วันจันทร์, 14 ตุลาคม 2567

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งวัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

• ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ข้าพเจ้ามีนามเดิมที่โยมคุณตาตั้งให้ ชื่อ คำบ่อ พวงสี เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม ณ บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายทองและนางภู่ พวงสี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ ข้าพเจ้าเป็นบุตรคนที่ ๑

ในปฐมวัย ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ศาลาวัดศรีษะเกษ บ้านตาล จ.สกลนคร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อจบแล้ว โยมบิดา-โยมมารดาจะให้บวชเป็นสามเณร จึงตอบท่านไปว่า ยังไม่บวช จะอยู่ทำงานไปอีกสักระยะหนึ่งก่อนจึงจะบวช โยมบิดา-โยมมารดาท่านก็ไม่ว่าอะไรแม้แต่คำเดียว

ท่านทั้งสองเป็นพุทธมามกะ เลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าความดีก็มีเหตุ ความชั่วก็มีเหตุ ความดีก็เกิดจากการกระทำดีนั้น ความชั่วก็เกิดจากการกระทำชั่วนั้น ฉะนั้น ท่านทั้งสองจึงพยายามสร้างความดี ทำความดี ตามกำลังกายกำลังทรัพย์ กำลังปัญญาของท่าน จนกระทั่งท่านทั้งสองจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

• ชีวิตเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ ปีมะโรง อายุได้ ๒๑ ปี วันนั้นคุณตามาที่บ้านประมาณ ๑ ทุ่ม ท่านถามว่ากินข้าวเสร็จหรือยัง เลยบอกท่านว่ายัง ท่านเลยบอกให้รีบไปกินข้าว วันนี้จะพาไปมอบนาคที่วัดตาลนิมิต บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร แบบนี้เขาเรียกว่าแบบจู่โจมไม่ให้รู้ตัว โยมบิดา-โยมมารดาไม่บอกให้ทราบ แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกดีใจ จะได้หมดหนี้บุญคุณของท่านเสียที หนี้บุญคุณของบิดามารดา ยังฝังอยู่ในจิตใจไม่หลงลืมตลอดมา
ถ้ายังไม่ได้บวชให้ท่านก่อนแล้ว ก็จะไม่แต่งงานเป็นอันขาด เพราะได้ยินญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตาของเธอเขาดีใจมากเพราะได้หลานคนแรกเป็นผู้ชาย ท่านบอกว่าท่านได้กำไรแล้ว คำว่ากำไรคงหมายถึงความดีเท่านั้น คำพูดของท่านคำนี้จึงไม่ลืมเลือนไปจากจิตใจของข้าพเจ้าตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้
อยู่ไปประมาณเดือนมีนาคม ครูบาอาจารย์อาจมองเห็นว่าจะมองว่าใกล้ไฟ มันร้อนใกล้ค้อนมันเจ็บ ท่านเลยลัดคิวบวชเป็นสามเณรให้ ท่านก็ได้จับบวชเป็นสามเณรที่โบสถ์น้ำ เรียกว่า อุทกุกเขปสีมา เป็นสามเณรจนกระทั่งเดือนเมษายนอุโบสถที่สร้างก็เสร็จ ทำพิธีพัทธสีมาแล้วทำพิธีบวช โดยมี พระมหาเถื่อน อุชุกโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระลี ฐิตธัมโม เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระโง่น โสรโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๕ เวลา ๐๙.๔๕ น. ณ วัดเจริญราษฎร์ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับมาที่วัดตาลนิมิต อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ที่วัดตาลนิมิต ได้ช่วยทำการงานที่ครูบาอาจารย์มีความประสงค์จะทำ คือเริ่มมีการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น โดยมีการเลื่อยไม้เอง แต่ข้อวัตรปฏิบัติอะไรก็มิได้ขาดทุกวัน จนกระทั่งเดือนมีนาคม-เมษายนนี่แหละ มี พระอาจารย์อ่อนศรี ฐานวโร มากราบคารวะหลวงปู่ลี อโสโก ที่เป็นผู้หนึ่งที่ท่านเคารพนับถือ และเคยอยู่จำพรรษากับท่าน ท่านจึงมาชวนไปจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างพรรษานี้ก็ได้ช่วยงานมีการก่อสร้างภายในวัด
จนกระทั่งออกพรรษา ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ว่าจะไปเที่ยวเขาพระวิหารกับท่านอาจารย์อ่อนศรี ฐานวโร และเพื่อนๆ พระเณร ไปด้วยกัน ๔ รูป พอมาถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี ได้ไปกราบลาเจ้าคณะจังหวัดแล้วพักอยู่ที่วัดสำราญนิวาส อ.วารินชำราบ ได้มาพบกับพระอาจารย์มุ่ย ณ วัดแห่งนี้ ท่านเลยชวนไปจำพรรษาจังหวัดชลบุรี ที่วัดวิเวการาม ที่ท่านอาจารย์อรุณท่านอยู่ ท่านไม่มีหมู่เพื่อนเท่าใดนัก ฉะนั้น ทุกคนก็ตกลงไปจังหวัดชลบุรีเพื่อจะอยู่จำพรรษาที่วัดวิเวการามแห่งนี้

• พระพุทธเจ้าปรากฏ
ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้เดินทางไปทางภาคใต้ของประเทศไทย ไปพักอยู่จังหวัดเพชรบุรี วัดอุทัยโพราม กับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม พักอยู่ที่นี่ระยะหนึ่งเพื่อจะมีโอกาสได้ฟังโอวาทคำเตือนเกี่ยวกับธรรมวินัย ในการประพฤติปฏิบัติเพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ เมื่อได้โอกาสแล้วจึงได้กราบลาท่าน เดินทางต่อไปจังหวัดกระบี่ พักแรมอยู่ในป่าในจังหวัดกระบี่ประมาณ ๑ เดือน ก็เดินทางต่อไปที่จังหวัดพังงา เพื่อจะได้พบครูบาอาจารย์ มีหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แต่ไม่ได้พบ ท่านมาประชุมงานวันบูรพาจารย์ที่วัดสุทธาวาส
อยู่จังหวัดพังงาประมาณ ๑ เดือน กับพระหลวงพ่อของ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ตกลงว่าจะอยู่กับท่านตามคำนิมนต์ของคณะศรัทธาญาติโยมที่นั่น แต่แล้วก็เป็นอนิจจังไปอีก คือเนื่องจาก ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ขอร้องให้ไปอยู่กับท่านที่ อ.แม่พริก ท่านก็มองไปมุมหนึ่งของท่านเพราะอยู่ที่นี่มีแต่ผู้หญิงมาอุปถัมภ์บำรุง เช้าก็มา เย็นก็มา ค่ำก็มา เขาดีจริงๆ ท่านก็กลัว ยังงั้นนะที่ว่าภัยนี่ ภัยของนักบวชก็มียังงั้น ก็เลยตกลงว่าไปอยู่กับท่านอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต แล้วก็ท่านอาจารย์มหาเพิ่ม รวมเป็น ๓ รูป อยู่ที่นี่นานประมาณ ๒-๓ เดือนละมัง จึงได้ไปอยู่ ต.กะไหล อ.แม่พริก
อยู่ที่ ต.กะไหล นี่เลยเป็นไข้มาลาเรียอย่างแรง จนได้กราบเรียนครูบาอาจารย์ว่า ถ้าผมตาย ให้เผาเลย ให้เผา ไม่ต้องบอกให้ทางบ้าน คือบิดามารดาของผมทราบเรื่อง เมื่อเขาทราบแล้วจะเป็นทุกข์ ไปกราบเรียนท่านว่ายังงั้น เวลาเจ็บป่วยเนี่ย ใจก็ยิ่งเร่งความพากเพียรทำให้มีกำลังใจ จนทำให้ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกเดินมาตามหาดทรายทะเลนั้น เกิดความปีติยินดีเป็นอันมากได้เห็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้หลับนอน ไม่โกรธเกลียดให้ใครทั้งนั้น ใจสบาย มีแต่อยากจะพูดธรรม ไม่มีเรื่องอะไรให้ใจกังวล การรักษาตามมีตามได้ ข้อวัตรปฏิบัติก็ไม่ขาดตกบกพร่องอะไร
ที่มันปรากฏขึ้นมานี่ก็เพราะจิตใจเราเองนี้มันเป็นนิมิตเพราะเราว่าเราต้องตายแน่ ไม่มีที่พึ่งอะไรนอกเหนือจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เลยกลายเป็นภาพนิมิตปรากฏดังกล่าว แล้วก็ไม่ได้ทักทายปราศรัยไต่ถามอะไร เราเห็นว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็มีความเลื่อมใสศรัทธา ในนิมิตที่ปรากฏเห็นนั้นเป็นที่ซาบซึ้งถึงใจจริงๆ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ไม่ได้นึกถึงความเจ็บป่วย ในระยะนั้นที่ไม่ได้พักผ่อนหลับนอนหลายๆ วัน เขาจะว่ากันว่ามาลาเลียขึ้นสมองเพราะเราเป็นคนไม่พูดกลับพูดมากขึ้น ช่วงนั้นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราชท่านมาเยี่ยมเยียนพระตั้งแต่ จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ได้มาแวะ ก็ได้ให้การต้อนรับท่าน ไม่มีอุปสรรคอะไรเกี่ยวกับการเจ็บไข้เหมือนกับคนไม่ได้เป็นอะไร
จากนั้นแล้วจึงพาศรัทธาญาติโยมไปจังหวัดภูเก็ต รอหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านมางานบูรพาจารย์ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อจะเข้ารับฟังธรรมโอวาทของท่าน อยู่วัดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต จนหลวงปู่กลับจากสกลนครไปวัดไม้ขาว ได้ฟังธรรมเป็นคติเตือนใจจากท่านเป็นครั้งแรก ได้อยู่ที่วัดไม้ขาว จนกระทั่งญาติโยมจังหวัดชลบุรี ขออาราธนาให้กลับจังหวัดชลบุรีด้วยกัน ทั้งหมดที่ไปด้วยกันเลยตกลงกลับจังหวัดชลบุรีในต้นเดือนกรกฎาคม

• อดเอาทนเอา
กลับจังหวัดชลบุรีในต้นเดือนกรกฎาคม แล้วมาจำพรรษาอยู่วัดวิเวการาม ปีแรกๆ ที่วัดวิเวการาม ก็ไม่ได้ทำอะไร ครูบาอาจารย์ท่านพานั่งภาวนาไหว้พระสวดมนต์หกโมงเย็น แล้วก็ภาวนายันเที่ยงคืน ฝึกกันอยู่อย่างงั้น เจ็บปวด ขาจะขาดจากกัน บางรูปร้องออกมา อดเอา ทนเอา มันก็ไม่ไหว อย่างนี้มันฝืนธรรมชาติธรรมดา มันไม่สงบ ก็จะให้สงบ มันไม่เป็น ก็จะให้เป็น มันก็ได้ความคิดนะที่อาจารย์พาทำนี่
บางทีมันไม่ได้อะไร ไม่เกิดปัญญาสงบอะไร มีแต่คิดเมื่อไรจะพาเลิกสักที มันไม่อยากนั่งนานๆ หรอก สัก ๒-๓ ชั่วโมง ยังพอไหว ยังดี อดเอาทนเอา พรรษาที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ก็ยังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ทำกิจวัตรอยู่อย่างนั้น ไม่ลดละอะไร แต่ไม่เกิดปัญญาอะไร พอไปเห็นการนั่งนานๆ นี่ บางองค์บางท่านสังขารร่างกายไม่อำนวย ความทุกข์มันเกิดจากอุปาทานทางจิตใจว่ามันเจ็บปวด มันปล่อยวางไม่ได้ เข้าสู่ความสงบไม่ได้ จึงร้องออกมาโดยไม่ตั้งใจ
เราเกิดความคิดที่มันก็อาจเป็นบาปมั่งละ เพราะไปตำหนิครูอาจารย์ เอ๊..ทำไมท่านไม่ประมาณสังขาร ร่างกายก็เฒ่าแก่กันแล้ว สมาธิก็ทำกันไม่เป็น พุทโธไปงั้น ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ครูบาอาจารย์บอกให้นั่งมือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น อยู่ในอารมณ์คือพุทโธ กำหนดลมรู้ลมสั้นยาว ฯลฯ สมัยอยู่กับหลวงปู่ลี อโสโก เดินจงกรมไม่หยุดจนเที่ยงคืน แทบยกขาไม่ขึ้น แต่ไม่รู้เดินเพื่ออะไร รู้แต่เอาบุญ แม้แต่การบวชตอนแรกก็เพื่อตอบแทนบุญคุณปู่ย่าตายาย เพราะท่านประสงค์จะให้บวช ก็คิดว่าห่มเหลืองโกนหัวโล้นก็เป็นพระ ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเราไม่รู้ว่าการเป็นพระนี่อยู่ที่ไหน

ในระหว่างอยู่ในช่วงนี้คือปี พ.ศ.๒๔๙๗ – ๒๔๙๙ นี้ มีปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิตหมายถึงชีวิตพรหมจรรย์ คือมีคนอยากสึก ให้เตรียมกางเกง เสื้อ และอื่นๆ ต้องการอยากจะให้สึกไปจับจองที่ดินที่ยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ แถวแหลมฉบัง พัทยา บางพระ เขาเขียว แถวนั้นเป็นป่าใครเข้าใกล้ไม่ได้ไข้มาลาเลียกินแทบตาย เราต่อสู้กับความอยากอย่างเดียว อยากมีอยากเป็น อดข้าวอดน้ำต่อสู้ หลังฉันข้าวเช้าแล้วจะไม่นอน ตั้งใจสู้โดยนั่งสมาธิอีก ๓ ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ จนถึง ๖ ชั่งโมงไม่ได้อะไรได้แต่ความอดทน ต่อสู้กับความคิดอย่างเดียว ต่อสู้กับความอยากจะไปเอาโน่นเอานี่ เป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจว่าอยู่บ้านพ่อแม่ก็ไม่อดอยากอยู่แล้ว แล้วจะไปเอาทำไม อย่างที่สองไม่ไว้ใจตัวเองว่า ถ้าเราสึกไปเราต้องทำบาปแน่ๆ สาหัสสากรรจ์ ทบทวนดูโลกภายนอกมันมีแต่เรื่องชวนล่อไปลงนรก
ความอยากสึกกับความไม่อยากสึกนี่มันต่อสู้กันอยู่ประมาณเป็นปี ความยินดีพอใจนั่นแหละมันต่อสู้กันอยู่อย่างนั้น ผลสุดท้ายก็แก้ไขแนวความคิดอันนี้ผ่านพ้นไปได้ คือหมดอยาก ความอยากได้นี่หมดไป
เจ้าคุณวัดบวรมงคล ท่านนิมนต์ให้มาศึกษาในกรุงเทพฯ จะเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ตัดสินใจไม่เรียน ถ้าเรียนก็จะต้องสึกแน่

• การแสวงหาธรรม
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงได้ออกเดินทางไปเที่ยววิเวก มีสหธรรมมิก สหายธรรม ก็ว่าได้ ไปด้วยกัน ๒ องค์ ไปจังหวัดระยอง ก็ไปพักอยู่วัดจุฬามณี กับอาจารย์มหาเชย อยู่เดือนสองเดือน ก็ออกไปแล้วไปพักอีกที่หนึ่งคือ อ.แกลง จ.ระยอง แต่ว่ามีหลวงตาองค์หนึ่งอยู่ที่นั่น ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดไป เมื่อเห็นท่านไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย มีแต่ความอยากได้อยากมี พอคนให้ทานมานี่ มีแต่ตะกละตะกาม อยากจะเอา มีญาติโยมตำหนิติเตียนว่าเอาเงินทองไปเลี้ยงลูกหลาน เลยสลดใจเมื่อเห็นความประพฤติ

การเป็นนักบวชมิใช่บวชมาเพื่อสะสมสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าสอนให้ละ แต่เรามาสะสม ก็เห็นว่ามันไม่ถูก เห็นว่ามันไม่ดี ไม่ได้ตำหนิติเตียนท่าน แต่มีความสลดสังเวชในจิตใจ อันนี้มันเป็นเรื่องของใครของมัน เหตุนี้จึงอยู่ในสถานที่นี้ไม่ได้ จึงขึ้นรถไปจังหวัดจันทบุรี ไปอยู่วัดป่าคลองกุ้ง สมัยนั้นมีพระครูสันต์ เป็นเจ้าอาวาส ได้ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ ในฐานะที่ท่านมีพรรษาอายุมากกว่า ว่าจะไปดูข้อวัตรปฏิบัติกับท่านเหมือนกัน ได้พักอยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งเดือน จึงเดินทางไปจังหวัดตราด ไปอยู่เกาะกูด ญาติโยมสร้างเป็นที่พักสงฆ์อยู่ก็สงบดี เรื่องบิณฑบาต เสนาสนะพร้อม พออาศัยอยู่ได้เป็นสัปปายะได้

ที่นี้อาจารย์มหาเชย ท่านเป็นผู้มีพรรษาอายุมาก ท่านเป็นนักพูด เป็นนักคิด ท่านไม่พอใจที่จะอยู่ที่นั้น จึงพาไปอยู่เกาะช้าง ปี พ.ศ.๒๕๐๑ เนื่องจากเกรงว่าจะไปกีดขวางในการคิดการพูดของเขา จะทำให้เขาไม่เกิดความเจริญในศรัทธาเลื่อมใสของโยม ที่นั่นมีโยมทำกระต๊อบอยู่ อาหาร เสนาสนะ ก็สัปปายะ บุคคลก็สัปปายะดีไม่มีอะไร เป็นที่สบายใจดี แต่ความไม่รู้ธรรมเห็นธรรมของเรานี่ก็ยังไม่สิ้นสุดล่ะ พออยู่ไปอยู่ไปมันก็อยากไปต่อ อยู่เกาะช้างได้ประมาณ ๒ เดือน ท่านจึงชวนกลับ

ที่นี้จะมาวัดป่าคลองกุ้ง แต่ท่านอาจารย์มหาเชยไม่อยากมา จึงแยกทางกัน ท่านไป จ.ระยอง รู้สึกว่าจะสร้างวัดที่นี่อยู่จนมรณภาพไป เรามาพักที่วัดป่าคลองกุ้ง เนื่องจากเห็นท่านเป็นครูบาอาจารย์ พอสมควรแล้วจึงไปหาท่านพ่อลี ที่วัดอโศการาม สมัยนั้นกำลังฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีการจัดงานมโหฬาร แต่ขณะเราลงไปงานเลิกไปแล้ว มีหลวงพ่อเฟื่อง อาจารย์สนั่น อาจารย์บุญทัน ท่านธรรมรัตน์ก็อยู่ที่นั่นในเวลานั้นในระยะหนึ่ง จะเป็นหนึ่งถึงสองเดือนนี่แหละ ก็เลยชวนกันกับอาจารย์บุญทัน และมีพระอีกองค์หนึ่งชื่อธงชัย ท่านอยากให้ไปอยู่ที่วัดป่าช้าจีน แต่ได้ไปพักที่วัดเขาหน้าผาที่พระธงชัยพักอยู่ในระยะหนึ่ง ประมาณ ๑๕ วัน ดูๆ แล้วคิดว่าถ้าอยู่ไปจะทำให้จิตใจไม่เจริญก้าวหน้า เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ค่อยดี จึงมาอยู่ที่นครสวรรค์ พระธงชัยที่นิมนต์ไปวัดป่าช้าจีน ก็มาสึกในภายหลัง

มาถึงนครสวรรค์ไม่พอใจที่จะอยู่สถานที่นี้ จึงชวนกันกับอาจารย์บุญทัน โดยนัดกันที่จังหวัดลำปาง ท่านจะไปรถไฟ เราจะไปรถยนต์เจอกันที่นั่น แต่ท่านไม่ได้ไป ท่านไปอยู่ปราจีนบุรี เราก็เดินทางไปบวชนาคที่จังหวัดตาก บวชนาคแล้วพักอยู่ ๑ สัปดาห์ จึงเดินทางต่อไปที่อำเภอเถิน ที่วัดป่านันทนาราม หลวงปู่เหรียญ, หลวงปู่หลอด, หลวงปู่อ่อน ท่านเคยอยู่ที่นี่มาก่อน เจออาจารย์สนั่น ที่นั่นอีกเลยชวนกันอยู่ เพราะท่านพ่อลี บอกให้อยู่นี่เพื่อสงเคราะห์ญาติโยม มีเจ้าน้อยเมืองดี, พ่อมอย, กำนันมุ้ย เป็นโยมอุปถัมภ์ที่วัดนี้ ก็ไปอยู่จำพรรษาร่วมกันกับอาจารย์สนั่น, ท่านจันยา, ท่านสงัด, หลวงพ่อหาญ, พระต่าง และสามเณรคำ จำพรรษารวมกัน ๗ รูป ที่อำเภอเถิน ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ที่นั่น

• เหลือแต่กระดูก
พอออกพรรษาแล้ว ก็มาพักวิเวกแถวดอนต้อก ที่นี้แหละที่ได้ทำความเพียร โดยมีพระที่ไปด้วยกัน ท่านทำกายนุปัสสนาสสติปัฐาน เห็นร่างกายเป็นตัวเปื่อยเน่าชำรุดทุดโทรม กำหนดไปตามคำสัญญาที่ครูอาจารย์แนะนำว่าให้พิจารณาอสุภะ เลยปราฏกเห็นเหลือแต่โครงกระดูก ท่านมองเห็นอย่างนั้นตลอดเวลา ท่านกลัวตายมาก ท่านเลยมาหา ท่านว่ามีแต่โครงกระดูกไม่มีเนื้อหนัง ท่านได้สำคัญไปตามความคิดเห็นว่ามันเป็นจริงๆ เลยกลัวตาย

จึงคิดหาอุบายแก้ช่วยเหลือ จึงเรียกพระมาด้วยกัน ๓ องค์ เพื่อเป็นสักขีพยานในการที่ท่านรู้ ท่านเห็น ท่านมี ท่านเป็น ว่าขณะนี้ท่านมีโครงกระดูกไม่มีเนื้อหนังและกลัวตาย พอมาดูแล้วก็หยิกตรงไหนมันก็จะเจ็บที่สุดเลย ให้พระหยิกที่โคนขาแรงๆ ไม่ต้องกลัวมันขาด ให้หยิกแรงๆ ร้องอ๊ากเลย นี้ ! คนตายแล้วเหรอ พอหยิกข้าจริงๆ แล้วความรู้สึกมันก็เกิดขึ้นมา ถึงจะลืมตาขึ้นมามันก็เห็นอยู่แค่กระดูกนะ ลืมตานะไม่ใช่หลับตา สำหรับท่านที่รู้แล้ว ท่านที่เห็นนะ พอรู้สึกเจ็บแล้วก็นั้นแหละ ก็รู้สึกว่ามีเนื้อหนังแล้วเหมือนเดิม เมื่อปรากฏความเป็นจริงอย่างนี้เล้ว ท่านจึงยอมนับถือเราเป็นครูเป็นอาจารย์ เคารพนับถือจนท่านตายจากเราไป

อันนี้ส่อให้เห็นถึงสัจธรรม อันสัญญาที่ปรุงแต่งมันเกิดขึ้นมา เวลาจิตใจมันเงียบระงับแล้วน้อมจิต เวลาจิตมันเบาแล้วน้อมไปทางไหนก็ได้ เหมือนของเบายกไปใหนก็ไม่หนัก มันเลยเป็นไปตามสัญญาที่ปรุงขึ้นแต่งขึ้น จิตมันอ่อนแล้วน้อมยังไงก็เป็นไปตามอาการของจิตนั้นๆ แต่มันเป็นเฉพาะตนเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเขาก็ไม่รู้ไม่เห็นด้วย เป็นเฉพาะคนที่มีจิตอ่อนล้าน้อมกันไปกับอาการนี้ๆ แต่รู้สึกเหมือนกันที่เห็นขนาดนี้ คำว่าสมุทัย เป็นเหตุให้สุขภาพเกิดความทุกข์ มันก็เกิดจากการปรุงแต่งนั้นเอง แต่งดีก็ได้เสียก็ได้ อันนี้ให้พิจารณาดู จิตสงบแล้วน้อมไป ดีน้อมไปทางเสียก็ได้เสีย ข้อสำคัญที่สุดคือสติปัญญา ถ้าขาดสติปัญญาในความรู้เห็น ความมี ความเป็นแล้ว อาจคล้อยตามมันไปตามมันในทางที่ผิดก็ได้

บางครั้งมันก็โน้มไปในทางที่ดีบ้างและไม่ดีบ้าง เรื่องของจิตก็เป็นหลักสำคัญที่ประพฤติปฏิบัติ จึงควรศึกษากายกับจิตของเราให้มาก ศึกษาสิ่งที่มันผิดมันถูกนี้แหละ มันดีมันเลวนี้แหละ เราจะมีปัญญาได้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้ามันไม่เกิดอย่างนี้มันก็ไม่มีปัญญา เราก็ไม่รู้ว่ามันผิด มันถูก สิ่งที่มันผิดมันถูกทำให้คนฉลาด มีสติปัญญา แก้ปัญญาชีวิตอย่างราบรื่นขึ้นไปได้อย่างหมดปัญหาไปเลย เพราะความรู้ความเข้าใจในอรรถในธรรมนั้นๆ แจ่มแจ้งด้วยสติปัญญาของเราเอง

• พระถ้ำ
จากนั้นจึงไปช่วยงานหลวงพ่อลี วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ท่านไปจัดงานฉลองพระเจดีย์ ฉลองถ้ำ เมื่อการพัฒนาจนเสร็จสิ้นงานแล้ว ก็ขึ้นไปเชียงใหม่ พักที่วัดสันติธรรมกับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร พักกับท่านนี้นาน แม้จะออกไปเที่ยววิเวกในสถานที่ต่างๆ เช่น อำเภอแม่แตง ไปฟังโอวาทธรรม อุบายธรรมจากหลวงปู่แหวน ที่วัดป่าบ้านปง บางครั้งก็พักกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดปากทางแม่แตง เพื่อรับฟังอุบายธรรมคำสอนของท่าน แล้วจึงกลับไปกลับมา โดยอยู่ที่วัดสันติธรรมนี้เป็นหลัก หลวงปู่สิมท่านได้ออกไปวิเวกที่ถ้ำเปียงประจำ ได้ติดตามท่านไปแสวงหาโมกขธรรม มีพระที่ติดตามกันไปบ่อยๆ คือ พระอาจารย์ทองสุก อุตตรปัญโญ

ปีที่อยู่ปากเปียง อยู่ในรูก็ไม่เท่าไร พอออกนอกถ้ำก็หนาว ปีนั้นหนาวมาก ต้นกล้วยไม้ตายไหม้เป็นทิวหมด มีแต่ผ้าบางๆ หาไม้ฟืนมาไว้ แต่หาโยมจุดไฟให้ก็ไม่มี นอนกับฟากไม้ไผ่สับผูกเป็นแผ่นๆ เอาผ้าปูนั่งปู เสื่อก็ไม่มี พอหนาวก็ดิ้นผ้าหายหมด นั่งกอดเข่าก็แล้ว นั่งสมาธิก็ไม่หายหนาวหรือหายชั่วคราว ธรรมชาติมันบังคับอยู่นั่งคอยเมื่อไรมันจะสว่างซักทีจะได้หายหนาว ความง่วงเหงาหาวนอนจะได้หาย จะได้ไปบิณฑบาต เหมือนมันนานจริงๆ นะ ช่วงนั้นกลางคืนจะนานกว่ากลางวัน อยู่นานๆ หนาวไป หนาวไป จนชิน ไม่ตายหรอก มีอาจารย์สุบินจากจังหวัดจันทบุรีช่วยกันปั้นพระพุทธรูปที่นี่ เราอยู่ที่ปากเปียงได้ ๔ เดือน
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ จึงมาจำพรรษาที่ถ้ำแดนสวรรค์ ที่อำเภอเชียงดาวนั่นเอง แต่คนละแห่งที่ถ้ำปากเปียง เป็นที่ทุรกันดารมาก ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๙ กิโลเมตร มาบิณฑบาตลำบาก ต้องอาศัยบารมีญาติโยมส่งเสบียงอาหาร มีชีพราหมณ์ไปอยู่ด้วยเพื่อทำอาหารถวายพระ ปีนั้นมีพระ ๓ รูป มีพระอาจารย์แขนดำ เป็นหัวหน้า แล้วก็เรา ท่านทองสุก แล้วก็มีชีพราหมณ์ มีชีอยู่ ๓-๔ คน แล้วพราหมณ์ชายนุ่งขาว ๓ คน ไปอยู่ด้วยกัน ทำอาหารกินเอง โดยเขาส่งเสบียงไปให้ แม่น้ำปิงไหลผ่านข้ามไปมายาก ถ้าบารมีไม่มีจริงๆ ตายแน่

ยังดีที่โยมอุปถัมภ์กันนั้นมีวาสนาบารมีพอสมควรในเชียงดาว นั่นก็คือผู้ช่วยกำนันที่เชียงดาวนั่นแหละคนหนึ่ง และโยมในเชียงดาวนั้นเป็นผู้นำเสบียงอาหารไปส่ง บางอย่างก็ต้องจ้างเขาเข้าไปถ้ามันรีบด่วนเท่าไหร่ก็ต้องเสียเงินให้เขา แต่พวกที่เป็นกำลังใจอยู่ในเมืองก็มีเช่น คุณนายกิมเฮียง มีโยมโสฬส ลูกสาวแม่เลี้ยงเต่า ส่งปัจจัยไทยทานนี้ไปช่วยเหลือ เรื่องปัจจัยสี่จึงพออยู่ได้เพราะมันเป็นที่กันดารมาก อยู่ถ้ำแดนสรรค์ลงไปอาบน้ำห่างไป ๔ กิโลเมตร เดินกลับขึ้นมาเหงื่อแตกเหมือนเดิมแต่ยังดีกว่าไม่ได้อาบ ญาติโยมจึงซื้อแท็งก์สังกะสีขึ้นไปถวาย ๕-๖ ใบ
อยู่ที่นั้นโยมเชียงใหม่ ลำปาง ส่งเงินไปซื้อสังกะสีไปมุง ซื้อแท็งก์ไปถวาย มันก็มีปัญหา โยมก็โยมเคยอุปถัมภ์ สมัยเราอยู่ถ้ำปากเปียงนั่นแหละ แกก็ไปพูดคุยกัน แม่ชีได้ยินมา เกิดทะเลาะกับโยมนี่อีก เราว่าจะทะเลาะกับเขาทำไม เรากินข้าวเขาอยู่ แกก็แก้ตัวไปเรื่อยๆ “โอ้ย มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรอกโยม” เราก็แก้ไขไปเรื่อยๆ อาตมาไม่ใช่พระตาย ได้ยินอยู่นี่ คนนึงพูดอยู่ในฝาอีกคนฟังนอกฝา อาตมาก็ดูอยู่ไม่ใช่ตาบอด ถ้าจะทำให้เป็นเรื่องใหญ่ก็ใหญ่ได้ เรื่องเล็กก็ทำได้นะ

เราอยู่ในถ้ำนี้ได้สี่เดือน ไม่ได้ออกไปไหนมาไหนนะ ไม่ได้ออกไปเที่ยวเดินตามป่าอะไร อยู่ในถ้ำตลอด สบายดี ทำแค่อยู่หลังพระพุทธรูปอยู่สี่เดือน ตัวเหลืองเป็นกบซีดหมด
การอยู่ในถ้ำแดนสรรค์แห่งนี้ได้สติปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจในอรรถธรรมบางสิ่งบางอย่างพอสมควรนะ ได้ความสงบดี มันเกิดความรู้ขึ้นมาว่า คนนี่นะ ดีก็มี ชั่วก็มี ไม่ต้องสนใจเขา เอาตัวเรา เราทำดีไว้เป็นที่พึ่งของเรา คนอื่นเขาจะมีความรู้ความเห็นยังไงก็ตาม มันเป็นเรื่องของเขา เราก็ปล่อย ไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็สบายมีความสุข มันตัวใครตัวมัน ถ้าเราเอาเรื่องของคนอื่นมายุ่ง เราจะทุกข์ตลอดไปในโลกสงสาร เพราะมันมีปัญหาตลอด เราก็คิดให้มันเป็นปัญญา พูดให้มีปัญญา เราก็อยู่ได้สบาย ไม่เอาเรื่องใครมาเป็นปัญหา พยายามแก้ไขตนเองตลอด เลยสงบสงัดอยู่ด้วยความเยือกเย็น ใครจะร้อนเป็นไฟเราก็ไม่สนใจอะไร
เหตุที่เราได้ความสุขคือ เราไม่ยุ่งกับคนอื่นก็เลยสุขอยู่อย่างนี้ ลองดูสิเรื่องของสัตว์โลก จะให้ฉลาดมีสติปัญญา รวย รุ่งเรือง เหมือนกันหมดมันไม่มี จะไปเคี่ยวเข็ญให้มันมีได้ไง ทำไมเรียนด้วยกันมันจึงไม่ได้ดอกเตอร์เหมือนกันหมดละ เรียนทำไมแค่ปริญญาตรี ถ้าเราไปคิดละก็ยุ่งไปหมดแหละ เพราะเราไม่รู้จักเหตุปัจจัยของสัตว์โลกว่า มันมีวาสนาบารมีที่ทำมาต่างกัน มันจึงมีปัญญา มีความคิดเห็นผิดแผกแตกต่าง ปัญหามีได้เพราะขาดความรู้ที่ถูกต้องนั่นแหละ

ปรุงแต่งขึ้นมาได้ จิตมันปรุงขึ้นมา แต่เราไม่…ไม่หลงว่ามันเป็นความจริง เราพิจารณาเห็นความไม่แน่นอนของมัน สิ่งที่เกิดนี่อยากให้มันเกิดอีก มันก็ไม่เกิด พระพุทธเจ้าเลยว่ามันเป็นอนิจจัง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง จิตเราจะคิดอย่างนี้อยู่ตลอด เอาอันนี้เป็นหลักไว้เป็นประจำไม่ยินดียินร้ายอะไร

• ปลีกวิเวก
พอออกพรรษาแล้ว ปี พ.ศ.๒๕๐๕ จึงตัดสินใจลาครูบาอาจารย์ คือ อาจารย์มหาสุด อาจารย์ทองสุข เดินทางไปหาสถานที่วิเวกที่อำเภอเวียงป่าเป้า ในการไปนี้ก็ไปหาประสบการจากสิ่งแวดล้อม ทดสอบตัวเองนั้นแหละ ก็ไปพักอยู่ที่แม่ขะจานนี้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางออกไปทางอำเภอวังเหนือ ไปพักแรมไปตามถ้ำที่ต่างๆ ที่มีหมู่บ้าน วัด ถ้ำบ้าง ไม่ใช่เดินทางวันเดียวจะถึงที่หมายปลายทางคือไปหาที่วิเวกก็ไปพักอยู่บ้านร้าง แต่บ้านไม่ได้ร้างแต่อยู่เขตอำเภอวังเหนือ พอพักอยู่ที่นี้ก็ได้รับความสะดวกสบายจากเจ้าอาวาสและศรัทธาญาติโยมพอสมควร พอได้กินข้าวกับเขา เมื่อถึงบ้านนี้ก็เดินทางต่อไปข้ามลำน้ำ ลำน้ำอันเดียวนี้มันไกลจากเทือกเขา เขาจะพาเป็นที่ท่องเที่ยว

เหมือนกันที่แห่งนี้ เดินทางทั้งวันจนถึงหมู่บ้านเย้า บ้านจวนเรือน พักอยู่ที่นี้สองสามวัน จากเขาไปอยู่ในป่า เขาก็กลัวไม่ให้ไปอยู่ จะให้อยู่ในบ้านก็เป็นที่ไม่สบายเรา เพราะไม่เคยพักอยู่ตามบ้านเรือนเขา จึงลาญาติโยมลงมาอำเภอพะเยา แต่ได้พูดเล่นกับเขาว่าเราเนี่ยฉันข้าวมื้อเดียว เลยรับรองว่าจะให้อยู่ได้ เลยบอกเขาว่าหากมีเจตนาศรัทธาอยากให้จำพรรษาด้วย ก็ให้ช่วยทำกระต๊อบเล็กๆ สักหลังหนึ่งพอได้อยู่ อาตมาก็จะลงไปอำเภอพะเยา แล้วประมาณเจ็ดวันจะขึ้นมาใหม่

มีเรื่องแปลกอยู่ว่า ขณะมาป่าเมี่ยแม่สาย ได้เคยปรากฏเห็นบ้านที่ตรงอำเภอพะเยา เห็นอะไรๆ เหมือนเคยอยู่มาแล้ว มาที่นี้ญาติโยมก็พากันมานิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่สถานที่นั้น เลยได้เล่าให้เขาฟังว่าอาตมาได้พูดกับเย้าจวนเรือนที่ยอดเขาไว้ จะลงมาแค่เจ็ดวัน ให้เขาทำที่จำพรรษาให้ ถ้าเขาไม่ทำจะค่อยลงมาใหม่ เมื่อครบเจ็ดวันจึงเดินทางไปบนภูเขาแห่งนี้ เขาก็ทำสถานที่ให้อยู่จริง เลยตกลงใจจำพรรษาที่นั่น
ที่เย้าทำที่พักให้นั้น มันห่างจากหมู่บ้านประมาณสองกิโลเมตร เป็นสันเขามองลงไปเห็นอำเภอพะเย้าได้ชัดเจน จึงได้ตรัสสัจจะอธิฐานมอบกายถวายชีวิตบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าการมาอยู่ในสถานที่นี้ไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาสิ่งใด มีเพื่อจะอบรมนิสัยจิตใจให้เกิดความสงบ ความรู้ความฉลาดของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีกรรมไม่มีเวรต่อกัน สัตว์ทั้งหลายจะเป็นหมี เสือ ก็แล้วแต่ อย่ามาเบียดเบียนกันและกัน เราไม่ได้ตั้งใจมาเบียดเบียนใคร หากมีกรรมเวรต่อกันแล้วก็มอบกายถวายชีวิตบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปเลย ยอมตายในสถานที่นั้นพูดง่ายๆ
ในการไปพักในที่นั้น ในเบื้องต้นคิดไว้ว่าจะไม่พูดกับคน แต่เอ๊ะ…มีปากเขาเจาะไว้ให้พูดแล้วไม่พูดนี่จะมีประโยชน์อะไร มาพิจารณาแล้วว่าจะไม่อธิฐานต้องเลิก ต้องพูดกับญาติโยมที่ไปมาหาสู่ แล้วตั้งคำสัตย์จะไม่บอกใบ้ให้หวย เลขเบอร์ กับใครทั้งนั้น อยู่ในสถานที่แห่งนี้ก็มีสัตว์หลายจำพวก มีหมี มีเสือ เป็นทางผ่านของมัน แต่เราไม่รู้มันไปมันอยู่ ได้ยินแต่เสียง แต่ไม่เข้าใจนะก็เลยไม่กลัว ก็เลยอยู่ได้สบายๆ เดินจงกลมภาวนาไม่มีสิ่งที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไรในสถานที่นั้น

อยู่ที่นี่มีแต่เรื่องแปลกๆ เช่นเล่านิทานไป เขาคิดเป็นหวยถูกจนเจ้ามือยอมแพ้ คนวุ่นวายมาเรื่องหวยนี้แหละ เลยหนีเขาป่าห้วยซ่าน พอได้ที่ราบๆ เดินจงกลมภาวนา
ไปวันแรกเขาก็ทำที่พักไว้ให้แล้ว โดยนัดเขา เขาก็ทำให้จริงๆ นานประมาณสองเดือนได้อยู่ที่นี่ เราเลยได้โอกาสลามาที่แม่ใจ เมื่อตอนที่ได้ไปอยู่ที่บนเขา พวกพระเจ้าคณะอำเภอเขาชวนกันมา จะมาไล่เรา พวกเย้าก็บอกว่า พวกพระเจ้าคณะอำเภอสู้ท่านไม่ได้หรอก พูดไม่ทันท่านหรอกว่างั้น มันก็เป็นเรื่องบังเอิญจะตามเรามาที่ห้วยซ่าน มาเราหนีแล้ว เราหนีไปอยู่โน่นก็จะไปอีก เขาเอาข้าวใส่บาตรไป ข้าวที่เย้าเขาถวายอาหารน่ะ บังเอิญบาตรนี่ตกลงไปคว่ำกับขี้หมูขี้หมาอยู่หน้าบ้าน มันเลยกลัวเราเลยแค่นั้นแหละ กลัวแล้วไม่ตามเราไป แต่ก็ไม่รู้จะไล่เราเรื่องอะไร มันขึ้นไปดูๆ อยู่บางทีน่ะ แต่ว่าพวกพระที่อยู่แถวๆ นั้นมันข้นไป มันอยากจะได้เงินบ้างอะไรบ้างที่เราเคยให้ ปัจจัยอะไรที่เขาถวายมานี่เราให้เขาเหน็บไว้ตามฝาแหละ อยากได้ก็เอาไปเลย ว่างั้นนะ

“ฝนตกไม่ยอมหยุด น้ำหลาก การบิณฑบาตมันลำบาก มันไกล ต้องอดข้าว ไม่กิน จนเย้าถามว่า ทำไมท่านไม่กินข้าว ไม่กินก็ไม่ตายหรอก จนเขาสงสัยว่า ทำไมอดข้าวหลายวันแล้วเป็นปกติอยู่ ไม่เป็นอะไร เขาจะเอามาให้เราก็ลำบาก เราจะไปก็ลำบาก จึงยอมอดไปเฉยๆ มิใช่ตั้งใจทรมานตนให้ลำบาก ใจว่าไม่กินก็ไม่กิน มันเลยไม่อยาก แม้มันอยากก็ไม่กิน มันก็จบเท่านั้นเอง”

• ปรากฏเห็นหลวงปู่มั่นกับหลวงตามหาบัว
อยู่ที่จวงเรื้อนนี่ มีคนมาอาศัยค้างกับเราเยอะเพราะหวังจะร่ำรวย คอยฟังเราพูดอะไรออกมาเป็นเลข เช่น พูดว่าสองเส้นสามเส้นไม่ได้ มันจะจับไปซื้อหวยซื้อเบอร์ คนพากันหลั่งไหลขึ้นมา เพราะว่าเขาจับไปเป็นหวยเป็นเบอร์หมด มันก็แปลกอยู่เพราะอยู่ในสถานที่แห่งนี้ วันหนึ่งปรากฏเห็น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ไปหาคนบนหลังเขานั้น เอ๊…เราก็งง เพราะไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่น เคยเห็นแต่รูปท่าน ตัวจริงๆ ไม่ได้เห็น หลวงตามหาบัวก็ไม่เคยสนิทสนมกับท่าน เคยแต่ได้ยินชื่อเสียงของท่านบ้าง

ทำไมจึงปรากฏเห็นท่านทั้งสองว่าได้ขึ้นไปบนเขาลำบากทุรกันดารเช่นนั้น ไปท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร ปรากฏเห็นท่านก็รู้สึกว่าท่านยิ้มๆ ให้ ท่านว่า “ดี อดทนเอานะ” ท่านว่างั้น แล้วท่านก็เดินผ่านไป เราก็ได้ยกมือไหว้ท่าน นึกว่าจะไปจัดสถานที่ให้ท่านนั่ง ท่านก็ผ่านไปเลย จึงไม่ได้ฟังโอวาทของครูบาอาจารย์ ท่านเพียงกล่าวคำเดียวเท่านั้นว่า “อดทนเอานะ” ท่านว่างั้น หลังจากนั้นเราก็อดทนเอา

• ผีกองก๋อยที่หมู่บ้านจวงเรื้อน
ประมาณเดือนแรกเข้าพรรษาแล้วนี่ เคยได้ยินเย้ามาเล่าให้ฟังว่า ไปเจอเด็กเล็กๆ สองคน อายุประมาณสองสามปี เขาไปกับภรรยาของเขา เขาว่ามันงัดก้อนหินก้อนใหญ่ๆ เท่าเตียงนอนนี่ ทำไมมันจึงแข็งแรง มันตัวอะไร ถามเขาว่า มันงัดเพื่ออะไร มันหาอะไรมันหากินปูกินหอย เขาสองผัวเมียยืนดูอยู่ เราเลยมานึกถึงครูบาอาจารย์เคยเล่าถึงผีกองก๋อย มันต้องเป็นผีกองก๋อยแน่นอนเรารู้สึกแต่เราไม่ได้พูดหรอก เราไปอยู่นั้นเริ่มแรกทางผ่านมันวิ่งอยู่ ร้องก๋อยๆๆๆ ทุกวันๆ แต่เราก็ไม่รู้ พอเย้ามาพูดแล้วใจจึงปักลงว่า ผีกองก๋อยแน่นอน

ทางเดินจงกรมที่ให้เย้าทำไว้ แต่ก่อนเดินสามสี่ทุ่มก็ไม่กลัว เสือก็ไม่มี ผีกองก๋อยก็ไม่มี พอได้ยินเขาเล่าว่าเห็นเด็กเล็กๆ สองคนงัดก้อนหินใหญ่ได้ กับได้ยินเสียงร้องก๋อยๆๆ ใจจึงปักลงว่าผีกองก๋อยมาหาทุกวัน ความกลัวจึงเกิดขึ้น เดินจงกรมพอมืดหน่อยก็อยากเข้ากุฏิแล้ว มันก็กลัวอยู่อย่างนั้นแหละ คิดยังไงก็ไม่ตก ทั้งๆ ที่คิดมอบกายถวายชีวิตบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว คิดหาวิธีแก้ นั่งภาวนาก็ไม่มีวิธีแก้ตก
อยู่มาวันหนึ่งที่มันจะมาแก้ตกคือ เราต้องไปดูให้เห็นตัวมัน ตายก็ตายไป เราเอาตายเข้าสู่เลยอะไรที่ไม่เป็นธรรม เรามอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว มากลัวจะได้ประโยชน์อะไร ยอมตายพอแรงแล้วนี่…อยู่ไปก็ตายอยู่ดีถึงจะคิดยอมตาย แล้วสัญชาตญาณการต่อสู้ยังมีอยู่ จึงถือมีดมือขวา ถือไฝฉายมือซ้าย ต้องไปดูมันมานี่ทุกๆ วันต้องเจอมันแน่ๆ ไปแอบอยู่ที่ไม้สนนี่แหละ มันยังไม่มืดพอมองเห็น แรกๆ ได้ยินเสียงมันร้องก๋อยๆๆ ขนลุกซู่ เอาล่ะ ตายเป็นตายไม่ตายก็เป็น กูไม่ตาย มึงก็ตาย มึงไม่ตายก็เป็นกูตายว่างั้น มันวิ่งมาห่างประมาณสองเส้นข้างหน้าว่างั้น มันชูสองขายกขึ้นร้องก๋อยๆ โอย…มันทำกูกลัวเกือบเป็นเดือน ทีนี้กูไม่กลัวแล้วมึงเป็นอีเห็น…พอรู้จริงว่ามันเป็นอีเห็นความกลัวก็หายไป ตั้งแต่นั้นมาจึงหายกลัวผีกองก๋อย เดินจงกรมภาวนาได้ตามปกติ

เสือกับอารมณ์
สมัยนั้นที่จวงเรื้อนมีเสือโคร่งใหญ่ขนาดเท่าวัวหรือม้า อำนาจเสียงของมันฮึมมม…อาววว แม้แต่จิ้งหรีดร้องๆ เงียบไปหมดเลย นี่ ! อำนาจของมันเราได้ยินเสียงพึมพำมา ลูกคอเสือมันหายใจฮึกฮักเหมือนคนคุยกัน นึกว่าโยมมันมากลางคืนอีก ยังคิดว่าเดี๋ยวเสือจะกินโยมตาย แต่ไม่เห็นมีโยมมา

จนกระทั่งเสือมากินหมูตาย ครั้นวันหนึ่ง ตี ๔ แล้วให้โยมไปไล่หมู กลัวมันมาขุดเม็ดมะม่วงที่ปลูกกันไว้ เรานั่งภาวนาต่อ ได้ยินเสียงดังก๊กๆ นึกว่ามันกัดกัน วันที่สองมีคนมาถาม จึงบอกว่าได้ยินเสียงมันกัดกัน อะไรได้ เสือมันลากหมูไปไว้ที่คลองที่เราตักกินนั้นแหละ โอ๋ย…ตั้งแต่วันนั้นนน…ก็ไม่ยอมจริงๆ มันยังจะสู้กับเสืออยู่นะ ไม่ให้ตายเปล่าๆ ฟรีๆ หรอก จิตใจนี่อันนี้นี่ของจริงนะ มันเกิดขึ้นกับจิตเรา สัญชาตญาณการต่อสู่นะมันยังไม่ยอมเลิกนะ

แค่คำสัจจอธิษฐานในใจนี่อย่าไปไว้ใจมัน เอาจริงๆ แล้วมันกลัว มันเลยจะสู้อยู่ ตายก็ตายต่อเมื่อเราได้สู้กันน่ะหละ สุดท้ายจึงเดินตามเสือพิสูจน์ดูซิว่ามันจะทำอะไรไหม ห่างกันประมาณสี่ห้าเมตร มันก็เดินหนี พอมันหยุด เราก็หยุด แต่เราก็ถือมีดไปด้วยนะ ถ้ามันเล่นงานเรา เราก็สู้เหมือนกัน มันก็ไม่ทำอะไร เราก็ไม่หันหลังกลับนะ กลัวมันจะย้อนมาเล่นงานเรา รอดูจนกระทั่งมันไป เราจึงกลับ เอาไปเอามามันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็หายไปความกลัวนี้

ช่วงนั้นมีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นกับจิตใจหลายอย่างเหมือนกันนะ ในสถานที่นั้นใครพูดอะไรก็ถูก จนคนเขาว่าเราเป็นพระอรหันต์ มันได้แต่หันซ้ายหันขวารู้ว่ากิเลสมีอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราถือคำสัจจ์ พูดอะไรไว้จะทำอย่างนั้น คนวุ่นวายมากเรื่องหวยนี่แหละ เลยหนีเข้าป่าหวยซ่าน เราไม่เคยอยู่ไม่เคยได้ยินเสียงสัตว์ป่ามันร้องคือ นกขัว (ไก่ขัว) เหมือนนกยูงหางยาว บินไม่ค่อยได้ ขาแดงปากแดง
พอเรานั่งฉันน้ำร้อนอยู่ เขามายิงเขามาบอกอยู่เหมือนกันนะ ยิงปืนปัง เสียงมันร่วงตูมเหมือนค้างคาวร่วง เขาหิ้วมาตัวใหญ่อยู่เท่าเป็ดไม่ใช่เป็ดเหมือนห่านเนี่ยตัวใหญ่อยู่ เราเลย เอ๊…เป็นนิมิตที่ไม่ค่อยดีนะ ไม่เป็นมงคลแล้ว มันมาฆ่าสัตว์ให้เห็น มาวันเดียวนี่เขามายิงสัตว์ตายแล้ว อยู่หลายวันจึงได้โอกาสขอบิณฑบาต ไม่ให้ยิงสัตว์ในบริเวณนี้ให้เว้นไว้ เขาก็ยกให้ตามที่ขอไว้ อย่ามาฆ่าอย่าเบียดเบียนสัตว์ในสถานที่นี้นานประมาณสองเดือนได้อยู่ จนเสือมันมากินหมู วัว ควายเขา เสียงปืนมันยิงสนั่นหวั่นไหว เหมือนรบทัพจับศึก

เรายังคิดว่า เออ…จะได้เคี้ยวเสือละมัง จริงๆ เขาแค่ยิงไล่เฉยๆ มันอาละวาดเขาไว้ หัวค่ำมืดๆ เสือมันจะมาทุกวันๆ เราไม่เห็นมันทำอะไรเรา เราก็ไม่กลัวเสือ เวลามันมากลางวันเห็นเราตามทางมันก็กระโดดเข้าป่า หมีก็เหมือกันไม่เห็นมันจะทำอะไร จึงหายกลัวตั้งแต่นั้นมา

“เป็นเรื่องที่ให้คนเห็นอำนาจแห่งความกลัว ให้คนเห็นชัดว่าเราควรจะต่อสู้ยังไงจึงไม่กลัว ต้องเอาตายเข้าสู้ สู้ตาย ถ้ามันเห็นแล้วว่ามันไม่เป็นความจริง มันก็จะหายกลัวไปเลย เช่น กลัวเสือนี่ไปดูมันเลย พอรู้ว่ามันไม่ทำอะไรเราจึงหายกลัว ผีกองก๋อยก็ไปดูมันเลย เอาตายเข้าสู้ แต่ไม่ยอมตายหรอกต้องสู้กัน ตายแล้วแล้วกัน ถ้าผีไม่ตายเราก็ตาย เสือไม่ตายเราก็ตาย เมื่อมันไม่มีอะไร เห็นความจริงแล้วก็หายกลัว ตั้งแต่นั้นเดินจงกรมได้สบายเลย เสือมีแต่วิ่งหนีเรา แต่มันมาก็ต้องสู้เหมือนกันจะอยู่เฉยๆ แล้วยอมให้มันกัดก็ไม่เอานะ การสู้คือการสู้เอาตัวรอดนะ ถ้ามันมีทางหลบหลีกเราก็หนีไปไม่ใช่เจตนาจะฆ่าเสือ ถ้ามันอยู่ดีๆ กระโดดมาสู้กับเรา เราก็ต้องสู้มันเลย จะให้มันมากินง่ายๆ ก็โง่เต็มที สู้ก็ต้องสู้เพื่อเอาตัวรอดมิใช่สู้เพื่อจะฆ่าจะตายอะไร ถ้าจะให้มันกินตายเฉยๆ ก็ไม่ใช่ละมันก็โง่เต็มทีแล้ว ถึงจะยอมตายแล้วให้เสือมันกิน นี่ก็เหมือนกันกับฆ่าตัวเองนั่นแหละเป็นบาปเป็นกรรม เราจะรอดวิธีไหนก็ต้องสู้ไปก่อนล่ะ”

จนวันหนึ่งพวกเย้ามาสองทุ่มนี่ มาเจอเสือเข้า เสือดาวตัวเล็กๆ นี่เขาจะมายิงเพราะมันมากินหมูไก่ โอ…ไม่ให้ยิงๆ เราขอบิณฑบาตไว้ เลยไม่ยิง เราไม่ให้ยิง เขาเลยไม่กล้ายิง เขาก็ว่าพระองค์นี้มีบุญเสือไม่กล้ากิน เราก็นึกขำจนทุกวันนี้แหละ ทุกวันนี้ยังมีเย้าที่ห้วยซ่านอยู่ ที่จวงเรื้อนไปไม่หมดแล้ว มีเจ้าหน้าที่เขามาบอก

สาเหตุที่จะได้ลงจากเขามาเนี่ยเพราะเสือมันอาละวาด มันมากัดควายที่เขาเลี้ยงไว้ แรกๆ มันก็ไม่มีอะไรนะ เราไปคอยรับบิณฑบาตเขาอยู่ เขาบอกว่า ท่านอย่าตกใจนะ เขายิงปืนแม่นจริงๆ นกเหยี่ยวมันบินมาเฉี่ยวไก่เขา เขาก็ยิงปัง ตั้งแต่นั้นเสือโคร่งใหญ่อาละวาดใหญ่เลย เราเลยว่า เอ๊…มันไปผิดอะไรเขาอย่างใดอย่างหนึ่ง ม้าอยู่ดีๆ ก็เกิดโรคขึ้นมา วิ่งไม่รู้จักเป็นจักตาย แล้วก็พิงต้นไม้อยู่เท่านั้น เขาก็งงหายาให้มันกินมันจะเป็นโรคอะไรก็ไม่รู้ ผลสุดท้ายเราแผ่เมตตาให้มัน มันก็ยังอยู่ได้ วันหนึ่งคิดว่ามันหายดีแล้วละ แต่เขามารายงานว่ามันตายแล้ว พอเสือมาอาละวาดสัตว์เขามากๆ เขาก็ยิงปืนเหมือนรบทัพจับศึก มันจะผิดผีเขาละมั่ง ค่ำลงก็ร้องกันพวกหมอผีนั่น เราเลยได้โอกาสลามา

ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้มารับเอาน้องชายเข้าบวช คือ พระอาจารย์ชดี ธัมมวโร ท่านบวชเป็นสามเณรที่สกลนครนี่ ในปีเดียวกันก็ได้บวชเป็นพระภิกษุที่จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่วัดสันติธรรม กับหลวงปู่สิม พุทธาจาโร มีผู้ติดตามไปบวชที่เชียงใหม่ในคราวเดียวกันสิบรูป ที่ยังเหลือเป็นพระอยู่คือ อาจารย์ชดี อาจารย์คำพาว ท่านประสิทธ์ และอาจารย์เจริญ สุวัฑฒโน ซึ่งเป็นพระที่อยู่กับ ท่านอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ทุกวันนี้ ป่าเมี่ยงแม่สายนี้อยู่นาน อยู่เพื่อสงเคราะห์ยายคนนี้ที่ตั้งใจในการให้ทาน รักษาศีล ก็อยู่ไปเพราะครูบาอาจารย์เคยอยู่สงเคราะห์ยายคนนี้ เลยอยู่ที่นี่ถึงสิบสองปี ที่ป่าเมี่ยงแม่สาย

• หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ มรณภาพ
อยู่ป่าเมี่ยงแม่สายจน พ.ศ.๒๕๑๒ จึงมาจำพรรษาที่ผาปก จังหวัดราชบุรี กับอาจารย์ทองสุกองค์หนึ่ง สาเหตุคือท่านรังสี มานิมนต์ว่าให้ไปช่วยพุทธาภิเษกพระพุทธรูป พอมาถึงเห็นโลง อ้าว ! ท่านรังสีรถคว่ำตายซะแล้ว โยมที่อุปัฏฐากอยู่เลยนิมนต์ไปจำพรรษาที่ผาปก ปีนั้นมีเรา ท่านทองสุก อาจารย์คำพาว อาจารย์ดาด เลยไปอยู่จำพรรษาให้เขา

ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เราก็ไปป่วยอยู่ รู้สึกเหมือนถูกดาบเสียบเข้าหน้าอกทะลุหลัง นั่งกระดิกไม่ได้ปวด นั่งภาวนาตายๆๆๆ อย่างเดียวตั้งแต่หัวค่ำ มาได้ยินเสียงว่าให้เอาไม้ไผ่กับแกนฝางมาต้มกิน มากินแล้วรู้สึกอาการมันดีขึ้น แถวนั้นมันมีมาลาเรียเหมือนกัน มันกลับมาเป็นอีก ออกพรรษาแล้วก็ขึ้นมาสกลฯ นี่แหละ มากราบหลวงปู่พรหม ได้ยินเสียงมีคนมาบอกว่าท่านป่วยลื่นล้มหัวฟาดพื้น มันก็ป่วยจริงๆ อย่างที่ได้ยินนั้นแหละ

ช่วงที่ท่านล้มหมดสติไปชาวบ้านช่วยกันย่าง (การรักษาแบบโบราณ นอนแคร่ รมด้วยสมุนไพร) ท่านก็กลับแข็งแรงดีแล้ว คิดจะสร้างเจดีย์ถวายท่าน ไปใส่ฟันให้ท่าน ท่านยังสดชื่นดีอายุยังไม่ถึง ๘๐ ดี แต่ท่านจะรู้ตัวดีว่าท่านจะมีปัญหาชีวิต จึงเก็บเรียบร้อยหมด มีด เสียมอะไร ท่านยังถามเราอยู่ว่า ”จะกลับอยู่เหรอ” ก็ตอบว่าจะกลับ พระท่านจะสร้างกุฏิ ท่านเห็นว่า “เออ” เราก็โง่ไม่ได้ถามท่าน ไม่ได้คิด เราไปแล้วก็มีแต่หลวงตาอยู่กับท่าน

อีกสองสามวันมีคนมาตามอาจารย์สอน ซึ่งระยะนั้นท่านกลับมาจากจังหวัดเลย ได้นิมนต์ให้ท่านพักที่วัดตาลนิมิต คนตามให้ท่านไปดงเย็น หลวงปู่ป่วยหนักท่านท้องเสีย เรามีกิจนิมนต์ไปทำบุญสองสามแห่ง กลับมาถึงวัดประมาณเที่ยงๆ ทราบว่าหลวงปู่ป่วยหนัก คิดว่าบ่ายสี่โมงก่อนจะไปกราบหลวงปู่ อาจารย์สอนไปแต่เช้าแล้ว อาจารย์ลีกับอาจารย์สุภาพไปบ้านก่อน

พอเราไปถึง บ้านดอนเชียงยืน เลยพบกับโยมที่เป็นครู ๒ คนคือ อาจารย์ชายกับอาจารย์สวัสดิ์ ได้แจ้งว่าหลวงปู่มรณภาพแล้ว เขากำลังไปซื้อสิ่งของต่างๆ มาใช้งาน เรากับอาจารย์สอนก็ช่วยจัดอะไรให้เรียบร้อย ไมมีใครกล้าฉีดยาท่าน เราก็เอาเอง ฉีด คลุมผ้า จัดให้นอน จนตีหนึ่งตีสองอาจารย์ลีกับอาจารย์สุภาพมาถึง มันลำบากนะเดินทางเท้า ทางรถทางเรือก็ไปไม่ถึง หลวงปู่เสียปีนั้นแหละ

พ.ศ.๒๕๑๒ เราก็กลับไปที่ป่าเมี่ยงเหมือนเดิม ออกพรรษาจึงลงมาที่บ้านดงเย็น จัดงานศพหลวงปู่พรหม เผาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ท่านมามรณภาพเรื่องท้องเสีย คืนเดียวเท่านั้นเอง ก่อนนั้นยังเทศน์ให้ญาติโยมฟังอยู่เลย หลวงตาถามท่านว่า เป็นไงหลวงปู่ ท่านว่า “เจ็บหมดตัว” เป็นแค่คำพูดคำเดียวจนมรณภาพไป ตอนงานเผาศพ มีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มาเล่าเรื่องไปพม่าด้วยกันกับหลวงปู่พรหม แล้วมีฤาษีมาศรัทธา อุปถัมภ์บำรุงจนตลอดพรรษา

ปี พ.ศ.๒๕๑๓ เราได้กลับไป ได้จำพรรษาที่ป่าเมี่ยงเหมือนเดิม

• ปฏิบัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เราได้ไปกราบนมัสการฟังธรรมจากครูบาอาจารย์รูปต่างๆ อาทิเช่น หลวงปู่สิม หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน ฯลฯ เป็นประจำไปๆ มาๆ อยู่บริเวณนี้แหละ บางครั้งก็พักผ่อนอยู่กับท่าน พอสมควรแก่เวลาแล้วก็ออกไปเที่ยววิเวกตามป่าที่ครูบาอาจารย์แนะนำมาว่า ที่นั่นดีที่นี่ดีสงบสงัด สงบเย็น เสนาสนะสัปปายะ อาหารสัปปายะ พอเป็นได้ แต่ก็ไปกันไม่มาก โดยส่วนมากแค่สองสามองค์เพราะมากกว่านั้นก็ไม่ไหว อาหารบิณฑบาตจะลำบาก วัดดอยแม่ปั๋ง เราก็เคยไปพักอยู่กับหลวงปู่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๓ – ๒๕๐๔ ท่านอยู่องค์เดียว จนปี พ.ศ.๒๕๐๕ หลวงปู่แหวนจึงขึ้นมาอยู่ก็ไปๆ มาๆ อยู่แถวนี้แหละ

ช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๒ อาจารย์ทองสุกมาเริ่มสร้างวัดขึ้นแถวอำเภอพร้าว เรียกว่า วัดภูริทัตตะวนาราม..ทำนองนี้ ที่หลวงปู่มั่นเคยพักอยู่ตรงนั้นรวมทั้งหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ขาว หลวงปู่อ่อนสี หลวงปู่เหรียญ ตามที่หลวงปู่แหวนเล่าให้ฟัง ฉะนั้น ในบริเวณนี้ก็ถือว่าเป็นสัปปายะในการบำเพ็ญสมณธรรมของครูบาอาจารย์หลายองค์ในยุคนั้น ที่ได้มาพำนักพักอาศัยก่อนแยกย้ายไปบำเพ็ญสมณธรรมในบริเวณนั้น เราจำพรรษาที่ป่าเมี่ยง จนปี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง ๒๕๑๗ ก็จำพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่แหวนขึ้นมาอยู่วัดดอยแม่ปั๋งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งปี พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านอยู่ที่บ้านปง เลยแวะพักกับท่าน มีหลวงปู่แหวน อาจารย์หนู ท่านทวี ท่านจันดี จำพรรษาด้วยกัน

ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๗ นั้นได้อยู่ปฏิบัติครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ เนื่องจากหลวงปู่ท่านชรามากแล้ว นี่คือความประสงค์ส่วนแรก อีกส่วนอยู่เพราะรับปากกับหลวงปู่หนูว่าจะสร้างศาลา เพราะหลวงปู่หนูกับท่านทวี ๒ คน คงทำกันไม่ไหวจึงอยู่ช่วย ศาลามันไม่ดีเลยรื้อสร้างใหม่ เราอยู่ช่วยท่านสร้างศาลาร่วมกับท่านอาจารย์จันดี อาจารย์ทวี รวมเป็นอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ เมื่อทำศาลาเสร็จจึงมาขออนุญาตสร้างเหรียญรุ่นลูกมะพร้าว เป็นอนุสรณ์ของอำเภอพร้าวเพื่อแจกในงานฉลองศาลา

ปี พ.ศ.๒๕๑๕ -๒๕๑๖ นั่นแหละ ได้ไปทำซ่อมพระที่ทางขึ้นวัดดอยแม่ปั๋ง โดยมีซากพระพุทธรูปชื่อ พระเจ้านั่งช้างอยู่ หน้าตักประมาณ ๔ เมตร พอฉันเสร็จแล้วเราก็สะพายย่ามขึ้นไป โยมเป็นคนผสมปูนให้ เราเป็นคนทำ ไม่ได้ดิบดีมีเครื่องมือ และละเอียดลอออะไรสมัยนั้น จนปี พ.ศ.๒๕๑๘ จึงมาจำพรรษาที่วัดบ้านตาลเป็นปีแรกเลย

“การทำดี ไม่ผิดศีลผิดธรรมแล้ว เราไม่กลัว ใครไม่ทำเราก็ไม่ไปเดือดร้อนให้ใคร การจะไปดุด่า ไปว่าตำหนิติเตียนนี่ ไม่มีละ และต้องทำให้สำเร็จ แล้วก็สำเร็จจริงๆ ใครจะช่วยรึไม่ไม่เกี่ยว ช่วยก็ยินดี ไม่ช่วยก็ไม่เป็นไร เราตั้งใจไว้อย่างนั้น อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันนะ จนมีหลวงปู่องค์หนึ่งพูดว่า “แปลกเหมือนกันนะพระองค์นี้ ไปทำอะไรกลางแดดร้อนอยู่องค์เดียว” พอฉันเสร็จเราก็ไปแล้ว ฉาบ เลื่อยไม้ ไสกบ อะไร แดดร้อน ยังไงก็ทำอยู่องค์เดียวนั่นแหละ”

• การสร้างวัดใหม่บ้านตาล
“ครั้งหนึ่งหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ท่านได้ปรารภเองว่า ถ้าอยากได้วัดดี ก็ให้มาเอาวัดตรงนี้สิ ที่ป่าช้านี่ เราก็ว่าไม่มีบารมีหรอกหลวงปู่…มันก็บังเอิญจริงๆ”
โยมพ่อได้เข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มสร้างวัด ท่านมีเพี่อนที่เคยเป็นทหารด้วยกัน เขาให้เป็นนายสิบแต่ลาออกจากทหารมีครอบครัวที่บ้านตาลนี่ มาอยู่เป็นเพื่อนกันเพื่อดูข้อวัตรปฏิบัติประมาณ ๑ ปีเศษและสมัครใจบวชพร้อมกัน รู้สึกว่าท่านต้องการที่จะบวชมาก จึงอนุญาตให้ท่านบวชด้วยกัน ๒ คน

“การงานอะไรต่างๆ มันก็ต้องต่อสู้ทั้งนั้นกับอุปสรรค แต่สำหรับเราไม่เคยทำฎีกาเรี่ยไรบอกบุญอะไร อะไรที่ยากสำหรับเขา สำหรับเรามันง่ายนะ ตลอดมาศรัทธาญาติโยมเขาทำกันเอง บอกกันเอง เขาพร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือเสมอมาจนกระทั้งวันนี้…อยู่ไปตามมีตามได้ ไม่ดิ้นรนขวนขวายอะไร ถ้าเขามีศรัทธาอยากทำ ก็พาเขาทำตามวัตถุประสงค์ของญาติโยม ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาก็ทำเช่นนี้”

ได้สร้างวัดนี้เรื่อยมา มีกุฏิหลายหลังเป็นที่อาศัยของพระเณร ปีแรกที่จำพรรษารวมกัน ๕ รูป ได้พัฒนาวัดนี้ขึ้นจนสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย จนเมื่อได้ น.ส.๓ แล้ว ได้วงเล็บไว้ว่าเพื่อเป็นที่สร้างวัด ตั้งชื่อวัดตาล ตามกฎหมาย แต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดใหม่บ้านตาล สำหรับโยมพ่อเมื่อบวชเป็นภิกษุอยู่จำพรรษาร่วมกัน จนกระทั่งท่านอายุ ๘๐ ปี จึงมรณภาพ นี่คือการสงเคราะห์ญาติคือโยมบิดาได้เขามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในพระพุทธศาสนา ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความตั้งใจใฝ่อรรถใฝ่ธรรมของพระพุทธเจ้า เอาจริงเอาจังเอาเป็นตาย ฝากชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนาตลอด โดยท่านได้ละสังขารเมื่อพรรษาได้ ๑๒ พรรษา

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ

หลวงปู่คำบ่อ ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๖๒)

ปัจจุบัน หลวงปู่คำบ่อ เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๘๙ ปี พรรษา ๖๙ (พ.ศ.๒๕๖๓)

จาก หนังสือชีวประวัติและคติธรรมสอนใจ ท่านพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ ; พิมพ์ครั้งที่ ๑ ; พฤษภาคม ๒๕๖๐

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน

โอวาทธรรม หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ความโกรธเกลียดทำให้อายุสั้น
“..ตัวเจ้าของนี่แหละ อย่าไปโกรธมัน อย่าไปใช้อารมณ์โกรธ ให้มันทำจิตใจให้มันเย็น ๆ แต่คนมันอดไม่ได้ มันเลยทำให้อายุสั้น อายุไม่ยืน อยากให้อายุยืนก็อย่าไปโกรธมันซิ ไปโกรธไปเกลียดไม่ได้ มันทำให้อายุสั้นลง พวกที่ท่านเข้าสมาธิสมาบัตินี่ ท่านไม่โกรธนะ อยู่ได้ อยู่หลายร้อยปี..”

ใจยิ่งตระหนี่ถี่เหนียว ยิ่งอดยิ่งจน

“..ถ้ามันขาดสติขาดปัญญา ขาดการชำนิชำนาญคุ้นเคยในการปฏิบัติแล้วจะให้ทานก็ยังยาก เพราะตระหนี่ถี่เหนียว กลัวเงินหมด กลัวมันไม่มี กลัวมันไม่ได้ มันก็เป็นอย่างนั้น เรามัวแต่กลัวมันไม่ได้ไม่มีนี่แหล่ะ ยิ่งจน มันยิ่งอด ยิ่งอยาก ยิ่งทุกข์ยิ่งยาก ยิ่งลำบากทั้งกายทั้งใจ..”

คนขี้อิจฉา ไม่มีใครชอบ
“..คนขี้อิจฉาก็เป็นคนไม่ปกติ คนไม่ปกติ ไปที่ไหนก็ไม่มีใครชอบล่ะ แม้แต่เทวบุตรเทวดาก็ยังไม่ชอบ อิจฉา ริษยา มานะ ทิฐิ เห็นเขาเป็นคนผิด เป็นคนเสีย เราก็เคียดแค้นให้เขาซิ เราก็เป็นทุกข์ เขาก็เป็นทุกข์ คบกันไม่ได้ รักกันไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ละ ความอิจฉา พยาบาทมาดร้าย ท่านจึงให้ปล่อยวาง มันไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่เสียอย่างเดียว เราก็มองแต่เขาในแง่ไม่ดี เขารู้เมื่อไหร่ เขาก็อาฆาตเราเมื่อนั้นแหละ เป็นศัตรูกันพระพุทธเจ้าท่านจึงให้ละ ให้วาง ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น…”

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ วัดใหม่บ้านตาล จ. สกลนคร
พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล ณ วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ. สกลนคร
รูปหล่อ บูรพาจารย์ ภายใน พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล
วัดใหม่บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระบรมธาตุเจดีย์นี้ หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ ได้นำชาวบ้านตาลและชาวบ้านใกล้เคียง คณะญานุศิตย์และพุทธศาสนิกชน ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อวันอังคารที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แรม ๑๐ ค่ำเดือน ๖ ปีมะโรง และแล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก รวมระยะเวลาในการก่อสร้าง ๔ ปี ๕ เดือน ๒๗ วัน เป็นพระบรมธาตุ ๙ ยอด (โลกสุตรธรรม ๙) ฐานสี่เหลี่ยมทรงระฆังคว่ำขนาดกว้าง ๓๖.๕๐ × ยาว ๓๙.๕๐ × สูง ๔๑.๙๑ เมตร ประดิษฐาน ณ วัดบ้านตาล ตำบโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แบ่งเป็น ๓ ชั้น

ชั้นบนสุด” มีเจดีย์ประธานขนาดกว้าง ๑๔.๙๐ ×ยาว ๑๔.๙๐ × สูง ๒๕.๙๐ เมตร และเจดีย์บริวารทั้ง ๔ ทิศ ใต้ฐานเจดีย์ประธานเป็นห้องมณฑปจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนบุษบกไม้สักทองและเป็นพิธภัณฑ์

ชั้นกลาง” มีเจดีย์บริวาร ๔ ทิศ ภายในเป็นห้องมีทางเดินโดยรอบ

ชั้นล่าง” เป็นที่ประดิษฐานพระประธานสมเด็จพระโลกนาถศาสดา (พระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก) หน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว สูง ๑๓๒ นิ้ว ปางสมาธิทรงเครื่องแบบกษัตริย์ประดับด้วยทอง พลอย และคริสตัล ที่ฐานพระประธานโดยมีรูปเหมือนครูบาอาจารย์ เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น และใช้เป็นสถานที่ปฎบัติธรรม