วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

ประวัติและปฏิปทา
พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม)
วัดโพธาราม ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม บ้านดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าอีกรูปหนึ่งที่วัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพลังจิตที่แก่กล้า และเรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสาน

● ชาติภูมิ
พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) นามเดิมชื่อ “พุทธา พวงศรีเคน” เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๔ ที่บ้านดงบัง ต.ดงบัง อ.นาดูน จ.มหาสารคาม บิดาชื่อ “นายสิงห์ พวงศรีเคน” และ “นางเม พวงศรีเคน

หลังจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ช่วยงานครอบครัวทำไร่ทำนาอยู่ประมาณ ๒ ปี ต่อมา บิดา-มารดา นำไปบรรพชา

● อุปสมบท
ครั้นอายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดโพธาราม โดยมี พระครูจันทสีตลคุณ (หลวงปู่จันดา จนฺทาโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูปลัดดำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และ พระครูจันดี เป็นพระกรรม วาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินฺทธมฺโม

ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดในหมู่บ้าน แต่ด้วยความที่ต้องการศึกษาพระธรรมวินัยลึกซึ้งมากขึ้น จึงเดินทางไปจำพรรษาที่วัดบ้านดอนหมี ต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น เป็นสำนักเรียนใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น

ท่านมุมานะเรียนมูลกัจจายน์ บาลี ไวยากรณ์ ศึกษาอักขระโบราณ อักษรขอม อักษรธรรม ไทยน้อย จบหลักสูตรนอกจากนั้นยังเรียนเทศก์ปุจฉา-วิสัชนา จนมีความรู้อย่างแตกฉาน

พ.ศ.๒๔๘๗ เดินทางกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธาราม

ท่านยังให้ความสนใจศึกษาด้านวิทยาคม จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์กับ พระครูจันทสีตลคุณ (หลวงปู่จันดา จนฺทาโภ) และ พระครูจันดี ซึ่งหลวงปู่ทั้งสองเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น พระเกจิทั้ง ๒ ท่าน เมตตาถ่ายทอดให้จนหมดสิ้น

พระครูจันดี วัดโพธาราม (บ้านดงบัง)
พระครูจันดี วัดโพธาราม (บ้านดงบัง)

พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงปู่ดือ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ช่วงนี้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ควบคู่กับหลวงปู่มี วัดแวงดง บรรดาญาติโยมทั้งใกล้และไกลต่างเดินทางมารับฟังธรรมและขอประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลังจากหลวงปู่ดือ

สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาคจากศรัทธาของญาติโยม นำมาพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญด้านการศึกษาสงฆ์ ได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดโพธารามและยังเปิดสอนอักษรธรรมโบราณ สนับสนุนให้พระภิกษุ-สามเณร ศึกษาค้นคว้านำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบันทึกไว้เพื่อการศึกษา และท่านยังให้ทุนอุปถัมภ์การศึกษาแก่พระสงฆ์รวมทั้งนักเรียนที่เรียนดี รวมทั้งสนับสนุนให้สร้างโรงเรียนมัธยมประจำตำบลดงบัง เพื่อบุตรหลานจะได้ไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่อื่น

บริจาคปัจจัยส่วนตัวเป็นเงินหลายล้านบาท ก่อสร้างสาธารณประโยชน์หลายแห่งให้กับชุมชนเช่น สะพาน บ่อน้ำ ฯลฯ และยังมีจิตใจอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะภายในวัดโพธาราม มีภาพเขียนสีโบราณอายุหลายร้อยปีสภาพสวยมากคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม อ.นาดูน จ.มหาสารคาม

● ด้านปกครองคณะสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นเจ้าคณะตำบลภารแอ่น

● สมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูพิสัยนวการ

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ บ้านดงบัง ยกฐานะเป็นตำบล ท่านก็ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลดงบัง และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในราชทินนามเดิม

จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นเจ้าคณะอำเภอนาดูน

คำสอนที่หลวงปู่ดือพร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอด คือ “ให้สำนึกถึงความตายเสมอและถามตนเองว่าก่อนตายได้ทำความดีอะไรให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน ถ้ายังไม่มีให้รีบละเว้นการทำชั่ว และมาบำเพ็ญทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้ หรือถ้าทำดีอยู่แล้วก็ให้เพียรสร้างคุณความดีต่อไป”

● มรณกาล
แม้จะล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย แต่สุขภาพของท่านยังแข็งแรง รับกิจนิมนต์เป็นปกติ แต่ท่านมรณภาพแบบที่ญาติโยมคาดไม่ถึง โดยกุฏิของท่านที่จำวัดอยู่ได้เกิดเพลิงไหม้ ในคืนวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ญาติโยมใช้บันไดพาดหน้าต่างช่วยให้ท่านลงมา แต่หลวงปู่ดือกลับโบกมือลา ขอทิ้งสังขารอยู่ในกองเพลิงนั้นเอง

พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม ท่านถึงแก่มรณภาพ​ เมื่อวันที่​ ๑๗​ กรกฎาคม​ พ.ศ.๒๕๔๖​ สิริอายุรวมได้​ ๙๓​ พรรษา​ ๗๑

รูปเหมือนภายในมณฑป​ พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม
รูปเหมือนภายในมณฑป​ พระครูพิสัยนวการ (หลวงปู่ดือ อินฺทธมฺโม) วัดโพธาราม

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณ : อ๊อด ศิลาอาสน์