วันอาทิตย์, 15 กันยายน 2567

วัดปทุมวนาราม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ใจกลางกรุง

ประวัติ วัดปทุมวนาราม
แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

วัดปทุมวนาราม

เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริถึงที่นาหลวงบริเวณทุ่งกะปิริมคลองสามเสนแห่งหนึ่งจึงโปรดฯให้ สมเด็จเจ้า พระยาบรมมหาพิไชย ญาติหรือเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กองและพระสามภพพ่าย (หนู) ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาเพ็ชรพิไชย ว่าจ้างชาวจีนขุดสระใหญ่ ๒ สระติดต่อกัน มีเกาะแก่งน้อยใหญ่ ภายในสระปลูกพันธุ์ปทุมชาตินานาชนิด เพื่อให้เป็นรมณียสถานที่เสด็จประพาส รวมทั้งเหล่ามหาชนได้เล่นเรือในฤดูน้ำหลาก เสมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา และโปรดฯให้ขุดคลองไขน้ำเข้ามาจากคลองแสนแสบ ทำทางเดินเรือเข้ามาในสระ พื้นที่ฝั่งสระด้านทิศเหนือก่อกำแพงล้อมรอบกั้นเป็นเขตพระราชฐาน พระราชทานนามว่า พระราชวังประทุมวัน ภายในสร้างพระที่นั่ง ๒ ชั้น คือ พระที่นั่งประทุมมาภิรมย์ สำหรับเป็นที่ประทับแรม ตั้งอยู่ริมสระมีพลับพลาที่ประทับสำหรับเสด็จออก เรือนฝ่ายใน โรงครัวฝ่ายใน โรงครัวเลี้ยงขุนนางและโรงละคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปประทับแรมครั้งแรก เมื่อเดือน ๗ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๔๐๐

◎ การสร้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
บริเวณด้านทิศใต้ฝั่งตะวันตกโปรดฯ ให้สร้างพระอาราม “วัดประปทุมวันนาราม“ หรือ “วัดปทุมวนาราม” เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ครั้นเมื่อถึงฤดูแล้ง เดือนยี่ข้างขึ้นให้ไขน้ำจากคลองแสนแสบเข้าไปในสระ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคจากพระบรมมหาราชวัง มาประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้ ๒ ราตรีบ้าง ๓ ราตรีบ้างโปรดฯให้พระราชวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน ลงเรือพายเก็บดอกบัวแลพันธุ์พฤกษาชาติต่างๆ เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เสมือนเสด็จประพาสหัวเมืองที่นอกพระนคร เพลาเช้าโปรดฯให้อาราธนาพระราชาคณะลงเรือสำปั้น พายเข้าไปรับบิณฑบาตในเขตพระราชฐาน ครั้นเพลาค่ำ ก็จัดให้มีผ้าป่า แลให้เรือข้าราชการเล่นเพลงสักวาดอกสร้อย มีละครข้างในที่พระราชวังดังนี้ทุกๆ ปี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงตรวจดูความคืบหน้าการก่อ สร้างพระอาราม โปรดฯ ให้สร้างเสนาสนะสำคัญในเขตพุทธาวาส ดังปรากฏในหมายรับสั่งความว่า

พระมหาสฐูปเจดีย์ วัดปทุมวนาราม

“…ให้สฐาปนาการเปนพระอารามสร้าง พระมหาสฐูปเจดีย์ มีชั้นชุกชีชั้นทักษิน ซึ่งภายหลังได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งนำมาแต่สีหฬทวีป แลพุกามประเทศบัญจุไว้ ณ ภายในแลพระอุโบสถหลังหนึ่ง ด้านตะวันออกสำหรับพระมหาเจดีย์มีกำแพงแก้ววงรอบ มีมหาสีมาชั้นนอก ขัณฑสีมาชั้นใน…แลให้สร้างที่ประดิษฐานไม้พระมหาโพธิซึ่งนำพืชมาแต่สีหฬทวีป มีระเบียงล้อมรอบทั้ง๔ด้านแลสร้างพระวิหารใหญ่ เปนที่ธรรมสวนะสฐานสำหรับพระมหาโพธิ…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๐ และโปรดฯให้อาราธนาพระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายจากวัดบวรนิเวศวิหาร จำนวน ๙ รูปมาจำพรรษาที่พระอาราม พระราชทานสมณศักดิ์ พระครูประทุมธรรมธาดา (กล่ำ) เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามองค์แรก

ครั้น ณ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๐ เพลาเช้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค แห่ขึ้นไปรับพระพุทธปฏิมาสำคัญ ๒ องค์คือ พระแสน และพระไสย (พระสายน์) จากวัดเขมาภิรตารามนนทบุรีมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดประทุมวนาราม และโปรดฯให้อันเชิญพระพุทธปฏิมาประธานภายในพระวิหาร

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ทรงมีพระราชดำริให้จัดงานสมโภชนพระอาราม แต่ก็มิอาจกระทำได้ เนื่องด้วยสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีเสด็จสวรรคต ประกอบกับพระราชภารกิจที่ทรงมีมากมาย จึงงดเว้นงานฉลองสมโภช ครั้นล่วงเลยต่อมาอีก๖ปี จึงโปรดให้จัดงานฉลองวัดปทุมวนารามราชวรวิหารอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๔๑๐

วัดปทุมวนาราม เมื่อครั้งอดีต

เรื่อง การฉลองวัดปทุมวนาราม กล่าวว่ามีการจัดงานฉลอง ๕ วัน ๕ คืน เริ่มขึ้น ณ วันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๑๐ เวลาบ่าย มีการตั้งกระบวนแห่พระพุทธปฏิมา ผ้าไตร และเครื่องบริขารต่างๆ ลงเรือเอกไชย จากที่หน้าพระที่นั่งชลังคพิมานในพระบรมมหาราชวัง กระบวนแห่ประกอบด้วย เรือเอกไชยบุษบกลำหนึ่ง เรือดั้ง ๕ คู่ เรือกาบ ๒ ลำ เรือศรี ๔ ลำ แล่นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองแสนแสบจนถึงวัดปทุมวนาราม

รุ่งขึ้น ณ เดือนอ้าย แรม ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๒ วันจันทร์ที่ ๒๓ วันอังคารที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ เวลาบ่าย โปรดฯให้อาราธนาพระสงฆ์จำนวน ๑๐๘ รูป สวดพระพุทธมนต์ภายในพระอาราม ที่พระอุโบสถ ๒๐ รูป ที่ พระวิหาร ๗๓ รูป และที่ พระศรีมหาโพธิ ๑๕ รูป

วันแรม ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ เพลาเช้า โปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ทั้ง ๓ วัน ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก ครั้น ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน บายศรีตอง เวียนเทียนสมโภช มีพระธรรมเทศนาโดยพระราชาคณะวันละ ๑ กัณฑ์ ของไทยทานจัดเป็นกระจาด ๓ ชั้น กระจาดละ ๕ ตำลึงมีผลกัลปพฤกษ์ทิ้งทาน ๔ต้นๆละ ๑ ชั่ง และโปรดฯให้มีการละเล่นสมโภชพระอาราม ประกอบด้วย โขน หุ่น ละคร งิ้ว ไม้ต่ำ ไม้สูง ๓ วัน เพลาค่ำ มีหนัง มีระทาสูง ๑๒ วา จำนวน ๖ ระทา การเล่นดอกไม้เพลิงต่างๆ เสด็จฯไปประทับแรมที่พระราชวัง ณ พระที่นั่งประทุมมาภิรมย์ ตลอด ๕ ราตรี รุ่งขึ้น เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ งานฉลองวัดปทุมวนารามสิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง”

พระเสริม พระแสน พระสายน์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์วัดประทุมวนาราม

ภายในวัดปทุมวนารามมีอุโบสถ ๒ หลัง โดยอุโบสถหลังแรกเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเสริม” และ “พระแสน” โดยพระเสริมนั้นถูกอัญเชิญมาจากประเทศลาว ภายหลังจากที่กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง ๓ พระองค์ เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น และถวายนามของพระองค์เองให้เป็นชื่อของพระพุทธรูป

พระเสริม และ พระแสน ประดิษฐานอยู่คู่กันในพระอุโบสถหลังแรก

ภายในอุโบสถหลังที่สอง เป็นที่ประดิษฐานของ “พระสายน์” ซึ่งถูกอัญเชิญมาจากถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พร้อมกับ ”พระแสน” ในอุโบสถหลังแรก โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิในด้านการขอฝน เมื่อใดที่เกิดฝนแล้งขึ้น หากอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ออกมากลางแจ้ง ก็จะสามารถบูชาขอฝนได้

พระสายน์ พระประธานในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม
วัดปทุมวนาราม

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://watpathumwanaram.wordpress.com