วันอาทิตย์, 15 กันยายน 2567

หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ พระอริยสงฆ์ผู้มีปัญญาวุธชำแรกกิเลส

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ

วัดป่านานาชาติ
รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ
วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ “พระอริยสงฆ์ผู้มีปัญญาวุธชำแรกกิเลส”

หลวงตาน้อย ท่านมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร และเป็นลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ท่านทั้งสองเป็นสามเณรติดตามหลวงลุง คือหลวงปู่สิงห์ทอง ไปศึกษาธรรมกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และได้เคยไปศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่เพียร วิริโย จนกระทั้งไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล

หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ นามเดิมท่านชื่อ “คำพอง” ถือกำเนิดในสกุล “จันได” เป็นบุตรของพ่อดอน และแม่บุญหนา เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ปีขาล ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา (เทียบจากปฏิทิน ๑๐๐ปี : อ้างอิงจากหนังสือประวัติคู่ธรรม กรรมฐาน หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ – หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม) ณ บ้านศรีฐาน ต.กระจาย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ บ้านศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร)

๐ บ้านศรีฐาน ถิ่นกำเนิดพระอริยเจ้า
บ้านศรีฐาน” เป็นดินแดนอริยภูมิ ที่มีพระอริยสงฆ์ฝ่ายกรรมฐานถือกำเนิดที่นี่หลายรูป โดยเฉพาะในเขตป่าติ้ว ครูบาอาจารย์ได้ถือกำเนิดเป็นจำนวนมาก ราวปี พ.ศ.๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล พร้อมด้วยคณะพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ออกเที่ยวจาริกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมและเผยแผ่พระศาสนา กระทั่งได้มาถึงหมู่บ้านศรีฐานใน ท่านทั้งสองเกิดความพอใจบริเวณดอนปู่ตา เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการภาวนา พร้อมทั้งยังได้เทศนาสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผี แล้วหันมาพึ่งคุณของพระรัตนตรัยแทน และให้เข้าใจวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐาน ภายหลังประชาชนจึงเกิดความเลื่อมใสขึ้น ทั้งยังได้พร้อมใจกันถวายดอนปู่ตาให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา และได้เรียกกันว่า “วัดป่า”

หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)

ในขณะนั้นวัดศรีษะเกษซึ่งเป็นวัดเดิม ไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ชาวบ้านจึงเห็นควรว่าให้รวมวัดเดิมกับวัดป่าให้เป็นวัดเดียวกัน เพราะมีเขตติดต่อกันเพื่อสะดวกต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งวัดที่เกิดใหม่นี้ ชาวบ้านได้เรียกกันว่า “วัดป่าศรีฐานใน” มาจนถึงปัจจุบันนี้

วัดป่าศรีฐานใน จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของศรัทธาญาติโยมชาวบ้านศรีฐาน และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นมา นับตั้งแต่คณะพระกรรมฐานซึ่งนำโดยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ให้การอบรมธรรมะแก่ชาวบ้านในครั้งนั้นเป็นต้นมา จากนั้นได้มีลูกหลานชาวบ้านศรีฐานออกบวชประพฤติปฏิบัติภาวนาสืบๆกันมาเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่า “บ้านศรีฐาน” เป็นถิ่นกำเนิดนักปราชญ์โดยแท้

ครูบาอาจารย์ในสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เป็นคนบ้านศรีฐาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของสาธุชน อาทิ หลวงปู่บุญช่วย ธัมมวโร วัดศรีฐานใน จ.ยโสธร , หลวงปู่สอ สุมังคโล วัดศรีฐานใน จ.ยโสธร , หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร , หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี , หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู , หลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร , หลวงตาสรวง สิริปัญโญ วัดศรีฐานใน จ.ยโสธร , หลวงปู่บุญมา สุชีโว วัดป่าสามัคคีสิริมงคล จ.หนองบัวลำภู , หลวงตาคำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ วัดป่านานาชาติ สหรัฐอเมริกา , หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร เป็นต้น

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)

บ้านศรีฐานนี้ เป็นบ้านใหญ่มาก ไม่ค่อยรู้จักกัน อย่างหลวงตาสรวง ก็มารู้จักกันตอนบวช บ้านศรีฐานเป็นบ้านใหญ่ ขนาด ๗๐๐ หลังคาเรือนนะ อาตมาอยู่บ้านศรีฐานนอก ส่วนหลวงปู่สิงห์ทอง ท่านอยู่บ้านศรีฐานใน อยู่คนละมุมหมู่บ้าน บ้านศรีฐานนอก อยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนบ้านศรีฐานใน อยู่ทางทิศตะวันตก แต่ก็เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เราก็ไปแต่วัดศรีฐานนอก ซึ่งเป็นวัดมหานิกายก็ไปถวายจังหัน ถวายเพลอยู่แทบทุกวัน เดินตามพ่อแม่ ปิ่นโตใส่แขนทางซ้าย ๒ ปิ่นโต ทางขวาอีก ๒ ปิ่นโต เดินตามท่าน อายุ ๕ ถึง ๖ ขวบ แม่ให้ไปวัด เราเป็นคนเชื่อฟังพ่อแม่นะ เดินตามพ่อแม่ไป สมัยเด็กท่านตัวเล็กกว่าพี่น้องคนอื่น พ่อแม่ท่านจึงเรียกว่า “น้อย” ซึ่งองค์ท่านเป็นญาติมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับหลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร และหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม โดยโยมมารดาท่านทั้งสามคนเป็นพี่น้องกัน และบวชเป็นแม่ชี ถวายตัวเป็นศิษย์ของคุณย่าชีแก้ว เสียงล้ำ เจดีย์บรรจุอัฐิของคุณแม่ชีทั้งสาม ตั้งอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพล ใกล้กันกับเจดีย์คุณย่าชีแก้ว เสียงล้ำ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นั่นเอง

๐ โยมมารดาของพระเถระทั้งสามรูป มีรายนามดังนี้
๑. คุณแม่ชีอบมา ไชยเสนา โยมมารดาของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร (ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

๒.คุณแม่ชีบุปผา เข็มเพ็ชร โยมมารดาของ ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม (ถือกำเนิดเมื่อวันพุธที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ) วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

๓.คุณแม่ชีบุญหนา จันทร์เหลือง โยมมารดาของ ท่านพระอาจารย์คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ (ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๒ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล) วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

๔.นอกจากพี่น้องแม่ชีทั้งสามนี้แล้ว ยังมีหลวงปู่ทองสี กตปุญฺโญ วัดป่าสุทธิมงคล อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพระน้องชายของแม่ชีทั้งสามท่านนี้ และมีศักดิ์เป็นหลวงลุงของพระอาจารย์ทั้งสามท่านอีกด้วย ปัจจุบันหลวงปู่ทองสี กตปุญฺโญ ละสังขารแล้วและกระดูกก็แปรเป็นพระธาตุด้วย

๐ คู่ธรรม กรรมฐาน
อาจารย์อุ่นนี่ (หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม) บ้านอยู่ติดกันนะ เรียนก็เรียนด้วยกัน เล่นก็เล่นด้วยกัน โตขึ้นมาด้วยกัน บ้านอยู่ห่างไม่กี่สิบเมตร ไปไหนก็ไปด้วยกัน พอเลิกเรียนแล้วไปทุ่งนาด้วยกัน ไปเลี้ยงควายด้วยกัน ออกจากพ่อตระกูลเดียวกัน บวชก็บวชด้วยกัน บวชแล้วอยู่กุฏิใกล้กัน เกิดก็ไล่ๆ กัน อาจารย์อุ่นท่านเกิดหลังอาตมา ๓ เดือน

๐ ถ้าอุ่นบวช กูต้องบวช
ประเพณีของบ้านศรีฐาน พออาตมาเรียนจบชั้น ป.๔ แล้วต้องออกบวช โยมแม่อาตมาท่านว่า “มึงออกจากโรงเรียน จบแล้วมึงต้องบวชนะ” ตอนนั้นอาตมาก็ไม่ได้คิดอยากบวชนะ พอดีหลวงลุง ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร ท่านกลับมาเยี่ยมบ้านที่ศรีฐาน แม่ของหลวงลุง แม่ของท่านอาจารย์อุ่น แม่ของอาตมา ได้ไปทำบุญกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง พอกลับบ้านมาโยมแม่ก็เรียก “น้อยๆ บักอุ่น มันจะบวชแล้วนะ”
ทางบ้านเรียกท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า “ญาครู” “ญาครูท่านมา บักอุ่นมันจะไปบวชตามญาครูท่านแล้วเด้” อาตมาก็ “โอ๊ะ..ถ้าอุ่นบวชกูต้องบวช” ตัดสินใจบวชทันทีเลยซิเพราะเป็นเพื่อนสนิทกันมากเลย

๐ บรรพชาเป็นสามเณร
ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเพราะโยมแม่ขอร้อง เมื่ออายุ ๑๓ ปี ญาติได้พาไปฝากตัวกับหลวงปู่บุญช่วย ธัมมวโร เจ้าอาวาสวัดศรีฐานใน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ ณ วัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร (วัดของหลวงตาสรวง สิริปุญฺโญ ปัจจุบัน) โดยมีพระครูสมุห์บุญสิงห์ วัดศรีธรรมมาราม จ.ยโสธร เป็นพระอุปัชฌาย์

เฮาบวชนี่ตอนอายุ ๑๓ ย่างเข้า ๑๔ นี่ เป็นเณรตัวยังไม่ใหญ่นะ บิณฑบาตตามก้นหมู่เพื่อนอยู่หางแถวเลย วันนั้นออกบิณฑบาตวันแรก ผ้าสบงหลุดเลย จีวรหลุดเลย บวชใหม่ ๆ ต้องเอาบาตรไปห้อยแขวนไว้ที่เสารั้วข้างทางก่อน แล้วมานุ่งสบงห่มคลุมจีวรให้กันก่อน ก็เพิ่งบวชใหม่ ๆ แล้ววันนั้นพระเณรก็เยอะมาก พระข้างหน้าก็ไม่ได้ดูข้างหลัง พระข้างหน้าก็เลยเดินไปเลย ทิ้งเณรข้างท้ายไว้ โอ้ย อายมากตอนนั้น เลยไม่ฉันจังหัน ไม่กินข้าวเลย อายมาก นี่เป็นเณรอยู่หางแถว บางวันบิณฑบาตก็ได้กล้วย บางวันก็ได้อาหาร เราก็ยังมีญาติ มีโยมแม่มาใส่บาตรให้ แม่ก็ซ่อนไว้ในกระติบข้าว มีปลา มีแจ่ว มีพริก พอลูกเดินบิณฑบาตมาถึง ก็เอาออกมาใส่บาตรให้เณรลูกชาย ก็พอประทังธาตุขันธ์ เป็นเณรน้อยอยู่หางแถวเลย

ปี ๒๔๙๕ อาตมาจำพรรษาและเรียนหนังสือด้วยกันกับอาจารย์อุ่นหล้า อยู่ที่บ้านศรีฐานใน ไปอยู่เป็นเณร อยู่ไป ๆ ก็คุ้นเคยกับหมู่เพื่อนเณรรุ่น ๆ เดียวกัน ก็สนุกสนาน ความคิดที่จะสึก ก็ค่อย ๆ จืดจางหายไป ก็เรียนนักธรรมตรีกัน แล้วก็สอบได้นักธรรมตรีในปีนั้น

พระครูมงคลญาณ หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย) 

๐ เดินจงกรมครั้งแรก
หลวงปู่บุญช่วย ธัมมวโร ท่านเป็นอาจารย์องค์แรกที่อยู่บ้านศรีฐานใน บวชเณรมาพรรษาแรกก็เรียนหนังสืออย่างเดียว มีแต่หลวงปู่บุญช่วย ท่านสอนปฏิบัติ “ภาวนาพุทโธๆ นะเณร” เวลา ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม ท่านเดินจงกรมเสร็จ เราก็ไปอุปัฐฐาก ไปนวดจับเส้นหลวงปู่บุญช่วย ท่านก็เล่าว่า พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดี ก็ได้ยินได้ฟังบ่อยมาก แต่ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่อง แล้วหลวงปู่บุญช่วย ท่านก็เดินจงกรมเป็นประจำ ท่านก็สอนให้เราเดินจงกรม “เณร เดินจงกรมนะ ให้เอาพุทโธๆ นะ” เริ่มหัดเดินจงกรมตอนเป็นเณร กุฏิของเราอยู่กลางป่า อยู่ในป่าช้า คนตายก็เอาไปเผาที่นั่น กลัวก็กลัวนะ แต่มันมีศรัทธา พออุปัฏฐากหลวงปู่บุญช่วยเสร็จ ก็ลงจากกุฏิท่าน เดินผ่านป่าช้าไปกุฏิตนเอง แทบจะวิ่งไปเลย กลัวผีไปถึงก็นอน แต่ถ้าท่านสั่งให้เดินจงกรม เราก็ต้องเดินจงกรมก่อนนะ

พอออกพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๕ แล้ว พ่อก็ถามว่า “จะสึกไหม จะซื้อกางเกงมาให้” ตอนนั้นบวชกันตั้งหลายคนนะ ตั้ง ๑๐ ถึง ๒๐ คนนะ พอเวลาบวช ก็ชวนกันบวช พอถึงเวลาออกพรรษา ก็ชวนกันสึกนะ เขาก็พากันสึก ก็อยากสึกอยู่นะ แต่สึกไม่ได้เพราะเป็นห่วงอาจารย์ ถ้าเราสึก ใครจะต้มน้ำร้อนให้ท่านสรง ให้ท่านฉัน ก็ถือว่าท่านเหมือนพ่อเลย รักท่านมากเลย พอพ่อจะซื้อกางเกงมาให้สึก ก็เลยบอก ” ยัง ๆ เดี๋ยว ๆ เอาไว้ก่อน ” คิดถึงอาจารย์ รักท่านมาก ต้มน้ำร้อน น้ำชาถวายท่าน พออยู่กับท่าน ท่านก็สงสารเมตตา ไปไหนก็เอาไปด้วย ตอนที่พ่อจะให้สึก ก็ไม่อยากสึกเพราะรักอาจารย์

๐ ตามครูบาแก้วไปภาวนาอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้า
ช่วงอยู่ที่บ้านศรีฐาน ก็ได้แต่เรียนหนังสืออย่างเดียว พระปฏิบัติมีแต่หลวงปู่บุญช่วยองค์เดียวที่ปฏิบัติภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม นอกนั้นมีแต่เรียนหนังสือ พอดีช่วงนั้นครูบาแก้ว ลูกศิษย์หลวงปู่บุญช่วย ท่านอยู่วัดท่าสองคอน อ.พรรณานิคม มาเยี่ยมครูบาอาจารย์ที่บ้านศรีฐาน

อาตมาเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ก็เลยขอหลวงปู่บุญช่วยท่าน จะขออยู่กับครูบาแก้ว ครูบาแก้วก็เลยพาธุดงค์ไปภาวนาอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม ไปบิณฑบาตนี่ระยะทางเดินก็ไกล ๓ กิโลเมตรนะ พอสว่าง ก็ออกบิณฑบาตไป มีคนใส่บาตรแค่ ๒ คนเท่านั้น เขาอยู่ที่เถียงนาอยู่ไร่ เขาทำตะแคร่เอาผ้าขาวปูสำหรับให้นั่งรอ เขาก็ตำข้าวกะจ๊อก ๆ โห น่าสงสาร ตำข้าวด้วยครกมอง ใช้เท้าเหยียบกระเดื่อง พอเราไปนั่งรอ เขาเห็นแล้ว เขาก็รีบล้างมือ แล้วเอากระติ๊บข้าวมาใส่บาตร มีอยู่ ๒ คนพี่น้องเท่านั้น ชื่อบ้านพ่อไท

พอบิณฑบาตเสร็จกลับ ก็ต้องถอดจีวรออก ร้อนมาก ข้างทางจะมีแต่ต้นบักม๊อบลูกดำๆ ลูกขนาดลูกมังคุด เนื้อ-เม็ดก็ดำ หอมหวาน กินกับข้าว ก็จะถอดจีวรออก แล้วก็ไปเก็บใส่ฝาบาตร ก็จะเก็บลูกม๊อบ เก็บผักตามข้างทางใส่ฝาบาตรไปด้วยทุกวัน

(ซ้าย) หลวงตาคำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ
(ขวา) หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

บางทีหลังจากสรงน้ำตอนเย็นแล้วขึ้นไปบนหลังเขาเจ้าผู้ข้า มันจะมีผักหนาม ผักตบ ผักอะไรก็เก็บมา ครูบาแก้วก็ว่า “เณรมาอยู่ที่นี้ ต้องปฏิบัติให้ดีนะ ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มากนะ” “ถ้าเณรคิดเรื่องโลกเรื่องสงสารนี่ จะวิบัตินะ ให้ตั้งใจปฏิบัตินะ” “เณรให้เอาธรรมปฏิบัติ คิดเรื่องพุทโธอย่างเดียวนะ ถ้ำนี้หากคิดเรื่องโลกเรื่องสงสาร จะวิบัติเลย”

ถ้ำนี้พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน พี่ชายพระอาจารย์กว่า สุมโน มามรณภาพอยู่ในถ้ำนั้น ถ้ำเล็กนิดเดียว ไปอยู่ที่นั่น ครูบาท่านก็อยู่ในถ้ำ ส่วนอาตมาก็อยู่ในเงิบหิน แล้วก็มีตะแคร่ข้างล่าง มีทางผ่าน แล้วก็เป็นเหว อาตมาก็นอนที่ตะแคร่นี้

๐ ดาบส ที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า
ที่ถ้ำนั้นมีคนหนึ่งชื่ออาจารย์แก้ว บวชนาน พอสึกไป เขาจะเรียกอาจารย์ในถ้ำเจ้าผู้ข้า พอคลานเข้าไป มันเป็นโพรงข้างใน พอพ้นศรีษะพอดี ก็จะอาราธนา พออาราธนาเสร็จ ก็จะได้ยินเสียงดาบส เสียงคนสักไม้เท้าดัง “ตึ้ก ๆ” เป็นดาบส ฤาษีนุ่งขาวห่มขาว บางครั้งพออาราธนาเสร็จ ก็ได้ยินเป็นเสียงเทศน์ มีคืนหนึ่ง เป็นคืนเดือนหงาย อาตมาได้ยินเสียงเดินมาจากทางถ้ำ อาตมาอยู่ที่เงิบหิน ถัดมาจากถ้ำเล็กน้อย ตรงนั้นพอจะกางกลดนอนได้พอดี อาตมาได้ยินเสียงเดิน ก็เลยคิดว่า เอ ครูบาแก้วมาเยี่ยมหรืออย่างไรหนอ ตอนนั้นประมาณ ๓ ทุ่มกว่า อาตมานั่งสมาธิอยู่ “อ้าว ไม่ใช่ครูบานี่” เป็นตาปะขาว เป็นดาบสนุ่งขาวห่มขาว ถือไม้เท้าหลังค่อม ๆ อายุประมาณ ๗๐ ถึง ๘๐ ปี เดินมา ก็รู้สึกทั้งกลัวทั้งสั่นเลย พอเห็นเท่านั้น ก็เลยหลับตาเข้าสมาธิแน่วไปเลย ดาบสเฒ่าก็ไม่ได้ทำอะไร ก็เดินผ่านไป

๐ ได้พบเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นแรงบันดาลใจ
ปี พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงปู่บุญช่วย พาสามเณรน้อย เดินทางไปวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เพื่อรำลึกวันมรณภาพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นปีแรกออกจากงานสามเพ็ง วัดป่าสุทธาวาส แล้วก็มาที่บ้านโนนภู่ แต่จำไม่ได้ ว่าเป็นงานอะไร แต่ครูบาอาจารย์มากันเต็มไปหมด พากันมากวาดลานวัด สะอาดสะอ้าน เดินไปตามวัด ในวัดป่าบ้านโนนภู่ เห็นทางจงกรม เห็นกลดท่านแขวนอยู่บนแคร่ใต้ร่มต้นไม้ เห็นท่านเดินจงกรม ก็ไปนั่งแอบดู ก็ชื่นชมศรัทธา คือดี คืองามแท้ อยากจะเดินจงกรม คืออยากจะเดินจงกรม นั่งสมาธิเหมือนท่าน จะทำยังไงหน๊อ คิด ทำยังไง กูถึงจะเป็นอย่างนี้ได้หน๊อ ทำยังไงถึงจะเป็นอย่างท่านได้ เห็นบาตรลูกใหญ่ ๆ เห็นกลด ” โห เกิดศรัทธา ” อยากได้มากเลย เห็นผ้าจีวรสีกรัก สีแก่นขนุนแก่ ๆ ” โห คืองามแท้ อยากได้จีวรแบบนี้ ” ผ้าจีวรเราตอนนั้นก็บาง ๆ สีเหลืองอ๋อย สีแบบพระมหานิกายนี่ล่ะ

เห็นหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านกวาดลานวัด หัวล้าน ๆ สีผ้าจีวรสีกรัก ที่บ้านภู่ไปงานครูบาอาจารย์ ไปพบหลวงปู่กว่า สุมโน เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ไปเห็นครูบาอาจารย์ ” โห ศรัทธามาก ” พอถึงเวลาบ่ายสามโมงพากันกวาดลานวัดกันเต็มไปหมด เจ้าคุณธรรมเจดีย์ ก็ลงกวาดลานวัดด้วยนะ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่อ่อนก็กวาดด้วย สามเณรน้อย ได้พบหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ครั้งแรก และหลวงลุง ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ก็ได้อยู่กับหลวงตามหาบัวด้วย สามเณรน้อย เห็นหลวงตามหาบัว แล้วเกิดศรัทธา จึงขออนุญาตท่านพระอาจารย์หลวงปู่บุญช่วย ติดตามหลวงลุง และหลวงตามหาบัว กลับไปวัดป่าบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ระหว่างทางที่เดินธุดงค์ได้ไปพักอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ได้มีโอกาสกราบหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นครั้งแรก

๐ ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
สมัยอยู่กับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านเข้มงวดมาก ให้ปฏิบัติธรรมเดินจงกรมภาวนาตลอดไม่ให้หลับนอน จะยืนเดินนั่งหรือทำกิจนี่ ท่านห้ามมีเสียงดัง สำรวมระวังตลอด ประชุมสงฆ์ทุก ๆ ๗ วัน หลวงตาท่านเทศน์นานมาก กินใจมาก เหมือนนิพพานจะอยู่แค่เอื้อม สมัยอยู่วัดป่าห้วยทราย นอกจากหลวงลุงท่านพระอาจารย์สิงห์ทองแล้ว ยังมีหลวงปู่หล้า เขมปัตโต หลวงปู่เพียร วิริโย หลวงปู่ลี กุสลธโร และหลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม ก็บวชในปี พ.ศ.๒๔๙๗ นั้นด้วย อีกทั้งคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นต้น ท่านได้อยู่อุปัฏฐากหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน สมัยเป็นเณรและพระรวม ๖ ปี

๐ จิตสงบครั้งแรก
หลวงตามหาบัว ท่านเน้นเทศน์เรื่องทุกขสัจจ์ สัจธรรม ทุกขํ อนิจฺจํ อนตฺตา การเกิด แก่ เจ็บ ตาย การพลัดพรากจากกัน ช่วงนั้นท่านก็กำลังคิดถึงโยมพ่อโยมแม่อยู่ ท่านรักโยมทั้งสองมาก ห่วงว่าถ้าเราตาย พ่อตาย แม่ตาย ไม่ได้พบเจอกันอีกจะทำอย่างไร แต่พอฟังหลวงตาท่านเทศน์ไปๆ ใจมันก็พิจารณา มันทำไมเป็นอย่างงี้ โห มันจะต้องพลัดพราก จะทำอย่างไรดี ถึงเวลาตาย เราจะทำอย่างไร หลวงตาท่านก็เทศน์เรื่องสติ ต้องมีสติ ถ้าขาดสติก็ไม่ใช่ความเพียร เอาสติเป็นหลักแล้วก็พิจารณาทุกขํ อนิจฺจํ อนตฺตา นี่ท่านเทศน์ทุกวันๆ เราก็พิจารณา “โห ใจมันเข้าใจ มันหนีไม่พ้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันต้องพรัดพรากจากกันไป ได้ฟังก็พิจารณาตาม มันต้องทำใจ พอฟังไปๆ ยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเกิดศรัทธา ภาวนาก็สบาย พอเข้าใจภาวนาก็ลงง่าย สมาธิก็ปิ๊งเลย จิตรวมลงที่บ้านห้วยทรายนี้ ฟังเทศน์หลวงตามหาบัว จิตก็รวมลงเลย นั่งภาวนาไป มันก็เจ็บก็ปวด แต่ใจมันสบาย ใจมันสงบ แต่มันอดทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ จิตถอนออกมาแล้วก็ยังคิดประทับใจ อยากจะนั่งต่ออีก

๐ หลวงปู่เพียร วิริโย พาพิจารณาอสุภะ
ที่วัดห้วยทรายนี่ติดกับป่าช้าเผาผีนะ ถัดจากศาลาลงมาทางทิศใต้ ตรงออกมาทางหน้าวัดนั่นละ ทีนี้มีวันหนึ่งผู้หญิงคนนึงมันตาย ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี) ก็เรียกอาตมา “น้อยๆ” ก็ไปดูอสุภะกับท่านพระอาจารย์เพียร พากันไปตรงผีป่าช้าหน้าวัดได้ไม้มาก็เอาไม้แทงท้องศพขี้กะตืกก็ไหลออกมา พยาธิตัวตืดไหลออกมา ตอนนั้นกำลังไหม้อยู่ เห็นท้องพอง บวม พอง ไคอุ้งบุงอยู่ ไฟมันไหม้คอ แขน ขาแล้วนะ เขาเอาศพวางบนกองฟืนหน่ะ แต่ตรงท้องมันมีน้ำมีมันอยู่เยอะ มันก็ไม่ไหม้หมดอยู่ง่ายๆ นะ พอเผาแล้วขาแข้งก็หลุดออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน หัวกระโหลกแตก “ปั้ง” เสียงดังเลย บางทีก็ไส้แตกออกมา อาตมาก็ได้ดูอสุภะอยู่เรื่อยๆ เพราะมันตายอยู่เรื่อยๆ ทุกวันนี้มันหาดูได้ยาก มันเอาเข้ากองอิฐ เข้ากองปูน มันก็ไม่ได้เห็นซากศพ เผาเสร็จก็ไม่เหลือซากอสุภะให้ได้ดูอย่างแต่ก่อนแล้ว

๐ เรื่องเล่าจากบ้านห้วยทราย
เรื่อง พันธุลกับองค์ธรรม
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เคยเล่านิมิตถวายหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดยางระหง โดยมีพระกาย กุศลธมฺโม นั่งฟังอยู่ด้วยว่า
” เมื่อครั้งพุทธกาลนั้น คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ คือนางมัลลิกา และองค์หลวงตา คือ พันธุลเสนาบดี นางมัลลิกาหลังจากแต่งงานกับพันธุลแล้ว ก็ไม่มีบุตรเสียที จึงจะลากลับบ้านเมืองกุสินาราบ้านเกิด ก็เลยไปกราบลาพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงให้รอก่อน อย่าเพิ่งไป หลังจากนั้นไม่นาน นางมัลลิกาก็ตั้งครรภ์ แล้วก็ได้คลอดบุตรเป็นลูกชายทั้งหมด เป็นแฝด ๑๖ คู่ ๓๒ คน โดยมีลูกชายคนเล็ก ซึ่งในชาติปัจจุบัน คือ หลวงปู่น้อย (คำพอง ปัญญาวุโธ) ซึ่งคุณแม่ชีแก้ว ก็จะเรียกหลวงปู่น้อยว่า “ลูกหล่า ๆ” ทุกครั้ง เพราะเคยเกิดเป็นลูกชายคนเล็กของท่านหลายภพหลายชาติ และหลวงตามหาบัว ท่านจะเรียกหลวงปู่น้อยว่า “องค์ธรรม”

๐ อุปสมบทเป็นพระภิกษุคู่กับพระอาจารย์อุ่นหล้า
ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๒ ณ วัดศรีมงคลเหนือ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ปัจจุบันคือ อ.เมือง จ.มุกดาหาร) โดยมีท่านเจ้าคุณมุกดาหารโมลี เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ ท่านพระอาจารย์คำ คัมภีรญาโณ วัดศิลาวิเวก เป็นกรรมวาจาจารย์ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เป็นอนุสาวนาจารย์ ซึ่งท่านเข้าพิธีอุปสมบทพร้อมกับท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม ผู้ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิท และเป็นทั้งญาติพี่น้องกัน หลังจากนั้น ท่านพระอาจารย์น้อย จึงออกธุดงค์ติดตามไปกับท่านพระอาจารย์อุทัย ท่านเป็นคนลาวมาจากเวียงจันทน์ ศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (คนละรูปกับหลวงปู่อุทัย สิริธโร ที่วัดเขาใหญ่ฯ) ไปภาวนาที่ภูเก้า ถ้ำสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร

๐ ข้อวัตรที่ภูเก้า
ตอนบวชพระใหม่ๆ ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระภูเก้า ท่านอาจารย์อุทัย กำหนดกติกาข้อวัตรในการทำความเพียรที่อยู่ร่วมกันที่ภูเก้า ท่านบอกห้ามนอนก่อนห้าทุ่ม ให้ทำความเพียร ท่านจะคอยมาตรวจสอบว่าเผลอหลับนอนกันหรือป่าว ถึงเวลาตีสาม ก็มีสัญญาณตื่น ท่านมีเมตตาตั้งใจ ก็ทำเป็นกิจวัตรทุกวัน ภาวนาดีมากที่ภูเก้านี่ เมื่อถึงเวลาบิณฑบาต ก็เดินลงภูระยะทางไปกลับประมาณ ๖ กิโลเมตร บิณฑบาตก็ได้มานิดเดียว สมัยนั้นอดอยาก ผอมเหลือแต่กระดูก อาหารการกินก็ไม่ค่อยมีฉัน ตอนเย็นก็เอาใบไม้แก่นไม้มาต้ม ก็ฉันรูปละแก้วเท่านั้นล่ะ ก็เอาเกลือหยดลงหน่อยพอเค็มๆ สมัยนั้นน้ำอ้อยน้ำตาลไม่มีหรอก ทำความเพียรอย่างเดียว นั่นหล่ะ ธรรมมักอยู่ในที่ขาดแคลน ไม่ได้อยู่ในที่อุดมสมบูรณ์

๐ ตทังคปหาน ที่ภูเก้า
การพิจารณาธรรมอยู่ที่ถ้ำภูเก้า ทำความเพียรหนักเหมือนกันปีนั้น ขณะเดินจงกรมอยู่ในถ้ำยาว ก็พิจารณา อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา พิจารณาเรื่องสมมุติ วิมุติ ทั้งหลาย “โห มันหายหมดเลยนะ มันหายไปหมดเลยทุกอย่างมันเห็นเป็นวิมุติไปหมด มันเป็นอย่างนี้เอง การปล่อย การวาร พระนิพพาน เป็นอย่างนี้ ลักษณะมันเป็นอัตฌนมัติเลย มันเป็นเองก็ค่อยๆ พิจารณาไป พิจารณามา ก็ค่อยๆ เข้าใจ มันก็แจ้งชัดออก ค่อยปล่อย ค่อยวาง ค่อยรู้ ค่อยเห็น ความเป็นจริงมันปรากฏขึ้นมามันปล่อยวางได้หมด แต่ก่อนใจมันเคยยึดเคยถือ พอพิจารณาไปมันไม่ยึดไม่ถือเลย คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน มันบ่มีในใจ มันเป็นสมมุติทั้งนั้น จากสมมุติเป็นวิมุติเลย ในใจมันมองเป็นวิมุติไปหมดเลย

พอกลับมาวัดป่าบ้านตาด ปี ๒๕๐๓ ก็เข้าไปกราบเรียนหลวงตามหาบัว ถึงผลการปฏิบัติที่มีมา ท่านว่า “ตทังคปหาน” คือการละกิเลสได้ชั่วคราว

๐ เนสัชชิกที่วัดถ้ำกลองเพล
จำพรรษาอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๔ และ พ.ศ.๒๕๐๖ ในช่วงนั้นมี ท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี) ,พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต (เจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล องค์ปัจจุบัน) ,ท่านพระอาจารย์จันทา ถาวโร (วัดป่าเขาน้อย จ.พิจิตร) ,ท่านพระอาจารย์ขาน ฐานวโร (วัดป่าบ้านเหล่า จ.เชียงราย) ,ท่านพระอาจารย์ปรีดา ฉันทกโร (หลวงปู่ทุย วัดป่าดานวิเวก จ.บึงกาฬ) ,ท่านพระอาจารย์คำสุข ญาณสุโข (วัดป่าซับคำกอง จ.เพชรบูรณ์) ,ท่านพระอาจารย์วิไลย์ เขมิโย (วัดถ้ำพญาช้างเผือก จ.ชัยภูมิ) ,ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธัมโม (วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร) เป็นต้น ในพรรษาวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หลวงปู่ขาว ท่านจะประชุมพระอยู่ตลอดคืน เป็นกฏของวัดถ้ำกลองเพล เข้าพรรษา ๓ เดือน ในวันพระถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน คือเราลงอุโบสถ สวดมนต์ไหว้พระ ฟังเทศน์ ภาวนาถือเนสัชชิกไม่นอนทุกวันพระ อันนี้เป็นกฏระเบียบ

บางทีหลวงปู่ขาว ท่านก็ว่า “โห เทวบุตร เทวดา เข้ามาฟังธรรมเยอะเลย” แต่เทวดาเข้ามาข้างในไม่ได้นะ ตรงถ้ำกลองเพลมีพระเณร แล้วก็แม่ขาว แม่ชีล้อมรอบจนเต็มบริเวณ เทวดามานั่งอยู่รอบๆ เข้าไม่ได้ มาฟัง ศรัทธา ได้ยินเสียงสวดมนต์ เพราะว่าสวดมนต์มากนะ สวดทีละสองชั่วโมง หลวงปู่ขาว ท่านชอบสวดธรรมจักร อนันตลักขณสูตร หลวงปู่ขาวท่านแก่ แต่ท่านขยันนะ ขนาดท่านอย่างนี้ เวลาสดมนต์ ปั๊ปๆๆ ได้หมดนะ ปาฏิโมกข์นี้ก็สวดได้ อ่านจนจำได้หมด ท่านเป็นคนฝักใฝ่ ขยันชอบสวดมนต์ได้บุญ เป็นการแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ บทสวดมนต์ของพระพุทธเจ้า พอฟังแล้วก็ทำให้ดึงจิตดึงใจดึงภูตผีปีศาจวิญญาณจ้าที่แถวนั้น บทสวดมนต์เป็นคำสอน ภาษาไทย ภาษาบาลี ก็เป็นคำสอน ธรรมมันชนะหัวใจไม่ว่าภูตผีปีศาจ ธรรมะชนะได้หมดนะ ไม่ใช่แค่กิเลสในใจมนุษย์เท่านั้นนะ ชนะแม้แต่ภูตผีปีศาจ

วัดป่านานาชาติ มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)

หลวงตาน้อย ปัญญาวุโธ ท่านได้เคยไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน , หลวงปู่บัว สิริปุณโณ , หลวงปู่วัน อุตฺตโม , หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ และ หลวงปู่เพียร วิริโย เป็นต้น สมัยท่านอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย มีโยมได้มาอาราธนาให้ท่านไปโปรดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีโยมปวารณาเรื่องค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ท่านจึงเดินทางไปเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๕ โดยได้ไปโปรดสงเคราะห์ญาติโยมอยู่ที่นั่นเรื่อยมา จนกระทั้งหลวงปู่ขาว อนาลโย เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน หลวงตาน้อย จึงเดินทางกลับมาร่วมช่วยงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่ขาว อนาลโย ผู้เป็นอาจารย์ จนเสร็จงานลุล่วงแล้ว จึงได้เดินทางไปโปรดสงเคราะห์ญาติโยมที่ต่างแดนในที่ต่าง ๆ เรื่อยมาจนได้มีกาจัดสร้างวัดป่านานาชาติ ที่รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

๐ โรคหัวใจ
เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราเป็นโรคหัวใจ ไปตรวจไปเช็คก็ไม่มีวี่แวว จู่ๆ ก็เป็นขึ้นมา มันมีอาการออกมาเมื่อคืนวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ปกติเราไม่เคยป่วยไข้ ก็คิดว่าจะดีขึ้นจะหายได้ ก็อาศัยความอดทน ตอนนั้นมันก็จวนจะไปแล้ว หมดแรงแล้ว หมอคนนึงก็วินิจฉัยว่าอาการแบบน้ มีโอกาสที่จะมรณภาพสูงถึง ๕๘ เปอร์เซ็นต์ หมอเขาก็ไม่ได้ดูนาน ถ้าดูแลไม่ทันก็คงไปแล้ว

๐ นิมิตสีทอง
อาตมาฝันไปว่า เราไปนอนอยู่บนแท่น ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ที่เราไปเทศนาว่าการมาก่อน แล้วรอบๆ ตัวเราก็มีดอกไม้มาสักการะ รอบไปหมด แต่ดอกไม้สิ่งสักการะทั้งหมดเป็นสีทองคำไปหมดเลย ผู้คนที่เคยมานั่งสมาธิสวดมนต์ภาวนากับเรา หรือคนที่เคยมาทำบุญตักบาตรกับเรา ก็มากันหมดทุกคนเลย มานั่งกราบไหว้เราเต็มไปหมด นี่มันฝันแปลกนะ

หลวงตาคำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ วัดป่านานาชาติ

๐ มรณกาล
ในพรรษาปีนี้ พ.ศ.๒๕๖๐ หลวงตาน้อย ท่านได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเหมือนเช่นทุกๆ ปี ในคืนวันพุธที่ ๑๖ สิงหาคม เวลา ๒๑.๐๐ น. เวลาท้องถิ่นโดยประมาณ หลวงตาน้อย มีอาการทางหัวใจ หยุดหายใจและปั้มชีพจรขึ้นมาได้ คณะศิษย์ได้ทำการย้ายท่านไปรักษาที่ Reston Hospital Center ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ประจำเมือง อาการขององค์ท่านทรงตัวดีขึ้นจนกระทั่งเมื่อเวลา ๑๖.๕๑ น. เวลาท้องถิ่น

๐ สิ้นโลก เหนือธรรม
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พระครูมงคลญาณ หลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ (ตรงกับเวลาในเมืองไทย ประมาณตี ๔ ของเช้าวันศุกร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๐) ณ Reston Hospital Center เมืองเรสตัน ในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สิริอายุ ๗๘ ปี ๖ เดือน ๑๓ วัน ๕๘ พรรษา

ทางคณะศิษยานุศิษย์ วัดป่านานาชาติ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ หลวงตาคำพอง ปัญญาวุโธ เป็นเวลา ๗ วัน ก่อนจะมีการประชุมมติคณะสงฆ์เพื่อเคลื่อนสรีระสังขารหลวงตาคำพอง กลับมาประเทศไทย โดยสายการบิน ทีจี ๖๔๑ ถึงวันจันทร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ เวลา ๑๕.๒๐ น. จากนั้นจะมีการเคลื่อนสรีระสังขารท่านไปที่ วัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เพื่อบำเพ็ญกุศลและพิธีถวายเพลิงสรีระสังขารอันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน

รูปเหมือน หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)
ณ วัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)
ณ วัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)
ณ วัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่คำพอง ปัญญาวุโธ (หลวงตาน้อย)
ณ วัดป่าศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่คำพอง (หลวงตาน้อย) ปัญญาวุโธ

“..พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลา ใจได้รู้เห็นตามความเป็นจริง จะได้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย คายจากความยินดีในสังขารร่างกาย อันไม่เป็นแก่นสาร เมื่อเห็นทุก ๆ อย่าง เห็นเป็นอนัตตาก็ไม่มีที่อยู่ อัตตาคือบ้านอยู่อาศัยของกิเลส เมื่ออัตตาไม่มีอยู่ในหัว กิเลสหมดไปโดยอัตโนมัต ภพชาติหมด..”

ประวัติและปฏิปทาคัดลอกมาจากหนังสือ “คู่ธรรม กรรมฐาน” รวบรวมและเรียบเรียงโดย คุณสมบูรณ์ วงษ์วานิช

ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน