วันอังคาร, 12 พฤศจิกายน 2567

พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

ประวัติและปฏิปทา
พ่อท่านซัง

วัดวัวหลุง
อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) วัดวัวหลุง พระมหาเถราจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ มากด้วยบุญญาภินิหาร ผู้เป็นดั่งตำนานแห่งเมืองนครศรีธรรมราช

◉ ชาติภูมิ
พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) นามเดิมชื่อ “ซัง ศักดาวุธ” เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรงกับวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๔ ณ บ้านพัง หมู่ที่ ๒ ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนสุดท้ายของขุนวิน ศักดาวุธ “บุศจันทร์ ศักดาวุธ” และมารดาชื่อ “นางส้ม ศักดาวุธ” พ่อท่านซัง ท่านมีพี่สาว ๒ คน ชื่อ “นางรอด” และ “นางแก้ว

◉ ปฐมวัย
เมื่อท่านอายุได้ ๑๑ ปี ได้ไปศึกษาเล่าเรียนอักษรสมัยในสำนักท่าน อาจารย์นาค เจ้าอาวาส วัดพัง ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ท่านย้ายไปศึกษาในสำนักของท่าน อุปัชฌาย์รักษ์ วัดปัง ต.ควรชุม อ.ร่อนพิบูลย์ ท่านเรียนวิชาเลข และคัดลายมือ

ขณะที่ พ่อท่านซัง ท่านศึกษาอยู่ท่านเป็นคนฉลาดความจำดี มีความขยันอดทนเป็นเลิศ อุปัชฌาย์รักษ์ เห็นแววและอนาคตจะไปไกล จึงบวชเณรให้เมื่ออายุ ๑๖ ปี หลังจากบวชเณรแล้วท่านก็ได้ศึกษาธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระเพิ่มขึ้น พอเป็นแนวทางปฏิบัติท่านอยู่ต่อมาจนครบปี เผอิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดตรัง เดินทางไปนมัสการพระอุปัชฌาย์รักษ์ พบสามเณรน้อยผู้มีสติปัญญาไหวพริบดี จึงของตัวไปให้รับราชการในตำแหน่งเสมียนตรา อยู่ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ท่านรับใช้ประเทศชาติในตำแหน่งเสมียนตรา อยู่ ๓ ปี เห็นว่าเป็นหนทางแห่งความทุกข์ยาก หาอะไรแน่นอนไม่ได้ ปราศจากความสุขอันมั่นคง ชีวิตท่านได้รับรสพระธรรม คำพร่ำสอนจาก อุปัชฌาย์รักษ์ ยังฝังลึกอยู่ในใจท่าน จึงลาออกจากราชการเมื่ออายุ ๒๐ ปี แล้วเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา เตรียมตัวอุปสมบทเมื่ออายุย่างเข้าอายุ ๒๑ ปี

◉ อุปสมบท
พ่อท่านซัง อุปสมบท เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันพุธ พ.ศ.๒๔๑๔ อุปสมบทที่วัดปัง บวช ณ ที่เดิมที่ท่านได้บวชเณร อุปัชฌาย์รักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์นาค เจ้าอาวาสวัดพัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านอาจารย์ทองดี วัดปัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุวณฺโณ

เมื่ออุปสมบทแล้ว พ่อท่านซัง ท่านไปศึกษาอยู่ในสำนัก อาจารย์นาค วัดพัง ศึกษาเพิ่มเติมทางด้านคาถาอาคมอยู่หนึ่งพรรษา พ่อท่านซัง จึงกราบลาอาจารย์นาค ไปอยู่กับท่านอาจารย์โฉม เจ้าอาวาสวัดวัวหลุง เพื่อศึกษาคันถะธุระและอบรมวิปัสสนาธุระ กับอาจารย์ชูอาจารย์สด วัดวัวหลุงสรุปแล้วท่านมีอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิปัสสนา ไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์แห่งเดียวถึงสามองค์ ท่านพยายามฝึกฝนสมาธิจิตท่องมนต์คาถา และธรรมะจนสามารถเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม

เมื่อ พ่อท่านซัง ท่านมีอายุพรรษาได้ ๑๑ พรรษาตำแหน่งสมภาร วัดวัวหลุงว่างลง พ่อท่านซังจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมภารสืบแทนอาจารย์ของท่าน พ.ศ.๒๔๓๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรในท้องถิ่น พ.ศ.๒๔๔๑ พ่อท่านซังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงให้ปกครองวัด ๑๓ วัด ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่งไม่ว่าภาระหน้าที่นั้นจะยากลำบากเพียงใด สมัยก่อนไม่มีถนนไม่มีรถวิ่ง ต้องเดินรัดป่าตัดทุ่งนาป่าเขาไปสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยาก กาลเวลาสืบต่อมาเมื่อ พระศรีธรรมมุณี (พระรัตนธัชมุณี) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ นครศรีธรรมราช ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฆลนครศรีธรรมราช เห็นว่าพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารหมู่คณะสงฆ์ดี ปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงให้ประทานตราตั้งเป็นพระครู เจ้าคณะแขวงเมื่อ วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๕ ให้เป็นผู้ปกครองวัด ในอำเภอร่อนพิบูลย์ทั่วทุกวัด จนลุถึง พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานสมณศักด์เป็น “พระครูอรรถธรรมรส

พ่อท่านซัง บริหารคณะสงฆ์สืบต่อมาจนเจริญรุ่งเรื่องถึงขีดสุด โดยบูรณะถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน ยังมีสภาพอันเก่าแก่ให้เห็นหลายแห่ง ในอำเภอร่อนพิบูลย์ ประชาชนพากันมาหาสู่ท่าน เพื่อขอพรจากท่าน ให้ท่านรดน้ำมนต์ ขอลูกอมชานหมาก และของที่ท่านแจกให้เป็นของที่ห่วงแหนกันมาก

ครั้นปี พ.ศ.๒๔๗๒ พ่อท่านซัง ชราภาพมากจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก จึงโปรดเกล้าให้เป็นกิตติมศักดิ์ พ้นจากตำแหน่งราชการ รวมเวลาที่ท่านได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอยู่ ๑๓ ปี

พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช
พระครูอรรถธรรมรส (พ่อท่านซัง สุวัณโณ) วัดวัวหลุง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

◉ มรณภาพ
เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๗๘ พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ต้นปี ต่อมาโรคได้กำเริมหนัก จนถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๑๐.๒๐ น. ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่แจกในงานศพ ยอดนิยมอันดับต้นๆ ต้องยกให้ เหรียญพระครูอรรถธรรมรส หรือ “พ่อท่านซัง” อดีตเจ้าอาวาสวัดวัวหลุง และอดีตเจ้าคณะแขวง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ในวงการพระเครื่อง ได้จัดให้เหรียญพ่อท่านซังเป็นหนึ่งในเหรียญเบญจภาคีที่แพงที่สุดของเมืองนคร เหรียญพ่อท่านซังเป็นเหรียญตายยอดนิยมที่มีราคาแพงที่สุด

เหรียญ พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๘๐
เหรียญ พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๘๐

เหรียญพ่อท่านซัง เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ โดยท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ คณะศิษย์เก็บศพของท่านไว้เป็นเวลาปีเศษ จึงขอพระราชทานเพลิงศพ ถึงแม้เหรียญนี้จะสร้างออกมาตอนที่ท่านมรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ผ่านการปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ และเกจิดังชั้นนำของจ.นครศรีธรรมราช ทำให้มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาก โดยเฉพาะด้านอยู่ยงคงกระพัน

เหรียญพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นแจกแม่ครัว ปี พ.ศ.๒๔๘๐
เหรียญพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นแจกแม่ครัว ปี พ.ศ.๒๔๘๐

ความพิเศษของ เหรียญพ่อท่านซังรุ่นแรก คือ พระเกจิอาจารย์ทั่วๆ ไป เหรียญรุ่นแรกจะสร้างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่และสร้างขณะที่ท่านยังไม่มีชื่อเสียง แต่เหรียญรุ่นแรกของพ่อท่านซังเป็นเหรียญที่สร้างหลังจากพ่อท่านซังมรณภาพแล้วถึง ๒ ปี จุดประสงค์ในการสร้างเหรียญในครั้งนั้นบรรดาลูกศิษย์ที่นับถือในตัวพ่อท่านซัง ต้องการเหรียญรูปเหมือนท่านเป็นที่ระลึกคณะกรรมการจึงประชุมกัน นิมนต์พระครูธรรมธร วัดโพธิ์ ท่าเตียนกรุงเทพฯ มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (ท่านเป็นศิษย์พ่อท่านซัง บวชเณรให้พร้อมทั้งสนับสนุนให้ได้เรียน) ฝ่าคฤหัสถ์ให้ท่านขุน นายอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นประธาน ตกลงพร้อมใจกันจัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ศ.๒๔๘๐

ในการจัดสร้างเหรียญครังนั้นท่านพระครูธรรมธร ได้รับภาระหาช่างแกะบล็อกตามรูปถ่าย พร้อมทั้งยันต์ด้านหลังเหรียญ ซึ่งพ่อท่านซัง ใช้เขียนผ้ายันต์ ลงตะกรุดพิศมร และใช้ทำน้ำมนต์เป็นประจำ ยันต์และพระคาถาสี่ตัวด้านหลังเหรียญนั้นถอดมาจากพระธรรมในพระไตรปิฎกสามารถนำมาใช้ได้ตามปรารถนา หลังจากช่างปั๊มเหรียญเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงอุดมฤกษ์มงคลมิ่งแล้ว ท่านพระครูธรรมธรได้จัดพิธีพุทธาภิเษกเหรียญพ่อท่านซัง ในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ นิมนต์พระเถระต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมาร่วมพิธีแผ่กระแสจิต พร้อมทั้งอัญเชิญดวงวิญญาณพ่อท่านซังมาร่วมพิธีด้วย โดยจัดอาสนะใว้ให้ท่าน

หลังจากเสร็จพิธีเรียบร้อย ท่านพระครูได้นำเหรียญกลับมายังวัดวัวหลุง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการได้จัดงานพิธีพุทธาภิเษกซ้ำอีกครั้งที่วัด โดยได้นิมนต์พระครูกาชาด วัดใหญ่นครศรีธรรมราช ที่เป็นที่สนิทสนมกับพ่อท่านซัง เคยไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเสมอ พร้อมทั้งพระครูกาแก้ว วัดหน้าพระธาตุ และพระเถรานุเถระไม่ปรากฏนามร่วมพิธีพุทธาภิเษกอย่างพร้อมเพรียงเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพพ่อท่านซัง คณะกรรมการวัดได้นำเหรียญรุ่นนี้วางไว้ตรงหน้าสรีระของพ่อท่าน ใครจะหยิบไปอย่างไรก็ได้ ทำบุญหรือไม่ก็ตามใจ ปรากฏว่าประชาชนผู้ไปร่วมพิธีในวันนั้น ต่างแย่งชิงเหรียญกันจนหมด และไม่พอแจกจ่ายแก่บรรดาข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนที่มาร่วมงานจนเต็มวัดไปหมด

เหตุผลหนึ่งที่ประชาชนผู้ไปร่วมพิธีในวันนั้น ต่างแย่งชิงเหรียญพ่อท่านซัง เพราะท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่ง ที่เป็นที่เลื่อมใสของชาวนครศรีธรรมราช ที่สำคัญคือ ท่านที่ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมที่สำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง ใครที่ได้ครอบครองเหรียญรุ่นแรกต่างพากันหวงแหน และมีแต่ผู้ต้องการอภินิหารของเหรียญพ่อท่านซัง ในหมู่นักเลงหัวไม้อันธพาลนั้นโดยเฉพาะในเขตร่อนพิบูลย์ใช้แต่เหรียญพ่อท่านซัง แคล้วคลาดปลอดภัยดี บางคนถึงกับพูดว่าปืนลูกซองนั้นโก่งลานให้ยิงเลย ทหาร ตำรวจ และอสม.จะนิยมพกเหรียญของท่านเป็นจำนวนมาก

เหรียญพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่น๒ พ.ศ.๒๕๑๓ เป็นเหรียญรูปไข่ และถอดแบบคล้ายกับเหรียญรุ่นแรก ผิดกันตรงที่ ด้านบนเหรียญเขียนว่า ที่ระลึกในงานยกรูปปั้นเข้าหอ ด้านข้างไหล่ทั้งสองข้างมีรูปดอกจัน ใต้องค์หลวงพ่อซัง เขียนว่า พระครูอรรถธรรมรส ส่วนด้านหลังเหรียญหลวงพ่อซัง วัดวัวหลุง รุ่น๒ ก็เหมือนกับเหรียญรุ่นแรก เป็นการสร้างย้อน พ.ศ. คือลง พ.ศ.๒๔๘๐ จำนวนสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ ปลุกเสกที่วัดวัวหลุง ปี พ.ศ.๒๕๑๓ มีอาจารย์ผู้ปลุกเสก ๙ องค์ เป็นเหรียญย้อน พ.ศ.

เหรียญ พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นสอง ปี พ.ศ.๒๕๑๓
เหรียญ พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง รุ่นสอง ปี พ.ศ.๒๕๑๓

แต่ก็มีประสบการณ์พอๆ กับเหรียญรุ่นแรก ค่านิยมจึงสูงตามไปด้วย ขนาดรุ่นสองยังขึ้นหลักหลายๆ หมื่น พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง เจ้าของเหรียญแพงที่สุดอันดับหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระคณาจารย์ในยุคเก่าที่มีบารมีสูง ท่านไม่เคยสร้างเหรียญ หรือรูปถ่ายใดๆ จะมีก็แต่เครื่องรางของขลังประเภทตะกรุด เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก แต่หรียญของท่านกลับเปี่ยมล้นไปด้วยพุทธคุณอันเป็น อมตะและมีราคาสูงกว่าเหรียญพระเกจะอาจารย์ท่านอื่นๆ

ซื่งปกติเหรียญหรือวัตถุมงคลที่สร้างในภายหลังที่พระเกจิอาจารย์มรณภาพ (เหรียญตาย) มักจะได้รับความนิมยมไม่มากนัก แต่เหรียญหลวงพ่อซังกลับมีราคาสุงถึงหลักแสน แสดงให้เห็นถึงบารมีอันเปลี่ยมล้นของท่านนั่นเอง