ประวัติและปฏิปทา
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส
วัดป่าสุทธาวาส
ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
◎ ชาติภูมิ
พระเดชพระคุณพระรัชมงคลนายก หรือ หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส นามเดิมท่านชื่อ ดี นามสกุล ใบหะสีห์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ณ บ้านหนองหอย หมู่ที่ ๔ ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุสุมาลย์) จังหวัดสกลนคร บิดาท่านชื่อ นายถา ใบหะสีห์ มารดาท่านชื่อ นางคำ ใบหะสีห์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด จำนวน ๖ คน คือ
๑. นายดา ใบหะสีห์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นางปี พระสุริยะ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๓. หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส (มรณภาพแล้ว)
๔. หลวงพ่อที ทีปาสโย (มรณภาพแล้ว)
๕. นางทอนจันทร์ อำมาตย์มนตรี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๖. นายดอน ใบหะสีห์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
ในตอนที่คลอดหลวงตาคำดีนั้น โยมมารดาของท่านเล่าว่า เมื่อคลอดออกจากครรภ์นั้นมีสายรกพันตัว จากบ่าซ้ายไปใต้รักแร้ขวา คล้ายกันกับที่เขาจะบวชเป็นสามเณร ครั้งแรกที่พระอุปัชฌาย์คล้องผ้าอังสะให้ โบราณเชื่อและถือเป็นนิมิตหมายบ่งบอกถึงอนาคต ว่าจะต้องได้บวชแน่นอน
◎ ชีวิตในวัยเด็ก
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ อายุ ๗ ปี บิดามารดาได้ส่งให้ท่านเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลวัดศิริสุภา ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุสุมาลย์) จังหวัดสกลนคร สมัยที่เรียนอยู่นั้น หลวงตาคำดี ท่านจะเรียนติดอันดับที่หนึ่งของห้องตลอด ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาที่ ๑ – ๔ เพราะท่านเป็นคนที่เรียนเก่ง มีความขยันหมั่นเพียร อีกทั้งยังเป็นคนที่มีอุปนิสัยสุภาพเรียบร้อย จนปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านจึงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ครั้นจบจากการศึกษาแล้ว ท่านได้ช่วยบิดามารดาทำนา ทำสวน ปลูกฝ้าย ปลูกพริก เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไปตามประสาของชาวชนบท ประกอบอาชีพตามบรรพบุรุษเรื่อยมา
◎ การบรรพชา
ก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณรนั้น หลวงตาคำดีท่านเล่าว่า ช่วงระยะเวลาก่อนบรรพชาเป็นสามเณร รู้สึกแปลกใจอยู่บ้างจากการได้ยินคำพูด จากเครือญาติผู้ใหญ่หลายท่าน ซึ่งชอบพูดว่า “เด็กชาย ดี คนนี้ จะต้องได้บวชแน่นอน” ได้ยินท่านเหล่านั้น พูดบ่อยครั้ง บางครั้งเขาก็พูดแซวเราว่าจารย์บ้าง อาจารย์บ้าง ซึ่งหมายผู้บวชแล้วหรือกำลังบวชอยู่ ซึ่งบางครั้งเราก็รู้สึกเขิน เราเองในระยะนั้นไม่มีความรู้สึกอยากบวชและไม่คิดว่าจะได้บวช
จึงมีเหตุดลบันดาลให้ได้บวช กล่าวคือเริ่มป่วยมาราธอน ก็คือป่วยระยะยาวนั้นเอง ป่วยไม่หนักแต่ก็ไม่เบา ประกอบอาชีพทำการงานไม่ได้ เดินไปมาได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ ผอมแห้งไม่มีกำลัง รักษาอย่างไรก็ไม่หายขาด ป่วยอยู่ร่วมปี ช่วงระยะเวลาที่ป่วยอยู่นี้ โยมมารดาและบิดา ก็พยายามถามอยากจะให้บวช และจะไปบนบวชไว้ให้ก่อน แรกๆ เราไม่รับคำท่าน เพราะใจจริงยังไม่อยากบวช แต่เห็นท่านถามบ่อยครั้ง เมื่อสบโอกาสสุดท้ายเราก็รับคำท่าน ว่าจะให้บวชก็ได้แต่ไม่เกิน ๗ วัน พอเรารับว่าบวชก็ได้ เท่านั้นแหละ…ดูเหมือนท่านดีใจ จัดแจงหาดอกไม้ธูปเทียน เข้าไปหาสมภารที่วัด จัดการบนบวชให้ทันที เป็นที่น่าสังเกตและแปลกมากจากวันนั้นมา โรคร้ายที่ทรมานกายและใจมาร่วมปี หายไปเหมือนกับปลิดทิ้ง เมื่อหายจากป่วยไข้ ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ แล้วก็จัดการบวชเป็นสามเณร และตั้งใจว่าจะบวชเพื่อแก้บน เพียง ๗ วัน ตามที่โยมบิดาบนบวชให้เท่านั้น
แต่ความไม่เที่ยงของสังขาร อันเป็นสัจจะธรรมข้อหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในโลก ย่อมเกิดขึ้นก็ได้ทุกโอกาส ไม่ว่ากายสังขาร ความปรุงแต่งกายก็ไม่เที่ยง วจีสังขารความปรุงแต่งวาจา ก็ไม่เที่ยง แม้มโนสังขาร ความปรุงแต่งจิต คือ ความนึกคิดก็ไม่เที่ยง หมายความว่า สิ่งที่เราคิดเอาไว้ ไม่เกิดขึ้นก็ได้ และสิ่งที่เราไม่ได้คิดเอาไว้ อาจเกิดขึ้นก็ได้
สรุปแล้วเป็นไปตามกฎของกรรม ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วทั้งอดีตและปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ผู้ประพฤติปฏิบัติตน ตามธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนธรรมปรากฏขึ้นกับตนเป็นปัจจัตตัง นั้นแหละจึงจะหายสงสัย ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมดี ธรรมนำความสุขมาให้ เป็นสัจจะธรรม และการกระทำเป็นเครื่องจำแนกให้สัตว์แตกต่างกันตามอำนาจแห่งการกระทำด้วยกาย วาจา จิตของสัตว์นั้นๆ ก็เป็นความจริง ดังนั้นชีวิตของข้าพเจ้าจึงเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่ทำไว้ในอดีตผิดจากจิตสังขารที่คิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้บรรพชาอุปสมบทมาจนถึงปัจจุบัน
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดโพนธาราม ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุสุมาย์) จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยมี พระอธิการโท วรปญฺโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงตาคำดีได้ท่านเล่าเหตุการณ์วันที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเอาไว้ว่า
การบรรพชาทำเป็นภายใน คือรู้เฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น โดยไม่ได้บอกให้ญาติมิตรและเพื่อนฝูงรู้เลย เพราะคิดว่าจะบรรพชา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ตามที่บิดาบนเอาไว้สัก ๗ วันเท่านั้น แต่ด้วยอนิจจาความไม่เที่ยงแท้แห่งสังขาร จึงดลบันดาลดวงจิตให้คิดอยากได้ความรู้ในทางศาสนา เพื่อนำไปใช้เมื่อลาสิกขาเป็นฆราวาส จะได้อวดเพื่อน ๆ ได้ว่า ตนเคยบวชและศึกษาธรรมในทางพระพุทธศาสนามาแล้ว อยู่ไปเรียนไปจนลืมสัญญาที่กำหนดไว้ว่าจะบรรพชาแค่ ๗ วัน จนล่วงเลยไปถึงวันปวารณาออกพรรษา
การศึกษาก็ยังไม่เป็นที่พอใจ จนพ.ศ.ใหม่ย่างเข้า คือ พ.ศ. ๒๔๘๙ งานเทศกาลแต่ละบ้านแต่ละท้องถิ่นก็เริ่มมีมากขึ้น ใจหนึ่งก็คิดจะลาสิกขา เพราะเป็นความสนุกของหนุ่มสาวในการเที่ยวงานเช่นนั้นสำหรับชาวชนบท แต่นึกเสียดายเพราะเรียนยังไม่ได้อะไรมากนัก อีกอย่างพระอุปัชฌาย์ก็คล้ายกับรู้ใจ มีงานที่ไหนก็เอาติดตามไปด้วยไม่ปล่อยให้เหงาอยู่ที่วัด แต่ก็มีทั้งดีและเสีย ที่ดีก็คือได้รู้เห็นประเพณีแต่ละบ้านแต่ละท้องถิ่นซึ่งเป็นกำไรของชีวิตส่วนหนึ่ง แต่ที่เสียก็มาก อันเกิดจากการได้ยินได้เห็น เพราะยังไม่รู้จักหลักการปฏิบัติ เพื่อรักษาใจตนเอง จึงอยู่ด้วยความอดทน ทนอดเข้าไว้เพราะอยากรู้อยากเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา พอทราบว่าเดือนพฤษภาคม (๒๔๘๙) ทางวัดจะเปิดสอนพระปริยัติธรรมเราก็ดีใจ พระภิกษุสามเณรต่างก็สมัครเรียนกัน เราก็สมัครด้วยเพราะสนใจอยู่แล้ว เป็นอันว่าเริ่มเรียนกันจริงจังตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคมจึงสอบวัดผล ปรากฏว่าเราก็สอบได้ และในสำนักเรียนแห่งนี้สอบได้กันทั้งหมด ดีใจคิดว่าเราได้ความรู้บ้างแล้ว
เมื่อเสร็จจากการสอบก็เร่ง ท่องสวดมนต์ และเรียนเทศน์ตามหนังสือ ซึ่งใช้ทั้งอักษรธรรมและอักษรไทย การเรียนเทศน์นั้น ต้องมีพระที่มีความรู้เป็นครูคอยควบคุมดูแลความผิดถูก ตลอดถึงทำนองและวรรคตอน ใช้เวลาเรียนวันละ ๒ ครั้ง คือหลังจากฉันภัตตาหารเช้าและเพล ครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง จนกว่าครูจะเห็นว่าพอใช้ได้จึงปล่อยให้ฝึกเอง
◎ การอุปสมบท
การอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนาของหลวงตาคำดี ปัญโญภาโส นั้น ท่านเล่าว่า..
“พอถึงเดือนมีนาคม ๒๔๙๐ เครือญาติทางมารดามีศรัทธาจะสร้างกองบุญด้วยการบวชพระ จึงมาขอนิมนต์ และก็ได้รับบวชเป็นพระให้ ใจจริงยังไม่อยากบวช ทั้งอายุก็ยังไม่ครบ ๒๐ ดี แต่นักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายว่าบวชได้ คือ พระวินัยอนุญาตให้นับเอาที่อยู่ในครรภ์มารดาได้อีก ๖ เดือน ก็เป็นอันว่าครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระฝ่ายมหานิกาย”
ท่านได้รับการอุปสมบทเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ณ พัทสีมาวัดโพนธาราม ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุสุมาลย์) จังหวัดสกลนคร โดยมีเจ้าอธิการโท วรปัญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้นเมื่อบวชแล้ว ท่านก็อยู่ที่วัดโพนธารามเช่นเดิม เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อ หลวงตาคำดีท่านเล่าว่า
การเรียนในครั้งนี้รู้สึกว่าติดขัดพอสมควร เพราะว่าครูที่สอนนั้น ได้ย้ายไปเรียนที่อื่น แต่การเรียนก็ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
◎ สิ้นบุญโยมบิดา
ในพรรษานี้เองบิดาของท่านเกิดป่วยหนัก ไม่สบายเป็นอย่างยิ่ง หลวงตาคำดี ท่านเล่าว่า
ในพรรษานี้ รู้สึกกังวลใจ เพราะโยมบิดาป่วยอาการน่าวิตกมาก ได้เที่ยวไปเยี่ยมดูอาการอยู่เสมอ การรักษาก็มีทั้งหมอแผนปัจจุบันและแผนโบราณ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด จนจวนจะถึงวันปวารณาออกพรรษา อาการก็ทรุดหนักจึงได้สัตตาหะไปปรนนิบัติ ให้สติ กำลังใจ เฝ้าดูอาการอยู่จนวาระสุดท้าย เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ของวันที่ ๒๕ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านก็จากลูกหลานไปโดยอาการสงบ แต่ก่อนจะจากไปท่านยังมีสติกระซิบเรียกพี่ชายใหญ่ ให้เข้ามาใกล้ ๆ แล้วบอกว่า “ดูพวกน้องนะ” แล้วก็หลับตาถอนลมหายใจแผ่วเบาและหมดลมไปในที่สุด ข้าพเจ้าดูอาการจากไปของโยมบิดาอย่างใกล้ชิดและได้ทำใจไว้ก่อนแล้วว่า ท่านต้องจากไปอย่างแน่นนอน จึงมีสติไม่แสดงอาการเศร้าโศก และได้บอกแก่ญาติๆ ว่า หมดแล้ว เท่านั้นเอง พวกญาติๆ ต่างก็ร้องไห้โศกเศร้ารำพันกันไปทั่ว แต่ข้าพเจ้ามีสติทำใจได้และพูดธรรมะให้พวกญาติเข้าใจว่าท่านไม่ได้ตาย เป็นเพียงวิญญาณ (จิต) ออกจากร่าง เพราะธาตุทั้ง ๔ แตกจากกัน เมื่อความโศกเศร้าเบาลงจึงได้ช่วยกันจัดการศพต่อไป การจากไปของโยมบิดาในครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสลดใจอย่างมาก เพราะมิได้คาดคิดไว้ก่อนว่าท่านจะด่วนจากไปเร็วอย่างนี้ เพราะลูกๆ ต่างก็ยังไม่มีใครเป็นหลักเป็นฐาน และตัวท่านเองก็คงยังไม่อยากจากไป แต่พญามัจจุราชนั้นมีอำนาจเหนือใครในโลกเป็นเผด็จการแต่ผู้เดียว จึงไม่มีใครอุทธรณ์ผัดผ่อนร้องขอได้ อันนี้เองที่เขาเรียกว่า ตายทั้งที่ไม่อยากตายจึงเป็นทุกข์ ภาษาธรรมว่า มรณมฺปิ ทุกขํ ตายเป็นทุกข์
ครั้นหลังจากที่ทำการฌาปนกิจศพโยมบิดาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านก็ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ เพื่อเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่วัดสะพานคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านเล่าว่า ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ย้ายไปอยู่วัดสะพานคำ ในเมืองสกลนคร เพื่อเรียนนักธรรมและบาลี ควบกัน แต่อนิจจาอีกเช่นกัน พรรษานี้ความคิดเปลี่ยนไปแรกคิดว่าจะเรียนบาลีไปจนจบ หรือหมดความสามารถจึงหยุด
◎ สงสัยในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา
ครั้นหยุดจากการเรียนทางด้านปริยัติธรรมแล้ว ท่านมีความคิดที่อยากจะออกปฏิบัติธรรมกรรมฐาน แต่เนื่องจากสอบถามจากหมู่คณะครูบาอาจารย์แล้ว ก็ไม่เป็นที่พอใจในคำตอบที่ได้รับ โดยท่านกล่าวว่า
หวนกลับมาดูตัวเองที่แสดงตนต่อสังคมว่าเป็นสมณะ (ผู้สงบ) นักบวช (ผู้ปฏิบัติธรรมวินัย) ก็ไม่ทำให้เกิดความอุ่นใจเลย จึงคิดจะปฏิบัติจริงจังตามธรรมวินัยที่ได้เรียนมา ยิ่งคิดก็ยิ่งจนใจ เพราะเพื่อนพรหมจรรย์ที่อยู่ร่วมกันไม่มีใครคิดอย่างเรา บางครั้งกราบเรียนถามพระเถระที่เป็นครูอาจารย์ท่านก็ว่า ศาสนาล่วงมา ๒๐๐๐ กว่าปีแล้วถึงใครจะปฏิบัติก็ไม่สามารถทำ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดได้ ส่วนผู้ไม่ปฏิบัติ คือผิดธรรมวินัยบ้างแสดงอาบัติก็หาย (หมายความว่าไม่เป็นบาป)
การบวชเรียนก็เป็นไปเพื่ออุปนิสัยเท่านั้น ผิดบ้างถูกบ้างไม่เป็นไร เมื่อทราบดังนี้ทำให้ยิ่งเกิดความสงสัยหนัก จึงตั้งใจว่าออกพรรษาสอบเสร็จ จะแสวงหาสำนักที่มีครูอาจารย์แนะนำในทางปฏิบัติ เพราะหลักธรรมคำสั่งสอน มีอยู่ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ คือ ศึกษาคำสั่งสอนด้วยการท่องบ่นสาธยายทรงจำเอาไว้ ปฏิบัติ คือ ศึกษาคำสอนด้วยการประกอบกระทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดมีขึ้นที่ กาย วาจา ใจ ส่วนปฏิเวธธรรม ได้แก่ มรรคผลอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จึงตั้งใจในอันที่จะแสวงหาครูอาจารย์ที่พอแนะนำในทางปฏิบัติได้
ครั้นต่อมา ท่านได้ทราบข่าวพระกรรมฐานพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัตชอบองค์หนึ่ง อยู่ทางบ้านธาตุนาเวง จากสามเณรที่อยู่กุฏิด้วยกันที่วัดสะพานคำ หลวงตาคำดี ท่านเล่าว่า
ด้วยเดชะบุญยังไม่ทันออกพรรษา ก็ได้ทราบข่าวจากสามเณรที่อยู่กุฏิเดียวกันในวัดว่า ที่บ้านธาตุนาเวงซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของสามเณรนั้น (สามเณร อยู่บ้านนาเวง) มีสำนักพระกรรมฐานที่ปฏิบัติเคร่งครัดธรรมวินัย เป็นสำนักวัดป่าอยู่ห่างจากบ้าน ชื่อสำนักวัดป่าธาตุนาเวง สามเณรเล่าให้ฟังว่า สำนักนี้ทั้งพระภิกษุและสามเณร ท่านบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันภัตตาหารมื้อเดียว บริเวณวัดแม้จะเป็นป่าแต่ปัดกวาดสะอาดทั่วบริเวณ และมีทางเดินจงกรม มีที่นั่งสมาธิภาวนา กลางวันกลางคืน
พอทราบเช่นนี้แล้วก็ชวนสามเณรเป็นเพื่อนไปดู พอไปถึงเห็นสถานที่ก็รู้สึกประทับใจ และได้เข้าไปนมัสการเรียนถามปฏิปทาการปฏิบัติจากหัวหน้าสำนัก ท่านให้การปฏิสันถารต้อนรับเป็นที่จับใจยิ่ง ทั้งมีความซาบซึ้งในธรรมที่ท่านอธิบายให้ฟัง เพราะท่านอธิบายให้ฟังเป็นที่เข้าใจง่าย หลังจากกลับจากสำนักท่านแล้วก็ตั้งใจว่า หลังจากเสร็จภารกิจจากการเรียนการสอบแล้ว จะต้องออกปฏิบัติ
◎ สิ้นบุญโยมมารดา
ภายหลังจากออกพรรษา สอบเสร็จแล้ว หลวงตาคำดี ท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน และไปช่วยงานทำบุญประจำปีที่วัดโพนธาราม ใจความตอนหนึ่งที่ท่านเล่าเกี่ยวกับการเสียชีวิตของโยมมารดาของท่านว่า
เวลาประมาณ ตี ๕ ของวันจันทร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๓ ปีชวด มีญาติมาตามให้กลับบ้านและบอกว่า “โยมแม่เสียแล้ว (ตาย)” ครั้งแรกยังไม่เชื่อหูตัวเองว่าเขาพูดอย่างนั้นจริง หรือว่าเราฟังผิด จึงถามไปว่า “โยมแม่เป็นอะไร” เขายืนยันว่าแม่เสียแล้ว “เป็นอะไรจึงตาย” เขาบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าปวดที่บริเวณแผลเป็นที่ถูกสุนัขกัด ซึ่งก็หายนานแล้ว และก่อนจะตายบอกว่าอยากจะนอน ขออย่าให้ใครพูดเสียงดัง แล้วก็นอนเงียบไป พวกลูกๆ ที่เฝ้าดูอยู่เห็นผิดปกติ จับดูชีพจรและลมหายใจดูจึงรู้ว่าตายไปแล้ว เมื่อทราบดังนั้นก็รีบไปลา พระอุปัชฌาย์ กลับไปช่วยงานศพร่วมกับญาติ พักอยู่วัดที่บ้าน จนเสร็จงานทำบุญ ๑๐๐ วัน ของโยมมารดา
◎ มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ภายหลังจากที่เสร็จงานทำบุญให้โยมมารดาเรียบร้อยแล้ว หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้เดินทางมาพักที่วัดป่าธาตุนาเวง (ปัจจุบันคือ วัดป่าภูธรพิทักษ์) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อมากราบมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ดังที่ได้ตั้งใจไว้ในสมัยที่ท่านยังเรียนพระปริยัติธรรม โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านก็เมตตารับ หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ไว้เป็นศิษย์ดังที่ตั้งใจ และให้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นพระพี่เลี้ยง ดูแลและบอกสอนเรื่องข้อวัตรปฏิบัติเกี่ยวกับพระธุดงค์กรรมฐานต่างๆ ส่วนเรื่องการปฏิบัติภาวนานั้น องค์หลวงปู่ฝั้น ท่านจะเมตตาอบรมสั่งสอนอยู่เป็นประจำเสมอมิได้ขาด หากว่าหลวงตาคำดีท่านสงสัยข้ออรรถข้อธรรมอะไร ก็กราบเรียนถามกับหลวงปู่ฝั้น ซึ่งองค์ท่านก็เมตตาให้อุบายธรรมแบบแยบยล จนเป็นที่พอใจ
◎ ญัตติเป็นพระธรรมยุต
พอทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติ เกี่ยวกับพระธุดงค์กรรมฐาน และอุบายในการปฏิบัติธรรมต่างๆ แล้ว หลวงปู่ฝั้น อาจาโร องค์ท่านเห็นว่า การที่จะมาอยู่ร่วมกันในสำนักท่านนั้น หากจะอยู่กันคนละสังวาส การปฏิบัติกิจทางพระธรรมวินัย เช่น การทำสังฆกรรม การลงอุโบสถ จะเป็นการลำบาก ท่านจึงให้หลวงตาคำดี ไปญัตติเป็นพระธรรมยุต โดย หลวงปู่ฝั้น องค์ท่านได้มอบหมายให้ หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นผู้พาไปญัตติที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส อายุ ๒๓ ปี ท่านได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมี พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งที่เป็นพระสารภาณมุนี วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์พระราชสุทธาจารย์ (หลวงปู่พรหมา โชติโก) เมื่อครั้งที่เป็น พระครูวิจิตวินัยการ วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ วัดอรัญญิกาวาส จังหวัดนครพนม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
พระอุปัชฌาย์ขนานนามฉายาให้ว่า “ปัญโญภาโส” แปลว่า “ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง”
◎ อุบายธรรมกรรมฐาน
สำหรับอุบายธรรมกรรมฐานต่างๆ ที่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้สอนหลวงตาคำดีนั้น ท่านเมตตาเล่าว่า
กรรมฐานที่พระอาจารย์ (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร) อบรมศิษย์ โดยทั่วไปแล้วส่วนมาก เน้นหนักในพุทธานุสสติ กับกายคตาสติ คือสอนให้บริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ ในทุกอิริยาบถ ให้มีสติกำหนดรู้กายรู้จิตอยู่เสมอ จะเป็นการยืนกำหนด เดินจงกรม นั่งภาวนา หรือนอนสีหไสยาสน์ภาวนา ก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา จนกว่าความรู้กับสติที่ระลึก สัมพันธ์เป็นอันเดียวกันเป็น สติชาคโร คือ จิตตื่นอยู่ หรือสว่างอยู่เป็นนิจ เป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ ยถาภูตํ ปชานาติ ภิกษุเมื่อสมาธิตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง”
เมื่อความรู้ รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมโดยรอบ คือบริบูรณ์แล้ว จิตก็จะพ้นจากอารมณ์ครอบงำ หรือ ดอง ที่เรียกว่า อาสวะ นี้เป็นหลักปฏิบัติโดยย่อที่สอนทั่วๆ ไปในสำนักนี้ และปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจสำหรับศิษย์ผู้ใคร่ในการปฏิบัติจริง แม้คฤหัสถ์ที่มีภารกิจในการครองเรือนก็สามารถปฏิบัติได้ตามกำลัง เพียงแต่ตั้งสัจจะไว้ว่า เราเกิดขึ้นมาครั้งนี้จะพยายามสั่งสมความดีทุกวิถีทางอย่างง่ายๆ ก็คือ การภาวนา เมื่อว่างจากภารกิจก็เอาเสียนิดหนึ่ง โดยการตั้งสติระลึก จะใช้กิริยากายหรือวาจาก็ได้ เช่น ไหว้พระสวดมนต์เล็กน้อยแล้วก็ภาวนา โดยระลึกกำหนดดู ให้รู้กายรู้จิต เพื่อชำระอารมณ์ที่เศร้าหมองของจิตออกไปผลก็คือความสะอาดผ่องใส อันเป็นสิ่งที่ทุกดวงจิตต้องการ จึงเป็นสิ่งที่ควรพยายามไว้ให้เป็นสมบัติของตน เพราะว่า “จิตนี้ผ่องใส แต่ก็หมองเศร้าได้เพราะอุปกิเลสที่จรมา จิตนี้ผ่องใส แต่หลุดพ้นได้เพราะละอุปกิเลสที่จรมา
การฝึกหัดปฏิบัติ อบรมจิตที่จะให้ธรรมเข้าถึงจิตนี้นั้น ต้องอาศัยการทำจริงและต้องมีกัลยาณมิตร การทำจริงเรียกว่าสัจจะบารมี คือเมื่อตั้งจิตว่าเมื่อจะประพฤติปฏิบัติแล้ว ต้องมีสติควบคุมการทำ การพูด การคิด การกระทำด้วยกายนั้น จะเป็นการกระทำโดยอิริยาบถยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ต้องมีสติควบคู่รู้ทั่วอยู่ในอิริยาบถนั้น การกระทำด้วยวาจาคำพูด ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่ในการพูดนั้นๆ
การกระทำด้วยจิต คือการคิด จะเป็นการบริกรรมภาวนาอยู่ในพุทโธก็ตาม จะเป็นการคิดพิจารณาแยกธาตุขันธ์อยู่ในรูปในนาม คือในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ก็ตาม ต้องมีสติกำกับ ทำงานจริงอยู่ในสิ่งนั้น ๆ เมื่อใช้ทั้งความเพียรบวกกับความจริงโดยมีสติเป็นผู้ควบคุมในการฝึกหัดปฏิบัติอบรมจิต ไม่ช้าธรรมก็จะเข้าถึงจิตหรือจะเรียกว่าจิตเข้าถึงธรรมะก็ได้ เพราะการกระทำด้วยกาย วาจา จิต บ่อย ๆ หรือต่อเนื่องกันไม่ขาดช่วงไม่ขาดตอน สิ่งที่กระทำนั้นก็จะเข้าถึงจิตหรือจิตก็จะเห็นสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น การเรียนหนังสือ การเขียนภาพต่าง ๆ ครั้งแรกหัดเขียนหัดอ่านตามตัวอย่าง หรือตามครูผู้บอกผู้นำ แต่พอตัวหนังสือหรือภาพเหล่านั้นเข้าถึงจิต จิตเห็นแล้ว ถึงสิ่งเหล่านั้นจะอันตรธานหายไปหมดแล้ว จิตก็สามารถสั่งให้พูดให้ทำได้อย่างถูกต้อง จะเรียกว่าด้วยหนังสือหรือภาพเหล่านั้น ถึงจิตหรือจิตบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ด้วยการเห็นก็คงไม่ผิด เมื่อธรรมะเข้าถึงจิตหรือจิตเห็นธรรมแล้ว ก็จะเห็นสภาพธรรมทั้งหมดทั้งปวง ทั้งที่เรียกว่ากุศลธรรม และอกุศลธรรม ว่าเป็นเพียงสภาพของธรรมชาติเท่านั้น”
◎ ออกเที่ยวเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรม
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้อยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน อยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นเวลา ๔ พรรษา ครั้นพอทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติ และอุบายธรรมทั้งหลาย รู้จักหลักพระวินัยหนักเบา พอที่จะรักษาตัวเอง ได้แล้ว ท่านก็ได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพื่อออกเที่ยวเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามป่าเขา ลำเนาไพร เพื่อแสวงหาความวิเวกในการบำเพ็ญสมณธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ท่านได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการเดินธุดงค์ครั้งแรกของท่านเอาไว้ว่า
ครั้งหนึ่งในราวต้นเดือนธันวาคม ๒๔๙๓ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แยกจากครูบาอาจารย์ และหมู่คณะธุดงค์ไปเพียงผู้เดียว มุ่งหน้าไปสู่ราวป่า ขึ้นเขาจะไปที่ถ้ำลาดกระเฌอ บ้านลาดกระเฌอ ซึ่งอยู่หลังเขาภูพาน ระยะทางจากวัดไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แต่ทางเดินคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา อยู่ในป่าเดินคนเดียวทนเปลี่ยวมันแสนจะวิเวกวังเวง ระคนกับความกลัวภัยตามวิสัยปุถุชนซึ่งมีกิเลส แต่ว่ารักในอันที่จะฝึกหัดปฏิบัติตามธรรมเพื่อความกล้า ทางเดินก็แสนทุรกันดาร เพราะขึ้นเขาลงห้วยซึ่งเป็นทางเล็กๆ บางแห่งก็หมดสภาพเป็นทางเพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุม แต่ยังพอสังเกตได้ ถึงอย่างไรก็ต้องเดินด้นไปตามภาษาความอยาก
เดินยังไม่ถึงบ้านลาดกระเฌอ ตะวันก็เริ่มตกดิน ค่ำมืดเข้าทุกก้าวเดิน ยังดีที่มีไฟฉายไปด้วยจึงพอกำจัดความมืดได้บ้าง อุตสาหะคลำทางเดินไปจนจวนจะถึงบ้านลาดกระเฌอในราวสองทุ่ม จึงหาที่พักนอนใต้ต้นไม้นอกบ้าน วันนี้จึงเป็นอันว่ายกยอดน้ำไม่ต้องอาบเพราะมืดแล้ว และทั้งไม่ทราบด้วยว่าบ่อน้ำมีอยู่ที่ไหน แต่น้ำดื่มยังพอมีอยู่เพราะใส่กระติกถือไปด้วย ส่วนสถานที่นอน ก็อย่างว่า..เพราะมืดแล้ว เอาไฟฉายส่องดูพอเห็นเป็นที่ว่าง เอาผ้าอาบน้ำปูก็นอนเลย นอนบ้างนั่งบ้าง พอได้พักผ่อนกายใจ วันนี้ไม่ได้กางมุ้งกลด จึงนอนไม่ค่อยสนิท
รุ่งเช้าวันใหม่ก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าครอบครัว ได้บิณฑบาตแล้ว ออกไปฉันที่ๆ พักใต้ต้นไม้นอกบ้าน เสร็จภัตตกิจแล้ว จึงเดินทางต่อไปที่ถ้ำ โดยมีโยมคนหนึ่งตามไปส่ง และช่วยจัดที่พักในถ้ำพร้อมทั้งทำความสะอาดหน้าถ้ำและทำทางเดินจงกรมให้ เสร็จแล้วแกก็กลับ การอยู่คนเดียวในที่เปลี่ยวกลางป่ามันน่าสนุกเมื่อไหร่ถ้าไม่มุ่งต่อความสุขจากความวิเวกก็คงอยู่ไม่ได้ดังภาษิตว่า สุโข วิเวโก ตุทฺทสฺส ความวิเวกของผู้สันโดษเท่านั้นที่อยู่เป็นสุข ธรรมดาใจของปุถุชนมีทั้งกลัวทั้งกล้า เมื่อไม่เห็นไม่ได้ยินอะไรใจก็ปกติ แปลกดีเหมือนกัน พอไปอยู่คนเดียว คืนแรกก็โดนลองดีทันที จะโดยบังเอิญ หรือมีอะไรดลให้เป็นก็เหลือที่จะเดา
พอตกเย็นเมื่อเสร็จจากภารกิจส่วนอื่นแล้วก็เข้าสู่ทางเดินจงกรมซึ่งอยู่หน้าถ้ำ ตั้งสติระลึกรู้อยู่เฉพาะที่กายที่จิต ทำเสมือนหนึ่งกับมีแต่เราคนเดียวเท่านั้นในโลก รู้สึกสบาย กายเบา จิตเบาเป็นพิเศษ เดินจงกรมอยู่จนมืดสนิทแล้วเข้าไปนั่งในมุ้งกลด ในขณะที่นั่งเพลินพิจารณาดูกายดูจิตอยู่นั้น ปรากฏว่าหูได้ยินเสียงข้างๆมุ้ง ลักษณะคล้ายมีอะไรเดินไปเดินมา ธรรมชาติของจิตนั้นคล้ายกับแมงมุม เมื่อมีอะไรมาสัมผัสกับสายใยที่โยงไว้ก็จะวิ่งเข้าไปดูทันที จิตเรานี้ก็เช่นกัน อยากรู้จึงตั้งใจฟัง และก็รู้แน่ว่าต้องเป็นสัตว์ที่มีชีวิตและใหญ่พอสมควร หากคำนวณดูตามเสียง จิตหนึ่งก็คิดว่า อันสัตว์ที่เดินกลางคืนเดือนมืดๆเช่นนี้ นอกจากสัตว์ร้ายคือเสือแล้วจะมีอะไร
ในขณะนั้นจิตคิดหาเหตุ คือ สร้างสถานการณ์ขึ้นโดยไม่รู้ตัว ที่คิดกลัวก็อยากจะซ่อนตัวอยู่ในมุ้งนิ่งๆ แว่บหนึ่งก็คิดกล้าขึ้นมาอยากรู้ความจริง เพราะนั่งหลับตาดูก็ไม่เห็นอะไร ในที่สุดก็ตัดสินใจเปิดมุ้งออกพิสูจน์ดู จึงรู้และหายสงสัยหายกลัว เพราะเจ้าของเสียงที่ว่านี้มิใช่สัตว์ร้ายเช่นใจคิด แต่เป็นเจ้าสุนัขบ้านธรรมดานี้เอง เพราะเมื่อตอนเช้า หมาติดตามไปกับเจ้าของ คือโยมที่ตามส่งเราเมื่อตอนเช้า เมื่อแกช่วยจัดที่พักทำความสะอาดเสร็จ ตะวันก็เที่ยงพอดี แกก็เลยทานอาหารกลางวัน อาจจะทิ้งเศษอาหารไว้บริเวณนั้น กลิ่นของเศษอาหารจะยังอยู่หรืออย่างไรไม่ทราบ หมาจึงย้อนกลับมาเสาะแสวงหา ตามภาษาสัตว์เพื่อประทังชีวิตอยู่ไปวันๆ จากนั้นจึงหันกลับมาพิจารณาดูจิตของตนเอง ซึ่งถูกสังขารมารครอบงำ นำไปสู่อารมณ์อื่นเสียนาน พอกำหนดจิตเข้าที่ปกติแล้ว จึงแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลแก่เหล่าสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าโดยรอบแล้วจึงพิจารณาดูจิต ที่รู้สึกสะดุ้งต่อภัยเมื่อสักครู่นี้
ได้ความว่า ทุกข์ คือความเศร้าโศก จากการรักชีวิต ภัยคืออันตรายที่ทำให้รู้สะดุ้งกลัว เหล่านี้เกิดจากความรัก ถ้าความรักไม่มี ความเศร้าโศกก็ไม่มี ภัยคือความสะดุ้งกลัวก็ไม่มี “รักอะไร” “กลัวอะไร” “ใครเป็นผู้รัก” “ใครเป็นผู้กลัว” นี้เป็นปัญหา จะต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติ คือกลับจิตของตนเข้ามาดูข้างใน แล้วก็ถามจิตตนเองว่ารักอะไร จิตจะตอบว่า “รักตน” และถ้าถามต่อไปว่าอะไรเป็นตน จิตที่ยังไม่รู้ความจริงของธรรมชาติก็จะชี้ลงที่กาย อันเป็นส่วนหนึ่งของเบญจขันธ์ว่านี้แหละเป็นตน
ทีนี้เมื่อใช้กายคตาสติ สตินำจิตตรวจดูกายทุกส่วน ส่วนใหญ่คือธาตุ ๔ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนย่อยคืออาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เป็นต้น ดูทุกส่วนแล้วถามจิตว่า นี้หรือเป็นตน ก็จะถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นหมายเอาอะไรเป็นตน จิตตสังขารซึ่งมีมารนำหน้าก็บอกไปที่ความรู้ซึ่งมีอาการรู้สุข รู้ทุกข์ รู้ไม่สุขไม่ทุกข์ รู้จำรู้คิด รู้ที่ผัสสะ กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรู้เหล่านี้ปรากฏที่รูปกาย เมื่อรูปดับ คือแตกแยกจากกัน ความรู้เหล่านี้ก็ดับไม่ปรากฏเปรียบเสมือนไฟดับ เมื่อหมดเชื้อก็ดับไม่ปรากฏ เพราะความรู้ที่ว่านี้อาศัยสิ่งอื่นจึงปรากฏขึ้น จะจัดว่าตนได้หรือ คำว่าตนหมายถึงเป็นตัวของตัวเอง คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง (อมตะ) ในที่สุดจิตตสังขารซึ่งมีมารนำหน้าเห็นจนมุม ก็บอกปฏิเสธว่าไม่รู้ (อวิชชา)
คืนนี้ดูจิตที่มันแสดงมารยาเสียเพลิน พอออกจากที่ก็ปาเข้าไปค่อนคืนแล้วจึงได้พักผ่อน ประมาณตี ๔ ตื่นขึ้นทำกิจอย่างอื่นแล้วปรารภความเพียรต่อ โดยเดินจงกรมแล้วนั่งพัก พอจวนสว่างทำวัตรแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล แก่ผู้มีอุปการะ ตลอดถึงสรรพสัตว์ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช้านี้รู้สึกแช่มชื่นแจ่มใสเป็นพิเศษ ได้เวลาไปบิณฑบาต จากถ้ำที่อยู่ถึงบ้านประมาณ ๓ กิโลเมตรเศษ แล้วกลับไปฉันที่ถ้ำและมีโยมผู้ชายชื่อวา ตามไปส่งอาหารทุกวัน เลยได้แกเป็นโยมอุปัฏฐากตลอดเวลาที่อยู่ถ้ำนี้ จากนั้นก็ออกจากถ้ำลาดกระเฌอเนี่ย ก็ธุดงค์ต่อไป ไปร่วมกันกับหลวงปู่อ่อนคราวนี้ กับพระอื่นอีกสามองค์กับเณรอีก ไปโน่นบ้านนาม่อง บ้านนางเติ่ง หนองส่านทางโน้น ขึ้นภูขึ้นเขาไปจนกระทั่งเดือนกุมภาฯ จึงสมดังภาษิตที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
◎ ธุดงค์อยู่กลางเขา แต่ได้สร้างบารมีด้วยการสร้างโบสถ์
ในขณะที่อยู่ทำความเพียรแต่ผู้เดียว ที่ถ้ำลาดกระเฌออยู่สักสองอาทิตย์ ตอนบ่ายๆ วันหนึ่งก็ได้เห็นพระเดินมา มองไปก็จำได้ว่าเป็นท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านมาพร้อมกับพระ ๑ รูป สามเณร ๒ รูป กับผ้าขาวอีก ๑ คน โดยมีโยมผาเป็นผู้นำทางมา เห็นครั้งแรกเข้าใจว่าท่านธุดงค์มาเพี่อบำเพ็ญภาวนา ก็ดีใจจะได้ศึกษาในอุบายวิธี และปฏิบัติไปด้วย แต่พอทราบจากท่าน โดยท่านบอกว่า ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้หาหินกรวด โดยคณะกรรมการสร้างโบสถ์ ที่วัดสุทธาวาส เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ต้องการหิน ๖๐ คิว สมัยนั้นหินหายาก และมีบนภูเขาลูกนี้ แต่ต้องใช้คนขุดและสาดเอาดินออก เป็นอันว่าท่านมาช่วยให้เราสร้างบารมีด้วย ตกลงเราก็ร่วมเอาบุญกับท่าน โดยชักชวนบอกบุญกับญาติโยมที่มีบ้านอยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น มาช่วยขุดแล้วสาดเอาดินออก เอาแต่หินลูกกรวด ทั้งพระเณร และญาติโยมช่วยกันทำอยู่ในราว ๑ เดือนได้หิน ๖๓ คิว ก่อนจะบรรทุกไปวัดสุทธาวาส ได้จัดทำบุญฉลอง นิมนต์หลวงปู่ฝั้น พระอาจารย์กงมา หลวงปู่อ่อน เทศน์ ๓ กัณฑ์ และ ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ เอาหนังไปฉายให้เขาได้ชมกลางภูเขานั้นเอง รู้สึกว่าเขาปีติยินดีกันมาก เพราะได้ฟังเทศน์พระกรรมฐาน ๓ กัณฑ์ แล้วดูหนังฟรี
เสร็จแล้วแผนกบรรทุก ก็ขนไปที่วัดสุทธาวาส เรากับคณะหลวงปู่อ่อน ก็ธุดงค์ต่อไปที่อื่น จนถึงงานครบรอบประจำปีที่วัดสุทธาวาส คือ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำของทุกปี และในปี๒๔๙๔ นี้ เรากับคณะหลวงปู่อ่อนก็ได้ร่วมงานด้วย เพื่ออนุสติถึงปฏิปทาครูบาอาจารย์ ถวายสักการะและรับฟังโอวาทจากพระเถรานุเถระ เสร็จจากงานก็เที่ยวธุดงค์ต่อไปจนถึงภูวัว อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย แล้วย้อนกลับตามลำน้ำโขง ไปอำเภอนาแก ไปอยู่ถ้ำพระเวส ถ้ำโพธิ์ทอง ดอยธรรมเจดีย์ จนจวนเข้าพรรษา จึงกลับไปจำพรรษาที่วัดเดิม คือวัดป่าธาตุนาเวง
◎ ธุดงค์ผจญภัยในดงช้างดงเสือ
การเดินธุดงค์ของพระกรรมฐานสมัยก่อนนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก ถนนหนทางก็ไม่สะดวกเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ เดินบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย ต้องผจญกับสัตว์ร้ายนานาชนิดในป่าอันอุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ มีช้างเสือ เป็นอาทิ มีทั้งไข้ป่ามาลาเรีย หลวงตาคำดี ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนธุดงค์ผจญภัยว่า หลังจากงานประจำปีที่วัดสุทธาวาส อันเป็นงานของคณะพระกรรมฐานซึ่งนัดประชุมกัน เพื่อรำลึกถึงบูรพาจารย์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำทุกปีเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่างๆอีก เดินอย่างเดียวไม่ขึ้นรถ จากวัดป่าธาตุนาเวง ไปถึงอำเภอกุสุมาลย์ มีโยม ๒ คน จำได้ว่าชื่อนายวา กับ ศรีจันทร์ พอใจในอันที่จะปฏิบัติขอติดตามไปด้วย เดินทางพักรอนแรมเรื่อยไป ๓ คืนบ้าง ๗ คืนบ้าง ไปถึงเขตอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระรูปหนึ่งไม่สบายเจ็บหน้าอกจึงขอกลับวัด ก็เลยเหลือพระ ๓ รูป โยม ๒ คน เดินทางต่อไปถึงอำเภอบ้านแพง ขึ้นภูลังกา พักอยู่กับท่านพระอาจารย์หรั่ง ราวครึ่งเดือน แล้วลงจากภูลังกาไปพักที่เกาะแก้วกลางน้ำโขงหลง โยมบ้านโชคพอกมอบเรือให้ใช้หนึ่งลำ สำหรับไปบิณฑบาตและเที่ยวไปพักชมเกาะอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายเกาะในบริเวณแม่น้ำโขงหลง แต่ละเกาะอากาศดีมีต้นไม้ร่มรื่น พักอยู่เดือนเศษจึงลาโยมแล้วไปพักที่บ้านโสกก่าม บ้านนี้มีดงใหญ่ติดกับภูเขาวัว พักในดงห่างจากบ้านประมาณ ๘๐๐ เมตร และพักห่างกันราว ๖๐ เมตร
เวลาประมาณ ตี ๑ ได้ยินเสียงลูกศิษย์คือนายวา ที่นอนอยู่ด้านริมป่าร้องขึ้นสองสามครั้งแล้วเงียบไป ตั้งใจฟังอยู่สักครู่ ศิษย์ที่นอนอยู่ใกล้คือนายศรีจันทร์ ก็วิ่งไปหาเสียงเรียก “อาจารย์ ๆ ๆ” เกือบจะไม่เป็นเสียงคน เราถามออกไปว่า “มีอะไร” แกบอกว่า “เสือกินตาวาแล้วก็ไม่รู้ได้ยิน”
ถ้าอย่างนั้นไปด้วยกัน แน่ะ!เราเองว่าไม่กลัว ก็ยังชวนไปด้วยกันน่าจะไปคนเดียว ไฟฉายก็ไม่มี มีแต่โคมผ้าจุดด้วยเทียน แสงสว่างพอสลัวๆนี่แหละ พอไปถึงเห็นนายวาแกนอนนิ่งอยู่ แต่ยังมีลมหายใจ ทั้งเรียกทั้งเขย่าอย่างไร แกก็ไม่รู้สึก ดูตามร่างกายก็ไม่มีบาดแผลอะไร ตกลงจุดเทียนไว้ นั่งผิงไฟเฝ้าดูกันเพราะหนาวจัด ใจคิดว่าแกอาจตกใจสลบ หรือเสือจะตะปบแก พอแกร้องได้สองสามคำเสือตกใจกระโจนหนีกระมัง กำลังนั่งผิงไฟเฝ้าดูกันอยู่นั้น เห็นแกดิ้นแล้วชักขึ้น สังเกตเห็นน้ำลายออกที่ปากนิด ๆ จึงคิดว่าแกคงเป็นลมชักลมบ้าหมู ตกลงนั่งเฝ้ารักษาพยาบาลกันอยู่จนสว่าง จากตี ๑ ถึงสว่างแกชักถึงห้าครั้งจึงหาย
หลังจากนั้นอีกวัน ก็มีอีกตัวหนึ่ง คราวนี้มานั่งผิงไฟอยู่ข้าง ๆ มุ้งเรา ห่างสักแค่วาจากกองไฟที่ก่อไว้ แกคงนั่งผิงไฟเพลินเพราะหนาว เราก็นั่งหลับตาอยู่ในมุ้ง พอลมพัดแรงมุ้งกลดเปิดขึ้น เสือเห็นเรานั่งอยู่คงตกใจ เลยกระโจนหนีไป จากวันนั้นมาก็ได้พบได้เห็นบ่อยเพราะแสงเดือนสว่าง กลางคืนไปเดินจงกรมไปภาวนาในที่ต่างๆ ปรากฏว่าเราก็หายกลัวเขาก็หายตกใจเดินเพ่นพ่านเที่ยวหากินไปตามเรื่อง
พักอยู่ที่นี่ราว ๑ อาทิตย์ ท่านอาจารย์อินตา กับท่านอาจารย์สมชายพร้อมคณะเดินธุดงค์มาถึง ก็เลยขึ้นไปอยู่ด้วยกัน คณะอาจารย์สมชายมี ๑๘ คณะเรามี ๕ แต่ท่านอาจารย์อินตาแยกไปทางอื่นไม่ขึ้นภูเขาวัว อยู่บนภูเขากับท่านอาจารย์ชมชาย ประมาณเดือนเศษก็กลับ และนายวาที่ป่วยเป็นลมชัก ก็ให้กลับพร้อมกับท่านอาจารย์ชมชาย โยมที่อุปการะก็นับว่าศรัทธาแก่กล้า เจ็ดวันทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิง หาบเสบียงอาหารขึ้นไปบนเขา นอนค้างหนึ่งคืนฟังเทศน์ฟังธรรม ถึงเช้าทำบุญตักบาตทานอาหารแล้วจึงกลับ ระยะทางก็ไกลเพราะไปตามทางช้าง
เช้าออกเดินทาง ๗ โมงเช้า ๔ โมงเย็นจึงจะถึง คณะเราอยู่ถึงเดือนพฤษภาคมเลยวันวิสาขะ แล้วจึงลงจากเขาผจญเสือ ในขณะที่พักอยู่บนภูเขาวัวนี้ มีสิ่งที่น่าตื่นเต้นอยู่ ๒ ครั้ง ครั้งแรก เสือมันเข้ามาหาในขณะที่เดินจงกรม เรากำลังหยุดยืนหลับตากำหนดจิตอยู่ มันเข้ามาใกล้ประมาณวาเศษ หูได้ยินเสียงก็ลืมตามองดู เห็นมันหมอบอยู่เหมือนกับทำท่าจะกระโจนเข้าใส่อย่างนั้นแหละ เราจึงเดินเข้าไปหามันก่อน พร้อมกับพูดว่า มาทำไม ดูเหมือนแกจะตกใจจึงกระโจนหนีไป เราเองก็รู้สึกไม่ไว้ใจเหมือนกันจึงออกจากที่จงกรม เข้ามานั่งในมุ้งกลด นั่งอยู่สักครู่หนึ่งก็ยินเสียงมันกลับมาอีก มองผ่านลอดจากมุ้งกลดออกไปก็พอเห็นได้ เพราะแสงเดือนสว่าง เห็นเสือเดินกลับไปกลับมาระหว่างมุ้งที่เราอยู่กับทางจงกรม
เสียงแกร้องแล้วก็หายไป เรายังอยู่ในมุ้งถามต่อว่า ทำไมไม่ไปดูเล่า ก็ได้ยินแต่ว่ากลัวๆ เรานึกขำอยู่ในใจว่า เออ..คนเรานี้ยังไม่รู้ความจริงก็กลัวก่อนแล้ว พอเรื่องนี้จบเราก็แยกจากหมู่ไปอยู่องค์เดียวห่างประมาณ ๓ กิโลเมตร ไม่ฉันจังหัน ๓ วัน อยู่มันตรงทางช้างที่จะขึ้นจากเชิงเขาไปบนหลังเขา และมีทางขึ้นเส้นเดียวเท่านั้นที่ช้างเทียวขึ้นลง ตรงนั้นเขาเรียกว่าก้อนน้ำอ้อย คือมีหินสามก้อนคล้ายกับงบน้ำอ้อยโบราณหงายขึ้น แต่หินใหญ่อาศัยอยู่ข้างใต้ได้สบาย คืนแรกที่ไปอยู่รู้สึกผิดปกติ คือนั่งก็ไม่สงบนอนก็ไม่หลับ กว่าจะรู้ได้เจ้ามัจจุมารนำจิตไปเสียไกล ดูเผินๆ เหมือนกับไม่มีอะไรความรู้สึกปกติ เราก็ว่าไม่กลัวอะไร ที่ไหนได้มันคลื่นใต้น้ำ คือจิตใต้สำนึกส่วนลึกยังมีอยู่ คือยังกลัว กลัวว่าช้างมันขึ้นมาไม่รู้ตัว กลัวมันจะทำร้ายเอา ก็คือกลัวตายนั่นแหละพอรู้เท่านั้น มารร้ายที่หลบซ่อนอยู่ตัวนี้ ก็แตกทัพกระจายหายหนีหมด เป็นอันว่าหลังจากนั้นมาใจก็ปลอดโปร่งสบาย ร่างกายหรือธาตุขันธ์ มอบให้เป็นหน้าที่ของวิบาก หากจะมีอะไรเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะสละให้ได้ทุกเวลา เออ..เวลาที่เราแผ่เมตตาไป ก็จะเห็นเป็นผลอยู่บ้าง จึงได้สร้างมิตรกับสัตว์ทุกชนิด เสมือนหนึ่งกับเป็นเพื่อนกันในกลางไพร พอถึงเดือนหกเพ็ญวิสาขะเสร็จ พักที่ราวป่าริมบ้าน สงเคราะห์ญาติโยมชาวบ้านที่ส่งเสบียงอุปถัมภ์พอสมควรแล้ว เดินทางกลับไปจำพรรษาวัดเดิม คือวัดป่าธาตุนาเวง
◎ มรณานุสสติ
ครั้นกลับจากการเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรม แสวงหาโมกขธรรมตามสถานที่ต่างๆแล้ว จวนเวลาที่จะเข้าพรรษา หลวงตาคำดี ท่านก็เดินทางกลับมาพักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ผู้เป็นอาจารย์ ท่านเล่าว่า
พรรษา ปี ๒๔๙๕ นี้ มีเพื่อนสหธรรมิกอยู่ร่วมกันหลายรูป เช่น อาจารย์ถวิล จันทบุรี อาจารย์พวง ยโสธรอาจารย์สุพัฒน์ บ้านต้าย อาจารย์บุญเพ็ง ถ้ำกลองเพล พรรษานี้ปกติก็ทำวัตรสวดมนต์ อ่านพระวินัย นั่งภาวนา สองวันหรือสามวันพระอาจารย์ (คือหลวงปู่ฝั้น) จึงลงมาอบรมให้โอวาทแล้วให้โอกาสซักถามข้อสงสัยได้ รู้สึกว่าพระเณรเพลิดเพลินในการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง มีพระเณรสมาทานธุดงค์กันหลายรูปต่าง ๆ กัน บางท่านสมาทานฉันเฉพาะที่บิณฑบาตได้ อาหารนำมาถวายทีหลังไม่รับ การฉันนั้นฉันมื้อเดียวอาสนะเดียว นี้เป็นปกติของสำนักวัดป่าอยู่แล้ว บางท่านก็สมาทานไม่นอน ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง บางท่านก็สมาทานเข้าไปอยู่ในป่าช้า หรือไปเยี่ยมป่าช้าเป็นประจำ (ริมวัดมีป่าช้าอยู่แล้ว )
กล่าวถึงเรื่องธุดงค์ ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติขั้นอุกฤษฏ์ ซึ่งเพิ่มจากพระวินัยเป็นการฝึกหัดจิตให้มีสัจจะ ให้มีความกล้าเป็นสัลเลขะเครื่องขัดเกลากิเลส นักปฏิบัติจึงนิยมสมาทานตามความสามารถที่จะปฏิบัติได้ ทำให้การปฏิบัติของแต่ละท่านได้อุบายและมีปัญหาธรรมะที่จะถามอาจารย์อยู่เสมอ อาจารย์ก็มีโอกาสที่จะอธิบายขยายธรรมให้ศิษย์ได้รับฟังอย่างกว้างขวาง
อนิจจา ข้อนี้หนีไม่พ้น เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ในพรรษา ธรรมเหล่านี้ปรากฏขึ้นกับข้าพเจ้าอย่างกะทันหัน คือวันหนึ่ง หลังทำวัตรนั่งภาวนา เลิกกันแล้วทยอยกลับกุฏิข้าพเจ้ารู้สึกปวดท้องขึ้นทันที แรกก็ทนไว้ไม่บอกใคร เอาเข้าจริง ๆ ทนไม่ไหวต้องบอกเพื่อนที่อยู่ใกล้ว่า ผมปวดท้อง จะทนไม่ไหวแล้ว เพื่อนก็บอกหมู่พวกกันแต่ไม่บอกอาจารย์ ใครมียาใครรู้ยาอะไรก็เอามาฉันมาแก้ รู้สึกว่าอาการปวดมันไม่ยอมหาย จุกเข้าหัวใจแน่นหายใจไม่ออก หมู่เพื่อนก็บีบนวดกันเท่าที่จะช่วยได้ สมัยนั้นโรงพยาบาลที่สกลนครก็ยังไม่มี มีแต่หมอแผนโบราณ ประมาณเวลาตี ๑ เห็นจะได้ หมู่เพื่อนก็นั่งเฝ้าบ้างนอนบ้างบ้างก็กลับกุฏิ ความรู้สึกของใจบอกตัวเองว่า คราวนี้คงไม่มีใครช่วยเราได้แน่ ในขณะที่จิตวิตกวิจารณ์อยู่นั้น เกิดความรู้สว่างขึ้นในรู้จิตจึงหันกลับวับ..เข้าไปตั้งอยู่ที่รู้ หมดความรู้สึกทางกาย เพื่อนกันที่เฝ้าก็คงเข้าใจว่าเรานอนหลับแล้วจึงกลับกุฏิกันหมด พอรู้สึกตัวขึ้นก็ ๗ โมงเศษ หมู่เพื่อนกลับจากไปบิณฑบาต พอดีเณรรูปหนึ่งไปถามอาการแล้วเอาบาตรไปศาลาฉันรวมกับหมู่ หลังจากนั้นก็อยู่ด้วยมรณัสสติเป็นอารมณ์
สมจริงที่นักปราชญ์ทรงสมมติ เรียกความตายว่า พญามัจจุราชผู้มีอำนาจใหญ่ในไตรโลก ถึงใครจะรวบรวมสมัครพรรคพวกบริวาร สะสมอำนาจจากการสร้างความดี (อิสริยยศ หรือ บุญฤทธิ์) เพื่อต่อสู้พญามัจจุราชนี้ก็ไม่มีทาง เพราะเขาเป็นเจ้าครองไตรโลก ใครจะสั่งสมความดีหนีไปหลบซ่อนอยู่ ณ มุมใดในไตรโลกเขาก็ตามทันทั้งนั้น นอกจากศึกษากลยุทธ์ หาจุดอ่อนของมัจจุราชดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าเขาเป็นเจ้าครองไตรโลก คำว่าไตรโลกก็มี กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี้เป็นโลกของพญามัจจุราช การศึกษากลยุทธ์เพื่อเอาชนะก็คือ ใช้ปัญญาวุธ อาวุธ คือปัญญา ทำลายกำลังพลของเขาให้แยกจากกัน เพื่อให้หมดกำลังเช่น กามโลกก็ มีกำลังพลอยู่ ๖ กองพล คือ กองรูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ ผัสสะ ๑ กองอารมณ์ ๑ ทีนี้เราต้องศึกษาดูว่าเราจะตีกองพลไหนก่อน สมมุติว่าเราจะตี กองพลที่ ๑ ซึ่งเป็นกองพลหลัก เราก็ต้องรวบรวมพลให้พร้อมทั้ง ๓ เหล่าทัพ คือศีล สมาธิ ปัญญา จู่โจมเข้าทำลายอย่างให้ตั้งตัวติด อย่าให้รวมพลได้อีก กล่าวคือใช้ศีล สมาธิ ปัญญา พิจารณาแยกกองรูปออกไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม แล้วเสนาของพญามัจจุราชที่เป็นกำลังกำบังหลอกลวงให้เห็นว่า เป็นตัวตนเป็นเขาเป็นเราเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นของสะอาดสวยงามทำให้หลงชมชอบ รักใคร่พอใจยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในผัสสะ ในธรรมารมณ์ ก็จะกระจายหายไปใจเป็นอิสระ
ชนะกองทัพที่ ๑ ของพญามัจจุราชได้แล้วพญามัจจุราช ก็จะถอยทัพไปตั้งอยู่ในรูปโลกต่อไป ทีนี้ถ้าเราจะรุกคืบหน้าต่อไปก็ต้องใช้กำลังพลของเรา คือศีล สมาธิ ปัญญา เคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย แล้วคุมเอาไว้อย่าให้ศัตรูหลบซ่อนเข้ามาได้ ช่องทางที่ศัตรูจะเข้ามาได้ก็คืออโยนิโส การไม่กำหนดเอาไว้ในใจ เมื่อไม่กำหนดไว้ในใจแล้ว กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็จะแทรกเข้ามาทันทีเหมือนหน่วยก่อวินาศกรรม เหล่านี้แทรกเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถรุกคืบหน้าได้ในที่สุดก็เกิดความกังวล กำลังพลของตนก็เกิดความระส่ำระสายแตกจากกัน และหมดกำลัง ดังนั้นการที่จะเอาชนะ จะต้องมนสิการคือกำหนดเอาไว้ในใจ สำรวจตรวจดูทุกจุดที่ตนทำลายได้แล้ว แม้ที่ทำลายยังไม่ได้ก็จงกำหนดจุดป้องกัน ศึกษาอ่านสถานที่เหล่านี้ไว้ให้พร้อมเพื่อบุกทำลายต่อไป กลยุทธ์เหล่านี้พระพุทธองค์และพระอริยะสาวกทั้งหลาย ทรงใช้ปราบพญามารและเสนามารได้ผลมาแล้ว เป็นวิชาพิชัยสงครามอย่างเลิศแท้ทั้งใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยและไม่สงวนลิขสิทธิ์
◎ เผยแผ่กระแสธรรม
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้เที่ยวจาริกเดินธุดงค์เผยแผ่กระแสธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สั่งสอนพุทธศาสนิกชน ให้ทำดี ละชั่ว ชำระจิตใจให้ผ่องใส ดำรงชีวิตตามหลักศีลธรรม เป็นคนดีของสังคม ท่านได้เมตตาเล่าว่า หลังจากออกพรรษาปี ๒๔๙๕ รออยู่ให้ฝนหยุดตก ดินแห้งก็พอดีถึงปีใหม่ ๒๔๙๖ ท่านอาจารย์ถวิล ซึ่งชวนกันไว้แต่ในกลางพรรษาว่าจะพาไปเที่ยวทางภาคกลางและภาคเหนือ ท่านก็พรรณาว่าที่นั้นก็ดี ที่โน้นก็เหมาะ ท่านไปเห็นมาแล้วสมัยเป็นทหาร เราก็นึกอยากไปเหมือนกันเพราะยังไม่เคยเที่ยวในภาคนี้
ตกลงไปก็ไป อาจารย์สุพัฒน์เพื่อนทุกข์เพื่อนสุขกัน ก็อยากไปแต่ติดธุระ จึงฝากน้องชายคือสามเณรสมรให้ไปด้วย ไปกันสามรูป ออกจากสกลนครไปอุดรธานี ไปถึงโคราชได้พบคณะท่านพระอาจารย์วัน ๔ รูปจะไปทางใต้ จึงตกลงไปด้วยกัน แวะพักที่วัดใหญ่ จังหวัดอยุธยา ในราวหนึ่งเดือน แล้วไปพักที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ คณะท่านพระอาจารย์วันลงไปทางภาคใต้ คณะเราขึ้นเหนือไปตั้งจุดที่อุตรดิตถ์ เที่ยวในเขตนั้นราวหนึ่งเดือน แล้วไปสวรรคโลก ไปสุโขทัย แล้วไปพักที่เชิงตีนเขาหลวงราวหนึ่งเดือน แล้วขึ้นเที่ยวเขาหลวง ลงจากเขาหลวงเที่ยวไปทาง จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ เขาพระงาม นิคมบ่อหก ถ้ำหนองดินดำ จ.ลพบุรี บ้านลำไย จ.สระบุรี อ.บ้านนา จ.นครนายก ถ้ำสาลิกา จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา บางพระ ศรีราชา บางละมุง สัตหีบ จ.จันทบุรี เดินบ้างขึ้นรถบ้างส่วนมากเดินเป็นการใหญ่ เราก็พอทนได้แต่คิดสงสารสามเณรตัวเล็กๆ ซึ่งไม่เคยทนทุกข์ทรมานถึงขนานนี้ พักแต่ละแห่งอย่างมากในราวเดือนหนึ่ง ส่วนมากเจ็ดวันห้าวันเป็นอันว่าการเที่ยวธุดงค์คราวนี้ ไปแบบไม่มีจุดหมาปลายทาง
◎ จังหวัดจันทบุรี
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้เดินธุดงค์บุกป่าฝ่าดงช้างดงเสือมาก็มากมายหลายจังหวัด เมื่อถึงจังหวัดจันทบุรีท่านได้ลิขิตว่า เอาล่ะ..ระหว่างทางที่เที่ยวจะไม่กล่าวอะไรให้พิสดาร เพื่อประหยัดเวลาและหน้ากระดาษจะกล่าวเฉพาะตอนถึงจันทบุรีทีเดียว ไปถึงจันทบุรีก็จวนใกล้เข้าพรรษาไปพักที่วัดเขาแก้ว แล้วท่านพระอาจารย์ถวิลก็ชวนไปจำพรรษาที่ดงบ้านยางระหง สมัยนั้นยังเป็นดงหนาป่าทึบเชื้อมาลาเลียก็ชุม ตกลง..ไปก็ไป แต่สามเณรขอฝากไว้ที่วัดเขาแก้ว เสร็จแล้วอาจารย์ถวิลก็พาไปนมัสการเจ้าคณะจังหวัด บอกความประสงค์ว่าจะไปจำพรรษาที่บ้านยางระหง เจ้าคณะจังหวัดก็ว่า “อย่าไปเลยท่านลำบากเปล่า เดี๋ยวเป็นไข้เดือดร้อนทั้งตนเองและคนอื่น มรรคผลไม่ได้มีอยู่แต่ในดงหรือในป่าอย่างนั้นดอก ถ้าอยากทำความเพียรจริงๆ เลือกเอาวัดเขาแก้ว เขาน้อย ท่าแฉลบ สถานที่ก็สบายอาหารก็สบาย คนก็สบาย เห็นไหมอาจารย์กรรมฐานไปอยู่คราวก่อนเป็นไข้ ได้หามออกจากดงในพรรษาไม่เห็นได้มรรคได้ผลอะไร” อาจารย์ถวิลนิ่งฟังท่านพูด เราก็ฟังและไม่ตอบ
จากนั้นก็ไปนมัสการลาครูบาอาจารย์ที่วัดป่าคลองกุ้งตลอดถึงลาโยมที่นั้นด้วย ซึ่งวัดนี้อาจารย์ถวิลเคยอยู่มาก่อน พอเขารู้ว่าจะไปอยู่บ้านดงยางระหงเท่านั้นแหละ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่าไม่ควรไปไม่ให้ไป คนสนิทกับท่านก็ว่าถ้าบอกไม่ฟังเป็นไข้อย่าออกมาที่นี้นะ อาจารย์ถวิลก็ได้แต่ฟัง เราก็นึกในใจว่าเอ..ทำไมเขาถึงกลัวกันหนักหนา แล้วคนในถิ่นนั้นเขาอยู่กันอย่างไรทำไมเขาจึงอยู่ได้แต่ไม่พูด เสร็จแล้วจึงได้กลับไปพักที่วัดเขาแก้ว รอว่าเมื่อไรอาจารย์ถวิลจะพาเข้าไปในดงยางระหง ฝนก็ตกทุกวันจนกระทั่งถึงเดือนแปดขึ้น ๑๑ ค่ำ ใกล้เข้าพรรษาเต็มทีเห็นท่านเฉยอยู่จึงถามว่า “ไหนว่าจะไปจำพรรษาที่ยางระหง จะไปเมื่อไรอีกสี่วันจะเข้าพรรษาแล้ว” ท่านย้อนถามว่า “ท่านว่าไง” เราก็ตอบท่านว่า “ผมไม่ว่าอะไร ถ้าสมมุติว่าเราไปอยู่แล้วเป็นไข้ตาย คนที่นั้นเขาคงเผาให้ถ้าไม่เผาก็เหม็นเขาเอง หรือครูบาจะไม่ไป ถ้าไม่ไปจะไปจำที่ไหนนี้ก็ใกล้เข้าพรรษาแล้ว” เราจึงค่อยดูว่าจะจริงอย่างพูดหรือพูดเล่นเฉยๆ เห็นท่าจะล้มเหลวจึงได้ถามท่าน พอเรากระตุ้นท่านก็มีกำลังขึ้น บอกว่า “ถ้าอย่างนั้นไปก็ไป”
ตกลงเข้าไปอยู่ดงยางระหงวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ บอกความจำนงแก่โยมที่นั้นว่าจะมาอยู่จำพรรษา เขาก็ดีใจแล้วพาเดินดูสถานที่ต่างๆ ชอบตรงไหนเขาให้ทั้งนั้น แต่ว่าดูตรงไหนก็เป็นดงหนาป่าทึบ ตกลงเอาต่อจากที่เขาถางไร่ปลูกข้าวที่รื้อไม่หมด วัน ๑๒ ค่ำ เที่ยวดูสถานที่ ๑๓ ค่ำ หาไม้ปลูกกุฏิพร้อมทั้งปราบที่ เสาก็เอาไม้ทุบเปลือก ฝาและหลังคาใช้ใบระกำสดๆ อย่างนั้นแหละ พื้นก็เอาต้นหมากสับเป็นฟากปู พอวัน ๑๕ ค่ำ กุฏิเสร็จแต่ศาลาที่ฉันยังไม่มี ต้องไปร่วมกันทำบุญวันพระที่บ้านของโยมเสียก่อน แรม ๑ ค่ำ จึงได้ร่วมกันเสียสละงานมาสร้างศาลากว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตรจึงเสร็จ พอถึงวันพระแรม ๘ ค่ำ โยมมาเต็มไม่มีที่นั่ง วัน ๙ ค่ำ จึงต้องมาสร้างศาลาต่ออีกสองข้าง ถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ ญาติโยมมาทำบุญเต็มไม่มีที่นั่งอีก ขึ้น ๑ ค่ำ จึงต้องมาต่อศาลาออกด้านหน้าด้านหลังอีก พรรษานี้สัญญากันไว้ว่า เป็นตายไม่ต้องออกและไม่ต้องบอกญาติพี่น้องด้วย การปรารภความเพียรเป็นอันว่ารู้กันพักผ่อนแต่น้อย อยู่ด้วยการมีสติ วันพระมีคนมานอนวัดจำศีลภาวนา ๖๐ – ๗๐ คน มีบ้านประมาณ ๔๐ หลังคาเรือน วันพระส่วนมากไม่นอนอบรมภาวนาตลอดคืน รู้สึกว่าเขาสนใจกันมาก เพราะเป็นของใหม่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง คล้ายกับปลาพบน้ำใหม่ย่อมรื่นเริงเพลิดเพลินเป็นธรรมดา เจ้าสุนัขก็มาอาศัยอยู่ด้วยหนึ่งตัวแต่อยู่ได้ไม่นานเจ้าเสือก็ย่องมาจับเอาไปกินเสีย ในขณะที่แกนอนหลับอยู่ข้างกองไฟ อยู่สามเดือนปลอดภัยปกติ
ออกพรรษาท่านพ่อลี กับญาติโยมจันทบุรีก็ไปเยี่ยมโดยนำผ้าป่าไปทอดให้ด้วย ญาติโยมที่นั้นซึ่งปรารภกันแต่ในพรรษาอยากจะสร้างเป็นวัดให้มั่นคงถาวรต่อไป มีผู้ศรัทธาจะสร้างศาลาถาวรถวายหนึ่งหลัง กุฏิถาวรห้าหลัง ขอนิมนต์อยู่เป็นประธานให้อย่างน้อยสัก ๕ พรรษา พระอาจารย์ถวิลรับอยู่ให้ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ตั้งเป็นวัด คือ วัดธรรมหรรษาราม แต่เราไม่รับและออกเที่ยวธุดงค์ต่อ คราวนี้ไปกันกับหลวงตาสอย ไปทางอำเภอท่าใหม่ ออกชายทะเล พักเรื่อยไป ที่พักนอนก็มีบ้านป่าแดง บ้านม่วง บางกระชัย อ่าวหมู อ่าวกระทิง ท่าแฉลบ
◎ ทิฏฐิเจ้าถิ่น
การพักอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีนี้ หลวงตาคำดี ท่านถูกโยมเจ้าฐิ่น ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นนักปราชน์ ฉลาดกว่าฝูงชนทั้งหลาย แต่หารู้ไม่ว่าการที่แสดงตนเช่นนั้น เป็นการกระทำของบุคคลผู้ไม่ใช่บัณฑิตที่ชาญฉลาด หลวงตาท่านเล่าว่า ขณะที่พักอยู่บ้านป่าแดง วันหนึ่งหลังจากฉันเสร็จมีโยมคนหนึ่งมาถามว่า “ท่านครับผมภาวนาไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร” เราก็ถามว่า “เป็นอย่างไร” แกก็เล่าให้ฟังว่า “หลังจากผมไปไหนไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน วันหนึ่งมีพระธุดงค์มาพักอยู่ที่สวนมะม่วงหลังบ้าน ก็ได้ไปหาท่านและทำบุญ แล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไป แต่ก่อนจะไปท่านสอนให้ภาวนาว่าให้นึก “พุทโธ” พร้อมกับกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ผมก็ทำตามที่ท่านสอนทุกวันเพราะไปไหนไม่ได้ ก็นึก “พุทโธ” อยู่เรื่อยไป ไม่นานนักวันหนึ่งนั่งนึก พุทโธ ดูลมหายใจอยู่ก็รู้สึกว่ากายเบาใจปลอดโปร่ง สักครู่เกิดแสงสว่างจ้าขึ้นมาแล้วก็เห็นสิ่งต่างๆ สารพัดอย่างวิ่งผ่านแสงสว่างนั้น ลักษณะคล้ายรูปภาพที่เขาฉายหนัง ซึ่งเกิดจากฟิล์มที่เขาฉายผ่านแสงสว่างของไฟ แล้วปรากฏเป็นภาพต่างๆ แล้วแต่ว่าจะมีรูปอะไรผ่านเข้าไป ผมเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ครั้งนั้นจนบัดนี้ก็ยังเป็นอยู่” เราถามว่า “ขนาดนี้ยังเป็นอยู่หรือเปล่า” “ยังเป็นอยู่ครับ” แกตอบ
เออ..ดี นี่นะโยมนี้เขาเรียกว่าสมถะภาวนา จิตสงบเป็นสมาธิเป็นยอดของบุญในทางโลกีย์ เรียกว่า เป็นโชคเป็นลาภอันประเสริฐของโยมแล้ว เพราะเป็นอริยทรัพย์เป็นผู้ไม่อาภัพ เป็นผู้ไม่จนอีกต่อไปหาได้ยากผู้ที่จะทำได้ แต่ว่ายังไม่ดีเลิศไม่ประเสริฐเท่าวิปัสสนาภาวนา แกถามต่อว่า “ทำอย่างไรเรียกว่าวิปัสสนาภาวนา” วิปัสสนาภาวนาก็คืออาศัยสมถะภาวนาจิตสงบเกิดแสงสว่างนี้แหละ แสงสว่างหรือความสว่างของจิตนี้เรียกว่าปัญญา คือรู้เห็นทางตาจิตไม่ใช่ตาเนื้อ ทีนี้จะทำให้เป็นวิปัสสนาภาวนา ก็ต้องกำหนดน้อมเอาแสงสว่างหรือความรู้เห็นที่ฟุ้งออกจากจิต ไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกนั้นให้หันกลับเข้ามาดูสภาวธรรมภายใน คือ รูปธรรม นามธรรม หรือดูเรื่อง ของกายของจิตอันนี้ จนเห็นตามสภาพความเป็นจริง คือเกิดความรู้ความเห็นชัดเจนขึ้นในจิตว่า สภาวธรรมทั้งปวง ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งหยาบและละเอียด ทั้งเลวทรามและประณีต ทั้งไกลและใกล้ อดีต อนาคต ปัจจุบัน มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน จิตเมื่อรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ก็จะเห็นเป็นเพียงสภาวธรรมเครื่องรองรับเท่านั้น ไม่เป็นของใครไม่อยู่ในอำนาจของใคร
เมื่ออธิบายให้แกฟังเป็นที่เข้าใจแล้ว แกเกิดความปีติยินมาก จึงขอนิมนต์ให้ไปพักที่สวนมะม่วงหลังบ้านแก เห็นว่าแกไม่แข็งแรงเดินไกลไม่ได้จึงรับไปพักให้ ตกค่ำมาญาติโยมใกล้เคียงในเขตนั้น ก็ไปร่วมฟังธรรมรับการอบรมภาวนา พักอยู่ในราวเดือนเศษโยมที่ได้สมถะก็เจริญวิปัสสนาได้ ส่วนผู้ฝึกหัดใหม่ก็ได้สมถะบ้างวิปัสสนาบ้าง ปรากฏว่าแต่ละคืนมีคนไปฝึกหัดเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็มีโยมอีกคนหนึ่งอยู่ในถิ่นนั้น ซึ่งถือตัวเองว่าเป็นนักปราชญ์ผู้รู้ไม่ยอมมาสนทนาด้วย แต่ปล่อยข่าวว่าสักวันจะไปถามปัญหา เราก็รับฟังไว้พอถึงวันแกจะไป แกก็ประกาศบอกประชาชนว่า “วันนี้จะไปถามปัญหากับพระใครอยากฟังก็ไปฟัง” ปรากฏว่าวันนั้นคนมากันมากกว่าทุกวัน ได้เวลาเราก็นำไหว้พระสวดมนต์โดยย่อ พอจบนักปราชญ์ที่ว่านั้นก็มาถึงพอดี แต่แปลกว่ามาถึงก็มานั่งด้านหลัง เราก็บอกเชิญมาทางนี้เถอะโยม แกกลับตอบว่า “ตรงนี้ก็ได้ครับ ผมก็ถือพุทธเหมือนกัน” เราสังเกตและฟังเสียงดูแกจะเมานิดๆ คงจะย้อมใจให้กล้าอย่างไรไม่ทราบ เราบอกซ้ำว่ามาทางนี้เถอะจะได้เห็นหน้าเห็นตากัน แกถึงได้ลุกมานั่งข้างหน้า ประชาชนเงียบจ้องมองดูแกเพราะแกประกาศว่าจะมาไล่พระ
สักครู่แกก็พูดออกมาว่า “ท่านครับ ที่ผมมานี้อยากจะมาถามปัญหากับท่าน” เรียกว่าแกมาแบบโดดๆไม่มีชั้นเชิงไม่เล่นลูกไม้กันล่ะ เราก็ตอบว่า ยินดีมากโยม เพราะอาตมากำลังศึกษาหาความรู้อยู่ ถ้าตอบไม่ได้ก็ขอให้โยมอธิบายให้ฟังด้วยก็แล้วกัน แกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ โยมที่รอฟังอยู่คงระทึกใจไม่รู้ว่าแกจะมาอีท่าไหน แล้วแกก็หันหน้าไปทางประชาชน ชูคอขึ้นเล็กน้อยคล้ายกับจะบอกว่าคอยฟังนะ บางคนก็เชียร์ว่าเอาเลยๆ แกก็ไม่เล่นสำบัดสำนวนอะไรมาก ถ้าเปรียบเป็นนักมวย ก็เป็นมวยไม่มีชั้นเชิง ตรงเข้าไปชกทันทีแบบนี้จะเรียกว่าฉลาดก็ได้โง่ก็ได้ ที่ว่าฉลาดเพราะไม่ให้คู่ต่อสู้ตั้งตัว ที่ว่าโง่เพราะไม่ดูชั้นเชิงคู่ต่อสู้เสียก่อน นี้ออกนอกเรื่องไปหน่อย
ทันใดนั้นแกก็ถามขึ้นทันทีว่า “ท่านครับ คนที่รับศีลแล้วไปดื่มเหล้ากับคนที่ดื่มเหล้าแล้วไปรับศีล อันไหนศีลขาด อันไหนศีลไม่ขาด” เรียกว่าถามสกัดหน้าสกัดหลัง เราก็พูดออกไปว่า เดี๋ยวก่อนโยม ขอถามสักนิดหนึ่งก่อนว่า ที่โยมถามว่าอันไหนศีลขาดอันไหนศีลไม่ขาดนั้น โยมหมายเอาอะไรเป็นตัวศีล คำว่าขาดมันต้องมีตัวที่จะขาด โยมหมายเอาอะไรขอให้อธิบายให้ฟังก่อน เห็นแก่นั่งก้มหน้านิ่งอยู่ หลวงตาสอยที่ไปด้วยกับเราก็สำทับว่า “ตอบก่อนสิโยม แล้วท่านจะอธิบายให้ฟัง” แกคงนึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรเสียงผู้คนก็เริ่มดังขึ้น บ้างก็ว่าจนมุมแล้วหรือ บ้างก็ว่าหมดภูมิแล้วหรือ เราจึงพูดขึ้นว่า เอาละโยมเมื่อไม่ตอบก็ไม่เป็นไรจะอธิบายให้ฟัง ถ้าสงสัยตรงไหนก็ถามได้ คำว่าศีลว่าตรงๆ ก็แปลว่าปกติ คือปกติทางกาย ปกติทางวาจา เรียกว่าศีล ทีนี้ปัญหามีว่าใครเป็นผู้ประคับประคองกายวาจาให้เป็นปกติ ก็ต้องตอบว่าจิตเป็นผู้ประคับประคองจิตเป็นผู้รักษา
จึงได้ความว่าเจตนาคือจิตที่จะรักษากาย เจตนาที่จะรักษาคำพูดให้ปกติเรียบร้อยไม่ให้ผิดข้อห้าม ๕ ข้อ ๘ ข้อ ๑๐ ข้อ ๒๒๗ ข้อ แล้วเราก็สมมุติเรียกข้อห้ามนั้นๆ ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แท้จริงแล้วสำเร็จมาจากเจตนา คือจิตตัวเดียวเป็นตัวศีล ทีนี้คำว่าขาดและไม่ขาดทุกท่านคงตอบเองได้แล้ว มิใช่หรือว่าคือเจตนาที่จะกระทำทางกาย เจตนาที่จะพูดออกเป็นวาจา ให้ผิดจากข้อบัญญัติห้ามนั้นๆ จะเรียกว่าศีลขาดหรือไม่มีศีลก็ได้ ทีนี้ถ้ามีเจตนาที่จะรักษาการกระทำทางกาย ทางวาจา ไม่ให้ผิดพลาดจากข้อบัญญัติห้ามนั้น จะเรียกว่าผู้มีศีลไม่ขาดก็ได้ จะเรียกว่าผู้มีศีลสมบูรณ์ก็ได้ ทีนี้ผู้จะมีศีลหรือไม่มีศีล ไม่ได้อยู่ที่เปล่งวาจาสมาทาน รับหรือไม่รับกับพระ แต่อยู่เจตนารักษาหรือการไม่รักษา ฉะนั้นการกระทำทุกอย่างจึงมีเจตนาเป็นหลักเป็นประธาน ดังพุทธภาษิตที่ว่า
เจตนาหํ ภิกฺขเว สีลํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเจตนานั้นแลเป็นตัวศีล
เจตนาหํ ภิกฺขเว ปุญฺญํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเจตนานั้นแลเป็นตัวบุญ
เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเจตนานั้นแลเป็นตัวกรรม
เป็นอันว่านักปราชญ์ที่มาถามปัญหาก็จบลงด้วยการนั่งฟังแต่อย่างเดียว เปิดโอกาสให้ถามอีกก็ไม่ถาม จึงอบรมในสมถะภาวนาต่อ จนเห็นว่าควรแก่เวลาก็บอกให้หยุด ขณะที่หลายคนหยุดยกมือขึ้นไหว้แล้วกราบนั้น มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ท่านอาจารย์ค่ะ ดิฉันออกไม่ได้ เราถามว่า เป็นอะไร ตัวมันแข็งแขนขาแข็งหมดยกไม่ขึ้น เอ้า..ถ้าอย่างนั้นกำหนดลมหายใจระลึกอยู่ที่ลมรู้หรือยัง แก่ตอบว่า รู้แล้ว ให้กำหนดลมพร้อมกับความรู้นั้น ปล่อยไปตามแขนขวาแขนซ้ายแล้วปล่อยไปตามขาขวาขาซ้าย แล้วกำหนดทำความรู้ให้ทั่วหมดทั้งตัว แล้วแกก็ออกได้ สมถะดังที่โยมผู้หญิงคนนี้เป็นเรียกว่าขาดวสี คือความชำนาญ ผู้ที่จะชำนาญในสมถะภาวนาต้องฝึกคุณธรรม ๓ ประการให้มีพร้อมคือ ๑.ระลึกได้ในอารมณ์นั้น ๒.รู้อารมณ์นั้น ๓.เพ่งอยู่ที่อารมณ์นั้น แม้อารมณ์นั้นจะเปลี่ยนจากหยาบ เป็นกลาง เป็นละเอียด คุณธรรม ๓ ประการนี้ ก็ต้องเปลี่ยนตามพร้อมๆ กัน จนกระทั่งละเอียดเป็นหนึ่งที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ ธรรม ๓ ประการนี้จะรวมอยู่ที่จุดเดียวกัน เวลาคลายจะออกก็จะถอนจากอารมณ์ละเอียดมาเป็นกลาง หยาบ ธรรม ๓ ประการนี้ จะมีอยู่พร้อมถ้าฝึกดังกล่าวนี้ก็จะชำนาญในสมถะภาวนา และจะก้าวสู่วิปัสสนาภาวนาได้ง่าย ถ้าไม่ชำนาญก็จะติดอยู่ที่สมถะ คือจะเพ่งก็ตามจะบริกรรมก็ตาม พอจิตปล่อยอารมณ์หยาบก็จะถึงอารมณ์ละเอียดทันที แล้วก็เสวยสุขอยู่ในอารมณ์ละเอียดนั้นจนอิ่มตัวก็ปล่อยอารมณ์ละเอียด ถอนออกมาทันทีเป็นจิตปกติ เรียกว่าไม่เป็นจิตตานุปัสสนา สติจึงไม่สามารถถอนราก โลภะ และโทสะได้
ครั้นธุดงค์อยู่ในที่ต่างๆ ถึงเดือนพฤษภาคมก็ได้กลับเข้าไปอยู่ที่วัดยางระหงอีก คราวนี้สุขภาพผิดปกติ อาจเป็นเพราะร่างกายรับอากาศทะเลหลายเดือน แล้วเข้าไปอยู่ในดงทันที ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันก็เลยรู้สึกปวดศีรษะทุกวัน อากาศยิ่งเย็นยิ่งปวดมาก เวลาปวดขึ้นมาน้ำตาร่วงเอง ปวดขึ้นจากต้นคอแล้วจี้ไปที่ขมับทั้งสองข้าง เวลาภาวนาไม่รับรู้อาการก็บรรเทาบ้าง แล้วก็รู้สึกอีกคล้ายกับแบกของหนักทำงาน ทนอยู่จนจวนจะเข้าพรรษาเห็นว่าจะไม่สะดวกในการประกอบความเพียร จึงออกไปหาหมอที่โรงพยาบาลตรวจเช็คร่างกาย แล้วหมอก็จัดยาแก้ปวดให้และบอกว่าไม่มียารักษา(จะหมายถึงโรคประสาทหรืออย่างไรเราก็ไม่ทราบ) ฉันยาแก้ปวดก็ไม่ได้ผล ฉันบ่อยก็บีบหัวใจ
เลยต้องอยู่ด้วยความอดทนมีสติตั้งจิตมั่นเอาไว้ บางคราวก็ปล่อยแกล้งทำเป็นลืมบ้าง แต่ก็ไม่นานรู้สึกขึ้นมาก็ปวดอีก จวนเข้าพรรษาจึงขออนุญาตอาจารย์ถวิล ไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อากาศที่นั่นดีหน่อยและด้านหลังวัดมีป่าช้าเหมาะในการปลีกตัวไปปรารภความเพียร แต่ที่วัดยางระหงไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์จึงต้องรับไปสวดให้ตลอดพรรษา ระยะทางเดินราว ๑๐ กิโลเมตร รถไม่มี
เป็นอันว่าพรรษาปี ๒๔๙๗ นี้ จำอยู่ที่วัดเขาแก้ว ขออนุญาตสมภารและหมู่คณะเข้าไปอยู่ที่ป่าช้าด้านหลังวัด วันพระจึงมาร่วมทำวัตรสวดมนต์กับหมู่คณะ ท่านก็เมตตาอนุญาตเรา อยู่ในป่าช้ามีกระต๊อบเล็กๆ พออาศัยนับว่าเป็นโอกาสดี คราวนี้เราตกลงปลงอนิจจตา ตั้งหน้าดูความตายไม่หนี ยาก็ไม่ฉันไม่ขวนขวายอีก พิจารณาดูความตายเป็นอารมณ์ดูว่า ธาตุขันธ์เหล่านี้ อะไรจะดับก่อนดับหลัง พิจารณาไปพิจารณามาก็ลืมสนใจกับอาการปวด (อาการปวดที่เคยเป็นนั้นเห็นเราไม่สนใจอาจเคียดแค้นหนีไปก็ไม่ทราบ) ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอาการปวดคราวนี้นั้นหายไปจากธาตุขันธ์ในเวลาใด เพราะใจจดจ่อดูอยู่ที่ธาตุจะแตกขันธ์จะดับเท่านั้น เป็นอันว่าโรคปวดคราวนี้หายไปเพราะเราไม่สนใจ จะเรียกว่าหายเพราะธรรมโอสถก็คงพอได้ แต่ยังมีความรู้สึกว่าเราตายเขาตาย ของเราตาย ของเขาตายเรียกว่ามีเขามีเรา ยึดเขายึดเราลักษณะนี้ ก็คืออุปทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เรียกว่ายังรู้ยึด รู้ไม่ปล่อย ยึดรู้เข้าไปอีก
◎ ร่วมงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ
ปี ๒๔๙๗ ออกพรรษาแล้วไม่นาน ทราบข่าวว่าท่านพ่อลี จะนำพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากประเทศอินเดีย ไปบรรจุที่เจดีย์วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี ตั้งขบวนแห่จากวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ไป ชาวจันทบุรีทั้งพระและโยมไปกันมาก โดยจัดรถพิเศษไป เราก็สมัครไปกับเขาด้วย แห่ไปแล้วตั้งสมโภชที่วัดมณีชลขัณฑ์อีกหนึ่งเดือนจึงบรรจุ ผู้ที่ไม่รีบกลับก็สมัครไปปั้นพระเครื่องเล็กๆ ที่วัดเขาพระงาม เพื่อเตรียมสมโภชฉลองสองพันห้าร้อยปี ที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เราก็สมัครไปทำงานร่วมกับพรรคพวกด้วย มีทั้งพระ เณรและโยมมากคนด้วยกัน ในขณะที่อยู่ปั้นพระนั้นกลางวันทำงาน กลางคืนเราขึ้นไปอยู่บริเวณลานพระพุทธรูปองค์ใหญ่บนเขา โดยปรารภความเพียรในอิริยาบถสาม คือยืน เดิน นั่ง ไม่นอน อยู่ได้ราวครึ่งเดือน อาจจะเพราะหนาวจัดลมพัดแรง ธาตุจึงพิการก็เป็นได้ เป็นไข้อยู่ ๖ – ๗ วัน แต่ยังฉันได้เดินได้ จากนั้นมาอาการทรุดหนักลงทุกวัน จนลุกจะไม่ได้ฉันก็ไม่ได้ อ่อนเพลียหมดกำลัง สุดท้ายเราพิจารณาเห็นว่า หากตายอยู่บนเขานี้ก็จะลำบากแก่หมู่คณะ จวนค่ำวันหนึ่งเราจึงได้พยายามลงจากเขา ขยับกายลงท่านั่งบ้าง คลานบ้าง จนถึงกุฏิตีนเขา คลานเข้าไปพักอยู่กุฏิริมสุด และมีหลวงตาสอยอยู่ที่นั่น จากนั้นรู้สึกตาพร่า หูชักไม่ค่อยได้ยินเสียงแล้ว แต่ใจรู้สึกปกติสบายคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น (นี้บางคนก็เข้าใจว่าจิตหลุดพ้น แม้เราเองระยะนั้นก็สำคัญเช่นนั้น) แท้จริงจิตเพ่งอยู่กับรู้เป็นอารมณ์เท่านั้น หรือถ้าจะเรียกตามธรรมสมมุติก็คงเป็น “วิญญานัญจายตนะ” เท่านั้นเอง ทราบทีหลังว่า หลังจากเรานอนเฉยอยู่โดยไม่รู้สึกตัวนั้น หลวงตาสอยซึ่งเคยเป็นหมอยาแผนโบราณ ได้จับดูชีพจรรู้ว่าเป็นอาการหนักก็ไปเรียกหมู่พวก ช่วยกันหายามาพยาบาลรักษา ดูเหมือนจวนสว่างเราจึงรู้สึกตัว เป็นอันว่ายมบาลคงปล่อยเราก่อนฝากทัณฑ์ไว้ หรือขอรับส่วนแห่งบุญกุศล ที่เราบำเพ็ญอยู่ก็ไม่ทราบแหละ เราอุทิศให้เสมอและทั่วไปไม่เลือกหน้า
◎ เดินธุดงค์ไปภาคเหนือ
หลังจากนั้นไม่นานถึงเทศกาลมาฆบูชา หยุดพักจากทำงาน เราก็ถือโอกาสไป จ.เชียงใหม่องค์เดียว โดยให้โยมที่ลพบุรีซื้อตั๋วรถไฟ ส่งขึ้นรถแล้วแกก็กลับ รถออกเราก็นั่งภาวนาเรื่อยไป บางครั้งสัญญาหูได้ยินว่าทุกข์คักคักๆๆ (ทุกข์จริงๆ) บางครั้งสัญญาก็หมายว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง (เสียงล้อรถไฟกระทบราง) ฟังแล้วเพลินดีพอสว่างนึกว่าถึงเชียงใหม่ที่ไหนได้เป็นอุตรดิตถ์ ผู้คนเขาซื้อข้าวปลาอาหารไปทานกัน เรานั่งเฉยอยู่เพราะไม่มีอัฐจะซื้อ และจะบิณฑบาตหรือก็ใช่กาลเทศะ แต่ก็ได้ตั้งใจไว้แล้วว่าการเดินทางครั้งนี้ ถ้าไม่มีผู้ศรัทธานำอาหารมาถวายก็จะไม่ขวนขวาย ขณะที่นั่งชำเลืองดูภูมิประเทศและผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาอยู่นั้น มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๔๐ เศษ เข้ามาใกล้นั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวว่า “นิมนต์ฉันนะคะ” เราก็มองแก แกก็กล่าวอีกว่า “นิมนต์ฉันได้แล้วค่ะ นี้ก็จวนจะเจ็ดโมงแล้ว” เราก็แสดงกริยารับโดยการนิ่ง แกก็นำอาหารมาถวายพร้อมทั้งน้ำ เราก็ฉันไปนึกไป โยมผู้หญิงคนนี้ช่างสังเกตและมีอัธยาศัยใจบุญ รู้จักฉวยโอกาสในการเอาบุญ ชีวิตเราวันนี้สุขสบายเพราะเทพธิดาผู้ฉลาด เห็นโอกาสอันเป็นแก่นสาร เราก็อนุโมทนาด้วยใจเพื่อให้ถูกกาลเทศะ ไม่ช้ารถก็ออกจากสถานี รถไปถึงเด่นชัยโยมที่ใจบุญแกก็มาลาลงรถไฟที่นั้น เราก็กล่าวอวยชัยให้พรแล้วจากกันไป
๑๘.๐๐ น.วันนั้นรถไฟถึงสถานีเชียงใหม่ เราก็นึกว่าลงรถแล้วจะไปทิศไหนดี ขณะนั้นก็มีตำรวจรถไฟมาถึงถามว่า “ท่านจะไปไหน” ก็บอกว่า “อาตมาจะไปที่ วัดสันติธรรม แต่ไม่ทราบว่าอยู่ทางไหน” “ท่านยังไม่เคยมาหรือ” เราก็ตอบว่า “ยัง” “ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไรผมจะจัดการส่งให้” พอรถหยุด ตำรวจคนนั้นแกก็ช่วยถือบาตรนำส่งขึ้นรถสามล้อ สั่งให้ไปส่งที่วัดสันติธรรม เป็นอันว่าเราเดินทางคราวนี้มีทั้งเทพธิดาและเทพบุตรช่วยอำนวยความสะดวกตลอดทาง “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย การสั่งสมบุญ นำมาซึ่งความสุขหนอ”
◎ จังหวัดเชียงใหม่
ครั้นพอถึงจุดหมายปลายทางคือจังหวัดเชียงใหม่แล้ว หลวงตาคำดีเล่าว่า พักที่วัดสันติธรรมสามคืนแล้วไปวัดหลวงปู่ตื้อ ที่อ.แม่แตง อยู่ฟังเทศน์ท่านหลายวัน วันหนึ่งขณะที่นั่งฟังเทศน์อยู่เกิดนิมิตเป็นแสงสว่าง เห็นเป็นภูเขาเล็กๆ มีพระรูปหนึ่งยืนอยู่แสดงกริยายินดีต้อนรับ ลักษณะคล้ายฝันอย่างนั้นแหละจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ในความรู้สึกถ้าไปอยู่ที่นั้นแล้วเป็นที่สบาย ถามพระในวัดไม่มีใครรู้ไม่เคยไป จึงย้อนกลับไปที่วัดป่าน้ำริน อ.แม่ริม ถามพระที่นั่นจึงทราบว่ามีสำนักสงฆ์อยู่ และบอกว่าจากที่นี่ไปไกลประมาณ…..ก.ม. ทางลำบากเดินขึ้นเขาลงห้วย เราก็ชวนพระที่นั้นเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน เดินทางสามวันจึงไปถึง แต่เป็นผาแด่นไม่ใช่ภูเขาลูกที่เรานิมิตเห็นนั้น แต่ก็พักอยู่ที่นี้ก่อน ส่วนพระที่เป็นเพื่อนไปด้วยกันพักอยู่สองวันก็กลับ โดยพวกกระเหรี่ยงไปส่งอยู่ด้วยกันสามรูปกับพระที่นั้น
วันหนึ่งยกเอาความตายขึ้นพิจารณา โดยการแยกธาตุหยาบธาตุละเอียดและขันธ์ ๕ ทุกส่วน พิจารณาแล้วไม่มีอะไรตายแล้วอะไรตาย ใครตายจิตคือผู้รู้นี้หรือตาย ก็เปล่าทั้งนั้นในที่สุดหาผู้ตายไม่มี ส่วนธาตุขันธ์ก็เพียงแต่แปรสภาพ แยกจากกันกลับสู่สภาพเดิม จิตคือผู้รู้ก็ไม่ตาย เพียงแต่มีอะไรเป็นอารมณ์เศร้าหมองหรือผ่องใส ก็เป็นไปตามอารมณ์นั้น คืนนี้ทั้งคืน ธาตุขันธ์แตกกระจายออกจากกัน ไม่มีใครหลับไม่มีใครนอน นิวรณ์หายหมด “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ…รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวงหนอ” พักอยู่ที่ผาแด่นระยะหนึ่ง แล้วเที่ยวไปในที่ต่างๆ จนไปถึงภูเขาป่ายางหนาด ซึ่งเป็นภูเขาที่นิมิตเห็นเมื่อครั้งฟังเทศน์หลวงปู่ตื้ออยู่ที่แม่แตง เมื่อไปถึงสถานที่นั้นความรู้สึกคล้ายกับกลับมาอยู่ถิ่นเดิม พักอยู่สองสามวัน หมู่พวกก็แยกกันไปอยู่คนละแห่งเพื่อสะดวกสบายในการประกอบความเพียรตามอัธยาศัย เราก็อยู่รูปเดียวอาศัยบิณฑบาตในหมู่บ้านตีนเขา พักอยู่ไม่นานมีชาย ๓ คน หญิง ๑ คน มาปวารณาและแสดงความชื่นชมยินดีด้วย การประกอบความเพียรรู้สึกเป็นที่พอใจ คือใจตั้งมั่นสม่ำเสมอไม่มีเข้าไม่มีออก ไม่มีนอกไม่มีใน ทุกอย่างทั้งนอกในมีสภาพเสมอกัน ทีนี้กิเลสประเภทอาสวะที่ดองอยู่ในสันดาน เมื่อไม่มีโอกาสได้รับสื่อสัมพันธ์จากภายนอก ก็ต้องออกมาแสดงเองในรูปลักษณะต่างๆ เป็นนิมิตที่เรียกว่ามารซึ่งแสดงให้ยินดีหรือยินร้ายก็ได้ ตอนนี้อยู่ที่สติปัญญาว่ามีกำลังคมกล้ามากน้อยแค่ไหน ถ้ากล้าก็สามารถตัดขาด คือไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสภาพธรรมที่รู้ที่เห็นนั้น “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสเย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ถ้าสติปัญญามีกำลังน้อยก็พลอยยินดี เพลิดเพลินต่อกุศลธรรมเหล่านั้น สุดท้ายก็ตกเข้าไปอยู่ในค่ายของมาร สติปัญญาจะมีกำลังมากหรือกำลังน้อย อยู่ที่การประกอบ คือไม่หยุดนิ่งไม่ใช้อย่างเดียว อยู่นิ่ง คือยินดีเสวยอยู่กับอารมณ์ที่เป็นสุข ใช้อย่างเดียว คือใช้ผู้รู้ผู้เห็นดูสิ่งที่รู้ที่เห็น แต่ไม่กลับมาดูผู้รู้ผู้เห็น ที่นำมาเขียนไว้นี้เป็นส่วนหนึ่งของสภาวธรรมซึ่งบางทีอาจเป็นประโยชน์แก่กุลบุตรต่อไป
เป็นอันว่า พ.ศ. ๒๔๙๘ จำอยู่รูปเดียว ที่ภูเขาป่ายางหนาด (ปัจจุบันคีอ สำนักสงฆ์ป่าเมี่ยง) ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ออกพรรษาแล้วก็เที่ยวไปในที่ต่างๆ
จนกระทั่งใกล้เข้าพรรษาปี ๒๔๙๙ จึงไปจำที่วัดป่าน้ำริน อ.แม่ริม พรรษานี้แปลกนิมิตเห็นศาลาและกุฏิ พื้นปูฟากหลังคามุงด้วยหญ้าคา รอบศาลามีต้นไม้ดอกหลายชนิดเหลืองอร่ามหลากสี ทิศตะวันออกมีคลองน้ำไหลและมีกอไม้ไผ่อยู่ริมคลองโดยตลอด ที่ว่าแปลกเพราะมิใช่นิมิตเห็นครั้งเดียวแล้วหาย แต่นิมิตเห็นบ่อยจนกระทั่งออกพรรษา อย่างจะเว้นก็ไม่เกิน ๖ – ๗ วัน เมื่อออกพรรษาตั้งใจว่าเสร็จธุระจะธุดงค์ไปทางทิศที่นิมิตปรากฏนี้ นิมิตนั้นก็หาย เราก็ไม่ได้สนใจกับมัน
◎ เทวดานำอาหารมาถวาย
เสร็จธุระก็ออกจากวัดป่าน้ำริน ไปพักที่ถ้ำเชียงดาวหนึ่งเดือน แล้วธุดงค์ไปถึงถ้ำตับเต่า เห็นสถานที่เหมาะพักอยู่ที่นั้นหนึ่งเดือน แล้วธุดงค์ไปทางบ่อน้ำมัน ต่อไปทาง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พักแห่งละ ๓ คืน ๗ คืน ช่วงที่ต้องเดินทาง นอนกลางดงโดยไม่มีบ้านคน ก็ตอนจากบ่อน้ำมันไป อ.แม่สรวย นึกว่าจะต้องอดฉันสักมื้อก็ไม่เป็นไรเพราะเคยอดอยู่แล้ว พอพลบค่ำก็หาที่แขวนกลดนอน
ตื่นเช้าทำธุรกิจประจำเสร็จ เตรียมเก็บของจะออกเดินทางต่อ ก็เห็นโยมผู้ชายสองคนถือจานข้าวและกับออกจากป่ามาถวาย เอ..แถวนี้ไม่มีบ้านคนโยมมาจากไหนเรานึกในใจยังไม่ได้พูด เขาก็พูดออกมาก่อนว่า “กระผมมาทำธุระอยู่แถวนี้ นิมนต์ฉันเพื่ออนุเคราะห์พวกกระผมบ้างเถอะครับ นานๆ จึงจะได้ทำบุญ แปลกที่เขาไม่ยอมนั่งคุยด้วยถวายเสร็จก็ไป เราก็ไม่ถามนึกถึงธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรมดี ธรรมนำความสุขมาให้” ฉันเสร็จก็ออกเดินทาง มืดถึงอำเภอแม่สรวย เข้าไปในวิหารวัดบ้านขอสรงน้ำ สรงน้ำเสร็จรู้สึกว่าเป็นไข้เพลียมาก เลยพักอยู่สามคืนจึงธุดงค์ต่อไปถึงเมืองเชียงราย ไปพักวัดป่าบนเขาประมาณ ๗ คืน ออกธุดงค์ต่อไปถึงบ้านห้วยขม ซึ่งเป็นบ้านชาวเขาเผ่าไทยใหญ่เขาบอกมีที่พักทางทิศตะวันออก เราตรงไปพอไปถึงก็เห็นศาลากุฏิ ซึ่งมุงด้วยหญ้าคา พื้นปูฟากรอบๆ มีไม้ดอกปลูกไว้เป็นแถวเรียงรายรอบศาลา ช่างเหมือนกับที่นิมิตเห็นทุกอย่าง นี้มันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา คืนนี้ประกอบความเพียรบ้างพักบ้าง กว่าจะสว่างดูเหมือนนานเพราะหนาวจัด ผ้าสังฆาฏิ มุ้ง จีวร เอาซ้อนห่มก็ไม่อยู่
เช้าได้เวลาว่าจะไปบิณฑบาตโยมก็ไปถึงวัดก่อน และนิมนต์บิณฑบาตที่วัด เวลาเราฉันจังหันเขาจะทำวัตรเช้าทุกวัน วันแรกพอฉันเสร็จมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งอายุราว ๖๐ ปีเศษ เขามาใกล้แล้วพูดว่า “เปิ่นว่าข้าเจ้าเป็นบ้าช่วยแนะนำฮื่อข้าเจ้าฟังพ้องเต๊อะ” (เขาว่าดิฉันเป็นบ้าช่วยแนะนำให้ดิฉันฟังบ้างเถอะ) เราถามว่า “โยมเป็นอย่างไรไหนลองเล่าให้ฟังก่อน” แก่ก็เล่าว่า “๑๕ ค่ำ วันเข้าพรรษามานั่งภาวนากันอยู่บนศาลานี้แหละ พอนั่งได้ครู่หนึ่งก็เกิดแสงสว่างจ้าขึ้นมาเหมือนกับกลางวันและสว่างยิ่งกว่ากลางวัน จากนั้นก็เห็นเป็นทางข้างหน้าก็ออกเดิน เดินไปหน่อยหนึ่งก็เห็นบันไดคอนกรีตลาดขึ้นบนเขาราวไดเป็นรูปพญานาค ก็เดินขึ้นไปจนสุดแล้วเห็นองค์พระเจดีย์สวยงามมาก มีผู้คนไปนมัสการสักการบูชามากมาย ก็ไปกราบไหว้กับเขาดูพอแล้วก็กลับมารู้สึกตัวนึกว่าหลับฝัน แต่ไม่ใช่เพราะสติระลึกรู้อยู่ จากนั้นภาพนั้นก็ปรากฏติดตาติดใจอยู่ พอกำหนดระลึกแสงสว่างก็เกิดขึ้น แล้วก็ไปที่องค์พระเจดีย์ เป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งบัดนี้ แรกไปแต่กลางคืนแต่เดี๋ยวนี้กำหนดเมื่อไรไปเมื่อนั้น” เราก็แนะนำให้แก่ฟังว่า “ลักษณะตามที่โยมเล่าให้ฟังนี้ไม่ใช่บ้าดอก เขาเรียกว่าจิตสงบเป็นสมาธิ ดีเสียอีกที่จิตมีฤทธิ์สามารถจะไปดูอะไรต่ออะไรได้ตามความต้องการ ถ้าฝึกให้ชำนาญก็สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ แต่ว่าถ้าจะให้เป็นประโยชน์จริงๆ แล้วควรฝึกให้รู้ให้เห็นสภาวธรรมภายใน คือ รูปธรรม นามธรรม จนเห็นตามความเป็นจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน เมื่อเห็นด้วยธรรมจักษุตาใจอย่างชัดเจนจิตก็จะคลายจากความกำหนัดยินดี เมื่อคลายจากความกำหนัดยินดี ก็จะถอนจากความยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมนามธรรมว่าเป็นตัวตน ภาษาธรรมะว่า “อนุปาทายวิมุตติ เมื่อไม่ยึดถือจิตก็หลุดพ้น” นี้เรียกว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากการภาวนา แล้วจากนั้นเราก็แนะนำให้ทำสมาธิภาวนา ทำทุกวันทั้งเช้าและเย็น จนโยมที่ภาวนาเกิดแสงสว่างนั้น น้อมเอาแสงสว่างที่ฟุ้งออกจากจิตกลับมาสว่างในกายได้ จนสามารถพิจารณากายหยาบกายละเอียด และสภาวธรรมต่างๆ ได้
เราพักอยู่เดือนเศษ เห็นว่าอนุเคราะห์เขาพอสมควรแล้วก็ลาจากไป โดยธุดงค์ไปที่ดอยซุงพักอยู่ที่ดอยซุงสิบกว่าวัน (ที่นี่หนาวจัดต้องห่มผ้าตลอดวัน การบิณฑบาตอาศัยชาวเขาเผ่าไทยใหญ่) แล้วลงมาพักที่บ้านห้วยใต้ซึ่งอยู่ตีนเขา วันที่เราไปพักเขามีงานบุญประจำปีพอดี และมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งนั่งภาวนาแสดงฤทธิ์ คือนั่งภาวนาตัวแข็งแสดงฤทธิ์ให้คนชมและบูชาด้วยปัจจัย (เงิน) เราไปพักที่นั่นเป็นพระแปลกหน้ามาจากถิ่นอื่น คนก็รุมมาหา บ้างก็เล่าให้ฟัง บ้างก็สงสัยถามเรื่องภาวนา โดยเฉพาะนั่งภาวนาตัวแข็งและไม่รับรู้อะไรเลย ใครจะเอาธูปจี้หรือเอาเข็มไปแทงตามร่างกาย ก็ไม่รู้สึก เราจึงอธิบายให้ฟังว่า การภาวนานั้นมีสองอย่าง คือ สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สมถะภาวนา ภาวนาเพื่อให้จิตสงบ การที่ให้จิตสงบนั้นจะต้องมีอารมณ์ยึดเป็นที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต เช่น การเจริญกายคตาสติ สติระลึกกำหนดรู้ไปในกาย เป็นต้นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด เรียกว่ากิริยาของกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปอย่างไร มีสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะในที่สุดจิตก็จะหยุดจากวิตก (ความคิดไปสู่อารมณ์ต่างๆ) สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิรู้เฉพาะสภาพที่ปรากฏในจิตที่เรียกว่า นิมิต และอาจรู้เห็นสิ่งต่างๆได้แล้วแต่นิสัย ส่วนนี้เรียกว่าอารมณ์สมถะภาวนามี ๔ อย่างคีอ ส่วนวิปัสสนาภาวนา ภาวนาให้เกิดความรู้ความเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงแห่งธรรม คือ มิใช่รู้ตามสมมุติบัญญัติ รู้แล้วละถอนปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือว่าเป็นตัวตนสัตว์บุคคล “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน” นั่งภาวนาตัวจะแข็งหรือไม่ก็ตามถ้าไม่มีรู้ หมายความว่าไม่รับรู้อะไรเลย คล้ายกับนอนหลับสุขทุกข์ไม่รู้ ก็เป็นอสัญญีจิต เว้นแต่ผู้ที่ได้สมาบัติขั้นสูงที่เรียกว่า เวทยิตตนิโรธสมาบัติ คือ เข้าฌานแล้ว เวทนาสัญญาดับเท่านั้น พักอยู่คืนหนึ่งแล้วธุดงค์ไปพักที่ถ้ำดอยกองข้าวใกล้ตัวเมืองเชียงรายด้านทิศเหนือราวเดือนเศษ แล้วกลับไปวัดป่าน้ำรินเชียงใหม่
◎ ช่วยงานฉลองสมโภชพระพุทธศาสนา ๒๕๐๐ ปี
ภายหลังจากการเดินธุดงค์ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้ลงมาช่วยงานฉลองสมโภชพระพุทธศาสนา ๒๕๐๐ ปี ของ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ท่านเล่าว่า ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ไปช่วยงานฉลองสมโภชที่วัดอโศกการาม ถึงกลางเดือนหก เสร็จจากงานวันวิสาขบูชาแล้ว ก็กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าน้ำรินเชียงใหม่อีก ออกพรรษาแล้วกลับไปสกลนครเพื่อฉลองศรัทธาที่คณะญาติโยมกุสุมาลย์นิมนต์ไว้ โดยไปพักที่ริมทุ่งว่างข้างป่าช้าแขวนกลดใต้ต้นไม้ แล้วที่ตรงนั้นก็กลายเป็นกุฏิ ศาลา และต่อมาก็สร้างและตั้งเป็นวัด แรกเริ่มเดิมทีเรียกว่า วัดป่าสันติวาสวดีกุสุมาลย์ ต่อมาทางการเปลี่ยนให้ใหม่ว่า วัดสันติกุสุมาลย์ จนปัจจุบันนี้
◎ อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมส่วนรวม
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา และสังคมส่วนรวม ท่านได้ออกจาริกธุดงค์กรรมฐาน เที่ยวประกาศพระธรรมคำสอน เผยแผ่ศาสนธรรมของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้แก่พุทธศาสนิกชนทั้วไป ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ให้เข้าใจในหลักพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา สอนให้ละความชั่ว มีการเบียดเบียนคนอื่น การทำลายชีวิตสัตว์อื่น หากทำให้คนอื่นเดือดร้อนแล้ว ท่านก็สอนให้ละในสิ่งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้กระทำมันเป็นบาป สอนให้ทำแต่ความดี มีการให้ทาน การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา เป็นต้น
ส่วนงานด้านสังคมสงเคราะห์นั้น หลวงตาคำดี ท่านได้เมตตาสร้างตึกให้แก่โรงพยาบาลอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มอบอุปกรณ์การแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ มอบอุปกรณ์การศึกษา มอบทุนการศึกษา ให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้น
◎ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีบัญชาให้มาเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร
ต่อมาเมื่อเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระวิบูลย์ธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ได้ถึงแก่มรณภาพ เจ้าประคุณคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดนรนาถสุนทริการาม แขวงเทเวศร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) ได้มีพระบัญชาให้ หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ซึ่งในขณะนั้นท่านพำนักจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) และแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ท่านได้ให้เหตุผลว่า จังหวัดสกลนครเป็นดินแดนแห่งพระกรรมฐาน สมควรที่จะเอาพระกรรมฐานไปเป็นผู้ปกครอง เป็นอันว่าหลวงตาคำดี ท่านจึงต้องรับหน้าดังกล่าว เพื่อสนองพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านจึงได้ย้ายมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
◎ ผู้ปกครอง
ในทางพระพุทธศาสนานั้น การปกครองถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องดูแลสารทุกข์สุขของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หลวงตาคำดี เมตตาเล่าว่า การที่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ปกครองผู้อื่นนั้น ต้องเสียสละตนเองเพื่อสังคมส่วนรวม โดยเฉาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองผู้อื่นนั้นจะไม่โกรธให้ใครง่ายๆ ต้องมีความอดทนเป็นผู้ที่หนักแน่น มีเหตุมีผล ไม่เชื่อง่ายหูเบา การจะทำอะไรต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอคติลำเอียงต้องมีความยุติธรรม
ในฐานะที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ฝ่ายธรรมยุต) การปกครองคณะสงฆ์นั้น หลวงตาคำดี ท่านจะออกตรวจการคณะสงฆ์อยู่เป็นประจำ เพื่อถามไถ่ถึงสุขทุกข์ของคณะสงฆ์ในแต่ละวัด แต่ละอำเภอ ไปให้กำลังใจในการบำเพ็ญสมณธรรม และเผยแผ่ศาสนธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงให้เห็นถึงการปกครองคณะสงฆ์ของท่านมีความใส่ใจในการดูแลหมู่คณะเป็นพิเศษ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย หรือทุกข์อยากลำบาก เสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม
◎ พัฒนาวัดป่าสุทธาวาส
เมื่อหลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสแล้ว ท่านก็ได้พัฒนาวัดป่าสุทธาวาสเรื่อยมา มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ทำห้องน้ำห้องสุขาใหม่ สร้างตึกอนุสรณ์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองศิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี รวมทั้งได้พัฒนาวัดป่าสุทธาวาส ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม ดังท่านทั้งหลายจะเห็นได้ในปัจจุบันนี้
◎ ความเสมอภาค
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ท่านจะให้ความสำคัญกับพระเณรเป็นอย่างมาก เรียกว่าให้ความเสมอภาคด้วยกันหมดทุกรูปทุกองค์ที่อยู่ภายในวัด ท่านมักจะสอนญาติโยมที่เป็นลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ญาติโยมที่มาจังหันในวัดนี้ ก็ให้ดูพระหนุ่มเณรน้อยบ้างนะ ไม่ใช่มีอะไรก็ถวายแต่พระเถระผู้ใหญ่หมด พระหนุ่มเณรน้อยไม่ได้ ภาษิตโบราณท่านว่า “ใหใหญ่ล้น ใหน้อยบ่เต็ม” ไม่ถูกต้องนะ คือถวายแต่พระเถระผู้ใหญ่ข้างหน้านี้ล้นเหลือ แต่พระหนุ่มเณรน้อยที่อยู่ข้างหลังนั้นขาดเขิน ดังนั้นควรจะดูแลกันให้ทั่วถึง
◎ ช่วยชาติกับหลวงตามหาบัว
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ประเทศไทยถูกโจมตีทางค่าเงินบาท จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต้องประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดข้าวยากหมากแพง ทำให้ประชาชนคนไทยต้องเดือดร้อนไปตามๆ กัน รวมทั้งขาดที่พึ่งทางจิตใจ อันเป็นหลักสำคัญของมนุษย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ประกาศตัวออกมากู้ชาติไทย ด้วยการเปิดโครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ท่านได้นำเอาหลักธรรมะคำสอนทางพระพุทธศาสนา ออกเทศนาว่าการไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทย ได้นำธรรมะนั้นไปเป็นหลักที่พึ่งทางจิตใจและนำหลักธรรมไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งรับบริจาคทองคำ เงินบาทไทย เงินดอลลาร์ และเงินตราตราสกุลต่างๆ จากพี่น้องชาวไทย และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย จนสามารถกู้วิกฤตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ คือนำเงินไปใช้หนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น
ในการนี้ หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ผู้มีน้ำใจเสียสละรักชาติบ้านเกิดเมืองนอน ก็ได้แสดงน้ำใจ นำคณะสงฆ์ และพี่น้องชาวจังหวัดสกลนคร ร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีสบทบโครงการช่วยชาติ กับ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน โดยได้อาราธนาหลวงตามหาบัว มารับผ้าป่าช่วยชาติที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
◎ ได้รับความเมตตาจากหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน พระผู้ชี้แสงสว่างในทางธรรมให้แก่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และท่านได้ให้ความเคารพนับถือเทิดทูนต่อองค์หลวงปู่มั่นมากที่สุด ในแต่ละเดือนนั้น หลวงตามหาบัว ท่านจะเดินทางมากราบนมัสการองค์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาสอยู่สองครั้ง คือต้นเดือน กับปลายเดือน หรือหากว่าท่านจะเดินทางไปเทศนาอบรมธรรมพุทธศาสนิกชนในกรุงเทพมหานคร หรือภาคอื่นๆ ท่านก็จะเดินทางมากราบองค์หลวงปู่มั่นก่อน ค่อยเดินทางไป และเวลาท่านเดินทางกลับมาที่วัดป่าบ้านตาดแล้ว ท่านก็จะเดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่มั่น องค์เอกบูรพาจารย์อีก
หากในคราใดที่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านเดินทางมากราบนมัสการองค์หลวงปู่มั่น ที่พิพิธภัณฑ์วัดป่าสุทธาวาส หลวงตาคำดี ท่านก็จะพาพระเณรญาติโยม ไปรอให้การหลวงตามหาบัว ที่หน้าพิพิธภัณฑ์อยู่ตลอด ช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๕ สุขภาพของหลวงตาคำดี ไม่ค่อยจะสมบูรณ์มีอาพาธเบียดเบียน ท่านเดินทางไปพักรักษาตัวที่วัดสันติกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร พอดีช่วงนั้นหลวงตามหาบัว ท่านเดินทางมากราบนมัสการองค์หลวงปู่มั่น ท่านไม่เห็นหลวงตาคำดี ออกมาให้การต้อนรับอย่างที่เคย ท่านก็เลยถามถึงหลวงตาคำดีว่า “ท่านเจ้าคุณคำดีไปไหน” ลูกศิษย์ได้กราบเรียนท่านว่า “หลวงตาคำดีไม่สบาย ไปพักรักษาตัวอยู่ที่วัดสันติกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ครับ” จากนั้นท่านก็ได้ถามถึงอาการต่างๆ ของหลวงตาคำดีว่าเป็นอย่างไรบ้าง และถามทางไปวัดสันติกุสุมาลย์ว่าไปทางไหน
ครั้นหลังจากที่ท่านกราบนมัสการหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านก็เดินทางไปเยี่ยมหลวงตาคำดีที่วัดสันติกุสุมาลย์ ในวันนั้นเลย และเมื่อหลวงตามหาบัว ท่านมากราบองค์หลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส ท่านก็จะถามถึงสุขภาพของหลวงตาคำดีอยู่เป็นประจำ ช่วงก่อนที่หลวงตาคำดีจะมรณภาพ มาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสกลนครนั้น ก็มีลูกศิษย์กราบเรียนอาการอาพาธของหลวงตาคำดี ให้หลวงตามหาบัวท่านทราบอยู่ตลอด ครั้นเมื่อหลวงตาคำดี ท่านมรณภาพแล้ว หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านก็เมตตาเดินทางมาเยี่ยมศพของ หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ที่ตึกบูรพาจารย์อนุสรณ์ วัดป่าสุทธาวาส เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๑.๔๐ น. โดยมี พระศาสนดิลก รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ให้การต้อนรับ แสดงให้เห็นถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านจะให้ความเมตตาต่อหลวงตาคำดีมากเป็นพิเศษ นำความซาบซึ้งมาสู่สานุศิษย์ของหลวงตาคำดีเป็นอย่างมาก
◎ ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)
ช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ สุขภาพของหลวงตาคำดี มีอาพาธเบียดเบียนบ่อย ท่านไปพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานครบ้าง ที่จังหวัดสกลนครบ้างหลายครั้ง ครั้นออกจากโรงพยาบาลแล้ว ท่านได้ไปพักรักษาตัวตามวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดป่าภูธรพิทักษ์ วัดสันติกุสุมาลย์ เป็นต้น โดยทางวัดป่าสุทธาวาสนั้น ท่านได้มอบหมายให้พระครูอภัยธรรมสุนทร (ท่านพระอาจารย์มหาพรมมา จัตตภโย) ปัจจุบันเป็นพระศาสนดิลก เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสเรื่อยมา พอปี พ.ศ.๒๕๔๖ สุขภาพของท่านไม่ค่อยดีมีอาพาธเบียดเบียนมาก ท่านจึงได้ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) ภายหลังจากที่ท่านลาออกแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต) เรื่อยมา
◎ หน้าที่การงานทางพระพุทธศาสนา
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๑๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๑๔ เป็นเจ้าคณะตำบลในเมืองนครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรในราชทินนามที่ “พระครูพิศาลปัญโญภาส”
ปี พ.ศ.๒๕๐๘ – ๒๕๑๔ เป็นรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมือง นครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๓๘ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมือง นครราชสีมา (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๒๒ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าห้วยน้ำริน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ปี พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๓๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม
ปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๓๗ เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าภูธรพิทักษ์ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ปี พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๔๖ เป็นเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)
ปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนามที พระรัชมงคลนายก
ปี พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๙ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)
◎ สรุปสถานที่จำพรรษา
พรรษาที่ ๑ – ๔ พ.ศ.๒๔๙๒ – ๒๔๙๕ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๕ พ.ศ.๒๔๙๖ จำพรรษาที่ป่าบ้านยางระหง ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
พรรษาที่ ๖ พ.ศ.๒๔๙๗ จำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อ.เมือง จ.จันทบุรี
พรรษาที่ ๗ พ.ศ.๒๔๙๘ จำพรรษาที่เสนาสนะป่ายางหนาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นวัดป่าเมี่ยง)
พรรษาที่ ๘ – ๙ พ.ศ.๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๐๑ จำพรรษาที่วัดสันติกุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๑๑ – ๑๓ พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พรรษาที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๐๕ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๑๕ – ๑๖ พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๐๗ จำที่สำนักป่าสันติวาสวดี อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๑๗ – ๒๐ พ.ศ.๒๕๐๘ – ๒๕๑๑ จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ.๒๕๑๒ จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พรรษาที่ ๒๒ – ๒๖ พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๗ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๕๑๘ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ.๒๕๑๙ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๓๙ พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ.๒๕๒๑ จำพรรษาที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๓๑ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่วัดสันติกุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๓๒ พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม
พรรษาที่ ๓๓ พ.ศ.๒๕๒๔ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๓๔ พ.ศ. ๒๕๒๕ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๒๖ จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม
พรรษาที่ ๓๖ พ.ศ.๒๕๒๗ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๓๗ – ๔๑ พ.ศ.๒๕๒๘ – ๒๕๓๒ จำพรรษาที่ วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม
พรรษาที่ ๔๒ พ.ศ.๒๕๓๓ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ผาแดน จ.เชียงใหม่
พรรษาที่ ๔๓ – ๔๖ พ.ศ. ๒๕๓๔ – ๒๕๓๖ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๔๔ – ๕๐ พ.ศ.๒๕๓๗ – ๒๕๔๑ จำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๔๒ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ. เมือง จ. สกลนคร
พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๔๓ จำพรรษาที่สำนักพรหมณ์จาริณี อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
พรรษาที่ ๕๓ – ๕๔ พ.ศ. ๒๕๔๔ – ๒๕๔๕ จำพรรษาที่วัดสันติกุสุมาลย์ อ. กุสุมาลย์ จ. สกลนคร
พรรษาที่ ๕๕ พ.ศ. ๒๕๔๖ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์รัชมงคลนายก อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๔๗ จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร
พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๔๘ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์รัชมงคลเจดีย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
◎ การมรณภาพ
หลวงตาคำดี ปัญโญภาโส ภายหลังจากที่ท่านลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดสกลนครแล้ว อาการอาพาธต่างๆ ก็ดีขึ้นตามลำดับ จนเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ ท่านเกิดอาพาธหนัก ทางคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาส จึงได้นำตัวของท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ กรุงเทพมหานคร แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบว่า ท่านเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ และโรคไต ทางคณะแพทย์จึงได้ทำการรักษาจนอาการดีขึ้นพอสมควร ครั้นเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๙ คณะศิษย์จึงได้นิมนต์ท่านมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสกลนคร โดยพักรักษาอยู่ที่ห้องพิเศษ ชั้น ๓ ตึกร่มฉัตร โรงพยาบาลสกลนคร โดยมีคณะแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลสกลนคร ให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมชราภาพ มิอาจทนต่ออาการอาพาธต่างๆ ที่เบียดเบียน หลวงตาคำดีจึงได้ละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบตามกฎแห่งธรรมชาติ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เวลา ๐๙.๐๙ น. ณ ห้องพิเศษ ชั้น ๓ ตึกร่มฉัตร โรงพยาบาลสกลนคร สิริรวมอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๗
ทางคณะศิษย์ยานุศิษย์ ทั้งพระและฆราวาสจึงได้นำศพของท่านกลับมาตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ตึกอนุสรณ์หลวงปู่เสาร์ – หลวงปู่มั่น วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
นับว่าพุทธศาสนิกชน ได้สูญเสียพระมหาเถระ ผู้เป็นเสาหลักของพระกรรมฐานเมืองสกลนคร สูญเสียพระมหาเถระผู้ที่อุทิศตนต่อพระพุทธศาสนาและสังคมส่วนรวมไป
ปัจฉิมโอวาทที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานไว้ก่อนที่จะปรินิพพานว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตวา นิรุชฺฌนฺติ เตสงฺ วูปสโม สุโข
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
มีความเกิดขึ้นแล้วมีความดับไปเป็นธรรมดา
ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลาย เป็นสุขอย่างยิ่ง
ดี คำดี บรรพบรุษตั้งต่อนาม ปัญโญภาโส อุปัชฌาจารย์ตั้งให้
ออกบวชศึกษาธรรม หลวงปู่ฝั้น องค์เอกบูรพาจารย์
ปฏิบัติตนได้ ท่านเที่ยวแผ่กระแสธรรม
๒๙ พฤษภา หลวงตาสังขารดับ ศิษย์ทุกคนอาลัยลับถ้วนหน้า
ลาจากโลกเข้าสู่วิมุตติธรรมา ทิ้งความดีไว้โลก..ล้าให้ศิษย์มาหวญคำนึง
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://buddhismarticles.com
พระตะวัน ปัญญาวชิโร คำสุจริต รายการพระธรรมค้ำแผ่นดิน , รายการภูพานธรรม จังหวัดสกลนคร บรรยาย/เรียบเรียง