วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

ครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา
ครูบาอินทจักรรักษา

วัดน้ำบ่อหลวง
อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง (วัดวนาราม)
พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง (วัดวนาราม)

◎ ชาติภูมิ
พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) มีนามเดิมว่า อินถา นามสกุล พิมสาร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๙ ตรงกับแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ณ บ้านป่าแพ่ง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่อง (คืออำเภอป่าซางในปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน

บิดาชื่อ นายเป็ง พิมสาร และมารดาชื่อ นางบัวถา พิมสาร มีอาชีพทำนาทำไร่ เป็นครอบครัวที่เป็นสัมมาปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนบ้านและลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มา ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ทั้งหมด ๑๓ คน

โยมบิดาพ่อเป็ง พิมสาร เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจใฝ่ในทางพุทธศาสนา มุ่งศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ดังนั้นครอบครัวพิมสารจึงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนตามหลักการและอุดมการณ์ของชาวพุทธที่ดีเสมอมา ดังเช่นการไปทำบุญตักบาตรทุกวันพระ รักษาศีล ๕ และรักษาอุโบสถศีลในช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น

ส่วนโยมมารดาคือ แม่บัวถา พิมสาร เมื่อครั้งอยู่ครองเรือนก็ได้ปฏิบัติเฉกเช่นสามี คือ บ้านถูกจัดระเบียบให้มีกิจกรรมภายในไม่ต่างไปจากวัด หลังจากท่านได้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นชี ระเบียบนี้ก็คงปฏิบัติกันต่อ ๆ มา มิได้ขาด แม่บัวถา พิมสาร ท่านถึงแก่กรรมในท่านั่งสมาธิ ซึ่งถือได้ว่า เป็นชาวพุทธตัวอย่างที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก จนเป็นที่รู้จักของประชาชนในหมู่บ้าน ป่าแพ่งตราบถึงปัจจุบัน

◎ ชีวิตก่อนออกบวช
ท่านครูบาอินทจักรรักษา เมื่อครั้งยังเยาว์วัยเป็นเด็กที่มีอุปนิสัย ขยัน รักสงบ มีความกตัญญูกตเวที ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของบิดามารดา เช่น ช่วยทำงานในไร่นาที่พอจะช่วยได้ทุกอย่าง เลิกงานจากทำนาก็จะเข้าสวน พรวนดิน เลี้ยงวัวควาย งานบ้านที่ทำส่วนมากได้แก่การตักน้ำตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตของชาวชนบทในอดีต หลังจากนั้นก็จะกวาดบ้านถูบ้านดูแลน้อง ๆ เพราะพี่ที่โตกว่าต้องทำงานช่วยพ่อแม่

ครั้นเมื่อเติบโตถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนก็ได้รับศึกษาเล่าเรียน โดยในระยะแรกได้ศึกษาเล่าเรียนจากพี่ชายของตนเอง ซึ่งเคยบวชเรียนมาก่อนเวลานั้น พี่ชายได้ลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสจึงได้เอาความรู้ในขณะที่บวชเรียนมาอบรมสั่งสอนน้องต่อ

หลังจากที่มีการเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้น สามเณรอินถาจึงเกิดความคิดที่จะเรียนต่อ ได้เข้าไปเรียนพระอุปัชฌาย์ให้ทราบ พระอุปัชฌาย์เห็นความเจริญก้าวหน้าจึงอนุญาต จึงได้เข้าเรียนเพิ่มเติมจนจบชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๓ ซึ่งเทียบเท่าชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปัจจุบัน โดยได้เดินทางมาเรียนที่วัดดอนแคร (วัดจีน) ปัจจุบันเป็นโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เรียนวิชาสามัญพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ บัญชี ลูกคิด เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ การศึกษาในโรงเรียนขณะนั้น เป็นการศึกษาเล่าเรียนที่ค่อนข้างลำบากยากเข็ญ เพราะขณะนั้นมีครูสอนในโรงเรียนน้อย การสอนจึงไม่ทั่วถึงแก่ทุกคน ประกอบกับอุปกรณ์ในการเรียนการสอนก็มีไม่เพียงพอ ถ้านักเรียนไม่มีความอุตสาหะ เพียกเพียรพยายาม ย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้

◎ การอุปสมบท
เมื่อท่านครูบาอายุครบ ๒๐ ปี เกิดความคิดขึ้นว่า “ในบัดนี้อายุกาลของเราครบบวชแล้ว ควรจะเดินทางกลับไปอุปสมบทที่ภูมิลำเนาเดิม ณ วัดป่าเหียง ต.แม่แรง เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ปีมะโรง (พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๖๑ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑) โดยมี พระอธิการแก้ว ขตฺติโย (พระขัตติยะคณะวงษา) เจ้าอาวาสวัดป่าเหียง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระฮอม โพธาโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระสม สุรินฺโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทั้งสองรูปนี้อยู่วัดป่าเหียงเช่นกัน ได้ฉายาว่า “อินฺทจกฺโก

หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ท่านครูบาได้ช่วยทำงานและเป็นธุระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับพระอุปัชฌาย์หลายประการ ทั้งนี้เพราะท่านครูบามีความรู้ทั้งทางคดีโลกและทางคดีธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติ

เมื่อท่านครูบาอินทจักรรักษา ปฏิบัติธรรมจนเกิดดำริในการออกเดินธุดงค์แล้วก็บังเกิดความปลื้มปิติขึ้นมา ท่านครูบาจึงน้อมจิตไปในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อตนเอง เป็นขณะเดียวที่พระน้องชาย คือ ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก ก็ได้ออกธุดงค์อยู่ในเขตอำเภอป่าซาง และอำเภอจอมทอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ซึ่งขณะนั้นท่านมีพรรษาได้ ๓ พรรษา ท่านครูบาได้ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์กับพระน้องชาย ซึ่งพระอุปัชฌาย์ได้อนุโมทนาพร้อมทั้งอนุญาตให้ออกเดินธุดงค์

◎ ออกธุดงค์
การเดินธุดงค์ในภาคเหนือตอนบนนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นปีที่ข้าวยากหมากแพง ถึงกระนั้นท่านครูบาก็ยังสู้อดทนตามเจตนาที่ตั้งไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม การเดินธุดงค์ไปในถิ่นต่าง ๆ ในขณะนั้นจึงไม่ใช่ของที่กระทำได้ง่าย เพราะมีอุปสรรคมากมาย แต่ต้องกระทำด้วยความตั้งใจจริงและจะต้องใช้ความอดทนอย่างสูงมาก

ขณะเดินธุดงค์ต้องต่อสู้กับความยากลำบากมากมาย แต่ท่าครูบาก็หาได้ย่อท้อต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและปัญหา ท่านครูบาจะรำลึกถึงการที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาสัจธรรม ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านประสบในตอนนี้เทียบกันไม่ได้เลย จึงพยายามเตือนสติตนเองเสมอว่า “พระพุทธองค์มิยิ่งไปกว่านี้หรือ พระองค์ต้องสลบไปกี่ครั้ง เพราะต้องทรมานพระวรกายจนดูน่าสมเพช พระวรกายซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งเราก็ได้ดูในรูปที่เขาปั้นเอาไว้ เห็นหรือเปล่า เราเองปฏิบัติตามพระองค์บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

ขณะที่ท่านครูบาปฏิบัติภาวนาอยู่ในป่าดง ยุงป่า ริ้น ตอมกัดอยู่ตลอดวัน ใบหน้าบวมชาก็ต้องทนเอาบ้าง ส่วนกลางคืนได้ยินเสียงร้องของสัตว์ป่าที่เดินอยู่ใกล้ ๆ บริเวณจุดพักนั้น เป็นจำพวกเสือกำลังออกหากิน สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงได้ฉับพลัน ถึงฤดูหนาวอากาศหนาวก็หนาวจับหัวใจ ถึงฤดูร้อนก็ร้อนมาก เพราะใบไม้ร่วงหมดจนไม่มีที่หลบแสงแดด มิหนำซ้ำยังมีไฟป่าอีกด้วย ในฤดูฝนก็หาที่พักยาก บางครั้งต้องนั่งภาวนากลางสายฝน เปียกน้ำฝนตลอดทั้งตัว ส่วนจีวรชุ่มน้ำและเปื้อนดินจนเกือบยกไม่ขึ้น

เคยมีผู้แย้งข้อปฏิบัติกรรมฐานแบบท่านครูบาว่า “ทำไมจะต้องไปทรมานตัวเองถึงขนาดนั้น วัดก็มีอยู่ อู่ก็มีนอน อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ ไม่น่าออกธุดงค์ทรมานตนเองเช่นนั้น ป่าดงพงไพรมันเป็นที่อยู่ของสัตว์ ทำไปแล้วเหมือนกระรอกกระแต”

ท่านครูบาได้กล่าวตอบว่า “ขอเป็นกระรอกกระแตอยู่ป่าดงพงไพรมุ่งแสวงหาความสงบ ดีกว่าไปเป็นตุ๊ดตู่อุดอู้ไม่รู้ภัยจะมาถึงตัวเมื่อไหร่ การกระทำเช่นนั้นก็เพื่อความรู้เห็นสัจธรรมเท่านั้น”

ตลอดเส้นทางที่เดินธุดงค์ ท่านครูบาอาศัยชาวป่าชาวเขาถวายอาหาร บิณฑบาตเพื่อประทังชีวิตไปวัน ๆ บางครั้งก็ไม่ได้อาหารใด ๆ เลย จนทำให้บางคราวไม่ได้ฉันอาหารหลายวัน บางทีได้ข้าวไม่ได้กับข้าว ได้แต่พริกก็ต้องฉันข้าวกับพริก แม้แต่ได้กล้วยผลเดียวก็สามารถประทังชีวิตไปได้วันหนึ่ง อาหารบิณฑบาตประทังชีวิตจึงไม่แน่นอน

ท่านครูบาเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ท่านธุดงค์ถึงที่ไหนก็ตาม จะระลึกถึงคุณของโยมที่ให้อาหาร น้ำดื่ม และความห่วงใยแก่ท่าน ดังนั้นสิ่งที่จะตอบแทนแก่โยมเหล่านั้นก็คือ การแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการตอบแทนที่บริสุทธิ์กว่าวัตถุอื่นใดในโลก ท่านจะทำอย่างนี้อยู่เสมอมิได้ขาด

◎ การพัฒนาวัดน้ำบ่อหลวง
ท่านครูบาใช้ชีวิตอยู่ในป่าเพื่อแสวงหาโมกขธรรมเป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี จากนั้นท่านจึงรับอาราธนาจากขุนอนุพลนคร และคณะศรัทธา ให้มาจำพรรษาที่วัดน้ำบ่อหลวง (ในขณะนั้นเป็นวัดร้าง) เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ตรงกับเดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ ปีจอ กับพระภิกษุที่ร่วมธุดงค์มาด้วยอีก ๑๐ รูป ท่านจึงได้เริ่มดำเนินการบูรณะวัดน้ำบ่อหลวงขึ้นพร้อมกับศรัทธาใน ๓ ตำบล คือ ตำบลสันกลาง ตำบลยุหว่า และตำบลบ้านแม

ท่านครูบาพิจารณาว่าวัดน้ำบ่อหลวง ซึ่งแต่ก่อนประชาชนในพื้นที่จะเรียกว่า “วัดวนารามน้ำบ่อหลวง” วนาราม นั้นแปลว่า ป่าวัดน้ำบ่อหลวง จึงได้ชื่อว่า “วัดป่า” สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๓๒๓ วัดวาอารามทั้งหลายที่สร้างขึ้นในเขตอำเภอสันป่าตอง สมัยแรกนี้อยู่ไกลหมู่บ้าน คือมีแต่วัดสร้างขึ้นไว้ในเขตป่าเท่านั้น โดยมีระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ วาบ้าง ๑,๐๐๐ วาบ้างตามพุทธบัญญัติ ได้ถือเอาขาแห่งธนูเป็นขนาด จึงนับว่าเป็น “วัดป่า” เหมาะแก่การพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

ตามพงศาวดารหรือตำนานโบราณท่านกล่าวไว้ว่า “วัดน้ำบ่อหลวง เคยเป็นที่อยู่จำพรรษาของพระภิกษุถึงพันกว่ารูป ในคราวที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาในล้านนาเมื่อครั้ง โยนกบุรี มีเศรษฐีนามว่า สุพรรณรังสีพะโคเศรษฐี มีศรัทธาความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้บริจาคทรัพย์และกำลังคนก่อสร้างวัดแห่งนี้ ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ร้างไปตามสภาพบ้านเมืองในคราวที่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมื่อท่านครูบาศึกษาตำนานของวัดแล้วเกิดดำริที่จะพัฒนาวัดน้ำบ่อหลวงให้เจริญเหมือนในอดีต จึงได้รับนิมนต์ขุนอนุพลนครพร้อมกับประชาชน พัฒนาวัดน้ำบ่อหลวงให้กลับเจริญรุ่งเรือง ดังปรากฏในปัจจุบัน”

การพัฒนาวัดน้ำบ่อหลวงนั้นท่านครูบาได้พัฒนาทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจไปพร้อมกัน การพัฒนาวัตถุท่านได้เป็นประธานในการดำเนินการ บูรณะก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ เช่น กุฏิสงฆ์ วิหารหลวง อุโบสถ การสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม การหาแหล่งน้ำใช้ ก่อสร้างถนนหนทางเป็นต้น

งานพัฒนาด้านจิตใจท่านเป็นผู้นำปฏิบัติ โดยสอนให้ผู้ที่สนใจในเรื่องกรรมฐานให้เกอดความรู้ความเข้าใจเรื่องของกรรมฐาน จนเป็นที่รู้จักของประชาชนในเขตเชียงใหม่ และลำพูน งานเผยแผ่พุทธศาสนาของท่าน แบ่งได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

สอนวิปัสสนากรรมฐาน งานพัฒนาด้านจิตใจด้านนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ถือเป็นหัวใจของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

แต่งหนังสือ งานแต่งหรือเขียนหนังสือนี้ท่านครูบาได้ทำอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่าท่านครูบาเริ่มแต่งหรือเขียนตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ครั้งออกเดินธุดงค์ท่านได้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ งานแต่งหนังสือท่านกระทำในระหว่างนี้เป็นส่วนมาก ต่อมาท่านได้เริ่มเอางานที่แต่งไว้พิมพ์แจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่เริ่มมาวัดน้ำบ่อหลวงมากขึ้น ท่านครูบาถือเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในภาคเหนือเป็นรูปแรก หนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ชื่อ ทาน ศีล ภาวนา

◎ ชีวิตในบั้นปลาย
ครูบาอินทจักรรักษา ได้เห็นสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิตโดยพิจารณาว่า “เออ เราเป็นคนหลงรักตัวตนมาตั้งหลายสิบปี หลงอยู่สารพัดแท้ จริงมันก็เป็นสิ่งน่ากลัวทั้งสิ้น” ท่านครูบาได้ดำเนินงานในฐานะเจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗ – ๒๕๒๐ รวมทั้งสิ้น ๔๔ ปี

๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ท่าครูบาเกิดอาพาธอย่างกะทันหันคืนนั้นท่านรู้สึกชาที่แขนและขาเบื้องซ้าย แพทย์ตรวจดูอาการและวินิจฉัยว่า เป็นโรคกระดูกสันหลังตรงบั้นเอวอักเสบ ต้องทำการผ่าตัด ขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลท่านมีโรคแทรกซ้อนคือ ท้องร่วงอย่างรุนแรง แพทย์ให้ยาอย่างไรก็ไม่หาย ในที่สุดท้องร่วงก็ทุเลาลงเพราะฉันข้าวเหนียวปิ้ง ท่านป่วยอยู่เช่นนี้จนอาการทรุดหนักในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๔ นายแพทย์ผู้ตรวจรักษาลงความเห็นว่า ท่านจะสิ้นใจในเวลาตีสองของคืนนี้ จึงได้ถอดสายช่วยหายใจออก โดยได้วินิจฉัยว่าท่านครูบาอาพาธด้วยโรค

๑) โรคกระดูกสันหลังอักเสบ
๒) โรคอัมพาต
๓) โรคมะเร็งในสมอง
๔) โรคเส้นประสาทสันหลังอักเสบ
๕) โรคสันนิบาต

หลังจากแพทย์ได้กลับไป บรรดาศรัทธาประชาชนที่อุปฐากท่านจะเริ่มทยอยกันกลับ เพราะแน่ใจว่าท่านครูบาคงสิ้นใจในคืนนี้ ครั้นถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๔ อาการป่วยของท่านก็ทรงตัวแต่ท่านไม่ได้มรณภาพตามที่แพทย์วินิจฉัย แต่กลับหายป่วยในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์แก่เถรานุเถระที่มาเฝ้าดูอาการ ตลอดเวลาที่ท่านครูบานอนป่วย ไม่มีลูกศิษย์คนใดเคยเห็นท่านร้องครวญคราง สังเกตเห็นเพียงอาการที่ท่านครูบานอนนิ่งกัดกรามพร้อมกับขมวดคิ้ว และหลับตาลงเท่านั้น

พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง (วัดวนาราม)
พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา) วัดน้ำบ่อหลวง (วัดวนาราม)

หลังจากท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ในตำแหน่ง พระสุธรรมยานเถร พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านก็เกิดอาพาธอีกครั้งด้วยโรคประจำตัวที่ท่านเคยอาพาธเมื่อครั้งแรก ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของท่าน เพราะโรคร้ายกำเริบหนักประกอบกับในเวลานั้นท่านได้ชราภาพมากแล้ว ในคืนวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ เวลา ๒๒.๒๐ น. ท่านครูบาได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกสงฆ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รวมสิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๒

อีก ๓ ปีต่อมา ศิษยานุศิษย์ได้ขอพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดยมี พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานรัฐสภาเป็นผู้อัญเชิญไฟพระราชทานและเป็นประธานฝ่ายฆราวาส ทอดถวายผ้าไตรพระราชทาน โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดสุทัศเทพวราราม เป็นองค์พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล และจุดไฟพระราชทานโดยมีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนทั่วไปนับหมื่นมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพในครั้งนั้น

◎ หน้าที่รับผิดชอบในคณะสงฆ์
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านได้พัฒนาวัดน้ำบ่อหลวงให้กลับเจริญรุ่งเรืองเหมือนครั้งอดีต ต่อมา พ.ศ.๒๔๘๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวง ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

◎ สมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ท่านครูบาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูฉายาบัตร) หลังจากท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวงได้ ๔ ปี

ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านครูบาได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ พระครูวนาภิราม หลังจากท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวง ๙ ปี

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ท่านครูบาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูภาวนาภิรัต ฝ่ายวิปัสสนาธุระ โดยไปรับพัดยศที่วัดมกุฎฯ กรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ท่านครูบาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ สุธรรมยานเถร โดยท่านเดินทางโดยเครื่องบิน ไปรับพัดยศในพระบรมราชวัง

◎ ผลงาน
ครูบาอินทจักรรักษา ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่มีผลงานมากมายหลายประการ แต่ผลงานที่เด่นคือ การเขียนหนังสือสอน โดยนำประสบการณ์ที่เกี่ยวกับหลักปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ ผลงานของท่านครูบาที่ปรากฏเป็นรูปธรรม พอแบ่งได้เป็น ๓ ประการ คือ

๒.๒.๑ การพัฒนาวัด
ครูบาอินทจักรรักษาได้ทุ่มเทแรงกายพัฒนาวัดน้ำบ่อหลวงจนเจริญรุ่งเรืองเหมือนครั้งอดีต โดยดำเนินงานในส่วนการก่อสร้างและบูรณะเสนาสนะภายในวัด รวมทั้งสิ่งสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชนมากมายหลายรายการเพื่อความเจริญของท้องถิ่น ตั้งแต่ปลาย พ.ศ.๒๔๗๗ –๒๕๒๐ รวมเวลา ๔๔ ปี

๒.๒.๒ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา
ท่านครูบามีดำริที่จะทำให้การศึกษาของภิกษุสามเณร ตลอดถึงเยาวชนมีความเจริญรุ่งเรือง ในเยาว์วัยท่านได้รับการศึกษาจึงทำให้สามารถพัฒนาตนได้ โดยได้สร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่ให้ความรู้ แบ่งออกเป็น ๒ ด้าน คือ

๑) ในด้านคดีธรรม ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมภายในวัดน้ำบ่อหลวง ท่านได้ส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ในวัดน้ำบ่อหลวงศึกษานักธรรมและบาลี ตลอดทั้งการศึกษาพระอภิธรรม โดยท่านจะเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

๒) ในด้านคดีโลก ในด้านนี้เป็นส่วนของการศึกษาสงเคราะห์ ท่านครูบาได้เป็นประธานในการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดน้ำบ่อหลวง (ภาวนาภิรัต) เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในเขตตำบล ยุหว่า สันกลาง บ้านแม และน้ำบ่อหลวง

๒.๒.๓ การเผยแผ่
งานด้านการเผยแผ่ถือเป็นงานหลักของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า การเผยแผ่ คือ การทำให้ขยายวงกว้างออกไป ให้แพร่หลายออกไปการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงได้แก่ การดำเนินงานเพื่อให้หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไป มีผู้เคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ในพระรัตนตรัย น้อมนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัตินั้น โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่พระพุทธองค์ประสงฆ์ ๓ ประการ คือ

ทิฏฐธัมมิกัตตะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน

สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์เบื้องหน้า

ปรมัตถะ คือ ประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน

ผลงานด้านการเผยแผ่ของท่านครูบา ที่ปรากฏให้เห็นมาถึงปัจจุบันมีมากมายหลายประการ แต่พอจะแบ่งออกเป็น กลุ่มงานใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประการ คือ

◎ สร้างประเพณี
๑.๑) ประเพณีอยู่ปริวาสกรรม

๑.๒) ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ

๑.๓) ประเพณีรักษาศีลที่วัด (นอนวัด)

๓) พัฒนาบุคลากร

ท่านครูบาไม่เพียงแต่พัฒนาวัตถุเท่านั้น แต่ท่านยังได้พัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนา ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านจะฝึกให้ภิกษุ สามเณร ทุกรูปที่อยู่วัดได้แสดงธรรมในวันพระ โดยจัดวาระแสดงธรรม ที่รูปที่ถึงวาระแสดงธรรม ต้องไปเตรียมเรื่องที่จะเทศน์มาก่อน โดยท่านจะซักซ้อมในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็ให้แสดงต่อหน้าประชาชนที่มาทำบุญ ให้แสดงหัวข้อธรรมที่เตรียมไว้ในลักษณะที่เรียกว่า สัมโมทนียกถา แล้วท่านก็จะสรุป ให้ในตอนท้ายทุกครั้ง

บุคลากรที่ท่านได้รับการฝึกจากครูบาในอดีต ที่มีชื่อเสียงปรากฏทั่วไปในปัจจุบัน คือ

พระโพธิรังสี วัดพันตอง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (มรณภาพแล้ว)

พระราชพรหมาจารย์ วัดพระศรีจอมทองฯ เจ้าคณะอำเภอฮอด

พระครูธรรมาภิรม เจ้าอาวาสวัดน้ำบ่อหลวง เจ้าคณะอำเภอสันป่าตอง

◎ เขียนหนังสือ
ผลงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถือว่าเด่นชัดมากที่สุดก็คือ การเขียนหนังสืออธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ท่านครูบาได้เขียนเป็นอักษรล้านนาลงในพับสาทั้งหมด ผลงานของท่านเท่าที่รวบรวมได้และเก็บรักษาไว้ในโรงมณฑปวัดน้ำบ่อหลวง มีทั้งหมด ๑๖ เรื่อง เรียงตาม พ.ศ.ที่เขียน ดังนี้

๑) ธุดงควัตร ๑๓-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

๒) ธุดงคธรรม ๕-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

๓) ข้อปฏิบัติของผู้อยู่ป่าช้า-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

๔) กถาวัตถุ ๑๐-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

๕) วัตร ๑๔-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

๖) ปลิโพธ ๑๐-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

๗) แก้วมโนนัย-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

๘) ปุจฉา วิสัชชนา วิปัสสนากรรมฐาน-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓

๙) วิปัลลาธรรม ๔-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐

๑๐) เดรัจฉานกถา ๓๒-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐

๑๑) อธิปไตย ๓ และสามัคคีธรรม-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐

๑๒) มิจฉาทิฏฐิ-เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐

๑๓) หนานตันยา-ไม่ปรากฏปีที่เขียน

๑๔) ทานะ-สีละ และสมถภาวนา-ไม่ปรากฏปีที่เขียน

๑๕) สูตร์กรรมฐาน-ไม่ปรากฏปีที่เขียน

๑๖) พิธีปริวาสกรรม-ไม่ปรากฏปีที่เขียน

งานเขียนทั้งหมดเขียนในลักษณะเป็นการเล่าเรื่องต่าง ๆ ข้อสังเกตสำคัญที่ปรากฏในงานเขียนของท่านครูบาเป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติกรรมฐานเกือบทั้งหมด การเขียนจึงมาจากประสบการณ์ โดยจะใช้คำว่า พระพุทธเจ้า ได้ทรงสอนไว้ เป็นข้ออ้างอิงเสมอ โดยมิได้อธิบายว่ามาจากพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มใด แต่ก็สามารถทำให้เกิดความเข้าใจหลักการทางพระพุทธศาสนาได้ในระดับที่น่าพอใจ คือ ผู้อ่านเข้าใจหลักการปฏิบัติกัมมัฏฐานและสามารถนำไปปฏิบัติจนเกิดผลได้จริง ดังตัวอย่างลูกศิษย์ของท่าครูบาที่ได้กล่าวมาข้างต้น

วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ พระสุธรรมยานเถร (ครูบาอินทจักรรักษา)
ท่านครูบาเผยแผ่พระพุทธศาสนายึดหลักปฏิบัติแบบสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ก่อให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในหมู่พุทธบริษัทบางกลุ่มในล้านนาในยุคนั้น เพราะในยุคของท่านครูบาคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักดังกล่าวจนนำไปสู่การโต้แย้งและกลายเป็นความขัดแย้งในเวลาต่อมา โดยเริ่มแรกเป็นความขัดแย้งระหว่าง พระสงฆ์ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักปฏิบัติและวิธีการสอนแบบใหม่นี้ ต่างฝ่ายได้เขียนหนังสือขึ้นอธิบายหลักธรรมเพื่อสนับสนุนวิธีการของตนจนทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงในการปฏิบัติตามหลักธรรมของทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่ความขัดแย้งของพุทธบริษัทที่เชื่อตามหลักคำสอนของแต่ละฝ่ายมีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนในที่สุดคณะสงฆ์เชียงใหม่และลำพูน ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนและวินิจฉัยกรณีที่ขัดแย้งกัน คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จึงได้ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือเรื่ององค์ศาสนา ๒ ห้อง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าครูบาอินทจักรรักษา เป็นภิกษุที่มีหลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นในคำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่แตกต่างกัน ประเด็นนี้มีประเด็นขัดแย้งกันพอจำแนกได้ ดังนี้

๑. เรื่องการรับศีล ๕ ศีล ๘ ของคฤหัสถ์
๒. เรื่องการรับไตรสรณคมน์ และ อาม ภรเต
๓. เรื่องการอาราธนาศีลและสวดมนต์หมู่ด้วยภาษาบาลี
๔. เรื่องกรรมฐาน การกรวดน้ำหมู่

ในหัวข้อที่ยกมานี้เป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งที่ท่านครูบาอินทจักรรักษาได้แนะนำประชาชนให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัย โดยท่านครูบายึดถือเอาหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข” ท่านครูจึงได้สั่งสอนและเขียนหนังสือขึ้นชี้แจง การปฏิบัติตามแบบประเพณีเก่า ๆ บางอย่างที่สืบทอดกันมาว่า ผิดไปจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://watthasung.com