ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ขาน ฐานวโร วัดป่าบ้านเหล่า ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
“พระอริยสงฆ์ผู้มีจิตตั้งไว้ประเสริฐแล้ว”
หลวงปู่ขาน ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาอันสง่างาม เป็นแบบอย่างในด้านความพากเพียรและกาประพฤติปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ ออกธุดงค์แสวงหาครูบาอาจารย์ตามป่าเขาแลโถงถ้ำ ต่อสู้ต่อความยากลำบาก ความกันดารอดอยาก จนได้พบวิมุตติธรรมหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิดจากสังสารวัฏได้ในพรรษาที่ ๗
หลวงปู่ขาน ถือกำเนิด ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๘ ปีกุน ณ บ้านโนนปอแดง ต.โนนสัง อ.โนนสัง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ จ.หนองบัวลำภู)
ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ ของ คุณพ่อหนู คุณแม่ห่อน สุขา มีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน
๑. พระสอน (มรณภาพ)
๒.นายพร (ถึงแก่กรรม)
๓. นางสอ (ถึงแก่กรรม)
๔.นางสังข์ (ถึงแก่กรรม)
๕.นางวัง(ถึงแก่กรรม)
๖.นางเวิน (ถึงแก่กรรม)
๗.นางเหวิ่น (ถึงแก่กรรม)
๘.นายหว่าน (ถึงแก่กรรม)
๙.หลวงปู่ขาน ฐานวโร (มรณภาพ)
๑๐. นางก้าน (มารดาของพระอาจารย์เสถียร สมาจาโร)
หลวงปู่ขาน ท่านมีศักดิ์เป็นลุงของท่านพระอาจารย์เสถียร สมาจาโร พระอริยเจ้าแห่งวาชูคุ เพราะเป็นพี่ชายของโยมมารดาท่านพระอาจารย์เสถียร และเป็นพระอาจารย์ผู้อบรมธรรมให้กับท่านพระอาจารย์เสถียร อีกด้วย
ชีวิตช่วงเยาว์วัย ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วได้ออกมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำสวน ได้ออกบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๕ ปี ครั้นต่อมาเมื่ออายุ ๒๑ ปี ๑๐ เดือน ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ เวลา ๑๕.๔๓ น. ณ วัดป่าชะบาวัน บ้านกุดฉิม ต.บ้านค้อ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยมีพระครูศาสนูปกรณ์ วัดโยธานิมิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่อุ่น ชาคโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเพ็ง อิติโสภโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐานวโร” แปลว่า “มีที่ตั้งอันประเสริฐ”
หลวงปู่ขาน ได้พำนักจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสำโรง ซึ่งมีหลวงปู่ชม โฆสิโก เป็นเจ้าอาวาส พอออกพรรษาหลวงปู่ขานได้ออกธุดงค์เดินทางไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล ตลอดระยะเวลาที่อยู่วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่ขาวได้ให้อุบายธรรมแก่ท่านมากมายจนปลาบปลื้มอันเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม หลวงปู่ขาน ได้ปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มข้นทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งอดอาหารอดนอน มีสติอยู่ด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่น และนอน บางคราวก็ถือเนสันชิกอยู่ในอริยาบถ ๓ ไม่ยอมให้หลัดติดพื้น มุ่งมั่นทำความเพียร อยู่อย่างสันโดษ ตามถ้ำตามผาตามโขดหิน ผลาญหินบ้าน โคนไม้บ้าง ไม่คลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ รวมระยะเวลาที่อยู่ถ้ำกลองเพล ๒ พรรษาด้วยกัน คือ พรรษาที่ ๒ – ๓ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕๐๒ จึงได้กราบลาหลวงปู่ขาว ออกไปแสวงหาโมกขธรรมต่อไป
ได้อยู่จำพรรษาที่ วัดป่าแก้วชุมพล ในพรรษาที่ ๔ หลังจากนั้นหลวงปู่ขาน ได้จาริกไปที่ต่างๆ เช่น ภูกระดึง อุดรธานี หนองคาย โพนพิสัย จนมาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่ถ้ำจันทน์ จ.หนองคาย ท่านได้รับอุบายวิธีการปฏิบัติสำหรับขจัดขัดเกลากิเลสจาก พระอาจารย์จวน มากมายตลอดทั้ง ๒ พรรษา ในช่วงที่หลวงปู่ขาน อยู่ที่ถ้ำจันทน์แห่งนี้ ท่านได้เกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรีย แม้โรคาพาธจะเบียดเบียนท่านอย่างหนักขนาดไหนก็ตาม ท่านก็ไม่ท้อถอยยอมต่อพยาธิภัยเลย เร่งความเพียรด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยว ด้วยการประกอบอาจาริยวัตรท่านก็มิขาดตก ถวายการอุปัฏฐากรับให้หลวงปู่จวนอย่างไม่บกพร่อง “ธัมมะรัตนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง ผู้ปฏิบัติซึ่งธรรมให้เป็นที่พึ่ง ได้ชื่อว่าเป็นธรรมโอสถอย่างสูง” หลวงปู่ขาน ท่านได้ใช้ธรรมโอสถเยียวยารักษาธาตุขันธ์จากอาพาธไข้ป่าด้วยความเพียรจนหายขาดจากอาพาธทั้งปวง
สมัยที่อยู่อุปัฏฐากหลวงปู่จวน อยู่ที่ถ้ำจันทน์นั้น ท่านได้ขึ้นไปรับใช้บีบนวดหลวงปู่จวน อยู่บนกุฏิ กระทั้งเวลาเที่ยงคืนเห็นจะได้ หลวงปู่จวนจึงให้ท่านกลับไปพักผ่อน ช่วงที่ท่านเดินลงจากกุฏิ พอดีเป็นช่วงเวลาที่เสือออกมาหากิน จึงเดินมาประจันหน้ากันที่ใต้กุฏิหลวงปู่จวน หลวงปู่ขานท่านเล่าว่า ด้วยความกลัวและทำอะไรไม่ถูก พลันสติจึงบังเกิดขึ้นตักเตือนว่าต้องนั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงได้นั่งลงกับพื้นใต้กุฏิ และกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่นานจิตก็สงบ รวมเป็นสมาธิแล้วน้อมเข้ามาในกาย พิจารณากายจนท่านได้พบธรรมะอันพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาและสอนพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งธรรมเหล่านั้นได้ประจักษ์แจ้งแก่ใจของหลวงปู่เป็นครั้งแรก เมื่อจิตถอนออกมาก็รุ่งเช้าพอดี เสือก็ไม่อยู่แล้ว หลวงปู่ขานท่านอยู่ที่ถ้ำจันทน์ จ.หนองคาย ถึง ๒ พรรษา คือ พรรษา ๕ และ ๖
หลังจากนั้นได้ธุดงค์ไปยังถ้ำพระนาผักหอก ที่บ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้พบหลวงปู่ลี กุสลธโร ซึ่งได้มาพักภาวนาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว ตอนนั้นหลวงปู่ลี มีพรรษาเข้าได้พรรษาที่ ๑๕ ในพรรษานั้น โดยหลวงปู่ลี ได้บรรลุธรรมพบวิมุตติสุขได้ตั้งแต่กลางพรรษาที่ ๑๑ แล้ว ในวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๓ ณ วัดบ้านกกกอก (ปัจจุบันคือ วัดป่าปริตตบรรพต) อ.วังสะพุง จ.เลย หลวงปู่ขาน เมื่อมาอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ลี ท่านก็รีบเร่งภาวนา ต่างองค์ต่างปฏิบัติ ต่างองค์ต่างบำเพ็ญ อย่างไม่ลดละต่อกิเลส การบิณฑบาตแม้ว่าจะลำบากเพราะมีบ้านคนเพียง ๖ หลังคาเรือน บางวันได้ข้าวเหนียวแค่ ๓ ปั้น หลวงปู่ทั้ง ๒ หาได้ใยดีแก่ปากแก่ท้องไม่ ตั้งหน้าตั้งตาเอาธรรมะชำระกิเลส ให้หมดสิ้นไป เมื่อติดขัดสิ่งใดในการภาวนา หลวงปู่ลี ก็คอยให้คำปรึกษาถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันเรื่อยมา
จนในพรรษาที่ ๗ นี้เองซึ่งตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๖ (แต่ในหนังสือประวัติหลวงปู่ลี กุสลธโร ท่านว่ามาอยู่ที่ถ้ำนาผักหอกร่วมกับหลวงปู่ขาน ฐานวโร ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงมีความคาดเคลื่อนเรื่องปี พ.ศ.กันอยู่) หลวงปู่ขาน ได้พบกับวิมุตติธรรมอันประเสริฐ อันเป็นเครื่องยุติการเดินทางใน ๓ โลกธาตุ ภพชาติต่างๆของท่านได้สิ้นสุดลง ณ ถ้ำพระนาผักหอกแห่งนี้ คืนหนึ่งหลังหลวงปู่ขาน ได้พบวิมุตติธรรมในขณะที่กำลังภาวนาอยู่นั้น ท่านได้นิมิตเห็นกับนางอุบลวรรณาเถรีมายืนอยู่เบื้องหน้า และกล่าวอนุโมทนาแก่หลวงปู่ถึงผลของการบำเพ็ญเพียรภาวนา จนได้พบกับวิสุทธิธรรม และสามารถเอาชนะกิเลสชำระให้หมดไปจากใจได้ รุ่งเช้าหลวงปู่ถอนออกจากสมาธิ และเขียนไว้บนผนังหน้าถ้ำว่า “ถ้ำโลกะวิทู” อันมีความหมายว่า “รู้แจ้งโลก”
หลวงปู่ขาน ได้กลับไปวัดถ้ำกลองเพล กราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย อยู่ปฏิบัติอาจาริยวัตรถวายพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างเต็มกำลัง แม้ท่านจะมีธรรมอันประเสริฐประดิษฐานอยู่ในใจแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้ละทิ้งการบำเพ็ญภาวนาได้ไปอยู่ที่ถ้ำผาผึ้งซึ่งอยู่ในอาณาเขตวัดถ้ำกลองเพลเพียงลำพัง ในพรรษาที่ ๘ และ ๙ ท่านอยู่กับหลวงปู่ขาว ถึง ๒ พรรษา จากนั้นจึงได้กราบลาหลวงปู่ขาว ไปอยู่วิเวก และเข้าจำพรรษาที่วัดป่าชบาวัน จ.หนองบัวลำภู อยู่ร่วมกับหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร ถึง ๓ พรรษา คือ พรรษาที่ ๑๐ – ๑๒ พอออกพรรษาจึงกราบลาหลวงปู่มหาบุญมี ออกจาริกไปทางภาคเหนือพร้อมด้วยพระอาจารย์ท่านต่างๆ ๑๑ รูป ได้แก่ หลวงปู่ทูล ขิปฺปปัญโญ , หลวงปู่หวัน จุลปัญฑิโต หลวงปู่จรัส ธัมมธโร และหลวงพ่อกองเหรียญ เป็นต้น คณะของหลวงปู่ได้หยุดพำนักปักกลดอยู่ที่ดอยน้ำตกพัฒนา (ปัจจุบันคือวัดดอยน้ำตกพัฒนา อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย มีหลวงปู่จรัส ธัมมธโร เป็นเจ้าอาวาส)
กอรปกับญาติพี่น้องของท่านได้อพยพมาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเหล่า ต.ทุ่งก่อ จ.เชียงราย เนื่องจากบ้านโนนปอแดง อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ สำหรับวัดป่าบ้านเหล่าหรือดอยกู่แก้วเคยเป็นวัดในสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์อาณาจักรเชียงแสนมาก่อน หลวงปู่ขาน ท่านพิจารณาเห็นถึงความสงบสงัดเหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรม ท่านจึงเกิดความชอบใจและได้ตัดสินใจจำพรรษาอยู่ที่ดอยกู่แก้ว ในพรรษาที่ ๑๓ ต่อมามีผู้มีศรัทธาถวายที่ดินบริเวณดอยกู่แก้วแก่หลวงปู่ขาน ท่านจึงสร้างเป็นวัดป่าบ้านเหล่า ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดวชิระทรงธรรมพัฒนา” และอยู่อบรมธรรมแก่ลูกศิษย์ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๓ – พรรษาที่ ๕๐ คือปี พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงปีแห่งมรณกาลของท่านคือปี พ.ศ.๒๕๔๙
“…หลวงปู่ขาน นี่วาระจิตท่านเร็วมากนะ ขนาดเราแค่คิดไว้ในใจห่างตั้ง ๕-๖ กิโลเมตร ท่านยังรู้ได้ เพราะเราเคยลองดู ครั้งหนึ่งเราตั้งใจจะไปกราบท่าน เลยคิดในใจว่า ถ้าหากว่าหลวงปู่ขาน รู้จักวาระจิตจริงดังคำเขาลือกัน ขอให้นั่งรอเราอยู่ อย่าพึ่งเข้าที่พัก..”
เพราะปกติหลวงปู่ท่านฉันเช้าเสร็จจะเข้าที่พักเลย ตอนนั้นเราฉันเช้าเสร็จตอนแปดโมงเช้า และต้องเดินขึ้นเขาไปหาท่านอีกประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร เราไปถึงวัดป่าบ้านเหล่าประมาณ ๑๑ โมงเช้า พอไปถึงยังไม่ได้วางกลด วางบาตรเลย หลวงปู่ท่านพูดดักเลยว่า “ทำไมให้ พระผู้เฒ่าคอยตั้งนาน” นั่น ! ท่านเก่งมากนะ
ตอนเช้าจะออกบิณฑบาต เราไปรับบาตรจากท่านเสร็จ ต้องเดินลงเขาไป ตอนนั้นเรายังหนุ่มแน่น เรียกว่าเดินอย่างเต็มที่แล้ว กะว่าจะไปรอท่านหน้าทางเข้าหมู่บ้าน พอไปถึงก็เจอหลวงปู่นั่งเคี้ยวหมากรออยู่ทางเข้าหมู่บ้านแล้ว ท่านเก่งมากนะ”
พระอาจารย์สุบรรณ์ สิริธโร
วัดถ้ำผาเกิ้ง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น
หลวงปู่ขาน มักจะสอนพระเณรให้รู้จักพึ่งตนเอง มีความอดทน และทำเป็นตัวอย่างมากกว่าสอนด้วยปากเปล่า และหลวงปู่ไม่รับนิมนต์กิจ ที่ไหนไกลจากบ้านเหล่าเลย อีกทั้งท่านยังเป็นพระที่มีขันติธรรม แม้ท่านป่วยก็ไม่บ่น แสดงอาการอ่อนแอให้ใครเห็นเลย ท่านจะใช้ธรรมโอสถรักษาเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกศิษย์ หลวงปู่ได้ตั้งสัจจะปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ
๑.จะไม่ไปนั่งบ้านโยม ไม่ขึ้นบ้านน้อย บ้านใหญ่
๒.ไม่รับนิมนต์นอกเขต (รับเฉพาะหมู่บ้านเหล่า หากท่านไม่ไปงานนิมนต์ ท่านจะให้พระรูปอื่นไปแทน)
๓.ไม่จับโทรศัพท์ พูดโทรศัพท์
๔.จะไม่เขียนจดหมายติดต่อกับใคร
๕.จะไม่ขึ้นเครื่องบิน
หลวงปู่ขาน ฐานวโร ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพาน ภายในกุฏิ ณ วัดป่าบ้านเหล่า เมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๒๑.๓๔ น. สิริอายุรวม ๗๑ ปี ๑ เดือน ๑๗ วัน พรรษา ๕๐
เถ้าอัฐิและเถ้าอังคารของหลวงปู่ขาน นั้นในเวลาต่อมาได้กลายเป็น พระธาตุ แสดงถึงการสำเร็จเป็นพระอรหันต์เจ้าและเข้าสู่นิพพานแล้วอย่างแท้จริง
โอวาทธรรม หลวงปู่ขาน ฐานวโร
ท่านจะเน้นให้พระเณรปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ สมกับเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้หาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
“..ถ้าเป็นอาบัติ ทุกกฎ มันก็กดมรรค กดผลไว้ ไม่ให้เกิดขึ้น มีขึ้น ถ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ มันก็ตีมรรค ตีผล ตีจิต ตีใจ ไม่ให้เกิดขึ้น..”
“..ไปไหนไม่เท่ากับอยู่วัด อยู่วัดไหนก็ ไม่เท่าอยู่วัดตัวเอง
คนมีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ จะได้ไม่นิ่งนอนใจในชีวิต..”
“..คนมีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ จะได้ไม่นิ่งนอนใจในชีวิต..”
“..เราอยู่กับชาวนาชาวไร่ เราสบายใจมีความสุขมาก ถ้าเราอยากลำบากทุกข์ยากให้ไปอยู่ใกล้ ๆ สมบัติผู้ดี มีเงินมาก ๆ อยู่วัดนี้ไม่มีหัวโขน..”
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน
ประวัติการสร้างวัดป่าบ้านเหล่า
วัดป่าบ้านเหล่า เดิมชื่อว่า วัดวชิระทรงธรรมพัฒนา ตั้งอยู่ ณ บ้านเหล่า หมู่ที่ ๖ ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงปู่ขานได้ธุดงค์มาพำนัก ณ ดอยกู่แก้ว บ้านเหล่า ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย (ภายหลังเป็นกิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง) ด้วยปฏิปทาอันงดงาม น่าเลื่อมใสของหลวงปู่ขาน ชาวบ้านเหล่าซึ่งนำโดย นายปุ่น จันทร์สมัคร ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินบริเวณดอยกู่แก้วแก่หลวงปู่ เพื่อสร้างเสนาสนะสำหรับเป็นที่พำนักพักอาศัยของหลวงปู่ และพระภิกษุสามเณรในเบื้องหน้า อันมีเนื้อที่ตั้งวัดทั้งสิ้น ๒๗ ไร่
หลังจากที่คณะศรัทธาได้ถวายที่ดินแก่หลวงปู่ขานแล้ว ท่านจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุฏิที่พักสงฆ์ ศาลาโรงธรรม ตั้งแต่ชั่วคราวจนกระทั่งถาวร
วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมศาสนาและมหาเถรสมาคมมีหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด โดยหลวงปู่ได้มอบหมายให้ นายปุ่น จันทร์สมัคร เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า “วัดป่าบ้านเหล่า”
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา
ด้วยบารมีของหลวงปู่ขาน และแรงศรัทธาของชาวบ้านเหล่า กระทั่งถึงคณะศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศที่หลั่งไหลมายังสถานที่แห่งนี้ จึงทำให้วัดป่าบ้านเหล่าเจริญรุ่งเรืองมาได้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ในส่วนการจำพรรษาของพระภิกษุสามเณรในวัดป่าบ้านเหล่า บางพรรษามีมากถึง ๕๐ รูป ซึ่งท่านเหล่านั้นล้วนมีความปรารถนาที่จะมาอาศัยร่มบุญร่มธรรมของหลวงปู่ขาน
ข้อวัตร-ปฏิบัติ ของพระภิกษุสามเณร
ในวัดป่าบ้านเหล่า
เวลา ๐๓.๐๐ น. ตื่นนอนจากการพักผ่อน เข้าห้องน้ำ-ล้างหน้า-แปรงฟัน เสร็จสิ้นแล้วเข้าที่ เตรียมตัวทำวัตรเช้า-สวดมนต์ ต่อด้วยสมาธิ-ภาวนา หรือออกไปเดินจงกรม-ภาวนา
เวลา ๐๕.๓๐ น. เตรียมตัว เตรียมบริขาร บาตร กาน้ำ ปิดประตู-หน้าต่างกุฏิให้เรียบร้อย เดินลงไปศาลาหอฉันข้างล่าง จัดที่นั่ง-อาสนะ-จัดบาตร-เช็ดบาตรให้เรียบร้อย รอเวลาออกบิณฑบาต
เวลา ๐๖.๐๐ น. ออกบิณฑบาต เดินไปก็ให้ภาวนา หรือจะทวนหนังสือปาฏิโมกข์ก็ได้ เดินบิณฑบาตด้วยอาการสำรวมอินทรีย์ ๖ (ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ)
เวลา ๐๖.๓๐ น. กลับถึงวัด เตรียมจัดภัตตาหาร รับประเคนภัตตาหารถวายครูบาอาจารย์ และรอจัดอาหารใส่บาตร และให้พรแก่ญาติโยมเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะฉันต้องพิจารณาอาหารก่อนฉัน เพื่อไม่ให้หลงลืมตัว และฉันด้วยความสำรวมระวัง มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
เวลา ๐๗.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเสร็จ-ล้างบาตร-เช็ดบาตร เสร็จเรียบร้อยแล้วปัดกวาดศาลา เก็บเสื่อ อาสนะ และเช็ดถูให้สะอาดทุกสิ่งทุกอย่าง
เวลา ๐๗.๓๐ น. เดินกลับกุฏิ ถึงกุฏิเอาบาตรและจีวรผึ่งแดด แล้วทำความสะอาดบริเวณกุฏิ ปัดกวาดเช็ดถูแล้วล้างปาก-แปรงฟันเสร็จ
เวลา ๐๘.๓๐ น. เดินจงกรมให้อาหารย่อย หรือทวนหนังสือปาฏิโมกข์ต่อให้จิตอยู่กับตัว รอเวลาเก็บบาตร-จีวร หรือท่องหนังสือตามแต่ความต้องการ
เวลา ๑๐.๓๐ น. เก็บบาตร-จีวรให้เรียบร้อย เสร็จแล้วเตรียมตัวทำวัตร-สวดมนต์ สวดได้ทุกเวลา อกาลิโก สวดได้ทุกเวลา
เวลา ๑๑.๐๐ น. จะดูตำรับตำรา อ่านหนังสือธรรมะ เช่น ประวัติครูบาอาจารย์ก็ได้ สำหรับพระภิกษุบวชใหม่ อ่านหนังสือธรรมวินัยให้เข้าใจ ให้รู้อาบัติน้อย-ใหญ่ เพื่อระมัดระวังอย่าให้ผิดธรรมวินัย เสร็จแล้วจะพักธาตุขันธ์พอประมาณให้มีสติ อยู่เสมอ
เวลา ๑๔.๐๐ น. ลงเดินจงกรม-ภาวนา รอเวลาปัดกวาดลานวัด
เวลา ๑๕.๐๐ น. ปัดกวาดลานวัด บริเวณกุฏิ ถนน ปัดกวาดด้วยความมีสติ พิจารณาใจตัวเองอยู่เสมอ
เวลา ๑๖.๐๐ น. ทำความสะอาดศาลาหอฉันอย่างพร้อมเพรียงกัน จัดอาสนะ กระโถน ตักน้ำไว้ล้างบาตร ล้างเท้า
เวลา ๑๖.๓๐ น. ฉันน้ำร้อน-น้ำชาพร้อมเพรียงกัน ฉันเสร็จ ล้างแก้วเรียบร้อยแล้ว เข้าทางจงกรม เดินจงกรมภาวนา
เวลา ๑๘.๐๐ น. ออกจากทางจงกรม เตรียมตัวไปสรงน้ำ เวลาสรงน้ำให้มีสติ อย่าเผลอตัว อย่าทำความเพลิดเพลิน พอสรงน้ำเสร็จ ซักผ้า ตากผ้า เสร็จเรียบร้อย
เวลา ๑๙.๐๐ น. ครองผ้าจีวร เริ่มทำวัตรสวดมนต์เย็น สวดสิบสองตำนาน เจ็ดตำนาน และสวดปาฏิโมกข์ต่อไปจนจบ
เวลา ๒๑.๐๐ น. นั่งสมาธิ-ภาวนา พิจารณาจิตดูว่าวันหนึ่งๆ คิดดี-คิดชั่วกี่ครั้ง พิจารณาดูธรรมวินัยว่าบริสุทธิ์หรือเปล่า พิจารณาดูกัมมัฏฐาน ๕ คือ เกสา-โลมา-นะขา-ทันตา-ตะโจ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ให้ยึดติด ให้ปล่อยวาง พิจารณาให้แจ้งชัดตามความเป็นจริง
เวลา ๒๓.๐๐ น. พักผ่อนธาตุขันธ์ จะหลับก็ให้มีสติสัมปชัญญะ ตั้งจิตว่า เมื่อถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. จะตื่นทันที จิตจะไม่ฝันไม่เร่ร่อนไปที่อื่น พอถึงเวลาปุ๊บจะตื่นโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งนาฬิกาปลุกเลย ถึงเวลาจะตื่น ให้ตั้งจิตว่าพักอิ่มแล้วรีบลุกไปล้างหน้าแปรงฟันทันที อย่านอนต่อเด็ดขาด จะติดเป็นนิสัย