ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ดีเนาะ (พระเทพวิสุทธาจารย์)
วัดมัชฌิมาวาส
อ.เมือง จ.อุดรธานี
หากกล่าวนาม “พระเทพวิสุทธาจารย์สาธอุทานธรรมวาที” หรือหลวงปู่บุ ก็คงไม่มีใครที่รู้จัก ยิ่งพระราชาคณะที่มีสร้อยท้าย สมณศักดิ์แล้ว ยิ่งมีน้อยเต็มทีที่คนทั่วไปจะรู้จัก หากกล่าวถึงอีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกท่าน คือ หลวงปู่ดีเนาะ หรือ หลวงปู่ดีเนาะหลวง แห่งวัดมัชฌิมาวาส จ.อุดรธานี
ชีวประวัติของท่านพระเทพวิสุทธาจารย์ หรือ หลวงปู่ดีเนาะ นั้น ไม่ค่อยจะมีปรากฏให้เห็นมากนัก เพราะเนื่องจากว่า ท่านจะไม่ค่อยทิ้งหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่าน เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ จะมีบ้างก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับการรวบรวมจากท่านพระธรรมปริยัติโมลี เจ้าคณะภาค ๘ เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสรูปปัจจุบันนี้ บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติของวัดมัชฌิมาวาส
พระเทพวิสุทธาจารย์ หรือ หลวงปู่ดีเนาะ นามเดิมว่า บุ ปลัดกอง เกิดที่บ้านดู่ ต.บ้านดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พ.ศ. ๒๔๑๕
บิดาชื่อ นายทา ปลัดกอง มารดาชื่อ นางปาน ปลัดกอง
เมื่อมีอายุได้ ๑๙ ปี ครอบครัวของท่านได้อพยพย้ายถิ่นฐานอาศัยจาก จ.นครราชสีมา มาอยู่ที่บ้านทุ่งแร่ ต.หมูม่น อ.เมือง จ.อุดรธานี ในปัจจุบันนี้
เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านโนนสว่าง บ้านทุ่งแร่ นั่นเอง และต่อมาอีกหนึ่งปี ท่านก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดบ้านบ่อน้อย ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี มีพระอธิการกัน วัดสระบัว บ้านสร้างแป้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญสิริ” เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วนั้น ได้ไปจําพรรษาอยู่ที่วัดบ้านโนนสว่าง บ้านทุ่งแร่ อยู่ ๓ พรรษา จึงได้ย้ายสํานักไปจําพรรษาอยู่ที่ วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐
ขณะนั้นที่ท่านหลวงปู่ดีเนาะดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาส วัดมัชฌิมาวาสนั้น ท่านได้ทําการบูรณะวัดมัชฌิมาวาส ในด้านต่างๆ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นถาวรวัตถุ และ เสนาสนะ เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ โรงเรียน พระปริยัติธรรม และกุฏิของพระลูกวัดจํานวนมากที่เห็นในปัจจุบันนี้นั้น ล้วนแต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยที่ ท่านหลวงปู่ดีเนาะทั้งสิ้น
นอกจากในด้านถาวรวัตถุของวัดแล้ว ท่านหลวงปู่ดีเนาะ ท่านก็ยังหันมาพัฒนาในด้านของการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดแห่งนี้ โดยการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นมา สอนนักธรรมบาลีตามหลักสูตรของราชการ คณะสงฆ์ ตั้งแต่ชั้นนักธรรมตรี จนถึงชั้น ป.ธ.๖
ในด้านการภาวนานั้น ตอนนั้นเองกองทัพธรรมของ หลวงปู่มั่นได้แพร่กระจายกันอยู่โดยทั่วไปในภาคเหนือ และ อีสานส่วนท่านเองนั้นก็มีอายุพรรษาใกล้เคียงกับท่านพระอาจารย์มั่น จึงได้ไปมาหาสู่กัน
จากคําบอกเล่าของคนเก่าแก่ใน จ.อุดรธานี เล่าว่าทุก ครั้งที่หลวงปู่มั่นมาพักในเมืองอุดรธานี ท่านก็จะแวะเวียนไปมาหาสู่กับหลวงปู่ดีเนาะ
ในครั้งที่หลวงปู่มั่นอยู่ที่ป่าช้าบ้านโคกนามน หลวงปู่ดีเนาะก็ได้เข้าไปกราบและรับโอวาทธรรมจากท่านอยู่สม่ําเสมอ ทั้งตัวท่านเองนั้นก็เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ในส่วนมหานิกาย ยิ่งทําให้ท่านมีความสนิทสนมอย่างยิ่ง กับ พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ บางครั้งบางคราว ท่านเจ้าคุณจูม ก็จะพาลูกศิษย์ลูกหาไปกราบท่านอยู่เป็นประจํา
ขณะเดียวกันท่านก็เป็นที่พึ่งแก่ชาวบ้านทั่วไป ไม่ถือยศ ตําแหน่ง พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ อดีตสมภารวัดป่าชิคาโก แสดงธรรมเรื่องหนึ่งว่า หลวงพ่อวัดหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือชากันว่า ท่านเป็นพระที่มีแต่ความสุข ไม่เคยมีความทุกข์
วันหนึ่ง โยมมานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่บ้าน บอกท่านว่าจะมารับแต่เช้าหลวงพ่อก็นั่งรอจนสายโยมก็ไม่มาสักที่หลวงพ่อก็ว่า “ไม่มาก็ดีเหมือนกันเนาะเราฉันข้าวของเราดีกว่า” ฉันข้าวได้ไม่กี่คํา โยมก็มารับพอดี กราบกรานขอโทษที่มาช้า เหตุ เพราะว่ารถเสีย
หลวงพ่อก็วางช้อนแล้วกล่าวว่า “อือ ก็ดีเนาะไปฉันที่ งานเนาะ”
นั่งรถไปได้สักพัก เครื่องรถก็ดับอีกคนขับบอก “รถเสีย ครับ”
หลวงพ่อกว่า “ดีเนาะได้หยุดพักชมวิวเนาะ”
คนขับซ่อมเครื่องรถได้สักพักก็ออกปากขอให้หลวงพ่อช่วยเข็นรถ ความจริงหลวงพ่อก็แก่ ข้าวก็ฉันได้ไม่กี่คํา แต่ท่านก็ยิ้มบอกว่า “โอ้ดีเนาะ ได้ออกกําลังเนาะ” แล้วก็ขมีขมันออกแรงช่วยเข็นรถจนวิ่งได้ ไปถึงบ้านงาน เวลาเลยเที่ยงหมดเวลาฉันอาหารไปแล้วเป็นอันว่า วันนั้นหลวงพ่ออดข้าว เจ้าภาพก็ร้อนใจ อะไรๆ ก็เลยเวลามานาน นิมนต์ท่านขึ้นเทศน์ทันที
“ดีเนาะ มาถึงก็ได้ทํางานเลยเนาะ” หลวงพ่อว่าแล้ว ก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์จนจบ มีคนชงกาแฟถวายแต่เผลอตักเกลือใส่แทนน้ําตาลหลวงพ่อจิบกาแฟไปหนึ่งคําแล้วก็บอกโยมว่า “โอ้ดีเนาะ ดีๆ” แล้วก็วาง
ธรรมเนียมของหลวงพ่อขลังๆ เวลาท่านฉันอะไร ลูกศิษย์ ก็อยากได้บ้าง ว่ากันว่าเป็นสิริมงคลดีนัก เรียงหน้ารอกันเป็นแถว ลูกศิษย์คนแรก ดื่มกาแฟก็พ่นพรวดออกมา “เค็มปี๋เลย หลวงพ่อฉันเข้าไปได้ยังไง!”
ท่านก็ว่า “ก็ดีเนาะฉันกาแฟหวานๆ มานาน ฉันเค็มๆ มังก็ดีเหมือนกัน”
ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก ลมแรง น้ําท่วม หรือคนด่า หลวงพ่อท่านมองไปในแง่ดีได้หมด มีลูกศิษย์ใกล้ชิด คนหนึ่งไปทําผิดถูกจับไปติดคุกท่านก็ว่า “ก็ดีเนาะมันจะได้ ศึกษาชีวิต”
ท่านอาจารย์ประสงค์บอกว่าหลวงพ่อรูปนี้ ชื่ออะไรอยู่ วัดไหน ตัวท่านเคยจดไว้แต่ทําสมุดที่จดหายจําได้เพียงแต่ว่า คนอีสานเขาสรรเสริญท่านมาก แม้ท่านจะชื่อจริงอะไร ก็คงไม่มีใครจําเพราะต่างก็เรียกท่านว่า “หลวงพ่อดีเนาะ” กันหมดแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งมีคนเล่าว่า เนื่องจากมีผู้เคารพนับถือหลวงพ่อท่านมากจึงมีผู้มาถวายจตุปัจจัยข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่าแก่ท่านมากมาย ในกุฏิของหลวงพ่อดีจึงมีข้าวของเงินทองที่เตะตาล่อโจรให้อยากลองของมากมาย แต่ดูเหมือนว่าหลวงพ่อ ท่านไม่ค่อยจะสนใจวัตถุรอบกายของท่านแต่อย่างใด
อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อดีก็ถูกขุนโจรใจโหดปล้นฆ่า เจ้าทรัพย์มากมายถือปืนบุกเข้าประชิดตัวหลวงพ่อบนกุฏิ พร้อมทั้งประกาศก้อง
“นี่คือการปล้นอย่าได้ขัดขืนนะ หลวงพ่อ”
หลวงพ่อดียิ้มกับโจรด้วยอารมณ์ดี และไม่มีอาการสะทกสะท้านท่านกล่าวกับโจรอย่างนิ่มนวลว่า “ปล้นก็ดีเนาะ”
โจรชักแปลกใจในคําพูดและท่าทีของหลวงพ่อ โจรจึงพูดว่า
“ถูกปล้นทําไมว่าดีละหลวงพ่อ”
หลวงพ่อดีตอบว่า “ทําไมจะไม่ดีล่ะ ก็ฉันต้องทนทุกข์ ทรมานเฝ้าไอ้สมบัติบ้าๆ นี้ตั้งนานแล้วเอ็งเอาไปเสียให้หมด ฉันจะได้ไม่ต้องเฝ้ามันอีก”
โจรขู่อีก “ไม่ใช่ปล้นอย่างเดียวฉันต้องฆ่าหลวงพ่อด้วย เพื่อปิดปากเจ้าทรัพย์”
หลวงพ่อดีก็ตอบเหมือนเดิม “ฆ่าก็ดีเนาะ”
โจรแปลกใจ จึงถามว่า “ถูกฆ่ามันจะดีได้อย่างไรล่ะหลวงพ่อ”
หลวงพ่อตอบว่า “ฉันมันแก่แล้วตายเสียได้ก็ดีจะได้ไม่ ทุกข์ร้อนอะไร”
โจรรู้สึกอ่อนใจเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นฉัน ไม่ฆ่าหรอก”
หลวงพ่อดีก็พูดเหมือนเคย “ไม่ฆ่าก็ดีเนาะ”
โจรเลยถามอีก “ทําไมฆ่าก็ดี ไม่ฆ่าก็ดีอีก”
หลวงพ่อดีบอกว่า “การฆ่ามันเป็นบาป เอ็งจะต้องชดใช้เวรทั้งชาตินี้และ ชาติหน้า อย่างน้อยตํารวจเขาจะต้องตามจับเอ็งเข้าคุกเข้าตะราง หรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย ตายแล้วก็ยังตกนรกอีก”
โจรฟังแล้วเปลี่ยนใจ “ถ้าอย่างนั้นฉันไม่ปล้นหลวงพ่อแล้ว”
หลวงพ่อดีก็ตอบอีกว่า “ไม่ปล้นก็ดีเนาะ”
มีผู้เล่าต่อมาว่าในที่สุดโจรคนนั้นก็สํานึกบาป เข้ามอบตัว กับตํารวจเมื่อพ้นโทษออกมาก็ขอให้หลวงพ่อดีบวชให้และ บําเพ็ญศีลภาวนาตลอดมา
สร้อยท้ายสมณศักดิ์ท่าน “สาธอุทานธรรมวาที” นั้น มีที่มาจาก ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส จ.อุดรธานี แล้วเสด็จสู่วัดมัชฌิมาวาส ซึ่งหลวงปู่ดีเนาะเป็น เจ้าอาวาส
ครั้งนั้นญาติโยมกลัวหลวงปู่จะไปหลงพูดคําว่า ดีเนาะ กับพระเจ้าอยู่หัว จึงกําชับหลวงปู่ว่า ไม่ให้หลวงปู่พูดอะไร ให้นั่งเฉยๆ ยิ้มไว้ก็พอ
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฏิสันถารกับหลวงปู่ หลวงปู่ ก็ไม่ตอบ นั่งนิ่ง และยิ้มเฉย จนพระเจ้าอยู่หัวเกรงว่าหลวงปู่ จะไม่เข้าใจคําถาม จึงให้ข้าราชบริพารที่มาด้วยสอบถาม หลวงปู่ด้วยภาษาอีสานอีกครั้ง
ประโยคแรกที่หลวงปู่ดีเนาะตอบออกมาคือ “ดีเนาะ หลวง ดีเนาะ มหาบพิธ เขาบ่ให้เฮาเว่า (พูด) เขาย่าน (กลัว) ว่าเฮาจะพูดบ่มวน (พูดไม่เพราะ) ดีเนาะหลวง”
ด้วยคําว่า “ดีเนาะหลวง” นี่แหละ คือ ต้นเหตุที่หลวงปู่ ได้ฉายาและพระราชทานนามว่า “พระเทพวิสุทธาจารย์สาธุอุทานธรรมวาที” อันหมายมีความว่า พระผู้มีวาจาไพเราะเป็นที่สุด
หลวงปู่ดีเนาะ หรือ พระเทพวิสุทธาจารย์สาธอุทานธรรมวาที เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงได้ถึงแก่มรณภาพลง ตรงกับ วันที่ ๑๐ มี.ค. ๒๕๑๓ ขึ้น ๔ ค่ํา เดือน ๔ ปีระกา เวลา ๐๙.๑๐ น. ด้วยโรคชรา เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นเวลา ๖๓ ปี สิริรวมอายุได้ ๙๘ ปี พรรษา ๗๖