ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์มหาปาน อานันโท
วัดโสกป่าหลวง
นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

◎ ชีวิตในวัยเยาว์
พระอาจารย์ใหญ่มหาปาน อานันโท ท่านมีชื่อเดิมว่า “ปาน แก้วชมพู” ณ อะหอโคก ตาแสงเมืองพ้อง เมืองสองคอน (ละหาน้ำ) แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว มีพี่น้องด้วยกัน ๔ คน
ท่านเป็นลูกชายคนสุดท้องของ คุณพ่อทิดเสน และ คุณแม่แต้ม แก้วชมพู มีอาชีพทำนา ซึ่งต่อมาบิดาท่านได้รับการแต่งต้ังยศเป็นพระยาเมืองแสน
ชีวิตในวัยเด็กท่านไม่ได้เล่าเรียนหนังสือ เนื่องด้วยสมัยโน้นแถบชนบทการศึกษายังไปไม่ถึง ยังไม่มีโรงเรียน ชีวิตในวัยเด็กจึงเจริญอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนา เลี้ยงวัวควาย ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาไปวันๆ ด้วยความขยันขันแข็ง เพราะเหตุที่ท่านถูกเลี้ยงมาด้วยความรักความเมตตา และจากการมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับสัตว์เลี้ยงปานประหนึ่งว่ามันเหล่านั้นเป็นเพื่อนสนิทของท่าน
เพราะเหตุว่าบ้านอะหอโคก เป็นหมู่บ้านที่พึ่งตั้งใหม่ (แยกจากเมืองพ้อง) อยู่ในท่ามกลางป่ารกดงเสือ ดังนั้น ในแต่ละวันจึงมีวัวควายสัตว์เลี้ยงชาวบ้านถูกเสือคาบไปกินอยู่เสมอๆ และเพราะการที่ได้เห็นสัตว์เลี้ยงที่ตนรักผูกพัน ค่อยๆถูกพรากชีวิตไปอย่างทุกทรมานวันแล้ววันเล่า ตัวแล้วตัวเล่า ท่านจึงได้พยายามหาวิธีปกป้องสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นให้พ้นอันตรายไปให้ได้
พอชีวิตย่างเข้าสู่วัยรุ่น ท่านได้ละทิ้งความสนุกสนานอย่างวัยที่ควรจะเป็น ออกแสวงหาวิชาความรู้เพื่อมาปกป้องสัตว์เลี้ยงของตน ท่านได้ไปร่ำเรียน “มนต์ปราบเสือ” จากอาจารย์ที่เป็นชาวกุลา (พม่า) โดยผู้เป็นพ่อต้องเสียค่ายกครู หรือค่าเล่าเรียนด้วย “ควายตู้ ๑ ตัว” และหลังจากนั้นมา ท่านก็สามารถช่วยครอบครัวญาติพี่น้องดูแลสัตว์เลี้ยงมาได้อย่างปลอดภัย
◎ โชคชะตากับผ้าเหลือง
เมื่อเจริญวัยอายุได้ ๑๗ ปี (พ.ศ.๒๔๗๑) ทิดเสนพรือพระยาเมืองแสน ผู้เป็นบิดาก็เกิดเจ็บป่วยและได้เสียชีวิตอย่างกระทันหัน ท่านจึงได้บวชเณรเพื่อจูงศพพ่อไปป่าช้าตามประเพณีนิยม ทีแรกก็ไม่ได้คิดคิดอะไร นึกว่าฌาปนกิจศพพ่อแล้วก็สึก แต่ทางญาติพี่น้องกลับขอร้องให้อยู่จนกระทั่งทำบุญแจกข้าวอุทิศให้คุณพ่อเสร็จแล้วค่อยสึก แต่พองานผ่านไป สามเณรปานกลับมีความรู้สึกศรัทธาในผ้าเหลืองมองว่านี้เป็นเวลาภาวะโอกาสอันวิเศษที่จะได้ร่ำเรียนหนังสือ จึงแจังกับทางญาติๆว่าจะขออยู่ต่อ เรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้แล้วจึงจะสึก แต่นี่ก็เป็นความมุ่งหวังตั้งใจของทางแม่และพี่ๆอยู่แล้วว่า ต้องการให้มีคนในครอบครัวได้บวชเรียนเขียนอ่านกันบ้าง แต่หลังจากนั้น ท่านก็เกิดอยากเรียนเทศน์ เรียนสูตร (สวด) เรียนธรรมยิ่งๆขึ้นไป ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ท่านก็ได้เข้าการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีญาท่านเกดเป็นเจ้าภาพอัฐบริขาร ญาท่านจันทา เป็นพระอุปัชฌาย์ ญาท่าจูม เป็นพระกรรมวาจา ญาท่านสิ้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อานันโท” ในการบวชครั้งนั้นท่านได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า จะต้องศึกษาเล่าเรียนในสามสิ่งนี้ให้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างน้อย อันได้แก่
๑. เป็นนักเทศน์เสียงดี เพื่อจะได้เผยแพร่ธรรมะ
๒. เรียนมูลกัจจายน์ (มูลเดิม,ไวยากรณ์บาลีโบราณ) ให้ได้
๓. อยู่ให้ครบ ๔ ปี เผื่อว่าหากสึกออกมา ก็อาจสามารถ เป็นหมอลำแก้โจทย์ได้ ดังนั้น เมื่อได้เป็นพระภิกษุมีอายุพรรษาแล้ว ก็จึงได้ออกเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ และโดยเฉพาะผู้มีชื่อเสียงทางภาคใต้อยู่หลายแห่ง เช่น สำนักวัดบ่อหิน วัดเสาหลีก วัดหัวดง ในเขตเมืองอุบล ประเทศไทย และวัดสีทอน จนสำเร็จคัมภีร์ทั้งห้า ตามหลักสูตรมูลเดิม ปล้วกลับลาวมาตั้งโรงเรียน ปรับปรุงการเรียนการสอนมูลกัจจายน์ (มูลกะจาย) อยู่ที่บ้านเมืองพ้อง ในปี พุทธศักราช ๒๔๘๐ ได้ขึ้นมาเวียงจันทน์ เพราะรู้ข่าวว่าที่นั่นมีโรงเรียนปริยัติธรรม ของพุทธบัณฑิตสภาจันทบุรีที่วัดจัน โดยมีสมเด็จเจ้าเพชราชเป็นนายกสภา และมีครูบาอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงสอนอยู่ที่นั่น เช่น ท่านมหาแก้ว ราชวงศ์ ท่านมหาศิลา วีระวงศ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบเปรียญ ๓ ประโยคได้ ที่สำนักวัดจันเวียงจันทน์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนบาลีอยู่ที่วัดอุบมุง แต่ท่านก็ยังเรียนและสอบบาลีต่ออีก จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ก็สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค และได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักเทศน์ต้ังแต่บัดนั้น โดยได้ออกเทศนาและจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงแว้ เป็นเวลา ๓ พรรษา

◎ พลัดพรากเพื่อแสวงหา
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ เกิดกรณีพิพาทระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม มีสงครามกลางเมืองบ่อยๆ (เรียกศึกไทย) มีระเบิดตกที่เวียงจันทน์และที่วัดบ่อยๆ ท่านเห็นว่าไม่ปลอดภัย เลยหลบมาอยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย (ฝั่งโขงตรงข้าม) พร้อมด้วยพระอาจารย์สีทน พระอาจารย์สินบุญ แวะพักที่เมืองศรีเชียงใหม่หนึ่งคืนแล้วก็ล่องเรือรอนแรมอีกสองคืน จึงมาถึงเมืองหนองคาย ได้เข้าพักที่วัดโพธิ์ชัย และจำพรรษาอยู่ที่นั่น ๒ พรรษา ในระหว่างนี้ได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมฤคทายวัน บ้านน้ำสวยดงแขมด้วยอีก ๓ พรรษา ในช่วงนี้ ท่านพระอาจารย์มหาปาน อานันโท ได้ทดลองฝึกภาวนา โดยได้สมาทานอดอาหารถึง ๑๕ วัน แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงธรรมอะไร มีแต่ทุกขเวทนาเมื่อยล้าเหนื่อยอ่อน เข้าใจว่านี้เป็นการทรมานร่างกายจนเกินไป จึงได้หันกลับมาเยียวยาร่างกายธาตุขันธ์ แล้วตัดสินใจมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เสาะแสวงหาสำนักที่สามารถสอนวิปัสสนาอันลึกซึ้งให้ได้ และในที่สุดก็ได้เข้าพักที่วัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ อันเป็นสำนักของ ท่านอาจารย์เจ้าประคุณพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ ปธ.๘) และมีพระภาวนาภิรามเถระเป็นพระอาจารย์กรรมฐาน และ ณ ที่นี่ ท่านได้ศึกษาพระอภิธรรมกับพระอาจารย์ชาวพม่าด้วย ในชั่วระยะเวลาเพียง ๗ เดือน ท่านก็สามารถสำเร็จการศึกษา พร้อมทั้งผลการเข้าถึงอารมณ์วิปัสสนาได้เป็นอย่างดีเลิศ และก็ได้รับการนิมนต์ขึ้นแสดงธรรมทดสอบอารมณ์ความรู้ธรรมเห็นธรรมของท่านที่วัดมหาธาตุนี้อยู่ระยะหนึ่ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ บรรดาญาติธรรมเมืองหนองคาย บ้านดงแขม ก็ได้ไปกราบขอนิมนต์ท่านกลับมาอยู่ที่ดงแขมอีกครั้ง เมื่อได้มาอยู่ที่นี่แล้ว ท่านก็ได้ทำการเผยแผ่วิธีฝึกวิปัสสนากรรมฐานออกไปเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นพระนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และที่วัดเนินพะเนาหนองคาย มีคนศรัทธาในครั้งนั้นถึงขั้นสร้างกุฏิถวายในคราวเดียวถึง ๒๕ หลัง และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ท่านได้ข้ามโขง กลับมาฝั่งเวียงจันทน์ เพื่อเยี่ยมยาม และเทศนาเผยแผ่ธรรมกับบรรดาญาติโยมในวัดที่เคยจำพรรษามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัดอูบมุง วัดสีฐาน วัดเชียงแว้ จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่วเวียงจันทน์

◎ คืนสู่มาตุภูมิ ฟื้นฟูวัดมหาพุทธวงศาป่าหลวงแห่งเวียงจันทน์
ปี พศ.๒๔๙๘ คณะศรัทธาญาติโยม คหบดีในเวียงจันทน์ นำโดย พ่อพิมโพ พิลาพิมเดช เป็นต้น ได้พร้อมใจกันมากราบนิมนต์พระอาจารย์กลับคืนประเทศลาวบ้านเกิด เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอน ซึ่งท่านเองก็ยินดี ที่ประเทศลาว ครั้งนี้ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสว่าง และได้ออกแสวงหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อตั้งเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน และจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ พอดีได้มาพบวัดเก่าแก่โบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ดูเหมือนเกือบจะร้างไปแล้ว เลยได้ตัดสินใจบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยให้ชื่อว่า “วัดมหาพุธวงศาป่าหลวง” หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “วัดโสกป่าหลวง” อาจกล่าวได้ว่า นับจากปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาในประเทศลาว ได้ฟื้นฟูขึ้นมาอีกรอบ นับตั้งแต่พุทธบันสภาจันทบุรี และโรงเรียนปริยัติธรรมต่างๆ ที่ก่อตั้งมาในสมัยนั้นเสื่อมถอยลง เนื่องด้วยภาวะสงคราม และเหตุการณ์ความไม่สงบภายในด้วย…ในคราวครั้งนี้ ได้มีวัดมหาพุทธวงศาป่าหลวงเป็นศูนย์กลาง และมีพระอาจารย์มหาปาน อานันโท เป็นประธานศูนย์ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ สำนักวิปัสสนากรรมฐานก็แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปยังแขวงต่างๆ ทั้งเวียงจันทน์ คำม่วน อัตตะปือ หลวงพระบาง และสะหวันนะเขต รวมสาขาทั้งหมดถึง ๑๙ แห่ง ทั้งนี้ไม่รวมสำนักสาขาในเมืองไทยอีก ๑๑ แห่ง ภารกิจการเผยแผ่อีกอย่างก็คือ การจัดพิมพ์หนังสือวารสารธรรมรายเดือนชื่อว่า “พุทธวงศ์” ออกเผยแผ่สู่สาธารณชนอยู่เป็นเวลาต่อเนื่องนานถึง ๙ ปี
◎ ผลบุญ(งาน)แห่งการบำเพ็ญบารมี
นอกจากการทำหน้าที่เจ้าสำนักวัดพุทธวงศ์แล้ว ท่านเองยังได้ขยายกิจการเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้กว้างไกลออกไป ตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ และมีผลงานแล้ว ดังนี้ คือ
๑. ขยายสำนักวิปัสสนาออกไปให้ได้ในทั้งสี่แขวง (จังหวัด)
๒. จัดตั้งโรงเรียนพระอภิธรรม
๓. จัดตั้งโรงเรียนเลี้ยงเด็กกำพร้า
๔. จัดตั้งโรงเรียนอบรมศีลธรรมวันอาทิตย์
๕. จัดตั้งกระบอกเสียงเผยแผ่ทางหนังสือพิมพ์/วารสารพุทธวงศ์
๖. จัดสร้างพระพุทธรูปใหญ่เป็นหอสมุด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นถาวรวัตถุเพื่อศาสนกิจอีกมากมาย เช่น กุฏิวิปัสสนา อุโบสถ หอพระ ศาลาการเปรียญ หอสมุด โรงเรียนพระปริยัติธรรม เรือนเยาวชน เรือนพักนักปฏิบัติธรรม ฯลฯ ขณะดำรงตำแหน่งในคณะบริหารเผยแผ่ ท่านเองได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับกิจการพุทธศาสนาระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น ที่อินเดีย เขมร ศรีลังกา ไทย
◎ บทสรุป
ตลอดระยะเวลา ๑๑ ปี ในวัดพุทธวงศาป่าหลวง และในฐานะประธานคณะกรรมการเผยแผ่ฯ ท่านพระอาจารย์ได้สำเร็จภารกิจอันสูงส่ง ด้วยการบำเพ็ญบารมีธรรมมากมาย มีลูกศิษย์ผู้ให้ความเคารพนับถือศรัทธาในองค์ท่านอยู่ทั่วประเทศ มีผลงานเทศนาธรรมคำสอนที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคือ “ทางห้าสาย” ไว้ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ ทางห้าสาย..เป็นผลงานชิ้นเอกของท่าน ที่ได้รับการจัดพิมพ์มากมายหลายครั้งแล้ว และครั้งนี้ก็เป็นการจัดพิมพ์โดย “โครงการพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนา” (ค.พ.พ.) เนื่องในงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์ใหญ่ ชาลี กนฺตสีโล ผู้เป็นศิษย์เอกผู้หนึ่งของท่านพระอาจารย์ปาน ซึ่งจัดมีขึ้นในวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ในวาระโอกาสอื่นๆ ต่อไปทาง ค.พ.พ. จะพยายามนำเอาบทเทศนาธรรมของท่านมาจัดพิมพ์เผยแพร่อีก

