ประวัติและปฏิปทา
(พระราชพุทธิมงคล) หลวงปู่ทองบัว ตันติกโร
วัดป่าโรงธรรมสามัคคี
อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
หลวงปู่ทองบัว เกิดเมื่อ วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา (ตรงกับวันมาฆบูชา) เวลา ๖.๐๐ น. ที่บ้านหนองผักแว่น ตำบลห้วยโปร่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัด ลพบุรี ในสกุล “บุตรศรี” แต่ครั้งเมื่อไปแจ้งที่อำเภอทางอำเภอเขียนผิดเป็น “พุทธศรี” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นศรีหรือมิ่งขวัญแก่บวรพุทธศาสนา ตั้งแต่บัดนั้นมา
โยมบิดาชื่อนาย โมทย์ โยมมารดาชื่อ นางสีดา มีพี่น้องร่วมท้องกัน ๑๒ คน เป็นชาย ๖ คน หญิง ๖ คน ส่วนท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ เมื่ออายุได้ ๖-๗ ขวบ โยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ยังจังหวัดขอนแก่น และเมื่ออายุได้ ๙ ขวบ จึงได้ไปเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนบ้านยางคำวิทยาทาน วัดสวรรค์คงคา บ้านยางคำ จนจบชั้นประถม เมื่อจบเรียนแล้ว ได้บวชเป็นผ้าขาวรักษาศีลอุโบสถ บริโภคอาหารวันละมื้อเดียว นุ่งขาวห่มขาว และบำเพ็ญสมาธิ ติดตามกับพระภิกษุพี่ชายจนออกพรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ เมื่ออายุของท่านได้ ๑๘ ได้บวชเป็นสามเณร โดยมีท่านเจ้าคุณพระพิศาลคณานุกิจ ศิษย์พระอาจารย์มั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้บำเพ็ญสมณธรรมกัมมัฐฐาน หัดวิปัสสนาเป็นเวลา ๓ ปี กับพระอาจารย์ท่านเจ้าคุณพิศาลคณานุกิจ เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านหลวงปู่ทองบัว มีอายุได้ ๒๑ ปีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ผู้เป็นอาจารย์นำตัวไปฝากอุปสมบท ณ วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (พระอาจารย์มั่นเคยจำพรรษาอยู่) โดยมีพระพิศาลคณานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ มี ท่านอาจารย์ตาล เป็นพระกรรมวาจารย์ เมื่ออุปสมบทเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองแวง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ได้เรียนปริยัติธรรมและกรรมฐานควบคู่กันไป จนจบชั้นนักธรรมเอก
ภายหลังพระอาจารย์มั่น กลับออกจากเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ และเดินทางกลับสู่ภาคอีสาน สู่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในปี พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖ ได้พักจำพรรษาที่วัดสำนักป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นที่สงบวิเวกดีมาก โอกาสนี้เองที่ พระอาจารย์ทองบัว ตันติกโร ได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ณ สำนักป่าบ้านนามนนั่นเอง ได้ศึกษาฟังธรรมเทศน์ธรรมและฝึกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังได้ฝึกบำเพ็ญกรรมฐานร่วมกับ พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต (อดีตจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง) , พระอาจารย์ชอบ ฐานะสโม , และ พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม
นอกจากได้เรียน ปฏิบัติกรรมฐานจากพระอาจารย์มั่น แล้ว ยังมีโอกาสธุดงค์ติดตามท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ไปจังหวัดนครพนม และได้ธุดงค์ไปดอยเก้า กุฉินนารายณ์ สถานที่อันศักสิทธิ์กับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ แม้แต่พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ศิษย์องค์แรกของพระอาจารย์มั่น ก็มีความเอ็นดูพระอาจารย์ทองบัวมาก ครั้งหนึ่งพระอาจารย์สิงห์เคยหยอกล้อ โดยใช้มือขวาของท่านลูบคางพระอาจารย์ทองบัว เมื่อในปี พ.ศ.๒๔๘๕ พระอาจารย์ทองบัวยังได้มีโอกาสศึกษากรรมฐานกับพระอาจารย์กงมา และภายหลังในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ยังมีโอกาสศึกษากรรมฐานกับพระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และพระอาจารย์สิม พุทธจาโร ผลแห่งการบำเพ็ญภาวนารักษาศีล ปฏิบัติวิปัสสนา กัมมาฐานเป็นเวลานานถึง ๓๔ ปี (ในตอนนั้น) จึงได้มีสมาธิที่แก่กล้า อีกทั้งความมานะบากบั่นในการบำเพ็ญภาวนา ดังนั้นจึงต้องถูกนิมนต์ไปนั่งปรกบริกรรมภาวนาในพิธีพุทธาภิเษกเสมอมามิได้ขาด
กิตติศัพท์ชื่อเสียงของพระอาจารย์ทองบัว ในการอฐิธานจิตในวัตถุมงคลใดแล้วเล่าจะบังเกิดสิ่งมหัศจรรย์แก่ผู้ที่ศรัทธา พุทธคุณในด้าน แคล้วคลาดและเมตามหานิยมสูง บ่อยครั้งที่มีการสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลของสายวัดป่า อาทิพระเครื่องหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญญมากโร วัดป่าหมู่ใหม่ พระเครื่องหลวงปู่สิม พระเครื่องหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ และอื่นอีกมากมาย ท่านก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะไม่ร่วมอธิฐานจิตหรือจารแผ่นยันต์ หรือเสกมวลสารเลย
หลวงปู่บัวทอง ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโรงธรรมสามัคคีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา ตลอดใต้ร่มกาสาวพัตร หลวงปู่ท่านได้ถือเพศบรรพชิต นับตั้งแต่นาทีแรกของการบรรพชาอุปสมบท จนถึงปัจจุบัน ปฎิบัติข้อวัตรตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ครูอาจารย์ได้ประพฤติเป็นแนวทางไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตร สวดมนต์ บำเพ็ญภาวนาปฎิบัติศาสนกิจส่วนตนและส่วนรวม ท่านทำไม่เคยจนตราบจนถึงวันที่ท่านได้ละสังขาร
หลวงปู่ทองบัว ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโรงธรรมสามัคคีมาตั้งแต่ต้น ท่านได้ริเริ่มสร้าง พระเจดีย์โพธิปักขิยธรรม เป็นเจดีย์ที่มีรูปร่างแปลกไปจากที่อื่น มีความหมายถึงการนำไปสู่การตรัสรู้ ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, มรรคมีองค์ ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยฐานเจดีย์เป็นทรงกลม ภายในประกอบด้วยห้องสมุด ห้องแสดงศิลปวัตถุ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด และพระพุทธรูปต่างๆ ชั้นสูงสุดเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ อายุ ๘๔ ปี หลวงปู่ทองบัวได้นำพาคณะศรัทธาญาติโยมก่อสร้าง วิหารหลังใหญ่สองชั้น แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากหลวงปู่อาพาธ ทำให้ครอบครัวในตระกูลชินวัตร คณะศิษยานุศิษย์ และพระครูจิตติภัทราภรณ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ร่วมกันสร้างวิหารสองชั้นสืบต่อมา
ลำดับสมณศักดิ์และหน้าที่ทางคณะสงฆ์
ปี พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิมลคณาภรณ์
ปี พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิมลธรรมญาณเถร
ปี พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพุทธิมงคล
ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) ก่อนเกษียณอายุทางพระสังฆาธิการ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฯ
หลวงปู่ทองบัว ตันติกโร (พระราชพุทธิมงคล) ท่านได้มรณภาพลง ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ จวบได้ ๙๐ ปี ๖๘ พรรษา (ตรงกับวันวิสาขบูชา) ซึ่งหาเปรียบพระเกจิอาจารย์องค์ใดรูปใดได้ เกิด วันมาฆบูชา ละสังขาร วันวิสาขบูชา
เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก
หลวงปู่ทองบัว นับว่าเป็นพระเถระคณาจารย์ผู้เรืองวิทยาคุณสูง ทรงศีลาจารวัตรเคยปฎิบัติ บำเพ็ญสมาธิ วิปัสนากัมมัฏฐานเป็นเวลาช้านานมากว่า ๗๐ ปี อีกทั้งมีจิตบริสุทธิ์ทรงพลังแข็งแกร่ง ดังนั้นวัตถุมงคลที่ท่านนั่งปรกบริกรรมปลุกเสกอธิษฐานจิตแผ่พลังเมตตาลงไปในเหรียญนั้นจึงดีเด่น มีพุทธคุณสูงทางด้านเมตตามหานิยม เหรียญนำโชคลาภมหาศาลอาจดลบันดาลให้มีโชคดีราวปาฎิหาริย์ เหรียญดังกล่าวนั่นก็คือ “เหรียญสรรพสิทธิโชค” รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งเหรียญรุ่นนี้แกะบล็อคโดย นายช่างเกษม มงคลเจริญ ซึ่งมีฝีมือแกะเหรียญได้งามเลิศเป็นอันดับหนึ่งในขณะนั้น ซึ่งจำนวนที่สร้างมีดังนี้
กำเนิดของเหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๘ โดยคณะกรรมการจัดสร้างเหรียญนำโดยท่าน พลตรี เอนก สืบวงศ์แพทย์ – คุณนายอุบลวรรณ (บัวเที่ยง ) สืบวงศ์แพทย์ บุตรีคุณแม่บัวเขียว พรหมชนะ, พ.อ.นิวัติ หีบทอง, พ.ต.อ.ภมร ชัยศิริ, อาจารย์ถาวร แก้วญานะ บุตรชายนายซาว แก้วญานะ ผู้ร่วมแรงสร้างกุฏิศาลาถวาย พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ นอกจากนี้ ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญยิ่ง นำเหรียญจำนวนกว่าสองหมื่น เดินทางจากกรุงเทพฯนำไปให้ พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร วัดโรงธรรมสามัคคี ศิษย์พระอาจารย์มั่น เมตตาทำพิธีนั่งปรกปลุกเสกเหรียญนี้จนสำเร็จ บุคคลสำคัญผู้แบกภาระขนส่งเหรียญชุดนี้ก็คือ ครอบครัวนายพลอากาศตรี พีระพงษ์-อนงค์นุช ภูยานนท์ บุตรีคุณนวลอนงค์ แก้วญานะ อดีตนางสาวเชียงใหม่ และนางงามสันกำแพง ปี พ.ศ.๒๕๐๐
ลักษณะเหรียญที่มีชื่อว่า เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก เป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว มีขนาดกว้าง ๒.๕ ซม. สูง ๓.๓ ซม. หนาราว ๑ มิลลิเมตรเศษ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
ด้านหน้า เป็นภาพครึ่งองค์หน้าตรงของหลวงพ่อทองบัว ตนฺติกโร เจ้าอาวาส วัดโรงธรรมสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นศิษย์เอกหนึ่งใน ๑๐๘ องค์ สายกองทัพธรรมอันลือชื่อของ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺตเถระ ปรมาจารย์ด้าน วิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อยังมีชีวิตเคยสร้างคุณงามความดีนานัปการ สมัยเมื่อราวปี ๒๔๗๐ นานร่วมร้อยปีมาแล้ว ท่านเกิดปี พ.ศ.๒๔๑๓ และมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒
ส่วนด้านล่างริมขอบเหรียญเป็นลวดลายไทยที่ผูกขึ้นเป็นรูปดอกบัวชูช่ออยู่ตรงกึ่งกลาง และมีกลีบบัวคลี่ขยายเป็นลายกนกโอบโค้งควบขนาบทั้งสองฟากของเหรียญนี้ บรรจงแกะขึ้นอย่างประณีตอ่อนช้อยงดงามยิ่ง สมกับเป็นฝีมือครูช่างแกะบล็อก นายช่างเกษม มงคงเจริญ สุดยอดฝีมือแกะเหรียญพระคณาจารย์ชื่อดังแห่งยุค ๓๐ ปีก่อน
ส่วนด้านหลังเหรียญ กึ่งกลางมียันต์เฑาะว์ ขัดตะหมาดวนสามรอบมียอดอุณาโลม มีคาถากำกับสองข้างเป็นตัวขอม อ่านว่า นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา
ส่วนรอบๆ ริมขอบเหรียญมีตัวหนังสือไทย อ่านว่า พระครูวิมลคณาภรณ์ ( พระอาจารย์ทองบัว ตนฺติกโร ) วัดป่าโรงธรรมสามัคคีอ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และตรงกึ่งกลางมีชื่อเหรียญว่า เหรียญสรรพสิทธิโชค
ผู้ริเริ่มสร้างเหรียญ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๗ คณะผู้จัดสร้าง เหรียญสรรพสิทธิโชค รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ขออนุญาต ท่านพระครูวิมลคณาภรณ์ ( ทองบัว ตนฺติกโร ) สร้างเหรียญชนิดต่างๆ ขึ้น ดังนี้คือ
๑. เหรียญสรรพสิทธิโชคเนื้อทองคำหนักราว ๒๗ กรัม จำนวน ๙ เหรียญ มีเลข ๑-๙ กำกับ
๒. เหรียญสรรพสิทธิโชคเนื้อเงิน จำนวนการสร้าง ๒๙๙ เหรียญ
๓. เหรียญสรรพสิทธิโชคเนื้อนวะ จำนวนการสร้าง ๖๙๙ เหรียญ
๔. เหรียญสรรพสิทธิโชคเนื้อทองแดงกละไหล่ทอง จำนวนการสร้าง๑๙๙๙ เหรียญ
๕. เหรียญสรรพสิทธิโชคทองแดงรมดำ จำนวนการสร้าง ๙๙๙๙ เหรียญ
จากจำนวนทั้งสิ้นนี้ยังมี ชุดกระเป๋าเพื่อจัดเป็นชุดหากมีผู้ที่ต้องการบูชาเป็นชุด คาดว่าไม่น่าเกิน ๑๐๐ ชุด และยังมีเหรียญทองแดงผิวไฟอีกจำนวน ๑๕๐๐ เหรียญ และผ้ายันต์สรรพสิทธิโชคอีกราว ๓๐๐ ผืน ล็อกเก็ตอีก ๓ อัน
หัวหน้าคณะกรรมการจัดสร้างมี พลตรี เอนก สืบวงศ์แพทย์, พ.ต.อ.ภมร ชัยศิริ, พ.อ.นิวัติ หีบทอง, คุณแสวง ปร่ำนาค และผู้เขียน
ครั้นนายช่างเกษม มงคลเจริญ แกะบล็อกและปั๊มเหรียญครบถ้วนตามจำนวนดังกล่าวแล้ว ก็นำเหรียญไปเข้า พิธีพุทธาภิเษก ณ พระวิหาร (อุโบสถ) วัดโรงธรรมสามัคคี เลขที่ ๕๖ หมู่ที่ ๗ อำเภอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยท่านพระครูวิมลคณาภรณ์ (ทองบัว ตนฺติกโร) เจ้าอาวาสวัดมีเมตตาทำพิธีนั่งปรกปลุกเสกให้เรียบร้อยสมบูรณ์ครบถ้วนดีทุกประการ และได้อาราธนาพระสงฆ์ ๙ รูป เจริญสวดชัยมงคลคาถาพรมน้ำพระพุทธมนต์จนเสร็จพิธีการนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ พร้อมทั้งให้มงคลนามแก่เหรียญดังกล่าวนี้ชื่อว่า เหรียญสรรพสิทธิโชค มีพุทธคุณดีเด่นทางโชคลาภมีทรัพย์สินทวีคูณ อีกทั้งเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดภัยอันตรายทั้งปวง ท่านยังประสาทพรให้บังเกิดความสุขสวัสดี และอำนวยโชคลาภแก่ผู้เลื่อมใส หากมี เหรียญสรรพสิทธิโชค ไว้พกพาใช้บูชาประจำตัวสืบไปตลอดกาลนาน ท่านมีวาจาสิทธิ์ประสิทธิพรมงคล ว่าดังนี้
สิทธิกิจจัง สิทธิวาจัง สิทธิกัมมัง
สิทธิอริยะ ตถาคัตโต สิทธิเตโชโยนิจจัง
สิทธิลาโภ นะรันตะรัง
สัพพะสิทธิ ประสิทธิเต
อนึ่ง มีเรื่องน่าพิศวงเกี่ยวกับพุทธคุณเหรียญนี้มีประสบการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ มีหลักฐานยืนยันว่าหลายรายที่เคยมีฐานะย่ำแย่ ก็พลันมีฐานะการเงินกระเตื้องขึ้นราวปาฏิหาริย์ กลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน ชาวสันกำแพงและเชียงใหม่ จึงพากันกล่าวยกย่องเหรียญนี้ว่า เหรียญเงินล้าน
พุทธคุณเด่นของเหรียญรุ่นแรก ดีเด่นทางด้านโชคลาภ ทำให้ฐานะการเงินกระเตื้องขึ้นได้แทบไม่น่าเชื่อ เคยเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามามากราย ว่าดลบันดาลให้บังเกิดโชคดีมหาศาล ดุจดังบุญหล่นทับนั่นเทียว ผู้ใดมีเหรียญรุ่นแรกนี้ จงเก็บบูชาไว้เถิด จักบังเกิดโชคลาภให้เห็นผลประจักษ์ได้แน่นอน สมกับคำอวยพรว่า สรรพสิทธิโชค ที่หลวงปู่ท่านได้แต่งชื่อเหรียญรุ่นนี้ไว้