วันพฤหัสบดี, 27 มีนาคม 2568

หลวงปู่คำผา ฆรมุตโต วัดป่าคำนกถัว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำผา ฆรมุตฺโต

วัดป่าคำนกถัว
ต.บ้านดงสวรรค์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่คำผา ฆรมุตโต วัดป่าคำนกถัว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

การดำเนินชีวิตตั้งแต่วันเกิดเป็นมนุษย์มาหลวงปู่เอากำเนิดในตระกูลมณีเทพฝ่ายบิดา ฝ่ายมารดานามสกุลอุฒาธรรม มารดาเล่าให้หลวงปู่ฟัง ก่อนหลวงปู่จะลงสู่ครรถ์มารดามารดาฝันว่าหลวงปู่ที พันฺธุโล เอามีดโกนมาให้ ซึ่งหลวงปู่ที เป็นญาติของหลวงปู่ฝ่ายมารดา แต่นั้นมาจนคลอดออกมาบิดามารดา ตั้งชื่อให้ว่า คำผา มณีเทพ หลวงปู่เกิดวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๗๒ วันจันทร์ บิดานามว่า อ่อน มณีเทพ มารดานามว่า หมิด อุฒาธรรม เกิดในตระกูลยากจน เกิดที่บ้านนาเตียง หมู่ ๔ ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอบ้านหัน จังหวัดสกลนคร สมัยนี้เป็นอำเภอสว่างแดนดิน สมัยก่อนความเจริญไม่มี การศึกษาก็โรงเรียนที่วัด วันหยุดก็วันเดียวคือวันพระน้อยวันพระใหญ่ หลวงปู่เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ หลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๓ ออกโรงเรียน พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๕ มารดาเสียชีวิตหลวงปู่คำผาได้ดูแลครอบครัวมาตลอด เป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง จนอายุได้ ๑๘ ปีได้เข้าบวชกับหลวงปู่ที พันธุโล ญาติของหลวงปู่เอง บวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปีบวชเป็นพระอีก ๑ ปี ได้สิกขาลาเพศออกไปช่วยบิดาและน้องๆทำงาน เมื่ออายุได้ ๒๑ ปีได้แต่งงานกับ นาง สม โคตรสมบูรณ์ มีบุตรด้วยกัน ๑๐ คน ชาย ๕ คน หญิง ๕ คน

ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เกิดขัดสนทางการทำมาหากินจึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านหนองหว้า ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน ห่างจากบ้านเดิมประมาณ ๑๐-๒๐ กิโลเมตร ได้อยู่กินกันมาตลอดถึง ๒๐ กว่าปี จนอายุหลวงปู่คำผาได้ ๕๒ ปีจึงได้เข้าร่มกาสาวพัสตร์

ประวัติของหลวงปู่คำผา ฆรมุตฺโต ตอนเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
ขอลาแม่ออกอยู่ถึง ๓ ปี เขาจึงอนุญาตให้อุปสมบท วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่พัทธสีมา วัดสามัคคีบำเพ็ญผล บ้านนาเตียง ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โดย พระครูวิทิตคุณาภรณ์ (เกิ่ง) วิทิโต เป็นอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลปัญญาคม เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สมัย ทีฆายุโก เป็นอนุสาวนาจารย์ ให้ฉายาว่า พระคำผา ฆรมุตฺโต แปลว่า “ผู้พ้นจากเรือนแล้ว
พรรษาที่ ๑ จำพรรษาที่ถ้ำโพธิ์ทอง
พรรษาที่ ๒ จำพรรษาที่วัดป่าหนองหว้า
พรรษาที่ ๓ จำพรรษาที่วัดป่าแก้วเจริญธรรม บ้านคำเจริญ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

จากนั้น เมื่อออกพรรษาก็เที่ยวธุดงค์ไปที่ต่างๆ เช่น จังหวัดนครพนม ไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ มี หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต , หลวงปู่ลือ ปุญโญ , หลวงปู่สาม อกิญจโน ทางจังหวัดอุดรธานี อำเภอหนองบัวลำภู ไปกราบนมัสการ หลวงปู่ขาว หลวงปู่อ่อน หลวงปู่คำฟอง หลวงปู่บุญเพ็ง หลวงปู่จันทา ถึงฤดูเข้าพรรษาก็จำพรรษากับครูบาอาจารย์

ปี พ.ศ.๒๕๒๙ ญาติโยมบ้านดงสวรรค์ไปนิมนต์หลวงปู่มาอยู่วัดป่าคำนกถัว เพราะวัดป่าคำนกถัวไม่มีพระนำปฏิบัติและไม่มีผู้บูรณะวัดวาศาสนา แต่ไม่ได้จำพรรษาที่นี่ พอออกพรรษาญาติโยมไปนิมนต์หลวงปู่คำผากลับมา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมาญาติโยมเขาไม่ให้หนีถ้าหลวงปู่คำผาไม่กลับมา วัดจะร้างเขาว่าอย่างนั้น เพราะว่าหลวงปู่ก็นับวันแก่ลง ไปไหนก็ลำบาก อีกอย่างหลวงปู่เป็นพระพูดจริงทำจริง และเป็นพระหน้าด้านนักรบ ไม่ใช่พระนักหลบใครว่าอะไรอย่างไรหลวงปู่เฉยไม่สนใจ ขอแค่ทำถูกต้อง

ปี พ.ศ.๒๕๓๖ เกิดภัยอย่างร้ายแรง คือมีคนมาตีหัวพระลูกวัดของหลวงปู่ ท่านไปทำความเพียรอยู่ที่ศาลารวมญาติที่เมรุโน่น เวลาตีสี่ท่านเดินเหนื่อยท่านมานั่ง เขาย่องเข้ามาตีหัวพระด้วยฆ้อนตีตะปู กะโหลกแตกไปโรงพยาบาลไม่ฟื้น เขาว่า เขาตีผิดตัว หลวงปู่ประกาศให้มาตีใหม่จะได้ไม่ผิดตัว หลวงปู่ว่า ก่อนจะเกิดเรื่อง หลวงปู่ประชุมสองหมู่บ้าน คือ บ้านดงสวรรค์และบ้านหนองไผ่ ให้ปิดถนนกลางวัด ผู้ที่เข้าประชุมก็ไม่ขัดข้อง ผู้ที่ไม่มาประชุมนั้นเขาด่าว่าหลวงปู่ไปต่าง ๆ นา ๆ หลวงปู่ก็เฉย เรื่องของหมาเทวดาอย่างเราอย่าไปยุ่งหลวงปู่ว่า เมื่อปิดถนนแล้วหลวงปู่ก็ทำถนนรอบวัดให้ลงหินลูกรัง ต่อมาพวกเป็นปฏิปักษ์กับพระ เขาก็กลับบ้านเก่าไปหมดแล้ว

วัดป่าคำนกถัว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ต่อมาหลวงปู่ก็บำรุงวัดศาสนสมบัติมาตลอด มีญาติโยมเขาจะสร้างซุ้มประตู หลวงปู่ก็อนุญาตให้ทำ เมื่อก่อนค่าของก็ไม่แพง ค่าแรงทั้งหมดรวมค่าอุปกรณ์ ราคาก็ ๖๐,๐๐๐ บาท หลวงปู่หาขอไม่เป็น มีแต่ญาติโยมเขาช่วย ได้กำแพงไปหลายล็อกด้วย ปีต่อมาก็ทำกำแพงไปเรื่อยๆทำอยู่ ๓ ปีก็สำเร็จ ทั้งที่ดินป่าช้า ทั้งที่ดินวัดรวม ๓๔ ไร่จนสำเร็จ บูรณะศาลาการเปรียญ ขอทะเบียนวัดในปีพ.ศ.๒๕๔๐ สร้างทรัพย์ภายนอกเสร็จแล้ว บัดนี้ก็สร้างทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐสุด คือสัทธา, สีล,หิริ, โอตตัปปะ, พาหุสัจจะ, จาคะ, ปัญญา อริยทรัพย์ดีกว่าทรัพย์ภายนอก คือแก้วแหวน เงินทอง เป็นต้น, อีกอย่าง สีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีตลาดขาย อยู่ที่ตัวของเราเอง ทำเอง ปฏิบัติเองจึงจะได้จะมี ไม่มีตลาดขายเหมือนสิ่งของภายนอก

ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ปลายปีเกิดอุบัติเหตุอย่างแรง ตอนเช้าเวลา ๐๖.๓๐ น หลวงปู่ออกบิณฑบาต วันนั้นรถทัวร์วิ่งมาจากอุดร มาชนหลวงปู่ ที่กำลังบิณฑบาตโปรดสัตว์และญาติโยม หลวงปู่ไม่รู้สึกตัวเลย เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่รู้สึกตัวอยู่วันกับคืนหนึ่ง เขานำตัวหลวงปู่ไปโรงพยาบาลเอกอุดร หลวงปู่ยืนดูศพตัวเอง เขาหามขึ้นรถ หลวงปู่ถามเขาจะเอาศพไปไหน เขาก็ไม่พูดไม่บอก เมื่อรถออกหลวงปู่ก็ไม่รู้สึกตัว ตอนค่ำตอนเย็นหลวงปู่ฟื้นตัวขึ้นมารู้สึกทรมานเหลือเกิน เขาว่ากระดูกซี่โครงหักข้างขวาหัก ๖ ซี่ ซี่โครงข้างซ้ายหัก ๒ ซี่ พักฟื้นอยู่โรงพยาบาลเอกอุดร ๔ คืน เขาส่งไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ๒๕ วันจึงได้กลับวัด

หลังจากนั้นมาหลวงปู่ไปไหนเองไม่ได้ ต้องขี่รถสามล้อไป วันไหนไม่ฉันก็ไม่ไป ไม่รับนิมนต์ทางไหนเลย ใครจะติฉินนินทา จะสรรเสริญเยินยออย่างไรหลวงปู่เฉย ในทำนองที่ว่า เรื่องของหมา เทวดาอย่าไปยุ่ง ถ้าหลวงปู่พูดไม่ถูกกิเลสใคร หลวงปู่ขออภัยด้วยนะ ขอเจริญพร

หลวงปู่คำผา ฆรมุตโต วัดป่าคำนกถัว อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่คำผา ฆรมุตโต วัดป่าคำนกถัว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ละสังขารแล้วเมื่อเวลา ๒๒.๐๕ น. ในวันจันทร์ที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ สิริอายุรวม ๘๔ ปี ๑ เดือน ๑๘ วัน พรรษา ๓๒

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน