ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่กวง โกสโล
วัดป่านาบุญ
อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
หลวงปู่กวง โกสโล ท่านเป็นพระเถระผู้มีบารมีธรรม มีปัญญาอันชาญฉลาด พาตนเองพ้นทุกข์วัฏฏะ ดุจแสงสว่างอันเกรียงไกร ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระบรมศาสดา สมควรแก่การกราบสักการะองค์หนึ่ง
หลวงปู่กวง ท่านเป็นศิษย์ผู้เปรียบเป็นมือขวารูปหนึ่งของหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร เดิมทีชีวิตฆราวาสของหลวงปู่กวง ค่อนข้างสบายและเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นลูกเศรษฐีร้านทองในจังหวัดลำปาง ท่านเป็นลูกคนจีน มีนามว่า “กวง” (光 , กวง , guāng) ในภาษาจีนมีความหมายว่า “แสงสว่าง ,รังสี ,รัศมี ,ความสว่างไสว” และชื่อไทยของท่านมีนามว่า “เกรียงไกร” แปลว่า “ยิ่งใหญ่ ,เก่งกล้า”
แต่ด้วยบารมีธรรมอันแก่กล้าอันเป็นทุนเดิมมาแต่เก่าก่อน ท่านจึงมองชีวิตทางโลกเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ท่านจึงเลือกหนทางอันหลุดพ้น และได้ออกบวชในบวรพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับฉายาว่า “โกสโล” แปลว่า “ผู้ฉลาด ,บารมีธรรม”
หลังจากบวชแล้ว ท่านจึงได้ไปศึกษาธรรม รับฟังข้ออรรถข้อธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่ทางภาคเหนือ ทั้งหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ,หลวงปู่ตื้อ อาจลธัมโม ,หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ,หลวงปู่แว่น ธนปาโล ,หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ และหลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร ผู้เป็นครูอาจารย์ชี้ทางธรรมจนทำให้ท่านพ้นทุกข์
โยมเตี่ย โยมแม่ของท่าน ยังคงไม่ลดละ ยังคงคาดหวังจะให้ท่านมาสืบทอดวงศ์สกุล และดูแลกิจการร้านทองของครอบครัว จึงได้ไปเฝ้าพระลูกชาย อ้อนวอนให้สึกหาลาเพศ แต่หลวงปู่กวง มองเห็นประตูธรรมอันส่องสว่างไสวอยู่ต่อหน้าแล้ว จึงไม่ได้ทำตามคำขอของโยมเตี่ย โยมแม่ แต่กลับออกธุดงค์รุกขมูลไปยังป่าเขาสถานที่อันกันดารขึ้นไปอีกคือ บนยอดเขาดอยอ่างขาง อยู่ปฏิบัติธรรมในสถานที่เหน็บหนาว ออกภิกขาจารกับชาวเขาชาวดอย อาหารบิณฑบาตแค่เพียงคบฉัน ซึ่งแต่เดิมนั้นดอยอ่างขางขาดความเจริญมาก แต่ด้วยอาศัยใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ช่วยให้ชาวเขาชาวดอยเลิกปลูกฝิ่น และมาปลูกพืชเมืองหนาวแทนดั่งที่เราทราบกัน
แม้นปัจจุบันนี้ ดอยอ่างขางก็ยังคงไปมาไม่สะดวกนัก ด้วยอยู่บนเทือกเขาภูสูงเส้นทางคดชัน เรียกได้ว่า หลวงปู่กวง เป็นผู้บุกเบิกสถานที่ปฏิบัติธรรมบนดอยอ่างขางเป็นรูปแรกเลย เพราะท่านอยู่ที่นั่นราวๆ ๑๒ ปี(หากแอดมิน เอ ท่องถิ่นธรรมจำไม่ผิดนะครับ ถ้าผิดก็กราบขออภัยด้วย) ท่านมีเพื่อนสหธรรมมิกที่เที่ยววิเวกไปตามป่าเขาบนดอยสูงด้วยกัน เช่น หลวงปู่เสถียร คุณวโร แห่งวัดถ้ำพระภูวัว จ.บึงกาฬ ,หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล วัดภูถ้ำพระ จ.ยโสธร (ภายหลังท่านย้ายมาวัดป่าอนาลโย จ.นครปฐม) และหลวงปู่ประสงค์ สุสันโต วัดใหม่เขาปูน จ.อุทัยธานี ศิษย์ร่วมอาจารย์หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญฺญมากโร ผู้เปรียบเหมือนแขนซ้ายของหลวงปู่ประสิทธิ์อีกรูป เวลาหลวงปู่กวง ท่านเที่ยวธุดงค์ ท่านว่าท่านจะเดินอย่างเดียว ไม่กล้าขึ้นรถ เพราะเป็นการแสดงความเคารพในธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่สั่งสอนท่านมา
ภายหลัง หลวงปู่กวง โกสโล ได้มาอยู่พำนักร่วมสร้างวัดปฏิบัติธรรมในสถานที่ใกล้ๆ กับวัดป่าหมู่ใหม่ของหลวงปู่ประสิทธิ์ คือวัดป่านาบุญ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านได้ตอบแทนบุญคุณโยมเตี่ย โยมแม่ท่านให้ได้ทำบุญ ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมตามกาลสมควร
ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๓) หลวงปู่กวง ท่านมีอายุครบ ๘๓ ปี มีพรรษา ๕๕ แล้ว โยมเตี่ย และโยมแม่ท่านก็สิ้นไปหมดแล้ว ถือว่าท่านทำหน้าที่บุตรอันสุดประเสริฐอย่างดีแล้ว หลวงปู่กวง ท่านได้อยู่เป็นร่มโพธิธรรมสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญ เป็นครูอาจารย์สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทั้งทางใกล้ทางไกลด้วยความเมตตา ในช่วงเย็น ท่านจะพาสวดมหาสมัยสูตรและบทแผ่เมตตาใหญ่ คาถาเมตตาหลวง เพื่ออุทิศบุญความร่มเย็นให้แก่สรรพสัตว์โดยไม่มีประมาณ ท่านยังคอยอบรมสั่งสอนธรรมแก่ผู้มาเยือนอย่างเป็นกันเอง เช่น ท่านสอนว่า…
” ให้ภาวนาพุทโธไปเรื่อย ๆ แต่ให้ติดต่อกันนั่นแหละก็จะได้ เราเคยทำมันมาอย่างนั้นแล้ว ความรู้ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น เราไม่หนีพุทโธ ตั้งใจจ้องดูอยู่อย่างนั้น ทีนี้มันก็เกิดรู้สิ พุทโธมันเป็นตัวอย่างไง ก็ถึงจะมาปล่อยวางกิเลส..”
ท่านใดที่เคยได้ไปกราบสักการะหลวงปู่ ท่านจะเห็นจริงดังคำพูดของแอดมิน เช่น เรื่องการเลี้ยงกาแฟสด ที่ท่านใดมาที่วัด หลวงปู่ก็จะให้ลูกศิษย์ชงเลี้ยงแจกจ่ายแขกผู้มาเยือนอย่างไม่อั้น ท่านว่าใครมาวัดป่านาบุญ ถ้าไม่ได้มาจิบกาแฟ ถือว่ามาไม่ถึง อีกทั้งการพิมพ์หนังสือธรรมะของพ่อแม่ครูอาจารย์เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ที่สนใจใฝ่ธรรม เป็นการให้ธรรมะเป็นทานอย่างน่านับถือยิ่ง
ปัจจุบัน หลวงปู่กวง โกสโล เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๘๓ ปี พรรษา ๕๕ (พ.ศ.๒๕๖๓)
โอวาทธรรทคำสอนหลวงปู่กวง โกสโล
“..คนเราเข้าใจผิด คิดว่าพอแก่แล้วจะสบาย ความจริงมีแต่ทุกข์ที่รออยู่ตลอดสาย พอแก่แล้วก็เจ็บนั่นเจ็บนี่ ยังอยากจะมาเกิดกันอีกหรอ..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน