วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (บ้านระหาน) อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ

วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (บ้านระหาน)
อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์

พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)

พระอริยเจ้าผู้มีวัตรปฏิบัติงามดั่งแสงจันทร์

พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ) ท่านมีนามเดิมว่า จันทร์ นามสกุล ร้อยตะคุ เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕ เวลาเย็น ณ บ้านปะหลาน ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ท่านมีพี่น้องรวมทั้งสิ้น ๘ คน ประกอบด้วย
๑. นายคำมี
๒. นางมาลี
๓. นายมะลิ
๔. นางมะดี
๕. พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)
๖. นางหนู
๗. นายสุข
๘. นายแดง

เดิมทีนั้น ครอบครัวของหลวงปู่ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีถิ่นฐานทำกินอยู่ที่บ้านตะคุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า ซึ่งตามภาษาอีสาน เรียกขานกันว่า “นายฮ้อย” อันเป็นที่มาของนามสกุลว่า ฮ้อยตะคุ (เรียกตามภาษาท้องถิ่นอีสาน) หรือร้อยตะคุ นั่นเอง ต่อมาโยมบิดาของท่านได้อพยพโยกย้ายครอบครัวไปทำมาหากินอยู่ที่บ้านปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งหลวงปู่ได้ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านแห่งนี้

ต่อมาบิดาของท่าน ก็ได้โยกย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ไปทำมาหากิน ณ บ้านระหาร ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัดเกาะแก้วธุดงคสถานในปัจจุบันนี้ หลังจากที่ได้ไปสำรวจมาแล้วเห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะสมแก่การตั้งถิ่งฐานบ้านใหม่ เพราะเป็นสถานที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้ตัดสินใจมาลงหลักปักฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ การอพยพโยกย้ายก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ต้องบุกบั่นฟันฝ่าป่าลึก เผชิญกับอันตรายจากไข้ป่าและสัตว์ร้ายทั้งหลาย

ในวัยเด็ก หลวงปู่ท่านเล่าว่า “บิดามารดา เป็นชาวนาชาวไร่ ทำมาหาเลี้ยงชีพ ซึ่งชาวนาไทยเรานั้นถึงจะลำบากยากไร้แค่ไหนก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนจนเกินไป อันความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้านั้น ใคร ๆ ก็ไม่อยากได้รับ แต่ชาวนาจะหลบหลีกได้หรือ ก็ต้องอดทนจนกลายเป็นความเคยชินนั่นแหละ ก็อย่างญาติโยมชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี ๔ อาบน้ำแต่งตัว ทานกาแฟพอรองท้อง ก็ต้องขับรถออกไปทำงาน ถ้าออกสายรถก็ติด บางรายถึงกับต้องเอาเสบียงอาหารติดรถไปด้วย เมื่อไปถึงที่ทำงานก็ทานอาหารเสร็จแล้วแรงฟันอีกที เสร็จพิธีก็ทำงานกับหมู่คณะได้ ชาวนาก็เช่นเดียวกัน ทำงานเหนื่อยก็ต้องอาศัยร่มไม้ใบเงา หายเหนื่อยก็ทำงานต่อไป”

◎ พบพระธุดงค์กรรมฐาน
สมัยนั้น หนุ่มๆ ทั้งหลาย ชอบเรียนคาถาอาคมไว้เพื่อป้องกันตัวเพราะมีความเชื่อในเรื่อง ไสยศาสตร์ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้อยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาดจา อุปัทวันตรายทั้งหลายได้ โยมแม่ซึ่งมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้สั่งลูกชายให้ไปเรียนคาถาอาคมกับพระอาจารย์บุญหนัก เกสโว พระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ศิษย์ร่วมรุ่นกับหลวงปู่คำดี ปภาโส แห่งวัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย) ซึ่งท่านได้จาริกธุดงค์ผ่านมาจำพรรษาในละแวกนั้นพอดี หลวงปู่ได้เล่าถึงความศรัทธาของโยมแม่ ที่มีต่อพระศาสนาว่า “โยมแม่นี่ เป็นคนที่มีความศรัทธาในพระสงฆ์เป็นอันมากท่านทำบุญทำทานในแต่ละครั้งนี่นะเหมือนกับจัดงาน เวลาไปทำบุญที่วัด ท่านไม่ทำปิ่นโตหรอก ท่านหาบไปทำบุญเลยทีเดียว ข้าวต่างหาก อาหารคาวต่างหาก ของหวานต่างหาก พระเณรที่มาอยู่ในป่าช้าไม่ต้องเดือดร้อยเลย เลี้ยงพระแล้วก็เลี้ยงคนที่มาทำบุญได้กินอิ่มหนำสำราญกันอีก ท่านเลื่อมใสพระกรรมฐานมากที่สุด เชื่อคำสอนท่านจะได้ไปสวรรค์ ท่านจึงรีบเร่งตักตวงเพื่อจะได้ไปสวรรค์ให้ได้” การเรียนคาถาอาคมนั้น จะต้องไปพักค้างแรมอยู่กับพระอาจารย์บุญหนัก ท่านมีโอกาสได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ทำความสะอาดสถานที่อยู่อาศัย ตอนเช้าพระอาจารย์ออกบิณฑบาต หลวงปู่ซึ่งขณะนั้นเป็นปะขาว ก็เดินตามคอยรับอาหารบิณฑบาตที่ญาติโยมใส่มา ตอนเย็นท่านอาจารย์ก็เรียกมาสอนคาถาโดยให้ท่องตามที่ท่านบอก ซึ่งการให้ท่องคาถาอาคมนี้ จะเป็นอุบายการสอนของครูบาอาจารย์สมัยก่อน ที่ท่านฉลาดสอนภาวนาแก่ศิษย์ให้ถูกต้องตามลักษณะอุปนิสัย เพราะผู้ที่ชอบคาถาอาคมอยากให้คาถาอาคาขลังศักดิ์สิทธิ์ ก็จักขะมักเขม้นนั่งบริกรรมการบริกรรมนี้แหล่ะ เป็นเครื่องโน้มน้าวจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่านวอกแวก และได้สมาธิเกิดความสงบโดยไม่รู้ตัว เรียบเหมือนการให้รางวัลเครื่องล่อใจแก่เด็ก เพื่อให้เขามีกำลังใจในการทำงานนั่นเอง เพราะคนที่ชอบคาถาอาคม จะมีลักษณะนิสัยเป็นคนหนักไปทางโทสะจริตและศรัทธาจริต ถ้าให้นั่งบริกรรม พุทโธ อย่างเดียว หรือให้นั่งพิจารณากรรมฐานเลยทีเดียว จิตใจจะไม่มีหลักยึดเหนี่ยวพอจะทำให้เกิดเป็นสมาธิได้ ประกอบกับคนในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องคาถาอาคมเท่านั้น จึงจะเป็นที่ยอมรับนับถือว่ากล่าวสั่งสอนเขาได้ ถ้าไม่เอาอุบายเรื่องคาถาอาคมมาเป็นเครื่องล่อคงจะไม่มีใครสนใจมาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิสวดมนต์ภาวนา สมกับที่ท่านมุ่งหวังจะสอนเป็นแน่แท้ เพราะหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น ถ้าเปรียบกับต้นไม้ซึ่งมีทั้งเปลือก แก่น และกระพี้ ธรรมะคำสอนก็ย่อมเหมาะกับบุคคลผู้มีอุปนิสัยหยาบ ละเอียดแตกต่างกันออกไป

เช้าวันหนึ่ง ในขณะที่หลวงปู่ได้เดินตามพระอาจารย์บุญหนักเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน พระอาจารย์ชี้ให้ดูสาวๆ ที่กำลังเดินตามถนนผ่านมา ซึ่งแต่ละนางก็ล้วนแต่มีหน้าตาสวยสดงดงาม อรชอนอ้อนแอ้น ผิวขาวเรือนร่างช่างน่าทัสนาชี้ชวนให้หลงไหล ยิ่งนัก เพราะกำลังเจริญสู่วัยสาวทุกคน ยิ่งเสียงสนทนาพาทีของพวกเธอก็ยิ่งชวนเคลิบเคลิ้ม หวานไพเราะเสนาะโสต พอได้โอกาสเหมาะสม ท่านอาจารย์ได้ถามหลวงปู่ขึ้นว่า “เซียงจันทร์ เห็นสาวๆ พวกนั้นไหม ?” หลวงปู่ตอบว่า “เห็นครับ” ท่านถามต่ออีกว่า “สวยไหม ?” หลวงปู่ตอบว่า “สวยครับ”
หลังจากเดินไปได้อีกครู่หนึ่ง ก็มีคนแก่กลุ่มหนึ่งเดินผ่านมาซึ่งแต่ละคนช่างดูน่าเวทนาอาดูรยิ่งนัก บ้างก็ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น หลังค่อม ดูการแต่งกายก็ซอมซ่อ เงอะๆ เงิ่นๆ กว่าจะเดินได้แต่ละเท้ากว่าจะก้าวได้แต่ละที ดูช่างลำบากเสียนี่กระไรเสียงคุยสนทนาก็แตกพร่านัยน์ตาก็มืดมัว พระอาจารย์ท่านได้พูดให้ข้อคิดว่า “ ต่อไป พวกสาวๆ ที่ว่างามเหล่านั้น ก็จักเป็นอย่างนั้น ”

พอท่านชี้ให้เห็นเฉกเช่นนั้นแล้ว ในใจหลวงปู่ได้แต่ตรึกตามอารมย์ที่บังเกิดเพราะเห็นความแตกต่างระหว่างคนสองวัย คนเราเกิดมาแล้ว ก็จักต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายด้วยกันทุกคน เรามัวแต่หลงวัย ลืมความจริงไปว่า เราเองก็จักต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

วันต่อมา ท่านพระอาจารย์ชี้ไปที่เรือนหลังงานใหญ่โตหลังหนึ่งแล้ว ถามว่า “เรือนหลังนั้นสวยไหม” หลวงปู่ท่านก็ตอบไปตามความคิดว่า “สวยครับ” ต่อมาท่านพระอาจารย์ก็ชี้ไปที่เรือนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเก่าแก่ทรุดโทรมจะพังมิพังแหล่ แล้วท่านก็พูดขึ้นว่า “ต่อไปอีกไม่นาน เรือนหลังงามหลังนั้น ก็จะทรุดโทรมเหมือนเรือนหลังนี้” ท่านพระอาจารย์บุญหนัก ท่านใช้วิธีการสอนด้วยการยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้ามาเป็นตัวอย่าง แล้วชี้ให้เห็นภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง หลังจากที่ได้พิจารณา ท่านใช้วิธีการสอนด้วยการยกเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้ามาเป็นตัวอย่าง แล้วชี้ให้เห็นภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง หลังจากที่ได้พิจารณาไตร่ตรองตามแล้ว ก็ทำให้จิตใจของหลวงปู่เกิดความสลดสังเวชเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย เห็นแจ้งตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีสิ่งใดจะเป็นของเราสักอย่างเดียว ที่เรามัวเห็นว่าสวยงาม ว่าเป็นของๆ เราอยู่นั้นก็เพราะเรามีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นลุ่มหลงไปตากระแสแห่งอารมย์ที่เปลี่ยนไปทุกขณะจิต ด้วยอิทธิพลของกิเลสแท้ๆ

หลวงปู่ได้เล่าถึงพระอาจารย์บุญหนักว่า “ พระอาจารย์บุญหนักท่านเป็นชาวบ้านจังหวัดขอนแก่น เป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น นี่แหละ ท่านเป็นพระรุ่นเดียวกับหลวงปู่คำดี ปภาโส เดินธุดงค์ และเคยมาฝึกจิตอบรมธรรมะที่วัดป่าสาลวันด้วยกัน โดยมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้ให้กรรมฐาน ท่านเดินธุดงค์มาจากอุดรธานี ขอนแก่น มาถึงนครราชสีมา ไปอยู่ถ้ำพระเวสถ้ำพระ และสถานที่อันวิเวกหลายๆ แห่ง ปฏิปทาของท่านงดงามมาก ตามแบบฉบับศิษย์หลวงปู่มั่นเลยทีเดียว

ในเรื่องการสอน การอบรม ท่านพระอาจารย์บุญหนัก ท่านมีปฏิภาณโวหารในการสอนคนได้เก่งมาก อย่างเหตุการณ์ที่ปรากฎแก่ตนเอง พอได้ฟังครั้งแรกก็คิดในใจว่า เอ…เราไม่เคยได้ยินธรรมะแบบนี้มาก่อนเลย ท่านเริ่มพูดก็เสียดแทงหัวใจได้เผงๆ เลยไม่เหมือนที่เราเคยเห็นพระองค์อื่นๆ เลย ก็อ่านตามใบลานที่ช่างพิมพ์มาให้ เอาตามใบลานมาเทศน์มาสอนชาวบ้าน นี่ท่านไม่มีหนังสืออะไรทั้งนั้นนั่งหลับตาก็พูดๆ ออกมา มีอะไรที่ทำชั่วช้าอยู่ ท่านดักใจหงายท้องไปหลายราย
ท่านสอนให้นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง หลับตาแล้วบริกรรมภาวนาในใจพร้อมกับกำหนดลมหายใจเข้าว่า พุท กำหนดลมหายใจออกว่า โธ พุท โธ ๆ ๆ พอนั่งไป ๆ ฟังท่านพูดไปเรื่อย ๆ จิตใจก็เกิดความสงบอย่างบอกไม่ถูก เป็นความรู้สึกใหม่ที่ได้รับ ท่านพูดได้ว่าพระอาจารย์บุญหนักรูปนี้เป็นผู้มีพระคุณมาก ด้วยท่านเป็นผู้ให้กรรมฐานเป็นรูปแรก

◎ ได้มรณานุสติกรรมฐาน
วันหนึ่ง หลวงปู่ได้ไปถากไร่บริเวณใกล้ป่าช้า เพื่อเตรียมสถานที่สำหรับเพาะปลูก ถางไรอยู่จนเวลาใกล้เพล แม่ก็ยังไม่เอาข้าวมาส่ง เหนื่อยอ่อนล้ามาก ท่านเล่าว่า “เหนื่อยมาก แทบจะขาดใจตาย” แล้วฉับพลัน สายตาก็เหมือนเห็นหัวกระโหลก และโครงกระดูกของคนตาย ที่ญาตินำเอาศพมาฝังบ้างเผาบ้างในป่าช้า กระจัดกระจายไปทั่ว พอมีไฟป่าเกิดไหม้ป่าขึ้น จึงทำให้มองเห็นโครงกระดูกเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณนั้น เมื่อเห็นภาพเหล่านั้น ในใจมันฉุกคิดขึ้นมาว่า “ต่อไปข้างหน้าตัวเราเองก็ต้องเป็นเหมือนโครงกระดูกที่นอนเรียงรายกันอยู่อย่างนี้ เราเองก็ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ไม่อาจพ้นไปได้ สรรพสัตว์ทุกตัวตนที่เกิดมาในโลกนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ คนเราทุกคนไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลย แม้แต่คนเดียว ในใจขณะนั้นได้พิจารณาเห็นหลักสัจธรรม คือ อนิจจํ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกฺขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา ไม่มีตัวตนมองเห็นไตรลักษณ์ ตามสภาพความเป็นจริง จิตใจก็ยอมรับความเป็นจริงนั้นเอง โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตาก็ปรากฎแต่รูปโครงกระดูก โครงกระดูกลอยมาติดตามเป็นนิมิต ได้แต่พิจารณาถึงธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จนกระทั่งแม่เอาอาหารมาส่ง และยิ่งเห็นจริงอย่างลึกซึ้งถึงใจว่า คนเราต้องตายแล้วตายเล่า เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ ภพแล้วภพเล่า ชาติแล้วชาติเล่า ชีวิตนี้ช่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้เลย”

◎ ตัดสินใจออกบวช
ก่อนที่หลวงปู่จะอุปสมบทนั้น ได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายในการครองชีวิตฆราวาสหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งถึงกาลเวลาแห่งความแก่รอบของบารมีธรรม ท่านจึงตัดสินใจเป็นแน่วแน่ว่าจะบวช

แต่ก่อนที่จะบวชจริงๆ ท่านได้ครุ่นคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดีหนอ เพราะตอนนี้เป็นเหมือนเดินมาสู่ทางสองแพร่ง ลังเลสงสัยว่าจะเลือกทางไหนดี จะออกบวชหรือจะอยู่ครองฆราวาสวิสัย ได้นั่งวาดมโนภาพในเรื่องฆราวาสวิสัยว่า “ถ้าหากเราแต่งงานมีภรรยา มีลูก ๓ คน มีบ้านมีที่นา มีสวน มีทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ชาวโลกเขามีกัน แล้วสมมติว่า เราตายก่อนภรรยา ภรรยาเราเขาก็ต้องแต่งงานใหม่ เพราะยังสาวอยู่ บังเอิญไปได้นักเลง นักการพนัน ขี้เหล้าเมายา คนไม่ดีมาเป็นสามีใหม่ เขาก็ต้องมาล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่เราหามาไว้จนหมดเกลี้ยง มิหนำซ้ำยังทิ้งลูกเราภรรยาเรา ให้อดอยากลำบากยากแค้น แล้วเราจะทำอย่างไร

เมื่อพิจารณาถึงเหตุนี้ ก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “อย่างกระนั้นเลยกับชีวิตฆราวาส การแต่งงาน การสร้างโลก สร้างภพ สร้างชาติ ไม่มีที่สิ้นสุด เราจะเลือกเอาทางบวชดีกว่า” เมื่อตัดสินใจจะบวชก็คิดทบทวนอีกว่า “ถ้าบวช ก็จะเสียเวลาทำมาหากิน สมมติว่าเราบวช ๕ ปี ถ้าปลุกมะม่วงในระยะเวลาเท่านี้ ก็จะได้กินหมากกินผล หากสึกออกมาก็จะสร้างฐานะสร้างตัวไม่ทันคนอื่นเขา ถ้าบวชเราต้องไม่สึก ถ้าบวชแล้วสึก เราจะไม่บวช” ท่านได้ตั้งปณิธานไว้ในใจเช่นนี้

ฝ่ายบิดาของหลวงปู่ก็ถามลูกชายว่า “เซียง จะเอาอย่างไรกับชีวิต จะแต่งงานไหม? ก็ไม่ได้รับคำตอบจากลูกชายสักที จึงได้ยื่นคำขาดว่า “ถ้าไม่แต่งงาน ก็ต้องบวชและถ้าบวชก็ต้องอยู่ให้ได้เป็นพระครู อย่าสึกนะ” เมื่อบิดาเปิดทางให้ดังนี้ จึงได้ตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย “เราจะบวช” ได้ตั้งสัจจะไว้ในใจแต่ไม่พูดให้ใครรู้ว่า “เอาล่ะ บ้านแห่งนี้ ฉันจะไม่กลับมาเหยียบในเพศเป็นฆราวาสอีก” เพราะพิจารณาเห็นว่า ชีวิตของฆราวาสแก่นสารสาระไม่ได้เลย มันขัดข้องวุ่นวานไปหมด เฉกเช่นคนอื่นๆ ได้อีกต่อไป แม้ว่าจะพยายามทำตามอย่างหนุ่มๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ถึงจะมีสาวๆ มาหลงรัก ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างที่คนอื่นๆ เขาต้องการได้เลย กลับมามองเห็นว่า คนเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้สูงศักดิ์ หรือยาจกผู้เข็ญใจ ก็ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ไม่ว่าจะคิดอะไรก็มาลงที่ความตายทุกทีฯ

◎ อุปสมบท
เมื่อตัดสินใจว่าจะบวช บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นนาคที่วัดกระดึงทอง ซึ่งขณะนั้นมีพระอาจารย์แก้วเป็นผู้ปกครองได้รับเข้าเป็นนาคแล้วถามว่า “จะบวชนานไหม” หลวงปู่ตอบว่า “บวช ๓ ครับ” เพราะไม่กล้าบอกออกไปว่าจะบวชไม่สึก เพราะโดยอุปนิสัยของท่านแล้ว ถ้าทำอะไรยังไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้จะไม่พูดไปก่อน แต่คำว่า “สาม” ของท่านนั้น คงจะหมายถึงปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ซึ่งท่านได้อุทิศถวายให้แก่พระพุทธศาสนาแล้ว

ในสมัยนั้น การจะบวชเป็นพระธรรมยุติ เป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร จะต้องเดินทางไปเป็นแรมคืนทีเดียว เพราะในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ที่เป็นวัดธรรมยุติมีพัทธสีมาสามารถให้การอุปสมบทได้ ก็มีเพียงวัดเดียวเท่านั้น คือ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

หลวงปู่ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบูรพาราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ โดยมี พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูรัตนากรวิสุทธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพสุทธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูคุณสารสัมบัน แห่งวัดวชิราลงกรณวราราม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า เขมสิริ ขณะที่ท่านอายุได้ ๒๓ ปีเต็ม

◎ รับโอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่จันทร์แรม บวชได้ ๔ พรรษาได้เข้าไปพักที่วัดป่าบ้านหนองผือพร้อมเณร อยู่ได้เพียงเดือนกว่า ไม่ได้อยู่ประจำเพราะไม่มีผู้รับรอง วันหนึ่ง หลวงปู่จันทร์แรม ทำข้อวัตรโดยถือไม้กวาดลงกุฏิเพื่อกวาดตาด ขณะที่หลวงปู่จันทร์แรม กวาดตาดอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินผ่านมา หลวงปู่จันทร์แรมเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเข้าก็รีบหนีด้วยความเกรงกลัว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดว่า”หยุดก่อนๆ พระน้อย อย่าเดินหนี อย่ากวาดเร็ว มันไม่สะอาด” แล้วท่านก็ได้ถามหลวงปู่จันทร์แรมว่า “มาจากจังหวัดไหน” หลวงปู่จันทร์แรมกราบเรียนว่า ”มาจากบุรีรัมย์ ขอรับ” ท่านกล่าว่า “เพิ่งเห็นพระมาจากบุรีรัมย์” แล้วถามต่อว่า “ไล่ทหารหรือยัง?” หลวงปู่จันทร์แรมตอบว่า “เรียบร้อยแล้วครับ” และท่านพระอาจารย์มั่นได้เตือนหลวงปู่จันทร์แรมว่า “อย่าหนีน่ะ อย่ากลับบ้านน่ะ ถ้ากลับบ้าน ก็จะกลายเป็นคนบ้าน ตัด “น” ออก”

จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่นได้ให้โอวาทกับหลวงปู่จันทร์แรม ตรงริมทางนั้นเองว่า “การภาวนาอย่านอน ๓ ทุ่ม ๔ ทุ่มจึงนอน นอนตื่นเดียวไม่ให้นอนซ้ำ เมื่อตื่นขึ้นให้ภาวนาต่อ ก่อนภาวนาต้องมีสติ เอาใจใส่ต่องานที่เราทำ อย่าทำแบบลวกๆ กลางวันอย่านอน ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิ ให้ไปทำหลังวัดที่เป็นป่ากระบาก นอกจากนั้นให้ไปที่ถ้ำพระบ้านนาใน เป็นถ้ำที่มีเสือเดินผ่าน ด้วยความกลัวจะทำให้จิตเป็นสมาธิเร็ว อย่าขี้เกียจ” ชึ่งปกตอท่านพระอาจารย์มั่นจะไม่อบรมธรรมะโยยืนพูดกับเณรข้างทางเลย หลังจากท่านเมตตาเทศน์ให้หลวงปู่จันทร์แรมแล้ว ท่านก็เดินกลับกุฏิ พระรูปอื่นก็เข้าไปถามว่า “ท่านพระอาจารย์มั่นท่านด่าอะไร” เป็นที่แปลกใจของหมู่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นอย่างมาก เพราะเข้าใจว่าหลวงปู่จันทร์แรมถูกท่านพระอาจารย์มั่นดุ ชึ่งโอวาทธรรมที่หลวงปู่จันทร์แรมได้รับจากท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้น เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่หลวงปู่จันทร์แรมมีโอกาสได้รับธรรมะโดยตรงจากท่านพระอาจารย์มั่น เป็นที่ปลื้มปีติและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งจนถึงทุกวันนี้ในเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

(ซ้าย) หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ (ขวา) หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

◎ มรณภาพ
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่จันทร์แรม เริ่มอาพาธด้วยโรคหัวใจ ต้องเข้ารับการรักษาและดูแลจากคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด กระทั่งเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น. วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ หลวงปู่จันทร์แรม กำลังฉันภัตตาหารเพล เกิดหมดสติล้มฟุบลงกับพื้น คณะศิษย์ที่อยู่บริเวณนั้นต่างช่วยกันรีบนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์

ครั้นมาถึงโรงพยาบาลเอกชนฯ คณะแพทย์ช่วยกันปั๊มหัวใจ กระทั่งหลวงปู่จันทร์แรมหัวใจทำงานอีกครั้ง แต่หลวงปู่จันทร์แรมยังไม่รู้สึกตัว จึงได้นำตัวหลวงปู่จันทร์แรม ส่งไปรักษาต่อที่ห้องไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์

 ในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้มีครูบาอาจารย์หลายรูป เช่น หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม วัดกระดึงทอง จ.บุรีรัมย์, หลวงปู่ประสาน สุมโน วัดป่าหนองไคร้ จ.ยโสธร, หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย จ.สุรินทร์ , หลวงพ่ออาจ อาวุธปัญโญ วัดทุ่งโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ และคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาสเป็นจำนวนมากได้เข้าเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่ ทุกคนที่มาล้วนมีความรู้สึกอันเดียวกันว่าร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์คงจะอยู่กับพวกเราได้อีกไม่นาน

ในที่สุดช่วงเวลาแห่งความวิปโยคของบรรดาลูกศิษย์ก็มาถึง ในยามดึกสงัดก่อนรุ่งของ วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ หลวงปู่เริ่มแสดงอาการอาการลาธาตุขันธ์ การทำงานระบบต่างๆของร่างกายเริ่มยุติลงกระทั่ง เวลา ๐๑.๕๐ น. หลวงปู่ก็ได้ละทิ้งธาตุขันธ์ เข้าแดนเกษมแห่งธรรมด้วยอาการสงบ สิริอายุ ๘๗ ปี ๒๐๓ วัน พรรษา ๖๕ ทิ้งมรดกธรรม คุณงามความดีไว้แก่โลก ให้บรรดาลูกศิษย์ได้ยึดถือเป็นคติตัวอย่าง ดำเนินรอยตามพระอริยเจ้าผู้งามพร้อมด้วยคุณอันประเสริฐ

พระมหาธาตุรัตนเจดีย์บุรีรัมย์
เจดีย์ที่ตั้งสรีระสังขาร พระครูเขมคุณโสภณ(หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)
รูปเหมือนบูชา พระครูเขมคุณโสภณ หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน
พระครูเขมคุณโสภณ(หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ)