ประวัติและปฏิปทา
หลวงปูกง โฆสโก
วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
อ.เมือง จ.สกลนคร
พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปูกง โฆสโก) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร เป็นผู้นำในการ สร้างและพัฒนาสำนักสงฆ์ภูเพ็ก ให้เป็นวัดพระธาตุภูเพ็กในปัจจุบัน นับเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปีที่หลวงปู่กงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ นับตั้งแต่ครั้งที่ภูเพ็กยังไม่มีใครรู้จัก หลวงปู่นำพาญาติโยมถากถางดงป่าจนเป็นถนนขึ้นภูเพ็ก และสร้างบันไดขึ้นสู่พระธาตุ และได้สร้างกุฏิ ศาลา เป็นสถานที่ทำกิจกรรมของพุทธศาสนิกชน รวมถึงขอถนนคอนกรีตขึ้นภูเพ็ก เป็นต้น
◎ ชาติภูมิ
พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปูกง โฆสโก) นามเดิมชื่อ กง รัตนะ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายบุญมี และมารดาชื่อ นางพัน
◎ บรรพชา อุปสมบท
เมื่อล่วงเข้าวัย ๑๓ ปี ท่านได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ณ วัดโพธิ์ชัย ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูพรรณานิคมมุณี วัดโพธิ์ชัย ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์
และเมื่อถึงวัยอันควรแก่การอุปสมบท ท่านก็เข้ารับการอุปสมบท เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ วัดโพธิ์ชัย ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูพรรณานิคมมุนี วัดโพธิ์ชัย ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกว่า สุมโน วัดป่ากลางโนนภู่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระกู่ ธมฺมทินฺโน วัดป่ากลางโนนภู่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เนื่องจากในยุคนั้น ยังไม่มีการแยกสังฆกรรมกันระหว่างธรรมยุติกับมหานิกาย ในการอุปสมบทของหลวงปู่กงจึงมีพระคู่สวดเป็นธรรมยุติ คือ พระอาจารย์กู่ และ พระอาจารย์กว่า ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในขณะที่พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นมหานิกาย หลวงปูกง โฆสโก ท่านจึงถือญัตติมหานิกายตามพระอุปัชฌาย์ของท่าน
และการที่ท่านมีพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ที่นับว่าเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเป็นพระฝ่ายธรรมยุตินั้น ทำให้ภายหลังการอุปสมบทแล้ว หลวงปู่กงได้เดินทางไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษากรรมฐานจาก หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จวบจนหลวงปู่มั่น ถึงแก่มรณกาล ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒
วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในช่วงห้าพรรษาสุดท้ายก่อนมรณกาลของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ คราคร่ำไปด้วยพระ เณร ฆราวาส ที่มาจากทั่วทุกสารทิศ ต่างก็มุ่งมาด้วยจุดหมายเดียวกัน คือเพื่อขอรับธรรมะรับการอบรมกรรมฐานจากองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่กง โฆสโก หรือ พระเทพวิสุทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร วัดพระธาตุเชิงชุม ท่านได้เล่าไว้ว่า ภายหลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้วก็ได้เดินทางเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ขอรับการอบรมกรรมฐานจากองค์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่เนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือในห้วงเวลานั้น มีพระสงฆ์ สามเณร รวมถึงฆราวาส พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนับร้อยคนขึ้นไป ท่านจึงมิได้พำนักประจำอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่ใช้การเดินทางไป-กลับ ด้วยการเดินเท้าผ่านเข้าไปทางป่าที่สมัยนั้นยังคงอุดมไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาชนิด
และเนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังคงมีทหารญี่ปุ่นคอยตรวจตรากีดกันอยู่ ท่านเล่าว่าไปทางหนึ่งก็เจอทหารญี่ปุ่น ไปอีกทางก็เจอเสือ การเดินทางไปวัดป่าบ้านหนองผือจึงต้องใช้ความระมัดระวังมาก แต่ในช่วงวันพระท่านจะเดินทางด้วยเท้ากับสหธรรมิกของท่านคือ หลวงปู่สังข์ (พระครูสังวรสมณวัตร วัดนิวาสสถาน บ้านกุดก้อม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร) เพื่อไปหาหลวงปู่มั่นด้วยกันอยู่เสมอ
หลวงปู่กง โฆสโก จึงนับว่าเป็นพระเถราจารย์ในฝ่ายมหานิกายอีกรูปหนึ่ง ที่เป็นศิษย์กรรมฐานสายตรงของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จอมทัพธรรมพระป่ากรรมฐาน เฉกเช่นเดียวกับ หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
หลวงปู่กง ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาภูเพ็กเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ตามคำสั่งและการสนับสนุนของ พระธรรมราชานุวัตร (หลวงปู่แก้ว อุทุมมาลา) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ที่คนนครพนมในยุคนั้นเรียกท่านว่า “ท่านพ่อ” กันทั้งจังหวัด
แต่เดิมพื้นที่บริเวณรอบๆ พระธาตุภูเพ็กนั้นยังเป็นป่าทึบ เต็มไปด้วยภัยอันตรายจากธรรมชาติสิงสาราสัตว์ หลวงปู่กงจึงได้นำพาชาวบ้านในเขตอำเภอพรรณานิคม และใกล้เคียงมาบุกเบิก ปรับพื้นที่ สร้างเป็นที่พักสงฆ์ขึ้นในบริเวณรอบๆ พระธาตุภูเพ็กบนยอดเขานั้นเอง โดยยังได้สร้างบันไดขึ้นสู่พระธาตุภูเพ็ก ตลอดจนวิหารพระ กุฏิสงฆ์ ที่พัก โรงครัว มากกว่า ๑๐ หลัง บนยอดเขาภูเพ็ก จนเมื่อบันไดคอนกรีตสร้างเสร็จใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่กงจึงได้สร้างศาลาโรงธรรมบริเวณตีนเขา ก่อนขึ้นบันได และยกฐานะจากที่พักสงฆ์ขึ้นมาเป็นวัดจนทุกวันนี้
สื่งก่อสร้างสุดท้าย ที่หลวงปู่กงได้สร้างไว้เป็นครั้งสุดท้ายที่ภูเพ็ก คือการสร้าง ลานธรรม ที่อยู่ข้างศาลาโรงธรรม ก่อนเดินขึ้นบันไดสู่พระธาตุภูเพ็ก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ลูกศิษย์ใกล้ชิดท่านได้เล่าว่า ปัจจัยที่ใช้ก่อสร้างลานธรรมนี้ เป็นปัจจัยก้อนสุดท้ายในชีวิตของท่าน ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒
◎ เกียรติคุณ
พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
◎ ตำแหน่งฝ่ายปกครอง
• พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็น เจ้าคณะอำเภอพรรณานิคม
• พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็น รักษาการเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร
• พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร
เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม
• พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร
◎ สมณศักดิ์
• พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ที่ พระครูพรรณานฤมิตร
• พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสกลธรรมคณี
• พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชศีลโสภิต วิสิฐคุณาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
• พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธาจารย์ ญาณวิสุทธิคุณ อดุลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
◎ มรณภาพ
พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่กง โฆสโก) หรือที่คนในอำเภอพรรณานิคมเรียกท่านว่า ญาปู่กง มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ โรงพยาบาลสกลนคร จังหวัดสกลนคร สิริอายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๖