ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก
วัดองค์ตื้อ มหาวิหาร
นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
พระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง สะมาเลิก อริยสงฆ์สองแผ่นดิน หรือสองฝั่งโขง เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ ที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย ได้บรรพชา และ อุปสมบท ที่วัดโพธิ์ศรี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ และได้เข้ามาอยู่วัดชนะสงคราม บางลำพู กรุงเทพฯ
โดยญาติพี่น้องได้สำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่าได้กลับ จ.อุบลราชธานี ยาถ่านมหาผ่อง ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรม ที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ในปี พ.ศ.๒๔๘๙
จากนั้นได้ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรม ที่วัดชนะสงครามอีก ๖ ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียน และ ครูที่วัดชนะสงคราม ๑๖ ปี หลังจากนั้นได้เข้าร่วมขบวนปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัว และอยู่ฝั่ง สปป.ลาว นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นต้นมา
จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้รับอาราธนาให้ไปสอนหนังสือที่ วัดองค์ตื้อมหาวิหาร นครหลวงเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองโพนทอง ครั้น พ.ศ.๒๕๑๕ จึงได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาศักดิ์
ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ท่านได้เคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ต่อมาได้เดินทางไปภาคอีสาน พบกับสมเด็จเจ้ามหาอุปราชเพชรราช รัตนวงศา มหาเสนาบดีลาว (วีรบุรุษของลาว ผู้จัดตั้งรัฐบาลลาวอิสระปลดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศส) เมื่อ ค.ศ.๑๙๔๖ หรือ พ.ศ.๒๔๘๙ ในช่วงนั้นได้พบกับโฮจิมินห์ หรือประธานโฮ เมื่อเจ้าเพชรราชไปช่วยประธานโฮที่ถูกจับที่ จ.หนองคาย ท่านประธานโฮ ถามว่าท่านมหาผ่องเป็นใคร สมเด็จเจ้าเพ็ชรราชว่าเป็นลูกชาย และเป็นที่ปรึกษาในฐานะพระครูหลวง ประธานโฮ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องเป็นลูกชายโฮด้วย ซึ่งหลวงปู่มหาผ่อง บอกว่าคือ เป็นบุตรบุญธรรมร่วมอุดมการณ์ ตอนนั้นพระมหาผ่องอายุ ๓๕-๓๖ ปี
ลุงโฮ หรือประธานโฮจิมินห์ เคยอยู่ทางอีสานของไทยเป็นเวลา ๘ ปี พูดภาษาไทยได้ เคยบวชพระที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่คนรู้จักในนามลุงจิ้น ก่อนจะไปทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามจากฝรั่งเศส ต่อสู้กับการยึดครองของอเมริกาที่เวียดนามใต้ จนได้รับชัยชนะเวียดนามกลายเป็นประเทศเดียว ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๗๕ ที่อนุสรณ์สถานหรือสุสานลุงโฮ กรุงฮานอย มีชื่อลูกบุญธรรมที่ชื่อ พระมหาผ่อง จารึกอยู่ด้วย
ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กู้ชาติกับรัฐบาลสมเด็จเจ้ามหาอุปราช เพ็ชรราช รัตนวงศา ในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ.๒๔๙๕-๒๔๙๘ ต้องกลับจากประเทศไทยเพื่อไปเคลื่อนไหวทางการ เมืองที่แขวงจำปาสัก ในฐานะเป็นครูสอนที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์วัดหลวง เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๘ – ๒๕๐๐ ได้ขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ในฐานะที่เป็นครูสอนและเป็นเลขาธิการองค์การปกครองสงฆ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ กลับจากนครหลวงเวียงจันทน์ ลงไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ทางแขวงจำปาสักในฐานะเป็นเจ้าคณะเมือง เมืองโพนทอง และเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก ในปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้เข้าร่วมขบวนการยึดอำนาจอยู่ที่แขวงจำปาสัก
หลังจากนั้น ทางศูนย์กลางฯ ได้เรียกขึ้นมานครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อเข้าร่วมการจัดตั้งชั่วคราวและทางการได้มอบ ภารกิจให้กลับลงไปจำปาสักเพื่อรวบรวมพระสงฆเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามแนวนโยบายของพรรคและรัฐที่ถูกต้องเป็นธรรมและสอดคล้องกับ ลักษณะที่แท้จริงของศีลธรรมทางพุทธศาสนา โดยการรวบรวมเต้าโฮมพระสงฆเถรานุเถระผู้ทรงคุณวุฒิ ในทั่ว ๓ แขวงภาคใต้ ขณะที่รับผิดชอบศาสนกิจทางภาคใต้เขต เมืองโพนทอง แขวงจำปาสักนี้ ได้จัดตั้งเจ้าอธิการทุกวัดอย่างทั่วถึง และมีการประชุมใหญ่ประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง และได้ออกเผยแผ่อบรมทั้งภิกษุสามเณร และญาติโยมทั้งในเขตและนอกเขตรับผิดชอบของตนเอง อีกทั้งยังได้จัดตั้งและนำแนวทางของพรรคและรัฐ ร่วมกับองค์การเผยแผ่ไปทั่วประเทศอย่างมิขาดสาย
ครั้นปี พ.ศ.๒๕๑๕ ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก แต่ก็ยังไม่ละทิ้งบทบาทด้านการกู้ชาติ ทำงานทั้งด้านการปกครอง ศาสนา และฝ่ายบ้านเมือง จนวันที่ ๒ ธันวาคม ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ฝ่ายศาสนา มีพระมหาผ่องเพียงรูปเดียวที่อยู่บนเวทีประกาศยึดอำนาจ และเป็นพระสงฆ์รูปเดียวที่เป็นกรรมการพรรคขณะยึดอำนาจ โดยมีจุดยืนสำคัญคือ พระพุทธศาสนาต้องไปกับทุกระบบการปกครอง แต่ไม่ร่วมหัวจมท้ายกับระบบการปกครองใดการปกครองหนึ่ง พุทธศาสนาจะเป็นกำลังขับเคลื่อนนำสันติสุขมาสู่ประชาชน
หลังจบความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลาย พระอาจารย์ใหญ่ยังได้สร้างผลงานอันโดดเด่นในโลกพระพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปดำรงตำแหน่งรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ประจำ ณ วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ และประสานงานรอมชอมพระสงฆ์ ๒ นิกาย อันได้แก่ มหานิกายและธรรมยุตินิกาย ซึ่งแตกแยกมานานให้สมานฉันท์ ยินยอมพร้อมใจกันรวมนิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งยุบเลิกสมณศักดิ์และตำแหน่งทั้งปวง พระสงฆ์ลาวทั้งสองนิกายพร้อมใจกันทำสังฆสามัคคีอุโบสถณ นครหลวงเวียงจันทน์ ในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก (ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๑ เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๒๓) ณ บัดนี้ ไม่มีนิกายสงฆ์ในลาวอีกต่อไปแล้ว มีแต่ “พระสงฆ์ลาว” เท่านั้น
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ญาท่านพระมหาวิจิตร วีรญาโณ (สิงหะราช) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว รูปที่ ๓ ได้ถึงแก่มรณภาพลง ญาท่านพระมหาผ่อง ปิยธีโร (สมาเลิก) จึงได้รับการยกย่องขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นรูปที่ ๔ ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบเท่ากับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของไทย
นอกจากพระมหาผ่องจะเป็นพระสงฆ์ที่เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้พบเห็น ท่านยังทำงานหนักในด้านการก่อสร้างสาธาณูปการ ทั้งยังมีงานการรจนาประพันธ์หนังสือธรรมะและสารคดีประวัติ เช่น
๑.หนังสือประวัติพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ
๒.ประวัติหลวงปู่สมเด็จลุน
๓.ประวัติพระอาจารย์สุกาว ญาณวุฑโฒ (วิปัสสนาจารย์)
๔.ประวัติพระลูกแก้ว คูนมณีวง และหนังสืออานิสงส์เทศนา
๕.ประวัติย่อพระอาจารย์ใหญ่มหาผ่อง สะมาเลิก
๖.พุทธทำนายความฝัน ๑๖ ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกสล
๗.หนังสือสวดมนต์และรวมบทเทศน์อานิสงส์เทศนา
ช่วงบั้นปลายชีวิต พระอาจารย์ใหญ่ยังคงเทศนาสั่งสอนให้ผู้คนรักในแผ่นดินเกิด ดังเช่นคำกล่าวในงานบุญนมัสการพระธาตุหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ความตอนหนึ่งว่า
“ผืนแผ่นดินลาวนี้ บ่ได้ยืมไผมา บ่ได้ตบตียาดแย่งเอาจากไผมา มันแม่นทรัพย์สมบัติที่มีมาแต่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษลาวได้ปกปักรักษา ต่อสู้หวงแหนมายาวนาน จึงสามารถพร้อมกันปกป้องรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ยาวนานตลอดไป”
ศาสนกิจสุดท้ายของท่านพระมหาผ่องคือเดินทางไปร่วมงานเสวนา “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ : สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ และมูลนิธิวีระภุชงค์ ที่โรงแรมโซพิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ @ สปา รีสอร์ท จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ ๙-๑๓ กันยายนที่ผ่านมา มีคณะสงฆ์อาเซียน ๕ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว เข้าร่วม โดยท่านเป็นประธานกล่าวเปิดงานและแนะนำพระธรรมทูตว่า การเผยแผ่ธรรมะของคณะสงฆ์ ๕ ประเทศ จะสำเร็จสู่เป้าหมายโดยเร็วต้องละสังโยชน์ ๓ ประการ ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเชื่อผิดในตัวตน
๒. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย และ
๓. สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นในข้อบังคับและข้อปฏิบัติที่ทำตามกันมาอย่างงมงาย
หากละ ๓ สิ่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์ถือว่าบรรลุขั้นโสดาบันแล้ว
ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตอันน่าเลื่อมใสยิ่ง ของพระสงฆ์ผู้อยู่ในใจของทั้งชาวลาวและอีสาน ไม่ใช่เพียงเพราะตำแหน่งอันเทียบเท่าพระสังฆราช หากแต่ด้วยวัตรปฏิบัติและประโยชน์นานัปการที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้พระพุทธศาสนา อันจะมั่นคงสืบไป
นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขง เมื่อพระอาจารย์ใหญ่ ยาถ่านมหาผ่อง ปิยะทีโร (สะมาเลิก) ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อพส) พระสังฆราชลาวรูปที่ ๔ เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ละสังขารลงเมื่อเวลา ๑๗.๑๑ น. วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘ หลังจากมีอาการอาพาธ และ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิริรวมอายุ ๑๐๐ ปี ๖ เดือน ๘๑ พรรษา
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.bangkokbiznews.com