามราวป่า บ่ายสามตีระฆัง ก็พากันไปร่วมตักน้ำใส่ตุ่ม ตุ่มฉัน ตุ่มหลังบาตร หามใส่กุฏิครูบาอาจารย์ นอกจากนั้นท่านสอนว่าส่งน้ำเสร็จแล้วให้ออกเดินจงกรม คอระฆังเข้ามาร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น หมุนเวียนอยู่อย่างนั้น ตอนเช้าก็ ตีสาม ลั่นระฆัง แล้วมานั่งรวมกัน นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า พอเลิกแล้วก็ปัดกวาด เช็ดถูหอฉัน จึงออกบิณฑบาต แม้เข้ามารวมกันหลังจากกลับจากบิณฑบาตก็ไม่ให้คุยกัน

แต่ก่อนมีหอฉันเก่าพระ ๕๐ – ๖๐ รูปอย่างนี้น่ะเงียบ คนกรุงเทพฯ เขาลงมาจากรถคุยกัน วัดใหญ่โต ไม่มีพระมีเณรเขาว่า แล้วเขาเดินผ่านไป มีอีกคนเข้ามาส่องดู “โอ้..พระนั่งอยู่นี่..พระเยอะ” เขาว่าทำไมถึงเงียบ ถ้าไม่คุยกันมันก็เงียบ หลวงพ่อชาแต่ก่อนรักษาความเงียบ ความสงบ สงัด อันเป็นข้อวัตร สิ่งที่สำคัญถึงแม้อยู่มากกันถ้าเราไม่พูดไม่คุยกัน ความเงียบก็เกิดขึ้น ถ้ามีเสียงพูดคุยกัน ไม่ต้องมากคนหรอก ๒ คน มันก็เสียงดังลั่นขึ้นมา ดังนั้น ท่านจึงให้มีการสังวร สำรวม รักษาความสงบระงับ ตั้งอยู่ในศีล ในธรรม

วันพระท่านก็สอนให้อยู่เนสัชชิก คือ ไม่นอนตลอดคืน ไม่เอนกายนอน แต่ว่าไปนั่งหลับ มันก็ยังหนึ่งนะ นั่งนอน ไม่เอนกาย ไม่เหยียดยาว ให้ยืน ให้เดิน ให้นั่งอย่างนั้น หาอุบาย ถ้าง่วงก็ออกเดิน เดินแล้วก็มานั่ง เปลี่ยนอิริยาบถอยู่อย่างนั้น ท่านฝึก ท่านสอน ฉันว่าเอาให้มันได้นะเนสัชชิกพยายามทำมาเรื่อยๆ ผู้มีความอดความทนก็ทำมา จิตใจของเรามันก็จะมีกำลังขึ้น วันพระก็ให้พากันทำแบบทำมาแบบนี้ท่านก็สอนท่านั่งตลอดคืน นั่งสมาธิ ก็ลองดูมันจะเหน็บจะปวดเท่าไหร่ก็ลองดู มันปวดถึงที่สุด มันก็บรรเทาเบาบางไป เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถึงที่สุด ปวดถึงที่สุดมันก็หาย เย็นถึงที่สุดก็เหมือนกัน ร้อนถึงที่สุดมันก็เย็นถึงที่สุด นั่งทีแรกๆ มันก็ปวด ปวดก็ให้มันขาด มันจะขาดหรือ ก็นั่งอยู่เฉยๆนี่ ถ้ามันจะขาดก็ให้มันขาดไป ถ้าเราทดลองดูแล้วก็เห็นน้ำหนักของมัน โอ้ มันปวดถึงขนาดนั้นพอถึงที่สุดมันก็เบาบางไป บางทีมันก็เกินไปแล้วหายไปเป็นพักๆ

การเดินจงกรมท่านสอน “ถ้าไม่เคยเดินตลอดคืนก็ลองดู” ท่านว่า เดินทีแรกมันก็เหน็ดเหนื่อย ฟุ้งซ่านรำคาญ พอเดินไปเดินมาหายเหนื่อยไปแล้วมันก็มีความสงบในการเดิน เดินนานพอสมควรมันก็ได้เหมือนกัน มันก็ข้ามทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็ถึงที่สุด มีร้อนถึงที่สุดมันก็มีเย็นถึงที่สุด มีทุกข์ถึงที่สุดมันก็ไม่ทุกข์มันก็มี นั่นแหละมันจะค่อยบรรเทาเบาบางไป อาศัยความอด ความทน

หลวงพ่อชา ได้ชี้แนะแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ ลูกศิษย์ลูกหาก็ได้มาพึ่งพาอาศัยบารมี ท่านแนะนำพร่ำสอน ทั้งพาทำด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่พูดแต่ปาก คนดีแต่พูดไม่เกิดประโยชน์มากเท่าไหร่ ทั้งพูด ทั้งทำ จึงเกิดประโยชน์ทั้ง ๒ อย่าง หลวงพ่อชา ท่านพาลูกศิษย์ลูกหาทำมา เป็นไปด้วยความทุกข์ยากลำบากนานนับประการ ก็ต่อสู้มาโดยไม่ได้ท้อถอย ท่านสั่งว่า “สู้” คำว่าสู้ไม่ถอยนั่นแหละ ตายก็ตาย เป็นก็เป็น เรียกว่าต่อสู้ไม่ถอย หนาวก็พาทำ ร้อนก็พาทำ เหน็ดเหนื่อยก็พาทำ สมกับหลวงพ่อที่พูดกับลูกศิษย์ลูกหาสมัยก่อน “ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ” ท่านว่าไว้ “จะไปอาศัยขยันจริงจะทำ ‘..ไม่ได้..’ ขี้เกียจยิ่งพามันทำ” ขี้เกียจเดินจงกลมยิ่งพามันเดิน เดินมันตลอดคืน มันขี้เกียจนั่งสมาธิ พามานั่งตลอดคืนทำให้จนหายขี้เกียจ เพราะคำพูดของท่านก็เลยต่อสู้กันมาอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ที่ไหน ก็ดีที่ทรงไว้ซึ่งข้อธรรม ขอวินัย เข้าวัตร ข้อปฏิบัติ ไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบาก

จนกระทั้งเจ้าคุณมงคลกิตติธาดา ได้เขียนประวัติเล่มแรกขึ้นจึงมีคนรู้จัก และมาปฏิบัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีหลวงพ่อสุเมโธ เป็นพระชาวต่างชาติรูปแรก จึงเริ่มมีการแยกสาขาขึ้น

ปี พ.ศ.๒๕๑๓ ท่านได้จำพรรษาที่ ถ้ำแสงเพชร (เป็นสาขาหนึ่งของวัดหนองพง)ได้มีโยมจาดเขื่อนสิรินธร ถวายที่เพื่อสร้างวัด (ปัจจุบันคือวัดป่าโพธิญาณ) หลวงพ่อชาจึงได้จัดส่งท่านและพระเณรอีกหลายรูปออกมาบุกเบิกสร้างเสนาสนะ พอเข้าพรรษาหลวงพ่อชาอาพาต จึงกลับไปจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง

ปี พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๖ เริ่มมีพระเยอะขึ้นถึงราวๆ ๕๐ รูป บางครั้งถึงร้อยกว่ารูปจนแออัด ไม่มีที่อยู่ หลวงพ่อชาจึงได้มอบหมายให้ท่านอาจารย์สอบนาค(ผู้ที่ต้องการจะอุปสมบท)จัดตบแต่งบริขาร และเป็นอาจารย์คู่สวดกับหลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธัมโมเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลใกล้ชิดกับหลวงพ่อชา

พ.ศ.๒๕๒๖ เจ้าอาวาสวัดป่าพูนสินมรณภาพ คณะสงฆ์แต่งตั้งให้ท่านไปรักษาการเจ้าอาวาส จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๓๖ รวมเป็นเวลา ๑๐ ปี

ปี พ.ศ.๒๕๓๖ หลังจากบรรจุอัฐิธาตุของหลวงพ่อชา สุภัทโท เสร็จแล้ว คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อชา สุภัทโท สั่งไว้ว่า “ให้ดูแลวัดโพธิญาณไว้ให้ดีต่อไปจะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง”

คัดลอกจากหนังสือ “๗๒ ปี ล่วงไป พระครูโพธิสารคุณวัฒน์ ; พิมพ์เมื่อ มีนาคม ๒๕๕๗

วัดป่าโพธิญาณ เป็นวัดของหลวงพ่อชา ที่ได้พาลูกศิษย์ลูกหาเข้ามาบุกเบิกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ซึ่งเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้นานาพันธุ์และมีสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ ๒,๔๐๐ กว่าไร่ ทางการอนุญาตให้เข้าอยู่ ได้รับแต่งตั้งเป็นวัดโดยถูกต้อง ๑๕ ไร่ ปัจจุบันได้มีการก่อสร้าง พระอุโบสถ และมหาวิหาร หลังเดียวกันทำเป็น ๒ ชั้นกว้าง ๑๘ เมตรยาวรวมทั้งมุก ๕๐ เมตร ซึ่งเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์และเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศลปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งพระเจ้าพระสงฆ์และคณะญาติโยมทั้งหลาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง เสร็จไปแล้วประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน หลวงพ่อบุญชู ฐิตคุโณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าโพธิญาณ (วัดเขื่อน) (สาขาที่ ๘ ของวัดหนองป่าพง) บ้านอ่างประดู่ ต.ช่องเม็ก อ.สิริธร อ.อุบลราชธานี เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๘ ปี พรรษา ๕๘ (พ.ศ.๒๕๖๓)

◎ โอวาทธรรม หลวงปู่บุญชู ฐิตคุโณ

“.. สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ จะยากดีมีจน ปราณีตหรือเลวอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งความจริงของธรรมะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งย่อมบ่งบอกถึงความเป็นอนิจจัง ความตั้งอยู่ไม่ได้เป็นสภาวะของทุกขัง ความแตกสลายไปในที่สุด เป็นสภาวะของ อนัตตา

ความเปลี่ยนแปลงของสภารูปขันธ์ ย่อมปรากฏเด่นชัดขึ้น เด่นชัดขึ้นไปสู่สัจธรรม โดยเฉพาะ ชรา พยาธิ ที่ปรากฏให้เห็นทางมังสะจักษุ แม้กระนั้น จะมีกี่มากน้อยคน ที่จะน้อมไปสู่ปัญญาจักษุได้ ดังนั้น การพิจารณาบ่อยๆถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย จึงเป็นอุบายให้เกิดปัญญาจักษุขึ้นมาได้..”

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน