ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บัว เตมิโย
วัดหลักศิลามงคล
อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
พระอาจารย์บัว หรือ หลวงปู่บัว เตมิโย นี้ท่านเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านพระเถระผู้อาวุโส แห่งยุคคือ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
แต่ตอนบวชเป็นพระท่านเป็นศิษย์สําคัญ ที่ หลวงปู่จันทร์ เขมิโย แห่งวัดเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม มาก่อน
หลวงปู่บัวท่านเป็นพระภิกษุ ผู้มีประสบการณ์มากมายหลายด้าน นับตั้งแต่สมัยแรกที่ยังเป็น ฆราวาส
ชีวิตแรกของท่านก่อนเข้าสู่ทางธรรมนั้น นับได้ว่าโลดโผน โชกโชนมากในเรื่องเวทวิทยาอาคมขลัง เพราะแต่เล็กแต่น้อยท่านฝักใฝ่ หาครูบาอาจารย์ที่เก่งทางด้านเวทมนตร์
“แล้วชีวิตที่มีความมานะพยายาม จึงเป็นไปได้ดังความปรารถนาอย่างสิ้นสงสัย
หลวงปู่บัว เตมิโย ท่านมี นามเดิมว่า บัว ศรีอาจ เกิด ณ บ้านทุ่งฮี ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ในหลักฐานท่านเกิดนั้น ตรงกับวันอังคารที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘
บิดาชื่อ นายสุ มารดาชื่อ นางคูน มีพี่น้องร่วมสายเลือด ๕ คน ท่านเป็นคนสุดท้อง
อายุได้ ๗ ปี บิดาเสียชีวิต มารดาจึงนําไปฝากไว้กับ พระอาจารย์ทอง ให้เป็นเด็กวัดและเล่าเรียนหนังสือ
เมื่อออกพรรษาอาจารย์ทอง ก็ได้นําออกเดินธุดงคกรรมฐาน โดยการติดตามไปทุกแห่ง ไป ประเทศลาว เขมร
ซึ่งก็เป็นการฝึกฝนอบรม ให้เกิดความกล้า และมีประสบการณ์เป็นพื้นฐานของจิตใจก้าว แรกของชีวิต
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ก็ได้บวช เป็นสามเณร โดยท่านพระอาจารย์ทอง ภูริปัญโญ เป็นผู้บวชให้
เมื่อบวชแล้ว ก็ยังติดตามออก เดินธุดงค์อยู่เสมอ ได้ไปพบเห็นสิ่ง แปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งท่านพระอาจารย์ทอง ท่านได้นําไป
โดยเฉพาะได้พบได้กราบพระเถระผู้ใหญ่หลายองค์ จดจําประเพณีปฏิปทาดังกล่าวได้อย่างแม่นยํา
อายุได้ ๒๑ ปี พระอาจารย์ทองได้นําไปอุปสมบท ณ วัดเทพประดิษฐาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดย ท่านหลวงปู่จันทร์ เขมิโย เป็นพระอุปัชฌาย์ (ครั้งที่เป็นพระครูสารภารมุนี) และ ท่านพระมหาพรหมมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ได้รับฉายา “เตมิโย ภิกขุ”
แล้วเดินทางกลับ วัดหลักศิลามงคล หลังจากนั้นเพียง ๙ วัน ท่านได้เดินทางไปขอปฏิปทาพระกรรมฐานกับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
ครั้งนั้นท่านอยู่จําพรรษา ณ วัดป่าเกาะแก้วพิสดาร และได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน ๑ พรรษา
เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่บัวได้กราบลาหลวงปู่เสาร์ เดินธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตลอดเวลา ๒ พรรษา หลวงปู่บัว เตมิโย ท่านได้ศึกษาหาความรู้ ด้วยการทุ่มเทชีวิตจิตใจอย่างหนัก เพื่อได้มาซึ่งความรู้จริงในธรรมะ
ความอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย จนที่สุด กาย วาจา ใจ ถูกสํารวม ด้วยความบริสุทธิ์แล้ว จึงสามารถดําเนินตามวิถีแห่งเพศสมณะได้แล้ว และเอาตัวรอดได้
เมื่อถึงขั้นนี้ หลวงปู่มั่น ท่านก็อนุญาตออกเดินธุดงค์มุ่งสู่วิโมกขธรรมด้วยตนเองต่อไป
หลวงปู่บัว เตมิโย ได้กราบลาหลวงปู่มั่น ผู้เป็นพระอาจารย์ แล้วก็ข้ามโขงไปประเทศลาว เพราะประเทศลาวมีป่าเขามากมาย มีถ้ำคูหาที่เหมาะแก่การบําเพ็ญ ภาวนา
เมื่อท่านไปอยู่ประเทศลาว ท่านก็ได้เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนหมู่นั้น
ด้วยคนลาวที่แขวงคําม่วน (ท่าแขก) และที่สะหวันนะเขต ต่างก็ยกย่องท่านว่าเป็นพระผู้มีปฏิปทาอันน่าเคารพบูชายิ่ง
ทุกคนให้ความเคารพต้อนรับ ท่านด้วยจิตใจศรัทธาเต็มเปี่ยม
หลวงปู่บัว เตมิโย ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้มีจิตเมตตาสูงส่งมาก ท่านมีความสงสารมนุษย์ที่เกิดมา ท่านมองเห็นความจริงแล้วว่าความ เกิดนั้นเป็นทุกข์เพราะ
“โลกคือหมู่สัตว์ ถูกความชรานําไปไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรต้านทานป้องกันความชราไว้ได้
หมู่สัตว์ก็ไม่มีอะไรเป็นของ ตนย่อมจะต้องสละละทิ้งไปเสีย จนหมดสิ้น
โลกคือหมู่สัตว์ที่พร่องอยู่ เป็นนิตย์ จะปรนเปรอถมเทสักเท่าไรก็ไม่เต็ม
ด้วยหมู่สัตว์เป็นทาสตกอยู่ ภายใต้อํานาจของตัณหา”
หลายสิบปีที่หลวงปู่บัว เตมิโย ได้มุ่งสู่วิโมกขธรรม อาศัยป่าดงพงไพรเป็นวิทยาลัยธรรม แห่งชีวิต และตลอดเวลาธรรมะทั้งหลาย ได้หลั่งไหลเข้าสู่จิตใจจนเต็มเปี่ยม ท่านจึงเดินทางกลับถิ่นกําเนิด
บรรดาญาติโยมทั้งหลาย ต่างก็รู้ข่าวการกลับมา จึงพร้อมใจกันไปนิมนต์ท่านกลับมายังบ้าน เกิดเมืองนอน
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่บัว ท่านอาพาธด้วยโรคนิ่วในไต ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง
กระทั่งวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๑ เวลา ๐๘.๐๐ น. หลวงปู่บัว ได้มรณภาพลง อย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สิริอายุ ๗๕ ปี พรรษา ๕๓