วันอาทิตย์, 19 พฤษภาคม 2567

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ

วัดป่าอาจารย์ตื้อ
อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

๏ หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ พระอริยเจ้าแห่งวัดป่าอาจารย์ตื้อ

หลวงปู่สังข์ เมื่อครั้งบวชเป็นสามเณร ได้มีโอกาสเข้ากราบฟังธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แต่ในขณะนั้นท่านยังไม่ค่อยเข้าใจในธรรมคำสอนนัก ภายหลังเมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้ศึกษาปริยัติธรรมพอสมควรแล้วก็ออกติดตามธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ผู้เป็นทั้งอาจารย์และหลวงลุง คือหลวงปู่สังข์ ท่านมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่ตื้อ กล่าวได้ว่า หลวงปู่สังข์นี้ ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นญาติทั้งทางสายโลหิต และเป็นพระภิกษุผู้เป็นญาติทางสายธารธรรมขององค์หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ที่ได้รับการเคี่ยวเข็ญอบรมอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างที่เราเคยได้รับทราบสมญานามขององค์หลวงปู่ตื้อ แล้วว่า ท่านเป็น “พระอริยเจ้าผู้มีปฏิปทาประดุจดังเสือโคร่ง” คือ ท่านเป็นครูอาจารย์ที่เด็ดเดี่ยว อาจหาญ กล้าไปในที่มีภยันตรายโดยไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย พูดตรงๆ สอนตรงๆ พูดจาขวานผ่าซาก สั่งสอนตักเตือนอะไร ลูกศิษย์ต้องรีบปฏิบัติตาม เช่นการให้อดนอนผ่อนอาหาร ภาวนาทั้งวันทั้งคืน เป็นต้น ท่านทรมานศิษย์เหมือนกับช่างตีเหล็ก ทั้งทุบทั้งตีเหล็ก ขณะที่ยังร้อน ไม่ระย่อท้อถอย เพื่อให้เหล็กนั้นได้รูปทรงอย่างที่องค์ท่านต้องการ ในบรรดาลูกศิษย์ขององค์หลวงปู่ตื้อ จึงเป็นพระสุปฏิปันโน ที่สมควรแก่การกราบไหว้ และบางรูปก็มีอภิญญาเหมือนอย่างองค์ท่าน เช่น หลวงปู่ประยุทธ ธัมมยุตโต แห่งวัดผาลาด อ.เมือง จ.กาญจนบุรี , หลวงปู่ไท ฐานุตฺตโม แห่งวัดเขาพุนก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี , หลวงปู่หนูบาล จันทปัญโญ แห่งวัดป่าสันติธรรม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม , หลวงปู่รินทร (หลวงปู่ลิ้นทอง) กิตฺติสัทโท แห่งวัดพุทธิการราม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ หลวงพ่อผจญ อสโม แห่งวัดสิริปุญญาราม อ.วังสะพุง จ.เลย ครูบาอาจารย์สายธารแห่งธรรมขององค์หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ทุกๆ ท่านที่กล่าวมาล้วนมรณภาพลงหมดแล้ว คงเหลือหลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ เท่านั้น

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

๏ ชาติภูมิ
หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ นามเดิมของท่านชื่อ สังข์ นามสกุล คะลีล้วน ท่านถือกำเนิดตรงกับวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ บ้านเกิดของท่านอยู่ที่บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

บิดามารดา นายเฮ้า และ นางลับ คะลีล้วน พี่น้อง ท่านมีพี่ชายติดโยมบิดา ๑ คน มีพี่ชายติดโยมมารดา ๑ คน มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันจำนวน ๔ คน ท่านเป็นลูกชายคนที่ ๑

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

๏บรรพชา
ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งถือว่าสูงสุดในสมัยนั้น เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม โดยมีพระสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์) บรรชาเสร็จก็กลับมาจำพรรษาที่วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซื่งเป็นบ้านเกิด

ในพรรษาแรกที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดอรัญญวิเวกบ้านข่า หลังจากออกพรรษาแล้ว เคยไปกราบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสสระธรรม บ้านว่าใหญ่, หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม วัดอุดมรัตนาราม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นต้น

๏ ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เมื่อครั้งเป็นสามเณร ในขณะนั้นหลวงปู่มั่น ภิริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ได้มาพำนักที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สามเณรสังข์ในครั้งนั้นก็ได้มีโอกาสได้เข้ากราบนมัสการและรับฟังพระธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตโดยตรง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะยังเป็นเด็กอยู่

ซึ่งครูบาอาจารย์ได้ให้กำลังใจแก่หลวงปู่สังข์ให้อยู่ในสมณเพศนานๆ ท่านหลวงปู่สังข์ได้เที่ยวรุกขมูลกับพระอาจารย์บุญส่ง โสปโก ไปหลายที่ เช่น บึงโขงหลง แล้วไปภูลังกา พบพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร แล้วเที่ยวไปเรื่อยๆจนถึงอำเภอบึงกาฬ ตามทางที่หลวงปู่ตื้อเคยไป เมื่อได้เวลาเข้าพรรษาก็กลับมาจำพรรษาวัดอรัญญวิเวกตามเดิม

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

๏ ติดตามหาหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ท่านเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี และโท ได้จากสนามสอบวัดศรีชม ซึ่งเป็นวัดบ้านเพราะยุคนั้นสนามสอบของคณะธรรมยุติยังไม่มี

ต่อมาท่านจึงได้ออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติทางยาย คือปู่ของหลวงปู่ตื้อเป็นพี่ชายของคุณยายของท่าน เคยได้ยินแต่กิตติศัพท์ของหลวงปู่ตื้อมานาน แต่ไม่เคยเห็นตัวจริงมาก่อน จึงอยากจะออกติดตามหาหลวงปู่ตื้อ และได้ขึ้นมา จ.เชียงใหม่ เป็นครั้งแรก โดยมีพี่ชายของหลวงปู่ตื้อ มีพระและญาติโยมตามมาด้วย ซึ่งเมื่อถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ก็เข้าพักที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ได้ยินว่าหลวงปู่ตื้อจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จึงตามไปพบท่านที่วัดป่าดาราภิรมย์ เมื่อได้พบหลวงปู่ตื้อแล้วก็พักอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ระยะหนึ่งจึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.นครพนม

๏ อุปสมบท
ใน พ.ศ.๒๔๙๓ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทัด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญส่ง โสปโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็อยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๕ ปี ท่านสอบนักธรรมชั้นเอกได้ที่วัดป่าบ้านสามผงแห่งนี้ แล้วทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมช่วยพระอุปัชฌาย์

๏ ออกวิเวกทางภาคเหนือ
จากนั้นปี พ.ศ.๒๔๙๙ หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ จึงออกเดินทางขึ้นเหนือเพื่อมาอยู่กับหลวงปู่ตื้อ อจลธมโม ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่นี่ท่านได้เรียนบาลีไวยากรณ์กับพระมหามณี พยอมยงย์ จนจบชั้นหนึ่ง สอบได้แล้วจึงหยุดเรียน เพราะจิตใจใฝ่ในทางธุดงค์มากกว่า ท่านจึงได้ออกวิเวกแถบจังหวัดเชียงราย โดยมีพระอาจารย์ไท ฐานุตตโม วัดเขาพุนก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นสหธรรมิก เที่ยววิเวกไปด้วยกัน ได้พบพระอาจารย์มหาทองอินทร์ กุสลจิตโต ที่วัดถ้ำผาจรุย อ.ป่าแดด จ.เชียงราย

ในช่วงออกพรรษาหลวงปู่สังข์ ท่านได้เที่ยวรุกขมูลทางภาคอีสานบ้าง บางพรรษาก็จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ สองครั้งๆ ละพรรษา ที่วัดอรัญวาสีนี้หลวงปู่ท่านได้พบกับหลวงปู่คำพอง ติสฺโส ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระหนุ่ม ท่านเจริญมนต์เก่งมาและเคยไปจำพรรษาที่วัดโคมคำ บ้านหมอ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

เวลาลงอุโบสถก็ไปลงกับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ครั้นออกพรรษาแล้วที่วัดหินหมากเป้งมีงานกฐิน หลวงปู่เทสก์ เทสฺรังสี ก็นิมนต์ท่านไปรับกฐินที่วัดด้วย บางพรรษาก็ไปจำพรรษาที่ประเทศลาว ซึ่งช่วงเวลานั้นยังอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส การเดินทางข้ามฟาก ต้องของอนุญาตจากทางการไทยและลาว ซึ่งสะดวกกว่าปัจจุบันมาก การเดินทางใช้เรือพายข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าอำเภอศรีเชียงใหม่ ไปขึ้นที่เวียงจันทน์ ไปพักที่วัดป่าสัก หัวสนามบิน เป็นเวลา ๕ เดือน คือ ขออนุญาตไป ๓ เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ดำเนินเรื่องขออยู่ต่ออีก ๒ เดือน ระยะเวลาที่อยู่ประเทศลาว ท่านได้ไปเที่ยวดูวัดวาอารามต่างๆในเวียงจันทน์ ซึ่งยุคนั้นยังไม่ได้เป็นเมืองหลวงปของประเทศลาว เช่น วัดองค์ตื้อ วัดศรีสะเกตุ วัดพระแก้ว เป็นต้น

บางปีไปเที่ยวฝั่งลาวขึ้นเรือที่อำเภอบึงกาฬ ข้ามน้ำโขง ผ่านแก่งอาฮง น้ำไหลเชี่ยวน่ากลัวมาก บางปีท่านออกจากวัดอรัญญวิเวก เดินเท้าไปอำเภอพังโคน บริเวณรอยต่ออำเภอวานรนิวาสมีดงหนาทึบ มีลิงอยู่มาก เดินผ่านดงใหญ่ถึงอำเภอพังโคนเป็นทุ่งนา ไปอำเภอวาริชภูม อำเภอสว่างแดนดิน เช้าถึงจังหวัดอุดรธานี ไปพักอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ แล้วเดินทางต่อไปอำเภอบ้านผือ ไปภาวนาที่วัดพระพุทธบาทบัวบก ซึ่งแต่ก่อนหลวงปู่ตื้อเคยมาภาวนาที่นี่

บางปีท่านธุดงค์เที่ยวไปทางอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ไปไหว้พระธาตุพนม เดินผ่านป่าโคกที่กันดารแห้งแล้ง มีหินแหลมแทงเท้า จนเท้าท่านแตก ไปพบสองตายาย หาบของมาเต็มตะกร้าเหงื่ออาบท่วมตัว เมื่อเขาเห็นหลวงปู่เขาถามว่า “ครูบาทุกข์ขนาดก็ยังเดินอยู่บ่” ท่านไม่ได้ตอบแต่อย่างใด ได้เพียงมองดูสองตายายแล้วนึกในใจ “โยมนี้ก็ทุกข์เหมือนกัน

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ
หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

๏ พำนักที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ
หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ได้สร้างวัดป่าสามัคคีธรรมขึ้นซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ หลวงปู่สังข์ได้กลับจากเที่ยววิเวกมาจำพรรษากับหลวงปู่ตื้อที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ท่านได้พัฒนาและบูรณะวัดนี้มาโดยตลอด

ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอาจารย์ตื้ออย่างเป็นทางการ

ท่านได้สร้างอุโบสถหนึ่งหลัง ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระครูภาวนาภิรัต ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้มาจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

ปัจจุบัน หลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๙๐ ปี พรรษา ๗๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ

๏ โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สังข์ สังกิจฺโจ
“..ผู้ใดที่มีศีลเป็นนิจ ผู้ใดที่มีทานเป็นนิต ผู้ใดภาวนาพุท-โธ เป็นนิจ ผู้ใดสร้างจิตใจ ของตนให้สงบ เรียกว่า จิตพบพระพุทธศาสนา..”

“โอ้ย..วันไหนเจ็บกายหนอ โอยมันไม่ฟังเราหรอก มันจะเอาอันนี้มันก็ไม่เอา นี่ก็แปลว่าซังมันแล้วนะ คนซังธรรมนี้ ไม่เห็นธรรมนะ..”

“..สร้างบุญสร้างกุศลก็มีความสุข สมบัติของเราย่อมได้ มนุษย์สมบัติอาศัยความสุขด้วยศีลธรรม ทิพพสมบัติ นิพพานสมบัติ เราทำเราไม่ต้องสงสัย สงสัยอะไรละ ก็จิตเรามีนี่ อื้อลงในจิตอันเดียวให้รู้จักนะ จิตนี้ขันธ์ห้ามันหุ้มอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตัววิญญาณ มันหุ้มจิตอยู่นะ มันก็หุ้มออกมา สัญญามันก็หุ้มจิตอยู่นั่นแหละ สัญญามันรู้รอบทิศ เรามีหูมีตารอบทิศนะ รูป เสียง กลิ่น รส ก็รู้ทิศอยู่ เนี่ยะเข้าใจนะ ความจำก็ออกมา เวทนา สุข ทุกข์ มันก็รอบจิตเราอยู่ คือขันธ์ห้านี่แหละ เข้าใจนะ แต่ว่าวิญญาณนี่ มาทางนี้มันมีความรู้สึกรอบขันธ์ห้าอยู่ ที่นี้ถ้าเราจะรับทาน มันก็อยู่ที่จิต ถ้าเราจะรับศีลมันก็อยู่ที่จิต จิตอันเดียวนะ พุทโธๆ ๆ รู้จิตเรานะ ให้ศึกษาจิต แต่ว่าถ้าจะรับศีลห้านี้เป็นกิริยาคือ ห้าข้อ จิตอันเดียวรับเอา เท่านี้แหละ ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ห้าข้อนั้น จิตอันเดียวก็เราตั้งหลักหนึ่งซะ ข้อหนึ่งคืออะไร ข้อสองคืออะไร ข้อสามคืออะไร ให้ภาวนาเดี๋ยวเกิดปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวเกิดสติในหลักนั้นขึ้นมา ก็จิตนั่นหละรู้แจ้งด้วยศีลนั้น ศีลก็อยู่ที่จิตอันเดียว ที่เรารู้ก็มีห้าข้อ แต่เมื่อสงบแล้วก็ลงสู่จิตอันเดียวเป็นพลังนั่นนะ เข้าใจนะ ถ้าบุญกิริยาสิบ ก็เป็นกิริยา คือเราจะต้องทำในอาการกิริยาลักษณะนั้นในจิต แต่ว่าจิตนั้นรับเอา ๑๐ อย่าง เราก็นับเอามันอยู่ในจิตนั่นแหละ นับเอาเถอะ เนี่ยะมันเป็นบ่อเกิดนะ นับเอาหลักมัน นึก ทานคืออะไร นึกศีลคืออะไร ตามลำดับ อนุโลม ปฏิโลม อย่างนี้ว่าหลักการภาวนาทางในๆ อันนี้เป็นจิตตภาวนา แต่ถ้าเราจะเอาคุณธรรมที่นั้น แต่ถ้าเราเอาไว้ในจิต เราจะลดมาดูขันธ์ห้าเรา รูปเวทนา สัญญา ก็ยิ่งใกล้อันนี้ ถ้ามาดูรูปก็ท่านบัญญัติไว้ว่า เกศา โลมา ถ้าจะดูรูปธรรมท่านว่า อาการ ๓๒ รู้ได้ใกล้ๆ นี่ อันนั้นเป็นธรรมนะ ถ้าจะดูบารมีธรรมก็เอ้าดูจิตเราอดอะไรได้บ้างนะ มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราจะอดได้แค่นั้น แต่สร้างขึ้นไปมันก็มากขึ้นๆ เข้าใจบ่ ให้ภาวนาให้รู้จิตนะ ดังนั้น เราจิตมันมาก มันก็มากเป็นกิริยานั่นหละ มันก็ ถ้าศีลห้า ถ้าคิดตามห้า มันก็ห้าคิดนั่นหละ มันก็จิตอันเดียวนั่นแหละ แต่เราไม่มีสติ เพิ่นก็เลยบัญญัติว่าจิตที่เป็นกุศลห้าดวงซะ คิดไปตามอาการนั้น เข้าใจบ่ น่ะ ถึงร้อยดวงพันดวงก็คิดไปตามในเรื่องที่เป็นกุศล แต่ที่เป็นอกุศลก็บัญญัติไว้หลายดวงเหมือนกันแต่จิตอันเดียว แต่ไปตามกิริยาทั้งนั้น เท่านั้นแหละ ให้รู้ เมื่อรู้แล้วก็รวมอยู่ที่จิต..”