วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม พระเถระผู้เมตตาของชาวหัวหิน

ประวัติและปฏิปทา
พระเนกขัมมมุนี (หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม)

วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด)
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม ท่านเป็นพระมหาเถระ ผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนานแห่งวัดราชายตนบรรพต (เขาต้นเกด) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระมหาเถระอีกรูป ที่ได้เคยติดตามหลวงปู่ฉลวย สุธัมโม ไปอยู่ ศึกษาอบรมธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าหนองผือ จ.สกลนคร และท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี

หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม พระเถระผู้เมตตาของชาวหัวหิน

หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม ท่านนามเดิมว่า ก้าน ด้วงเด่น เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๑ ส.ค. พ.ศ.๒๔๖๓ ปีวอก อยู่ที่บ้านโผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง

ท่านเป็นบุตรของพ่อเจียม ด้วงเด่น และ แม่กุล ด้วงเด่น ท่านเป็นคนกลางของพี่น้อง ๓ คน ซึ่งชื่อเรียงกันว่า ใบ ก้าน กิ่ง และบุตรชายในครอบครัวนี้ได้อุปสมบททั้งหมด ท่านเองได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ขณะอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

โดยโยมบิดามารดาได้อุปสมบทให้ ที่วัดถนนสุทธาราม จ.อ่างทอง หลังจากนั้นเพียง ๔ ปี คือในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านก็สอบได้นักธรรมเอก

ตามประวัติที่แพร่หลายกันนั้นระบุว่า พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม (งามสมภาค) พระอาจารย์ก้าน ฐิตธมฺโม (ด้วงเด่น) หรือ พระเนกขัมมมุนี และพระอาจารย์กิ่ง วรปุตโต (ด้วงเด่น) รวม ๓ รูป ร่วมกันก่อสร้างวัดแห่งนี้ด้วยกันเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ครั้งนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่รกร้าง อยู่ในการดูแลของเถ้าแก่ บั๊กเซ้ง แซ่อื้อ และคุณเจี่ย แต่ทั้งหมดนี้ รวมทั้งนายสมาน ทวีศรี ซึ่งเป็นป่าไม้อำเภอหัวหินอยู่ในขณะนั้น ได้มีศรัทธาปสาทะ ยินดีในการปฏิบัติเผยแผ่ของ พระสุปฏิปันโนทั้ง ๓ รูป จึงอนุญาตและสนับสนุน ให้ใช้ที่ดินผืนนั้นก่อตั้งเป็นวัดขึ้น

ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ หลวงปู่ได้ขออนุญาตสร้างวัดให้ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “วัดราชายตนบรรพต” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดต้นเกด

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญ พระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยของทั้งสองพระองค์ประดิษฐาน ไว้ที่หน้าบันอุโบสถ และ ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้ที่หน้าอุโบสถ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗

เมื่อเห็นนาม พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พระกรรมฐานย่อมระลึกถึงหนึ่งในพระอริยบุคคลซึ่งเป็นศิษย์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เป็นพระมหานิกาย

พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม
พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม

พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม พระอาจารย์ก้าน ฐิตธมฺโม และ พระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพงนั้น มิเพียงเป็น สหธรรมิกกัน หากแต่ยังมีความละม้ายคล้ายคลึงกันประการหนึ่งคือ เป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งที่ยังเป็นพระฝ่ายมหานิกาย

หลวงปู่ฉลวย ละขันธ์ไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ ขณะวัย ๘๗ ปี

แม้ว่าจะไม่มีประวัติหลวงปู่ก้าน โดยละเอียด แต่ผู้สนใจศึกษาก็อาจจะแกะรอยได้จากประวัติหลวงปู่ฉลวย สหธรรมิกคู่บารมี

ประวัติของหลวงปู่ฉลวย สุธัมโม ดังกล่าว แสดงให้เห็นเส้นทางธรรมของพระสุปฏิปันโนสองรูปที่เคียงคู่กันมาตั้งแต่ต้นๆ จนอีกฝ่ายล่วง สู่มรรคาแห่งพระนิพพานอย่างชัดแจ้ง

ทั้งสองท่านพบกันครั้งแรกที่วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้งนั้น หลวงปู่ฉลวย อายุได้ ๓๙ ปี อุปสมบทเป็นหนที่ ๒ ในคณะมหานิกาย ที่วัดโคกช้าง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มี หลวงพ่ออั้น ลูกศิษย์หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ เป็นพระอุปัชฌายะ พอบวชแล้วก็มองหาที่ปฏิบัติ เมื่อได้ยินว่าวัดยมเป็นวัดปฏิบัติ จึง ขออนุญาตพระอาจารย์เปลื้อง เจ้าอาวาสวัดยม มาอาศัยในบริเวณป่าช้าของวัดดังกล่าว

ขณะนั้นหลวงปู่ฉลวยเป็นพระหนุ่มใหญ่ที่ตั้งเข็มมุ่งมั่นสู่การปฏิบัติอย่างแน่วแน่ ส่วนหลวงปู่ก้านเป็นพระหนุ่มน้อยซึ่งเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ผู้อ่อนวัยวุฒิเรียกหาผู้อาวุโสว่า “หลวงน้า” ต่างสบอัธยาศัยซึ่งกันและกัน เพราะต่างคนต่างฝักใฝ่ในการปฏิบัติเป็นทุน ถ้าเป็นภาษาการเมืองก็ต้องเรียกว่า มีอุดมการณ์เดียวกัน

ตามประวัติหลวงปู่ก้าน ระบุไว้ว่า ท่านได้พบ “หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม ซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อมีโอกาสได้สนทนากันในข้ออรรถข้อธรรม ก็ถูกจริตนิสัยกัน จึงสนทนาธรรมกันอยู่เสมอ”

ทั้งสองรูปมีอะไรสนทนากันในเมื่ออีกฝ่ายตั้งหน้าตั้งตาไปปฏิบัติ ?

ในประวัติหลวงปู่ฉลวยมีบันทึกไว้เล็กน้อยว่า ตอนหนึ่ง หลวงพ่อก้าน กล่าวว่า “หลวงน้าฉันมื้อเดียว เคร่งไป ไม่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา”

หลวงปู่จึงตอบว่า “คุณก้าน ท่านว่าแม่น้ำมันเชี่ยวนั้น ท่านลองลงว่ายดูหรือยังว่ามันเชี่ยวหรือมันเบาขนาดไหน”

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่นิมนต์หลวงพ่อก้านมาฉันน้ำร้อนและสนทนาธรรม ตอนหนึ่ง หลวงปู่กล่าวว่า “คุณก้าน ลองหาดูวิญญาณซิ” หลวงพ่อก้านจึงนั่งสมาธิพิจารณาสักครู่ จึงตอบว่า “หาไม่เจอ”

จากความนี้ย่อมสันนิษฐานได้ว่า พระก้านในขณะนั้นมิได้เป็นแต่ครูสอนนักธรรม แต่เป็นครูที่ดียิ่งคือปฏิบัติเคียงคู่ไปกับปริยัติ

ถ้าพิจารณาจากสภาวธรรมของข้างใดข้างหนึ่งก็พอจะคาดเดาได้ว่า นอกจากความเหล่านั้นแล้ว ทั้งสองท่านจะสนทนาอะไรกันอีก

ตามประวัติที่ปรากฏ ณ กุฏิหลังเล็ก ๆ พื้นเป็นไม้กระดาน ๕ แผ่น หลังคามุงสังกะสี ในป่าช้าวัดยมนี้เอง หลวงปู่ก้านได้ลิ้มรสแห่งธรรมะ

“…อธิษฐานจิตบูชาคุณของพระพุทธเจ้า และได้เกิดขึ้นที่ใจว่า “เมื่อมีความอยากได้ อยากถึงอยู่ในใจ ความอยากก็จะกันปัญญาเสียหมด” ดังนั้น ท่านจึงอธิษฐานจิตว่า “โสดา สกทาคา อนาคา อรหันต์ ข้าพเจ้าไม่ต้องการ สมาธิ สติ ปัญญาก็ไม่ต้องง้อ เมื่อทำไปถูกต้องแล้ว ก็มีเอง”

เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว หลวงปู่ก็ตั้งหน้าทำความเพียรต่อไป ทำกัมมัฏฐาน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก จนเกิดขึ้นที่ใจเองว่า กัมมัฏฐานนี้ยาวไป เขาก็ย่อเองเป็น “เข้มแข็งธาตุดิน เหลวธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม” ยังไม่ทันเป็นอนุโลม ก็มองเห็นกระดูกภายในร่างกายบริเวณศีรษะถึงคอ เมื่อทำต่อไป เกิดขึ้นครั้งที่สอง ก็มองเห็นกระดูกภายในไปถึงครึ่งตัว เมื่อทำต่อไป เกิดขึ้นครั้งที่สาม ก็มองเห็นกระดูกภายในหมดทั้งตัว เมื่อถึงจุดนั้นไม่มีอะไรเลย ทั้งตัวผู้พิจารณาก็หายไปที่นั้นเอง

เมื่อถอนออกแล้ว หลวงปู่ก็ทำความเพียรต่อไป เกิดดำริว่าจะพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ก็เกิดขึ้นที่ใจว่า ยังไม่ควร หลวงปู่ก็ทำกัมมัฏฐานต่อไป หันมากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จนลมหายใจไม่เข้าไม่ออก ทำจนกระทั่งสามารถบังคับลมหายใจ ให้เข้าไปแล้วไม่ออกมาก็ได้ ออกไปแล้วไม่เข้าก็ได้…”

ด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิบัติของหลวงปู่ฉลวยนั้นเอง เมื่อท่านได้พบกับเจ้าของน้ำอบนางลอยชื่อ “กิมเฮียง” ซึ่งเปิดกิจการอยู่หน้าวัดเทพธิดาราม จึงได้สนทนากันเรื่องการปฏิบัติของสำนักต่างๆ และโยมกิมเฮียงนี่เองที่ชักชวนท่านร่วมคณะไปร่วมทอดกฐินที่ วัดหนองผือ จ.สกลนคร

เป็นเหตุให้ท่านได้พบและฝากตัวรับการอบรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๑๘ วัน เป็นครั้งแรก

หลังจากกลับจากอีสานแล้วธุดงค์มายังแถบ จ.เพชรบุรี ได้ไม่นาน ท่านก็ยกคณะกลับไปบ้านหนองผือ หาพระอาจารย์มั่นอีกครา

“…หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระสายบัว พระทองม้วน จึงเข้าไปยังวัดหนองผือ เมื่อเข้ามาในวัดหนองผือแล้วก็ไปยังกุฏิของหลวงปู่มั่น เมื่อพบหลวงปู่มั่น ท่านก็ทักขึ้นก่อนว่า “อ้าว ฉลวย มาอีกแล้ว ไม่กลัวตายหรือ”

“ครับ กระดูก ๓๐๐ ท่อน ตายตรงไหน ก็ทิ้งมันตรงนั้นแหละครับ” หลวงปู่ตอบ

หนนั้นอยู่จนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา ท่านจึงจากพระอาจารย์มั่นมาและร่วมกันก่อตั้งวัดโนนภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ขึ้นเป็นที่จำพรรษา

ต่อมาวัดแห่งนี้มี พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน มาเป็นเจ้าอาวาส และเป็นที่พักของคณะที่นำพระอาจารย์มั่นมาพัก ระหว่างออก เดินทางจากวัดหนองผือ เพื่อไปละขันธ์ที่วัดป่าสุทธาวาสในปี พ.ศ.๒๔๙๒

ระหว่างสร้างวัดนั้น โยมกิมเฮียงได้รับเป็นเจ้าภาพสร้างพระประธานถวาย หลวงปู่ฉลวยและหลวงปู่ก้าน ได้ไปรอรับพระประธานที่จะส่งมาจากกรุงเทพฯ ทางรถไฟอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ทั้งสองรูปได้ญัตติกรรมใหม่เป็นพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๑ เมื่อเวลา ๒๐.๔๒ น. โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่ฉลวยได้รับนามฉายาว่า “สุธมฺโม” ขณะหลวงปู่ก้านได้รับฉายาว่า “ฐิตธมฺโม

หลังจากนั้นทั้งสองรูปจำพรรษาอยู่ที่วัดกลางโนนภู่อีก ๑ พรรษา ระหว่างนั้นหลวงปู่ฉลวย จะนิมิตเห็นภาพเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยาอยู่หลายหน พอออกพรรษาแล้ว ท่านจึงพา หลวงปู่ก้านและเณรอีกรูปจาริกกลับมายังพระนครศรีอยุธยา

ทั้งสองท่านได้ช่วยกันดูแลและบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคลซึ่งถูก ทิ้งร้างมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่สองขึ้นใหม่ และที่นี่เองที่หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้จาริกมาอยู่ร่วมปฏิบัติด้วยกัน เป็นเหตุให้ท่านทั้งหมดนี้มีสัมพันธ์และเกื้อกูลกันมาตลอดชีวิต ในยามอายุมากแล้ว หลวงปู่ฉลวย ยังเคยไปจำพรรษาที่ถ้ำแสงเพชรซึ่งเป็นหนึ่งในวัดสาขาหนองป่าพง ถึง ๒ พรรษา โดยบอกว่าเป็นการใช้คืน หลวงปู่ชา ที่ครั้งอดีตเคยมาร่วมจำพรรษาอยู่กับท่าน และ หลวงปู่ก้าน ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ดังที่กล่าวนี้

ปี พ.ศ.๒๕๐๐ หลวงปู่ฉลวย จึงพาคณะซึ่งแน่นอนว่า รวมทั้งหลวงปู่ก้าน จาริกมาถึงหัวหินและพบถิ่นที่ได้สถาปนาขึ้นเป็นวัดเขาต้นเกดในปัจจุบัน ครั้งสร้างวัดขึ้นแล้ว ท่านได้ให้หลวงปู่ก้าน เป็นเจ้าอาวาส ขณะที่ท่านก็จรไปที่โน่นนี่กว่า ๒๕ ปี จึงไปตั้งวัดป่าวิทยาลัย ช่วงเวลานั้นจนกระทั่งหลวงปู่ฉลวย มรณภาพ หลวงปู่ก้านก็ได้ติดตามไปดูแลอุปฐาก หลวงปู่ฉลวย อยู่เป็นนิตย์

หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม วัดราชายตนบรรพต เขาต้นเกตุ

หลวงปู่ก้าน เป็นพระมหาเถระซึ่งดำรงอยู่ในวิถีแห่งพระสุปฏิปันโน ท่านเป็น รัตตัญญู ผู้ใดได้ไปกราบสักการะและฟังธรรมท่าน แล้วล้วนซาบซึ้งใจ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีเมตตา เป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ที่เป็นสงฆ์และฆราวาส หลังจากที่สร้างวัดเพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่และเป็นของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปแล้ว หลวงปู่ก้านก็ไม่เคยย้ายไปอยู่ที่วัดอื่นใดอีกเลยจนกระทั่งมรณภาพ

ปัจจุบัน หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม วัดราชายตนบรรพต (วัดเขาต้นเกด) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๑๘ น. สิริอายุ ๑๐๐ ปี พรรษา ๗๙

หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม
หลวงปู่ก้าน ฐิตธมฺโม
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม วัดราชายตนบรรพต เขาต้นเกตุ

โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม
“…เราเป็นลูกเราเกิดมาได้อย่างไร เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ใช่ไหม การที่เราเป็นตัวเป็นตนมาได้ ก็เพราะเราเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่ใช่ไหม เรามีแต่วิญญาณ ร่างกายเป็นของพ่อของแม่ ดังนั้นเวลาที่เราไปไหนมาไหน ก็ให้คิดเสมอว่า เราไม่ได้ไปเพียงลำพังคนเดียว เราไปกันสามคน เราเอาพ่อเอาแม่ไปด้วย เอาเงาไปด้วย เงาก็คือบุญบาปนั่นเอง จะทำอะไรต้องคิด ว่าเราทำไปแล้วเป็นเรื่องผิดเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องที่ต้องได้รับความเดือดร้อนไหม ถ้าเป็นเรื่องผิด เรื่องไม่ดี เรื่องเดือดร้อน พ่อแม่ของเราก็จะได้รับไปด้วย นั่นเท่ากับเราทำบาปให้กับพ่อแม่ แต่ถ้าเราหมั่นแต่ทำสิ่งที่ดีงาม พ่อแม่ก็จะได้รับสิ่งที่ดีงามไปกับเราด้วย นั่นเรียกว่าเราทำบุญให้กับพ่อแม่ ก็ขอให้ลูก ๆ ทุกคนรู้จักคิดให้ดี…”

พระอินทร์กับหนอนในส้วม
“…ครั้งหนึ่งมีพระอินทร์คิดถึงเพื่อนรักเมื่อชาติก่อนว่าขณะนี้ไปเกิดเป็นอะไร อยากจะชวนมาอยู่ด้วย เพื่อนรักจะได้ไม่ลำบาก พระอินทร์ จึงจับยามสามตาก็รู้ว่าเพื่อนรักไปเกิดเป็นหนอนอยู่ในส้วม พระอินทร์เห็นว่าเพื่อนกำลังได้รับความลำบากจึงเนรมิตกายลงมาหาเพื่อน แล้วเอ่ยปากชวนให้เพื่อนที่เป็นหนอนไปอยู่ด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่า “…เพื่อนเอ๋ยไปอยู่กับเราเถอะ อยู่อย่างนี้มันลำบาก อยู่อย่างเราแสนสบายอยากได้อะไรก็เนรมิตเอา พริบตาเดียวก็ได้แล้ว…

เมื่อได้ยินดังนั้น เจ้าหนอนในส้วมก็ตอบไปว่า เราไม่ไปอยู่กับท่านหรอก เพื่อนเอ๋ย เพื่อนยังลำบากกว่าเรา เพื่อนอยากได้อะไร เพื่อนยังต้องเนรมิต แต่เราไม่ต้องออกแรงเลยละเนรมิต ถึงเวลาก็มีคนเอามาให้เอง แล้วอย่างนี้ใครมันจะสบายกว่ากันเล่า

ที่หลวงปู่เล่าเรื่องนี้ก็เพราะต้องการสอนให้รู้ว่า บางทีคนเราก็ต่างคนต่างความคิด เราคิดว่าความคิดของเราถูก แต่บางคนเขาอาจจะคิดว่าความคิดของเขาถูกกว่าเราก็เป็นไปได้ อย่างเช่นเรื่องพระอินทร์กับหนอนในส้วม หนอนเขาพอใจในอัตภาพของเขา เพราะคิดว่าที่ๆ เขาอยู่นั้นดีกับเขาแล้ว เป็นต้น…”