วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม

วัดป่าบ้านใหม่
อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลวงปู่คลาด ครุธมฺโม​ ท่านเป็นศิษย์​ขององค์​พ่อแม่​ครู​อาจารย์​หลวง​ปู่​ฝั้น​ อาจาโร​ และองค์หลวงตา​มหา​บัว​ ญาณ​สมฺปนฺโน

◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่คลาด ครุธมฺโม ท่านเกิดในตระกูล “อยู่คง” มารดาชื่อ นางละออง อยู่คง บิดาชื่อ นายแคล้ว อยู่คง ท่านเกิด วันจันทร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ตรงกับ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑ เนื่องจากบ้านเกิดท่านอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประกอบกับสมัยนั้นคนไม่ค่อยสนใจติดต่อกับทางราชการเท่าไรนัก ทำให้บิดาไปแจ้งเกิดช้าไป ๑ ปี คือเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๑๑ คน เป็นหญิง ๗ ชาย ๔ ตัวท่านเป็นบุตรคนที่ ๖

ท่านเกิดที่บ้านบางเตย ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ลักษณะภูมิประเทศบ้านเกิดของท่าน เป็นทุ่งนา และป่าทึบ อยู่ท่ามกลางหุบเขาอันสลับซับซ้อน ในพื้นที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทำให้วิถีชีวิตของท่านผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ท่านจบการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้นคือชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านบางเตย หลังจากเรียนจบแล้ว ท่านก็ช่วยบิดามารดาทำงานตามวิถีชีวีตสังคมชนบท ในสังคมเกษตรกรรมทั่วไป พอว่างเว้นจากไร่นาก็ไปรับจ้างทำงานในเหมืองแร่ที่มีเป็นจำนวนมากในแถบจังหวัด พังงา ภูเก็ต และ กระบี่ ด้วยความที่ท่านมีลักษณะนิสัยขยันขันแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ชีวิตท่านมีความสุขแบบเรียบง่าย

ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ ในขณะที่ท่านมีอายุ ๒๓ ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดบางเตยใน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่ด้วยข้อวัตรปฏิบัติของวัดที่ท่านบวชสมัยนั้นมีการย่อหย่อนเป็นอันมาก ทำให้ท่านเจริญสมณธรรมเป็นไปด้วยความไม่ผาสุก เกิดความสงสัยอยู่เสมอ ท่านจึงไปกราบเรียนปรึกษาหลวงลุงของท่าน

ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงลุงท่านได้ถวายตัวเป็นศิษย์องค์หลวงปู่เหรียญสมัยกองทัพธรรม ที่นำโดย องค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ไปเผยแผ่หลักธรรมกรรมฐาน ในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ หลวงลุงจึงแนะนำให้ท่านญัตติซ้ำในสังกัดคณะธรรมยุตนิกาย ที่วัดประชาสันติ อำเภอเมือง จังหวัดพังงา โดยมีพระครูญาณานุโยค เป็นอุปัชฌาย์ มีพระพิศิษย์ฐ์ธรรมภาน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระวิชาญ ขนฺตญาโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายานามว่า “ครุธมฺโม” แปลว่า “ผู้หนักแน่นในธรรม

หนังสือสุทธิ หลวงปู่คลาด​ ครุธมฺโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.​บ้านผือ จ.อุดรธานี
หนังสือสุทธิ หลวงปู่คลาด​ ครุธมฺโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.​บ้านผือ จ.อุดรธานี
หนังสือสุทธิ หลวงปู่คลาด​ ครุธมฺโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.​บ้านผือ จ.อุดรธานี
หนังสือสุทธิ หลวงปู่คลาด​ ครุธมฺโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.​บ้านผือ จ.อุดรธานี

◎ พบกัลยาณมิตร
ต่อมาหลวงพ่อเขี่ยม โสรโย ท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ในองค์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านได้จาริกหาความวิเวกทางกาย (กายวิเวก) ที่ จังหวัดพังงา ภูเก็ต หลวงพ่อเขี่ยม ได้เล่าข้อวัตรปฏิบัติ ขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร​ อันเป็นแนวทางปฏิปทาอันน่าศรัทธาเลื่อมใส หาเคยได้ยินได้ฟังจากที่ใด และเป็นการปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่ายคลายสงสาร มุ่งสู่ความพ้นทุกข์แต่ถ่ายเดียว ด้วยว่า ภิกษุสามเณรผู้เข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๕ จำพวกคือ
๑. จำพวกหนึ่งชื่อ “อุปชีวิกา” เข้าบวชในพระศาสนาอาศัยหาเลี้ยงชีพพอเป็นสุข​ ๆ เท่านั้น
๒. จำพวกหนึ่งชื่อ “อุปกีฬิกา” เข้าบวชในพระศาสนาอาศัยหาของเล่นพอเป็นสุข​ ๆ เท่านั้น
๓. จำพวกหนึ่งชื่อ “อุปทูสิกา” เข้าบวชในพระศาสนา เป็นผู้ประทุษร้ายตระกูล คือประจบชาวบ้าน ด้วยช่วยธุระทำการงานของเขาบ้าง ให้สิ่งของแก่เขาบ้าง ชื่อว่าเป็นผู้บวชประทุษร้ายตระกูล
๔. จำพวกหนึ่งชื่อ “อุปมุยฺหิกา” เข้าบวชในพระศาสนา เป็นคนหลงงมงาย ผิดหรือชอบก็ไม่รู้ หลับตาทำไป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นที่พึ่งของตนก็หารู้จักไม่
๕. จำพวกหนึ่งชื่อ “อุปนิสฺสรณิกา” เข้าบวชในศาสนานี้ หวังออกจากทุกข์เท่านั้น เป็นผู้ต้องการธรรมวินัย เพราะว่า ธรรมวินัยนั้น เป็นพระศาสนาแทนพระพุทธเจ้า เป็นอุบายเพื่อจะให้ออกจากทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้จริง ๆ สมตามความหวังของตน​ ๆ ก็เราทั้งหลายมาบวชเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานี้ หวังจะออกจากทุกข์ ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ควรที่เราทั้งหลายจะเคารพนับถือธรรมและวินัยให้ยิ่งกว่าอื่น​ ๆ จึงจะชอบ
ด้วยเหตุนี้จึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อที่จะมุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ด้วยความลิงโลดใจประดุจบุตรผู้ทราบข่าวมารดาที่พลัดพรากจากอุทรด้วยเวลาอันเนิ่นนาน หลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว
ขณะนั้นมีอายุในการครองสมณเพศได้ ๒ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๑๔ การเดินทางได้สามเณรติดตามมาด้วย ๑ รูป โดยได้อาศัยรถทัวร์มาที่กรุงเทพมหานคร แล้วได้ต่อรถไปลงที่อำเภอพรรณานิคม พักที่วัดสิทธิมงคล หนึ่งคืน รุ่งเช้าก็เดินทางไปวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าอุดมสมพร พักอยู่ ๔ – ๕ วัน ก็มีโยมขึ้นไปส่งที่วัดถ้ำขาม

◎ ข่าวดีข่าวมงคล
ท่านทราบข่าวจากพระวัดป่าอุดมสมพร ว่าองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นอกพรรษาท่านจะไปเที่ยววิเวกภาวนา และอบรมหมู่คณะบนถ้ำขาม ซึ่งถ้ำขามนี้เองมีอาณาบริเวณ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน มีความสัปปายะ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อากาศสัปปายะเย็นสบายตลอดปี ห่างไกลจากผู้คน มีเถื่อนถ้ำและโขดหินเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ถือเป็นที่อันเป็นมงคลของพระโยคาวจร ผู้เจริญสมณธรรม เพื่อหวังธรรมอันอุกฤษฏ์คือมรรคผลนิพพาน โดยอาศัยความวิเวกที่เกิดกับกาย เป็นอุบายปลดเปลื้องอุปธิกิเลสเครื่องเศร้าหมองในจิตใจ เป็นเหตุให้ใจปล่อยวางอารมณ์ระงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดจิตวิเวก ระงับ สงบเย็น มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความเพียรในการปฏิบัติ ตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลไป เพียงแค่รู้ข่าวเท่านั้นปรากฎการณ์ทางจิตก็เกิดขึ้นกับท่านแล้ว กล่าวคือ ได้วิเวก ๓ ประการคือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวกเมื่อท่านมาถึงวัดถ้ำขาม หลวงพ่อเขี่ยม โสรโย ก็ได้พาเข้าไปกราบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พร้อมฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาเล่าเรียน ข้อวัตรปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติจากองค์ท่าน หลวงปู่ฝั้นเมตตาสั่งให้หลวงพ่อเขี่ยมพาไปหาที่พัก ซึ่งในเวลานั้นมีภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับวัดถ้ำขามมีกุฏิถาวรไม่กี่หลัง พระส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร้านไม้ไผ่ หรือแคร่เล็ก ๆ ตามเพิงหิน ไปอยู่แรก ๆ ด้วยความเป็นคนใต้แต่กำเนิด แม้ใจเด็ดแข็งแกร่งประดุจเพชรก็ตาม แต่ไม่เคยพบเจออากาศที่หนาวเย็นขนาดนี้มาก่อน เนื่องจากทางภาคใต้มีแค่สองฤดู คือร้อนกับฝน กอปรกับไม่มีผ้าห่ม ใช้จีวรกับสังฆาฏิบรรเทาหนาวในยามค่ำคืน กลางวันต้องนั่งภาวนาผึ่งแดดตามลานหิน มีความท้อใจมาก แต่ท่านไม่เคยที่จะท้อถอยเลยแม้แต่นิดเดียว
กอปรกับอยู่กับพระแท้ผู้มีจริยาวัตรอันงดงามเป็นสมณะผู้สงบระงับ ดังที่กล่าวในมงคลชีวิต ๓๘ ประการมีข้อหนึ่งว่า “ สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอันยิ่ง”

ระยะเริ่มแรกก็ต้องอาศัยสมณะภายนอกคือพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความห้าวหาญต่อสู้กับความยากลำบากทั้งภายนอกภายใน พระป่าจะเรียกอาจารย์ที่เราเข้าไปขอนิสัย คือเข้าไปขออาศัยศึกษาเล่าเรียนเอาแบบอย่างตามปฏิปทาของท่าน ว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” เพราะท่านเป็นทั้ง พ่อ แม่ และครูบาอาจารย์ในคน ๆ เดียว เป็นพ่อแม่คือดูแลความเป็นอยู่ทางกายของเรา ไม่ว่าจะเป็น หนาวร้อน อิ่มหิว ป่วยไข้ ท่านช่วยดูแลบรรเทาปัดเป่าให้ เป็นครูบาอาจารย์คือ ท่านสอดส่องกำกับดูแล สภาพจิตใจ สภาวะธรรม อุบายภาวนาที่ศิษย์เจริญอยู่เป็นเช่นใด ถ้าเป็นไปในทางเสื่อม ท่านก็ป้องปราม ตักเตือน ถ้าเป็นไปในทางเจริญท่านก็เสริมคติแนวทางการปฏิบัติแนวทางอันยิ่งขึ้นไป พระกรรมฐานจึงมีความเทิดทูน พระอาจารย์ผู้ที่เรามอบกายถวายตัวเป็นศิษย์เป็นอย่างยิ่ง ยอมมอบกายถวายชีวิตแด่องค์ท่านเลยก็ว่าได้

◎ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร รู้วาระจิตอุบายภาวนา
เริ่มแรกภาวนาใช้คำบริกรรม “พุท – โธ” สลับ ดูลมหายใจ ผลการภาวนาก็สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง และด้วยข้อดีของการศึกษาอยู่กับครูบาอาจารย์ ผู้มีคุณอันประเสริฐ ท่านจะสอดส่องดูลูกศิษย์ทั้งภายนอกภายใน เพื่อไม่ให้เถลไถลออกนอกลู่นอกทางอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในการภาวนา ท่านจึงทักขึ้นว่า “นี่ท่านคลาด! การภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อเป็นบาทฐานของจิต ถ้าเอาหลายอย่างไม่ได้กินหรอก เปรียบเหมือนคนขุดบ่อ พอขุดไปจะถึงน้ำก็เปลี่ยนไปขุดที่ใหม่ ก็เลยไม่ถึงน้ำสักที การภาวาต้องให้แน่วลงสู่อันหนึ่งอันใด” เมื่อได้ฟังโอวาทจากท่านครูบาอาจารย์ก็เกิดอัศจรรย์ใจ ในการหยั่งรู้วาระจิตของท่าน ยิ่งเพิ่มศรัทธาปสาทะในตัวท่านมากยิ่งขึ้น จึงได้เริ่มภาวนาใหม่โดยบริกรรม “พุท – โธ” อย่างเดียว โดยไม่สนใจคิดตริตรองในอารมณ์อันใดที่จะนำเข้ามาเพิ่มเสริมความฉลาดรู้ มีแต่แน่วในการบริกรรม “พุท – โธ” อย่างเดียวไม่ยอมให้ขาดสติ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นไว้แต่หลับ ตื่นขึ้นมา ฟาดมันอีก ทำอยู่อย่างนั้นหลายวันหลายคืน จนจิตแน่นหนามั่นคง คืออิ่มอารมณ์ จิตเกิดรวมใหญ่เหมือนท้องฟ้ามหาสมุทรราบเป็นหน้ากลอง เหมือนมีภูเขาทั้งแท่งมาครอบไว้ จิตโดดเด่น เบาสบาย ตั้งอยู่ภพของตน มีความรู้ที่เรียกว่า ปัจจัตตัง คือความรู้เฉพาะตน ไม่มีสมมุติภาษาจะมาอธิบายสภาวะที่จิตเป็นอยู่ จิตได้ตั้งอยู่เช่นนั้นระยะหนึ่งจึงได้ถอนออกมา เกิดความปีติเย็นใจ จิตตั้งอยู่กับความสงบไม่สนใจสิ่งใด แม้ผู้คนที่มาเกี่ยวข้องก็พูดคุยพอเป็นกริยาเท่านั้น จิตมีความเชื่อมั่นในคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และผลของการปฏิบัติว่ามีอยู่จริง โดยไม่ตกอยู่ในบังคับของผู้ใดว่าให้เชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นเหตุให้ประกอบความเพียรด้วยความเชื่อมั่นในมรรคผลนิพพาน เมื่อหลวงปู่ท่านทราบว่าจิตเรามีรากฐานมั่นคง อันเกิดจากสมาธิ และก็รวมลงสู่ความสงบเย็นอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงแนะให้ออกพิจารณากาย ตามนัยแห่งมูลกรรมฐาน ๕ เป็นเบื้องต้น

◎ ปรากฎการณ์ทางจิตเร่งความเพียร
พอรุ่งเช้าทำข้อวัตร ออกบิณฑบาต มีความรู้สึก เบากายเบาใจ เหมือนตัวจะลอย มีความเมตตาต่อทุกสิ่งที่ได้สัมผัสเกี่ยวข้อง เกิดความรู้ชัดในจิตว่าความสงบที่เกิดจากการเจริญปัญญาเป็นอิสระ จากอารมณ์ และตั้งอยู่ได้นานกว่าความสงบที่เกิดจากสมาธิ แต่ก็เตือนตนอยู่เสมอว่านี่เพิ่งเป็นการตั้งต้นยื้อแย่งชิงชัยเพื่อจะได้พลังใจของตนมาครอบครอง การปรารภความเพียรด้วยอุบายต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น ทดลองหลายหลักหลายเหลี่ยม เพื่อทรมานกิเลสที่หมักดองในจิตใจมาช้านาน ผิดบ้างถูกบ้าง บางครั้งก็โดนท่านดุในความไม่เข้าท่าของตน อดอาหารหลายวันบ้างเพราะถูกจริต ทำให้ตัวเบาไม่ง่วงเหงาหาวนอน กายไม่ทับจิต กิจวัตรของเราและพระรูปอื่นที่ปฏิบัติ อยู่กับท่านส่วนมากจะคล้ายกันคือ ตีสามตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์ในกุฏิของตน เสร็จแล้วนั่งสมาธิสักพักหนึ่ง ประมาณตีสี่ ออกมาเดินจงกรม ประมาณหนึ่งชั่วโมง ตีห้าไปจัดศาลาเตรียมที่ฉัน ปัดกวาดเช็ดถูศาลาพร้อมกัน ใครมีเวรอุปัฏฐาก ก็ไปเตรียมน้ำถวายหลวงปู่ล้างหน้า บ้วนปาก นำบาตรท่านมาตั้งที่ศาลาแล้วเตรียมตัวออกบิณฑบาตกลับมา ทำภัตกิจฉันอาหารเสร็จ ปัดกวาดศาลา กลับกุฏิ เก็บบริขารเรียบร้อย เข้าทางจงกรม

พอใกล้เที่ยงเข้าพักที่กุฏิประมาณ ๑ ชั่วโมง ตื่นขึ้นมานั่งสมาธิ พอเวลาประมาณบ่ายสองโมง ท่องบทสวดมนต์ ทวนความจำ บ่ายสามโมง ลงเดินจงกรม บ่ายสี่โมง ฉันปานะร่วมกัน แล้วปัดกวาดลานวัด ทำความสะอาดเสนาสนะต่าง ๆ ตั้งน้ำดื่มน้ำฉัน เตรียมน้ำตามห้องน้ำ เวลามาทำข้อวัตรร่วมกันหลวงปู่ฝั้น อาจาโรจะย้ำเน้น ไม่ให้คุยกันมาก เพราะนอกจากจะฟุ้งซ่านแล้ว ยังจะทำให้เกิดทะเลาะเบาะแว้งกันได้ จากนั้นใครว่างก็ไปร่วมกันสรงน้ำหลวงปู่ เสร็จแล้วกลับกุฏิ สรงน้ำเสร็จ เข้าทางจงกรม ประมาณ ๑ ทุ่มเข้าสวดมนต์ที่ศาลาร่วมกันเสร็จ หลวงปู่ฝั้น อาจาโรแสดงธรรม ให้ลูกศิษย์ที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ สอบถามไขข้อข้องใจแล้วหลวงปู่พานั่งสมาธิ พอได้เวลาสมควรก็แยกย้ายไปทำความเพียรในที่ของตน จนประมาณห้าทุ่มถึงเข้าพัก หลังทำวัตรสวดมนต์พระบางกลุ่มก็ไปจับเส้นหลวงปู่ เว้นแต่วันพระ หลวงปู่พานั่งสมาธิจนสว่าง พระป่าสายหลวงปู่มั่นท่านมีปฏิปทาเช่นนี้ เว้นแต่วันใหนมีงานร่วมกัน ท่านก็ให้งดข้อวัตรส่วนตนไว้ก่อน เช่น หาฟืน สร้างที่พัก ซ่อมแซมเสนาสนะ และอื่น ๆ

◎ กายลำบากแต่จิตห้าวหาญ
ครั้งหนึ่งได้ยินองค์หลวงปู่ท่านเล่าว่า ท่านทดลองฉันแต่ใบไม้ตลอดพรรษา เพราะเห็นว่า วัว ควาย สัตว์ บางชนิด ยังอยู่ได้ แต่พอฉันนานไปขนเริ่มหลุดร่วงไม่มีความราบรื่นในการภาวนา ท่านพิจารณาเห็นแล้วไม่ใช่ทาง ท่านจึงกลับมาฉันปกติ ท่านเล่าให้ฟังต่อว่า สมัยท่านขึ้นมาอยู่ถ้ำขามใหม่ ๆ น้ำไม่มี ต้องตัดไม้ไผ่ทำเป็นบั้ง เพื่อไปตักน้ำที่ตีนเขา ระยะทาง ๒ – ๓ กิโลเมตร พระเณรหิ้วรูปละ ๒ – ๓ บั้ง ในหนึ่งบั้งใช้ดื่ม ใช้ล้างหน้า ล้างบาตร อีกหนึ่งบั้งไว้ใช้ที่ห้องน้ำ อาหารของขบฉันก็ตามมีตามได้ ส่วนมากเป็น ข้าวเปล่า พริกเกลือ ดีหน่อยก็มีกล้วย ลงไปบิณฑบาตที่เชิงเขา ๔ กิโลเมตร เพราะชาวบ้านขอร้องให้บิณฑบาตแค่ครึ่งทาง พวกเขาจะเดินมาครึ่งทาง เพราะวัดอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ๘ กิโลเมตร น้ำปานะก็ต้มเปลือกไม้ฉัน นานทีจะได้ฉันต้มน้ำอ้อยน้ำตาล จึงรำลึกอยู่เสมอถึงบุญคุณชาวบ้าน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านพากเพียรปฏิบัติ กว่าจะได้ธรรมมาครองใจ แล้วแบ่งธรรมมาพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาถือว่าเดนตายทั้งนั้น เราก็เคยทดลองฉันข้าวกับพริกตลอดพรรษา พอออกพรรษา ตัวเราเหลืองซีดจนโดนหลวงปู่ดุ แต่ด้วยท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเข้าหามาก ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพร่ำสอนเฉพาะเจาะจงผู้หนึ่งผู้ใด พอใกล้เข้าพรรษา ทราบว่าหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จะลงไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร เราจึงล่วงหน้าลงไปก่อนเพราะกลัวจะไม่ได้จำพรรษากับหลวงปู่ และระหว่างที่รออยู่ ได้เรียนท่องบ่นสาธยายบทสวดมนต์กับพระอาจารย์แปลง สุนฺทโร (พระครูอุดมธรรมสุนทร) ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ขององค์หลวงปู่ ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วัดป่าอุดมสมพร ต่อจากหลวงปู่

การภาวนาที่วัดป่าอุดมสมพรนี้เองจิตสงบ เป็นปกติสม่ำเสมอดีมาก จิตรวมลงแต่ละทีความสงบตั้งอยู่หลายวัน อยู่กับหมู่คณะก็เหมือนอยู่คนเดียว มีปีติ เย็นใจ ไม่โหยหาอารมณ์ มาทับถมจิตใจ ปีนี้นี่เอง วัดป่าอุดมสมพร ได้กฐินพระราชทาน มีในหลวง กับองค์พระราชินี เสร็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในการทอดพระกฐิน พอรับกฐินเสร็จเราก็ขอโอกาสหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปจาริกวิเวกที่ ภูวัว ท่านก็ไม่ทัดทานในเจตจำนงของเรา และท่านชอบปรารภกับลูกศิษย์ลูกหาว่า “ที่ภูวัวเหมาะสำหรับเที่ยววิเวกสับปายะดี” และลูกศิษย์ของหลวงปู่ส่วนมากล้วนผ่านการเจริญภาวนา ณ ที่แห่งนี้แล้วทั้งนั้น และในวัยหนุ่มช่วงออกพรรษา หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านพาลูกศิษย์ลูกหาออกเที่ยววิเวกในสถานที่ต่าง ๆ และก็เป็นแนวทางปฏิบัติของพระกรรมฐาน เพราะการอยู่แต่ในวัดทำให้จิตใจคุ้นชินติดที่ ความเพียรก็ไม่ก้าวหน้า ท่านจึงนิยมเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นป่าช้า ป่าเสือ ป่าช้าง มีความลึกลับของสถานที่ต่าง ๆ นา ๆ ยิ่งทำให้จิตตื่นอยู่ตลอดเวลา การปรารภความเพียรก็สม่ำเสมอ นักภาวนาที่ท่านได้ธรรมมาครองใจ ก็ล้วนแล้วแต่เดนตายทั้งนั้นและมักจะผ่านพื้นที่เช่นนี้แทบทุกรายไป

ท่านได้เมตตาเล่าให้ฟังว่า “เราเดินเท้าและพอตกกลางคืนก็พักตามชายป่า พอไปถึงภูวัว เราก็เข้าพักภาวนาที่ถ้ำบูชา อาศัยบิณฑบาตที่บ้านดอนเสียด พอได้ขบฉันตามอัตภาพ และวันไหนว่างก็เดินไปเที่ยวถ้ำพระ”

◎ จำพรรษาถ้ำขาม
​ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ – พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้จำพรรษาที่ วัดถํ้าขาม ในขณะที่ท่านมีพรรษา ๕ และ พรรษา ๖ ตามลำดับ การสร้างศาลาถ้ำขามเริ่มออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หยุดก่อสร้าง ช่วงเข้าพรรษา และเริ่มงานต่อ ออกพรรษา พ.ศ. ๒๕๑๗ ไปแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

หลังจากเห็นว่าศาลาก่อสร้างเสร็จแล้ว ประกอบกับพิจารณากำลังในการภาวนาของตนไม่ตั้งมั่นเด่นชัดในอารมณ์ที่ใช้เป็นหลักของจิต พอพิจารณาเห็นควรเช่นนั้น จึงได้เข้าไปกราบขอโอกาสหลวงปู่เพื่อไปเที่ยววิเวกภาวนาทางภาคเหนือ หลวงปู่ท่านก็ไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด จึงได้เดินทางไปที่ภูทอกก่อนเพราะมีเพื่อนร่วมเดินทางอยู่ที่นั้น โดยได้เดินมาทางจังหวัดอุดรธานี โดยมีพระร่วมเดินทางมาด้วย ๒ รูป และได้เดินทางปักกลดไปเรื่อย ๆ ตรงใหนภาวนาดีก็อยู่หลายวัน โดยปักกลดให้ห่างกันประมาณ ๒ เส้น โดยเดินทางผ่าน น้ำโสม นายูง แล้วข้ามไปทางฝั่งลาว หลังจากนั้นวกเข้ามาฝั่งไทยทางอำเภอท่าลี่ แล้วเข้าด่านซ้าย นครไท พิษณุโลกแล้วไป ขึ้นรถที่ อุตรดิตถ์ ตามลำดับ พอถึงเชียงใหม่ เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง พักอยู่ ๒ – ๓ วัน ก็ไปกราบ หลวงพ่อคำดี ที่วัดดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ขององค์หลวงปู่ฝั้น พักอยู่ ๕ วันก็จาริกต่อไปทาง อำเภอแม่ทะ และมาเจอหลวงพ่อจันทร์เรียน คุณวโร, หลวงพ่อสมศรี อตฺตสิริ และหมู่คณะของท่านได้ปักกลด พักภาวนาอยู่บริเวณแถบนี้ พักอยู่กับท่านไม่นาน ท่านก็บอกให้เราอยู่ที่นี่ต่อ ท่านจะเดินทางไปวิเวกทาง แม่สรวย เราพักอยู่ไม่กี่วันก็มีหมู่คณะที่อื่นมาพักด้วย เราจึงฝากท่านเหล่านั้นให้ช่วยดูแลเสนาสนะ เราก็ได้เดินทางต่อไปทางอำเภอปาย และ อำเภอแม่นะ หลังจากนั้นก็ย้อนมาพักที่พระพุทธบาทสี่รอย ๑ คืน และก็ได้มาเจอหลวงพ่อจันทร์เรียนที่วัดผาแด่น ซึ่งเป็นวัดที่องค์หลวงปู่ชอบท่านเคยมาพักภาวนาอยู่นาน ทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวเขามีความเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ ที่มีต่อพระป่าเป็นอย่างดี
ต่อมาชาวบ้านทางแม่หลอดใต้ อยากได้พระไปจำพรรษา ประกอบกับใกล้เข้าพรรษาแล้วหลวงพ่อจันทร์เรียนจึงพาเราไป เราเดินทางไปฉลองศรัทธา แล้วท่านก็กลับไปจำพรรษาที่ อำเภอแม่ทะ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๗ ของเรา มีเพื่อนจำพรรษาด้วย ๓ รูป ข้อดีของชาวเขาคือเขาเป็นคนซื่อ จริงใจ มีศรัทธาดี รักใครรักจริง รักความสงบเงียบ ล้าหลังทางด้านวัตถุ แต่เจริญทางด้านจิตใจ การพักภาวนาจำพรรษาจึงสัปปายะดี ผาสุกเย็นใจ และได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของญาติโยมชาวเขา ซึ่งส่วนมากเป็น ชาวเผ่า ยาง อีก้อ และอื่น ๆ บ้างเล็กน้อย

พอออกพรรษาก็มาหวนระลึกนึกถึงองค์หลวงปู่ฝั้น เพราะการมาเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขาได้ความสงบวิเวกดี แต่ความอบอุ่นทางใจมีน้อย ไม่เหมือนอยู่กับครูบาอาจารย์ จึงได้ร่ำลาชาวบ้าน ด้วยใจที่รำลึกนึกถึงบุญคุณข้าวปลาอาหาร ภายหลังเมื่อขึ้นมาธุระทางเหนือเมื่อไหร่ก็ได้แวะมาเยี่ยมเยียนพวกเขา
การจากกันก็เป็นไปด้วยความอาลัย เศร้าใจอยู่มิน้อย และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับพระกรรมฐานผู้มีปกติ ชอบเที่ยววิเวก ไปในที่ต่าง ๆ แต่ก็ตระหนักในจิตใจอยู่ว่า เราเป็นพระเราจะต้องไม่ผูกพันอาลัยในถิ่นและผู้คน เที่ยวไปแต่ผู้เดียว ดุจนอแรด ตัดเครื่องเกาะเกี่ยวกังวลในสงสาร

เราเที่ยววิเวกมาทางลำพูน ลำปาง เที่ยวปักกลด ตามป่า ตามเขา ค่ำไหนนอนนั่น และได้แวะพักภาวนา กับหลวงปู่หลวง กตปุญโญ อยู่ ๒ – ๓ วัน จากนั้นก็ไปเที่ยววิเวกวัดถํ้าพระสบายแต่ไม่มีพระอยู่ และเราก็ได้เดินต่อไปภาวนาที่ถ้ำสุขเกษม พักอยู่ ๑ เดือน ก็ได้ขึ้นรถจากลำปาง ต่อรถมาเรื่อยจนถึงโคราช พัก วัดป่าสาลวัน ๓ คืน จึงต่อรถมาอุดร และเข้าพักที่วัดโนนนิเวศน์ ๒ – ๓ วัน ก็ไปเที่ยววัดถ้ำพระ อำเภอบ้านผือ พักภาวนาอยู่ ๑๕ วัน ก็เดินทางกลับวัดถ้ำขาม
การเที่ยววิเวกในครั้งนี้จึงทำให้เกิดคติเห็นคุณเห็นโทษของการเที่ยว ธุดงค์ ว่าถ้าเที่ยวไปตามป่าเขาเพื่ออาศัยภาวนาห่างไกลจากการงานและผู้คน ทำให้การเจริญสติเป็นเรื่องง่ายและต่อเนื่อง แทบจะบอกว่าไม่มีกลางวันกลางคืนก็ว่าได้ ใจมีกำลังมาก ปัญญาว่องไว ในการเผชิญต่อสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็น ความลึกลับของสถานที่ สัตว์ป่าทั้งดีทั้งร้าย ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเหตุให้ปัญญาหมุนตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่นิ่งนอนใจในมรณภัย ปรารภความเพียรด้วยความไม่ประมาท ส่วนข้อเสีย การเที่ยวไปถ้ามีหมู่มาก การเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ภาระความพัวพันในหมู่คณะก็มีมาก ครูบาอาจารย์ท่านจึงสนับสนุนให้ไปแต่ผู้เดียว และผู้ที่ยังไม่มีหลัก เที่ยวไปเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ทางหูทางตา เมื่อเกิดปัญหาไม่มีครูบาอาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นพระกรรมฐานไข่เน่า ไปที่ใหนรังแต่จะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้คน ในที่สุดต้องสิกขาลาเพศไปก็เยอะ และเราก็ได้จำพรรษาที่วัดถ้ำขามอีกหนึ่งพรรษาเป็นพรรษาที่ ๘
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ พอออกพรรษา​ เราก็ขอโอกาสหลวงปู่ไปเที่ยววิเวกที่บ้านหนองผือ หลวงปู่ก็มิได้ห้ามแต่อย่างไร แต่ต้องไปภาวนาอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อเดินทางมาถึงบ้านหนองผือนาใน เราได้เดินทางขึ้นไปภูปอ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองผือนาใน ประมาณ ๒ – ๓ กิโลเมตร พักภาวนาอยู่พักหนึ่ง ก็มีชาวบ้านจากวัดป่าอุดมสมพร มาแจ้งว่า “หลวงปู่ไม่สบายหนัก” เราจึงได้กลับทันที

หมู่ลูกศิษย์อุปัฏฐากเฝ้าไข้อยู่ไม่นาน หลวงปู่ก็ได้ละขันธ์ ยังความโศกเศร้าเสียใจแก่หมู่ศิษย์เป็นอันมาก ท่านละขันธ์ด้วยโรคปอดและโรคหัวใจ ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันอังคารที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ เวลา ๑๙.๕๐ น. ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน พรรษาที่ ๕๒
หลังจัดแจงเรื่องสรีรสังขารหลวงปู่เรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์มีมติขอพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง ๒๗.๙ เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่าง ๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นหลวงปู่ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน ระหว่างรอพระราชทานเพลิง เหล่าครูบาอาจารย์ก็แวะเวียนกันมาเคารพศพ และมีการขึ้นแสดงธรรมทุกคืน

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราได้พบกับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และเกิดปีติศรัทธาในตัวท่าน ประกอบกับองค์หลวงปู่ฝั้นเคยปรารภกับหมู่ศิษย์ว่า “ถ้าติดขัดเรื่องภาวนาให้เข้าไปศึกษา กับท่านมหาบัว” เราจึงคิดในใจว่าในภายหน้าเราจะเข้าไปศึกษากับองค์ท่าน และระหว่างรอพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่เราก็ได้ปลีกไปวิเวกภาวนาจำพรรษาที่ภูวัว ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๙ ของเรา และก่อนเข้าพรรษาเราได้เที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ มี ภูวัว ภูลังกา ภูทอก ภูสิงห์ ทั้งหมดล้วนเป็นที่ที่ถูกอัธยาศัยของเรา แล้วกลับมาปักหลักภาวนาอยู่ถ้ำบูชาเช่นเดิม เราจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์ทองคำ กาญจนวัณโณ และหมู่คณะอีก ๑ รูป รวมเป็น ๓ รูป

จนกระทั่งออกพรรษาก็ได้กลับมาเตรียมงานพระราชทานเพลิงหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และพอเสร็จงาน หมู่คณะก็ได้กราบนิมนต์องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่บ้านตาด เป็นประธานในการจัดสร้างเจดีย์ ส่วนเราปลีกตัวไปภาวนา ที่วัดถํ้าศรีแก้ว อำเภอภูพาน สกลนคร กับองค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ซึ่งท่านเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ ขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และได้จำพรรษากับท่าน ๑ พรรษา ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นพรรษาที่ ๑๐ ของเรา

หลังออกพรรษาเราก็ภาวนาอยู่กับท่านระยะหนึ่ง แล้วเราก็เที่ยววิเวกไปตามภูพาน พอใกล้เข้าพรรษาเราก็เข้าจำพรรษาที่ วัดถ้ำเสี่ยงของ ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นพรรษาที่ ๑๑ ของเรา พอออกพรรษา เราก็ได้เที่ยวภาวนามาทางอุดรธานี มาช่วยงานประชุมเพลิง พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สิริอายุ ๕๑ ปี พรรษา ๓๑พอเสร็จงาน เราก็มาช่วยงานพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ท่านประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกถึงแก่มรณภาพ ณ ท้องนาทุ่งรังสิต เขตหมู่ที่ ๔ ต.คลอง ๔ อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ขณะท่านมีอายุ ๕๖ ปี ๓๖ พรรษา พร้อมกับพระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ วัดภูทอก, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม, ท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม วัดป่าประสิทธิสามัคคี บ้านต้าย และในที่นี่เองเราได้ฟังเทศน์ พ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นธรรมภาคปฏิบัติ เป็นแนวทางเพื่อความหลุดพ้นแต่ถ่ายเดี่ยว เป็นธรรมรสที่ดูดดื่มซาบซ่านปีติไปทั่วสรรพางค์กาย ทำให้ตั้งปณิธานว่าเราจะต้องไปอยู่กับท่าน พอวันต่อมาหลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จ รุ่งเช้าเราก็เดินทางไป วัดป่าบ้านตาด
พอเข้าไปกราบท่าน ท่านถามว่ามาจากไหน กราบเรียนองค์ท่านว่าเกล้ากระผมเคยอยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้นครับผม พร้อมกล่าวต่อว่า เกล้ากระผมใคร่มาขอศึกษาเรียนข้อวัตรปฏิบัติ จากพ่อแม่ครูอาจารย์ครับผม ท่านกล่าวว่า “เออ เคยอยู่กับครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ผู้ใหญ่ ของหลวงปู่มฝั้นมาแล้ว ก็คงมีหลักจิตหลักใจแล้วแหละ อยู่ภาวนาให้สบายเถิด”

◎ จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด
เราจำพรรษาที่ วัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ – พ.ศ. ๒๕๒๗ (พรรษา ๑๑ – พรรษา ๑๕ ) รวมเป็นเวลา ๕ พรรษา บางปีออกพรรษาก็ไปเที่ยววิเวกภูรินกับองค์หลวงปู่ลี กุสลธโร​ ท่านเป็นศิษย์เอกหลวงตามหาบัว ท่านบวชหน้าไฟหลวงปู่มั่น ท่านรักและเทิดทูนในองค์หลวงตามาก อยู่บ้านตาดนี้เองได้ฟังธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์บ่อยครั้ง จิตใจฮึกเหิม กอปรกับหมู่คณะก็มุ่งมั่นภาวนา แข่งกันทำความเพียร ใครขี้เกียจขี้คร้านท่านไม่ให้อยู่ ท่านว่าวัดนี้เป็นวัดพระ ไม่ใช่วัดหมู เราเคยอดข้าว ๒๔ วัน บางวันฉันน้ำเปล่า บางวันฉันโกโก้ แต่จิตใจมันเลยหิวไปแล้ว เพลิดเพลินกับการต่อกรกับกิเลส หาอุบายมาต่อสู้แบบมัดมือชก กูทีมึงที จะให้เผลอไม่ได้ จิตวิ่งสงบอยู่ที่กาย มีกายเป็นวิหารธรรม เมื่อกิเลสโผล่ขึ้นมาที่มโนทวาร ธรรมก็เข้าแยกแยะพิจารณาปล่อยวางไปเป็นลำดับ การอดแบบนี้มันไม่สนใจว่ากายจะเดือดร้อนหิวโหย อยากจะกล่าวว่าอดให้ตายเลยก็ได้ ต่างจากการอดข้าวของพระเณรปัจจุบัน อดกินเนยกินปานะสารพัด แล้วกลับกุฏิไปนอน ถามหาผลภาวนาไม่มี เอาแต่จำนวนวันในการอดอาหารมาอวดกัน
​การที่เราอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้มีคุณอันประเสริฐท่านย่อมสอดส่องดูลูกศิษย์ในโอวาทท่านอยู่เสมอ ท่านรู้จักสภาวธรรมที่เกิดกับศิษย์ มากกว่าศิษย์รู้จักตัวเองเสียอีก ท่านให้พระมาบอกเราให้เลิกอด เรากำลังเพลิดเพลินกับการพิจารณาต่อกรกับกิเลสอยู่ เราเลยอดต่อ การอดข้าวมีอานิสงส์คือทำให้กายเบา ไม่ง่วงเหงาหาวนอน กายไม่ทับจิต แต่ต้องอดให้พอดีไม่ใช่สุดโต่งข้างหนึ่ง และไม่ใช่ถูกจริตกับทุกคน อด ๑ – ๒ วันถือเป็นเกณฑ์ที่พอดี บางคนอดแล้วฟุ้งซ่าน ก็ไม่ควรอด หลวงปู่มั่น อยู่ในวัดท่านไม่ให้อด เพราะท่านว่าได้แต่ประโยชน์ตน ไม่ได้ประโยชน์ท่าน คือประโยชน์หมู่คณะ แต่ถ้าออกเที่ยววิเวกตามป่าเขาท่านอนุญาตให้อดตามสมควรแก่อุปนิสัยของตน

​ต่อมาพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านบอกให้พระมาบอกให้หยุดเป็นครั้งที่ ๒ พระรูปที่ท่านมาบอก ท่านบอกว่า “อย่าให้ผมมาบอกท่านเป็นครั้งที่ ๓” เพราะพ่อแม่ครูจารย์ท่านไล่หนีทันที ทั้งที่เสียดายในการห้ำหั่นกับกิเลส แต่ด้วยความกลัวอาญาของท่าน จึงได้ยุติการอดอาหารไว้เพียงแต่เท่านั้น ภายหลังท่านได้ดุเอาว่า “นายโคบาลผู้บังคับเกวียนย่อมรู้กำลังโคของตน บรรทุกมากไปก็เกินกำลังโค อาจทำให้โคตาย เสียการงานของตน” เปรียบเหมือนการอดข้าวไม่รู้จักประมาณ ก็ตกเป็นเหยื่อของกิเลสที่ละเอียดกว่าการภาวนาให้รู้จักความเหมาะสมของตน ดังคำที่ว่า ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม การพิจารณาแยกแยะในกายในจิต พอจิตเริ่มฟุ้งซ่านไม่ตั้งมั่น เราก็เข้าพักผ่อนสงบด้วยคำบริกรรม ไม่ต้องเสียดายอารมณ์ที่พิจารณาอยู่ เวลาพักคือพัก เวลาพิจารณาคือพิจารณา
ต่อมาช่วงนอกพรรษาทางวัดอุปัชฌาย์ได้แจ้งข่าวมาว่าท่านละขันธ์แล้ว เราจึงขอโอกาสเดินทางลงใต้เพื่อไปช่วยงาน พอเสร็จงานเราก็ไปเยี่ยมโยมแม่ หลังจากไม่ได้กลับบ้านนานนับสิบปี ยังความปีติยินดีให้โยมพ่อโยมแม่ และญาติพี่น้อง โปรดโยมอยู่พักหนึ่งก็กลับ วัดป่าบ้านตาด

พอออกพรรษา พ.ศ. ๒๕๒๗ (พรรษา ๑๕) เราก็อยากไปเที่ยววิเวกทางจันทบุรี ประกอบกับหลวงตาท่านไม่นิยมให้ลูกศิษย์อยู่กับท่านนาน เพราะจะไปตัดสิทธิคนที่จะมาศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่าน ประกอบด้วยเราอยู่กับท่านมา ๕ ปีแล้ว จำเป็นที่ต้องขยับขยายให้คนอื่นเขามีโอกาสบ้าง เราเดินทางด้วยรถโดยสารมาถึงจันทบุรี พักอยู่ วัดเขาน้อย ระยะหนึ่งแล้วเดินทางไปหาที่จำพรรษาทาง อำเภอสนามชัยเขต ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง ฉะเชิงเทรากับชลบุรี แล้วได้ที่จำพรรษาที่หนองขายาง เป็นสำนักสงฆ์ตั้งอยู่เชิงเขา

พรรษานี้ท่านอาพาธเป็นไข้มาลาเรีย และมีท่าทีจะขึ้นสมอง ชาวบ้านช่วยกันรักษา ทั้งสมุนไพร และยาควินิน แต่ก็เดี๋ยวไข้เดี๋ยวหาย ออกพรรษา (พรรษา ๑๖) ชาวบ้านจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โดยพักอยู่มูลนิธิหลวงปู่มั่น พออาการดีขึ้นได้กลับหนองขายาง ทางบ้านก็ส่งข่าวมาว่าโยมแม่ป่วยหนัก ด้วยโรคมะเร็ง เราก็ได้ลาชาวบ้านและรับปากเขาว่าเราจะกลับมาใหม่ เพราะเห็นแก่บุญคุณที่เขาฟูมฟักเลี้ยงดู ในยามป่วยไข้ ประดุจญาติพี่น้องผู้ร่วมสายโลหิต พอมาถึงเราได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำบางเตย ต่อมาเราพัฒนาให้กลายเป็นวัดจนถึงปัจจุบัน เราได้เฝ้าดูแลโยมมารดา ให้โอวาททางธรรม ยังจิตให้ร่าเริง อดทนต่อเวทนา โยมพ่อก็ได้อานิสงส์ด้วยจากเป็นคนไม่เข้าวัด เราก็ใช้อุบายให้ท่านทำนั่นทำนี่ให้จนท่านเคยชิน วันใหนไม่ได้มาวัดรู้สึกไม่สบายใจ เราคอยสอดส่องหายามารักษาโยมแม่ แต่ก็อาการไม่ดีขึ้น ประกอบกับใกล้เข้าพรรษา เราคิดว่าจะพาโยมแม่ไปรักษาที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยไม่รู้จักใคร เราต้องเดินทางไปดูที่พักล่วงหน้าก่อนและได้ไปขอพักที่ วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม และได้กราบเรียนเรื่องจะพาโยมแม่มารักษา ให้องค์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ฟังท่านก็ไม่ว่าอะไร

พอตอนเช้าท่านก็บอกให้กลับไปดูแลแม่ เพราะแม่มีคนเดียวในโลก เมื่อฟังได้ความเช่นนี้ เราคิดว่าแม่เราคงอยู่ได้ไม่นาน ก่อนกลับลงพังงาได้ไปบอกเหตุผลที่ต้องกลับไปจำพรรษาที่ พังงา กับชาวบ้านหนองขายาง เราดูแลรักษาโยมมารดาอยู่เกือบปีท่านก็ได้สิ้นใจ และเราก็ได้ดูแลงานศพท่านจนลุล่วงไปด้วยดี และช่วงที่เราอุปถัมภ์โยมมารดาอยู่นั้น เราได้สร้าง “วัดถ้ำบางเตย” ไปด้วยพอโยมมารดาเสียจึงไปไหนไม่ได้ และพาโยมพ่อสร้างทานบารมี ด้วยการสร้างกุฏิ ศาลา เพราะถ้าพูดเรื่องภาวนาท่านไม่เอาเลย และต่อมาอีก ๔-๕ ปี ท่านไปเลี้ยงควาย โดนควายขวิด ต่อมากลายเป็นอัมพาต ติดเตียงอยู่ ๒ ปี จึงสิ้นใจ และเราก็ได้อยู่พัฒนาคน พัฒนาวัดเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ – พ.ศ. ๒๕๔๙ (พรรษา ๑๗ – พรรษา ๓๘) และตอนไหนองค์หลวงปู่บ้านตาด มีเรื่องจะสงเคราะห์อะไร ในเขต ภูเก็ต พังงา กระบี่ มักจะมอบงานให้เราช่วยกำกับดูแล อาทิเช่น อาคารเรียนที่เกาะพีพี อาคารเรียนที่โรงเรียนบ้านบางเตย ตลอดจนก่อสร้าง สถานีวิทยุเสียงธรรม (ลูกข่ายสถานีวิทยุเสียงธรรมบ้านตาด) ในที่ต่าง ๆ

​ต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า หลวงตามหาบัว วัดบ้านตาด ท่านเล็งเห็นว่าชาติจะต้องมีหลักประกันเงินตราคือทองคำ และในคลังหลวงของเราดูแล้วมีไม่มาก เพราะจำนวนทองคำที่เก็บคงคลังของแต่ละประเทศเป็นตัวบ่งบอกความมั่งคั่งของประเทศนั้น ๆ เหนือสิ่งใดท่านเล็งเห็นหัวใจของคนในชาติ ที่ต่างท้อแท้ ห่อเหี่ยว สิ้นหวังในชีวิต ท่านจึงออกไปเทศนาในที่ต่าง ๆ ประดุจเอาธรรมคือน้ำฉ่ำเย็นไปชโลมหัวใจคนไทยให้เกิดความสามัคคี เสียสละแบ่งปัน จนสร้างพลังแผ่นดินคือพลังใจ และผลทางวัตถุก็ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์คือได้ทองคำมากกว่า ๑๓ ตัน ดอลลาร์ มากกว่า ๑๐ ล้านดอลลาร์

◎ เราเป็นผู้นำในการรวบรวมกำลังศรัทธาทางฝั่งภาคใต้
เราเป็นผู้นำในการรวบรวมกำลังศรัทธาทางฝั่งภาคใต้ และได้ไปช่วยงานองค์ท่านในที่ต่าง ๆ ที่ท่านออกทอดผ้าป่าช่วยชาติ แม้องค์ท่านอายุ ๘๐ กว่าแล้ว ถึงแม้เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ ท่านก็ไม่ย่อท้อ ด้วยจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์อันเหลือประมาณ เป็นตัวอย่างให้เราเหล่าลูกศิษย์มีจิตใจอาจหาญที่จะสร้างความดี

ต่อมาออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เรามาดำริว่าเราอยู่ทางใต้ก็ ๒๐ กว่าปีแล้วอะไรก็ถือว่าควรแก่กาล และ สถานที่แล้ว เราจะกลับไปทางอีสาน เพื่อจะได้ดูแลหลวงปู่บ้านตาดเพราะท่านก็ชรามากแล้ว ประกอบกับคิดถึงถ้ำขาม ที่เคยอาศัยภาวนาสมัยปฐมอุปสมบท จึงฝากให้ พระวิทยา ธัมมปาโล ผู้เป็นหลานให้ดูแลวัดถ้ำบางเตยสืบต่อจากท่าน

ก่อนเข้าพรรษา ๑๕ วัน ได้เดินทางขึ้นมาจำพรรษาที่ วัดถ้ำขาม ตรงกับ พ.ศ. ๒๕๕๐ – พ.ศ. ๒๕๕๒ (พรรษา ๓๙ – พรรษา ๔๑) และได้ดูแลหมู่คณะ พร้อมพัฒนาวัดไปด้วย เพราะเจ้าอาวาสในขณะนั้นคือ พระอาจารย์สมัย สมาหิโต ท่านมีโรคประจำตัวต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้ง

ต่อมาหลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้เดินทางมา วัดป่าบ้านใหม่ ตามคำนิมนต์ ของ หลวงพ่อนิพนธ์ อภิปสนฺโน และชาวบ้าน โดยได้เริ่มจำพรรษาที่วันป่าบ้านใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ – ปัจจุบัน ปีพ.ศ. ๒๕๖๔ (พรรษา ๔๒ – พรรษา ๕๓) ช่วงมาบ้านใหม่เริ่มแรกต้องเทียวไปบ้านตาดประจำ เพราะพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านเริ่มป่วยถี่เข้า และได้เข้าไปพักอยู่บ้านตาดตั้งแต่ออกพรรษาปี ๒๕๕๓ โดยมีลูกศิษย์ขององค์ท่านหมุนเวียนกันเข้ามาอุปัฏฐากเป็นจำนวนมาก เราก็เฝ้าสังเกตอาการอยู่อย่างใกล้ชิด พอเวลากลางคืนก็เข้าไปนวดเฟ้นองค์ท่าน ในที่สุดเหตุการณ์ที่สร้างความหวั่นไหวสุดที่จะปลงธรรมสังเวชของหมู่ศิษย์ก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๒.๔๙ น. ตรวจพบสมองขององค์ท่านหยุดทำงาน ในต่อมา ตรวจพบม่านตาขยายไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ออกซิเจนในเลือดเป็นศูนย์ จากนั้นเวลา ๐๓.๕๓ น. ความดันโลหิตมีค่าเป็นศูนย์ และหยุดการหายใจ จึงเป็นอันว่าท่านละขันธ์สิริอายุได้ ๙๗ ปี ๕ เดือน ๑๘ วัน ๗๗ พรรษา

เมื่อหมอได้ประกาศขึ้นเช่นนั้น เสียงระงมร่ำไห้ของหมู่ศิษย์เป็นที่หน้าสลดสังเวชใจ หลังจากนั้นเราอยู่ช่วยงานโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพราะมีคนมาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และวันพระราชทานเพลิงสรีระสังขารองค์ท่าน ก็มีคนมาร่วมงานมากเป็นประวัติการณ์ จนแทบจะไม่มีที่ให้ยืน และด้วยความสามัคคีของหมู่ศิษย์การดำเนินงานก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

ต่อมาเราก็ได้เริ่มพัฒนาซ่อมแซม ปรับปรุงเสนาสนะในอาณาบริเวณ วัดป่าบ้านใหม่ เพราะทุกอย่างได้ผุพังลงตามกาลเวลา เพราะเท่าที่มีหลักฐานการอยู่ของภิกษุสงฆ์ คือหลวงพ่อนิพนธ์ จาริกมา ก็ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นับเป็นเวลา ๓๐ กว่าปีมาแล้ว และที่ได้สร้าง กุฏิ วิหาร และซื้อที่ดินโดยรอบเพิ่มเติม ก็เพราะเล็งเห็นว่าต่อไปภายภาคหน้า ครูอาจารย์ก็มีแต่ล่วงไปล่วงไป คนที่มาเกี่ยวข้องกับวัดป่าบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ก็จะมีมากขึ้น จำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับ และวัดก็เป็นสถานที่สร้างความร่มเย็น ประดุจน้ำดับไฟ สืบเนื่องต่อไป ตราบใดที่หัวใจของคนยังหวังพึ่งธรรมอยู่

ปัจจุบัน หลวงปู่คลาด ครุธมฺโม เป็นประธานสงฆ์วัดป่าบ้านใหม่ ตำบลเมืองพาน​ อำ​เภอ​บ้านผือ จังหวัด​อุดรธานี อายุ ๗๕ ปี พรรษา ๕๒ (๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔​)

รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระทวี ญาณธัมโม
แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระกิตติสารสุธี

วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ปัจจุบัน หลวงปู่คลาด ครุธมฺโม ท่านจำพรรษษ อยู่ที่วัดป่าบ้านใหม่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านมีอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๓ (พ.ศ.๒๕๖๔)

หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่คลาด ครุธัมโม วัดป่าบ้านใหม่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง