วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

พระอาจารย์ชา สุภัทโท พระอริยเจ้าผู้ก้าวล่วงความสงสัยในนิกาย

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์ชา สุภัทโท

วัดหนองป่าพง
อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

พระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง
พระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง

“พระอริยเจ้าผู้ก้าวล่วงความสงสัยในนิกาย”

พระเดชพระคุณหลวงปู่ชา  สุภทฺโท พระอริยเจ้าศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต รูปหนึ่ง  ที่ไม่ได้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต  ท่านเป็นผู้ทรงธรรม  เก่งในเทศนาโวหารและการเปรียบเปรย  ข้ออรรถข้อธรรมของท่านชวนให้คนได้คิดเสมอ  สติปัญญาไว  ดัดนิสัยสานุศิษย์ได้ฉับพลัน  มีบุญญาบารมีมาก  มีหลวงพ่อพุธฐานิโย  เป็นสหธรรมิก  ท่านเล่าว่า

“มีนิสัยโน้มเอียงมาในทางธรรมตั้งแต่วัยเด็ก  กลัวบาป  เป็นคนซื่อสัตย์ไม่โกหก  รักความยุติธรรม  เกลียดความอยุติธรรม  ชอบเล่นแต่งตัวเป็นพระ  มีความพอใจภูมิใจที่ได้แสดงเป็นพระ  ยินดีในผ้ากาสาวพัสตร์และเพศพรหมจรรย์”

ท่านมีความสามารถในการสอนธรรมให้ชาวต่างชาติ  มีศิษย์เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก  มีวัดสาขาทั้งใน และต่างประเทศ  มีกฎระเบียบจากวัดป่าหนองพง  เป็นต้นแบบเสมอภาคทุกสาขาทั่วโลก

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๑  ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ บ้านก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายมา และนางพิมพ์ ช่วงโชติ

เมื่ออายุ ๑๓ ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากเป็นเด็กวัดกับเจ้าอาวาสวัดบ้านก่อ เพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ณ วัดบ้านก่อ โดยมี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) เป็นพระปัพพชาจารย์ ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์เป็นเวลา ๓ ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร ศึกษาหลักสูตรนักธรรม จากนั้นจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป

อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระครูอินทรสารคุณ พระอุปัชฌาย์ของ พระโพธิญาณเถระ

เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรีได้ นับแต่ได้อุปสมบทมาเมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมโยมบิดามารดา โยมพ่อมักจะวกเข้าสู่เรื่องความเป็นอยู่ในสมณเพศของท่านว่า

“อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้แหละดี สึกออกมามันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้”

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริตฺโต มีพระไปด้วยกัน ๔ รูป เดินทางถึงสำนักหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ใจความสั้นๆ ว่า “การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” และท่านพระอาจารย์มั่นได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ในคืนที่ ๒ ท่านได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ จนจิตท่านคลายความสงสัย มีความรู้สึกลึกซึ้ง จิตหยั่งลงสู่สมาธิธรรม เกิดธรรมปีติประหนึ่งว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังท่านพระอาจารย์มั่นอยู่จนเที่ยงคืน

ท่านพักอยู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่นได้ไม่นานนัก แต่เป็นที่พอใจในรสพระธรรมที่ได้ดื่มด่ำเป็นอย่างยิ่ง ท่านเทียบว่า

“คนตาดีพบดวงไฟก็มองเห็นแสงสว่าง ส่วนคนตาบอดถึงจะนั่งเฝ้าดวงไฟ ก็ไม่เห็นอะไร”

หลังจากกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และศรัทธาของท่านแกร่งกล้าขึ้นพร้อมที่จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความเพียร เพราะแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินก็ชัดเจนขึ้น

จากนั้นท่านก็เดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนาตามป่าเขามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม มีความรู้สึกว่าท่านพระอาจารย์มั่น คอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่เสมอ การเดินธุดงค์แต่ละแห่งล้วนแต่เป็นสถานที่ทุกข์ยากลำบาก ต้องผจญภัยอันตรายต่างๆ บางครั้งท่านก็ได้รับทุกขเวทนาจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ไข้ป่า มาลาเรีย นิ่งสมัยก่อนหยูกยารักษาโรคก็ไม่มี ต้องอาศัยธรรมโอสถช่วยเหลือตนเอง ยอมเป็นยอมตาย จนจิตใจของท่านกล้าแกร่ง จิตมีธรรมเป็นที่พึ่งเป็นลำดับ บางครั้งก็ติดปัญหาคาใจ มีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา

หลวงปู่วัง ฐิติสาโร วัดถ้ำชัยมงคล

เวลานั้นท่านพาคณะลูกศิษย์เดินธุดงค์ไปทางอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ท่านจึงได้เดินทางขึ้นภูลังกาเพื่อกราบนมัสการท่านพระอาจารย์วัง หลังจากสนทนาแล้ว ท่านก็เกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น พักอยู่ภูลังกา ๓ วันจึงได้เดินทางลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตก ได้หลบฝนเข้าไปนั่งใต้ถุนศาลา จิตกำลังพิจารณาธรรมะอยู่ ทันใดนั้นจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วเปลี่ยนไป มีความรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมดเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบัง แสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวด ก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ น้อมเข้ามาหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายไม่ใช่ของเรา มันล้วนแต่ของสมมุติ ด้วยอารของจิตที่เกิดขึ้นนี้ท่านจึงสรุปว่า

“ผมเห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ ดูไม่ออก คล้ายๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้าแยกกันออกไม่ได้ง่ายๆ คล้ายกันแต่มีคุณธรรมต่างกัน”

ในเดือนมีนาคมปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ท่านเดินธุดงค์มาวิเวกที่ดงป่าพง เห็นเป็นที่สัปปายะธรรม ท่านจึงปักหลักและสร้างเป็น “วัดหนองป่าพง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ พระอาจารย์ชา สุภัทโธ


ในช่วงบั้นท้ายชีวิต ท่านได้เริ่มอาพาธ เป็นมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ และอาการทรุดลงเรื่อยมา แต่ท่านก็ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะเริ่มอาพาธหนัก ท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ไว้เสมอว่า

“ผมไม่มีอะไร ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่มีอะไร”

หลังจากนั้นท่านได้อาพาธจากโรคหลายอย่างจนส่งผลให้ท่านต้องได้รับการผ่าตัดรักษาตัวเมื่อปี ๒๕๒๔ แต่อาการโดยรวมไม่ดีขึ้น ต่อมาอาการได้ทรุดลงจนทำให้ท่านไม่สามารถพูดและเคลื่อนไหวร่างกายได้เอง และสุดท้ายในช่วงเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ท่านได้อาพาธหนักจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่อาการไม่ดีขึ้น ทางคณะสงฆ์จึงได้นิมนต์ท่านกลับมาที่วัด และในเช้าวันที่ ๑๖ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ เวลา ๐๕.๒๐ นาฬิกา ท่านก็ได้ละสังขารลง เหลือไว้แต่คุณงามความดีและคำสั่งสอนทั้งหลายให้เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ถือเป็นแบบอย่างและศึกษาปฏิบัติสืบต่อมาตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ท่านพระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง ละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดหนองป่าพง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สิริอายุได้ ๗๔ ปี ๕ เดือน ๑ วัน ๕๒ พรรษา

เจดีย์พระธาตุหลวงปู่ชา ที่วัดหนองป่าพง
ภายในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถระ

เกียรติประวัติที่สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา

๒๙ เมษายน ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง

๕ ธันวาคม ๒๕๑๖ ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะ “พระโพธิญาณเถระ

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ

๖ มิถุนายน ๒๕๒๑ ได้รับพัด พัฒนาเชิดชูเกียติ จากกรมการศาสนา

๓๐ กันยายน ๒๕๓๑ ได้รับยกย่องเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา

ยอดคําสอน

ยอดคําสอน เป็นคําสอน เป็นคติ เป็นปรัชญาสั้น ๆ ที่คมลึกซึ้ง ใครได้ฟังแล้วจะเกิด ความรู้สึกซาบซึ้ง และบางครั้งอาจจะถึงกับอุทานออกมาว่า ท่านคิดและกลั่นกรองคําเหล่านี้ออกมาจากจิตได้อย่างไร ถ้าจิตนั้นไม่บริสุทธิ์แจ่มใสเยี่ยงผู้บรรลุธรรม ขอท่านได้สังเกตคําสอนต่อไปนี้

ธรรมดาๆ

ตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มีอะไรทําไมใครเลย

ไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารณ์เลย

ไม่มีอะไรที่น่าจะร้องไห้หรือหัวเราะ เพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ

แต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา

แต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ําเสมอ ไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว

มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น เราก็สงบ

การปฏิบัติคืออํานาจ

พระพุทธศาสนาไม่มีอํานาจอะไรเลย

แม้นก้อนทองคําก็ไม่มีราคา ถ้าเราไม่มารวมกันว่ามันเป็นโลหะที่ดีมีราคา

ทองคํามันก็ถูกทิ้งเหมือนก้อนตะกั่วเท่านั้นแหละ พระพุทธศาสนาตั้งไว้มีอยู่

แต่ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ จะไปมีอํานาจอะไรเล่า

อย่างธรรมะเรื่องขันติมีอยู่

แต่เราไม่อดทนกัน

มันจะมีอํานาจอะไรใหม ?

ชนะตนเอง

ถ้าเราเอาชนะตัวเอง

มันก็จะชนะทั้งตัวเองชนะทั้งคนอื่น

ชนะทั้งอารมณ์ ชนะทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น

ทั้งรส ทั้งโผฏฐพพะ

เป็นอันว่าชนะทั้งหมด

สุขทุกข์

คนที่ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์นั้น

ก็จะเห็นว่า สุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ

มันคนละราคากัน

ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้ว

ท่าน จะเห็นว่า

สุขเวทนา กับทุกขเวทนา

มันมีราคาเท่า ๆ กัน

เกิดตาย

เมื่อเราเกิดมาแล้วโยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเอง

ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ

เหมือนกับต้นไม้ อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย

เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย

เมื่อมีปลายมันก็มีโคน

ไม่มีโคนปลายก็ไม่มี

มีปลายก็ต้องมีโคน

มีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้

มันเป็นอย่างนั้น

งูเห่า

อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น

อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก

อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก

มันทําให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี

ทําให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ของจริง

ธรรมของจริงของแท้ที่ทําให้บุคคลเป็นอริยะได้

มิใช่เพียงศึกษาตามตํารา

และนึกคิดคาดคะเนเอาเท่านั้น

แต่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นจริงๆ

ของจริงจึงจะเป็นของจริงขึ้นมาได้

ได้เสีย

ทุกอย่างที่เรามีอยู่เป็นอยู่นั้น

มันเป็นสักแต่ว่า “อาศัย” เท่านั้น

ถ้ารู้ได้เช่นนี้ ท่านว่ารู้เท่าตามสังขาร

ที่นี้แม้นจะมีอะไรอยู่ก็เหมือนไม่มี

ได้ก็เหมือนเสีย

เสียก็เหมือนได้

พิการ

เด็กทั้ง 2 พิการ เดินทางได้

จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้

แต่เราพิการใจ (ใจมีกิเลส)

จะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า

คนพิการกายอย่างเด็กนี้ มิได้เป็นพิษเป็นภัยกับใคร

แต่ถ้าคนพิการใจมากๆ

ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากแก่มนุษย์และสัตว์

ให้ได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว

คนดีอยู่ไหน

คนดีอยู่ที่เรานี่แหละ

ถ้าเราไม่ดีแล้ว

เราจะอยู่ที่ไหนกับใคร

มันก็ไม่ดีทั้งนั้น

ชีวิต

เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิต

วางมันเสีย ไม่เสียดาย

ไม่กลัวตาย ก็ทําให้เราเกิดความสบาย และเบาใจจริงๆ

นั่งที่ไหนดี

จะนั่งหัวแถวหรือหางแถวก็ไม่แปลก

เหมือนเพชรนิลจินดา

จะวางไว้ที่ไหนก็มีราคาเท่าเดิม

และจะได้เป็นการลดทิฐิมานะให้น้อยลงไปด้วย

ไม่กลัวตาย

กลัวอะไร ?

กลัวตาย

ความตายมันอยู่ที่ไหน ?

อยู่ที่ตัวเราเอง

จะหนีพ้นมันได้ไหม ?

ไม่พ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

ในที่ มืด หรือในที่แจ้ง ก็ตายทั้งนั้น หนีไม่พ้นเลย

จะกลัวหรือไม่กลัวก็ไม่มีทางพ้น

เมื่อรู้อย่างนี้ ความกลัวไม่รู้หายไปไหน

เลยหยุดกลัว

เหมือนกับที่เราออกจากที่มืดมาสู่ที่สว่างนั่นแหละ

มนุษยศาสตร์

มนุษยศาสตร์ทั้งหลาย มีแต่ศาสตร์ที่ไม่มีคมทั้งนั้น

ไม่สามารถจะตัดทุกข์ได้

มีแต่ก่อให้เกิดทุกข์ ศาสตร์เหล่านั้น ถ้าไม่มาขึ้นกับพุทธศาสตร์แล้ว

มันจะไปไม่รอดทั้งนั้น

หลับ-ไม่หลับ

ถ้าหลับมันก็ไม่รู้

ถ้ารู้มันก็ไม่หลับ

มรรคผล

มรรคผลยังไม่พ้นสมัย

คนโง่เท่านั้นที่ปฏิเสธว่า

ในพื้นดินไม่มีน้ําแล้วไม่ยอมขุดบ่อ

ไม้คดคนงอ

ต้นไม้เถาวัลย์ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร

คนคดคนงอนั้น ร้ายนัก

เป็นพิษเป็นภัยทั้งอยู่บ้านและอยู่วัด

หลง

คนหลงโลกคือคนหลงอารมณ์

คนหลงอารมณ์คือคนหลงโลก

นักปฏิบัติ

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ

กินมาก นอนมาก พูดมาก คือ คนโง่

แสดงอาการ

การหัวเราะเป็นอาการของคนบ้า

การร้องไห้เป็นอาการของทารก

ฉะนั้นท่านผู้ถึงความสงบ

จะไม่หัวเราะไม่ร้องไห้

สอนอย่างไร

ทําตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นที่หลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรก

ความอาย

เมืองนี้ยังไม่เคยมีพระบิณฑบาตเลย

เพราะเขามีความอายกันเป็นส่วนมาก

แต่ตรงกันข้ามกับเรา

เราเห็นว่า

คําที่ว่าอายนี้

เราเห็นว่า อายต่อบาป

อายต่อความผิดเท่านั้น

เมืองนอก

เราได้เดินทางไปเมืองนอก

และเมืองในนอก

และเมืองในใน

และเมืองนอกนอก

รวมสี่เมืองด้วยกัน

ที่รวมสมาธิ

เมื่อนั่งหลับตาให้ยกความรู้สึกขึ้นเฉพาะลมหายใจ

เอาลมหายใจเป็นประธาน

น้อมความรู้สึกตามลมหายใจ

เราจึงจะรู้ว่าสติมันรวมอยู่ตรงนี้

ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้