วันอาทิตย์, 13 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอริยเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ประเภทสุข

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร

วัดป่าแก้วชุมพล บ้านชุมพล
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล

“พระอริยเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ประเภทสุขวิปัสสโก”

พระเดชพระคุณพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอริยเจ้าศิษย์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และเป็นศิษย์ต้นของหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ประเภท “สุขวิปัสสโก” คือผู้มีกิเลสเหือดแห้งไปโดยลำดับด้วยการเจริญวิปัสสนาล้วนมิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่น เช่น ไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา

ปฏิปทาด้านข้อวัตรปฏิบัติของท่านเป็นเช่นเดียวกันกับปฏิปทาของครูบาอาจารย์กรรมฐาน คือ ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาเที่ยงตรงต่ออริยมรรคอริยผล มีนิสัยเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจัง มีความเพียรเป็นเลิศ โปรดการเดินจงกรมเป็นพิเศษ การใช้ปัจจัยสี่ก็ใช้อย่างประหยัดมัธยัสถ์ไม่สุรุ่ยสุร่าย แม้ของนั้นจะมีมากก็ตาม ท่านไม่นิยมการก่อสร้างทุกชนิด แม้งานในวัดก็ไม่ให้มี ชอบให้พระเณรสร้างจิตใจเพื่อมรรคผลนิพพาน

(จากซ้าย) พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
ขณะฉันจังหัน

แต่มองในอีกด้านหนึ่ง ท่านกลับเป็นพระกรรมฐานผู้มีอารมณ์ขัน แสดงออกตรงไปตรงมา อารมณ์ดีเสมอ เทศนาและโอวาทของท่านน่าฟังมาก โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับศิษย์ใกล้ชิดท่านจะมีเรื่องราวขำขันชวนหัวเราะอยู่เสมอ แต่ขณะนั้นเดียวกันสิ่งนั้นก็เป็นหลักธรรมที่ชวนพิจารณา ท่านมีเพื่อสหธรรมิกและเพื่อนตามคือ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม ท่านทั้งสามมักจะไปไหนไปด้วยกัน รับกิจนิมนต์มักจะไปพร้อมกัน แม้สุดท้ายนิพพานท่านก็นิพพานพร้อมกัน

ท่านเป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงตามหาบัวและได้รับความไว้วางใจจากหลวงตามมหาบัวเป็นพิเศษ คือ

๑) ให้เป็นประธานฝ่ายบรรพชิดในการดำเนินงานศพของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พระอริยเจ้าแห่งวัดป่าหนองแซง จังหวัดอุดรธานี

๒) ให้เป็นประธานดำเนินงานศพของหลวงตามหาบัว หากหลวงตาละสังขารไปก่อนท่าน

๓) ให้เป็นหัวหน้าหมู่คณะพระกรรมฐานแทนหลวงตาด้วย

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด ณ บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นบุตรของนายบุญจันทร์ และนางอบมา ไชยเสนา

อายุครบ ๒๐ ปีได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดป่าสำราญนิเวสน์ ตำบลบ้านบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยมี พระอาจารย์ทัศนวิสุทธิ์ (ดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้งบวชแล้วได้มาจำพรรษา ณ วัดป่าศรีฐานในซึ่งเป็นวัดป่าของหมู่บ้านศรีฐาน โดยมีพระอาจารย์บุญสิงห์ (ศิษย์พระอาจารย์สิงห์) เป็นพระอาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนด้านสมาธิภาวนา ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีฐานในนั้น ท่านได้เกิดสุบินนิมิตว่า “มีพาหนะ ๓ ชนิด คือ ช้างเผือก ม้าขาว และวัวอุสุภราช ท่านมีความรู้สึกในความฝันว่าท่านได้ขี่พาหนะทั้ง ๓ ตัวนั้น ท่านองค์เดียว แต่ขี่พาหนะได้ทั้ง ๓ ตัวในขณะเดียวกัน และได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงออกมาจากหมู่บ้าน ดังออกมายังศาลาวัด คล้ายกับว่าชาวบ้านจะมาทอดผ้าป่าหรือทำการกุศลชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่พอมาถึงปรากฏว่าไม่มีคน มีแต่ดอกไม้นานาชนิดลอยมาสูงระดับหน้าอกแล้วเวียนรอบศาลา ก็พอดีท่านรู้สึกตัวตื่นจากความฝัน นี่เป็นเหตุให้ท่านมีความมั่นใจว่าการบวชของท่านนั้นจะบรรลุผลอันพึงพอใจ”

พรรษาที่ ๕ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านนาหัวช้าง บ้านบะทอง อำเภอพรรณนานิคม กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ปัจจุบันวัดป่าบ้านนาหัวช้างคือวัดป่าอุดมสมพร

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล

ในพรรษาที่ ๖ ท่านจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อำเภอพรรณนานิคม ช่วงนี้ท่านเล่าว่า “การภาวนาเริ่มจะยาก ภาวนาผ่านทุกขเวทนาไม่ได้” พอนั่งภาวนาเป็นเวลานานพอควรมักจะเกิดทุกขเวทนาใหญ่ คือ ความเจ็บปวดมาก ท่านได้ต่อสู้หลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังมาสามารถเอาชนะได้ จึงนำอุบายที่หลวงตามหาบัวแนะนำโดยให้ใช้สติปัญญาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ด้วยการตั้งสัจจะว่า “จะทุกขเวทนานี้แบบสละชีวิต เพื่อให้รู้เห็นความจริงของทุกข์ ถึงแม้จะปวดหนักปวดเบาขนาดไหน จะไม่ยอมลุกหนี จะปล่อยให้มันออกมาเลย ถ้าผ่านทุกขเวทนานี้ไม่ได้แล้ว จะไม่ยอมลุกจากที่นั่งเด็ดขาด” ท่านต่อสู้อยู่นานหลายชั่วโมง ปรากฏว่าท่านก็ผ่านไปได้ จิตสงบรวมลงอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ท่านมีกำลังใจในการปฏิบัติมาก

เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้ออกวิเวกไปทางอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว และอำเภอวาริชภูมิ ได้ไปพักอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ขณะที่พักอยู่ที่บ้านหวายสะนอย (ภูเหล็ก) อำเภอส่องดาว กับหลวงปู่ขาวนั้น ท่านว่าการภาวนาดีมาก นอนนิดเดียวก็อิ่ม จิตสงบละเอียดมาก

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕-๒๔๙๗ พรรษาที่ ๙-๑๑ ท่านจำพรรษาอยู่ที่ บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะนี จังหวัดมุกดาหาร โดยมีหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นผู้นำ

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ หลวงปู่ขาวได้แนะนำให้ชาวบ้านชุมพลไปนิมนต์ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล และท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่นั้นจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วบ้านชุมพล

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม , พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ , พระอาจารย์วัน อุตตฺโม , พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

สิริรวมอายุ ๕๕ ปี ๙ เดือน ๑๕ วัน ๓๕ พรรษา

อัฐิธาตุท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร