วันจันทร์, 14 ตุลาคม 2567

ท่านพนฺธุโล (ดี) พระมหาเถระผู้แรกตั้งวงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน

ประวัติและปฏิปทา
ท่านพนฺธุโล (ดี)

วัดสุปัฎนารามวรวิหาร
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ท่านพนฺธุโล (ดี)

◎ ชาติภูมิ
ท่านพนฺธโล (ดี) นามเดิม ดี เกิดวัน เดือน ปีใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่คงเป็นราว พ.ศ.๒๓๔๔ ที่บ้านหนองไหล ตำบลหนองไหล อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อบิดา มารดา ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเช่นกัน ปรากฏแต่เพียงว่าท่าน มีรูปร่างสูงใหญ่ สีผิวดำแดง ท่าทางอาจหาญ มีความขยันหมั่นเพียร

◎ การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท
ท่านพนฺธุโล (ดี) สันนิษฐานว่าคงได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากวัดในหมู่บ้าน ซึ่งทำการสอนโดยพระสงฆ์ผู้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น อักษรขอม อักษรธรรม บทสวด (มนต์) คาถาอาคม ตลอดจนฮีตคอง ขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น การศึกษาเล่าเรียนสมัยนั้นเปิดโอกาสให้เฉพาะกุลบุตรได้เล่าเรียน เพราะเป็นการเรียนโดยตรงกับพระสงฆ์จึงจะประสบผลสำเร็จ ท่านพนฺธโล (ดี) ก็คงอยู่ในประเภทนี้ เพราะมีบุคลิกลักษณะได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว (ผู้เขียน)
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดเหนือในเมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของที่ตั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี) เพื่อการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งสมัยนั้นคงจะเรียนมูลกัจจายน์เป็นส่วนใหญ่ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ โดยพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ส่วนท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและจบชั้นใดบ้างก็ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวชในปี พ.ศ.๒๓๖๗ ต่อมาได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงสร้างใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๗๙ ขณะมีพระชนมายุ ๓๒ พระพรรษา ๑๒ ต่อมาท่านพนฺธโล (ดี) ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า โดยมีผู้นำเข้าเฝ้าถวายตัวในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้ญัตติเป็นธรรมยุตมีฉายาว่า พนฺธโล แล้วพำนักจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนที่วัดบวรนิเวศวิหารตั้งแต่บัดนั้น แต่ท่านพนฺธโล (ดี) ก็มิได้อยู่ในฐานะ สัทธิวิหาริก (ศิษย์) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เป็น ปุราณสหธรรมิก คือ ผู้ร่วมปฏิบัติตามลัทธิธรรมแบบธรรมยุตรุ่นแรก ๆ ในสำนักของพระองค์ท่าน

◎ หน้าที่การงาน
ในระหว่างพำนักจำพรรษาเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และศึกษาหลักการของคณะธรรมยุต ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองหลวงนั้น ครั้งหนึ่งได้ทูลลากลับไปเมืองอุบลราชธานี และจำพรรษาอยู่ที่อุบลราชธานี ๑ พรรษา เมื่อกลับมาได้นำพระหนุ่มมีนามว่า ม้าว อายุ ๒๔ ปี ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯด้วย ในคืนวันหนึ่งท่านพนฺธโล (ดี) ได้นำพระม้าวเข้าเฝ้าถวายตัว ขณะที่เข้าเฝ้านั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาและทรงยกดวงเทียนส่องทอดพระเนตรดวงหน้าและส่วนอื่นของ พระม้าว แล้วตรัสกับท่านพนฺธโล (ดี) ว่า ขรัวดี พระดีอย่างนี้ทำไมไม่นำมาให้มาก ท่านพนฺธโล (ดี) จึงกราบทูลว่า หายาก เมื่อได้ฝึกอบรมอันควรแก่ภาวะแล้ว จึงได้โปรดให้ญัตติ พระม้าว เป็นธรรมยุตได้รับฉายาว่า เทวธมฺมี ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นสิทธิวิหาริกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีพระอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า ก่ำ จากเมืองโขง แขวงนครจำปาศักดิ์เข้ามาศึกษาเล่าเรียนและถวายตัวเป็นสิทธิวิหาริกด้วยได้ญัตติเป็นธรรมยุตได้รับฉายาว่า คุณสมฺปณฺโณ ต่อมามีกุลบุตรจากอุบลราชธานีและที่อื่น ๆ ได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อกันมามิได้ขาด

◎ สร้างวัดธรรมยุตวัดแรกในภาคอีสาน
พ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลาผนวชและทรงครองราชย์แล้วไม่นาน พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีได้เข้ามาราชการในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงานการบริหารราชการตามปกติ และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) ออกไปปฏิบัติเผยแผ่พระธรรมวินัยและขยายวงศ์ธรรมยุต โดยการสร้างวัดขึ้นในเมืองอุบลราชธานีด้วย พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง) ก็รับพระราชกระแสรับสั่งใส่เกล้าฯ นำไปปฏิบัติ จนสำเร็จตามพระราชประสงค์ กล่าวคือ เมื่อถึงอุบลราชธานีแล้ว ก็ได้ปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องตกลงกันว่า ที่ท่าน้ำด้านเหนือแม่น้ำมูลระหว่างตัวเมืองกับบ้านบุ่งกาแซว เป็นสถานที่เงียบสงัดเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม มีความสะดวกในการโคจรบิณฑบาต ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก จึงลงมือปรับสถานที่ก่อสร้างวัดเป็นเนื้อที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ยาวเท่ากันด้านละ ๓ เส้นเศษ เริ่มก่อสร้างเสนาสนะหลังแรกคือ พระอุโบสถ ขนาดกว้าง ๘ วา ยาว ๑๑ วา ๒ ศอก เฉลียงด้านกว้างแบ่งเป็น ๔ ห้อง เฉลียงด้านยาวแบ่งเป็น ๗ ห้อง เสาไม้แก่นทั้งหลังก่ออิฐถือปูนพอกเสาเฉลียงทุกต้นหลังคาลดหลั่นเป็นสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องแผ่นไม้ ช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยกระจกหน้าบันประดับด้วยลายเครือเถาว์และดอกไม้ พื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนกุฏิและเวจกุฏิก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ยกเว้นกุฏิเจ้าอาวาสก่อสร้างข้างบนเป็นไม้ข้างล่างเป็นตึก เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วได้อาราธนาท่านพนฺธโล (ดี) ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) และท่านสมฺปณฺโณ (ก่ำ) ไปจาพรรษาอยู่ประจาโดยท่านพนฺธโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เป็นรองเจ้าอาวาส ต่อมา ได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดสุปัฏนาราม ซึ่งหมายความว่าเป็นอารมหรือวัดตั้งอยู่ที่ท่าน้ำที่ดี นับเป็นวัดธรรมยุตวัดแรกในภาคอีสานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๖

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน ๑๐ ชั่ง เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง พระราชทานให้มีผู้ปฏิบัติดูแลวัด หรือที่เรียกว่า เลขวัด ๖๐ คน และพระราชทานนิตยภัยแก่เจ้าอาวาสเดือนละ ๘ บาท

เมื่อสร้างวัดสุปัฏนารามเป็นหลักฐานมั่นคงแล้ว ท่านพนฺธโล (ดี) หรือที่เรียกในฐานะเจ้าวัด (เจ้าอาวาส) ขณะนั้นคือ พระอธิการดี พนฺธโล พร้อมด้วยพระม้าว เทวธมฺมี (ท่านเทวธมฺมี) และพระก่ำ คุณสมฺปณฺโณ (ท่านคุณสมฺปณฺโณ) ได้ร่วมแรงร่วมใจกันได้พัฒนาและอบรมสั่งสอนกุลบุตร ประชาชนที่เป็นบุตรหลาน ญาติโยมชาวอุบลราชธานีที่มีอายุครบบวชส่งเข้าไปอุปสมบทและเล่าเรียนพระธรรมวินัยในกรุงเทพฯ ครั้งละหลายคนไป ๓ ปีต่อครั้ง มีคราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคขึ้นในกรุงเทพฯ ทำให้นาคผู้จะบวชถึงแก่ชีวิตเพราะอหิวาตกโรคไปหลายคน จึงทำให้ผู้สืบทายาทพระศาสนาขาดตอนไปบ้าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบพฤติกรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้น เพราะการนำกุลบุตรมาอุปสมบทกับพระอุปัชฌาย์ ฝ่ายธรรมยุตที่มีอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น เป็นการยากลำบากในการเดินทางมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระครูปลัดทัด (เรือง) วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระข้าหลวงแทนพระองค์ออกไปตรวจสอบดูแลความเป็นไป และความพร้อมในการจัดตั้ง คณะธรรมยุต ขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี ว่ามีความพร้อมหรือไม่อย่างไร เมื่อพระครูปลัดทัด (เรือง) ได้กลับไปถวายรายงานว่ามีความพร้อมให้ทรงทราบแล้ว จึงทรงแต่งตั้งท่านพนฺธโล เป็นพระอุปัชฌาย์ องค์แรกที่สามารถทำสังฆกรรมบรรพชาอุปสมบทในแบบธรรมยุต ให้แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาที่จะบรรพชาอุปสมบทในภาคอีสาน

ท่านพนฺธโล (ดี) พอใจในการทำสังฆกรรมทั้งปวงใน อุทกุกเขปสีมา ตลอดกาล ถึงแม้มีพระอุโบสถในวัดแล้วก็ไม่นิยมทาสังฆกรรมในที่นั้น จึงได้สร้างแพสำหรับทำสังฆกรรมในแม่น้ำมูลที่หน้าวัดสุปัฏนารามตลอดยุคของท่านอันแสดงถึงความเคร่งครัดในพระวินัยและความบริสุทธิ์เป็นสำคัญ โบสถ์แพดังกล่าวใช้ต่อมาอีกนานจึงได้เลิกไป ส่วนท่านคุณสมฺปณฺโณ (ก่ำ) ก็โปรดเกล้าฯ ตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์ ทาหน้าที่บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรผู้มีศรัทธาที่เมืองโขง แขวงจำปาศักดิ์อีกแห่งหนึ่ง นับว่าธรรมยุติกนิกายทั้งเมืองอุบลราชธานีและเมืองโขงเจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ

◎ ปฏิปทาของพระสงฆ์ธรรมยุตเมืองอุบลราชธานียุคแรก
ท่านพนฺธโล (ดี) มีปฏิปทายึดแนวทางแบบพระธุดงค์กัมมัฏฐาน วัดธรรมยุตในยุคนั้นก็นิยมตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ในลักษณะเป็น อรัญญิกาวาส คือวัดป่า กิจวัตรประจำวันของพระภิกษุสามเณรจัดแบ่งเป็นส่วน ๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ คือแบ่งเวลาแต่ละวันให้ชัดเจนว่า ช่วงเวลาใดเป็นกิจวัตรอะไร เช่น ทำวัตร ออกบิณฑบาต เล่าเรียน ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังเทศน์ ท่องบ่นสาธยาย นั่งสมาธิภาวนา และพักผ่อน จำวัด เป็นต้น โดยใช้เสียงระฆังเป็นเครื่องเตือนบอกเวลาแต่ละกิจวัตร ปฏิปทาเช่นนี้จึงเป็น ธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดกันมาในวัดฝ่ายวิปัสสนาธุระทั้งภาคอีสานและภาคอื่น ๆ มาจนทุกวันนี้

◎ คณะสงฆ์แบ่งเป็น ๓ ลัทธิ
เมื่อคณะสงฆ์ธรรมยุตได้ตั้งมั่นคงแล้ว เมืองอุบลราชธานีสมัยนั้นการบริหารการคณะสงฆ์ แบ่งเป็น ๓ ลิทธิ เวียงจันทน์ ประเทศลาว เพราะในยุคสร้างบ้านแปงเมือง ราว พ.ศ.๒๓๒๑ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ได้นำผู้คนซึ่งประกอบด้วยผู้รู้ นักปราชญ์และพระสงฆ์ส่วนหนึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอันเป็นเมืองอุบลราชธานีในคราวนั้นด้วย ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ ฮีต คอง ต่าง ๆ จึงถือปฏิบัติตามแนวความเชื่อดั้งเดิมของตน สำหรับด้านพระพุทธศาสนามีศูนย์กลางอยู่ที่วัดหลวง (วัดแรกของเมืองอุบลราชธานี) วัดมหาวนาราม (ป่าใหญ่) และวัดมณีนาราม (ป่าน้อย)

พระครองไทย คือ การบริหารการคณะสงฆ์อันสืบเนื่องจาก พระสงฆ์เถระที่สาคัญองค์หนึ่งนามว่า สุ้ย ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม โดยพำนักจำพรรษาที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯ จนสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค แล้วกลับไปตั้งสานักเรีนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี (แบบใหม่) ขึ้นที่วัดมณีวนาราม พร้อมทั้งนาระเบียบแบบปฏิบัติจากกรุงเทพฯ ไปใช้ในการปกครองวัดและคณะสงฆ์ด้วย จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) องค์แรกของจังหวัดอุบลราชธานีนามว่า พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านเจ้า มีตำแหน่งเป็น เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี

พระครองมอญ คือ การบริหารการคณะสงฆ์อันเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงออกผนวชได้ทรงสถาปนาคณะธรรมยุตขึ้น โดยทรงยึดถือแบบอย่างมาจากคณะสงฆ์ฝ่าย รามัญ หรือ มอญ เป็นสำคัญ เมื่อท่านพนฺธโล (ดี) เป็นผู้นำมาเผยแผ่ ชาวอุบลราชธานีจึงเรียกพระสงฆ์ธรรมยุตว่า พระครองมอญ และการเรียกพระสงฆ์ไปจากกรุงเทพฯ ว่า พระครองไทย การเรียกเช่นนั้น สันนิษฐานว่า สมัยต้นรัชกาลที่ ๔ คำว่า มหานิกาย และ ธรรมยุต ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นจึงยังไม่มีใครเรียกหรือรู้จัก

◎ การขยายวัดธรรมยุตในเมืองอุบลราชธานี
ท่านพนฺธโล (ดี) ได้ขยายวัดธรรมยุตเพิ่มขึ้นอีก ๔ วัด
(๑) วัดศรีทอง อุปฮาด (โพธิ ณ อุบล) เป็นผู้สร้าง ท่านเทวธมฺมี (ม้าว) จากวัดสุปัฏนารามเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดศรีอุบลรัตนาราม ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ในปีพ.ศ.๒๕๒๒
(๒) วัดสุทัศนาราม ราชบุตร (สุ้ย บุตโรบล) เป็นผู้สร้าง ท่านพิลา จากวัดสุปัฏนารามเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
(๓) วัดไชยมงคล เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (หน่อคำ) เป็นผู้สร้าง ท่านสิงห์ วัดศรีทอง เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
(๔) วัดสระแก้ว เมืองพิบูลมังสาหาร พระบำรุงราษฏร (จูมมณี สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองพิบูลมังสาหารเป็นผู้สร้าง ท่านพนฺธโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก เพราะพระบำรุงราษฏร ศิษย์คนโปรดเป็นผู้สร้างวัดจึงรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสควบคู่เป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนาราม
(๕) วัดหอก่อง เมืองมหาชนะไชย พระเรืองชนะไชย (คำปูน สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองมหาชนะไชย เป็นผู้สร้าง ท่านสีดา จากวัดสุปัฏนาราม เป็นเจ้าอาวาสวัดองค์แรก

ยุคของท่านพนฺธโล (ดี) มีระยะเวลาการครองวัด (เจ้าอาวาส) ประมาณ ๒๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๔) นับเป็นยุคแรกของคณะธรรมยุตในภาคอีสาน พระสงฆ์ยังคงแพร่หลายอยู่ เฉพาะเขตเมืองอุบลราชธานี วัดทั้ง ๖ วัด ล้วนเป็นอรัญญิกาวาสคือวัดป่าส่วนมากมีปฏิปทาแบบ พระธุดงคกัมมัฏฐาน ซึ่งกลายเป็นลักษณะโดดเด่นและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประการหนึ่งของพระสงฆ์ธรรมยุตตลอดถึงทายกทายิกา ผู้ศรัทธาเลื่อมใสสืบมา

ความนิยมในการปฏบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของพระสงฆ์ และชาววัดชาวบ้านในแถบนี้ นับเป็นวัฒนธรรมทางศาสนาของชาวอีสานโดดเด่นกว่าภาคอื่น ๆ จะเห็นได้จากพระบูรพาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ผู้สืบทอดแบบแผนธุดงควัตรในยุคหลัง ล้วนได้รับการสืบทอดจากพระสงฆ์ชาวอุบลราชธานีแทบทั้งนั้น ภารธุระในพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ในปัจจุบัน แบ่งเป็น ๒ สายอย่างชัดเจน คือ สายคันถธุระ เน้นการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นหลัก วัดส่วนใหญ่เป็นประเภท คามวาสี คือวัดบ้าน และอีกสายหนึ่ง คือสายวิปัสสนาธุระ วัดส่วนใหญ่เป็นประเภท อรัญวาสี คือวัดป่า แต่ก็มีบางวัดซึ่งเจ้าวัด (เจ้าอาวาส) หรือเจ้าสำนักจะเน้นทั้ง ๒ สาย เป็นการผสมผสานทั้งด้านปริยัติ (เรียน) และด้านปฏิบัติควบคู่กันอยู่ในลักษณะกึ่งวัดบ้านกึ่งวัดป่า แต่วัดประเภทนี้มีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัดที่เป็นคามวาสีและอรัญวาสีมีทั้งที่เป็นธรรมยุติกนิกายและมหานิกายกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

◎ มรณภาพ
ราว พ.ศ.๒๔๑๔ ท่านพนฺธโล (ดี) สังขารชราภาพมากแล้วจึงได้มอบภาระการปกครอง วัดสุปัฏนาราม อันเป็นสานักหลักของคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ขณะนั้นให้ท่านสงฺฆรกฺขิต (พูน) หรือ พระพูน สงฺฆรกฺขิตโต ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์) องค์แรกของท่าน เป็นผู้รักษาการแทน ต่อมาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ภายหลังจากท่านพนฺธโล (ดี) มรณภาพแล้ว

ปีสุดท้าย ท่านพนฺธโล (ดี) ได้อธิษฐานจิตในระหว่างเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือนโดยการสมาทาน เนสิชชิกธุดงค์ คือถือปฏิบัติเป็นวัตรไม่นอน ๓ เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วไม่นานท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ณ วัดสระแก้วเมือง(อำเภอ)พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และได้ทำการฌาปนกิจศพของท่าน ณ วัดสระแก้ว เมืองพิบูลมังสาหาร สิริรวมอายุประมาณ ๗๐ ปี พรรษา ๕๐

ท่านพนฺธโล (ดี) เป็นพระสงฆ์เถระชาวอุบลราชธานีรุ่นแรก ๆ ที่มีโอกาสได้บวชเรียนทั้งที่จากบ้านเกิด(อุบลราชธานี) และในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) และมีโอกาสอันสูงยิ่งที่ได้เข้าเฝ้าถวายตัวรับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ขณะทรงออกผนวชในพระนาม วชิรญาณเถระ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ ธรรมยุติกนิกาย ขึ้น ท่านพนฺธโล (ดี) ในฐานะ ปุราณสหธรรมิก ในพระองค์ท่าน ก็ได้เอาภาระธุระเผยแผ่คณะธรรมยุตตั้งเป็นหลักฐานให้เจริญก้าวหน้าเป็นครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์องค์แรกที่ทาสังฆกรรมการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตร ผู้มีศรัทธาเป็นพระสงฆ์ธรรมยุตให้แพร่หลายทั่วภาคอีสาน และที่สำคัญที่สุด ท่านพนฺธโล (ดี) เป็นผู้นาในการนำวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของธรรมยุติกนิกาย โดยยึดแบบแผนธุดงคกัมมัฏฐานอยู่อรัญญิกาวาสหรือวัดป่าเป็นหลัก ไปปฏิบัติจนเป็นแบบแผนแนวปฏิบัติของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือสายวัดป่าของภาคอีสานและภาคอื่น ๆ สืบต่อมาในภายหลัง ดังตัวอย่าง บูรพาจารย์เถระเป็นที่เคารพศรัทธาของพระพุทธบริษัททั้งหลาย อาทิ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์ชา สุภทฺโท เป็นต้น นับได้ว่าท่านพนฺธโล (ดี) ได้ทาคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน สาธุชน ประชาชนชาวอุบลราชธานี และโดยทั่วไป สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเป็น ปราชญ์ ชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริง