วันจันทร์, 9 กันยายน 2567

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย ต.มหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม

ประวัติและปฏิปทา พระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) วัดธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย

สถานะเดิม
นามเดิมชื่อ “คำพันธ์” เกิดในสกุล “ศรีสุวงค์” ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ บิดาท่านชื่อ นายเคน ศรีสุวงค์ มารดาท่านชื่อ นางล้อม ศรีสุวงค์ ที่บ้านหมู่ที่ ๔ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ โยมพ่อเสียชีวิต

อุปนิสัยท่านเป็นคนเงียบ ไม่คะนอง ไม่ซุกซนและชอบคบเพื่อนที่ไม่ซุกชน ถ้าคนไหนซุกชนก็ไม่คบ ชอบทำงานอยู่กับบ้านช่วยพ่อแม่ เป็นคนมีความเมตตา ทั้งคนและสัตว์

บรรพชาเป็นสามเณร
ขณะอายุ ๑๗ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๗๕ ที่วัดศรีบุญเรือง บ.หนองหอย ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เชื่อม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาอักษรธรรม และหนังสือสูตรคาม แบบโบราณ และฝึกปฏิบัติกัมมัฎฐาน

หลังจากบวชเณรได้ ๓ ปี
ออกเดินธุดงค์ปักกรดไปที่จังหวัดเลย พร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระภิกษุบุญ และพระภิกษุวัน ได้พบกับชีปะขาวคนหนึ่ง ชื่อว่าครุฑ ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากชีปะขาวอยู่ประมาณ ๓-๔ เดือน และได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าที่บ้านเดิม อยู่ประมาณ ๓ ปี ชาวบ้านก็นิมนต์ท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเพื่อโปรดญาติโยมชาวบ้านบ้าง หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ต่อ

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ อายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม ได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมพร้อมทั้งปฏิบัติกรรมฐานควบคู่ไปด้วย
เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ อายุ ๒๒ ปี สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี

โยมแม่เสียชีวิต
เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ อายุ ๒๔ ปี มารดาของท่าน ก็ถึงแก่กรรม เวลานั้นเหลือน้องผู้หญิง ๒ คน ซึ่งยังเล็กมาก ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ขาดที่พึ่งขาดผู้นำครอบครัว เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านได้ตัดสินใจสึกออกจาก สมณะเพศ ทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว ดูแลเลี้ยงน้อง เป็นกำลังหลักในการพาพี่น้องทำไร่ทำนา

ความรัก ความพลัดพราก
จากการที่ท่านลาสิกขาบทจากสมณะเพศ ออกมาเพื่อดูแลเลี้ยงดูน้องๆ ทำให้ท่านได้พบได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับตัวท่านในหลายด้าน
ที่สำคัญ คือ ท่านได้มีความรัก เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มแน่น ทำให้เกิดความรักกับหญิงสาวคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ชื่อ ศรีสุพรรณ แม้ว่าฐานะของท่านจะยากจนเป็นกำพร้า แต่พ่อแม่พี่น้องของสาวเจ้าก็ไม่เคยรังเกียจ เพราะท่านครองตนมีความขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพ ไม่ทำให้ตนเป็นหนุ่มเสเพลดื่มเหล้าเมายา ผู้คนในหมู่บ้านก็ยกย่องในความขยันของท่านต่างก็ให้การสนับสนุน
เมื่อถึงเวลาที่นัดหมาย ได้ฤกษ์ยามงามดีแล้ว ก็ยกขันหมากไปสู่ขอตามประเพณี ในขณะนั้นขันหมาก (พาขวัญ) ไม่มีลมพัด อยู่ๆ ก็ล้มพังลง ฝ่ายแม่เจ้าสาว บอกว่าเป็นเหตุที่ไม่ดี ให้พักไว้ก่อน ได้เวลาที่ดีจะยกขันหมากไปเอง

พิจารณาธรรม
ในขณะที่รอฝ่ายเจ้าสาวหาฤกษ์ยามอยู่นั้น ท่านมีอุปนิสัยทางธรรมอยู่แล้ว ก็นั่งสมาธิพิจารณาธรรม
พิจารณาถึงชีวิตมีครอบครัว มีลูกหลาน ชราความแก่เฒ่า ความตายไป เมื่อมาถึงตรงนี้ ความคิดดับวูบไป ความมืดมิดเข้ามาในสภาวะนั้น เกิดความคิดว่า ชีวิตของการครองเรือนคงไม่เจริญเป็นแน่

พิจารณาถึงชีวิตของนักบวช
แสวงหาโมกขธรรม ก็เกิดแสงโอภาส สว่างไสว พิจารณาธรรมไปเรื่อย แสงสว่างยิ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ ท่านเกิดความคิดว่า การครองเรือนเป็นหนทางที่มืดมน การบวช เป็นหนทางที่สว่างไสว ยิ่งแก่ชรา ธรรมะยิ่งสว่างไสว จึงตัดสินใจบวชอีกครั้ง บอกฝ่ายเจ้าสาวว่า บวชสักระยะหนึ่งก่อน
โดยไม่ได้บอกวันลาสิกขา

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ หนที่ ๒
เมื่ออายุ ๓๐ ปี ท่านได้กลับเข้าอุปสมทบอีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ชัย อ.นาแก จ.นครพนม โดยมี พระครูนาครธรรมนิเทศ เป็นพระอุปัชฌาย์ ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ และได้ออกไปจำพรรษาที่วัดป่า เป็นเวลา ๓ พรรษา ต่อมาก็ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานพร้อมเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดพระพุทธบาทจอมทอง บ้านหนองหอยใหญ่ ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก
เมื่อสอบได้นักธรรมเอกได้แล้ว ก็ได้ศึกษาพิเศษ
เช่น เรียนหนังสืออักษรธรรม อักษรขอมและทรงพระปาฎิโมกข์ได้อย่างแม่นยำ

สัจจะชีวิตความตาย
ช่วงที่ท่านบวชอยู่นั้น ฝ่ายหญิงก็มีชายหลายคนมาสู่ขอ เธอก็ปฏิเสธ ยังคงรอท่านอยู่ ใจหนึ่งเห็นถึงความรักจริงของฝ่ายหญิง อีกใจหนึ่งก็นึกถึงธรรมะที่เคยพิจารณา เมื่อท่านบวชพระได้ ๕ พรรษา หญิงสาวก็ป่วยไข้ อาการไม่ดีขึ้น จึงฝากบอกข่าวมายังท่านว่า.. อยากจะเห็นหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อรู้ว่าท่านมาแล้ว
ก็ให้คนเอาไต้ (คบเพลิง) มาที่หลวงปู่ เพื่อจะได้เห็นท่าน พอเยี่ยมไข้พอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงเดินทางกลับวัด ขณะถึงวัดไม่นาน ก็มีคนมาแจ้งข่าวว่า สาวศรีสุพรรณ เสียชีวิตแล้ว ท่านเล่าว่า.. ความรู้สึกตัวเบา ใจสั่นหวิว เพราะท่านมีความรู้สึกรักและผูกพันอยู่บ้าง ซึ้งในความรักจริง เกิดความเมตตาสงสารจับใจ
เมื่อถึงเวลางานศพ ท่านกับพระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ ก็ขึ้นไปสู่บ้านหญิงสาวที่เสียชีวิตนั้น เมื่อขึ้นไปบนบ้าน ภาพที่เห็นคือ ศพที่ตาย มีผ้าสีขาวคลุมไว้ แม่ของหญิงสาว ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ข้างๆ คร่ำครวญอยู่ว่า

“คนบวชก็บวชไป คนรอก็รอจนตาย”

ท่านรู้สึกอัดแน่นในใจ พูดอะไรไม่ออก เป็นคำพูดที่เสียดแทงใจ
ท่านกลับมาพิจารณาว่า

“คนเรา มีบุญกรรมเป็นของๆ ตน”

เป็นไปตามกรรม ไม่มีใครหลีกหนีพ้นกรรมไปได้ หากท่านแต่งงานกับเขา ก็คงมีลูกด้วยกัน เมื่อหญิงนี้ตายไป ก็คงเป็นพ่อหม้าย เลี้ยงลูก จะกลับมาสู่เส้นทางธรรมคงยาก

ประสบการณ์ธุดงค์
หมีใหญ่
ตอนอยู่ที่วัดบ้านภูโคก จังหวัดเลย ท่านได้รู้ข่าวจากชาวบ้านว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่บ้านน้ำมี ตายแล้วฟื้น จึงได้ลาน้าเขย กลับไปบ้านน้ำมี น้าเขยได้เตือนหลวงปู่ฯว่า ให้ระวังในตรงทางที่จะไปนั้น ถ้าผ่านภูแขกลงไป จะมีขอนไม้ยางใหญ่นอนขวางทาง ถ้าถึงตรงนั้นให้หยุดดูก่อน อย่าเพิ่งไปให้ส่องลอดใต้พื้นดูก่อน ถ้าไม่อะไรค่อยเดินต่อไป เพราะจะมีเสือแอบซ่อนตัวอยู่ตรงนั้น และหมีใหญ่ก็จะมาแอบซ่อนอยู่ตรงนั้น ในขณะที่เดินทางตามเส้นทางป่าอยู่คนเดียวมาถึงตรงนั้น นึกถึงคำพูดของน้าเขยแล้ว ก็ค่อยๆ ส่องดูใต้ขอนไม้ยางใหญ่ เมื่อไม่เห็นมีอะไร จึงเดินต่อไป ได้ประมาณ ๑ เส้น (๔๐ เมตร) ก็ได้เจอหมีใหญ่ ซึ่งกำลังขึ้นใต้ไม้สูงประมาณ ๒ เมตร จากพื้นดินขึ้นไป ท่านเล่าว่า ตรงนั้นมีโพรงไม้ หมีก็อยู่ตรงนั้น มันกำลังกัดกิ่งไม้ กิ่งหนึ่งก็ตรงลงมาถูกเท้าของท่านพอดี ท่านมองดูกิ่งไม้ แล้วแหงนมองดู จากที่กิ่งไม้หล่นลงมา ก็เห็นหมีตัวใหญ่ห่างจากท่านประมาณ ๔ เมตร เมื่อนึกถึงคำพูดคำนี้แล้ว ท่านก็ชำเลียงสายตา เห็นสายตาของหมีมันอ่อนลง ท่านก็กำหนดแผ่เมตตาว่า

“การที่เราเดินทางมานี้ โดยไม่มีเจตนาจะประทุษร้ายเบียดเบียนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง เราได้เจริญเมตตามาตลอด เราบวชมาแสวงโมกขธรรม ไม่ได้แสวงหาอย่างอื่น ขอให้อยู่เป็นสุขๆเถิด อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย”

เมื่อท่านรู้ว่านัยน์ตาของหมีก็อ่อนลงแล้ว ท่านก็ได้เดินผ่านไป
ท่านยืนจ้องมองดูหมี หมีได้จ้องมองดูท่าน หลวงปู่ระลึกคำพูดของคนโบราณที่พูดต่อกันมาว่า ถ้าเจอหมีแล้วไม่ให้ดูหน้ามัน หมีมันเกลียดตาของมนุษย์เพราะตาของมนุษย์นี้มันแข็งมันจะดุและทำร้ายคน

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

ควายป่า
พอเดินทางผ่านไปได้ประมาณ ๒ กิโลเมตร ตรงนั้นเป็นทางโค้งหักมุม ก็ไปเจอกับควายป่าตัวใหญ่ เขา ๒ ข้างใหญ่ เมื่อควายป่านั้นเจอหลวงปู่ มันก็ก้มหน้าลง พร้อมที่จะวิ่งเข้ามาขวิด เขาสองข้างก็ตรงมาที่ท่าน ท่านกับควายป่า ห่างจากกันประมาณ ๒ เมตร ทางที่จะหลบหนีไปก็ไม่มี ข้างขวามีป่ารกด้วยหนาม ข้างซ้ายก็เหมือนกัน เป็นเส้นทางที่แคบ พอที่จะเดินได้เท่านั้น ควายป่านั้นก็เหมือนกัน มันก็ไปไหนไม่ได้ติดป่าไม้เช่นกัน ท่านก็คิดว่า เราจะทำอย่างไรดี ไปซ้ายก็ไม่ได้ ไปข้างขวาก็ไม่ได้ ได้แต่ยืนพิจารณาอยู่ว่า ทำอย่างไรดีควายป่ามันจะหลีกทางให้ ไม่ทำร้ายเรา ท่านคิดว่า ถ้ามันวิ่งมาเพื่อจะขวิดก็จะหลบออกข้างๆ ไม่มีวิธีอื่นแล้ว
ระหว่างนั้นหยุดนิ่งอยู่ประมาณ ๑๐ นาที จิตของท่านก็เกิดอกุศลขึ้น คืออยากที่จะแกล้งให้มันตกใจหนีไป เมื่อคิดได้เช่นนี้ ท่านก็หยิบร่มกลดธุดงค์ที่ถือมา ค่อยๆ จับด้ามของกลด ชักกลัดขึ้น เสียงดังพรึ่บ ควายป่าได้เห็นและได้ยินเสียงก็ตกใจกลัว หัวมันซุกเข้าไปในป่า ก้นควายก็ยังไม่พ้นเส้นทาง เพราะเป็นป่าหนาม ท่านหลบออกข้างหลังของควายป่านั้นด้วยความปลอดภัย

ฝูงลิง
เมื่อเดินทางมาถึงชายทุ่งแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า หนองหมาใน ท่านได้สังเกตเห็น สีแดงเต็มทุ่งนาไปหมด ไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ พอดูนานๆ ก็มองเห็นลิงตัวหนึ่งมันเต้นขึ้น เต้นลง ก็รู้เลยว่า ทั้งหมดสีแดงๆ นั้น เป็นฝูงลิง ท่านคิดว่า ทำไมถึงมากมายขนาดนี้ ลิงตัวหนึ่งมันมองเห็นหลวงปู่ ก็วิ่งมาหาท่าน เมื่อตัวหนึ่งวิ่งมาลิงตัวอื่นๆ เห็นก็วิ่งมา ท่านก็รู้สึกกลัวลิงจะมาทำร้ายเหมือนกัน ท่านนึกในใจว่า.. ถ้ามันมาทำร้ายเรา ก็คงไม่เหลือสักชิ้นเลย เพราะมันฝูงใหญ่จำนวนมาก ท่านก็ยืนไม่ทำอะไร ได้แต่มองดูลิง ลิงมันก็ทำหน้าตาหลอก บางตัววิ่งวนรอบตัวท่าน ท่านก็ยืนสงบนิ่งเฉยอยู่ กำหนดแผ่เมตตา

“การที่เราเดินทางมานี้ โดยไม่มีเจตนาจะประทุษร้ายเบียดเบียนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง เราได้เจริญเมตตามาตลอด เราบวชมาแสวงโมกขธรรม ไม่ได้แสวงหาอย่างอื่น ขอให้อยู่เป็นสุขๆเถิด อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย”

มีตัวหนึ่งร้องขึ้น เหมือนกับส่งสัญญาณ ว่าให้ไปที่อื่น ตัวที่เหลือเริ่มเดินทางไปตามๆ กัน ท่านก็เดินทางต่อไป จนไปถึงบ้านน้ำมี ที่พระตายแล้วฟื้น

พลังแห่งเมตตา
เมื่อครั้งที่ท่านปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่วัดป่าแห่งหนึ่ง ห่างจากบ้านหนองหอยใหญ่พอสมควร เมื่อท่านทราบว่า สามเณรเปอ ที่พักอยู่วัดบ้านป่วยหนัก จึงเดินทางไปเยี่ยม พร้อมกับสามเณรสม ซึ่งเป็นสามเณรอุปัฏฐาก ท่านมีความรู้เรื่องยาสมุนไพรรักษาโรค เมื่อเยี่ยมไข้ ซักถาม พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก่อนจะกลับได้ให้ ธรรมะข้อคิดกับสามเณร ว่า…

“สังขาร คือร่างกายไม่เที่ยง มีเกิด มีดับ ให้พิจารณาให้มาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอนิจจัง มีสุข มีทุกข์ อยู่ดีๆ ก็ทำให้เจ็บป่วย มันเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ต่อไปก็จะหายเอง”

ขณะทางเดินกลับนั้น ท่านได้บอกสามเณรว่า

“อย่าเดินชิดกันเกินไป ให้ห่างกันประมาณ ๕ เมตร และขณะเดินให้กำหนดภาวนาไปเรื่อยๆ”

พอมาถึงบริเวณป่าไผ่แห่งหนึ่ง ที่มีใบปกคลุมมืดเพราะกิ่งไผ่และต้นมะม่วงป่าได้บังแสงจันทร์ ทำให้เกิดเงามืด ขณะที่เดินผ่านนั้น ได้ยินเสียงดัง ซ่าๆๆๆ มาจากแนวไผ่ป่า ตรงมายังท่าน ท่านได้หยุดยืนฟังเสียงนั้น ในขณะที่ท่านหยุดอยู่ เจ้าของเสียงซ่าๆๆ นั้นก็เลื้อยเข้ามาระหว่างเท้าทั้งสองข้างของท่านและติดอยู่บริเวณตาตุ่ม ท่านบอกว่า รู้สึกคับและมันไม่ผ่านไปสักที รู้สึกตกใจกลัว
แต่ก็ตั้งสติกำหนดจิตพิจารณาว่า นี้อะไรหนอ? ถ้าเป็นแมว ทำไมไม่เกาะแข้งพันขา ทำไมหยุดนิ่งทับหลังเท้าอยู่อย่างนี้ ยืนพิจารณาอยู่ตั้งนานไม่ผ่านไปสักที ท่านก็เลยกระดิกนิ้วเท้าเขี่ยดู เจ้าสิ่งนั้นก็ทิ้งลำตัวลง ทำให้รู้สึกหนักขึ้น
สามเณรที่เดินตามมาได้ร้องขึ้นว่า.. ท่านอาจารย์ๆ งูใหญ่ มันแผ่แม่เบี้ย จนพ้นหัวของท่านแล้ว เมื่อสามเณรร้องเตือนดังนั้น ก็ไม่มีวิธีแก้ไขแล้ว เพราะถ้ากระดุกกระดิกตัว งูนั้นก็คงจะฉกลงบริเวณศีรษะท่านพอดี
ท่านจึงยื่นนิ่งและตั้งสติกำหนดจิตแผ่เมตตาอธิษฐานในใจว่า…

“ตัวเราไม่เบียดเบียนใคร ตั้งใจบวชอุทิศตนต่อพระพุทธศาสนา หากแม้หมดวาสนา และเคยมีเวรมีกรรมแก่กันและกันมาก่อน ก็ขอให้งูจงกัดตามชอบใจเถิด หากไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน ก็ขออย่าได้เบียดเบียนกันเลย ให้ต่างคนต่างไปเถิด”

เมื่อกำหนดจิตแผ่เมตตาชั่วอึดใจ งูนั้นก็ค่อยๆ ลดตัวลงเลื้อยผ่านเข้าไปในพงป่าไผ่ เมื่องูเลื้อยเข้าป่าไปแล้ว ท่านและสามเณรจึงเดินต่อไป ในระหว่างทางได้พบกับโยมลุงปานถือไต้ (คบเพลิง) เดินสวนทางมา จึงบอกให้ระวังหนทางด้วย เพราะข้างหน้าที่จะผ่านไปนั้นมีงูใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ที่บริเวณป่าไผ่ ลุงเกิดความกลัวไม่กล้าเดินผ่าน เพราะตัวเองแก่สายตาไม่ค่อยดี หลวงปู่ถือไต้(คบเพลิง)เดินย้อนกลับมา เพื่อส่งลุงอีกครั้ง เมื่อมาถึงบริเวณนั้น ใช้ไต้ส่องดูเห็นรอยงูเท่ากับฝ่ามือ ลุงได้ถามว่าเป็นงูอะไร ท่านบอกว่าเป็นงูจงอาง เพราะที่นั้นรกครึ้มด้วยกอไผ่และต้นมะม่วงป่า มีคนเคยเห็นเจ้างูนั้นบ่อยๆ คนที่พบส่วนมากจะเป็นคนที่มาเกี่ยวหญ้าคาที่นี้เพื่อนำไปมุงหลังคาบ้าน หลวงปู่บอกว่า… เมื่อคราวคับขัน การแผ่เมตตา ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ก็ช่วยให้เรารอดพ้นจากภัยอันตรายได้

กำหนดนิมิต สุนัข คนตาย
วันหนึ่งท่านกับลุงก่อง ซึ่งเป็นญาติของท่าน ได้พากันไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า จะอยู่ที่นี้ ๙ คืน เมื่อถึงแล้วก็ปักกรดทำที่สำหรับการเดินจงกรม พอถึงตอนเช้าก็ออกมาบิณฑบาตตามปกติ ส่วนลุงก่องแกก็กลับไปทำธุระที่บ้านเกิดตกข้างคูที่สูง เสียชีวิตตายในตอนเช้าของวันนั้น หลวงปู่จึงชวนลุงสนธิ์ ไปปฏิบัติที่ป่าแห่งนั้น ลุงสนธิ์พูดกับหลวงปู่ว่า จะปฏิบัติธรรม ๙ วัน ตามหลวงปู่นั้นคงไม่ได้ เหลืออีก ๓ วันสุดท้ายจะมาปฏิบัติด้วย เพราะจะต้องทำงานที่บ้าน ท่านพูดว่าไม่เป็นไร แต่ตอนเย็นให้มาทำวัตรสวดมนต์ด้วยนะ เขาก็รับปากกับหลวงปู่ เมื่อถึงตอนเย็นไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็อบรมกรรฐานต่อไป หลังจากอบกรรมฐานแล้ว ลุงสนธิ์ ก็เข้ามากราบหลวงปู่ พร้อมพูดว่า กระผมจะขอเข้าปฏิบัติธรรมวันนี้ จะหย่อนเวลาเข้ามา หลวงปู่ก็พูดว่า ลุงสนธิ์เพิ่งมา ที่เดินจงกรมก็ยังไม่มี ให้ไปเดินทางกรมของลุงก่องที่ทำไว้ก่อนตาย สงสารแก ให้ไปเดินเพื่อผู้ทำได้บุญ ท่านถามลุงสนธิ์ว่า กลัวหรือเปล่า? ไม่กลัว ลุงแกตอบ
เมื่อสนทนาธรรมกับหลวงปู่พอสมควรแก่เวลาแล้ว
ก็เดินไปยังทางจงกรมที่ลุงก่องผู้ตายทำไว้
คืนนั้นเป็นวันพระจันทร์ข้างขึ้น แสงจันทร์สว่างไสว
พอลุงแกเดินจงกรมกลับไปกลับมาได้สักระยะหนึ่ง
ในขณะจิตสงบ ก็ปรากฏภาพสุนัขตัวหนึ่งสูงขนาดเอวยืนขวางทางจงกรมไว้
ลุงแกคิดว่าจะทำอย่างไร? จึงตัดสินใจเว้นไปข้างหลังของสุนัขตัวนั้น ในขณะที่เดินวนกลับมาก็เห็นสุนัขตัวนั้นอีก ก็เดินเว้นอยู่อย่างนี้ ประมาณ ๒ รอบ
พอเดินรอบที่ ๓ ภาพสุนัขตัวนั้นหายไป ภาพคนตายก็ปรากฎนอนขวางทางจงกรมไว้ เมื่อเดินมาถึงศพนอนตาย เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เดินต่อไปไม่ได้แล้ว ก็เดินถอยหลังกลับคืนมาหาหลวงปู่ ในขณะนั้นหลวงปู่ก็กำลังเดินจงกรมอยู่ เมื่อถึงแล้วก็นั่งลง หลวงปู่เดินไปกลับมา ก็มองเห็นคน พอจ้องมองก็รู้ว่าเป็นลุงสนธิ์ ก็ถามว่า ลุงสนธิ์ มาทำไมที่นี่ ลุงแกก็พูดขึ้นมาว่า มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง
เมื่อหลวงปู่ออกจากที่จงกรมนั่งลงแล้ว ลุงแกจึงพูดขึ้นว่า กระผมได้เห็นสิ่งหนึ่ง เห็นอะไร? หลวงปู่ถาม ครั้งแรกเห็นสุนัขยืนขวางทางจงกรมอยู่ ผมก็เดินไปเดินเว้นข้างหลังมัน พอเดินกลับไปกลับมาคราวนี้ เห็นคนนอนตายขวางทางอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี รู้สึกกลัว ในขณะนี้ศพก็ยังนอนขวางทางจงกรมอยู่ ยังไม่หายไปไหน หลวงปู่พูดว่า นั้นแหละลาภเกิดขึ้นแล้ว ลาภใหญ่ด้วย ให้กลับคืนไป กลัวหรือเปล่า ท่านถาม
กระผมยังรู้สึกกลัวอยู่ ลุงแกตอบ
ท่านพูดว่า ไม่กลัวๆ ลุงแกก็พูดขึ้นมาว่า ไม่กลัวก็ไม่กลัว
หลวงปู่ให้ข้อแนะนำว่า เมื่อกลับไปถึงแล้ว ให้กำหนดว่า รูป หรือ อสุภะ ก็ได้

กำหนดรู้
ในขณะที่ลุงแกเดินไปถึงที่จงกรม ภาพศพคนตายก็ยังอยู่ ก็ยืนหลับตา กำหนดในใจว่า รูป เมื่อลืมตาอีกครั้ง รูปนั้นก็หายไป หลวงปู่พูดสรุปสุดท้ายให้ฟังว่า

“เมื่อเกิดเวทนา ก็ให้กำหนดเวทนา ให้รู้ให้ทัน ถ้าไม่กำหนด เราก็ไม่รู้ไม่เห็น เหมือนคนตาบอด มาทางหู ไม่กำหนดทางหู ก็เหมือนคนหูหนวก มาทางจมูก ถ้าไม่กำหนดจมูก ก็เหมือนกับคนจมูกไม่รับกลิ่น ถ้ามาทางลิ้น ไม่กำหนดลิ้น ก็เหมือนกับลิ้นที่ไม่รับรสอะไร มันเป็นอย่างนั้น จึงให้กำหนด จะเกิดทางจักษุทวาร โสตะทวาร ฆานะทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร ในทวารทั้ง ๖ นี้ เกิดความรู้สึกอย่างไร ก็ให้รู้ ตัวรู้เป็นตัวสำคัญ”

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย

แสงนิมิต
หลวงปู่เป็นคนชอบในการปฏิบัติธรรม ทั้งกลางวันและกลางคืน วันหนึ่งจึงชวนโยมอุบาสกคนหนึ่ง ชื่อว่า จารย์ปุ้ย ซึ่งเป็นคนชอบในการปฏิบัติธรรม และเคยเป็นนักบวชมาก่อน จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไป เหตุนี้จึงมีสรรพนามใช้เรียกนำหน้าคนที่บวชมานาน และเป็นที่นับถือของคนทั้งหลาย จึงเรียกว่า จารย์ เมื่อจารย์ปุ้ยตกลง ก็พากันไปในป่าช้าแห่งหนึ่งเพื่อฝึกจิตภาวนา ในขณะที่เจริญสมาธิอยู่นั้น ก็เกิดแสงประหลาดเกิดขึ้น แสงนั้นสว่างไสวเป็นวงกลม อยู่ในองค์แห่งสมาธิ ก็กำหนดรู้ แล้วก็ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ ครั้นพอออกจากสมาธิ แสงนั้นยังปรากฏไม่หายไปไหน เห็นในขณะที่ลืมตาจะหลับตาหรือลืมตา แสงนั้นมันก็ไม่หายไปไหน
ท่านเล่าว่า แสงนั้นสีขาวสว่างมากลูกโตเท่ากับแสงตะเกียงเจ้าพายุ ท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า นี้มันอะไร ก็เพ่งดูให้แน่ชัดว่ามันอะไรกันแน่ ว่าดังแก้วมันก็ไม่ใช่ หรือเป็นดวงจิตของเรา มันก็อยู่ตรงโน้น มันไม่อยู่ตรงนี้ มองกลับมาที่ตัวของท่านเอง ก็ไม่เห็นมีอะไร ท่านก็คิดกลับไปกลับมา เพื่อจะค้นหาคำตอบ
พอถึงสมควรแล้ว ก็ออกจากที่ปฏิบัติธรรม มาพบกับโยมจารย์ปุ้ย ก็ถามว่า ไม่รู้ว่าแสงอะไร เหมือนแสงตะเกียงเจ้าพายุนี้แหละ อยู่ที่ปลายต้นไม้โน้น แสงดวงนั้นอยู่ ไม่หายไปไหน โยมจารย์ปุ้ยก็พูดขึ้นว่า

“อันนี้แหละ ที่เขาเรียกว่า ดวงธรรม”

เมื่อโยมจารย์ปุ้ยพูดอย่างนี้ ท่านก็รู้สึกดีใจและกลับไปนั่งเจริญสมาธิตรงที่เดิม แสงนั้นก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ท่านก็คิดในใจว่า เป็นดวงธรรมจริงๆหรือถ้าเป็นดวงธรรมจริงๆ ดั่งที่โยมจารย์ปุ้ยว่า ก็ลองอธิษฐานให้เข้ามาในใจ ให้มันสว่างไสว
อยู่ในใจ ให้มันมองเห็นหมดทุกสิ่งอย่างให้ปัญญาเกิดทะลุปรุโปร่ง”
เมื่ออธิษฐานแล้วดวงแก้วนั้น ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ท่านก็คิดว่า ไม่ใช่กระมัง มันเป็นตัวหลอกให้เราหลงทางหรือที่ครูบาอาจารย์เคยบอกไว้ว่า ระวังพวก แสง-สี-เสียง เป็นนิมิตเกิดขึ้น มันเป็นวิปัสสนูกิเลส มันไม่ใช่ธรรมแท้ เมื่อความคิดเดินมาถึงตรงนี้ แสงนั้นก็หายไป ท่านพูดให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปว่า..

“ธรรมแท้ มันต้องดับทุกข์ได้”

พวกแสงพวกสีนั้น ให้ระวังนะ อย่าไปหลง อย่าไปติดถ้าติดแล้วไม่ไหนละ
ผู้เขียนถามหลวงปู่ว่า…โยมจารย์ปุ้ยพูดกับหลวงปู่ว่า “เป็นดวงธรรม”

แสดงว่าโยมยังหลงอยู่ใช่หรือเปล่าครับ

“ใช่ โยมจารย์ปุ้ยยังหลงอยู่ว่าเป็นดวงธรรม”

เขาก็ฝึกปฏิบัติมานานเหมือนกัน ก็ยังหลง ดังนั้นการฝึกสมาธิปฏิบัตินี้ จึงให้มีครูบาอาจารย์กำกับ เมื่อเราหลงทาง
ถ้ามีคนมาถามว่า ท่านสายไหน(ธรรมยุติ-มหานิกาย) ให้ตอบไปว่า สายพระพุทธเจ้า

ประวัดป่ามหาชัย
บริเวณที่สร้างวัดป่าแห่งนี้ แต่ก่อนเป็นป่ารกรัฏ ไม่มีถนนตัดผ่าน มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “หนองดินดับ” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หนองขี้หมาจอก” เพราะมีสุนัขจิ้งจอกอาศัยอยู่มาก เป็นสถานที่น่ากลัว แม้แต่ตอนกลางวัน ชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้ามาในสถานที่หนองน้ำนี้มากนัก หนองน้ำนี้มีบริเวณกว้างเป็นปริมณฑล มีน้ำตลอดปีแต่ไม่ลึก หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลมหาชัย และเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัยอยู่นั้น เมื่อไปประชุมด้วยกิจของคณะสงฆ์ที่ตัวอำเภอ จะต้องเดินผ่านไปเพราะไม่มีทางรถ ในการเดินไปประชุมที่อำเภอปลาปากนั้น จะต้องเดินผ่านบริเวณหนองขี้หมาจอกนี้ทุกครั้ง เมื่อเดินมาถึงบริเวณนี้ครั้งใด จิตหลวงปู่ก็จะแวะชมสถานที่แห่งนี้ทุกครั้ง และมีความรู้สึกแช่มชื่นบากเบินใจตลอดทุกครั้ง เหมือนกับว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่กำเนิดพระอริยสงฆ์

หลายเดือนผ่านมา หลวงปู่ได้บอกให้ลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระภิกษุสามเณรและฆราวาสให้ไปลองนั่งสมาธิบริเวณนั้นดู พอลูกศิษย์ทั้งหลายไปถึงที่นั้น ขณะที่พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน พวกลูกศิษย์ก็ได้พบงูใหญ่สีดำตัวหนึ่ง ขณะเลื้อยขึ้นจากหนองน้ำนั้น แล้วก็เลื้อยเข้าป่าทางทิศตะวันออก พอรุ่งเช้า ลูกศิษย์ทั้งหลาย ก็พากันกลับวัดเล่าเรื่องงูใหญ่สีดำให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่ได้เกิดความรู้สึกว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่พญานาคเคยอยู่อาศัย จึงคิดจะสร้างวัดขึ้นมา

วันต่อมา หลวงปู่ได้สอบถามชาวบ้านถึงที่ดินบริเวณนี้ ก็ได้ทราบว่าเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านวังม่วง หลวงปู่ได้ให้โยมไปเชิญผู้ใหญ่บ้านวังม่วงมาพบ เพื่อปรารภเรื่องที่ดินที่จะสร้างวัด โยมผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านวังม่วงเห็นสมควรด้วย ก็เลยอนุโมทนายกที่ดินผืนนี้ให้กับหลวงปู่สร้างวัดขึ้นมา
ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาตำบลโดยกำหนดบริเวณวัดเป็นเนื้อที่ ๔๗ ไร่ (ปัจจุบัน ๘๐ไร่) และมีมติกันว่า ให้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านในตำบลมหาชัย สร้างกุฏิถวายหมู่บ้านละ ๑ หลัง มติที่ประชุมลงวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ และกุฏิหลังแรกที่สร้างขึ้น วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๗ โดยคณะศรัทธาชาวบ้านถาวร โดยการนำของนายคันธนา อินราช ตั้งชื่อกุฏิหลังนี้ว่า “กุฏิถาวรราษฎร์เนรมิต” เพราะสร้างเสร็จภายในวันเดียว

ต่อจากนั้นกุฏิแต่ละหมู่บ้านต่างๆที่อยู่ในเขตตำบลมหาชัยบ้านมหาชัยบ้านดอนกลาง บ้านทันสมัยบ้านวังม่วงบ้านหนองบัวบ้านห้วยไหล่ได้สร้างถวายหลวงปู่จนครบทุกหมู่บ้าน ต่อมามีญาติโยมจากหมู่บ้านต่างๆ ก็ได้มาสร้างกุฏิถวาย
หลวงปู่คำพันธ์ ท่านได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าอรัญญคาม” ซึ่งแปลว่า “วัดที่มีหมู่บ้านและป่าล้อมรอบ

คือวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างกลางแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านห่างจากวัดประมาณ ๓ กิโลเมตร

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ หลวงปู่ได้นำพาศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน โดยกำหนดเอา ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๒ ของทุกปี รวมเวลา ๑๕ คืน ๑๕ วัน หลักปฏิบัติกรรมฐาน ยึดตามแนว หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คือ กำหนดภาวนา พุทโธ มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบสิกา ในเขตตำบลมหาชัย เข้าร่วมปฏิบัติธรรม เมื่อคนมาปฏิบัติธรรม เห็นผลแห่งการปฏิบัติ ก็บอกต่อไปกันไป ในปีต่อมา ก็มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก-อุบาสิกา ในเขตอำเภอ ในจังหวัด ต่างจังหวัด ทั่วประเทศ

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย

กาลมรณภาพ
หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ได้มรณภาพลงอย่างสงบในกุฏิจำพรรษา ด้วยโรคชราภาพ ประกอบกับมีโรคประจำตัวหลายอย่างแทรกซ้อน หลังจากอาพาธมานานหลายปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลาประมาณ ๐๑.๕๙ น. ณ วัดธาตุมหาชัย สิริรวมอายุ ๘๙ ปี พรรษา ๕๙

พระธาตุมหาชัย ปัจจุบัน
พระธาตุมหาชัย