วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

หลวงปู่คำผอง กุสลธโร วัดป่าผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำผอง กุสลธโร วัดป่าผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

หลวงปู่คำผอง กุสลธโร

หลวงปู่คำผอง กุสลธโร แห่งวัดป่าผาแด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้เลิศในการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านเป็นศิษย์สายธรรมหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่เคยได้ร่วมธุดงค์และอุปัฏฐากหลวงปู่ชอบทั้งถิ่นที่กันดารในหุบเขาสูงเขต จ.เลย ตลอดจนถึงเขต จ.เชียงใหม่ ซึ่งในที่ขึ้นชื่อว่ากันดารและสุดโหดของพระกัมมัฏฐานในยุคนั้นที่นึงก็คือ วัดป่าผาแด่น นั่นเอง

หลวงปู่คําพอง กุสลธโร ท่านมีนามเดิมว่า ผอง ยอดคีรี เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๔ ณ บ้านหนองบัวบาน ต.เชียงพิณ อ.เมือง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ต.หมากหญ้า อ.เมือง และปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ) จ.อุดรธานี เป็นบุตรของนายเหลา ยอดคีรี และนางแห่ว (เป็นภาษาอีสาน แปลว่า “เหี่ยว”) ยอดคีรี (นามสกุลเดิมคือ วงษา) มี พี่น้อง ๔ คน นายผอง ยอดคีรี (หลวงปู่คําพอง กุสลธโร) คือบุตรคนที่ ๓

บ้านหนองบัวบานเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินเป็นดินล้วนปนทราย ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้งอกงามมากทั้งยังมีห้วยหนองอยู่รอบๆ หมู่บ้าน จึงสมบูรณ์ไปด้วยธัญญาหาร มัจฉาหาร มังสาหาร รอบๆ หมู่บ้านเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยเสือและช้าง เวลาจะออกไปทําไร่ทํานา ชาวบ้านจะไม่กล้าไปคนเดียว ต้องมีเพื่อนไปด้วย ๒-๓ คน เพราะเกรงจะถูกเสือนําไปเป็นอาหาร (ภายหลังได้มีการสร้างเขื่อนห้วยหลวง ทําให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเหนือ เขื่อนท่วมเข้ามาถึงบริเวณรอบหมู่บ้าน)

ชาวบ้านหนองบัวบานเดิมเป็นชาวบ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งที่นี่ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เล่าว่า ชาวบ้านโคกมนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองบัวบานในคราวแรก พ.ศ.๒๔๖๒ คือ ครอบครัวของขุนศรีวงษา ครอบครัวขุนพรหม ครอบครัวขุนจันทร์ และครอบครัวอื่นๆ รวมทั้งสิ้น ๘ ครอบครัว ซึ่งครอบครัวของหลวงปู่ ชอบก็ได้อพยพมาด้วย ขณะนั้นหลวงปู่ชอบมีอายุประมาณ ๑๒ ปี

ขุนศรีวงษานี้ คือ คุณตาของหลวงปู่คําผอง ซึ่งบิดาของขุนศรีวงษา ได้อพยพจากประเทศลาว มาอาศัยอยู่ที่บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ดังนั้น หลวงปู่คําผองจึงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ คือเป็น หลานของหลวงปู่ชอบด้วย

หลวงปู่คําผองในขณะเป็นฆราวาส เป็นผู้มีนิสัยใจคอเยือกเย็น มีความอุตสาหะพยายามเป็นเลิศ พูดน้อย แต่ขยัน ได้ทําไร่ทํานาช่วยพ่อแม่พี่น้องมาตลอด จนทํานาได้ข้าวปีละ ๑,๐๐๐ กว่าถัง ท่านเรียนจบชั้น ป.๔ จากโรงเรียนบ้านหนองวัวซอ ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งเดียวในแถบนั้น ขณะ อายุ ๑๓-๑๔ ปี ท่านได้เป็นฝีที่หัวเข่า เป็นเหตุให้มีแผลเป็นมาจนทุกวันนี้ กระทั่งอายุได้ ๒๑ ปี ได้ไปคัดเลือกทหารในปี พ.ศ.๒๔๙๕ และต้องเกณฑ์ทหารอยู่ ๒ ปี สมัยนั้น เงินเดือนทหารเกณฑ์ ประมาณ ๒๐-๓๐ บาท พอท่านสิ้นสุดการเกณฑ์ทหาร ท่านเก็บเงินได้ถึง ๒,๐๐๐ กว่าบาท เพราะเป็นคนประหยัด ใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จําเป็น

เมื่อท่านกลับจากเป็นทหารมาที่บ้าน ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ก็ได้ให้โยมพ่อพาไปวัดป่านิโครธาราม เพื่อขอบวชอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่อ่อนท่านมาตั้งวัดป่านิโครธาราม ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ดังนั้น หลวงปู่คําผองจึงเป็นภิกษุที่เป็นชาวบ้านหนองบัวบานรูปแรกของวัดป่านิโครธาราม และภายหลังมีชาวบ้านหนองบัวบานที่ได้บวชเป็นศิษย์หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อีกหลายองค์ เช่น พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร (วัดป่าหมู่ใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) พระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร (วัดถ้ำสหาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี) พระอาจารย์บุญรอด อธิปุญโญ (วัดถ้ำไทรทอง อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์) พระอาจารย์สมศรี อัตตสิริ (วัดป่าเวฬวนาราม อ.วังสะพุง จ.เลย) พระอาจารย์ชํานาญ ชุติปัญโญ (วัดป่าศิริรุ่งเรือง อ.ด่านซ้าย จ.เลย) พระอาจารย์รื่น จิตฺตทโม (วัดสามัคคีย่าดี อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ) เป็นต้น ก่อนหน้าหลวงปู่คําผอง ก็ได้มีชาวบ้านหนองบัวบานไปอุปสมบทในงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ จํานวน ๒ รูป คือ หลวงปู่ลี กุสลธโร (วัดภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี) และพระอาจารย์บัวคํา มหาวีโร (ภายหลังเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย ปัจจุบันมรณภาพแล้ว)

อุปสมบท
เมื่อหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เห็นว่าหลวงปู่คําผองเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติของภิกษุได้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งท่องคําขออุปสมบทได้ถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์แล้ว ท่านก็ได้พาหลวงปู่ไปอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ เวลา ๑๑.๐๙ น. ณ วัดทิพยรัฐนิมิตร อ.เมือง จ.อุดรธานี ขณะมีอายุ ๒๓ ปี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิทักษ์คณานุการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ปี ๒๔๘๐ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านบง (วัดป่าอรัญญวิเวก ต.อินทขีล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) ร่วมกันกับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และหมู่คณะที่จำพรรษาร่วมกันในปีนี้
องค์ขวาสุดคือท่านหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี องค์ถัดต่อมาคือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

อยู่ศึกษาธรรมและข้อวัตรกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
จําพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม พรรษาที่ ๑-๔ พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๐๐
อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เมื่อหลวงปู่คําผองอุปสมบทแล้ว ได้กลับมาจําพรรษาที่วัดป่า นิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เพื่อศึกษาข้อวัตร และการปฏิบัติจิตภาวนากับท่าน ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดป่านิโครธาราม เพราะเพิ่งตั้งวัดได้เพียง ๑ ปี และหลวงปู่อ่อนก็ยัง ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส

ในพรรษาแรกนี้มีพระจําพรรษา ๔ องค์ คือ หลวงปู่อ่อน พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน (วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) ซึ่งเพิ่งบวชได้ ๑ พรรษา หลวงปู่คําผอง และหลวงตาอีกองค์หนึ่ง และมีสามเณรอว้าน (พระอาจารย์อว้าน เขมโก วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร) ซึ่งเป็นหลานทางอดีตภรรยาของพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ มาจําพรรษาด้วย นอกจากนี้ในปีถัดๆ มายังมีพระอาจารย์สมัย ทีฆายโก (วัดโนนแสงทอง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) พระอาจารย์ เกิ่ง วิฑิโต (วัดสามัคคีบําเพ็ญผล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร) พระอาจารย์บุญพิน กตปุญโญ (วัดผาเทพนิมิตร อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร) ด้วย

ระยะ ๔ พรรษาแรกนี้ หลวงปู่คําผองจําพรรษาอยู่ที่วัดป่านิโครธารามโดยตลอด กิจวัตรประจําวัน คือ ตื่นตี ๔ ออกจากกุฏิ เตรียมตัวไปศาลา ปูเสื่อและอาสนะ ตั้งกระโถน ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน ทั้งของตัวเอง และของครูบาอาจารย์ ประมาณ ๐๖.๐๐ น. เตรียมออกบิณฑบาต ถ้าเป็นฤดูฝนประมาณ ๐๖.๓๐ น. ถ้าเป็นฤดูหนาว ประมาณ ๐๖.๔๕ น. เมื่อฉันอาหารเสร็จก็ปัดกวาด เช็ดถูศาลา กลับกุฏิเดินจงกรมบ้าง ท่องหนังสือบ้าง แล้วแต่โอกาส เพราะระยะนั้นกําลังก่อสร้างกุฏิ และขยายศาลาอยู่บ้าง เวลาบ่าย ๒ โมง ฉันน้ำร้อนรวมกันที่ศาลา และฟังการอบรมจากหลวงปู่อ่อนทุกวัน วันละประมาณ ๒ ชม. แต่ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา ท่านจะอ่านหนังสือสอนหนังสือเกี่ยวกับพระวินัย คือ หนังสือบุพพสิกขาวรรณนาแทน เมื่อเลิกจากนี้ก็ตักน้ำใส่โอ่งใส่ตุ่ม หลังจากนั้น ก็กลับกุฏิสรงน้ำ เสร็จแล้วเข้าทางเดินจงกรม จนถึง ๒ ทุ่ม จึงขึ้นกุฏิทําวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ส่วนการประชุมฟังเทศน์หลวงปู่อ่อน ท่านจะเทศน์ ๔ คืนต่อครั้ง เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่ออีก หรือ บางครั้งหลวงปู่อ่อน ท่านปวดเมื่อย ก็ต้องไปนวดเส้นบีบเส้นถวายท่าน จนถึง ๕ ทุ่มหรือ ๖ ทุ่ม จึงกลับกุฏิเพื่อจําวัด

ออกวิเวกเสาะหาครูบาอาจารย์
เมื่อออกพรรษาที่ ๔ ลุถึง พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านพระอาจารย์บัวคํา มหาวีโร ได้เที่ยวธุดงค์มาพักอยู่ที่วัดป่านิโครธาราม หลวงปู่จึงกราบลาหลวงปู่อ่อน ธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์บัวคําไปทาง จ.เลย เพื่อกราบนมัสการหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าบ้านวังม่วง อ.วังสะพุง จ.เลย พอดีระยะนั้นเป็นฤดูร้อน หลวงปู่ชอบเห็นหมู่พระไปหา จึงบอกว่า “เออ! หมู่มาก็ดีแล้ว เราจะไป” แล้วท่านก็เที่ยววิเวกธุดงค์ไปทางบ้านม่วงไข่ บ้านบง ในเขตภูเรือ ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย เพราะอยู่ที่บ้านวังม่วง อากาศร้อนจัด ท่านไปทางภูเรือระยะหนึ่งก็กลับมาบ้านวังม่วง อากาศก็ยังคงร้อนอยู่ ท่านจึงกลับไปทางภูเรืออีก จนใกล้จะเข้าพรรษาจึงกลับมาจําพรรษาที่วัดป่าวังม่วง

พรรษาที่ ๕ จำพรรษาที่วัดป่าโคกแฝก อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งห่างจากวัดป่าวังม่วงไม่กี่กิโลเมตรเมื่อถึงวันอุโบสถก็จะไปรวมกันทำสังฆกรรมฟังพระปาฏิโมกข์และรับข้อธรรมจากหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าวังม่วง หลวงปู่คำผอง ท่านเล่าว่า ถ้าจะนับกันจริงๆแล้ว ในสมัยที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ยังไม่เป็นอัมพาตนั้น ท่านจําพรรษาอยู่แถบบ้านโคกมนซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเพียงไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่จะมาพักตอนนอกพรรษา ส่วนในพรรษา มักจะไปจําพรรษาที่อื่น เพราะท่านชอบอยู่ป่า เมื่อใดที่เกิดฝนแล้งที่บ้านโคกมน หากหลวงปู่ชอบกลับมา ฝนก็จะตก ข้าวกล้าจะอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านคนที่นับถือผี แล้วผีมักทําให้เจ็บป่วย เมื่อหลวงปู่ชอบสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ ผีก็จะหนีไป แต่พอหลวงปู่ชอบไปวิเวก ผีก็กลับมาเข้าชาวบ้านอีก บางครั้งหลวงปู่ชอบยังให้หลวงปู่คําผองไปรื้อตูบผีที่ชาวบ้านบูชาเซ่นสรวงผี แล้วเอาโยนทิ้งน้ำเสีย และยังได้หอบเอาเทียน ที่ชาวบ้านใช้บูชาผีกลับมาใช้อีกกองโตทีเดียว

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คําผองกราบลาหลวงปู่ชอบออกเที่ยววิเวก โดยไปพักที่ถ้ำผาบิ้ง และได้พบกับพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์สวด เขมิโย จึงชักชวนกันธุดงค์ไปจนถึงแม่น้ำโขง แล้วล่องเรือไปทางน้ำไปแวะพักกับ หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส ที่วัดป่าพระสถิตย์ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ๑ คืน พอดีได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ท่านพักอยู่ที่ถ้ำหีบ บ้านนาอ่าง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จึงพากันมุ่งหน้าไปหาท่าน โดยแวะพักกันที่บ้านค้อก่อน แล้วจึงไปหนองกบ ต่อมาจึงถึงถ้ําหีบ ขณะนั้นหลวงปู่มหาบุญมี ท่านอยู่ องค์เดียว หลวงปู่คำผองจึงได้อยู่ศึกษากับท่าน และร่วมจำพรรษากับท่านที่วัดป่าบ้านหนองบัว อ.พังโคน จ.สกลนคร

ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๐๒ และติดตามหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามัชณันติการาม บ้านเหล่าน้อย อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งใกล้กับภูจ้อก้อ ที่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต เพิ่งได้ไปเริ่มก่อสร้างไม่กี่ปี ท่านจึงได้ทำสังฆกรรมฟังพระปาฏิโมกข์ร่วมกันในวันอุโบสถเป็นประจำตลอดระยะเวลา ๒ ปี ในพรรษาที่ ๗-๘ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๐๔

พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยทราย (วัดป่าวิเวกวัฒนาราม) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ร่วมกับหลวงปู่สม โกกนุทโท , หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร, พระอาจารย์สรวง สิริปุญโญ เป็นต้น ระหว่างพรรษา โยมมารดาของหลวงปู่คำผองป่วย เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านกับพระอาจารย์สิงห์ทอง จึงเดินทางไปพักกับหลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านโยมมารดาท่าน

เมื่อพักอยู่ดูอาการของโยมมารดาระยะหนึ่ง จนมีอาการดีขึ้นแล้ว หลวงปู่คำผอง จึงธุดงค์ไปยังถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ท่านพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำกวางประมาณครึ่งเดือน

พบงูและเสือที่ถ้ำกวาง
วันหนึ่งหลังจากสรงน้ำแล้ว ขณะเดินจงกรมอยู่ หลวงปู่คําพอง รู้สึกร้อนผิดปกติ จึงสงสัยว่า “เอ๊ะ! วันนี้เป็นอะไร อะไรจะมาหนอ” แต่แล้วท่านก็ไม่สนใจ คิดว่าอะไรจะมาก็มา แล้วก็เดินจงกรมต่อไป วันนั้นเป็นวันข้างแรม จึงจุดเทียนไขห้อยโคมไฟเดินจงกรมอยู่ ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงเหมือนอะไรเลื้อยผ่านใบไม้แห้ง มุ่งตรงเข้ามาที่ทางจงกรม พอมาถึงก็เงียบหายไป หลวงปู่เกิดความสงสัย จึงหยุดเดินจงกรม แล้วเดินไปหยิบไฟฉายที่นั่งร้านที่พัก ซึ่งอยู่ใต้ก้อนหินในถ้ำ มีฝาเป็นใบตองแห้งขัดอยู่ ๒ ข้าง มาส่องหาดู ก็พบงูใหญ่นอนหมอบอยู่ข้างทางเดินจงกรม

ท่านจึงพูดว่า “ทําไมมานอนอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวเราเดินจงกรมไม่เห็น จะเหยียบหัวเอา ไป ออกไปนอกทางเดินจงกรม” งูตัวนั้นก็เหมือนกับรู้ภาษามนุษย์ เลื้อยออกไปทางหัวทางจงกรมขึ้นไปบนต้นไม้ที่อยู่ตรงชะโงกหินเหนือถ้ำ ทําให้ใบไม้แห้งร่วงลงมาใส่ทางที่หลวงปู่เดินจงกรมผ่าน หลวงปู่จึงพูดขึ้นอีกว่า “เออ! พระกําลังเดินจงกรมอยู่ ทําใบไม้ตกใส่หัวพระ มันบาปนะ ลงมา!” งูจึงเลื้อยถอยหลังเอาหางลงมาจนถึงดิน หลวงปู่บอกอีกว่า “เออ! ไปเถอะ เรารู้แล้ว อย่ามาผ่านทางจงกรมเราอีกนะ” งูนั้นก็เลื้อยหายไป ส่วนหลวงปู่ก็เดินจงกรมต่อ

หลวงปู่คำผอง บอกว่างูนี้อาจจะเป็นพญานาคซึ่งอยู่ที่ถ้ำนี้ก็ได้ เพราะเมื่อครั้งที่หลวงปู่คําดี ปภาโส มาจําพรรษาที่ถ้ำนี้ พญานาคที่นี่พยายามจะพ่นพิษทําอันตรายหลวงปู่คําดี แต่สู้หลวงปู่คําดีท่านไม่ได้ จึงยอมละมิจฉาทิฏฐิ และยอมรับนับถือเคารพพระตลอดมา แต่ตัวนี้ทั้งหัวและ ตัวมีลักษณะเหมือนงูจงอาง จะใช่พญานาคหรือไม่ก็ไม่แน่ใจนัก

ขณะที่หลวงปู่พูดกับงูนั้น เณรซึ่งกําลังจําวัดอยู่ห่างไป ๔-๕ วา ได้ยินเสียงพูดจึงตื่นขึ้น แล้วถามว่า “อาจารย์พูดกับใคร” หลวงปู่เกรงว่าเณรจะกลัว จึงตอบว่า “เราพูดเล่นเฉยๆ” แต่เณรไม่เชื่อและถามเซ้าซี้ หลวงปู่จึงบอกว่าพูดกับงู แล้วถามเณรว่า “ถ้าเห็นจะไม่กลัวหรือ” เณร บอกว่าไม่กลัว ไม่กี่วันต่อมางูนั้นก็มาอีกจริง ๆ คราวนี้ไม่มาผ่านทางจงกรมอีก แต่ตรงขึ้นไปหาเณรเลย ขณะนั้นเณรกําลังนอนอ่านหนังสืออยู่ เห็นงูเลื้อยผ่านแสงแวบ ก็ตกใจร้องขึ้น หลวงปู่จึงถามว่า “ร้องทําไม” เณรตอบว่า “งูมาหาผม” หลวงปู่จึงดุเอาว่า “ตัวเองอยากรู้อยากเห็น ทําไมไม่ดู ร้องทําไม” เณรกลัวมากจนตัวสั่นเทา แล้วหลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “เออ! ดีแล้ว ไปเถอะ คราวนี้อย่ามาอีกนะ เรารู้แล้ว” จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏว่าเห็นงูนั้นอีกเลย

อีก ๒-๓ วันต่อมา วันนั้นมีฝนตกเล็กน้อย ขณะที่หลวงปู่เดินจงกรมอยู่ ก็ได้ยินเสียงสุนัขเห่าในหมู่บ้าน จึงสงสัยว่าคงเป็นเสือไปหากินสุนัขในหมู่บ้าน สักพักเสือนั้นก็วิ่งผ่านมาข้างทางที่หลวงปู่กําลังเดินจงกรมอยู่ ผ่านเลยขึ้นไปทางด้านบนที่เณรพักอยู่ แล้ววิ่งหายไป เมื่อหลวงปู่หยุดเดินจงกรม จึงได้ถามเณรที่กําลังจุดเทียนนอนอ่านหนังสืออยู่ว่า “นั่นเสียงอะไรวิ่งขึ้นไปหา เห็นไหม ทําไมไม่เดินจงกรม ภาวนา” เณรตอบว่า “ไม่เห็น” หลวงปู่จึงดุเอาว่า “มันจะเหยียบหัว ยังไม่รู้อีก” พอตื่นเช้าไปดูก็เห็นเป็นรอยเท้าเสือจริงๆ แต่เป็นเสือเหลือง ซึ่งไม่กินคน

อยู่ต่อมาอีก ๒ วัน มีโยมมาหา ๒ คน มานั่งคุยกันที่ศาลาเก่าๆ มุงแฝกซึ่งไม่ได้ใช้แล้ว หลวงปู่จึงเดินไปถามว่า “มาทําไม” โยมนั้นตอบ ว่า “มาเล่นกับครูบา” แล้วถามว่า “ครูบามาอยู่ที่นี่เจออะไรไหม” หลวงปู่ว่าทีแรกนึกว่าเขาถามเรื่องจิตภาวนา แต่พอรู้ว่าเขาถามเรื่องภายนอก จึงตอบว่า มีงูมา ๒ ครั้ง และเสือมาครั้งหนึ่ง โยมนั้นจึงเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า สมัยก่อนมีพระอยู่กับหลวงปู่คําดี ปภาโส ที่นี่ ขณะที่เดินจงกรมภาวนาอยู่ ปรากฏว่ามีแก้วเสด็จ พระองค์นั้นก็เลยเดินตาม แก้วนั้นก็เสด็จลอยขึ้นต้นไม้ พระก็ปีนต้นไม้ตาม พอแก้วลอยถึงยอดไม้ก็เสด็จหนีหายไป พระองค์นั้นอยู่บนยอดไม้ก็ลงไม่ได้ ต้องร้องบอกให้หมู่เพื่อนเอาไม้มาพาดให้ลง แต่นั้นมาพระองค์นั้นก็จิตวิปลาสไป

ต่อมามีหลวงตาองค์หนึ่ง มานอนจําวัดตอนบ่ายอยู่ที่ก้อนหินข้างๆ ทางเดินจงกรมท่านนี่แหละ ได้มีงูมาเลื้อยพาดหน้าอก หลวงตาก็สะดุ้งตื่น แล้วร้องขึ้น พอตกกลางคืน หลวงตาองค์นั้นก็เดินจงกรมภาวนาอยู่ แต่พอเช้าขึ้นกลับหายไป ไม่เห็นออกไปบิณฑบาต เมื่อพระเณรฉันเสร็จเลยพากันไปดู ก็หาท่านไม่พบ จึงแยกย้ายกันออกตามหาไปเห็นท่านตกหน้าผาที่สูงชันมรณภาพอยู่ที่นั้น

เมื่อหลวงปู่วิเวกอยู่ที่ถ้ำกวางได้ประมาณครึ่งเดือน ก็ลาญาติโยมเดินทางกลับมาวัดป่านิโครธาราม

พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๐๖ จําพรรษาที่วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี พรรษานี้นอกจากมีหลวงปู่คําผอง ที่จําพรรษาอยู่กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ แล้วก็ยังมี พระอาจารย์สมัย ฑีฆายุโก พระอาจารย์เคน เขมสโย พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร และพระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร สำหรับพระอาจารย์จันทร์เรียนนั้นท่านเพิ่งบวชเป็นพรรษาแรก หลวงปู่คําผองจึงมีโอกาสให้คําแนะนําเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ แก่ท่านพระอาจารย์จันทร์เรียนด้วย และพรรษาที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๐๗ โยมมารดาของหลวงปู่คำผอง ได้ถึงแก่กรรม เมื่อทำบุญอุทิศกุศลให้แล้ว หลังออกพรรษา ท่าน และหลวงปู่ลี กุสลธโร และพระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร ได้ออกธุดงค์ร่วมกันไปหาหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ในเขตภูเรือ จ.เลย

พญานาคมาทำทางให้ที่วัดป่าม่วงไข่
พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ.๒๕๐๘ จําพรรษาที่วัดป่าบ้านตาลเลียน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี
ปีนี้จําพรรษาที่บ้านตาลเลียน ร่วมกับพระอาจารย์ลี กุสลธโร พระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร และสามเณร ๒ รูป เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็เดินธุดงค์ทวนกลับทางเดิมที่มา คือ ทวนแม่น้ำโขงกลับไปทาง อ.เชียงคาน ไปพักอยู่ถ้ำผาปู่ แล้วขึ้นไปหาหลวงปู่ชอบที่บ้านกลาง บนภูเรือ ซึ่งขณะนั้นท่านอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญพิน กตปุญฺโญ เมื่อหลวงปู่ชอบ เห็นพระเณรมากท่านเลยพาเกี่ยวหญ้าแฝกมาต่อเติมศาลาให้ใหญ่ขึ้น เสร็จแล้วไม่นาน พระอาจารย์ลี และ พระอาจารย์จันทร์เรียน ก็ลาหลวงปู่ชอบไป วิเวกทาง อ.ด่านซ้าย แล้วไปจําพรรษาที่อื่น ส่วนพระอาจารย์บุญพิน เกรงว่าหลวงปู่ชอบจะให้อยู่ที่บ้านกลาง จึงเตรียมจะออกวิเวกบ้าง แต่ หลวงปู่คําผอง รีบออกมาก่อน โดยลงมาพักอยู่ที่วัดป่าบ้านบง

ตอนกราบลาหลวงปู่ชอบจะมาบ้านบง หลวงปู่ชอบท่านจะให้ไป ที่บ้านม่วงไข่ แต่หลวงปู่มาบ้านบง เพราะตั้งใจจะมาจําพรรษาที่นั่นองค์เดียว ระหว่างทางเดินมาเห็นรอยเสือโคร่งบ้าง รอยเสือกับหมูป่าสู้กันบ้าง แต่ไม่เจอตัว อยู่ไม่กี่วัน ท่านพระอาจารย์บุญพิน พร้อมด้วย พระม่อย (ภายหลังลาสิกขา) ซึ่งเป็นคนบ้านวังม่วง ก็ตามมาอยู่ด้วย แต่อยู่ได้ไม่กี่วัน หลวงปู่ชอบท่านก็ให้เณรมาตามไปที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ เพื่อช่วยสร้างกุฏิและศาลา เพราะหลวงปู่ชอบท่านสั่งให้พ่อเชียงหมุน (ซึ่งเคยเกิดเป็นเพื่อนกับท่านในอดีตชาติที่เคยเป็นพ่อค้าผ้ามาร่วมสร้าง พระธาตุพนมด้วยกัน และชาตินี้มาเกิดอยู่ที่บ้านม่วงไข่) เตรียมไม้ เตรียมหญ้าแฝกไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงสร้างกุฏิ ๑ หลัง และศาลาชั่วคราว ๒ ห้อง อีก ๑ หลัง พื้นเป็นฟากไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก

หลวงปู่เล่าว่าที่บ้านบง บ้านกลาง ภูคั่ง เวลานั้นเสือโคร่งยังมีชุมมาก บางที่ลงมาเดินอยู่ในลานวัด แต่หลวงปู่ชอบท่านก็ไม่พูด เกรงว่า พระเณรจะกลัวกันมากเกินไป แม้แต่ตอนที่หลวงปู่คําผองอยู่ที่วัดป่าบ้านบง ท่านก็ยังได้ยินเสียงเสือ แต่ไม่เห็นตัว พอตื่นเช้าขึ้นมาเดินไปดู ก็ได้เห็น รอยเท้าของมัน ส่วนใหญ่มันจะลงมาจากภูหลวง มาเที่ยวหากินแถวภูบักได ภูคั่ง บ้านกลาง บ้านบง แล้วไปทางบ้านห้วยลาด บ้านสานตม แล้วก็กลับขึ้นภูหลวง

ขณะที่หลวงปู่คําผองอยู่กับหลวงปู่ชอบที่วัดป่าบ้านม่วงไข่นั้นปกติ ต้องลงไปตักน้ำในลําธารในเหวทุกวัน เนื่องจากวัดอยู่บนยอดเขา ซึ่งไม่มีบ่อน้ำ ต้องลงมาสรงน้ำในเหว และช่วยกันตักน้ำไปใส่ตุ่มบนยอดเขา ทางขึ้นลงนั้นชันมากและเต็มไปด้วยป่าไผ่ ซึ่งมักเกี่ยวสบง อังสะของ พระเณร จนเป็นแผลกันอยู่บ่อยๆ บางครั้งยังลื่นไถลลงมาด้วยซ้ำ ทำให้ได้รับความลําบากมาก

วันหนึ่งตอนเย็น เกิดฝนตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา พอถึงรุ่งเช้า พระเณรก็พบกับความประหลาดใจ เพราะทางขึ้นลงเหวนั้น กลายเป็นทางเตียนโล่งลงไปจนถึงที่ตักน้ำ กอไผ่แหวก ออกเป็นทางไป ๒ ข้าง เหมือนเอารถแทรกเตอร์มาเกรด หลวงปู่คําผอง ท่านก็สงสัยเพราะในป่าอย่างนี้ จะไปมีรถแทรกเตอร์มาเกรดให้ได้อย่างไร จึงไปกราบเรียนถามหลวงปู่ชอบ ท่านก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า

“พญานาคเขามาทําให้ เขามาลาเรา บอกว่าจะไปสงคราม”

หลวงปู่คําผองแปลกใจมากจึงเรียนถามว่า “พญานาคเขามีรบกันด้วยหรือ หลวงปู่” หลวงปู่ชอบท่านตอบว่า “มนุษย์เป็นอย่างไร เขาก็เป็นอย่างนั้น”

นับแต่นั้นมา เวลาพระเณรลงไปตักน้ำก็ไม่ลําบากอีก

เทวดามาฟังธรรมหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
พรรษาที่ ๑๓ พ.ศ.๒๕๐๙ จําพรรษาที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย พรรษานี้หลวงปู่คําผอง จําพรรษากับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และพระเณรรวม ๙ องค์ หลวงปู่ท่านเล่าเสมอว่า มีเทวดามากราบหลวงปู่ชอบเป็นประจํา เวลาอยู่บ้านโคกมนอย่างนี้ เทวดาบางพวกก็มาจากเชียงใหม่ บางพวกก็มาจากภูหลวง บางครั้งมาทางดิน บางครั้งก็เหาะมาทางอากาศ เพื่อมาฟังธรรมจากหลวงปู่ชอบ หลวงปู่คําผองได้เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ชอบว่า “เทศน์อะไรให้พวกเขาฟัง” หลวงปู่ชอบบอกว่า “แล้วแต่เขาจะชอบ บางพวกก็ชอบพระไตรสรณคมน์ บางพวกก็ชอบธรรมจักรกัปวัตนสูตร บางพวกก็ชอบอนัตตลักขณสูตร”

พรรษาที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๑๐
จําพรรษาที่วัดป่าผาแด่น อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่
พรรษานี้จําพรรษาร่วมกัน ๔ องค์ คือ หลวงปู่คำผอง , พระอาจารย์บุญพิน กตปุญฺโญ , พระม่อยและเณร หลวงปู่คำผองอยู่ที่ผาแด่น จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๑ จึงลงเขาไปพักอยู่วัดป่าห้วยน้ำริน เพื่อตัดเย็บย้อมผ้า จากนั้นก็เดินทางไป จ. เลย เที่ยวธุดงค์มาจนถึง ภูผาสาด (ภูปราสาท) ซึ่งเป็นภูใหญ่ในเขต อ.ภูเรือ ท่านเห็นว่ามีความสงบ น้ํำท่าอุดมสมบูรณ์จึงตกลงใจ จะจําพรรษาที่นี่

เจอพญานาคและธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ.๒๕๑๑ จําพรรษาที่ภูปราสาท อ.ภูเรือ จ.เลย
ปีนี้จําพรรษากับเณรอีก ๒ องค์ อยู่ในถ้ํำ เวลาบิณฑบาตจะไปที่บ้านหนองแซง วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่เข้าจําวัดแล้ว ได้เห็นพญานาคมาหา โดยครั้งแรกมาในรูปของงูก่อน แล้วก็หายไป จากนั้นก็มาอีก แต่มาในรูปมนุษย์ เขาถามว่า “คราวที่แล้วเขามา รู้ไหมว่าเป็นอะไร ไม่กลัวหรือ” ท่านก็ตอบว่า “ไม่กลัว” แล้วเขาก็หายไป มาภายหลังได้เล่าถวายให้หลวงปู่ชอบฟัง ท่านถามว่า “ทําไมไม่ถามว่าเขามาทําไม” แต่หลวงปู่คำผองตอบว่าไม่ได้สนใจจะถาม แล้วท่านก็ได้ถามหลวงปู่ชอบว่า “บนเขาอย่างนี้ก็มีอยู่ด้วยหรือหลวงปู่ พญานาคน่ะ” หลวงปู่ชอบตอบว่า “ก็มีอยู่ ทุกแห่งนั่นแหละ” ความจริงเวลาชาวบ้านแถวภูปราสาทนั้น เวลาเขาทําไร่ทําสวนก็มักได้ยินเสียงเหมือนคนพูดกัน แต่ก็มองหาไม่เห็นว่าใครพูด

พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่เดินทางร่วมกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม และหลวงปู่ซามา อจุตโต กลับไปทางเชียงใหม่ โดยไปพักที่วัดป่าห้วยน้ำรินก่อน จากนั้นหลวงปู่ติดตามหลวงปู่ชอบไปเที่ยวธุดงค์ แถวบ้านแม้ว ทาง อ. สะเมิง ส่วนหลวงปู่ซามา ท่านเดินไม่ไหว จึงพักอยู่ที่ห้วยน้ำริน เวลานั้นเสือโคร่งกําลังอาละวาดกัดกินม้าของพวกแม้วแล้วถูกพรานดักยิง แต่มันก็ไม่ตายกลายเป็นเสือลําบาก ชาวบ้านก็เตือนให้ระวัง แต่ก็ไม่เจอกัน เมื่อออกมาจากบ้านแล้ว ไปพักที่ใหม่ หลวงปู่ชอบสั่งให้ทําร้านพัก ๒ ร้าน เฉพาะของหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่คำผอง ส่วนที่เหลือคือพระแดง กับผ้าขาว ให้นอนพื้นดิน หลวงปู่คำผองกับพระแดงและผ้าขาวจึงไปช่วยกันทําร้าน โดยให้ผ้าขาวซึ่งแก่แล้วเป็นคนตัด หลวงปู่คําผองกับพระแดงช่วยกันดึง ได้มาวันละไม่กี่ลํา เอามาทําฟาก พอสร้างเสร็จได้วันเดียว หลวงปู่ชอบก็ชวนเดินทางต่อ

หลวงปู่พูดให้ฟังถึงนิสัยมาเร็วไปเร็วของหลวงปู่ชอบอยู่เสมอๆ อย่างกรณีนี้ ท่านเล่าอย่างขําๆ ว่า “เราทําอยู่เป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์ กับท่านแดง นั่งฉันได้วันเดียว หลวงปู่ชอบไปแล้ว นี่แหละเหนื่อยใจไปกับหลวงปู”

คราวนี้เดินทางมาถึงพระพุทธบาทสี่รอย ก็ค่ำพอดี จึงนิมนต์หลวงปู่พักที่นี่ รุ่งขึ้นค่อยไปผาแด่น แต่ท่านก็ยังพาเดินต่อลงเขา มาจนพบร่องน้ำ ท่านจึงพาหยุดพัก ผ้าขาวก็เอากาต้มน้ำร้อนสรงหลวงปู่ชอบ หลวงปู่เองก็สรงน้ำ แล้วปูที่นอนเตรียมจําวัด ผ้าขาวก็ไปหาฟืนมาเตรียมก่อไฟ สักพักหลวงปู่ชอบชวนเดินทางต่ออีก ตกลงเลยไม่ต้องนอน เดินกันมาแต่ก็ไม่ถึงวัด ตกลงต้องนอนผิงไฟอยู่ข้างทางนั้น เพราะอากาศหนาวมาก ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันแล้วจึงเดินทางถึงวัดป่าผาแด่น

พรรษาที่ ๑๖ – ๑๘ พ.ศ.๒๕๑๒ – ๒๕๑๔
จําพรรษาที่วัดป่าผาแด่น ต.สันป่ายาง อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงปู่จําพรรษากับเณร ๑ องค์ และผ้าขาวเกตุ (คือ หลวงตาเกตุ วัดป่าม่วงหัก จ.มุกดาหาร ในเวลาต่อมานั่นเอง หลวงตาเกตุนี้ หลวงปู่ชอบเคยพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมรณภาพพร้อมกันกับหลวงปู่ชอบ และก็เป็นจริง คือท่านมรณภาพด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างเดินทางมากราบศพหลวงปู่ชอบ ภายหลังจากได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ชอบมรณภาพ) ส่วนหลวงปู่ชอบจําพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน พอออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ชอบท่านก็ขึ้นเขาไปอยู่ที่วัดป่าโป่งเดือด แล้วมาพักกับหลวงปู่คําผองที่ผาแด่น จากนั้นก็กลับลงไปห้วยน้ำริน แต่ปรากฏว่าอากาศร้อน หลวงปู่ชอบจึงกลับขึ้นไปโป่งเดือดอีก สุดท้ายท่านก็กลับไปทางบ้านโคกมน จ. เลย เพื่อไปสร้างถังน้ำ ศาลา และโบสถ์ ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ ส่วนหลวงปู่คําผองอยู่ที่ผาแด่น จนถึง พ.ศ.๒๕๑๔

(จากซ้าย) พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร กับ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
และพระอาจารย์ขันตี ญาณวโร
บันทึกภาพ ณ วัดป่าผาแด่น บ้านผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่ชอบเริ่มอาพาธ ท่านพระอาจารย์บัวคํา มหาวีโร จึงนิมนต์มารักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ ๙ วัน อาการดีขึ้น จึงกลับไปจําพรรษาที่วัดป่าบ้านสานตม อ.ภูเรือ จ.เลย โดยมี ท่านพระอาจารย์บัวคํา มหาวีโร, ท่านพระอาจารย์ขันตี ญาณวโร อยู่จําพรรษาด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังพอเดินได้ โดยใช้ไม้เท้าช่วย ท่านยังเดินไปใช้ไม้เท้าชี้ที่ก่อสร้างศาลาได้อยู่ พอออกพรรษาปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่คําผองลงจากผาแด่นไปกราบเยี่ยมหลวงปู่ชอบที่บ้านสานตม ก่อนกลับยังได้สั่งท่านพระอาจารย์บุญพินซึ่งได้มาพักอยู่ดูแลหลวงปู่ชอบว่า

“ถ้าหลวงปู่อาพาธหนักให้เขียนจดหมายไปหาผมนะ ผมจะขึ้นไปเชียงใหม่ก่อน”

แล้วหลวงปู่คำผองก็กลับผาแด่น ต่อมาไม่นานก็ได้รับจดหมายจากท่านพระอาจารย์บุญพิน กตปุญฺโญว่า หลวงปู่ชอบเข้าโรงพยาบาลอีก ซึ่งมีสาเหตุมาจากหมอคนจีนเอายาสมุนไพรมาถวายท่านฉันได้เพียงนิดเดียว ก็มีอาการกระตุก ปากเบี้ยว น้ำลายไหล จึงต้องรีบส่งโรงพยาบาล หลวงปู่คำผองท่านจึงรีบเดินทางโดยรถไฟลงมากรุงเทพฯ แล้วจึงไปเยี่ยมหลวงปู่ชอบที่ รพ.ศิริราชทันที ก็มาทราบว่าหลวงปู่ชอบ ท่านตกเตียงซ้ำอีก คือตอนกลางคืนไม่ได้เอารางเหล็กกั้นขอบเตียงพยาบาลขึ้น หลวงปู่ชอบ ท่านตื่นขึ้นมากลางดึก จึงลุกขึ้นเอียงตัวไปบ้วนน้ำลายเป็นเหตุให้ตกเตียงหัวฟาดพื้นถึงกับสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นมาอาการอัมพาตจึงไม่ดีขึ้นอีกเลย กลายเป็นอัมพาตซีกซ้ายไปตลอดชีวิต หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ละสังขารเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘

พรรษาที่ ๒๔ – ๒๙ พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๒๕ จำพรรษาที่วัดป่าผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๒๕ นี้ หลวงปู่อยู่ที่ผาแด่นโดยตลอด มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่อยู่องค์เดียว ไม่มีพระเณรอื่น ท่านเจ็บเส้นที่ท้องมาก ต้องนั่งนวดเส้นเองอยู่คนเดียว จึงบ่นขึ้นว่า

“พวกภูมิ (ภุมมเทวดา) ไม่มีอยากได้บุญเลยหรือ เจ็บท้องจะตาย ไม่มีใครมาบีบเส้นให้”

คืนนั้น เมื่อเดินจงกรมเสร็จ ก็เดินกลับขึ้นกุฏิ พอลงนอนก็เห็นร่างดําทะมึนเดิน ตามขึ้นมาบนกุฏิ ขณะนั้นท่านไม่ได้จุดเทียนจึงมองไม่ออก และไม่สนใจด้วยว่าจะมาจากไหน ท่านก็บอกว่า “เอ้า ! นวดเส้น” เขาก็นวดให้ บางที่นวดแรงไปหลวงปู่ก็บอกว่า “อย่าทําแรงมากไปมันเจ็บ” เขาก็ลดกําลังลงจนพอดี พอเสร็จแล้วเขาก็กราบลาแล้วเดินลงกุฏิไป หลวงปู่ก็จําวัด ท่านบอกว่า อาจจะเป็นพวกภูมิที่เคยทําแร่อยู่แถวๆ วัด เพราะชาวบ้าน เล่าว่า คนสมัยก่อนเขามาทําแร่ ถลุงเหล็ก ต้มเหล็กกันอยู่แถววัดในปัจจุบันเป็นจํานวนมาก แม้เมื่อตอนสร้างกุฏิที่หลวงปู่พักหลังปัจจุบันนั้น ขณะที่รถได้ไปยังเจอเอาที่ต้มเหล็ก และทั่งตีเหล็ก ฝังดินอยู่จึงเอาขึ้นมา

หลวงปู่คำผอง กุสลธโร ที่ รพ.ศิริราช ๒๒ มิ.ย.พ.ศ.๒๕๔๐
วันท่านจะออกจากศิริราชกลับวัดป่านิโครธาราม
(ซ้าย) พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร
(กลาง) หลวงปู่บุญพิน กตปุญโญ
(ขวา) พระอาจารย์บุญรอด อธิปุญโญ
ในงานประชุมเพลิงศพ หลวงปู่คำผอง กุสลธโร
ณ วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
วันที่ ๕ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๔๖

มรณภาพตรงกับวันอุปสมบท
หลวงปู่คำผอง กุสลธโร ดำเนินตามรอยพระบาทแห่งองค์พระศาสดามาตลอดชีวิตการอุปสมบท ๔๙ พรรษา ท่านละสังขารลงด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๒๐.๒๐ น. สิริรวมอายุ ๗๒ ปี ๕ เดือน ๖ วัน

อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่คำผอง กุสลธโร วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่คำผอง กุสลธโร วัดป่านิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

โอวาทธรรม หลวงปู่คำผอง กุสลธโร

“..ธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าที่ดีเลิศ ไม่เสื่อมสูญไปไหน เรียกว่า ศาสนาไม่ว่างจากคุณธรรม หรือ พระอรหันต์ไม่ว่างจากโลก เมื่อใครปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ธรรมก็เกิดแก่ใจของผู้นั้น อยู่ตราบนั้น..”