วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก พระอริยเจ้าผู้มีปฏิปทาประดุจเสือโคร่ง

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

วัดอรัญญวิเวก
อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า จ.นครพนม

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม นามเดิมชื่อ ตื้อ นามสกุล ปาลิปัตต์ ท่านเป็นตระกูล ชาวนา ถือกําเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ํา เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๕๐ ณ บ้านข่า ตําบลบ้านข่า อําเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

บิดาชื่อ นายปา ปาลิปัตย์

มารดาชื่อ นางปัตต์ ปาลิปัตย์

มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ชาย ๕ คน หญิง ๒ คนคือ

๑. นางคํามี ปาลิปตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๒. เป็นชาย (ถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่ยังเด็ก)

๓. นายทอง ปาลิปตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๔. นายบัว ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๕. หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (มรณภาพแล้ว)

๖. นายตั้ว ปาลิปัตต์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

๗. นายอั้ว ที่สุกะ (ถึงแก่กรรมแล้ว)

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า จ.นครพนม

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เป็นผู้มีนิสัยรักความสงบ เข้าเป็นศิษย์วัดตั้งแต่ยังเด็ก และ ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา มีนิสัยตรงไปตรงมา และเป็นที่น่าสังเกตว่าในเครือญาติของท่านใฝ่ใจในการบรรพชาอุปสมบททั้งนั้นและถ้าเป็นหญิงก็ เข้าบวชชีตลอดชีวิต

สําหรับหลวงปู่ตื้อ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อมีอายุได้ ๒๑ ปี บวชครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย บวชนานถึง ๑๙ พรรษา ต่อมาได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จนถึงวาระสุดท้ายได้ ๔๖ พรรษา สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี ๖๕ พรรษา

ก่อนที่หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม จะออกบวชเป็นพระภิกษุนั้น ท่านได้เกิดนิมิตอันดีงามแก่ตัวท่านเอง คือก่อนคืนที่ท่านจะออกบวชนั้น กลางคืนท่านได้นิมิตฝันว่า ได้มีชีปะขาว ๒ คนเข้ามาหาท่าน คนหนึ่งแบกครกหิน อีกคนหนึ่งถือสากหิน มาหยุดอยู่ตรงหน้าท่าน แล้ววางครกและสากลง คนแรกได้พูดว่า

“ไอ้หนู เจ้ายกสากหินนี้ออกจากครกได้ไหม ?”

หลวงปู่ตื้อตอบว่า “ขนาดต้นเสาใหญ่ผมยังแบกคนเดียวได้ ประสาอะไรกับของเพียงแค่นี้”

แล้วท่านก็เดินเข้าไปพยายามยกเท่าไรๆ ก็ไม่สําเร็จ จนถึงวาระที่ ๓ จึงสามารถยกสากหินนั้นขึ้นได้

เมื่อยกได้แล้วก็ได้เอาสากหินนั้นตําลงที่ครก และตําเรื่อยไปมองดูที่ครกเห็นมีข้าวเปลือกเต็มไปหมด ท่านจึงได้พยายามตําข้าวเปลือกเหล่านั้นจนกลายเป็นข้าวสารไปหมด แล้วชีปะขาวก็หายไป

เมื่อชีปะขาวหายไป จากนั้นปรากฏว่าได้มีพระเถระ ๒ รูป มีกิริยาอาการน่าเคารพเลื่อมใสมาก ทั้งมีร่างกายเป็นรัศมี ท่านนึกว่าเป็นพระอริยเจ้าผู้วิเศษ เดินตรงมาหาท่านแล้วพูดเบา ๆ ว่า

“หนูน้อย เจ้ามีกําลังแข็งแรงมาก”

พอดีท่านรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วนั่งทบทวนพิจารณาถึงความฝันที่ผ่านมา เห็นเป็นเรื่องแปลก และพิสดารมาก คิดว่านิมิตเช่นนี้จะทําให้เกิดอะไรขึ้นบ้างหนอ คิดแต่เพียงว่าคงจะมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น กับท่านแน่

ท่านคิดได้แค่นี้ก็ระลึกถึงคําสั่งของบิดาว่า ได้สั่งให้ไปต้อนควายจากท้องทุ่งให้เข้ามาหากินอยู่ใกล้ๆ บ้าน ท่านจึงได้ลุกออกจากบ้านไปต้อนไล่ควายมาเลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ บ้านแต่ในใจก็ยังนึกถึง ความฝันเมื่อคืนนี้อยู่

เป็นเพราะหลวงปู่ตื้อมีนิสัยรักความสงบอยู่แล้วจึงคิดขึ้นมาว่า สมควรที่เราจะต้องบวชเพื่อประพฤติธรรมดูบ้าง คิดว่าวันพรุ่งนี้เราจะต้องออกไปอยู่วัดอีก เพื่อจะได้บวชเป็นพระภิกษุ แล้วจะได้มีโอกาสประพฤติธรรมอย่างจริงจังบ้าง และก็เป็นเช่นที่คิด พอรับประทานอาหารเย็น วันนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว บิดาท่านก็บอกว่า

“กินข้าวอิ่มแล้วให้รีบไปหาปู่จารย์สิมที่บ้าน ปู่จารย์สิมมาตามหาเจ้าตั้งแต่กลางวันแน่ะ”

หลวงปู่ตื้อนึกสงสัยว่าจะมีเรื่องอะไรก็ไม่ทราบ จึงรีบไปหาปู่อาจารย์สิมทันที

(คําว่า พ่ออาจารย์, ปู่จารย์, หมายถึง ผู้ชายที่ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุมาก่อนหลายพรรษา และได้เล่าเรียนวิชาจนมีความรอบรู้พอสมควร เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป แต่ต่อมาได้สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส)

เมื่อไปถึงบ้านปู่จารย์สิมเรียบร้อยแล้ว ปู่จารย์สิมเปิดประตูข้างในเรือนและเรียกให้ท่านเข้าไปหา พอท่านเข้าไปในห้อง เห็นมีผ้าไตรจีวร บาตร และเครื่องบริขารสําหรับบวชพระ แล้วปูจารย์สิม

ก็ยื่นขันดอกไม้ที่เตรียมเอาไว้ให้พร้อมกับพูดว่า

“เห็นมีแต่หลานคนเดียวเท่านั้นที่สมควรจะบวชให้ เพราะปู่ได้เตรียมเครื่องบวชไว้เรียบร้อยแล้ว แต่หาคนบวชไม่ได้ จึงให้หลานได้บวชให้รู้ สัก ๑ พรรษา หรือได้สัก ๗ วันก็ยังดี ขอให้บวชให้ปก็เป็นพอ จะนานเท่าไรก็ได้ไม่เป็นไร”

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

หลวงปู่ตื้อได้รับปากกับปู่จารย์สิมซึ่งเป็นปู่ของท่านทันที แต่ขอไปบอกลาบิดามารดาเสียก่อน เมื่อบิดามารดาอนุญาตให้ก็จะได้บวชตามที่ปู่จารย์สิมต้องการ

บิดามารดาของท่านเมื่อได้ยินลูกชายเล่าให้ฟังเช่นนั้น ก็อนุญาตตามที่ปู่จารย์สิมขอ พร้อมกับกล่าวคําอนุโมทนาสาธุการ แสดงความยินดีกับลูกชายเป็นอย่างยิ่ง

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่อหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้บวชแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปอยู่เป็นศิษย์วัด อยู่ต่อมาจนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ แต่ในบันทึก ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าท่านบวชที่ไหนและบวชกับใคร ท่านบอกว่าท่านบวชกับพระอุปัชฌาย์คาน อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม แล้วก็กลับไปจําพรรษาที่วัดบ้านข่า ซึ่งเป็นบ้านเดิม เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามอุปนิสัยที่ท่านถนัดอยู่แล้ว นิสัยของท่านชอบการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย อันเป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก

เมื่อท่านบวชครบ ๗ วัน แล้วปู่จารย์สิมได้มาหาท่านที่วัดถามถึงเรื่องที่จะสึกหรือไม่สึก ถ้าสึกจะหาเสื้อผ้ามาเตรียมไว้ให้ ท่านก็สองจิตสองใจใคร่สึกบ้าง ไม่สึกบ้าง แต่มาคิดได้ว่า ถ้าสึกตอนนี้ชาวบ้านจะพากันเรียก ไอ้ทิต ๗ วัน รู้สึกอับอาย จึงบอกปู่จารย์สิมว่า

“อาตมายังไม่อยากสึก ขออยู่ไปก่อน รอให้ออกพรรษาก่อนเถิด”

ท่านก็บวชอยู่ได้ครบพรรษาหนึ่ง ท่านหัดท่องหัดสวดเจ็ดตํานาน สิบสองตํานานจนขึ้นใจ

พอออกพรรษาเรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีกเดือนเศษ ๆ ปู่จารย์สิมก็มาหาท่านอีกและถามท่านว่าจะสึกหรือไม่ ท่านก็ทําเฉยเสีย เพราะรู้สึกใจคอท่านสบายดีอยู่ ถ้าหากสึกไปแล้ว การเล่าเรียนพระธรรมก็ยังไม่ไปถึงไหนเลย แค่อาราธนาศีล ๕ ศีล ๘ อาราธนา เทศน์ยังทําไม่ได้คล่องแคล่ว เมื่อสึกออกไปถูกเขาไหว้วานให้อาราธนา ถ้าว่าไม่ได้จะอายเขาเปล่า ๆ

ต่อมาท่านได้เดินทางเพื่อไปศึกษาวิชาธรรมะในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกกันว่า “เรียนสนธิ์ เรียนนาม มูลกัจจายน์” อันเป็นวิชาที่เรียนได้ยากในสมัยนั้น ถ้าหากใครเรียนได้จบตามหลักสูตร เรียกกันว่า “นักปราชญ์” เป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้เดินทางไปเรียนที่ วัดโพธิ์ชัย อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม การเดินทางไปมีความลําบากมากทางคมนาคมไม่สะดวกเลย ต้องเดินไปด้วยเท้า (ระยะทางประมาณ ๕๑ กิโลเมตร) สํานักเรียนวัดโพธิ์ชัยมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เพราะมีอุปัชฌาย์คาน เป็นเจ้าสํานักเรียน

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโมได้เข้าศึกษาเล่าเรียนวิชาบาลีสนธิ์นาม และมูลกัจจายน์ในสํานักวัด โพธิ์ชัยนี้ด้วยความสนใจเป็นเวลานานถึง ๔ ปีเต็ม จึงจบตามการสอนของสํานักเรียน และได้ถือโอกาสกราบเรียนลาท่านพระอาจารย์ผู้เป็นเจ้าสํานักเรียน กลับสํานักเดิมคือ วัดบ้านข่า

เมื่อท่านกลับมาอยู่วัดได้ ๓ วันเท่านั้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะนิสัยที่ท่านใฝ่ใจในธรรม ชอบ ศึกษาค้นคว้าในคําสอนของพระพุทธเจ้าท่านจึงได้เดินทางออกจากบ้านเพื่อจะไปเรียนพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นแหล่งที่มีการศึกษาเจริญที่สุดได้ชักชวนพระภิกษุรูปหนึ่งในวัด ออกเดินทางจากวัดเดิมธุดงค์มุ่งหน้าไปยัง จังหวัดอุดรธานีก่อนค่ําไหนก็พักจําวัดทําสมาธิภาวนาที่นั่น เป็นเวลาหลายวันจึงถึงอุดรธานี

แต่พอเดินทางถึงจังหวัดอุดรธานี พระภิกษุที่เป็นเพื่อนเดินทางเกิดเปลี่ยนใจเพราะคิดถึงบ้านอยากจะกลับบ้านไม่ยอมไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ตามที่ตั้งใจเอาไว้ ถึงแม้จะพูดอย่างไรก็ตามก็ไม่ยอม คิดแต่จะกลับบ้านอย่างเดียว ท่านต้องเป็นเพื่อนเดินทางกลับไปส่งพระรูปนั้นกลับบ้านข่า ถึงแค่อําเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แล้วท่านจึงเดินทางกลับมายังวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานีอีก แต่สมัยนั้นวัดโพธิสมภรณ์ หรือแม้จังหวัดอุดรธานีก็ยังเป็นป่ายังไม่ได้พัฒนาให้เจริญเหมือนอย่างทุกวันนี้

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เมื่อได้เดินทางกลับมาถึงจังหวัดอุดรธานีคราวนี้ ท่านได้เปลี่ยนใจ จากการไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร เป็นการออกปฏิบัติธรรมกรรมฐานแทน ท่านกล่าวว่า

“การออกเดินธุดงค์ เป็นการเดินทางเส้นตรงต่อการบรรลุธรรมอย่างแท้จริง”

เมื่อได้เปลี่ยนใจเช่นนี้แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดอุดรธานีมุ่งสู่จังหวัดหนองคาย ท่านได้แวะพักโปรดญาติโยมเป็นระยะ ๆ ไปและพักทํากรรมฐานที่ พระบาทบัวบก อําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บําเพ็ญภาวนาอยู่หลายวันจึงออกเดินทางไปยังฝั่งลาวพักกรรมฐานอยู่ที่บริเวณนครเวียงจันทน์ เป็นเวลาหลายเดือน

หลวงปู่ตื้อเล่าให้ฟังว่า ได้ไปทําความเพียรอยู่บนภูเขาควาย ทํากรรมฐานอยู่บริเวณนั้นเป็น เวลา ๔ เดือนเต็ม คืนแรกที่ท่านไปถึงนั้น ได้ไปนั่งภาวนาอยู่ที่ถ้ําเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในบริเวณนั้น พอนั่งสมาธิอยู่ไม่นานประมาณชั่วโมงเศษ ๆ เห็นจะได้ ท่านได้ยินเสียงดังมาแต่ไกล คล้ายเสียงลมพัดอย่างแรง แต่พอลืมตาขึ้นดูไม่เห็นมีอะไร นอกจากตัวผึ้งเป็นหมื่น ๆ ตัวบินวนเวียนอยู่เหนือศีรษะคล้ายเสียงเครื่องบิน

สักพักหนึ่งตัวผึ้งเหล่านั้นก็บินลงมาเกาะตามผ้าจีวรเต็มไปหมด แล้วเที่ยวไต่ไปตามตัวจน ท่านต้องเปลื้องจีวรและอังสะออกจากตัวและนั่งสบงแบบจูงกระเบน แล้วรัดผ้ากับตัวให้แน่น ตามตัวมีแต่ตัวผึ้งเต็มไปหมด แต่มันก็มิได้ต่อยทําร้ายท่าน

หลวงปู่ตื้อบอกว่า ในภาวะเช่นนั้นต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ประมาณ ๒๐ นาที หมู่ผึ้งเหล่านั้นทั้งหมดก็บินจากไป จากนั้นท่านก็นั่งภาวนาต่อไปอีกประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ๆ

ในขณะนั้นเอง ได้นิมิตเห็นศีรษะของชายคนหนึ่งค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาจากพื้นข้างหน้าท่าน ห่างออกไปเล็กน้อย ดูเหมือนว่าเขากําลังเดินขึ้นมาจากเบื้องล่าง แล้วเดินเข้ามาหาท่าน จนเข้ามาใกล้แล้วมาหยุดยืนอยู่เบื้องหน้าโดยไม่พูดอะไร ร่างกายชายคนนั้นใหญ่โตมาก

บุคคลคนนั้นยืนอยู่นานพอสมควรแล้วหันหลังกลับเดินไป แต่การเดินกลับไปนั้นดูเหมือนว่าเดินลึกลงไปสู่ที่ต่ําเพราะหายลับลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนมองตามไม่ทัน และท่านก็นั่งสมาธิอยู่ที่เดิม ไม่นานนักก็ได้ปรากฏว่ามีเทพยดาสวมมงกุฏสวยงามมากเข้ามาหาท่าน ๒ องค์แล้วพูดขึ้นว่า

“ท่านอาจารย์ ห่างจากนี้ไม่ไกลนัก มีพระพุทธรูปทองคํา ๑๐ องค์ พระพุทธรูปเงิน ๑๕ องค์ จมอยู่ในดิน ขอให้ท่านอาจารย์ไปเอาขึ้นมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้สักการบูชา เพราะบัดนี้ไม่มีใครรักษาแล้ว”

พูดเท่านั้นเทพยดาทั้งสองก็หายไป

หลวงปู่ตื้อเล่าเรื่องต่อไปว่า คืนที่ไปนั่งภาวนาอยู่ที่เส้นทางช้างศึกของเจ้าอนุวงษ์ นคร เวียงจันทน์หลายคืน คืนหนึ่งมีวิญญาณหลงทางมาหามากมายจริงๆ เหตุที่ว่าเป็นวิญญาณหลงทางนั้น เพราะจะแผ่เมตตาให้อย่างไร ก็ระลึกและคลายมานะทิฐิไม่ได้ ยังมัวเมาอยู่นั่นเอง

วิญญาณพวกนี้โดยมากเป็นพวกทหารหนุ่ม ๆ ทั้งนั้น สังเกตเห็นว่า พวกนี้จะไม่ยอม กราบไหว้ไม่มีเคารพในสมณเพศ ทั้งนี้เพราะส่วนมากเป็นวิญญาณมิจฉาทิฐิมาปรากฎเพื่อให้เห็นเท่านั้น

รุ่งเช้า มีโยมมาขอให้ท่านพักอยู่ต่อไปนาน ๆ จะสร้างกุฏิถวาย แต่ท่านไม่รับนิมนต์ ท่านบอกโยมว่า จะต้องเดินธุดงค์ไปเรื่อย ๆ จนถึงจังหวัดเชียงใหม่เมืองของไทยใหญ่ ท่านบอกว่านับตั้งแต่ออกจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี มาพักจําพรรษาอยู่ที่บริเวณเวียงจันทน์นี้ เป็นเวลา นานถึง ๔ เดือนเศษ ๆ จากนั้นก็เดินทางแบบพระธุดงคกรรมฐานต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง หนทางเดินลําบากที่สุด สภาพทั่วไปเป็นภูเขา บางวันเดินขึ้นภูเขาสูง ๆ แล้วเดินลงจากหลังเขา ถ้าคิด ระยะทางการเดินทางธรรมดาจะต้องเดินไปไกลกว่านั้น เพราะเดินตลอดวันก็กลับลงมาที่เดิม ตกเย็นมืดค่ําลง ก็กางกลดพักผ่อนทําความเพียรภาวนา รุ่งอรุณก็ตื่นเดินทางต่อไป บางวันไม่ได้บิณฑบาตเลยเพราะไม่มีบ้านคน

ท่านเล่าว่า เดินไปด้วยกันคราวนี้รวมแล้ว ๖ รูป แต่ต่างคนต่างไปไม่พบกันตั้งหลายวันก็มี บางที่ก็พบพระซึ่งเป็นชาวพม่าซึ่งท่านก็เดินธุดงค์เช่นกัน นาน ๆ พบกันที่หนึ่ง พบกันแล้วก็แยกทางกันเดินต่อไป ท่านบอกว่าถนนหนทางลําบากที่สุด รถยนต์ไม่มีโอกาสจะไปได้เลย แม้แต่คนจะเดินไปก็ยังยาก และสมัยนั้นรถยังไม่เคยมีในถิ่นนั้นเลย

และแล้ว หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ก็ได้พบพระธุดงค์รูปหนึ่งซึ่งจะมีสหธรรมิกรูปสําคัญ ต่อไปในอนาคต พระธุดงค์หนุ่มรูปนี้มีปฏิปทาลีลาอะไรหลายอย่างละม้ายเหมือนหลวงปู่ตื้อมาก เป็นต้นว่า เป็นพระภิกษุหนุ่มฝ่ายมหานิกายที่ออกจาริกธุดงค์แต่ลําพังอย่างโดดเดี่ยวกล้าหาญโดย ไม่มีครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานแนะนําคอยชี้ทางให้เลย

พระธุดงค์รูปนี้มีนามว่า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม และหลวงปู่แหวน สุจิณโณ พบกันครั้งแรกที่ป่าภูพานขณะนั้น หลวงปู่ตื้อจาริกธุดงค์มาจากพระบาทบัวบก จังหวัดอุดรธานี ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นที่ชอบอัธยาศัยถูกใจกันยิ่งนัก

หลวงปู่ตื้อเองก็ใส่ใจปรารถนาอยากจะพบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ได้เหมือนกัน เพราะได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์เลื่องลือเกี่ยวกับพระอาจารย์มั่นมามากแต่ก็ยังไม่ได้พบสมใจหวังสักที

ทั้งสองได้ปรึกษาหารือกันว่า หากวาสนายังมีคงจะได้พบกับพระอาจารย์มั่นสมใจหวังเรา อย่าเร่งรัดตัวเองและกาลเวลาเลย ถ้าไม่ตายเสียก่อนจะต้องได้สดับธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นแม่นมั่น ในระหว่างนี้เราควรจะจาริกธุดงค์ไปตามมรรคาของเราก่อน

ทั้งหลวงปู่ตื้อ และหลวงปู่แหวน เริ่มต้นเดินทางสู่เมืองลาวที่อําเภอเชียงคาน จังหวัดเลย พอข้ามแม่น้ําโขงแล้วก็พบแต่ป่าต้องเดินมุดป่าไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนเป้าหมายจะเป็นหลวงพระบาง ในการเดินทางเท้านั้น ตลอดทางมักได้พบสัตว์ป่าเป็นจํานวนมากและได้อาศัยเดินตามรอยช้าง เพราะสะดวกสบายดี ถ้าใครเคยขึ้นภูกระดึง และเคยมุดป่าบนหลังภูจะพบทางเดินของช้างบนนั้น

พระภิกษุหนุ่มทั้งสองท่านจะเดินธุดงค์ไปตลอดทั้งกลางวัน พอพลบค่ําก็เลือกพักใกล้หมู่บ้านคนพอได้โคจรบิณฑบาตยามเช้า ท่านได้เล่าถึงชาวป่าเผ่าหนึ่งพบระหว่างทางในตอนใกล้พระอาทิตย์ตกดินชาวป่าเหล่านั้นเอากระติบข้าวเหนียวมาถวายเดินแถวเข้ามานับสิบเพื่อถวายอาหาร ด้วยพวกเขาไม่ทราบพระรับอาหารยามวิกาลไม่ได้แต่มีศรัทธาบอกว่า “งอข้าวเหนียวงอจ้าวเหนียว” ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร ทั้งสองท่านจึงบอกว่าอาหารไม่รับ ขอรับน้ําร้อนก็พอ ซึ่งก็ได้พยายามสื่อความ หมายจนกระทั่งรู้เรื่องกันได้

พอรุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ต้องทําการบิณฑบาตแบบโบราณคือ ไปยืนอยู่หน้าบ้าน ทําเป็นหวัดกระแอมไอ ให้เขาออกมาดู เขาไม่เข้าใจ ก็ทํานิ้วชี้ลงที่บาตร จึงได้ข้าวมาฉัน คนป่าเผ่านั้นคงจะไม่เคยรู้จักพระมาก่อน ไม่รู้วินัยพระ ไม่รู้ธรรมเนียมพระ

ต่อมาท่านได้ธุดงค์เดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีวัดประจําหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระจําพรรษา มีแต่เพียงสามเณรอยู่รูปเดียว สามเณรรูปนั้นเห็นพระอาคันตุกะสองรูปนั้นมาเยี่ยมก็ดีใจ หาที่นอน หาน้ําร้อนมาถวาย ถวายเสร็จแล้วสามเณรรูปนั้นก็หลบไป

อีกสักครู่หลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่แหวนก็ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต้กกระตาก แล้วก็เงียบเสียงลง อีกพักหนึ่งก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมา และอีกพักหนึ่งไก่ย่างก็ถูกนํามาวางตรงหน้าท่านทั้งสอง

“นิมนต์ท่านครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวก็กําลังร้อนๆ นิมนต์ครับ” ในที่สุดหลวงปู่ทั้งสองก็เดินธุดงค์ถึงเหมืองหลวงพระบาง

แม้ว่าบางครั้งท่านจะแยกกันธุดงค์ แต่มีหลายครั้งที่ท่านมีโอกาสจําพรรษาร่วมกัน และ เป็นคู่อรรถคู่ธรรมที่แปลกมากกล่าวคือ เรื่องอุปนิสัยที่แตกต่างกัน หลวงปู่ตื้อ ท่านเป็นพระที่ชอบพูดชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน และเวลาพูดเสียงท่านจะดังแต่หลวงปู่แหวนกลับเป็นพระที่พูดน้อย เสียงเบา ไม่ชอบเทศน์ มีแต่ให้ข้อธรรมสั้น ๆ มีปฏิปทาเรียบง่าย

ธรรมโอวาท

สําหรับการแสดงธรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนา ของหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโมนั้น ท่านแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมา แสดงธรรมตามทัศนะของท่านมีคนชอบฟังมาก หลวงปู่เล่าว่า โลกนี้เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทําบาป เมื่อทําแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทําไว้ พ่อแม่เรานั้นทํากรรม เราเกิดมาก็ทํากรรมไปอะไรที่สุดของกรรม ไม่มีใครรู้ได้ทําบาปแล้วมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

๑. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นโสดาปัตติมรรค จิตก็เป็นโสดาปัตติผล

๒. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นพระสกิทาคามิมรรค จิตก็เป็นพระสกิทาคามิผล

๓. จิตตานุปัสสนา จิตไม่คิดมีผัวเมีย ออกบวช จิตก็เป็นพระอนาคามิมรรค จิต ก็เป็นพระอนาคามิผล

๔. จิตตานุปัสสนา จิตไม่กล่าวมุสาวาท จิตก็เป็นพระอรหัตมรรค จิตก็เป็นพระอรหัตผล อีกนัยหนึ่ง

๑. จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

๒. จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

๓. จิตออกบวช จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

๔. จิตไม่ขี้ปด จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพานอยู่ที่หัวใจของเราทุกคน

หลวงปู่สอนว่า “ธรรมะคือ คําสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เองมิใช่อื่น พุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้ เองมิใช่ใครอื่น เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทําให้เปลือกไข่แตกเราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะ ได้ธรรมะ” หรือ

“ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทําอะไรจริงจัง คือการตัดสินใจอย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่นานหรอกเราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการความกลัวทุกอย่าง จะหายไปหมด

ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้วคือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมายอย่างหลวงตา นับตั้งแต่ บวชมาได้ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ไม่เคยลดละและท้อถอยเลย” หรือ

“นักธรรม นักกรรมฐานต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ

๑. น้ําจิตน้ําใจต้องแข็งแกร่ง กล้าหาญไม่กลัวต่ออันตรายใด ๆ

๒. ต้องเที่ยวไปในกลางคืนได้

๓.ชอบอยู่ในที่สงัดจากคน

๔. ทําอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสําเร็จเป็นจุดหมาย” หรือ

“สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าคนตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคน เป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่เป็นพุทธะได้แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็มีให้พิจารณาว่าเป็นของเน่าเป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหม คนเรา”

และเมื่อเทศน์จบลงท่านชอบถามผู้ฟังว่า “ฟังเทศน์หลวงตาดีไหม” คําถามเช่นนี้ ท่านบอกว่า หมายถึงการฟังธรรมครั้งนี้ได้รับความสงบเย็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม ?

ท่านชอบตักเตือนเสมอว่าการปฏิบัติธรรมนั้นอย่างที่ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดําเนินมานั้น ท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติ อยู่เสมอ

การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดําเนินไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะเป็นประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้วก็เร่งพยายามทําความดีต่อไป

ปัจฉิมบท

ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ นับเป็นปีที่ ๔ ที่ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้อยู่จําพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า แดนมาตุภูมิของท่าน ในพรรษานี้ใครเลยจะนึกว่าท่านจะจากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ ก่อนเข้าพรรษาท่านเคยพูดเสมอว่า

“ใครต้องการอะไรก็ให้เร่งรีบสร้างเอา คุณงามความดีทั้งหมดอยู่ที่ตัวของเราแล้ว ขันธ์ ๕ นี้ เมื่อมันยังไม่แตกดับก็อาศัยมันแตกดับแล้วก็อาศัยอะไรมันไม่ได้ ขันธ์ ๕ ของ หลวงตาก็จะดับแล้วเหมือนกัน”

และบ่อยครั้งที่ท่านพูดว่า

“ธาตุลมของหลวงตาได้วิบัติแล้ว บางครั้งมันเข้าไปแล้วก็ไม่ออกมา นานที่สุดจึงออกมา และเมื่อมันออกมาแล้วก็ไม่อยากจะเข้าไป”

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนเข้าพรรษา คณะศิษยานุศิษย์ได้ไปกราบถวายความเคารพและถวายเครื่องสักการะเพื่อขอคารวะต่อท่าน ท่านก็ยังแข็งแรงดี ลุกขึ้นนั่งและก็แสดงธรรมให้ฟังตามสมควร นับว่าเป็นการฟังเทศน์ของท่านเป็นกัณฑ์สุดท้ายกัณฑ์นี้ดูเหมือนท่านจะจงใจแสดงให้ฟังโดยเฉพาะ เมื่อจบท่านบอกว่า กัณฑ์เทศน์กัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์สุดท้าย และเป็นหัวใจกรรมฐานของนักบวช

ท่านได้กล่าวทํานองว่า “วันนี้จงฟังเทศน์ให้ดีๆ และจําเอาไว้เพราะต่อไปจะหาฟังได้ยาก ในโลกนี้ไม่มีใครจะแสดงธรรมได้เหมือนหลวงตาหรอก”

ท่านแสดงธรรมแต่ละครั้งนั้นนานมาก ท่านได้สงเคราะห์ทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม ท่านได้ให้อะไรสารพัดอย่าง บางครั้งท่านได้หยุดในระหว่างเทศน์ เมื่อเทศน์จบลงแล้วท่านบอกว่า

“ขันธ์ ๕ จะดับแล้ว ธาตุลมวิบัติแล้ว”

จึงได้กราบเรียนถามท่านว่า “ท่านหลวงตาไม่ เหนื่อยหรือ?

ท่านบอกว่า “ขันธ์ ๕ จะได้หยุดการแสดงธรรมเหมือนกัน แต่ถ้าจิตไม่หยุดมันก็หยุด ไม่ได้การแสดงธรรมเป็นหน้าที่ของเราเกิดมาก็เพื่อทําประโยชน์ทั้งนั้นได้ความดีแล้วก็ต้องทําความดี เพื่อความดีอีก คนเกิดมารู้จัก พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงจะเป็นคน ไม่ใช่สัตว์ เราต้องรู้จัก พระธรรมให้ดีที่สุด”

จึงจะเรียกได้ว่า พระมหาเปรียญ พระนักธรรม พระกรรมฐาน

เช้าวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านฉันเช้าตามปกติแต่ก็ไม่มากนัก สังเกตดูอาการท่านเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากทีเดียว นับแต่เวลาเช้าไปท่านพักผ่อนเล็กน้อย แสดงธรรมตลอดแต่พูดเบามาก

ขณะที่ท่านกําลังเทศน์อยู่นั้น มีพระภิกษุสามเณรจากต่างจังหวัดมาถวายสักการะและ รับฟังโอวาท ท่านให้ลูกศิษย์ช่วยพยุงลุกขึ้นนั่ง เมื่อลุกขึ้นนั่งแล้วท่านพูดว่า..“สังขารไม่เที่ยง หลวงตาเกิดมาก่อน ก็ต้องไปก่อนตามธรรมดา”

ท่านเทศน์ประมาณ ๑๕ นาที คณะสงฆ์นั้น ก็ลากลับไป

ขณะนั้นเวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ท่านเหนื่อยมากที่สุด พูดเบามาก ท่านบอกว่า “ลมวิปริตแล้ว ไม่มีแล้ว”

จากนั้นท่านได้ให้พรลูกศิษย์ว่า “พุทโธ สุโข ธัมโม สุโข สังโฆ สุโข จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”

แล้วท่านก็หัวเราะและยิ้มให้ลูกศิษย์ อันเป็นลักษณะเดิมของท่าน แสดงว่าท่านมีอารมณ์ดี ไม่สะทกสะท้านต่ออาการที่เกิดขึ้น

ในขณะนั้นมีท่านอาจารย์อุ่น ท่านอาจารย์วาน และพระภิกษุสามเณรหลายสิบรูปเฝ้าดูอาการของท่านด้วยความเป็นห่วงเป็นใย

แม้ท่านจะเหนื่อยมากสักปานใดก็ตาม แต่ท่านก็ยังพูดอยู่เรื่อย ๆ ถึงเสียงจะเบา แต่ก็พอฟังรู้เรื่องว่าท่านพูดว่าอะไร

วาระสุดท้ายท่านพูดว่า

“ธาตุในหลวงตาวิปริตแล้ว”

จากนั้นท่านไม่พูดอะไรอีกเลยกิริยาอาการทุกอย่างสงบเงียบทุกคนแน่ใจว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้ถึงมรณภาพแล้ว เวลา ๑๙ นาฬิกาเศษ ท่ามกลางสานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยความอาลัยยิ่ง แต่เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ท่านได้ไปถึงสันติสุขที่สุดแล้วสิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี