วันศุกร์, 13 ธันวาคม 2567

หลวงพ่อชาลี อัตตคุตโต วัดศรีบัวบาน ต.ค่ายบกหวาน อ.เมือง จ.หนองคาย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อชาลี อัตตคุตโต

วัดศรีบัวบาน
ต.ค่ายบกหวาน อ.เมือง จ.หนองคาย

หลวงปู่ชาลี อัตตคุตโต

ชาติภูมิ
หลวงปู่ชาลี อัตตคุตโต มีนามเดิมว่า ชาลี กะมุตะเสน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ ตรงกับวันขึ้น๘ ค่ำ เดือน๗ ปีเถาะ ท่านเป็นบุตรของ
นายจันทร์ และ นางแหล่ กะมุตะเสน ท่านเกิดที่บ้านโพนตาล ต.นาฮี (ค่ายบกหวาน) อ.เมือง จ.หนองคาย
มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๖ คนได้แก่
๑. นายรัง กะมุตะเสน
๒. หลวงปู่ชาลี อัตตคุตโต
๓. นางบุญมี กะมุตะเสน
๔. นางทองศรี กะมุตะเสน
๕. นายคำดี กะมุตะเสน
๖. นายเพ็ง กะมุตะเสน

ชีวิตในวัยเด็กของท่านนั้นก็ไม่ต่างจากเด็กชนบททั่วไปแต่เพราะสถานะทางบ้านท่านค่อนค้างยากจนประกอบกับบิดา-มารดาของท่านมีบุตร-ธิดามากพอท่านอายุได้ ๑๓ ปีจึงนำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบัวบาน บ้านบกหวานนั้นเอง ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาออกมา ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสทั่วไป จนได้แอบรักหญิงชาวบ้านบกหวานคนหนึ่ง

หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีบัวบาน ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี ท่านก็ได้ลาสิกขาออกมา ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสทั่วไป จดได้ไปแอบรักสาวบ้านบกหวาน ชื่อว่า น.ส.พรหมา แต่สาวพรหมาเองกลับไม่ได้มีใจให้ท่านเลย หลวงปู่ชาลีได้เล่าถึงตอนนี้ว่า ตอนที่ท่านไปเล่นสาว ตามประสาชายหนุ่ม สาวพรหมา ก็ออกมาต้อนรับด้วยความไม่เต็มใจบางวันซ่อนขันยาสูบ บางวันก็ซ่อนขันหมาก จนกระทั่งวัดหนึ่งหลังจากที่ท่านกลับจากบ้านสาวแล้วท่านได้ไปแอบดูอยู่หน้าบ้าน แต่สิ่งที่ท่านเห็นคือ สาวคนนั้นได้เอาน้ำมาล้างตรงท่านนั่ง เมื่อเห็นดังนั้นท่านก็เข้าไปถามสาวว่าทำไมทำแบบนี้ สาวก็ต่อว่าท่านต่างๆนาๆ เพราะอารมณ์โกรธท่านเลยถอดกางเกงแล้วกองก้นตบตูดใส่ พร้อมกับกล่าวว่า “ถ้าเบิ่งเด้อ สักมื้อหนึ่งมึงต้องได้มากราบกู” (รอดูนะสักวันเธอต้องได้มากราบฉัน) เมื่อพูดจบท่านก็กลับบ้านทันที ค่ำคืนนั้นพอท่านกลับถึงบ้านท่านไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้ พอคิดถึงเรื่องที่สาวทำ ยิ่งเจ็บซ้ำน้ำใจ ท่านปรารถนาจะเข้าร่มแห่งพุทธธรรมและจะบวชไม่สึกตลอดชีวิต

อุปสมบทและฝากตัวเป็นศิษย์ญาครูอ่อนตา
หลังจากหลวงปู่ชาลี ได้ตัดสินใจเข้าพึ่งร่มพุทธธรรมปรารถนาจะบวชไม่สึกตลอดชีวิต ท่านก็ได้บอกลา บิดา-มารดาของท่านและเข้ารับการบรรพชาอุปสมบท ที่พัทธสีมา วัดพระประดิษฐ์ บ้านนาฮี ตำบลนาฮี อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ตอนนั้นท่านอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โดยมีญาครูอ่อนตา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์สา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า อัตตคุตโต แปลว่า ผู้มีตนเป็นที่พึ่ง

ญาครูอ่อนตา ปัญญาวโร (ญาครูนาฮี) ภาพเก่าเก็บเจ้าคุณรักษ์ เรวโต

ญาครูอ่อนตาท่านนี้ นับเป็นพระผู้ทรงอภิญญาและทรงวิทยาคมโด่งดังอยู่ในเมืองหนองคายในยุคนั้น มีเรื่องเล่าว่าท่านเป็นผู้วิเศษที่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆนาๆเช่นหายตัว เดินบนผิวน้ำ เดินฝ่าฝนไม่เปียก แปลงร่างเป็นวัว หรือ เป็นเณร รู้ภาษาสัตว์ และรู้ว่าท่านจะมรณภาพวันไหน เป็นต้นอีกทั้งท่านยังเป็นสหธรรมมิกกับหลวงปู่พิบูลย์ วัดพระแท่น บ้านแดงอีกด้วย เล่ากันว่าก่อนที่ญาครูอ่อนตาจะมรณะภาพ ท่านได้กล่าวกับพระเณร ญาติโยม และลูกหลานของท่านว่า “ยามใด๋ที่ขางฟ้าลั่นสี่แก ยามนั้นพ่อกะสิตาย” กล่าวคือเมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องคำรามสี่ทิศ เมื่อนั้นท่านจะมรณะภาพ และก็เป็นจริงอย่างที่ท่านกล่าวไว้ ได้เกิดฟ้าคำรามโดยไม่มีเหตุจริงๆ และวันนั้นญาครูอ่อนตา ก็ได้มรณะภาพลงอย่างสงบ

แม้ชาวเมืองหนองคายได้เล่าความทรงจำของท่านในวัยเด็กให้ผู้เขียนฟังว่า ตอนนั้นท่านยังเด็กอยู่อายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี มีวันหนึ่งได้ยินเสียงพระตีกลองเพลทั่วเมืองหนองคายโดยรัวกลองกันเป็นทอดๆ แม่เฒ่าจึงถามคุณยายของท่านว่าพระตีกลองทำไม ยายท่านก็ตอบว่า “ญาพ่อบ้านนาฮี นิรพาน”

เรียนพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์
หลังจากแม่เฒ่าถามคุณยายของท่านว่าพระตีกลองทำไม ยายท่านก็ตอนว่า ญาพ่อบ้านนาฮีนิรพาน กล่าวถึงหลวงปู่ชาลี หลังจากท่านอุปสมบทแล้วก็ได้จำพรรษาอยู่วัดพระประดิษฐ์ บ้านนาฮีเพื่อศึกษาธรรมจากญาครูอ่อนตา ตลอดทั้งพระกรรมฐาน การตั้งธาตุ แปลธาตุ และการเล่นปิติในชั้นต่างไป เริ่มจากขั้น อุททกาเป็นต้น จนท่านฝึกจนชำนาญและเป็นที่ไว้วางใจของญาครูอ่อนตา หลังจากท่านผ่านพื้นฐานชั้นต่างๆ ญาครูอ่อนตาจึงส่งท่านไปเรียนสนธ์เรียนมูล (สนธิกิริโยปกรณ์ กับ มูลกระจายน์) สำนักเรียนบาลีวัดศรีคุณเมือง กับหลวงพ่อธรรมถึก (เจ้าอาวาสวัดยอดแก้ว) หลวงปูชาลีได้เล่าถึงตอนที่ท่านเรียนสนธิ์เรียนมูลว่า “สมัยพ่อเรียนนี้พ่อเรียนอีหลีพ่อเอาหมากพร้าวแห้งมาเฮดเป็นหมอน ยามใด๋พ่อหลับหมอนหมากพร้าวกะสิเดื่องออกจากหัวจนหัวฟาดพื้น พ่อกะสิลุกขึ้นมาถ่องหนังสือต่อ” กล่าวคือตอนท่านเรียนยามหลับท่านก็เอามะพร้าวแห้งมาทำเป็นหมอนหนุนหัวนอน เมื่อใดที่หัวท่านตกหมอนกระทบพื้นท่านก็จะลุกขึ้นมาอ่านและทองหนังสือต่อทันที หลวงปู่ชาลีศึกษาอยู่หลายปีจนจบการศึกษา ท่านก็กลับมายังวัดมายังวัดพระประดิษฐ์ บ้านนาฮีอีกครั้ง ในตอนนี้เองญาครูอ่อนตาได้เริ่มสอนวิทยาคมให้กับหลวงปู่ชาลีควบคู่ไปกับกรรมฐานและโหราศาสตร์ ฤกษ์ยามต่างๆ ตลอดทั้งการแต่งแก้เสียเคราะห์ บูชาโชคเป็นต้น หลังจากญาครูอ่อนตาเห็นว่าหลวงปู่ชาลีสำเร็จวิชาทุกแขนงแล้วท่านจึงได้สอนวิชามูลธุดงควัตรให้กับหลวงปู่ชาลี เพราะญาครูอ่อนตาท่านเห็นว่าหลวงปู่ชาลีสมควรออกธุดงค์หาประสบการณ์ และอาจทำให้ลูกศิษย์ท่านคนนี้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมของศาสดาได้

ออกธุดงค์แสวงหาโมกขธรรม
เมื่อหลวงปู่ชาลีสามารถร่ำเรียนสัพวิทยาจากญาครูอ่อนตา เสร็จแล้วญาครูใหญ่ผู้เป็นอาจารย์จึงบอกให้ท่านธุดงค์ แสวงหาโมกขธรรมโดยแนะนำให้ท่านธุดงค์ไปภูเขาควายสถานที่อันวิเศษถือกันว่าเป็นวิทยาลัยสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย อีกทั้งญาครูอ่อนตาก็เคยศึกษาที่นั้นจนบรรลุธรรมขั้นสูง ก่อนจะข้ามโขงมาจำพรรษาอยู่บ้านนาฮี หลวงปู่ชาลีท่านเลยกราบลาญาครูอ่อนตาเดินข้ามโขงไปประเทศลาวแล้วก็ไปภูเขาควายตามลำดับ

กลับมาจากธุดงค์และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบัวบานบ้านบกหวาน
หลังจากที่ท่านกราบลา ญาครูอ่อนตาเพื่อธุดงค์ หลวงปู่ชาลีก็ปลีกวิเวก ตามลำพังจนได้ไปศึกษาวิทยาคมจากสำนักเก่าของผู้เป็นอาจารย์ที่ภูเขาควายอยู่หลายปี ท่านได้สำเร็จวิชาชั้นสูงเมื่อเรียนจบสิ้นทุกอย่างแล้วท่านก็กลับมายังเมืองหนองคายอีกครั้ง และได้พำนักอยู่กับญาครูอ่อนตาดังเดิม ในตอนนั้นเองเจ้าอาวาสวัดศรีบัวบานได้มรณะภาพและทางวัดเองก็ยังไม่มีเจ้าอาวาส ญาครูใหญ่ได้มีบัญชาให้หลวงปู่ชาลีมาครองวัดศรีบัวบาน เป็นเจ้าอาวาสรูปที่๔ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ แต่ถึงกระนั้นหลวงปู่ชาลียังคงมาๆไปๆระหว่างวัดศีบัวบานกับวัดพระประดิษฐ์บ้านนาฮี เพื่อศึกษาวิชาอยู่เป็นประจำ ในสมัยหลวงหลวงปู่ชาลีเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบัวบานท่านได้พัฒนาวัดตลอดทั้งเสนาสนะต่างๆภายในวัดให้เจริญยิ่งกว่าเจ้าอาวาสทุกรูปเลยก็ว่าได้

ได้ตำราจากหลวงปู่อ่อนตา
หลวงปู่ชาลี
ท่านเป็นศิษย์ของญาครูอ่อนตา ชาวบ้านมักจะเห็นศิษย์อาจารย์คู่นี้ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ญาครูอ่อนตาท่านมีลูกศิษย์หลายคนมีเรื่องเล่าถึงสาเหตุที่หลวงปู่มีความเข้มขลังกว่าบรรดาศิษย์คนอื่นๆ คราวนั้นหลวงปู่ชาลีไปช้ากว่าเขาเพื่อน พอมาถึงของแจกก็หมด ญาครูอ่อนตาจึงเอาหมอนใบเก่าๆของท่านมอบให้ไปใบหนึ่ง ระหว่างเดินทางกลับวัด ท่านรู้สึกน้อยใจครูบาอาจารย์ ท่านจึงโยนหมอนใบเก่าๆนั้นทิ้งไประหว่างทาง แต่เผอิญหมอนใบนั้นไปเกี่ยวกับหนามไผ่จนขาด ปรากฏว่ามีเงินหมากค้อหล่นออกมาพร้อมกับใบลานก้อม (ตำราใบลานเล็ก) เล่ากันว่าเพราะตำราเล่มนี้ทำให้ท่านมีความก้าวหน้าทางวิชาอาคมเป็นอย่างมาก และเพราะตำราเล่มนี้ทำให้ท่านเจริญก้าวหน้าทางจิตจนสามารถบำบัดทุกข์ให้ชาวบ้านได้ ใครผีเข้าเจ้าสิงก็มาหาท่าน ถูกคุณไสยคุณผีคุณคนจนเป็นบ้ามาหาท่าน ท่านก็รักษาด้วยน้ำมนต์จนหาย ของหายท่านก็จับยามสามตาให้ เล่ากันว่าท่านรดน้ำมนต์ให้ญาติโยมในวันๆหนึ่งนั้น จนน้ำไหลเป็นทางสู่ห้วยศรีบัวบานเลยทีเดียว บางครั้งหลวงปู่ไม่อยู่เขาผลักคนบ้าลงใต้ท้องที่รองรับน้ำมนต์ท่านก็ยังหาย ญาติโยมจึงมาขอพึ่งบารมีท่านวันละหลายคนเลยทีเดียว

หลวงปู่สุเทพ ญาณทีโป

ลูกศิษย์จากต่างแดน
หลวงปู่ชาลี ท่านเป็นพระมหาเถระที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตามีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ด้วยกิตติศักดิ์นี้เองได้ขจรขจายไปทั้ง ๒ ฝั่งโขงจนวันหนึ่งหลวงปู่ก็ได้ต้อนรับแขกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ดั้นด้นมาขอเรียนวิชากับท่าน หนึ่งในนั้นคือท่านไกรสร พมวิหาร นั้นเอง ท่านไกรสร ได้มาขอเรียนวิชาอาคมกับหลวงปู่ชาลีอยู่หลายปีจนได้รู้จักมักคุ้นกับหลานชายของหลวงปู่ชาลีซึ่งบวชเป็นพระที่วัดบ้านบกหวาน ท่านนั้นก็คือ พระสุเทพ ญาณทีโป ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของคณะสงฆ์ลาวสมัยที่ท่านไกรสร ได้เป็นประทานประเทศลาว ท่านไกรสรกับพระสุเทพนั้นรักใคร่กันมากจนท่านไกรสรได้ไปขอกับหลวงปู่ชาลีและหลวงปู่ชาลีก็ได้มอบพระสุเทพเป็น “น้องฮัก” ท่านไกรสรกลับลาวได้ไปบอกมารดาของท่านมาขอพระสุเทพเป็น “ลูกฮัก” และขอให้ไปอยู่ลาว พระสุเทพก็ไปอยู่ลาวตราบจนท่านมรณะภาพเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ สิริอายุ ๘๖ ปี พรรษา ๖๖ ซึ่งพระสุเทพหรือหลวงปู่สุเทพ ญาณทีโป ชาวบ้านค่ายบกหวานจะเรียกท่านในนาม ญาพ่อใหญ่หลวงพระบาง และท่านเองก็เป็นหนึ่งในพระเถระที่ร่วมเสกเหรียญหลวงปู่ชาลี รุ่นแรกอีกด้วย

หลวงปู่ชาลีต้องอธิกรณ์สงฆ์
ในสมัยที่หลวงปู่ชาลียังดำรงธาตุขันธ์อยู่นั้น ตัวท่านได้ต้องอธิกรณ์สงฆ์ (ต้องโทษ) อยู่ ๒ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกนั้นท่านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ซ่องสุมกำลังพลแยกแผ่นดิน เนื่องจากสมัยนั้น ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาจากญาติโยม ๒ ฝั่งโขงจึงมีผู้คนมาหาท่านมากประกอบกับตัวท่านเองรับท่านไกรสร พมวิหาน เป็นลูกศิษย์ตัวท่านจึงถูกทางราชการจับตาเป็นพิเศษประกอบกับมีผู้ไม่หวังดีไปแจ้งต่อทางการว่าท่านซ่องสุมกำลังพลก่อกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดทางราชการได้นำกำลังมาจับท่านที่วัดเพื่อจะได้นำตัวไปสอบสวน แรกๆ ท่านก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างดี ครั้งต่อมาท่านก็ถูกกล่าวหาอีกในข้อหาเดิม เจ้าหน้าที่ก็มาจะจับตัวท่านอีก เป็นเจ้าหน้าที่ชุดใหม่มาบุกท่านถึงกุฏิแล้วจับเอาตัวท่านต่อหน้าพระเณรทั้งวัดพร้อมแสดงกิริยาไม่เคารพท่าน ท่านจึงกล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าจะจับก็ไม่ได้ว่าแต่ให้เข้าไปครองผ้าก่อน เจ้าหน้าที่ก็ให้ท่านไปครองผ้า ต่อมาไม่นานได้มีเณรน้อยเดินออกมาจากห้องหลวงปู่ เจ้าหน้าที่รออยู่นานไม่เห็นหลวงปู่ออกมาจึงพังประตูห้องไปดูแต่ไม่พบจึงได้ถามพระเณรว่าหลวงปู่หายไปไหน พระเณรต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เณรน้อยที่เดินออกมาจากห้องนั้นคือหลวงปู่ชาลีนั้นเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อกลับเข้าใจว่าทางวัดซ่อนตัวหลวงปู่จึงบอกกับพระเณรในวัดว่าพรุ่งนี้จะมาใหม่ และจะจับตัวหลวงปู่ให้ได้แล้วก็กลับไป วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาวัดศรีบัวบานตอนหลวงปู่กำลังจะฉันท์ข้าวเช้าอยู่ในศาลาการเปรียญ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขึ้นไปปิดล้อมหลวงปู่ชาลีอยู่บนศาลา หลวงปู่เห็นดังนั้นจึงได้รำพึงว่า “กูคือลำคานพวกนี้แท้” พร้อมกับบ้วนน้ำลายลงป่อง (ช่องว่างระหว่างพื้นศาลา) ในตอนนั้นได้เกิดเหตุปาฏิหาริย์ขึ้น เมื่อน้ำลายท่านลอดป่องลงไปตัวท่านได้ลอกท่องลงไปด้วยเมื่อถึงด้านล่างท่านได้เดินออกนอกรั่วหลังวัดท่านก็แปลงกายเป็นวัววิ่งข้ามทุ่งไปทางบ้านนาฮี จากเห็นการนี้ทำเอาเจ้าหน้าที่ตกตะลึงกับสิ่งที่ได้พบเห็น จนต่อมาเจ้าหน้าที่ได้รู้ความจริงว่าท่านถูกใส่ความ ถูกใส่ร้าย จึงพากันมากราบขอโทษหลวงปู่พร้อมได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์และขอของดีติดตัว หลังจากที่ท่านผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นไปได้ไม่นานหลวงปู่ชาลีก็ถูกใส่ร้ายอีกโดยครั้งนี้ท่านถูกใส่ร้ายว่าท่านมีสัมพันธ์กับหญิงสาว เนื่องจากหลวงปู่ชาลีได้เอาหลานของท่านเข้ามาเลี้ยงในวัดเพราะปัญหาความยากจน ในสมัยนั้นท่านเลยจำเป็นต้องเอาเด็กที่เป็นลูกหลานหญิงชายของท่านมาเลี้ยงดู พร้อมทั้งว่าจ้างคนดูแล ประกอบกับหลานของท่านเป็นผู้หญิง ท่านเลยถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับหญิงรุ่นหลาน ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก จนพระผู้ใหญ่ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยหาข้อเท็จจริง หลวงปู่ชาลีได้แก้ต่างว่า “โอยยญาพ่อ ข้าน้อยสิไปคิดหยังนำเขา ผู้หญิงกะมีแต่หลานดอก” พร้อมอธิบายเหตุผลจนในที่สุดท่านก็พ้นมนทินทั้งปวงลงได้

ฤทธิ์ปาฏิหารย์ (รู้ภาษาสัตว์)
หลวงปู่ชาลี ท่านเป็นพระทรงอภิญญามีฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์เช่นแปลงกายเป็นเณรเป็นวัวบ้าง เดินฝ่าฝนไม่เปียก รู้ภาษาสัตว์เป็นต้น สำหรับเรื่องรู้ภาษาสัตว์นั้นมีเรื่องเล่าอยู่ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งในฤดูแล้ง มีนกเอี้ยงกินหมากโพธิ์ภายในวัดส่งเสียงร้องก้องทั่ววัด มีชาวบ้านคนหนึ่งเข้ามาในวัดพร้อมกับถามหลวงปู่ชาลีว่า “ญาพ่อรู้บ่ว่านกมันเว้าหยังกัน” หลวงปู่ชาลีก็ตอบว่า “ฮู้เป็นหยังสิบ่ฮู้” ท่านพูดพลางชี้ไปที่ฝูงนกพร้อมพูดว่า มันบอกว่าพอมันกินที่นี้เสร็จมันจะบินไปจับต้นยางอยู่กลางทุ่งแล้วบินไปกินหมากโพธิ์ที่วัดบ้านนาฮี “ถ้าเบิ่งเด้อถ้าบ่เชื่อ” ต่อมาไม่นานนกก็บินไปจริงๆ โดยมีชาวบ้านคนหนึ่งตามไปดูแล้วปรากฏว่านกได้บินไปจับที่ต้นยางกลางทุ่งก่อนจะบินไปบ้านนาฮีจริงๆ อย่างที่หลวงปู่ชาลีพูดทุกประการ
เรื่องที่๒ ที่จะสามารถยืนยันได้ว่าหลวงปู่รู้ภาษาสัตว์ได้นั้นกล่าวคือชาวบ้านท่านหนึ่งปลูกบ้านไว้ช้างห้วยศรีบัวบาน มีอยู่วันหนึ่งฝูงเป็ดที่แกเลี้ยงไว้เกิดหายไปทั้งฝูงจึงมาขอให้หลวงปู่ชาลีจับยามสามตาให้ว่าเป็ดหายไปไหน หลวงปู่ชาลีจึงพูดว่า “ถ้าเป็ดมึงกะบ่ต้องจับยามสามตายากดอก พ่อได้ยินมันเว้ากันว่าปลาที่ห้วยศรีบัวบานหายากเลยชวนกันไปหาปลากินที่ห้วยหนองหมื่น มึงลองไปหาอยู่หนองหมื่นเบิ่งเด้อเพื่อพ้ออยู่นั้น” ชาวบ้านท่านนี้จึงกราบหลวงปู่ไปหาเป็ดที่หนองหมื่นเมื่อไปถึงก็เจอเป็ดของตนเองจริงๆอย่างที่หลวงปู่ชาลีท่านกล่าวไว้ทุกประการ
หลวงพ่อพระศรีอาริย์พระพุทรูปคู่บารมี

หลวงพ่อพระศรีอาริย์ วัดดงแขม (มฤคทายวัน)
หลวงพ่อพระศรีอาริย์ วัดดงแขม (มฤคทายวัน)


หลวงปู่ชาลี ท่านเป็นพระเคร่งพระธรรมวินัยและเข้มงวดกวดขันกับคนรอบข้าง ท่านชอบช่วยเหลือผู้ที่มาพึ่งพิงไม่เลือกยากดีมีจน จึงเป็นสาเหตุให้ผู้คนนับถือท่านมากขึ้นทุกวัน ครั้งหนึ่งมีชาวบ้านอาราธนาท่านไปสร้างวัดดงแขม (มฤคทายวัน) และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่วัดดงแขม ในยุคนั้นวัดดงแขมมีสภาพเป็นป่าชาวบ้านเรียกว่าดงพระ ด้วยเหตุมีพระพุทธรูปศิลปะขอมโบราณ ปรางนาคปรกประดิษฐานอยู่ ชาวบ้านประจักษ์ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของท่านและบ้านในแถบนั้นนับถือท่านมาก ชาวบ้านเรียกชื่อท่านว่า “หลวงพ่อพระศรีอาริย์) แต่องค์ท่านตั้งอยู่กลางแจ้ง ไม่มีใครมาดูแลแหรือสร้างที่บังแดดบังฝนให้ท่าน ต่อมาชาวบ้านพร้อมใจกันมาอาราธนาหลวงปู่ชาลีมาสร้างวัด ท่านได้สร้างอุโมงค์ครอบพระศรีอาริย์ไว้ (ต่อมาอุโมงค์ได้รื้อออกสร้างเป็นอุโบสถแทน) สร้างอุโมงค์ครอบหลวงพ่อศรีอาริย์เสร็จท่านก็เริ่มสร้างเสนาสนะต่างๆ ทั้งกำหนดอาณาเขตของวัดและท่านได้อยู่จำพรรษาที่ดงแขหลายพรรษา ว่ากันว่าหลวงปู่ชาลีท่านได้ผูกพันธ์กับพระศีอาริย์มาก เวลาหลวงปู่จะไปไหนมาไหนท่านต้องแวะกราบพระศรีอาริย์ก่อนเสมอ

กลับสู่วัดศรีบัวบาน
หลังจากเสร็จภารกิจสร้างวัดดงแขมแล้ว หลวงปู่ชาลีท่านจึงกลับมาจำพรรษาอยู่วัดศรีบัวบานตามเดิม เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวบ้านที่มาพึ่งพาอาศัยหลวงปู่ตลอดจนพัฒนาถาวรวัตถุภายในวัด หลวงปู่ชาลีนั้นท่านเป็นคนไม่ชอบถ่ายรูปโดยท่านมีความเชื่อว่าการถ่ายรูปจะทำให้อายุสั้น ถึงกระนั้นลูกหลานของท่านก็คะยั้นคะยอให้ท่านถ่ายรูปท่านจึงยอมถ่าย ปรากฏว่ามีรูปถ่ายมาจนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ว่ากันว่าได้มีคนมาแอบถ่ายรูปท่านอยูาหลายครั้งแต่ไม่เคยถ่ายติดเลยแม้แต่ครั้งเดียว รูปที่ปรากฏให้เห็นนั้นถ่ายตอนท่านอายุ ๖๖ ปี

มรณะภาพ
หลวงปู่ชาลีท่านสร้างคุณุประการมากมายจวบจนเวลาได้ร่วงเลยมาถึงกลางปี พ.ศ.๒๕๐๙ หลวงปู่ชาลีท่านก็เริ่มล้มป่วยลง ในตอนนั้นทางวัดได้พยายามหาทางรักษาท่านแต่ก็มิอาจจะยือไว้ได้จนถึงวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงปู่ชาลีท่านก็มรณภาพลงอย่างสงบสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา แต่ก่อนท่านจะมรณภาพนั้นท่านได้สั่งเสียไว้ ๒ เรื่องคือ ๑ถ้าท่านมรณะภาพแล้วให้เอาไปเผาที่วัดดงแขม ๒ เมื่อท่านมรณภาพแล้วห้ามทำรูปหล่อเหรียญเด็ดขาด จะด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ทางคณะผู้จัดงานฌาปนกิจกลับไม่ยอมจัดงานฌาปนกิจที่ดงแขม แต่จัดที่วัดศรีบัวบานแทน เมื่อท่านมรณภาพแล้วทางวัดได้ลงความเห็นว่าจะเก็บสังขารของท่านไว้จนกว่าจะพ้นฤดูฝนค่อยจัดงานถวายเพลิง แล้วได้ต่อโลงไม้เก็บสังขารของท่าน นำไปเก็บไว้หลังวัดศรีบัวบานนั้นเอง

เจดีย์ บรรจุ อัฐิธาตุ หลวงปู่ชาลี วัดศรีบัวบาน


เหตุการณ์ปาฏิหารย์ในวันฌาปนกิจสังขาร
หลังจากผ่านพ้นหน้าฝนจนล่วงเลยเข้าหน้าหนาวชาวบ้านบกหวานได้ตกลงปลงใจกันกัดงานฌาปณกิจสังขารของท่านซึ่งตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ประชาชนที่รู้ข่าวต่างเดินทางมาร่วมงานกันมากมายเป็นประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจุดไฟในการฌาปนกิจสังขารในเวลาทุ่มตรง เล่ากันว่าตอนฌาปนกิจสังขารของท่าน ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น ๓ อย่างด้วยกันคือ ๑ ได้เกิดแสงสว่างพวยพุ่งออกจากโลงศพของท่านวิ่งเป็นลำไปทางวัดดงแขม ๒ ตอนฌาปนกิจสังขารอยู่นั้น ขณะที่ไฟกำลังโหมไหม้อยู่นั้นผ้าสบงของท่านได้ลอยออกมาจากโลงศพ ชาวบ้านผู้มาร่วมงานต่างแย่งกันได้คนละเล็กละน้อย ๓ คือฌาปนกิจสังขารของท่านถึงสามครั้งดว่าจะเผาสังขารของท่านได้หมด โดยการฌาปนกิจครั้งสุดท้าย ญาติต้องทำพิธีขอขมากรรมก่อนจึงจะส่งสังขารของท่านสำเร็จ

วัตถุมงคล
ในตอนที่หลวงปู่ชาลีมีชีวิตอยู่นั้น วัตถุมงคลที่ท่านสร้างขึ้นจะเป็นเครื่องรางซึ่งต่อมาภายหลังขณะท่านอายุได้ ๖๐ ปีนั้นท่านก็เลิกทำเครื่อวรางเอง โดยส่วนให้ลูกศิษย์จะช่วยกันทำมาให้ท่านปลุกเสกเครื่องรางของท่านทุกชิ้นมีประสบการณ์สูงและเป็นที่นิยมกันมากซึ่งเครื่องรางที่ท่านสร้างมีดังนี้

๑. ผ้ายันต์ ท่านมักจะสร้างเป็นประจำทุกปีในยามบุญเดือน๑๒ งานบุญธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ โดยท่านจะให้ลูกศิษย์ช่วยลงยันต์ใส่ผ้าสบงจีวรเสร็จแล้วให้ลูกศิษย์นำไปจำหน่ายในงานบุญธาตุหลวงแทบทุกปีในราคา ๑,๓๐๐ กีบ (ในยุคนั้น) ดังผ้ายันต์นี้น่าจะมีหลงเหลืออยู่ที่นครเวียงจันทน์จำนวนหนึ่ง ผ้ายันต์ของท่านนั้นจะมีเอกลักษณ์ คือจะต้องมีรูปพรหมสี่หน้า ลูกธาตุ ตามตำราเฉพาะของท่าน ซึ่งพ่อใหญ่ วันทา ป่าแฝก ท่านเคยข้ามโขงไปขายธาตุหลวง พวกทหารลาวขอลองยิง แต่ยิงเท่าใดก็ยิงไม่ออกสักที ผ้ายันต์ของท่านขายหมดไปภายในชั่วพริบตาเดียว ผ้ายันต์ของท่านมีอยู่ขนาดเดียวกัน

๒. ตะกรุด ตะกรุดที่ท่านสร้างซึ่งมีอยู่มากมายหลายแบบครับ โดยมาหาประสบการณ์ทางด้านคงกระพันและมหาอุด เว้นแต่ ตะกรุดสาริกา ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าท่านไม่ให้ใครง่ายๆ เพราะไม่ใช้แค่เมตตา แต่เป็นมหาเสน่ห์อย่างตะกรุดนี้สร้างตามแบบฉบับของตะกรุดสาริกา คือ ดอกจะเล็กขนาดใส่ที่เปลือกตาล่างด้านในได้ โดยจะทำเป็นตัวผู้ตัวเมีย ตัวตะกรุดเป็นเงินและทองแท้คู่กัน เพื่อไม่ให้ระคายเครื่องตา ตำตำราของหลวงปู่ชาลีท่านว่าหากใครได้ไปจะต้องภาวนาจนกระจกแตกได้จึงเกิดอานุภาพอย่างสูงสุด

๓. สีผึ้ง (นวด) สีผึ้งของท่านจะเด่นทางเมตตาและค้าขาย ท่านเสกหลายวาระ ครั้งก็มีคนเอาสีผึ้งมาขอท่านเมตตาอธิษฐานจิตปลุกเสกให้ก็มี
ส่วนวัตถุมงคลที่เป็นเหรียญ รูปหล่อ เหรียญหล่อ ท่านไม่เคยสร้างตลอดชีวิตของท่าน กล่าวคือ เหรียญของ่ายที่เราบูชากันในทุกวันนี้ไม่มีรุ่นใดเป็นของท่านเลยล้วนแต่เป็นเหรียญตายทั้งสิ้น โดยศิษยานุศิษย์ต้องการสร้างวัตถุมงคลเพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านสร้างไว้จึงสร้างเหรียญรำลึกขึ้นมา ซึ่งพอรวบรวมได้ดังนี้

๑. วัตถุมงคลที่ระลึกในงานวันฌาปนกิจสังขารท่าน จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๑ โดยมีพระครูสุวรรณบัณณกิจ ออกเงินค่าทำบล็อกให้ ๑๐,๐๐๐ บาท (ในสมัยนั้น) โดยวัดสร้างด้วยกัน ๔ แบบ คือ เหรียญเสมา เหรียญดาวกระหรือพัดยศ ล็อคเก็ตใหญ่ ล็อคเก็ตเล็ก โดยมีพระครูสุวรรณบรรณณกิจ , พระครูวรเขตคุณากร (สุบิน ปัญญาสิริ) , หลวงปู่เงิน จันโท วัดศรีวิลัย (บ้านว่าน) ,หลวงปู่ใหญ่หลวงพระบาง อาจารย์สม บ้านนาฮี เป็นผู้ปลุกเสก

๒. วัตถุมงคลที่จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เนื่องงานฉลองอายุวัฒนมงคลพระครูวรเขตคุณากร (สุบิน) เจ้าอาวาสวัดพระประดิษฐ์ บ้านนาฮี โดยทำออกมาเฉพาะล็อกเก็ตใหญ่กับล็อกเก็ตเล็กเท่านั้นเป็นเหรียญ พระครูวรเขตคุณากร โดยมีพระเถราจารย์ที่ปลุกเสกรุ่นแรกเป็นคนปลุกเสกรุ่นนี้
๓. เหรียญดาวกระจาย วัดสร้างปี พ.ศ.๒๕๒๔ จัดสร้างโดยพระครูสถิต จันทโชติ บ้านโพนตาล
๔. เหรียญสมอ จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๓๒ โดยนายหล่อ มัศยานันท์
๕. เหรียญเสมา เหรียญอาร์ม และเหรียญทรงไข่ ออกวัดบ่อน้ำสถิตย์ บ้านสร้างพอก (รุ่นเสาธงหัก) จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๓๘ โดยมีหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นผู้ปลุกเสก
๖. พระผงรูปเหมือน รุ่นฉลองโบสถ์วัดศรีบัวบาน จัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๔๑
๗. เหรียญฉลองโบสถ์วัดโพธิสมภาร บ้านโพสตาล วัดสร้างในปี พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้น

หลวงปู่ชาลี อัตตคุตโต


ขอขอบคุณที่อ่าน จากนายชลธี ธาตุวิสัย
ผู้เขียน นายธีรพงษ์ ภักดี
เรียบเรียงโดย นายชลธี ธาตุวิสัย