ประวัติและปฏิปทา
ญาท่านกรรมฐานแพง
วัดสิงหาญ
อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
หลวงปู่กรรมฐานแพง จันทสาโร
กำเนิดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก
บิดาชื่อชาพิจิตร (มา) พรหมสีใหม่ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอุปฮาด(อุปราช) เมืองตระการพืชผล
มารดาชื่อผิว พรหมสีใหม่
มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน เป็นชาย ๖ คน หญิง ๑ คน ดังนี้
๑. สมเด็จสอน (ถึงกาลมรณะภาพขณะอยู่ในเพศบรรพชิต)
๒. หลวงปู่กรรมฐานแพง จันทสาโร
๓. อาจารย์ทอง (ถึงแก่กรรม)
๔. อาจารย์ไพ (นายไพ เทพสิทธา)
ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น เทพสิทธา ตามขุนกสิกรพิศาล ได้รับพระราชทาน (นายกัณหา พรหมสีใหม่ บิดาของขุนกสิกรพิศาล เป็นบิดาน้องชายนายชาพิจิตร) (ถึงแก่กรรม)
๕. อาจารย์สิงห์ (ถึงแก่กรรม)
๖.นายเพ็ง (ถึงแก่กรรม)
๗. นางนวล อินโสม ถือว่าเป็นตระกูลที่มีใจฝักใฝ่แก่การศาสนาและเป็นนักบวชเสียส่วนมาก เรียกว่าเกือบทั้งหมดของลูกชาย นับว่าเป็นตระกูลนักปราชญ์ เป็นครูบาอาจารย์สืบทอดต่อกันมายังลูกหลาน ซึ่งได้ใช้นามสกุลใหม่ที่รับพระราชทานมา คือ เทพสิทธา ในปัจจุบันสกุล เทพสิทธา ได้รับราชการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง และสร้างคุณงามความดีอย่างเต็มกำลังความสามารถอย่าง เช่น คุณสมพร เทพสิทธา
หลวงปู่กรรมฐานแพง เป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนามากท่านหนึ่ง โดยเฉพาะในสายวิปัสสนากรรมฐาน
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ณ. วัดสิงหาย บ้านสะพือ ตำบลตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นวัดบ้านเกิด เมื่ออายุ ๑๗ ปีได้ศึกษาวิชาสายวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์พระครูสีดา (ญาท่านสีดา บ้านสะพือ) พออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ออกเดินทางธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ศรีทัตถ์ (ญาท่านศรีทัตถ์) ที่เมืองท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครหลวงพระบาง ประเทศลาว นานถึง ๖ ปี ผ่านการศึกษาตามสายวิชาที่สนใจมาแล้ว จากนั้นก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปตามขุนเขาน้อยใหญ่ ทั้งป่ารกดงทึบที่มากไปด้วยภัยอันตรายต่างๆนานาทั่วทั้งไทยและลาว จากเหนือจรดใต้ ทั้งสิบสองปันนา สิบสองเจ้าไท ตลอดไปจนถึงเวียตนามและกัมพูชาหรือที่เรารู้จักและเรียกกันว่าเขมร อาศัยอยู่ตามคูหาและหลืบถ้ำในป่าดงดิบ เช่น ถ้ำพระฤษีที่ประเทศลาว ออกจากเขมรกลับเข้าไทย ออกจากไทยต่อเข้าประเทศพม่า การไปพม่าจะไปทางเมืองมะระแหม่ง ธุดงค์ไปจนสุดแผ่นดินไม่สามารถจะไปต่อได้เพราะไม่มีแผ่นดินให้เดิน เมื่อท่านธุดงค์ไปจนสุดขอบแผ่นดินที่เบื้องหน้าเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ของทะเล เมื่อไปจนสุดแผ่นดินแล้วท่านจึงธุดงค์มุ่งหน้ากลับบ้านสะพือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี (หลังบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑๐ พรรษา)
ตลอดระยะเวลาที่ท่านออกธุดงค์กรรมฐานนั้น พ่อแม่ญาติศรีพี่น้องทุกคนต่างก็นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว นั่นก็เพราะว่านับตั้งแต่ท่านออกจากบ้านไป ก็ไม่เคยได้ส่งข่าวกลับมาบอกใครๆที่บ้านอีกเลยว่าท่านไปทำอะไรหรือไปอยู่ที่ไหน
กรณีนี้เข้าใจว่า อาจจะเป็นเพราะท่านเฝ้าแต่เพียรปฏิบัติฝึกฝนภาวนาอยู่ตามป่าตามเขา จนไม่มีเวลาหรือโอกาสส่งข่าวบอกใครก็เป็นได้
หลังกลับมาเยี่ยมบ้านและเผยแพร่ธรรมะให้กับญาติๆได้ระยะหนึ่ง ท่านก็เริ่มออกธุดงค์อีกครั้ง คราวนี้ไปลาวใต้ มุ่งหน้าสู่นครจำปาสัก ที่แขวงจำปาสักนี้ มีเหตุสำคัญทำให้ท่านมีอันต้องลาสิกขาจากร่มกาสาวพัตร์อยู่ที่บ้านเวินไชย อำเภอเมืองเก่า แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ไปมีครอบครัวอย่างสามัญอยู่นานถึง ๙ ปี ช่วงเวลานี้ว่ากันว่าเป็นช่วงเวลาที่ท่านต้องการชำระกรรม ล้างสัญญาเดิมที่เหลือหมดสิ้นไปจึงได้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเมื่อสิ้นสัญญาเดิมหมดกรรมเก่า
ท่านได้กลับมาอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ ๒ ณ บ้านเวินไชย แขวงนครจำปาสัก ประเทศลาว ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานตลอดจนหลักธรรมต่างๆเพิ่มเติมที่นี่กับท่านสมเด็จลุน ได้ถือโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ญาท่านสมเด็จลุน ซึ่งท่านสมเด็จลุนองค์นี้ เป็นที่เลื่องลือว่ามีกิตติคุณเป็นผู้มีธรรมวิเศษ หาตัวจับยากองค์หนึ่งในยุคสมัยนั้น
ว่ากันว่าท่านสามารถบรรลุธรรมอันสูงสุดได้ ในขณะที่ยังครองสังขารอยู่ในช่วงวัยอันน่าฉงน และเป็นผู้แตกฉานในทุกด้านไม่ว่าจะด้านปริยัติหรือปฏิบัติ ทั้งยังเป็นผู้เข้าใจในปาฏิโมกข์อย่างไร้ข้อกังขาอีกด้วยกฤษดาภินิหาริย์ของญาท่านสมเด็จลุน นั้นขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ
ต่อมาท่านได้อุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ ๒ ณ บ้านเวินไซ แขวงนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ได้ศึกษาวิปัสสนาตลอดจนหลักธรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมจากท่านสมเด็จลุน ณ บ้านเวินไชย (เป็นลูกศิษย์สมเด็จลุน) ญาท่านสมเด็จลุนองค์นี้ เป็นที่ลือชาปรากฏว่าเป็นผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถเหยียบเรือกำปั่นใหญ่ของฝรั่งเศส ให้จมน้ำโขงได้
และได้จากบ้านเวินไซ มาจำพรรษาอยู่ที่ บ้านด่าน อำเภอโขงเจียม จากบ้านด่าน มาจำพรรษาที่อยู่บ้านคำผ่าน และวัดทุ่งศรีทวีผล บ้านสะพือ จึงได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดสิงหาญ บ้านสะพือ
ต่อมาลูกหลานทางเมืองอุบล ซึ่งมีนายไพ เทพสิทธา น้องชายพร้อมด้วยญาติและลูก ๆ หลาน ๆ เห็นว่าท่านชรามากแล้ว จึงได้พร้อมใจกันสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งที่วัดปทุมมาลัย จังหวัดอุบลราชธานี ถวายท่าน แล้วนิมนต์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมมาลัย แต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ – ๒๕๐๗ ท่านเห็นว่าท่านชรามากแล้ว จึงขอกลับไปอยู่บ้านเกิด ขอตายอยู่กับครูอาจารย์ที่มาติภูมิ ลูกหลานและศิษย์สานุศิษย์ของนิมนต์ไว้ ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมต่อไป ท่านก็ไม่ยอม จึงได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสิงหาญ บ้านสะพือ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย เวลา ๐๑.๒๕ น. ด้วยอาการสงบ ( ซึ่งท่านบอกเวลาไว้ล่วงหน้าว่า ตีหนึ่งวันใหม่ท่านจะจากไป ) สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี
ตลอดระยะเวลาที่อยู่บำเพ็ญในบวรพุทธศาสนา ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มทองของพุทธศาสนิกชนแผ่เมตตาให้แก่คนทั่วไป ซึ่งท่านมีศิษย์สานุศิษย์มากมาย ทั้งประเทศลาว และประเทศไทยชื่อเสียงและคุณงามความดีของท่านแผ่กระจายทั่วไป ในนามกัมฐานแพง ศิษย์ญาท่านสมเด็จลุน ซึ่งใครๆ ย่อมทราบดี
ก่อนจะมรณภาพ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถ พร้อมด้วยโต๊ะหมู่บูชา ที่วัดบูรพาตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล เพื่อเป็นสาธารณะกุศลด้วย